ส่องอนาคต… เศรษฐกิจสร้างสรรค์

แรงงานสร้างสรรค์ขาดแคลน อุปสรรค Soft power ของไทย

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ อะไร ?

เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ในนิยามของหนังสือ The Creative Economy : How people make money from ideas คือ ระบบการผลิต การแลกเปลี่ยน และการใช้ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ โดยผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์จำนวนมากเป็นทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้า

ในประเทศไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ได้นิยาม “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ว่า คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานการใช้องค์ความรู้ การศึกษา การสร้างสรรค์งาน และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา ที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม และเทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่

พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2561 ระบุว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ การพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์บนฐานขององค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา และการศึกษาวิจัยซึ่งเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม พื้นฐานทางประวัติศาสตร์การสั่งสมความรู้ของสังคม เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อใช้ในการพัฒนาธุรกิจ การผลิตสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจหรือคุณค่าทางสังคม

จากนิยามของทั้ง 3 แหล่งที่มา ทำให้เห็นได้ชัดว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ คือ องค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา และเทคโนโลยี ประกอบสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีคุณค่าความหมายต่อสังคม

ส่วนผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลผลิตจากความสร้างสรรค์ สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ มีอะไรบ้าง…

ตลาดหน้างาน และ อุตสาหกรรม “สร้างสรรค์”

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้รายละเอียดว่า อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย ประกอบด้วย 15 สาขา คือ 1) งานฝีมือและหัตถกรรม 2) ดนตรี 3) ศิลปะการแสดง 4) ทัศนศิลป์ 5) ภาพยนตร์ 6) การแพร่ภาพและกระจายเสียง 7) การพิมพ์ 8) ซอฟต์แวร์ 9) การโฆษณา 10) การออกแบบ 11) การให้บริการด้านสถาปัตยกรรม 12) แฟชั่น 13) อาหารไทย 14) การแพทย์แผนไทย 15) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ปี 2561 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 15 กลุ่มอุตสาหกรรม สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 1,461 พันล้านบาท โดยเมื่อพิจารณาเป็นรายสาขาอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด 5 อันดับแรก พบว่า อันดับที่ 1 ได้แก่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มีสัดส่วนสูงสุดถึงร้อยละ 28.04 มูลค่ารวม 409 พันล้านบาท อันดับที่ 2 คือ อุตสาหกรรมอาหารไทย มีสัดส่วนร้อยละ 18.29 มูลค่ารวม 267 พันล้านบาท อันดับที่ 3 คือ อุตสาหกรรมการโฆษณา มีสัดส่วนร้อยละ 14.28 มูลค่ารวม 208 พันล้านบาท อันดับที่ 4 คือ อุตสาหกรรมแฟชั่น มีสัดส่วนร้อยละ 12.99 มูลค่ารวม 189 พันล้านบาท และอันดับที่ 5 อุตสาหกรรมการออกแบบ มีสัดส่วนร้อยละ 8.6 มูลค่ารวม 125 พันล้านบาท

สำหรับ กิจการสร้างสรรค์ ประเภทนิติบุคคล มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 79,096 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.9 ของจำนวนกิจการนิติบุคคลทุกสาขาในอุตสาหกรรมไทย 5 อันดับแรกคือ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 12,132 ราย โฆษณา 11,498 ราย แฟชั่น 10,806 ราย การพิมพ์ 7,770 ราย ซอฟแวร์ 7,026 ราย ซึ่งกิจการส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร และภาคกลางเป็นหลัก

สัดส่วนของประเภทงานสร้างสรรค์ไทย ปัจจุบันไม่ได้โดดเด่นเรื่องความทันสมัย ซึ่งตลาดงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มีผลต่อการจ้างงานโดยตรง และสัมพันธ์กับแรงงาน โดยพบว่าส่วนใหญ่เป็นแรงงานรุ่นใหญ่ตามบริบทของการจ้างงาน

งานสร้างสรรค์ระดับ 2.0 แรงงานส่วนใหญ่อายุ 40+

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI รายงานว่า แรงงานสร้างสรรค์ของไทยส่วนใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป ขณะที่แรงงานหนุ่มสาวที่อายุต่ำกว่า 30 ปี คิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 22% เท่านั้น สะท้อนถึงความท้าทายด้านแรงงานสร้างสรรค์ของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย รายละเอียดดังนี้

อายุ 40 ปี ขึ้นไป 52.5% 2.6 แสนคน แบ่งเป็น อายุ 40-49 ปี 25.5% อายุ 50-59 ปี 14.4% และอายุ 60+ ปี 12.6% ส่วนอายุที่ต่ำกว่านั้น อายุ 35-39 ปี 12.8% อายุ 30-34 ปี 12.4% อายุ 25-29 ปี 14.9% และอายุ 20-24 ปี 6.3%

