“ผู้หญิง” ในสนามการเมือง (ท้องถิ่น) และ “อิสระ” ที่ (อาจ) แปลว่า มีพรรคการเมืองสนับสนุน

ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐกระทำการใด ๆ โดยมิชอบ ด้วยหน้าที่และอำนาจอันเป็นการกลั่นแกล้งผู้สมัครใด หรือดำเนินการใด ๆ ที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครใด ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกรรมการการเลือกตั้ง หรือผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย มีอำนาจสั่งให้ยุติหรือระงับการกระทำนั้นได้

คือ ใจความสำคัญในมาตรา 34 ตาม พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ที่ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่ในซีกรัฐบาล ใช้เป็นเหตุผลในการประกาศว่า จะไม่ส่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดในนามพรรค โดยเกรงว่าจะผิดกฎหมายการเลือกตั้ง

หลายคนคงยังจำกันได้ ว่าปฏิกริยาที่ชัดเจน จาก อดีตพรรคอนาคตใหม่ ที่ประกาศกร้าว “เขย่าการเมืองท้องถิ่น” ให้เหมือนกับที่พวกเขาเขย่าการเมืองระดับชาติมาแล้ว ทำให้ที่ผ่านมา ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และแกนนำคนสำคัญของ คณะก้าวหน้า ก็เปิดหน้าและเปิดตัวส่งผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดรวม 42 คน

คณะก้าวหน้า เปิดตัวผู้สมัครชิงนายก อบจ.

ทำให้ต่อมา พรรคการเมืองใหญ่ (และเคยใหญ่) ทยอยเปิดหน้าส่งผู้สมัครลงช่วงชิงในสนามการเมืองท้องถิ่นระดับจังหวัด ไม่ว่าจะ พรรคเพื่อไทย ที่ส่งผู้สมัครลงแข่งในนามพรรค 25 คน ส่วน พรรคภูมิใจไทย ประกาศเพียงว่าห้ามใช้โลโก้พรรคในการหาเสียง ส่วน พรรคประชาธิปัตย์ เอง แม้จะเป็นพรรคแรก ๆ ที่มีมติพรรคว่าจะส่งผู้สมัครลงแข่งขันในสนามท้องถิ่น แต่ก็มีเพียงสองจังหวัดเท่านั้น คือ สงขลาและสตูล และไม่ปรากฏว่าพรรคอื่น ๆ มีการประกาศอย่างเป็นทางการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคแต่อย่างใด

ประเสริฐ จันทรรวงทอง : เลขาธิการพรรคเพื่อไทย

ตัวแปร “พรรคการเมือง” ออกอาการสตั๊น เปิดหน้าสู้ท้องถิ่น

เป็นไปได้หรือไม่ว่า หลังการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 ที่ทำให้พรรคการเมืองประเมินความเสี่ยง และผลกระทบที่จะตามมาจากการตีความกฎหมายเลือกตั้ง และการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่กำหนดข้อห้ามในการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอย่างเคร่งครัด โดยกำหนดให้ข้าราชการการเมือง, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่สามารถหาเสียงเลือกตั้งช่วยผู้สมัครได้

โดยเฉพาะประเด็นการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือโซเชียลมีเดีย ที่ห้ามบุคคลข้างต้นกดไลก์ กดแชร์ ข้อความการหาเสียงของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง อบจ. ไม่เช่นนั้นจะถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย นอกจากนี้ การหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ ยังต้องดำเนินการตามระเบียบและคิดเป็นค่าใช้จ่ายตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดอีกด้วย

จากการทำข้อมูลของ Rocket Media Lab ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของสื่อมวลชนอิสระ ที่สืบค้นว่าในการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดครั้งนี้ มีผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวนเท่าใด จากพรรคการเมืองใดบ้างตามที่พรรคประกาศอย่างเป็นทางการ มีผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวนเท่าใด ที่ลงสมัครในนาม “อิสระ” แต่อาจมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคการเมือง

โดยอาศัยการชี้วัดจากความสัมพันธ์ในอดีต จากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น การสังกัดพรรคการเมือง, การเคยลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคการเมืองนั้น, มีคู่สมรส บุตร ญาติ อยู่ในพรรคการเมืองนั้น, เป็นผู้ให้การสนับสนุนพรรคการเมืองนั้น ๆ ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการหาเสียงเลือกตั้ง เงินทุน ฯลฯ หรือมีความสัมพันธ์กับนักการเมืองในพรรคนั้น ๆ อย่างใกล้ชิด อันเป็นวิถีทางที่สื่อมวลชนหลายสำนักใช้กันในการนำเสนอข่าว และมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นจำนวนเท่าใดที่ถือว่าเป็นผู้สมัครอิสระ/นักการเมืองท้องถิ่น หรือผู้ที่ไม่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองได้อย่างชัดเจน

พบว่าในการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดในครั้งนี้ นอกจากผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีการประกาศจากพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีเพียง 3 กลุ่มเท่านั้น รวมเป็นจำนวน 69 คน แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย จำนวน 25 คน คณะก้าวหน้า จำนวน 42 คน และ พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 2 คน ยังมีผู้สมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งนายก อบจ. ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคการเมืองทั้งหมด 17 พรรคการเมือง รวมเป็นจำนวน 157 คน

และอีกหนึ่งกลุ่มที่ถือเป็นผู้สมัครอิสระ/นักการเมืองท้องถิ่น หรือผู้ที่ไม่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองได้อย่างชัดเจน จำนวน 106 คน โดยจากผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ทั้ง 332 คนทั่วประเทศ สามารถแยกเป็นรายพรรคการเมืองและผู้สมัครอิสระ/นักการเมืองท้องถิ่นได้หลายกลุ่ม

Rocket Media Lab พบว่า แม้ พรรคเพื่อไทย จะประกาศส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. อย่างเป็นทางการเพียงแค่ 25 คน แต่จากข้อมูลยังปรากฏว่า มีผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่น ๆ ที่แม้จะไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่พรรคประกาศอย่างเป็นทางการ แต่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทยอีก 30 คน รวมเป็น 55 คน เช่น ชัยศิริ ศุภรักษ์จินดา ผู้สมัครในจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งลงในนามอิสระ แต่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทย โดยในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วในปี 2555 ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทย

เช่นเดียวกันกับ คณะก้าวหน้า ที่แม้ไม่ใช่พรรคการเมือง แต่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับอดีตพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน โดยคณะก้าวหน้าประกาศส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ในนามคณะก้าวหน้า 42 คน แต่จากข้อมูลยังปรากฏว่า มีผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่น ๆ ที่แม้จะไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่คณะก้าวหน้าประกาศอย่างเป็นทางการ แต่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับอดีตพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล หรือคณะก้าวหน้าอีก 10 คน รวมเป็น 52 คน เช่น วินิจ จินใจ ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. จังหวัดเชียงใหม่ จากกลุ่มเชียงใหม่ก้าวใหม่ ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล

ส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ในนามพรรคเพียง 2 จังหวัด นั่นก็คือ เกตุชาติ เกศา ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. จังหวัดสตูล และ ไพเจน มากสุวรรณ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. จังหวัดสงขลา

ในขณะที่พรรคที่ประกาศไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคอย่าง พรรคพลังประชารัฐ จากข้อมูลการเชื่อมโยงความสัมพันธ์พบว่า มีผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคพลังประชารัฐจำนวน 40 คน เช่น อัครา พรหมเผ่า ผู้สมัครนายก อบจ. พะเยา จากกลุ่มฮักพะเยา ซึ่งเป็นน้องชายของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สังกัดพรรคพลังประชารัฐ

เช่นเดียวกันกับ พรรคภูมิใจไทย ที่ประกาศไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคอย่างเป็นทางการ จากข้อมูลการเชื่อมโยงความสัมพันธ์พบว่า มีผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคภูมิใจไทย 25 คน เช่น ภุชงค์ วรศรี หัวหน้ากลุ่ม “ภูมิใจพัทลุง” ผู้สมัครนายก อบจ. พัทลุง ซึ่งมี นาที รัชกิจประการ อดีต ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย มาช่วยลงพื้นที่หาเสียงให้


