ถอดสัญญะ “ก้าวไกล” คุมเกม “สภาฯ” ผ่านเสียงมวลชน
ศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
“ก้าวไกล เสนอความสัมพันธ์ใหม่ ในสังคมที่เปลี่ยนไปแล้ว”
บทสนทนาเริ่มต้นขึ้นด้วยการอธิบายปรากฏการณ์ของสังคมในเวลานี้ เพราะแม้พรรคก้าวไกลจะชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนกว่า 14 ล้านเสียง แต่ความเปลี่ยนแปลงที่มาถึงโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ไม่ทันได้ตั้งตัว นำมาซึ่งสถานการณ์แบบที่ยังมองไม่เห็นว่าจะลงเอยที่ตรงไหน
เส้นทางการเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ และการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของ ‘พรรคก้าวไกล’ ยังเต็มไปด้วยขวากหนาม เพราะการรวมเอาเสียงจาก ส.ว. และ ส.ส. ให้ได้เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือ 376 เสียงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ดูเหมือนประเด็นนี้จะไม่ได้สร้างความหวาดกลัวให้กับขุนพลก้าวไกล ดังที่กองเชียร์คอยหนุนหลังอยู่เสมอว่าแย่ที่สุดก็แค่กลับไปเป็นฝ่ายค้าน
คำถามที่ใหญ่กว่า ไม่ว่าการจัดตั้งรัฐบาล โดยพรรคที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะลุล่วงหรือไม่ แต่สิ่งที่ต้องไปต่อ คือ การเดินหน้าบริหารประเทศในสังคมไทยที่เปลี่ยนไปแล้ว
บริบทสังคมเช่นนี้ ทำให้การคุยกับ ศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจพอช่วยให้สังคมมองการเปลี่ยนผ่านประเทศไปได้ โดยไม่ต้องให้ใครเจ็บปวดจนเกินไป
ก้าวไกล ไม่มีอะไรต้องแลก แต่ผลักให้ ส.ว. ต้องเลือก
“ก้าวไกล เสนอความสัมพันธ์ใหม่ ในสังคมที่เปลี่ยนไปแล้ว” ศ.ชัยวัฒน์ เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการตั้งคำถามว่า พรรคก้าวไกลกำลังผลักปัญหาไปให้ ส.ว. ต้องเลือกหรือไม่? เลือกว่าจะสนับสนุนพรรคการเมืองที่ต้องการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่งถือเป็นการปะทะกับแนวคิดของ ส.ว. โดยตรง เพราะสิ่งที่เลือกนั้นก็จะกลายเป็นหลักฐานและคำตัดสินของสังคม
“ก้าวไกล ไม่มีอะไรจะเสีย ในอดีตพรรคการเมืองอาจมีความต้องการแบ่งกระทรวง, ต้องการเป็นนายกรัฐมนตรี…
ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด พรรคก้าวไกล ต้องการพาสังคมไปอีกที่หนึ่ง ถามว่าถ้าไม่เป็นรัฐบาลตอนนี้ พรรคก้าวไกลก็พร้อมที่จะเป็นฝ่ายค้าน”
ศ.ชัยวัฒน์ วิเคราะห์ต่อว่า ตอนนี้พรรคก้าวไกลกำลังดีลอยู่กับสถานการณ์อีกแบบที่ตัวเองพร้อมจะเป็นฝ่ายค้านได้ทุกเมื่อ จึงไม่ต้องกลัวอะไร เพราะสิ่งที่พรรคก้าวไกลต้องการ คือการทำให้เห็นว่าองค์ประกอบของการเมืองไทย จริง ๆ เป็นอย่างไร อย่างเรื่องการดีล ส.ว. ให้มาสนับสนุนทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนพรรคก้าวไกล
