‘ความปลอดภัยสาธารณะ ต้องมาเป็นที่ 1’ ถามใจ ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม.

จะรับมืออย่างไรกับ “กรุงเทพฯ” ที่เสี่ยงรอบด้าน

เปิดนโยบาย “เมืองปลอดภัย” จาก 8 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในงาน Bangkok Active Forum: ฟังเสียงกรุงเทพฯ ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “เมืองปลอดภัย” ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ เพื่อออกแบบข้อเสนอเชิงนโยบาย ส่งถึงมือผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

The Active และเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ร่วมสรุปเนื้อหาในรูปแบบ Visual Note

นโยบาย เมืองปลอดภัย

ภูมิพัฒน์ อัศวภูภินทร์  หมายเลข 27

ภูมิพัฒน์ อัศวภูภินทร์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนามอิสระ ที่ชูนโยบาย ปรับบทบาทผู้ว่าฯ กทม. ไปสู่ผู้ว่าฯ มหานครเบ็ดเสร็จ และ กรุงเทพฯ คือประเทศไทย และประเทศไทยคือกรุงเทพฯ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนนโยบายกับภาคประชาชนในหัวข้อ “เมืองปลอดภัย” ระบุว่า ให้ความสำคัญกับการสร้างความปลอดภัยของ กทม. ทั้งปลอดมลพิษ ปลอดยาเสพติดและอาชญากรรม ปลอดอุบัติเหตุ ปลอดภัยพิบัติ แต่เงื่อนไข คือ ต้องมีอำนาจของตัวเอง ในการจัดการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ เช่น ไฟฟ้า ทางด่วน ทางเท้า ฯลฯ

“ขออำนาจเต็มให้ผู้ว่าฯ สิ่งที่ต้องทำก่อนเลย คือ ความปลอดภัยในเรื่องของ อุบัติเหตุ วันนี้อยากจะทุบเกาะกลางทั้งหมด แล้วตั้งแบริเออร์แทนได้ไหม เพราะเวลาปิดเลนรดน้ำต้นไม้เกาะกลางแล้วถนนลื่น ทำให้มอเตอร์ไซค์ล้ม เกาะกลางยังกินพื้นที่ถนนไปตั้งสองเลน ถ้าทำแบริเออร์ ขึ้นมาในช่วงเวลาเร่งด่วนจะเคลื่อนย้ายปรับเปลี่ยนก็ได้ ความปลอดภัยมากขึ้น คนก็จะไม่กล้าข้ามถนนเพราะแบริเออร์สูง จะหันไปขึ้นสะพานลอยแทน แต่ถ้าหากคนพิการผู้สูงอายุไม่สะดวก ก็ติดตั้งลิฟต์ได้”

พร้อมย้ำว่า เรื่องที่ถูกเสนอจากภาคประชาชน “ทำได้หมดเลย” แต่ก็ยอมรับว่าขอบเขตของอำนาจมีอย่างจำกัด


ประยูร ครองยศ  หมายเลข 12

สำหรับประยูร ครองยศ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ เป็นอีกคนที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ร่วมกับภาคประชาชน ก่อนหน้านี้ เขาชูนโยบาย กรุงเทพฯ ต้องเป็นหนึ่งในทุก ๆ ด้าน และมาตรฐานการบริการเดียวกัน เท่าเทียมกัน โดยกรุงเทพฯ จะเป็นเมืองที่น่าอยู่ สู่สากล ทุกคนมีความสุข และปลอดภัย โดยเขาระบุว่า ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย มุ่งพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครแห่งความปลอดภัย ทั้งเรื่องอุบัติเหตุ อุบัติภัย สาธารณภัย อุบัติการณ์ โดยเชื่อว่าศักยภาพและบุคลากรที่มีอยู่สามารถพัฒนาความปลอดภัยในด้านต่าง ๆ ได้ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“ผู้ว่าต้องสนใจปัญหาใกล้ตัว ที่ผ่านมาผู้ว่าสนใจแต่โครงการใหญ่ ๆ ที่มีผลการตอบแทนสูง อย่างเรื่องปัญหาสุขภาพ เรื่องผัก เรามีสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย ผักมาจากทางไหน อาหารมาจากทางไหน เรามีหน่วยตรวจสอบ ข้าราชการ กทม. 80,000 คน และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมีเยอะมาก ผู้ว่าฯ กทม. ต้องเป็นนักบริหาร ทุกปัญหาแก้ได้เลย”


พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง หมายเลข 6

ก่อนหน้านี้พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งลงชิงชัยในครั้งนี้ด้วย ได้ย้ำสโลแกน กรุงเทพฯ ต้องไปต่อ พร้อมระบุ “กรุงเทพฯ ต้องเป็นสังคมปลอดภัย สงบสุข ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี” โดยชูแนวทางแก้ปัญหาจุดบอดด้วยการเพิ่มกล้อง CCTV ไฟฟ้าส่องสว่าง พร้อมปรับปรุงทางม้าลาย ทั่วกรุงเทพฯ