สัดส่วนชาย-หญิง ของผู้สมัครนายก อบจ. ’63

ประเด็นเรื่องสัดส่วนชาย-หญิง ของผู้สมัครรับเลือกตั้ง นายก อบจ. ปี 2563 ในครั้งนี้ จากข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า จากจำนวนผู้สมัครนายก อบจ. ทั่วประเทศ ทั้งหมด 332 คน มีผู้สมัครเพศชาย 283 คน คิดเป็น 85.24% และผู้สมัครเพศหญิง 49 คน คิดเป็น 14.76 %

และเมื่อแยกเป็นรายพรรค โดยสันนิษฐานสังกัดจากการสืบค้นความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคการเมือง โดยอาศัยข้อมูลจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนจนถึงต้นเดือนธันวาคม 2563 พบว่า พรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. เพศหญิงมากที่สุด คือ พรรคภูมิใจไทย 8 คน รองลงมา คือ พรรคเพื่อไทย 7 คน พรรคพลังประชารัฐ 6 คน คณะก้าวหน้า 4 คน พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 1 คน พรรคเสรีรวมไทย 1 คน พรรคคลองไทย 1 คน และผู้สมัครอิสระ/นักการเมืองท้องถิ่น 18 คน

โดยหากแยกเป็นภาค พบว่า ภาคเหนือ มีผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ทั้งหมด 40 คน เป็นเพศชาย 36 คน คิดเป็น 90% และเพศหญิง 4 คน คิดเป็น 10% โดยพรรคที่ส่งผู้สมัครที่เป็นเพศหญิงสูงสุดคือพรรคเพื่อไทย จำนวน 3 คน

ภาพ : Thai PBS News

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ทั้งหมด 111 คน เป็นเพศชาย 96 คน คิดเป็น 86.49% และเพศหญิง 15 คน คิดเป็น 13.51% โดยพรรคที่ส่งผู้สมัครที่เป็นเพศหญิงสูงสุดคือพรรคภูมิใจไทย จำนวน 5 คน

ภาคกลาง มีผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ทั้งหมด 89 คน เป็นเพศชาย 71 คน คิดเป็น 79.78% และเพศหญิง 18 คน คิดเป็น 20.22% โดยพรรคที่ส่งผู้สมัครที่เป็นเพศหญิงสูงสุดคือพรรคภูมิใจไทย จำนวน 3 คน

ภาคตะวันออก มีผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ทั้งหมด 25 คน เป็นเพศชาย 20 คน คิดเป็น 80% และเพศหญิง 5 คน คิดเป็น 20% โดยพรรคที่ส่งผู้สมัครที่เป็นเพศหญิงสูงสุด คือ คณะก้าวหน้า จำนวน 3 คน

ภาคตะวันตก มีผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ทั้งหมด 14 คน เป็นเพศชาย 11 คน คิดเป็น 78.57% และเพศหญิง 3 คน คิดเป็น 21.43% โดยพรรคที่ส่งผู้สมัครที่เป็นเพศหญิงสูงสุดคือคณะก้าวหน้าและพรรคเพื่อไทย จำนวนพรรคละ 1 คน และอีก 1 คนคือผู้สมัครอิสระ/นักการเมืองท้องถิ่น

ภาคใต้ มีผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ทั้งหมด 53 คนเป็นเพศชาย 49 คน คิดเป็น 92.45% และเพศหญิง 4 คน คิดเป็น 7.55% โดยพรรคที่ส่งผู้สมัครที่เป็นเพศหญิงสูงสุดคือพรรคประชาธิปัตย์ พรรคคลองไทยและพรรคพลังประชารัฐจำนวนพรรคละ 1 คน และอีก 1 คนคือผู้สมัครอิสระ/นักการเมืองท้องถิ่น

ภาพรวม

จากข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า ภาคที่มีสัดส่วนผู้สมัครเพศหญิงมากที่สุดก็คือภาคตะวันตก จำนวน 3 คน หรือคิดเป็น 21.43% ในขณะที่ ภาคใต้ มีสัดส่วนน้อยที่สุด คือ 4 คน คิดเป็น 7.55%

โดยหากเปรียบเทียบกับตำแหน่งนายก อบจ. ก่อนหน้านี้ พบว่า นายก อบจ. ทั้ง 76 จังหวัด มีนายก อบจ. ที่เป็นเพศชาย 67 คน คิดเป็น 88.16% และเป็นเพศหญิง 9 คน คิดเป็น 11.84%

และหากเปรียบเทียบกับจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2562 พบว่า ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2562 มีผู้สมัครรับเลือกตั้งในแบบ ส.ส.เขตทั้งหมด 11,181 คน แบ่งเป็นผู้สมัครเพศชาย จำนวน 8,702 คน คิดเป็น 77.83% และมีผู้สมัครที่เป็นเพศหญิง จำนวน 2,479 คน คิดเป็น 22.17%

โดยพรรคการเมืองที่ส่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเพศหญิง ในแบบ ส.ส.เขต มากที่สุด เรียงตามลำดับ คือ พรรคไทยรักธรรม 134 คน พรรคประชาชนปฏิรูป 112 คน พรรคมหาชน 100 คน พรรคอนาคตใหม่ 56 คน พรรคประชาธิปัตย์ 55 คน พรรคพลังประชารัฐ 54 คน พรรคชาติพัฒนา 48 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 42 คน พรรคภูมิใจไทย 42 คน และพรรคเพื่อไทย 33 คน ฯลฯ

และจากผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนแทนราษฎร 2562 พบว่าจากสมาชิกสภาผู้แทนแทนราษฎร ที่ได้รับการเลือกตั้งทั้งหมด 498 คน เป็นเพศชาย 420 คน คิดเป็น 84.34% เพศหญิง 78 คน คิดเป็น 15.66% โดย ส.ส. หญิงทั้ง 78 คนนั้นแบ่งเป็น ส.ส.เขต จำนวน 53 คน และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จำนวน 25 คน (จากจำนวนทั้งหมด 149 คน คิดเป็น 16.79%)

ซึ่งพรรคการเมืองที่มี ส.ส.หญิงมากที่สุด เรียงลำดับ คือ พรรคพลังประชารัฐ 22 คน พรรคเพื่อไทย 21 คน พรรคอนาคตใหม่ 14 คน พรรคประชาธิปัตย์ 9 คน พรรคภูมิใจไทย 4 คน พรรคเพื่อชาติ 2 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย 2 คน พรรคเสรีรวมไทย 2 คน พรรคพลเมืองไทย 1 คน พรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน

ขณะที่การสรรหาสมาชิกวุฒิสภาที่ผ่านมา พบว่า จากจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการคัดเลือกทั้งหมด 250 คน มีเพศชาย 224 คน คิดเป็น 89.6% และมีเพศหญิง 26 คน คิดเป็น 10.4%

ข้อมูลและภาพ : Rocket Media Lab

ผู้หญิง กับ การเมืองท้องถิ่น

ศึกชิงที่นั่งในองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่จะมาถึงในวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคมนี้ ทั้งนายก และสมาชิกสภา อบจ. มีภาพของผู้หญิงชิงตำแหน่งกันเองในหลายพื้นที่

หากไล่เรียงเฉพาะจังหวัดที่มีผู้หญิงลงแข่งขันในตำแหน่ง นายก อบจ. เกิน 1 คน ปรากฏว่า มีเพียง 7 จังหวัดเท่านั้น

เริ่มกันที่ ขอนแก่น เป็นจังหวัด ที่มีสัดส่วนผู้สมัครมากถึง 10 คน แต่ในจำนวนนี้ มีผู้หญิงลงชิงเก้าอี้ เพียง 2 คนเท่านั้น คือ ณัฎฐณิชา สารบรรณ จากทีมรักก้าวหน้า และ กรชฎาพิชญ์ ภูมิเขต ผู้สมัครอิสระ

อีกจังหวัด ที่ถือเป็นพื้นที่แข่งขันกันดุเดือด ตั้งแต่การเมืองสนามใหญ่ เพราะมีคนบ้านใหญ่ ตระกูลดัง มีฐานเสียงพรรคการเมืองสนับสนุนชัดเจน จึงเดิมพันกันสูง คือ เชียงราย ซึ่งเมื่อมาถึงสนามคิกออฟของการเมืองท้องถิ่นในครั้งนี้ วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ลูกสาว ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ลงสนามด้วยตัวเอง ช่วงชิงกับ อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ ที่ว่ากันว่านอกจากเป็นอดีต ส.อบจ.เชียงราย หลายสมัยแล้ว ตระกูล วันไชยธนวงศ์ ยัง อยู่ในแวดวงการเมืองท้องถิ่นมานาน และยังเป็นลูกสาวของอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย อีกด้วย

