‘Youth Power ขับเคลื่อน Soft Power’
โพรเจกต์ล่าสุดของ Youth In Charge แพลตฟอร์มพัฒนาศักยภาพเยาวชน
เพราะเชื่อว่า เยาวชนคืออนาคตของชาติ ที่เต็มไปด้วยศักยภาพและพลังที่ล้นเหลือ จึงควรมีบทบาทในการนำหรือร่วมออกแบบอนาคตประเทศ ในฐานะ พันธมิตรของชาติ ขับเคลื่อนวาระสำคัญไปพร้อมกับผู้ใหญ่ในทุกภาคส่วนของสังคม ด้วยเหตุผลนี้ ‘Youth In Charge‘ จึงถูกจัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่พัฒนาศักยภาพ ความเป็นผู้นำ และโอกาสของเยาวชนไทย โดย อิน เดอะ ลีด ซึ่งเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ด้วยความตั้งใจที่จะเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่างเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่
แคมเพนล่าสุดของ Youth In Charge ที่ชื่อว่า Youth In Charge Leadership Academy ss.2 ในหัวข้อ ‘Youth Power ขับเคลื่อน Soft Power’ The Active ชวนคุยกับ เอริกา เมษินทรีย์ ผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม เธอบอกกับเราว่า ที่นี่จะเป็น “จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ สู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่”
“เรามองว่าแม้เยาวชนในปัจจุบันจะมีพลัง ศักยภาพ และความสนใจที่หลากหลาย แต่สิ่งต่าง ๆ จะไม่สามารถถูกต่อยอดไปได้เลยหากขาดความร่วมมือ และการสนับสนุนจากผู้ใหญ่อย่างจริงจัง เราจึงพยายามเป็นจุดเชื่อม จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของเยาวชนไปสู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่ เราผนึกกำลังภาคีจากหลากหลายภาคส่วนมาร่วมทำงานกับเยาวชน เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันสิ่งที่เยาวชนคิด ฝัน อยากทำ หรือกำลังทำอยู่ให้ไปได้ไกลขึ้น Youth In Charge พยายามทำให้เสียงของเยาวชนดังขึ้น ทำให้ไอเดียของเขาแหลมคมขึ้นและทำให้ผลกระทบเชิงบวกในสิ่งทีทำแพร่กระจาย ไปในวงกว้างมากยิ่งขึ้น”
เอริกา บอกว่า Youth In Charge ดำเนินการมาถึงปีที่ 3 แล้ว และพบว่าเยาวชนมีความสนใจที่หลากหลาย สิ่งที่เหมือนกันคือเยาวชนอยากจะสร้างการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ หรือสิ่งแวดล้อม ถ้าสามารถดึงพลังเยาวชนมาร่วมพัฒนาประเทศก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับประเทศไทย และวันนี้หลายคนพูดถึงคำว่า ซอฟต์ พาวเวอร์ หลายหน่วยงานก็พยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่หลายประเทศทั่วโลกก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
“สำหรับประเทศไทย เป็นประเทศที่โชคดี เพราะมีต้นทุนทางสังคมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเชิงวัฒนธรรม หรือในเชิงชีวภาพ ทุกภูมิภาคของไทยมีจุดแข็งหรือจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งตรงนี้เรามองว่าเป็นประโยชน์และมีความสำคัญมาก ที่ควรจะดึงศักยภาพเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศ ซอฟต์ พาวเวอร์ตรงนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเอนเทอร์เทนเมนต์ เรื่องดนตรี การแสดง เทศกาลเท่านั้น แต่คืออะไรก็ได้ที่นำมาสู่ชื่อเสียงของประเทศ ขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก ดึงดูดคนเก่ง ๆ โอกาสดี ๆ ทางธุรกิจการลงทุนให้มาอยู่ในประเทศไทย”
YOUR VOICES
YOUR IDEAS
YOUR IMPACT
เอริกา เล่าว่า การออดิชันใน Youth In Charge Leadership Academy ss.2 ชวนเยาวชนเอากิจกรรมที่คิดฝันอยากจะทำ บางส่วนทำโครงการนำร่อง ทำข้อมูลเชิงวิจัย หรือเป็นสตาร์ตอัป มานำเสนอ ซึ่งเธออยากจะดึงพลังเยาวชนมาเป็น Youth Soft Power Ambassador หรือทูตเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้เป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยต่อเวทีโลก