ขณะที่ ส.ว. หรือ วุฒิสมาชิกทั้ง 250 คน ก็มีเพียง 50 คนเท่านั้นที่มาจากการเลือกกันเอง ที่เหลือมาจากการแต่งตั้งโดยคนเพียง 6 คน แต่คนกลุ่มนี้เป็นข้าราชการผู้ใหญ่ที่อยู่ในประเพณีสังคมไทยอีกแบบ ไม่เคยเจอคนรุ่นใหม่ที่มาวิจารณ์ตรง ๆ การทำงานร่วมกับพรรคก้าวไกลช่วง 4 ปีที่ผ่านมาในฐานะฝ่ายค้าน ท่าทีของพรรคก็ไม่ได้แสดงถึงความเกรงใจแบบที่สังคมไทยคุ้นชิน ซึ่ง ศ.ชัยวัฒน์ มองว่า การที่ ส.ว. จะไม่ยกมือโหวตให้พิธาเป็นนายกฯ บางครั้งอาจไม่ใช่ประเด็นกฎหมายอาญามาตรา 112 เสมอไป แต่เพราะ “ไม่เห็นหัวผู้ใหญ่” ซึ่งการเห็นหัวผู้ใหญ่เป็นวัฒนธรรมในสังคมไทย
“คำถาม คือ พรรคก้าวไกลไม่รู้หรือ? รู้ แต่เลือกที่จะไม่ทำ เพราะต้องการให้คนในสังคมเห็นว่า ส.ว. เป็นอย่างไร? ส.ว. สนับสนุนก็ดี แต่ก้าวไกลเชื่อว่าไม่ แต่ก็ดีเสียอีก ประชาชนจะได้เห็นว่าเราเสียเงินเป็นล้าน ๆ บาท ให้กับ ส.ว. เหล่านี้ และคนพวกนี้ก็ยังอยู่กับอดีต จับสังคมไทยล็อกไว้ เราจะเดินไปข้างหน้า คุณก็ไม่ให้เราไป มันก็ทำให้เราเห็นธรรมชาติของ ส.ว.”
และหากถามว่า ทำไม ส.ว. จึงไม่เลือกที่จะโหวตให้เพื่อฝากตำนาน สร้างประวัติศาสตร์ก่อนหมดวาระ ศ.ชัยวัฒน์ อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า สำหรับคนทั่วไป การเลือกตั้งหรือการโหวตเป็นอำนาจเดียวที่เรามีอยู่ในมือ แต่สำหรับ ส.ว. ที่มีตำแหน่งหน้าที่ เช่น ผบ.ตร. หรืออธิบดีกรมต่าง ๆ ที่มีหลายอำนาจในมือ และยังชื่นชมในอำนาจที่มีด้วย อาจไม่ใช่อย่างนั้น
“ส.ว. เขาอยู่คนละโลกกับคุณ…ลองไปดูสิว่าส่วนใหญ่เป็นใคร ก็เป็นทหาร นายพล ถ้ามีการโทรมลงของอำนาจเขา เขาจะเปลี่ยนแปลงทำไม”
ถ้าสังคมไทยเปลี่ยนไปแล้ว “ขวาสุดโต่ง” ควรอยู่ตรงไหน?
“ส.ว. ต้องการ ยืนข้างการเปลี่ยนแปลง หรือ ยืนอยู่ข้างอดีตของสังคมไทยซึ่งไม่เปลี่ยน”
ศ.ชัยวัฒน์ เปิดคำถามชวนคิด และมองว่ากลุ่มคนที่สนับสนุน “ลุงตู่” พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นกลุ่มคนที่ต้องการล็อกสังคมไทยไว้กับภาพจำในอดีต โดยยกตัวอย่างคลิปการหาเสียงของพรรครวมไทยสร้างชาติ หรือแม้แต่ท่าทีการตอบคำถามสื่อต่างชาติของหัวหน้าพรรค ที่ไม่ต้องการตอบเป็นภาษาอังกฤษ
เช่นเดียวกับ ‘พีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เคยพูดไว้ว่าหากเขาได้มาเป็นรัฐบาล จะเอากฎหมายมาเล่นงานพวกชังชาติ ไม่เห็นด้วยที่จะเปลี่ยนแปลง และย้ำว่าเขาจะทำให้สังคมไทยเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนไปไหนภายใต้พรรครวมไทยสร้างชาติ
ท่าทีแบบนี้สะท้อนว่าพรรครวมไทยสร้างชาติไม่ใช่พรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative) แต่เป็นพรรคฝ่ายขวาสุดโต่ง ดูได้จากสิ่งที่หัวหน้าพรรคเป็นคนพูดเอง เกี่ยวกับสถานะของพรรคที่เขาไม่ต้องการพาสังคมไปไหน… ต่างจากความเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษ ที่ต้องการนำพาประเทศก้าวไปข้างหน้า ในขณะที่พลเมืองยังสามารถเสนอประเด็นพระมหากษัตริย์ได้ แต่ฝ่ายขวาสุดโต่งมีลักษณะต่างออกไป คือ การล็อกความสัมพันธ์ในอดีตอีกแบบโดยไม่อนุญาตให้เปลี่ยนแปลง ซึ่งต่างจากคอนเซอร์เวทีฟที่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้