บวรลักษณ์ ทองมาก กลุ่มคนลุยเมือง เป็นผู้แทนของ พล.ต.อ. อัศวิน ร่วมแลกเปลี่ยนนโยบายกับเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ระบุว่า เชื่อว่าความปลอดภัยเป็นพื้นฐานอันดับแรกของการสร้างพื้นฐานคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ และอยากสร้างนโยบายที่มาจากเสียงของประชาชน โดยแบ่งประเด็นความปลอดภัยเป็นการป้องกันอุบัติเหตุ อัคคีภัย อาชญากรรม สิ่งก่อสร้าง ภัยพิบัติ

“ทางเท้า สิ่งแรกปัญหาไม่ใช่ทางเท้าแคบ ทางเท้าไม่เรียบ สิ่งสำคัญคือทางเท้าคือสิทธิ์การเดิน สีลม พระรามหนึ่ง มีการขายของบทฟุตปาธ จัดรเบียบทางเท้า ให้คนเดินเท้าได้สะดวก ปัญหาทางเท้าเป็นภูเขาน้ำแข็ง ด้านใต้คือระบบระบายน้ำ สายไฟ ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ฉะนั้น การแก้ปัญหาต้องใช้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โมเดลแรก ที่ถนนระราม 1 ใช้หลักการออกแบบ Universal Design เพื่อคนพิการ รถวีลแชร์ ต้องทำให้ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ”

บวรลักษณ์ ยังกล่าวเพิ่มเติม เรื่องการพัฒนาทางข้ามทางม้าลายที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน โดยมีคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ตัวอย่างที่ทำแล้วคือการขยายทางม้าลายให้กว้างขึ้น ตัวอย่างที่ถนนอโศก สำหรับโครงการปักหมุดจุดเผือก ได้นำข้อมูลมาพัฒนาแก้ปัญหา เช่น เพิ่มแสงไฟฟ้าในพื้นที่มืด


สำหรับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่ไม่ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนนโยบายดังกล่าว มีการนำเสนอในรูปแบบคลิปวิดีโอ เพื่อทำให้เห็นภาพรวมนโยบายเพื่อเมืองปลอดภัยทั้งหมด เช่น สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครหมายเลข 3 ในนามอิสระ ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยตามถนน ตรอก ซอกซอย เตรียมเพิ่มกล้องวงจรปิดติดตั้งให้เพียงพอเพื่อลดปัญหาอาชญากรรม มุ่งแก้ไขปัญหาเรื้อรังอย่างการจัดระเบียบหาบเร่ แผงลอย รถจักรยานยนต์วิ่งบนทางเท้า พร้อมพัฒนางานด้านสิ่งแวดล้อมปลอดภัยต่อผู้สูงอายุ คนพิการ การระบายน้ำ ผังเมือง อัคคีภัย รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วขึ้น

ส่วน วิโรจน์ ลักษขณาอดิศร หมายเลข 1 จากพรรคก้าวไกล มุ่งเน้นที่จะสร้างความปลอดภัยในการสัญจร และอาชญากรรมบนท้องถนน เพิ่มพื้นที่ให้คนเมืองด้วยการจับมือกับเจ้าของที่ดินเอกชนเปลี่ยนพื้นที่รกร้างเป็นที่สีเขียว พร้อมเปิดพื้นที่สาธารณะให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการชุมนุม

ขณะที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หมายเลข 8 ชูนโยบาย 9 ดี หนึ่งในนั้นคือการเป็น “ผู้ว่าฯ ยามค่ำคืน” ให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตในยามค่ำคืนได้อย่างปลอดภัย ครอบคลุมมิติเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน พร้อมผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วมรายงานความสมบูรณ์ของไฟส่องสว่าง เป็นตัวกลางประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลดตัวเลขผู้เสียชีวิตบนท้องถนน ด้วยการปรับปรุงทางข้าม ทางเท้า ที่เป็นมิตรกับคนเดิน รวมทั้งมีแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับเขต

ด้าน สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หมายเลข 4 จากพรรคประชาธิปัตย์ ชูยุทธศาสตร์หลัก คือ “เปลี่ยนเมืองให้ปลอดภัยและน่าอยู่” เร่ิมตั้งแต่ประกาศสงครามกับฝุ่นพิษ PM2.5 ใช้ปัญญาประดิษฐ์ ทวงคืนผิวการจราจร เอาผิดคนขับที่ฝ่าฝืนด้วยการบังคับใช้กฎการจราจรอย่างเข้มข้น เท่าเทียม ส่งเสริมการใช้จักรยานด้วยทางจักรยานลอยฟ้า และจัดการกับอาคารที่ก่อสร้างโดยไร้ความรับผิดชอบ

รสนา โตสิตระกูล หมายเลข 7 ในนามอิสระ ย้ำชัด ปัญหาการโยนความรับผิดชอบตั้งแต่ระดับเขต ต้องหมดไป หากได้เป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ เป็นเจ้าภาพดึงหลายภาคส่วน ทั้งทางบกเเละทางน้ำ ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเช่นที่ผ่านมา  


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
VISUAL NOTE TAKER

วรรวิสาข์ อินทรครรชิต

นักออกแบบ และนักการศึกษา ผู้สนุกกับประเด็นและเรื่องราวรอบโลก ชอบทำเรื่องยากให้เข้าใจได้ง่าย ผ่านศิลปะและการสื่อสารด้วยภาพแบบ Visual note, Visual Recording และวิดีโอ เป็นนักเจื้อยแจ้วแห่ง FB: Mairay May