กิจกรรม “ปลุก” คนเมือง เพื่อมหานครที่ปลอดภัย

“ความปลอดภัยไม่ได้หมายถึงสิ่งปลูกสร้าง อย่าง ไฟส่องสว่าง กล้องวงจรปิด แต่รวมถึงความรู้สึกปลอดภัยระหว่างการใช้ชีวิตในที่สาธารณะของกรุงเทพฯ ด้วย”

เสียงสะท้อนในเวทีฟังเสียงกรุงเทพฯ ครั้งที่ 2 “เมืองปลอดภัย” ที่เครือข่ายปลุกปรุงเทพฯ กว่า 80 องค์กร ร่วมตกผลึกผ่านกิจกรรม และวงสนทนาเพื่อออกแบบเชิงนโยบายให้ถึงมือผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

“ความปลอดภัยในกลุ่มเปราะบาง” เช่น เด็ก ผู้หญิง คนพิการ LGBTIQN+ ดำเนินกิจกรรมโดยที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิง และความเป็นธรรมทางเพศ เปิดวงสนทนาด้วยกิจกรรม “สอยดาว” โดยดาวแต่ละดวงจะแทนปัญหาในมิติต่าง ๆ เช่น ปัญหาการคุกคามทางเพศในพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะแบบสอบถามที่ผู้หญิงร้อยละ 80 บอกว่าเคยเกิดขึ้นกับพวกเธอ แต่เวลาไปร้องเรียนหน่วยงานของ กทม. เหยื่อต้องเป็นฝ่ายหาหลักฐานเอง ไม่ลงตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ จึงเสนอให้ กทม. มีระบบรับแจ้งเหตุที่เป็นธรรมต่อผู้เสียหาย

ขณะที่ปัญหาของกลุ่ม LGBTIQN+ ยังพบการกีดกันกันในสังคม อาชีพ พวกเขาเสนอให้บรรจุนโยบายเรื่องความหลากหลายทางเพศเข้าไปอยู่ในองค์กรรัฐ กลไกบริการสุขภาพกลุ่มเฉพาะ รวมถึงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้คนพิการเดินทางคนเดียวได้อย่างปลอดภัย ไร้รอยต่อ

จิตติมา ภาณุเตชะ ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิง และความเป็นธรรมทางเพศ หนึ่งในผู้นำกิจกรรม กล่าวว่า เวทีวันนี้ ช่วยตกผลึกข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริง เพราะเมืองปลอดภัยไม่ได้หมายถึงเพียงถนนหนทาง หรือ ไฟฟ้าส่องสว่าง แต่หมายถึงความรู้สึกในการใช้ชีวิตของผู้คน ซึ่งต้องอาศัยผู้บริหารเมืองที่ทำงานร่วมกับภาคประชาชน

“ถ้าเราจะบริหารและนำพาเมืองให้ไปสู่เมืองที่เราบอกว่าเป็นเมืองแห่งสุขภาวะ เมืองที่ปลอดภัย เมืองที่จะพัฒนาผู้คน โดยเฉพาะในมิติเรื่องของคุณภาพชีวิต คิดว่าคงจะละเลยเสียงเหล่านี้ไม่ได้ คงจะต้องนำไปสู่การวางยุทธศาสตร์และวางกลไก งที่จะสนับสนุนให้กลุ่มคนเล็กคนน้อยที่อาศัยอยู่ในเมือง แต่ไม่ใช่ปัญหาเล็กปัญหาน้อย ได้มีกระบวนการที่จะส่งเสียง ตรวจสอบการทำงานของคนที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารได้ตลอดการทำงาน ไม่ใช่แค่ฟังในเฉพาะช่วงที่เสนอนโยบายเท่านั้น”

จิตติมา ภาณุเตชะ

“อาหารปลอดภัย” เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ThaiPAN ชวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมปลูกผักแบบรู้ที่มา ไปจนถึงการสร้างพื้นที่อาหารที่ปลอดภัย เนื่องจากบทเรียนในสถานการณ์โควิด-19 ที่คนเมืองเข้าไม่ถึงอาหาร จึงเสนอให้ผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไป มีนโยบายทำให้เมืองผลิตอาหารได้เอง รักษาพื้นที่ผลิตอาหารให้ได้มากที่สุด ส่งเสริมให้ชุมชนเปลี่ยนขยะเป็นปุ๋ยอินทรีย์ มีระบบเฝ้าระวังวัตถุดิบและอาหารก่อนที่จะเข้ามาในเมือง และสร้างให้เกิดระบบการเชื่อมโยงอาหารปลอดภัย เช่น ในศูนย์เด็กเล็ก โรงพยาบาล ตลาดนัดสีเขียว โดยต้องสนับสนุนเม็ดเงินมากพอที่จะซื้ออาหารปลอดภัยเพื่อรองรับวิกฤตในอนาคต

“ความปลอดภัยชุมชน ผังเมือง ถนน การเดินทาง” บอกสิ่งที่ฝันผ่านบัตรคำขนาดใหญ่ ตั้งแต่ปัญหาโครงสร้างขั้นพื้นฐาน อย่าง ไฟฟ้าส่องสว่าง ปัญหาทางม้าลายที่ไม่ปลอดภัย ที่ดินรกร้างในเมืองที่กลายเป็นพื้นที่เปลี่ยว ไปจนถึงปัญหาในชุมชนแออัดที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ กทม. เครือข่ายเสนอให้ กทม. เร่งสนับสนุนระบบอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัยในชุมชนแออัด และตัวแทนคนรุ่นใหม่ขอเปลี่ยนพื้นที่รกร้างเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้ ใช้ทำกิจกรรมเพื่อสังคม ประชาธิปไตย


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน

Alternative Text
VISUAL NOTE TAKER

วรรวิสาข์ อินทรครรชิต

นักออกแบบ และนักการศึกษา ผู้สนุกกับประเด็นและเรื่องราวรอบโลก ชอบทำเรื่องยากให้เข้าใจได้ง่าย ผ่านศิลปะและการสื่อสารด้วยภาพแบบ Visual note, Visual Recording และวิดีโอ เป็นนักเจื้อยแจ้วแห่ง FB: Mairay May