แบ่งประเภทเป็น แรงงานสร้างสรรค์ทำงานในอุตสาหกรรมเฟอนิเจอร์ 31% หรือ 1.5 แสนคน หัตถกรรม 18% หรือ 9 หมื่นคน และเครื่องประดับ มากกว่า 60% หรือ 6 หมื่นคน ขณะที่บางสาขามีจำนวนแรงงานสร้างสรรค์แค่ระดับพันคนเท่านั้น เช่น แฟชัน 1.3 พันคน หรือ 0.26% โดยแบ่งเป็นสัดส่วนดังนี้ 31% เฟอร์นิเจอร์และของใช้ในบ้าน 18% หัตถกรรม 13% เครื่องประดับ 9% การโฆษณา 7% ศิลปะการแสดง 6% สื่อใหม่ 5% สื่อสิ่งพิมพ์ 5% ทัศนศิลป์ 4% สื่อโสตทัศน์ 2% สถาปัตยกรรม

แต่เทรนด์แรงงานสร้างสรรค์กำลังจะเปลี่ยนไป ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น และสถานการณ์โรคระบาดที่มีผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน ต้องอาศัยและพึ่งพาเทคโนโลยี นวัตกรรมมากขึ้น สอดรับกับความต้องการในตลาดอนาคต

ก้าวสู่ความสร้างสรรค์ยุคใหม่ ด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยีการสื่อสาร

TDRI ให้ข้อมูลว่า หลังโควิด-19 นายจ้างจำนวนไม่น้อยให้ความสำคัญกับการจ้างแรงงานสร้างสรรค์ ทำให้มีความต้องการในตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้มีวุฒิการศึกษาปริญญาตรี จากการสำรวจเว็บไซต์หางาน 13 แหล่ง ทั้งหมด 561,888 ตำแหน่งงาน พบว่ามีอัตราความต้องการแรงงานวุฒิ ป.ตรี เป็นสัดส่วน ดังนี้ 68% นักเทคโนโลยี สารสนเทศ 51% นักโฆษณา/นักการตลาด 57% ล่าม/นักแปล 32% นักเขียน 42% นักออกแบบกราฟิก 34% สถาปนิก

บัณฑิตใหม่ ในสาขาสร้างสรรค์ มีรายได้สูงกว่าฐานเงินเดือนขั้นต่ำ

TDRI เปิดเผยว่า บัณฑิตใหม่ที่จบสาขาสร้างสรรค์มีมากกว่า 4 หมื่นคนต่อปี แต่คิดเป็นเพียงแค่ 14% ของบัณฑิตใหม่ทั้งหมด และจากแนวโน้มตัวเลข 3 ปีล่าสุด ไม่ได้มีจำนวนเพิ่มขึ้น และไม่ได้สะท้อนว่ามีการผลักดันให้สร้างแรงงานสร้างสรรค์ป้อนสู่ตลาดอย่างมีนัยยะสำคัญ

บัณฑิตใหม่สาขางานสร้างสรรค์ ปี 2561 41,000 คน สาขาอื่นๆ 313,000 คน ปี 2562 บัณฑิตใหม่สาขางานสร้างสรรค์ 43,000 คน สาขาอื่นๆ 311,000 คน และ ปี 2563 บัณฑิตใหม่สาขางานสร้างสรรค์ 42,000 คน สาขาอื่นๆ 302,000 คน 

สำหรับสาขาวิชาที่มีบัณฑิตเรียนจบ ในปี 2563 3 อันดับแรก คือ สาขาการตลาดและโฆษณา 10,367 คน สาขา สื่อโสตทัศน์ 8,832 คน และสาขาวารสารศาสตร์ 4,426 คน

โดยบัณฑิตที่จบใหม่ในสาขาวิชาเกี่ยวกับงานสร้างสรรค์ 71% ได้รับเงินเดือนมากกว่าขั้นต่ำ 15,000 บาท โดยมีเพียง 29% เท่านั้นที่ ต่ำกว่า 15,000 บาท

เส้นทางสู่โมเดล เศรษฐกิจสร้างสรรค์

เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า สิ่งที่ภาครัฐควรทำเร่งด่วนเพื่อเร่งพัฒนาทักษะแรงงานสร้างสรรค์ ให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศได้ โดยการให้ทุนสนับสนุนแรงงานสร้างสรรค์ในทุกช่วงวัย โดบเฉพาะแรงงานวัยกลางคน และเพื่อฝึกอบรมทักษะที่จำเป็น เช่น ทักษะดิจิทัล ทักษะภาษาต่างประเทศ และเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต สองคือ พัฒนาคุณภาพของสถาบันการศึกษา ให้นักศึกษาได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติจริงและร่วมมือกับภาคธุรกิจในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน

“เปลี่ยนการเรียนการสอนจากที่เน้นท่องจำทำให้เด็กมีจินตนาการให้มีทักษะวิเคราะห์ จากการคิดแบบ project based ภาครัฐเองก็เป็นอุปสรรคจากเงื่อนไขบางอย่าง เช่น คนมีทักษะความสามารถอยากจะแสดงโชว์ แต่ทำไม่ได้ เพราะมีกฎหมาย ควบคุมการขอทาน ระบุว่า ผู้แสดงความสามารถต้องไปจดแจ้งบัตรประจำตัวผู้แสดงความสามารถ ฟังแบบนี้ความคิดสร้างสรรค์มันหายไปหมดแล้วค่ะ”

เสาวรัจ กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เช่น ดนตรีในสวน เทศกาลภาพยนตร์ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ได้ แต่ต้องอาศัยความจริงจังในการเดินหน้านโยบาย

“ที่ผ่านมาเรามักจะทำๆ ให้เสร็จแต่ไม่ได้ทำให้สำเร็จ จะเป็นไปได้ไหมถ้าเราจะมีตัวชี้วัดเกณฑ์ของการเป็นเมืองสร้างสรรค์ มีการจัดอันดับความสำเร็จ และมีการประเมินความสำเร็จตามวาระช่วงเวลา ระยะสั้น ระยะยาว และเราได้เฝ้ามองเห็นพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ในการเดินหน้านโยบายเรื่องนี้อย่างจริงจัง”

ถอดสูตรความสำเร็จ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ต่างประเทศ

หลายประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต่างดำเนินนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง ที่ประเทศไทยสามารถนำมาใช้ประยุกต์ได้

สูตรตำรับ “สหราชอาณาจักร”

ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของอังกฤษ เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยนายกรัฐมนตรีโทนี่ แบลร์ ในปี 1998 มีการสร้าง creative partnership initiative เพื่อสนับสนุนการศึกษาสร้างสรรค์ในโรงเรียน เมื่อมีรัฐมนตรีคนอื่นๆ เข้ามารับตำแหน่งในวาระถัดไปก็มีการส่งต่อนโยบายอย่างต่อเนื่อง เกิดโปรเจ็กต์มากมาย เช่น โครงการ Fine Your Talent (2008) นโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ทรัพย์สินทางปัญญา การส่งออก (2014) ถึงยุคของ เทเรซ่า เมย์ ก็ได้มีการจัดทำนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผ่านการสนับสนุนการวิจัย โครงการพัฒนาอาชีพ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล

ยุทธศาสตร์ “Cool Japan”

หลังรัฐบาลญี่ปุ่นตระหนักว่าต้องหากำไรแหล่งใหม่ เพื่อความอยู่รอด ปี พ.ศ.2553 รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้ประกาศยุทธศาสตร์ “Cool Japan Strategy” เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการขยายตลาดของสินค้าและบริการญี่ปุ่นผ่านการเติบโตของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเน้นสร้างแบรนด์ประเทศ และการเผยแพร่ข้อมูลความน่าสนใจ เรื่องราวของญี่ปุ่นสู่สายตาชาวโลก เช่น เกม แอนิเมชัน อาหาร สินค้าดั้งเดิมญี่ปุ่น หุ่นยนต์ เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังมีการจัดตั้งกองทุน “Cool Japan Fund” ในปี พ.ศ.2556 เป็นกองทุนระหว่างรัฐบาลกับเอกชน เพื่อส่งเสริมการค้าและบริการ การส่งออกต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เติบโต

Creative Korea สู่มหาอำนาจทางวัฒนธรรม

ปี พ.ศ.2548 ประเทศเกาหลีใต้ประกาศยุทธศาสตร์ Creative Korea เพื่อบรรลุเป้าหมายสู่การเป็น “มหาอำนาจทางวัฒนธรรมที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 5 ของโลก” และในปี พ.ศ.2556 ประธานาธิบดีปาร์ค กึน ฮเย ได้ประกาศแผนปฏิบัติการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นกลไกขับเคลื่อน ความโดดเด่นของอุตสากรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของเกาหลีคือ เนื้อหา (content) จนสร้างกระแสความเป็นเกาหลีใต้ มียุทธศาสตร์ในการส่งเสริมต่างๆ เช่น เสริมสร้างบทบาทของการลงทุนที่มีความเสี่ยง และธุรกิจขนาดเล็กให้สามารถเข้าสู่ตลาดโลกได้ สร้างกลไกในการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อบุกเบิกตลาดใหม่ สร้างความสามารถด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ส่งเสริมนวัตกรรมทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ร่วมกับประชาชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์