จุดเปลี่ยนวันหย่อนบัตร ให้ “กระจายอำนาจ” ไม่ใช่เพียง “วาทกรรม”

“ถ้าเป็นกลุ่มการเมืองบ้านใหญ่เดิม นโยบายอาจเหมือนเดิม แต่ลงตัวกับระบบ-ระเบียบราชการ ส่วน กลุ่มการเมืองใหม่ แม้จะมีนโยบายก้าวหน้า-ตอบโจทย์ท้องถิ่น แต่ในทางปฏิบัติอาจไม่ง่าย เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทย ถูกควบคุมอย่างเข้มข้นจากระบบ-ระเบียบทางราชการ และสำนักงานตรวจสอบ อย่างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน…”

รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว

หนึ่งในนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ที่ศึกษาพัฒนาการของโครงสร้างอำนาจท้องถิ่นในภาคตะวันออก โดยวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมือง เป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก “รองศาสตราจารย์โอฬาร ถิ่นบางเตียว” อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา ที่นอกจากจะศึกษาเรื่องนี้โดยตรง เขายังอยู่ในพื้นที่สนามการเมืองท้องถิ่นแบบ “บ้านใหญ่” ที่ผูกพันทั้งการเมืองท้องถิ่นและการเมืองระดับชาติมายาวนาน อย่าง “ชลบุรี”

The Active สนทนากับ รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว เพื่อประเมินทิศทางการเมืองท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสนาม “อบจ.” ที่ปลดล็อกเลือกตั้งก่อนใคร วันที่ 20 ธันวาคม 2563

ศึกท้องถิ่นครั้งสำคัญ หลังถูกแช่แข็งนานกว่า 7 ปี

ภายใต้ รัฐธรรมนูญ 2560 รัฐบาลและพรรคการเมือง รู้ดีว่าทุกคะแนน มีผลต่อการเมืองระดับชาติ ทุกพรรคจากทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ล้วนเป็นผู้สนับสนุนหลักในการเมืองท้องถิ่นสนามนี้ เขาบอกว่า หากเป็นฝ่ายตระกูลการเมืองเดิมในจังหวัด ก็จะได้รับการสนับสนุนจากพรรคใหญ่ ทั้งในระดับที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ เพราะหากชนะการเลือก นี่จะเป็นหลักประกันเบื้องต้นว่า การเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งหน้า จะมีหน่วยเลือกตั้งระดับจังหวัด เป็นพันธมิตรของตัวเอง

เช่นเดียวกับฝ่ายค้าน อย่าง พรรคเพื่อไทย คณะก้าวหน้า ก็มีตัวแทนลงสมัครแข่งขัน ด้านหนึ่ง ก็อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลง และหวังในใจว่าจะเปลี่ยนแปลงการเมืองในระดับชาติเช่นเดียวกัน

แม้จุดเปลี่ยนการเมืองถิ่นรอบนี้ คือ ผู้เล่นทุกกลุ่ม ล้วนมาพร้อมนโยบายที่ตอบโจทย์ท้องถิ่น สิ่งนี้ เป็นความหวังที่ทำให้การเมืองท้องถิ่นมีความหวังจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่ รศ.โอฬาร มองว่า ในอดีตหลายโครงการที่ผู้นำท้องถิ่นสามารถเดินหน้าได้ดี และส่งผลดีในเชิงนโยบาย เป็นผลมาจากประสบการณ์ทางการเมือง และเครือข่าย (Connection) ที่ “นักการเมืองท้องถิ่น” สามารถสื่อสารให้ “ระบบราชการ-ข้าราชการท้องถิ่น” ยอมจำนนต่อนโยบายของพวกเขาได้ แต่หากเป็นกลุ่มการเมืองใหม่ อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยความไว้วางใจเบื้องต้นในการขับเคลื่อนนโยบาย

สุดท้ายแล้วแม้จะเห็นความตื่นตัวจากการเลือกตั้ง อบจ. หลังจากถูกแช่แข็งมา 6-7 ปี แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ ต้องรอผลการชี้ขาด 20 ธ.ค. 2563 ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง

อีกครั้ง! กับบทบาทของ New voter

New voter หรือผู้มีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งหน้าใหม่ กว่า 7 ล้านเสียง (อายุระหว่าง 18-26 ปี หากนับจากการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งใหญ่ ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2555) เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างแรงกดดันทางสังคม ให้ผู้สมัครต้องมีนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน แต่ตลอดการติดตามความเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้ รศ.โอฬาร ยังไม่ค่อยเห็นคนกลุ่มนี้ ตั้งคำถามต่อนโยบายผู้สมัครท้องถิ่น ขณะเดียวกัน กลับเห็นการติดตามการเมืองระดับชาติอย่างเข้มข้น อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เข้าใจได้ว่า คนรุ่นใหม่ ไม่ให้ความสนใจท้องถิ่น เพราะไม่รู้ ไม่เข้าใจ ว่าท้องถิ่นสัมพันธ์ ผูกโยงกับชีวิตอย่างไร

“สิ่งที่น่าสนใจ คือ แรงกดดันทางสังคมทำให้ผู้สมัครต้องมีนโยบาย แต่ไม่รู้ว่าประชาชนจะตัดสินใจเลือกที่นโยบายจริงหรือไม่… และยังไม่มั่นใจว่า New voter 7 ล้านเสียง ให้ความสำคัญกับท้องถิ่นจริงไหม ?”

ปัญหาท้องถิ่น หลายเรื่อง แก้ไขได้ที่ท้องถิ่น

“คนไทยทุกคน สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่กลับรู้เรื่องท้องถิ่นน้อยมาก แม้กระทั่งในมหาวิทยาลัย สถานศึกษา ก็มีเพียงคนไม่กี่พันคนที่ได้เรียนเรื่อง การปกครองส่วนท้องถิ่น”  รศ.โอฬาร แนะนำให้คนรุ่นใหม่เก็บพลัง ทรัพยากร มาใช้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงท้องถิ่น เพราะมันทำให้ปัญหาระดับชาติจบด้วย และเป็นการแก้ปัญหาในระดับที่ใกล้ชิดกับคนท้องถิ่นมากที่สุด จับต้องง่ายกว่า

เขายกตัวอย่างว่า แทนที่คนรุ่นใหม่จะไปต่อรองการศึกษาระดับชาติ ก็ให้หันกลับมาต่อรอง กับ อบจ. ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ทำหลักสูตรฟรีได้ไหม? ถ้าสร้างความสัมพันธ์ในระดับท้องถิ่น ประเทศก็สามารถเปลี่ยนได้อีกแบบหนึ่ง และเปลี่ยนอยู่บนหลักการประชาธิปไตย เพราะในความจริงแล้ว ท้องถิ่นดูทุกเรื่อง ในขณะที่รัฐบาลดูไม่กี่เรื่อง จึงไม่ควรที่จะเอาความหวังไปฝากไว้กับ รัฐบาลกลาง ทั้งที่ท้องถิ่นเองก็มีทรัพยากร มีคุณภาพ งบประมาณ แต่กลับไม่ถูกใช้ประโยชน์

“ถ้าเราแก้ปัญหาการเมืองระดับชาติที่มืดดำ โดยพยายามจะติดแสงสว่างด้วยความหวังในใจว่า จะให้ประเทศเกิดแสงสว่าง มันทำได้ แต่อาจต้องใช้เวลา แต่ถ้าหนุ่มสาวเลือกมาจุดตะเกียงเล่มเล็ก ๆ ในท้องถิ่นทั้งประเทศ ประเทศท่าน ก็จะสว่างได้เหมือนกัน”

อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์คนนี้ ยังย้ำด้วยว่า “คนรุ่นใหม่ควรไปใช้สิทธิ เพื่อส่งสัญญานตามความจริงว่าเราพอใจกับการเมืองแบบเดิม หรือต้องการจะเปลี่ยนแปลง”