ขณะที่พรรคก้าวไกล กำลังนำเสนอความสัมพันธ์ใหม่ให้กับ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และครอบครัว ภายใต้สังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป
ศ.ชัยวัฒน์ มองว่าถ้าพูดกันตามหลักศาสนา คนที่ยอมให้สังคมไทยขยับ เคร่งศาสนามากกว่าคนที่ไม่ยอมให้สังคมไทยขยับเสียอีก สำหรับศาสนาพุทธ เกณฑ์สำคัญ คือ ไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การจับชีวิตล็อกไม่มีในพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น ก้าวไกลเป็นพุทธมากกว่าคนอื่น เพราะพื้นฐานพุทธศาสนา คือ เข้าใจความเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ก้าวไกลกำลังทำคือการเสนอความสัมพันธ์ใหม่ของคนในสังคมกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในความเปลี่ยนแปลง ที่เปลี่ยนไปแล้ว…
ม.112 กับการถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ ไม่ใช่ กฎหมาย
เวลาใครพูดถึงกฎหมายอาญา มาตรา 112 นึกถึงอย่างเดียว คือ เป็นตัวแทนความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับพระมหากษัตริย์ เพราะตอนนี้ มาตรา 112 กลายเป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ไม่ใช่ข้อกฎหมาย ถ้าเป็นกฎหมายก็ต้องแก้ไขได้ ต้องถามคำถามถึงการบังคับใช้อย่างไร ส่งผลอย่างไร ทั้งหมดดีหรือไม่ดีอย่างไรต่อสถาบันฯ แต่ตอนนี้ไม่มีใครพูดเลย พูดไม่ได้ เพราะตัวมันกลายเป็น “สัญลักษณ์ไปแล้ว”
“คำถามที่น่าสนใจต่อ ส.ว. ที่ทรีท ม.112 เป็นสัญลักษณ์ อะไรคือความรักสถาบันฯ ของคุณ”
คำถาม คือ ความเป็นตัวแทนแบบนี้ในสังคมที่เปลี่ยนไป มันต้องเปลี่ยนด้วยไหม? ถ้าไทยถูกต่างประเทศวิจารณ์เยอะ ๆ ดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ ที่ปล่อยให้สถาบันฯ ถูกวิจารณ์ สิ่งสำคัญ คือ เราจะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมสมัยใหม่ และประเพณีที่เรามีอยู่ได้อย่างไร
“แลนด์สไลด์” ปิดประตูแพ้ “ก้าวไกล” ชนะใจด้วยการเสนอความสัมพันธ์ใหม่
ผมคิดว่า “ก้าวไกล” กับ “เพื่อไทย” ต่างกัน นักปรัชญาโบราณ เคยอธิบายถึงความเป็นครัวเรือนที่รวมกันเป็นสังคมแบบต่าง ๆ ไว้ โดยมองว่าเมืองกับครัวเรือนก็ไม่เหมือนกัน สังคมเมือง “Political City” มีเป้าหมายของมันเอง “Political Good” ความดีทางการเมือง จึงไม่ใช่ความดีในทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นพรรคก้าวไกล จึงต่างกับพรรคเพื่อไทย
“เพื่อไทยเสนอนโยบายทางเศรษฐกิจเต็มไปหมด แต่พรรคก้าวไกลไม่ได้ทำเท่าไหร่ พรรคก้าวไกลทำให้เห็นว่า เสรีนิยมประชาธิปไตยสำคัญ เรื่องที่พรรคอยากรณรงค์ คือ ประเด็นทางการเมือง และพูดถึงความสัมพันธ์กับเรื่องอื่น ทั้งความสัมพันธ์ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ครอบครัว ซึ่งพรรคอื่นไม่แตะ