“สิ่งที่เยาวชนจะได้รับจากโครงการนี้ไม่ได้เป็นแค่เงินทุน หรือเงินรางวัล แต่เป็นความภูมิใจ ฮึกเหิมที่ได้เป็นภาคีกับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างจริงจัง และมีหน่วยงานที่ช่วยพัฒนาให้โครงการเล็ก ๆ มีโอกาสเป็นธุรกิจ สตาร์ตอัป วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือแม้กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายด้วยซ้ำ เราจึงได้ดึงภาคีอย่างสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ที่ดูนโยบายระดับประเทศและการพัฒนาที่ยั่งยืนมาร่วมรับฟัง ว่าโครงการของเยาวชนสามารถที่จะร้อยเรียงกันและนำไปสู่นโยบายหรือแผนหรือยุทธศาสตร์ของประเทศได้อย่างไร”
ในฐานะแพลตฟอร์มเยาวชน เอริกา หวังว่าจะช่วยเยาวชนได้ไม่มากก็น้อย ด้วยเยาวชนแต่ละทีมมีความพร้อมและความสนใจที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ภาคีที่เกี่ยวข้อง ที่จะมาช่วยเหลือได้ก็จะเป็นภาคีที่แตกต่างกันด้วย บทบาทของ Youth In Charge พยายามเชื่อมโยงให้ได้ว่าความต้องการของเยาวชนแต่ละทีมน่าจะเหมาะกับการทำงานร่วมกับหน่วยงานใด หรือทรัพยากรแบบไหน ช่องทางการทำงานแบบไหนที่พวกเขาต้องการ ซึ่งตอนนี้มีหน่วยงานที่เป็นภาคีมากมาย เช่น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ข้าราชการรุ่นใหม่จากโครงการพัฒนานักบริหารเพื่อการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รวมถึงรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน
และปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานเอเปค ภายใต้ธีม Open-Connect-Balance มีการหารือถึงรายละเอียดของโมเดลธุรกิจ BCG (แนวทางการพัฒนาธุรกิจที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: SDGs) ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติที่มีเป้าหมายพัฒนาประเทศอย่างทั่วถึง สมดุล และยั่งยืน หลักการหลักของ BCG คือการดึงเอาจุดเด่นทางชีวภาพและวัฒนธรรมของประเทศมาผนวกกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อสร้างความยั่งยืน เอริกา จึงมองว่า ควรจะดึงพลังของเยาวชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม ที่ผ่านมา Youth In Charge จึงจัดกิจกรรมในพื้นที่ 26 มหาวิทยาลัย ทั่วประเทศ ผ่านอุทยานวิทยาศาสตร์
“เราจะรวบรวมผลงานของเยาวชนและเสียงของเยาวชนไปนำเสนอในเวที APEC ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเยาวชนจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในเวทีนั้นต่อไป แต่ที่ผ่านมาเรามีการดึงพลังเยาวชนในเครือข่ายไปร่วมในเวที APEC แล้วผ่านงาน senior officials meeting ครั้งที่ 3 ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่เยาวชนได้ร่วมวงเสวนากับผู้ใหญ่จากหน่วยงานระดับชาติมากมาย การที่เยาวชนได้มีโอกาสเสวนากับผู้ใหญ่มันเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ เพราะเรากำลังทำให้เสียงของเยาวชน ซึ่งเดิมมักถูกแยกออกจากวงของผู้ใหญ่ ได้มีความเสมอภาคและทำให้สาธารณชนเห็นพลังของเยาวชนในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน”
เวทีฉายแสง เพื่อสร้างเยาวชน ผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Future Changer)
Youth In Charge Leadership Academy Season 2 ในหัวข้อ ‘Youth Power’ ขับเคลื่อน Soft Power เปิดโอกาสให้น้อง ๆ เยาวชน สมัครเข้ามาร่วมโครงการ ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา มีผู้สมัครเข้าร่วมทั้งหมด 18 ทีม ผู้ที่ผ่านการออดิชันจะสามารถเข้าร่วมหลักสูตรรูปแบบค่ายเยาวชน ช่วงเดือนกันยายน – พฤศจิกายน 2565 ระหว่างนี้จะมีการเปิดพื้นที่ให้ได้แสดงศักยภาพต่อสาธารณะในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งในการออดิชันคัดเลือกวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา The Active เก็บข้อมูลการนำเสนอของน้อง ๆ บางส่วนมาให้อ่านกัน