ลพบุรี เป็นอีกสนาม ที่มีผู้หญิงลงแข่งกันถึง 2 คน คือ ศรีรัตน์ ฤกษ์พิชัย ผู้สมัครอิสระ ขณะที่ผู้หญิงอีกคนในสนามนี้ เป็นอดีต นายก อบจ. ลพบุรี คือ อรพิน จิระพันธุ์วาณิช ที่ลงสนามในนาม กลุ่มรักลพบุรี แต่สามีของเธอ คือ สุบรรณ จิระพันธุ์ อดีต นายก อบจ. ลพบุรี ที่ถูกลอบยิงเสียชีวิตเมื่อปี 2554

เมืองแม่กลองอย่าง สมุทรสงคราม มี สุกานดา ปานะสุทธะ ที่แม้ลงในนามอิสระ แต่เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งระดับชาติครั้งที่ผ่านมา ส่วนคู่แข่งอย่าง สุนิสา ตันประเสริฐ จากทีม ฅนทำงาน ไม่พบความเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองใด

สระบุรี มีผู้หญิงมากถึง 4 คน ขานิฐาณันท์ เทียมประเสริฐ ผู้สมัครอิสระ แต่เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย รมณีย์วรรณ โรจนดุล และ มยุรี ตันฑ์พรชัย นั้นเป็นผู้สมัครอิสระที่ยังไม่พบความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับกลุ่มพรรคการเมือง ส่วน ปวรีวรรณ นันนทปัญญา ลงในนามอิสระเช่นกัน แม้จะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์

ขณะที่ อำนาจเจริญ มี จันทร์เพ็ญ ประเสริฐสรี อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่เลือกใช้ชื่อกลุ่ม พลังอำนาจเจริญ ในการแข่งขันสนามท้องถิ่น ส่วนอีกคน คือ วันเพ็ญ ตั้งสกุล ที่ลงสนามในนาม ภูมิใจไทอำนาจเจริญ

หรือแม้แต่จังหวัดที่การเมืองท้องถิ่นและขั้วการเมืองเก่าแข่งขันกันดุเดือด อย่าง สงขลา ก็ยังมีผู้หญิงขอลงทำหน้าที่ถึง 2 คน คือ ภัทราวรรณ ขำตรี ที่แม้จะลงสมัครในนามอิสระ แต่ก็เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคคลองไทย และ ขณะที่ผู้สมัครหญิงอิสระอีกคน คือ อภิญญา ยอดแก้ว ไม่พบว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มใด

หากดูจำนวนผู้หญิง ในสนามการเมืองท้องถิ่น ที่แข่งขันในตำแหน่งนายก อบจ. ทั้ง 49 คน จะพบความเชื่อมโยงที่สำคัญกับกลุ่มการเมืองเก่าในพื้นที่ แต่ขณะเดียวกัน หลายคนก็เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ ไม่เคยผ่านสนามการเมืองท้องถิ่น และไม่พบความเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองเก่าใด แต่เลือกลงสนามครั้งนี้ ในนามอิสระหรือกลุ่มการเมืองใหม่ ที่เคยประกาศว่าจะเขย่าการเมืองท้องถิ่น

การเลือกตั้ง อบจ. ครั้งสำคัญนี้ นอกจากจะเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรก นับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2557 และมีผู้สมัครลงแข่งขันในนามพรรคการเมือง/กลุ่มการเมืองอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกแล้ว ยังมีประชาชนอายุระหว่าง 18-26 ปี จะได้ใช้เลือกตั้งในสนามการเมืองท้องถิ่นเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งใหญ่เมื่อปี 2555

วลีแบบ “เลือกบ้านใหญ่ หรือ เลือกหน้าใหม่” จึงมีความสำคัญในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ เพราะจะเป็นตัวชี้วัดว่า การทำการเมืองท้องถิ่นแบบใหม่ หรือ “ประชาธิปไตยท้องถิ่น” ที่หาเสียงด้วยนโยบายของผู้สมัคร (และเป็นไปได้จริง) จะเดินหน้าต่ออย่างไร ในสนามแข่งขันของการเมืองท้องถิ่นอีกกว่า 7,000 แห่ง ที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้