ก้าวไกล กำลังจะบอกว่าในระบบเสรีนิยมประชาธิปไตย เราต้องสร้างความสัมพันธ์ใหม่กับเสาหลักทั้ง 4 ต้นที่เรามีอยู่ ด้วยเหตุนี้พรรคก้าวไกลถึงเอาชนะพรรคเพื่อไทยได้”
เช่น ในทวิตเตอร์ พรรคก้าวไกล ถูกกล่าวหาว่าสอนให้เด็กไม่กตัญญู แต่คำถามที่พรรคก้าวไกลยังไม่พูดให้ชัดก็คือ ความกตัญญูเป็นธรรมชาติหรือเป็นเงื่อนไขในสังคม
ศ.ชัยวัฒน์ ยกตัวอย่างประเทศจีน ที่มีนโยบายเรื่องการมีลูกคนเดียว ตัวนโยบายมีปัญหาหลายอย่าง เช่น ในครอบครัวแต่ละครอบครัวมีพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย 6 คน แล้วทั้ง 6 คนอายุยืนหมดเลย เพราะระบบสุขภาพดี แต่ลูกมีคนเดียว เมื่อก่อนอาจจะมีลูกหลายคนช่วยกันทำงาน แต่ถ้าพูดถึงความกตัญญูในยุคนี้ที่สังคมเปลี่ยนไปแล้ว ครอบครัวมี 6 คน ให้ลูก 1 คนแบกภาระคนเดียวไหวหรือไม่? ความกตัญญูจึงไม่ได้ลดลงเพราะเขาไม่กตัญญู แต่ลดลงเพราะสภาพสังคมหรือไม่? เพราะฉะนั้นความกตัญญูมันเป็นเงื่อนไขทางสังคมที่เกิดขึ้นได้ และหายไปได้ ก้าวไกลกำลังชี้ให้เราเห็นสิ่งเหล่านี้ เพราะความกตัญญูไม่ใช่ของที่แค่สอนกันในทางศาสนา จะทำอย่างไรให้ความกตัญญูรู้คุณมันอยู่ได้ในสังคม มันมีเงื่อนไขของมัน อันนี้เรื่องใหญ่
“ผมคิดว่าความเป็นสังคมเมือง (City) และสังคมการเมือง (Political City) มันมีเป้าหมายอยู่ที่ความดีของคนในสังคม ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ และพรรคก้าวไกลสนใจเรื่องแบบนี้ อย่าง ไอซ์ (รักชนก ศรีนอก) ว่าที่ ส.ส. ก้าวไกล ไม่ได้ทำเรื่องเศรษฐกิจ แต่ชนะครอบครัว วัน อยู่บำรุง ทำไมไม่ชนะ เพราะเขาทำตามระบบการเมืองแบบเดิม เดินเข้าไปหาและโหวตให้แต่ไม่ชนะ เพราะประชาชนอีก 4 หมื่นกว่าคนเลือกก้าวไกล คน 4 หมื่นคนเปลี่ยนไปแล้ว…”
เมื่อไม่มีสัญญาประชาคมกับ ส.ว. ก็ไม่มีอะไรผูกมัดว่าต้องเคารพเสียงประชาชน
ความพยายามจะยุบพรรคก้าวไกล ทำให้คนไม่พอใจเต็มเมือง กลายเป็นคำถามว่า “จะมีรัฐประหารได้ไหม?” ถึงจุดหนึ่งทหารอาจจะทำสิ่งที่คุ้นชิน แต่ถ้ามองกันที่หลักสูตรของทหาร ก็ถือว่าไม่ใช่ขวาสุดโต่ง แต่เป็นอนุรักษ์นิยม (Conservative) ที่มีหน้าที่พิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ หากพรรคเหล่านี้มีท่าทีจะไปเล่นงานสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็จะสร้างความชอบธรรมให้เขาทำอะไรบางอย่างในที่สุด อันนั้นคืออันตราย และไม่ควรจะไปถึงตรงนั้น…
คำถามชวนคิดต่อถึงการมีทีมเพื่อเปลี่ยนผ่าน และพูดคุยเจรจาของพรรคก้าวไกล จะไปถึงการชวนให้สังคมตั้งคำถาม และเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ของ 4 เสาหลักไปด้วยกันได้อย่างไร? ภายใต้สังคมไทยที่เปลี่ยนไปแล้ว การเปลี่ยนผ่าน หรือการ Transform จะเกิดขึ้นได้อย่างไรโดยไม่มีใครต้องเจ็บปวด?