โครงการ เขาว่ากันว่า (ปลุกตำนานให้มีลมหายใจ) นำเสนอแพลตฟอร์มเชื่อมโยงผู้บริโภคและผู้ผลิตในท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวผ่านโซเชียลมีเดีย แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมใหม่ ๆ จูงใจการท่องเที่ยวในเมืองรอง โดยเสนอเรื่องราว เรื่องเล่า ตำนาน ประเพณี วัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ พร้อมจัดทำปฏิทินท่องเที่ยวเทศกาลจังหวัดต่าง ๆ เพื่อสร้างการรับรู้ วางแผนร่วมมือกับธุรกิจชุมชนในพื้นที่ จัดกิจกรรมต้อนรับนักท่องเที่ยว
โครงการ สถานีชลาใส ทีมสระแก้ววไลย์แลนด์ดินแดนมหัศจรรย์ นำเสนอเครื่องกรองน้ำ ด้วยหลักวิศวกรสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำขุ่นให้กับชุมชน โดยการประสานงานร่วมกับชุมชน ภาคีเครือข่าย ร่วมจัดทำ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำสะอาดให้กับชุมชนเป็นเงิน 1,200 บาท ต่อปี
โครงการ ท่องเที่ยววิถีริมน้ำของชุมชนชาวมอญสามโคกปทุมธานี โดยทีม Riverfely ทำแอปพลิเคชัน glide app จาก google sheet ส่งเสริมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ทำให้เกิดการท่องเที่ยวต้นแบบ 11 ตำบล 9 สถานที่ จุดท่องเที่ยวต้นแบบ นำเสนอข้อมูลการท่องเที่ยว ข้อมูลชุมชน ในอนาคตจะเพิ่มบทบาทเป็นพื้นที่รับจองการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน
โครงการ การแยกขยะ นำเสนอแนวทางกำจัดและสร้างมูลค่าขยะในชุมชน ต.พยอม อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ด้วยการนำขยะมาแปรรูปเป็นฝ้ากันความร้อน เพื่อมุ่งสร้างจิตสำนึกสาธารณะ และส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กเยาวชนเห็นโอกาสในการเปลี่ยนขยะเป็นประโยชน์ และแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
โครงการ เครื่องบรรจุของเหลวอัตโนมัติ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจชุมชนสามารถบรรจุผลผลิตเหลวได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ เป็นการส่งเสริมการตลาดของชุมชน ให้ผลิตได้รวดเร็วมากขึ้นจากเดิมชาวบ้านผลิตได้นาทีละ 1 ขวด แต่ครื่องบรรจุของเหลวบรรจุได้ 12 ขวดต่อ 1 นาที เมื่อเทียบกับเครื่องบรรจุของเหลวที่จำหน่ายในท้องตลาด พบว่ามีต้นทุนที่ต่ำกว่า คุณสมบัติมากกว่า เนื่องจากไม่ต้องอาศัยคนในการดำเนินงาน ประเมินว่าหากชุมชนนำไปใช้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 12 เท่าจากรายได้เดิม
โครงการ MAIS ผลิตแบรนด์น้ำหอม โดยใช้กลิ่นเป็นตัวกลางในการสื่อสาร soft power เช่น ดอกไม้ไทย สมุนไพรไทย นำมาทำเป็นน้ำหอม 3 กลิ่นจากดอกไม้เอกลักษณ์ไทย คือ กลิ่นกระดังงา กลิ่นกล้วยไม้ และกลิ่นมะลิ เพื่อจำหน่ายและใช้กลิ่นเป็นส่วนสร้างบรรยากาศในงานอิเวนต์ต่าง ๆ โดยทำงานร่วมกับวิสาหกิจชุมชนที่ทำงานด้านเครื่องหอม จ.สระแก้ว
โครงการ Mr.Bin แก้ปัญหาขยะมูลฝอยด้วยอุปกรณ์คัดแยกขยะอัตโนมัติ ใช้เครื่องกลคัดเลือกขยะจากวัสดุที่ผลิต เช่น อลูมิเนียม เหล็ก อุปกรณ์จะสามารถคัดแยกระหว่างกระป๋องอลูมิเนียมและเหล็กออกจากกันได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้สามารถแยกขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมจัดทำฐานบันทึกข้อมูลการจัดเก็บขยะเพื่อสร้างความตระหนักในการคัดแยกขยะ รวมถึงการวางเส้นทางกำจัดขยะตามประเภทเพื่อทำให้ขยะสร้างประโยชน์ซ้ำได้
โครงการ ภาพฝันเยาวราช ทีม ETective ใช้มีเดียอาร์ตพัฒนาเมือง โดยจะนำหัวข้อสำรวจความพึงพอใจเชิงสังคม สิ่งแวดล้อมไปสอบถามกับคนในพื้นที่ย่านเยาวชน และชวนชาวบ้านแสดงความคิดเห็นถึง ‘เยาวราชที่ดีกว่า’ จากนั้นจะนำมาจัดทำเป็นภาพ 3D นำเสนอเพื่อชวนสังคมเห็นเยาวราชในมิติใหม่ ๆ เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาย่านเยาวราช
