การศึกษาใต้หลังคาสังกะสี

ชวนอ่านความเรียงฉบับน้อย ลายมือของเด็กๆ ในชุมชนบ้านพักรถไฟก่อสร้าง เขตบางซื่อ กทม. เล่าเรื่องสะท้อนปัญหาในครอบครัว ความยากจน ที่ส่งผลให้พวกเขา “ขาดโอกาสทางการศึกษา” และ ตามไปดูสภาพความเป็นอยู่หลังหน้ากระดาษ ที่มาของคำว่า “เด็กเปราะบาง” ผู้ตกหล่นอยู่ในร่องรอยความเหลื่อมล้ำ ไร้การดูแลจากรัฐที่ทั่วถึง ทั้งด้านการศึกษาและคุณภาพชีวิต ทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบ
“ทหารอากาศ” คืออาชีพในฝันของ ด.ช.วาศิณ วงศ์แสงจันทร์ วัย 13 ปี ไม่ใช่เพราะแค่อยากแต่งตัวเท่มียศศักดิ์ แต่การเป็นข้าราชการ ที่มีเงินเดือนและสวัสดิการ คือโอกาสที่เขาและครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ความฝันก็อาจไปไม่ถึง...
เมื่อพ่อแม่ไม่ได้อยู่เลี้ยงดู “น้องเบะ” จึงถูกส่งให้มาอยู่กับตาและยาย เปิดเทอมแต่ละครั้ง ยายต้องกู้หนี้ยืมสินคนรู้จักเพื่อเอามาเป็นค่าเทอม เพราะไม่มีเงินพอจ่าย แม้ว่ารัฐจะให้เรียนฟรี แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ประกอบการเรียนที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อโอกาสทางการศึกษา
ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระเทือนต่อเนื่องกับโอกาสทางการศึกษาของเด็กในครอบครัวยากจน อย่าง “น้องก้อง” เมื่อแม่ของเขาตกงาน รายได้ในครัวเรือนก็ลดลง น้องก้องบอกว่า “อยากจะตั้งใจเรียน โตขึ้นจะได้เป็นพ่อค้าที่หาเงินได้เยอะๆ”
ปัญหาความแตกแยกในครอบครัว ทำให้เด็กๆ ไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควรจะเป็น ยังมีผลทำให้เด็กจำนวนหนึ่ง คุณภาพการศึกษาที่ต่ำกว่ามาตรฐานหากเทียบจากช่วงวัย และระดับชั้นทางการเรียน เช่น การเขียนหนังสือคล่อง สะกดผิด และมีปัญหาในการเรียบเรียง หากไม่ได้รับการส่งเสริมทางการเรียนเป็นพิเศษจะส่งผลต่อศักยภาพนักเรียนไทยในภาพรวม
นโยบายเรียนออนไลน์ที่บ้าน “สามพี่น้อง” ต่างชั้นเรียนจึงต้องนั่งร่วมโต๊ะเดียวกัน เพราะบ้านมีพื้นที่จำกัด ห้องเรียน ห้องนอน ห้องนั่งเล่น รวมอยู่ในที่เดียว พาดผ่านด้วยสัญณาณไวไฟที่ต้องติดตั้งใหม่ พร้อมรายจ่ายเพิ่มเติมที่ต้องเกลี่ยออกไป จากรายได้ทั้งหมดของครอบครัว ที่มีอยู่ไม่เกิน 9,000 บาทต่อเดือน
ข้อจำกัดด้านพื้นที่ ไม่เพียงสะท้อนสภาพความเป็นอยู่ โอกาสทางการเรียนรู้ และอนาคตทางการศึกษาของพวกเขา ซ้ำร้ายยังพบว่า บ้านเกือบทุกหลังในชุมชนนี้ กำลังถูกไล่รื้อจากนโยบายทวงคืนพื้นที่ของการรถไฟแห่งปรเทศไทย เป็นอีกปัญหาในชีวิตที่เด็กๆ ไม่มีทางรู้เลยว่าจะแก้อย่างไร
“มูลนิธิไทยพีบีเอส” ร่วมกับ “ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ” มอบทุนสนับสนุนการเรียนออนไลน์ ให้กับเด็กๆ ในชุมชนจำนวน 30 คน เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย และบริจาคอุปกรณ์การเรียนอีกจำนวนมากให้กับเด็กทั้งชุมชน หวังให้โอกาสทางการศึกษา สร้างโอกาสในชีวิตของพวกเขาในอนาคต

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์