ศ.ชัยวัฒน์ เริ่มจากการอธิบายความแตกต่างระหว่าง คำว่า การปฏิรูป (Reform) VS การเปลี่ยนผ่าน (Transform) ว่า การปฏิรูป เป็นโพรเจกต์ที่รัฐแต่ละรัฐออกแบบ มีเป้าหมายที่จะทำ ยกตัวอย่างที่ดีที่สุด คือ พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2518 บ้านเมืองมีปัญหาเรื่องที่ดิน การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ที่ดินอยู่ในมือของคนจำนวนมาก แต่ไม่ได้เป็นประโยชน์กับการเกษตร รัฐบาลก็กระโดดเข้าไปเพราะรัฐบาลคิดว่าต้องปฏิรูป หรือ การปฏิรูปการศึกษา โพรเจกต์เหล่านี้บางอย่างก็กลายเป็นกฎหมาย แต่การเปลี่ยนผ่าน หรือ Transform มันเป็นอาการของสังคม หรือ องค์กร หรือ สถาบัน เราต้องถามว่า มันมีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้หรือเปล่า เปลี่ยนแปลงไปสู่อะไร อันนั้นเราเรียกว่า Transfomation
ศ.ชัยวัฒน์ เล่าย้อนไปในช่วง 2 เดือนก่อนการเลือกตั้ง ที่ตนเคยเสนอเรื่องการทำสัญญาประชาคม ส.ว. ให้ ส.ว. มาตกลงกันก่อนว่าจะโหวตให้กับนายกรัฐมนตรีที่มีเสียงส่วนใหญ่มาจากประชาชน แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีใครออกมาทำอะไร เพราะ ศ.ชัยวัฒน์ รู้ว่าในที่สุดแล้วภาพสังคมไทยจะเป็นเหมือนเช่นวันนี้…
เวลานี้สังคมไทยมี ส.ว. หลากหลายความคิด แบ่งเป็น ส.ว. ที่ติดล็อกอยู่กับอดีต อีกส่วนหนึ่งก็จะเป็น ส.ว. ที่จะเปลี่ยนมายอมรับสายประชาธิปไตย และ ส.ว. อีกประเภทที่อยู่เฉย ๆ ไม่ลงคะแนน เช่น คุณหมอพรทิพย์ ที่บอกว่าจะไม่โหวตให้ใคร แต่การไม่โหวตใคร ก็ทำให้ ส.ว. ได้เปรียบ เพราะทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยไม่มีเสียง เพราะฉะนั้น คำพูดที่บอกว่าจะไม่โหวต ไม่มีประโยชน์อะไรเลย…
แต่ถ้าวันนั้น เราทำเรื่อง “สัญญาประชาคม ส.ว.” ก่อน มีสัญญาบางอย่างกับ ส.ว. ก่อนจะเห็นผลการเลือกตั้ง ถ้าทำอย่างนั้นปัญหาอย่างวันนี้ก็คงจะไม่เกิดขึ้น เวลานี้ก็อย่างที่เห็น มี MOU ที่เป็นเรื่องของ ส.ส. แต่ถ้าเป็น MOU แบบของ ส.ว. อาจจะทำให้การทำงานวันนี้ง่ายขึ้น
ระวังรอยร้าวภายใน “ก้าวไกล” ต้องปกป้องสังคมจากความรุนแรงและเห็นต่าง
ในความเห็นผม ปัญหาใหญ่ที่สุดของก้าวไกล ไม่ใช่คู่ต่อสู้ อย่าง ส.ว. หรือ พรรคการเมืองอื่น แต่เป็นข้างในของเขาเอง
ศ.ชัยวัฒน์ มองว่ายังมีคนจำนวนหนึ่งในพรรคที่รู้สึกว่า “ยังไปไกลไม่พอ” และไม่รู้เรื่องความสัมพันธ์กับ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และครอบครัว ซึ่งอาจารย์ใช้คำว่า “ผมไม่รู้ว่า เขาตกลงกันเรียบร้อยหรือยัง?” หมายความว่าในพรรคการเมืองขนาดใหญ่ อย่างพรรคก้าวไกล ในนั้นประกอบด้วยคนหลายแบบ คนแบบหนึ่ง คือ จะไม่ยอมใครทั้งนั้น เพราะฉันอยู่ข้างประชาธิปไตย จะเอาอย่างนี้ และแบบนี้ถูกต้องที่สุด สำหรับคนที่เป็นผู้บริหารพรรค ซึ่งต้องดีลกับคนมากมาย แต่กลับต้องมาทะเลาะกับคนข้างในก็อาจไม่เป็นผลดีต่อพรรค