เอริกา ระบุว่า ในช่วงกลางเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ จะมีการจัดงานร่วมกับ กรุงเทพมหานคร เทศกาลเด็กและเยาวชน ซึ่งเยาวชนของ Youth In Charge ก็จะไป ‘โชว์ของ โชว์ความสามารถ’ และร่วมแลกเปลี่ยน ถึงการเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาอยากเห็น
“โพรเจกต์ ‘Youth Power’ ขับเคลื่อน Soft Power อยู่ในช่วงของการเปิดรับออดิชันเดือนกันยายนนี้ และช่วงปลายปีจะมีการทำค่าย เทรนนิง และเวทีฉายแสง ที่จะเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความสามารถ จุดยืน และความคิดเห็นที่มีต่อการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ หรือแม้กระทั่งการขับเคลื่อน BCG เป็นต้น และเราหวังว่าเยาวชนในกลุ่มนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายของเราต่อไป ที่สำคัญคือการก้าวขึ้นมาเป็น Youth Soft Power ambassador ในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศต่อไป”
โอกาสในการยกระดับ Soft Power ของไทยให้ก้าวสู่สากล
เอริกา สะท้อนว่า ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยมีต้นทุนที่ดีมาก แต่สิ่งที่ยังขาด อย่างแรกคือขาดการทำงานแบบองค์รวม ขาดการผนึกกำลังกันของหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ‘เราทำเยอะแต่ยังได้น้อย’ เพราะไม่มียุทธศาสตร์ในภาพใหญ่ของประเทศว่าองค์กรหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเหล่านี้จะทำงานร่วมกันอย่างไร
อย่างที่สองคือขาดการมีส่วนร่วม ความร่วมมือ หรือการเข้ามามีบทบาทของกลุ่มคนทั่วไป จึงเสนอว่า ประเทศไทยควรจะมีนโยบายและการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดเม็ดเงินลงทุน และการมีนโยบายที่จริงจังมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ สุดท้ายคือการเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้มีส่วนร่วม บางส่วนอาจเป็นศิลปิน ผู้ประกอบการเอกชน ผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม เยาวชนคนรุ่นใหม่
อย่างที่สามคือการขาดองค์ความรู้ด้านการศึกษา เนื่องจากปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปเยอะมาก จะทำอย่างไรให้เทรนด์ต่าง ๆ ของโลก และสิ่งที่เป็นกระแสของการเปลี่ยนมาอยู่ในระบบการศึกษา เพื่อบ่มเพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ ทำให้เกิดทรัพยากรมนุษย์ที่จะสร้างอาชีพใหม่ ๆ เกิดการจ้างงานใหม่ ๆ เกิดโอกาสหรือช่องทางการทำธุรกิจใหม่ ๆ ที่ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่สามารถตั้งตัวเริ่มต้น หรือขยายผลจากไอเดียเล็ก ๆ ของตัวเองได้ ‘จำเป็นต้องถูกปลูกฝังตั้งแต่เล็ก ๆ ทั้งเรื่องของอาชีพที่มีความเกี่ยวข้องกับ ซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อให้สอดรับกับจุดแข็งของประเทศในมิติต่าง ๆ’
“ไม่ว่าเราจะพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ก็ดี การเปลี่ยนแปลงของประเทศก็ดี การพัฒนาที่ยั่งยืนก็ดี อะไรก็แล้วแต่ ทั้งหมดควรจะเกิดขึ้นจากการที่เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะเยาวชนในวันนี้ที่อาจถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนเล็ก ๆ แต่อย่าลืมว่าเดี๋ยวนี้เยาวชนก็โตเร็ว ในอีก 5-10-15 ปี ข้างหน้าจะเติบโตมาเป็นเจเนอเรชันใหม่ของสังคม เป็นผู้นำของประเทศในทุกภาคส่วนของสังคม สิ่งที่พวกเขามีมาก ๆ คืออยากเห็นการเปลี่ยนแปลง เราควรจะใช้ประโยชน์จากพลังเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อยากฝากให้ผู้ใหญ่ ให้โอกาสการมีส่วนร่วม ให้บทบาทเยาวชนได้ทำงานร่วมอย่างจริงจัง จริง ๆ เขาอาจจะมีไอเดียดี ๆ ที่เซอร์ไพรส์เราได้นะ ผู้ใหญ่อาจคิดไม่ถึงหรือเป็นแนวคิดที่เสริมกันได้เป็นอย่างดี สุดท้ายคือการส่งเสริมด้านอาชีพ หลายโครงการที่ถูกริเริ่มในห้องเรียนควรจะได้ต่อยอดเป็นอาชีพหรือธุรกิจได้จริง”