ร่วมกันทำให้ “กระจายอำนาจ” ไม่เป็นเพียงแค่ วาทกรรม

“ประชาชนคิดว่ามีเพียง ทหาร และนักการเมืองต้องการอำนาจ แต่หลังเกิดการฟื้นตัวของราชการส่วนภูมิภาคในยุครัฐประหาร 2557 อำนาจนี้กลับถูกแทรกซึมไปสู่การปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย…”

ประชาชนบางส่วนเลือกทิ้งนโยบาย เพราะมองว่า นโยบาย เลือกไปแล้วก็ทำไม่ได้ สู้เลือกความสัมพันธ์ส่วนตัวดีกว่า ทั้งที่หลายคนมีความคาดหวังอยากให้เปลี่ยนในเชิงพื้นที่ แต่ทำได้ยาก เพราะระบบราชการไม่เปลี่ยน คนรุ่นใหม่จึงควรออกไปแสดงเจตจำนงทางการเมือง เพื่อให้ผลคะแนนส่งสัญญานว่าเราพอใจที่จะอยู่กับการเมืองท้องถิ่นแบบไหน

ก่อนปี 2540 หลายคนมีความหวังว่า สังคมไทยกำลังเริ่มต้นสู่ยุคทองของการกระจายอำนาจ เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงของรัฐไทยทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร ไปสู่ท้องถิ่น แต่หลังรัฐประหารปี 2557 ไทยกลับเข้าสู่ยุคของการฟื้นคืนอำนาจรัฐราชการส่วนภูมิภาค ทุกวันนี้เรามีกฎหมายหลายตัวที่ท้องถิ่นต้องบริหารงานภายใต้การกำกับดูแลของราชการส่วนภูมิภาค ประชาชนคิดว่ามีเพียง ทหาร และนักการเมืองต้องการอำนาจ แต่หลังเกิดการฟื้นตัวของราชการส่วนภูมิภาค อำนาจนี้กลับถูกแทรกซึมไปสู่การปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย

รศ.โอฬาร ยกตัวอย่างวาทกรรม กระจายอำนาจ ที่ชัดเจน มองผ่านการชูนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่แม้จะมีแรงกดดันจากภาคประชาชนที่เห็นต่างออกมาปกป้องทรัพยากรในพื้นที่ แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงการขนาดใหญ่จากรัฐได้ เพราะมีทั้งกฎหมาย อย่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาค หรือ กฎหมายอีอีซี และอำนาจพิเศษ ที่ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน

ขณะที่นโยบายของนักการเมืองท้องถิ่นเอง ก็ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คนในพื้นที่ EEC เช่น ไม่ค่อยเห็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม หรือ ผลกระทบที่เกิดจากโครงการ EEC โดยตรง

สิ่งนี้ สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบราชการไทย และวาทกรรมการะจายอำนาจ ที่ยังคงเป็นรัฐราชการ ถูกควบคุมโดยอำนาจจากส่วนกลาง แต่ทั้ง 2 อำนาจนี้ พยายามจะสื่อสารกับสังคมว่า เรามีกระบวนการกระจายอำนาจ มีการปกครองส่วนท้องถิ่น มีส่วนร่วมจากภาคประชาชน แต่ก็ยังปรากฏน้อยมาก ตัวแทนประชาชนถูกเลือกเข้าไปส่งเสียงสะท้อนเหล่านี้น้อยมาก และแทบไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ปัญหาทั้งหมดนี้อยู่ที่ระบบราชการ ถ้าอยากจะหลุดออกจากปัญหาเหล่านี้ ต้องคุยกันอย่างหนัก เพื่อจัดความสัมพันธ์ในการแก้ปัญหานี้

อาจารย์ย้ำว่า ลำพังเพียงนักการเมืองท้องถิ่นแก้ปัญหาอาจจะยังไม่พอ ภาคประชาชน และภาคการสื่อสารมวลชน ยังต้องช่วยกันส่งเสียงสร้างแรงกดดัน หากไทยไม่ปฏิรูป หรือปรับโครงสร้างราชการ เราก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้เลย สุดท้ายก็เกิดปัญหาเดิม และนำไปสู่วิธีคิดอื่นที่ตามมา ซึ่งไม่สามารถนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน