ธนาธร มั่นใจคะแนนนิยมไม่ลด แม้สอบไม่ผ่านสนาม อบจ.

ยอมรับ พูดเรื่องสถาบันฯ มีผลต่อคะแนน ลั่น 57 ส.อบจ. พร้อมทำงานเป็นปากเสียงประชาชน เตรียมสู้ศึกเทศบาล-อบต. ต่อ

วันนี้ (21 ธ.ค. 2563) ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า แถลงข่าวหลังผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ที่ผ่านมา หลังมีการนับคะแนนจนรู้ผลอย่างไม่เป็นทางการแล้ว

เขาระบุว่าใน 42 จังหวัดที่คณะก้าวหน้าส่งตัวแทนลงเข้าแข่งขันนั้น ไม่สามารถช่วงชิงตำแหน่งนายก อบจ. มาได้แม้แต่จังหวัดเดียว ปัจจัยสำคัญเป็นเพราะทำงานไม่มากพอ จึงขอใช้โอกาสนี้ขอโทษประชาชนทุกคนที่ต้องผิดหวัง แต่แม้ไม่ได้ตำแหน่งนายก อบจ. ก็ไม่ได้แปลว่าไม่ประสบความสำเร็จ เพราะได้รับคะแนนจากประชาชนใน 42 จังหวัด รวมแล้ว 2,670,798 คะแนน จึงขอขอบคุณทุกคะแนนและความไว้วางใจที่ทุกคนมอบให้

แต่ก็ยังสามารถช่วงชิงตำแหน่ง ส.อบจ. ได้ 57 ตำแหน่ง ใน 20 จังหวัด และจะยังมีส่วนร่วมในการผลักดัน ขับเคลื่อน ให้สังคมไทยได้รับรู้ถึงความสำคัญ บทบาท และหน้าที่ของ อบจ.

มั่นใจ ความนิยมไม่ได้ลดลง

ประธานคณะก้าวหน้า ยืนยันว่า ความนิยมไม่ได้ลดลงเมื่อเทียบกับสมัยพรรคอนาคตใหม่ โดยยกกรณีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนมีนาคม 2562 มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งใน 42 จังหวัด 19.6 ล้านคน คิดเป็น 72.3% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พรรคอนาคตใหม่ได้รับคะแนนรวมกันกว่า 3.18 ล้านคะแนน คิดเป็น 16.2% จากผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง

สำหรับการเลือกตั้ง นายก อบจ. ใน 42 จังหวัด มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 15.7 ล้านคน คิดเป็น 57.7% มีผู้เลือกตัวแทนจากคณะก้าวหน้า 2.6 ล้านคน คิดเป็น 17% ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง แม้คะแนนดิบดูจะน้อยลง แต่เมื่อเทียบสัดส่วนของคะแนนแล้ว จะเห็นได้ว่าในรอบกว่า 1 ปีที่ผ่านมา คะแนนนิยมไม่ได้ลดลง

สำหรับจังหวัดที่ผู้สมัครในนามคณะก้าวหน้า ได้ที่นั่งในตำแหน่ง ส.อบจ. คือ จังหวัดพะเยา 1 คน, จังหวัดอุตรดิตถ์ 3 คน, จังหวัดฉะเชิงเทรา 3 คน, จังหวัดชลบุรี 1 คน, จังหวัดสมุทรปราการ 1 คน, จังหวัดสมุทรสาคร 1 คน, จังหวัดนนทบุรี 3 คน, จังหวัดอ่างทอง 1 คน, จังหวัดภูเก็ต 1 คน, จังหวัดยโสธร 7 คน, จังหวัดร้อยเอ็ด 3 คน, จังหวัดมุกดาหาร 1 คน, จังหวัดอุดรธานี 10 คน, จังหวัดบึงกาฬ 1 คน, จังหวัดหนองคาย 5 คน, จังหวัดสกลนคร 2 คน, จังหวัดหนองบัวลำภู 2 คน, จังหวัดลำพูน 2 คน, จังหวัดน่าน 1 คน และ จังหวัดระยอง 1 คน นั้น จะให้การสนับสนุนและคำแนะนำแก่ ส.อบจ. ทั้ง 57 คน เพื่อตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารแทนประชาชน

“พวกเราขอโทษที่ไม่สามารถไปดำรงตำแหน่งนายก อบจ. ได้ แม้แต่หนึ่งจังหวัด แต่เราได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของเราแล้ว ที่จะสร้างการเมืองแบบใหม่แบบนี้ ไม่ใช่แต่ในระดับประเทศ แต่ลงมาในระดับท้องถิ่นด้วย ดังนั้น ทุกคะแนนที่พวกเราได้มาในรอบนี้ 2,670,798 คะแนน จึงเเป็นคะแนนที่บริสุทธิ์ ไม่ได้มาจากเครือข่ายผลประโยชน์ และนั่นก็คือสิ่งที่เราภาคภูมิใจในการทำงานตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางอุปสรรคมากมาย”

เตรียมลุยต่อเลือกเทศบาล-อบต. พร้อมทำงานรณรงค์ทางความคิดต่อเนื่อง

ธนาธร กล่าวต่อไปว่า หลายคนอาจตั้งคำถามว่าหลังจากนี้จะก้าวต่อไปอย่างไร ตนเรียนว่าคณะก้าวหน้า รวมถึงผู้สมัครนายก อบจ. และ ส.อบจ. จะยังก้าวเดินต่อไปเพื่อสร้างประเทศไทยที่ดีกว่า ในปี 2564

เขาระบุถึง 3 สิ่งที่จะทำต่อ คือ 1. สนับสนุน เสนอแนะ และช่วยตรวจสอบการทำงานของ อบจ. ผ่านกลไก ส.อบจ. ที่ได้รับเลือกเข้าไป 2. ทำงานการเมืองในระดับพื้นฐาน ทั้งระดับเทศบาลหรือ อบต. พร้อมเชิญชวนคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมงาน เพื่อให้ประชาชนเห็นว่าท้องถิ่นและชุมชนมีศักยภาพที่จะไปไกลมากกว่าที่เป็นอยู่

และ 3. ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนในสิ่งที่ทำสมัยเป็นพรรคอนาคตใหม่ คือการรณรงค์ปักธงทางความคิดการเมืองที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระบวนการและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งสถานการณ์การเมือง การปฏิรูปกองทัพ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม รวมถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

จำเป็นต้องพูดเรื่องสถาบันฯ พูดความหวังดี จะทำให้สถาบันฯ ยั่งยืน

จากนั้น ธนาธร ตอบข้อซักถามของสื่อมวลชน โดยมีคำถามหนึ่ง ระบุว่าผลเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนว่าอนาคตใหม่สูญเสียฐานคะแนนเดิมหรือไม่? ธนาธร ระบุว่า คะแนนนิยมไม่ได้น้อยลงกว่าการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 ใน 42 จังหวัดนี้ พรรคอนาคตใหม่ได้รับความนิยม 16.2% คณะก้าวหน้าได้ 17% อย่างไรก็ตาม ขอตั้งข้อสงสัยถึงการทำงานของผู้จัดการเลือกตั้ง ในหลายจังหวัดผลการเลือกตั้งถูกปิดประกาศเพียงชั่วครู่ก่อนถอนออกไป การหาผลเลือกตั้งยากเต็มที ตนจึงขอขอเรียกร้องให้มีการเปิดผลเลือกตั้งรายหน่วยและทุกหน่วยในทันที

คำถามต่อมา ระบุว่าผลคะแนนที่ออกมาเช่นนี้ เป็นเพราะธนาธรและปิยบุตรพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ ซึ่งธนาธรระบุว่าปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนรู้สึกเจ็บปวดที่มีการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และการพูดส่งผลต่อคะแนนไม่มากก็น้อย ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนจำนวนมากเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งการพูดเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาโดยไม่มาดร้าย อธิบายถึงเหตุผลว่าการปฏิรูปเท่านั้นที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนได้ จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับสังคมไทยและประชาธิปไตยได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

“ปฏิเสธไม่ได้มันมีผลกระทบแน่นอน แต่จะมากจะน้อยเท่าไหร่คงจะต้องประเมินกันในวันที่เราเห็นผลการเลือกตั้งรายหน่วยที่ชัดเจนมากกว่านี้ ผมเรียนพ่อแม่พี่น้องประชาชน ว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ พวกเราถูกใส่ความ พวกเราถูกโจมตีอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งภายใต้กฎหมายการเลือกตั้งเราไม่สามารถใช้สถาบันพระมหากษัตริย์มาหาเสียงมารณรงค์ได้ ดังนั้นเราเหมือนถูกมัดมือชกอยู่ฝ่ายเดียวกับเรื่องนี้ในตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active