ผู้หญิง กับ พื้นที่ทางการเมือง

ประเด็นเรื่องสัดส่วนของผู้หญิงในพื้นที่การเมือง มีการพูดถึงมาโดยตลอด ไม่เพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น มีประเทศที่เคยมีผู้นำหญิงขึ้นมาบริหารประเทศแล้วถึง 87 ประเทศ และในปัจจุบันมีผู้นำหญิงทำหน้าที่ผู้บริหารประเทศกว่า 20 คน ทั้งในประเทศ เยอรมนี ไอซ์แลนด์ บังกลาเทศ นอร์เวย์ นิวซีแลนด์ หรือไต้หวัน

องค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ (IPU) ได้เปิดเผยข้อมูลสัดส่วนการมีส่วนร่วมในพื้นที่ทางการเมืองของผู้หญิง โดยพิจารณาจากจำนวนที่นั่งทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาล่าสุด พบว่าประเทศที่มีสัดส่วนการมีส่วนร่วมในพื้นที่ทางการเมืองของผู้หญิงมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ก็คือ ประเทศรวันดา โดยมีผู้หญิงนั่งในสภาจำนวน 49 คน จากทั้งหมด 80 ที่นั่ง หรือคิดเป็น 61.3% ตามมาด้วยประเทศคิวบาและโบลิเวีย ในขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้หญิงที่นั่งในสภาเพียง 5.3% เท่านั้น (ข้อมูลในปี 2561 ก่อนการเลือกตั้ง) อยู่ในอันดับที่ 184 ของโลก

แม้ตัวเลขของผู้หญิงในพื้นที่การเมืองอาจจะไม่ได้การันตีว่าผู้หญิงที่เข้าไปทำงานการเมืองจะเป็นกระบอกเสียงในการผลักดันประเด็นปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ หรือปัญหาผู้หญิงและเด็กเสมอไป แต่ในขณะเดียวกันจำนวนและสัดส่วนของผู้หญิงในพื้นที่ทางการเมืองก็ยังมีความสำคัญ เช่น ในประเทศไทย หาก ส.ส. หญิงสามารถรวมตัวกันได้ 20 คน ก็สามารถเสนอกฎหมายที่เกี่ยวกับผู้หญิงและเด็กได้

สำหรับในต่างประเทศ ที่เยอรมนี มีความพยายามออกกฎหมายที่เรียกว่า Parity Act หรือกฎหมายที่กำหนดให้พรรคการเมืองระดับท้องถิ่นต้องเพิ่มจำนวนนักการเมืองหญิงในระบบปาร์ตี้ลิสต์ให้มากได้เท่ากับนักการเมืองชาย เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศในรัฐสภา โดยเฉพาะในรัฐบรันเดินบวร์ค ที่พยายามผลักดันกฎหมายนี้ออกมาใช้ในการเลือกตั้งในปี 2567 แต่กฎหมายฉบับนี้ก็ถูกตีตกไปด้วยการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญของเยอรมนี

ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น ตั้งเป้าจะให้โควต้า 35% สำหรับผู้สมัครสมาชิกรัฐสภาที่เป็นหญิงให้ได้ภายในปี 2568 โดยจะมีการกำหนดเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม เพื่อช่วยเพิ่มความเท่าเทียมกันทางเพศในพื้นที่ทางการเมือง โดยจากรายงานของ Inter-Parliamentary Union ในสภาล่างของญี่ปุ่นนั้น จากจำนวนผู้ร่างกฎหมายทั้งหมด 465 คนมีผู้หญิงเพียง 46 คน หรือคิดเป็น 9.9% และอยู่ในอันดับที่ 167 จาก 190 ประเทศในการจัดอันดับสัดส่วนการมีส่วนร่วมในพื้นที่ทางการเมืองของผู้หญิงในแต่ละประเทศทั่วโลก

หมายเหตุ

บทความชิ้นนี้ เป็นความร่วมมือทางด้านข้อมูล ระหว่าง The Active และ Rocket Media Lab บริษัททำงานด้านข้อมูลเพื่อการสื่อสารมวลชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์