“คุณก็เห็นมาแล้ว บทบาทของปิยบุตรคราวที่แล้ว ที่ถูกผลักออกไป ถ้าให้ปิยบุตรอยู่ตรงนั้นซวยเลย เพราะปิยบุตรไม่ใช่นักการเมือง ปิยบุตรเป็นอาจารย์ เป็นนักอุดมการณ์ เขาคิดอีกอย่าง
คนที่จะจัดการเรื่องนี้ได้ คือ ธนาธร ซึ่งมองการณ์ไกล แต่ธนาธร ไม่ใช่นักอุดมการณ์ เขาเป็นนักการเมือง คนอย่างนี้ถึงจะจัดการได้ พิธาก็จัดการได้ เพราะฉะนั้นความขัดแย้งภายใน ผมคิดว่าเป็นปัญใหญ่กว่า และถ้าเขาเป็นฝ่ายค้านความขัดแย้งภายในน้อยกว่า”
อีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงในมุมมองของ ศ.ชัยวัฒน์ คือกลายเป็นว่าเรามีนักร้องหลายคน นักร้องที่คอยเล่นงานพรรคการเมือง พรรคก้าวไกลได้ ซึ่งการร้องแบบนี้เป็นไปตามกฎหมาย แต่พอถึงเวลาการพิจารณาจริง ๆ การปฏิบัติเป็นธรรมหรือไม่ เรื่องเหล่านี้สังคมพอจะมองเห็นอยู่ สมมติว่าดูมันไม่เป็นธรรม ประชาชนที่เลือกนักการเมืองคนนั้น ๆ เข้ามาก็ไม่พอใจ รู้สึกว่าระบบมันไม่เป็นธรรม ทั้งที่การเลือกตั้งเป็นนวัตกรรมการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุด มาแทนที่การรบราฆ่าฟันกัน
ศ.ชัยวัฒน์ ยกตัวอย่างคดีไอทีวี แม้ว่าดูจากข้อมูล ณ เวลานี้ ไม่มีอะไรที่จะนำไปสู่การตัดสิทธิหรือไปยุบพรรคก้าวไกลได้ แต่สมมติว่ามันเกิดขึ้น ผลการตัดสินกลายเป็นอีกอย่าง คนก็จะเห็นความไม่ยุติธรรม ตรงนี้จะเกิดปัญหา พรรคก้าวไกลเองเสียอีกที่ต้องเตรียมตัวทำหน้าที่เป็นพระเอกมาหยุดมัน ไม่ใช่การสุมไฟ แต่ต้องเทน้ำเย็น ๆ มาดับมัน ถ้าเกิดเหตุแบบนั้น หมายความว่าคนของพรรคเองก็ต้องทะเลาะกับคนข้างในอีก ก้าวไกลพยายามจะบอกว่าถ้าเป็นประชาธิปไตย จะต้องไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงและเชื่อมั่นในเสรีนิยมประชาธิปไตย ไม่เชื่อมั่นในการใช้ความรุนแรง ก็น่าสนใจที่จะชวนให้พรรคพูดแบบนี้ตั้งแต่ต้น แสดงให้เห็นว่าพรรคยืนอยู่ตรงไหน เหมือนกับที่พรรคแสดงให้เห็นว่าพรรคยืนอยู่ตรงไหนในประเด็นต่าง ๆ ที่พรรคทำอยู่
ทิ้งท้าย
พรรคก้าวไกลควรทำอะไร ผมไม่กล้าแนะนำ แต่ตามที่มีคนกล่าวหาว่าเขาทำลายเสาหลักของประเทศ เขาพยายามสร้างความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างเสรีนิยมประชาธิปไตย กับเสาหลัก ว่าจะอยู่ด้วยกันอย่างดีได้อย่างไร อีกเรื่องที่ควรจะทำถ้าเกรงว่าจะเกิดอันตรายในประเทศ พรรคก้าวไกล ควรจะชี้ให้เห็นว่า เสรีนิยมประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ทั้งหมดมีไปเพื่อแทนที่ความรุนแรง เพราะฉะนั้น พรรคไม่ได้ยืนอยู่ข้างความรุนแรง ใครจะยืนก็ช่างมัน แต่ต้องไม่ใช่พรรคก้าวไกล ไม่ใช่เพราะรักสันติภาพ แต่เพราะรักเสรีประชาธิปไตย และให้เกียรติการเลือกตั้ง ซึ่งทุกคนเดินออกมาเลือกผม ผมไม่ยอมให้บัตรเลือกตั้งเปลี่ยนเป็น bullet (กระสุน)