ขอให้เป็นความพยายามนิรโทษกรรมครั้งสุดท้าย

นับตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กองทัพนำโดย พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ได้เข้ายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของ ทักษิณ ชินวัตร หลังการเกิดขึ้นของขบวนการต่อต้านอำนาจทักษิณ และนำไปสู่การลุกฮือของคนเสื้อแดงที่ไม่พอใจขบวนการดังกล่าว – นี่เป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งสีเสื้อต่าง ๆ บนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่แม้จะเปลี่ยนชื่อกลุ่มการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแกนนำ หรือเปลี่ยนขั้วรัฐบาลไปกี่ครั้ง เราจะพบว่าเมืองไทยยังคงแบ่งขั้วความขัดแย้งอยู่ 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่สนับสนุนให้คนดีปกครองบ้านเมือง และฝ่ายที่เชื่อว่าผู้นำจะต้องมาจากการเลือกตั้ง กระทั่งการรัฐประหารของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เข้ายึดอำนาจรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนำประเทศไทยเข้าสู่ยุคสมัยแห่งความเงียบงันอยู่ร่วมทศวรรษ

การจัดตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้งทั่วไปกลางปี 2566 นำไปสู่เงื่อนไขการกลับบ้านของทักษิณในรอบ 17 ปี ดูเหมือนว่า คำถามแห่งยุคสมัยอย่าง “คุณเอาหรือไม่เอาทักษิณ” ก็ไม่ใช่ข้อคำถามหลักอีกต่อไปแล้ว และในเมื่อกลุ่มอำนาจนำทั้ง 2 ขั้วในสังคม ใส่เกียร์เดินหน้าสู่ยุคสมัยแห่งความปรองดองอย่างเต็มกำลัง นี่อาจเป็นโอกาสในรอบ 2 ทศวรรษที่ “พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” นักโทษและผู้ต้องหาคดีการเมืองจะผ่านกลไกนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารได้อย่างไร้กังวล หรือไม่?

จากแต่เดิม “นิรโทษกรรม” ดูเป็นของแสลงการเมืองไทย มาถึงยุคสมัยใหม่ ความเข้าใจต่อ “สิทธิ เสรีภาพทางการเมือง” ย่อมเปลี่ยนแปลงไป The Active ชวนย้อนรอยประวัติศาสตร์แห่งความพยายามปรองดองตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ตลอดจนสำรวจหน้าตาของ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของพรรคก้าวไกลที่ยื่นต่อสภาฯ ว่าครั้งนี้ จะเป็นความพยายามนิรโทษกรรมครั้งสุดท้ายของการเมืองไทยแล้วหรือไม่?

ตั้งแต่ปี 49 ไม่มีใครได้นิรโทษกรรมนอกจาก “คณะรัฐประหาร”

นับตั้งแต่ปี 2548 ในช่วงตั้งต้นของขบวนการต่อต้านอำนาจทักษิณ โดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มี สนธิ ลิ้มทองกุล เป็นผู้นำ (ในเวลาต่อมาได้นำเสื้อเหลืองมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายตน) จนในวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะรัฐประหารนำโดย พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เข้ายึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ และได้จัดการนิรโทษกรรมตัวเองผ่านรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 มาตรา 37 พร้อมกำหนดให้คำสั่งและประกาศของคณะรัฐประหารชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ฝ่ายผู้สนับสนุนทักษิณ ไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้งและวิถีประชาธิปไตย โดยตุลาการภิวัฒน์ แม้พรรคพลังประชาชนของทักษิณจะชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง แต่นายกฯ ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญปลดออก พรรคก็ถูกยุบ และถูกขัดขวางเรื่อยมา จนนำไปสู่การยกระดับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ​ (คนเสื้อเหลือง) และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. (คนเสื้อแดง) ซึ่งในห้วงระยะเวลาตั้งแต่ 2549 – 2553 นี้เกิดเหตุไม่สงบทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง ผู้ชุนนุมและแกนนำของทั้งสองฝ่ายตกเป็นจำเลยในหลายคดี เช่น คดีปิดล้อมบ้านสี่เสาเทเวศร์ คดีปิดสนามบิน เป็นต้น ในขณะที่เหตุสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่แยกราษฎร์ประสงค์โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ปี 2553 ยังไร้คนรับผิด 

หลังจากอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกจากตำแหน่งนายกฯ และประกาศยุบสภา พรรคเพื่อไทยก็ยังได้คะแนนเสียงล้นหลาม และส่งยิ่งลักษณ์เข้าทำเนียบได้สำเร็จ ในช่วง 2555 – 2556 นี้เอง ที่มีการกำเนิดร่างกฎหมายนิรโทษกรรม-ปรองดองมากถึง 9 ฉบับ จากหลายฝ่าย โดยทุกฉบับล้วนกล่าวถึงการเว้นผิดให้กับผู้ชุมนุมทุกฝ่าย อ้างความหวังตั้งต้นการเมืองแห่งสันติภาพกันใหม่ แต่ในยุคนี้เองที่ “นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย” ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยมีเนื้อหาล้างผิดทุกฝ่าย ไม่เว้นแกนนำ เจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิ และตั้งข้อสังเกตว่าขอบเขตนี้ลากไปจนถึงคนไกลอย่างทักษิณด้วยหรือไม่ ขณะที่คนเสื้อแดงบางส่วนมองว่า กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นการ “เหยียบศพ” คนเสื้อแดงที่สูญเสียไปในการสลายการชุมนุม ปี 2553

ด้วยความหวั่นวิตกว่าทักษิณจะกลับมา และแสนยานุภาพของนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง จึงเกิดการรวมตัวของ กปปส. หรือ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ เพื่อหวังขจัดอำนาจของทักษิณในการเมืองและหวังตั้งสภาประชาชนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จัดการระบบการเมือง ขณะที่ นปช. ก็จัดชุมนุมตอบโต้อีกครั้ง จนสถานการณ์บานปลายและนำไปสู่การยุบสภาลาออกของยิ่งลักษณ์ และ พลเอก ประยุทธ์ ก็เข้ายึดอำนาจรัฐประหารในปี 2557

เช่นเดียวกับรัฐประหารปี 2549 พลเอก ประยุทธ์ และคณะรัฐประหาร ไม่ลืมที่จะนิรโทษกรรมตัวเอง ด้วยกลไกเช่นเดียวกันกับการรัฐประหารครั้งที่ผ่าน ๆ มา คือ การเขียนกฎหมายล้างผิดในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 48 และขึ้นเป็นประมุขฝ่ายบริหารอยู่ร่วม 4 ปี กระทั่งมีการเลือกตั้งใหม่หลังรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ประกาศใช้ พลเอก ประยุทธ์ก็ยังได้เข้าบริหารประเทศต่ออีกสมัย จากการผนึกกำลังกันของ สว. 250 คน

ในเวลาต่อมา ปี 2563 คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ร่วมกับ สุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ได้อภิปรายถึงแผนแม่บทความมั่นคงของประเทศว่าขาดเสถียรภาพ และไม่สงบนั้น จึงเสนอให้รัฐบาลเร่งตรากฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนจากความผิดที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2548 – 2563 

“อย่างนี้นายกรัฐมนตรีจะรวมไทยสร้างชาติได้อย่างไร เมื่อคนกลุ่มหนึ่งถูกทิ้งให้ขึ้นศาลทุกสัปดาห์…ถึงเวลาต้องมีกฎหมายนิรโทษกรรม การทำผิดของคนที่มาชุมนุมการเมืองหรือทำผิดทางอาญาที่มีเหตุเกี่ยวเนื่องชุมนุมทางการเมืองนั้น ไม่ใช่มีจิตเป็นอาชญากรโดยแท้ แต่ต้องการสังคมที่ดีกว่า ต้องการการเมืองใหม่ การปฏิรูปประเทศ การกระทำทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ทำผิดกฎหมาย จึงต้องนิรโทษกรรมประชาชนทุกกลุ่ม ดังนั้น นายกรัฐมนตรีอย่าลังเล”

คำนูณ สิทธิสมาน
No photo description available.

นอกจากนี้ ในปี 2566 ยังมีความพยายามผลักดันจากกลุ่มการเมือง มี สส. พรรคพลังธรรมใหม่ เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ซึ่งร่างฉบับนี้จะยกเว้นความผิดให้กับผู้ชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่ 2549 – 2565 แต่ พลเอก ประยุทธ์ และ คณะรัฐมนตรี ออกมายืนยันว่า ไม่ได้มีความพยายามจะผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมแต่อย่างใด แม้ทางพลเอก ประยุทธ์ จะร่างกฎหมายยกเว้นความผิดตัวเองในการบริหารราชการแผ่นดินไปแล้วอย่างน้อย 8 ครั้งแล้วก็ตาม 

2 ทศวรรษที่ผ่านมา สู่ความพยายามในการยื่นกฎหมายนิรโทษกรรมไม่น้อยกว่า 14 ครั้ง จากทั้งฟากประชาชน ฟากกลุ่มการเมือง และขั้วอำนาจทหาร จะเห็นว่าไม่มีร่างกฎหมายใดประสบความสำเร็จ บ้างก็ถูกลืม บ้างก็ถูกต่อต้าน แต่มีอยู่เพียง 2 ครั้งที่สำเร็จอย่างราบรื่น คือการนิรโทษกรรมตัวเองโดยคณะรัฐประหารในปี 2549 และ ปี 2557 ในทางตรงกันข้าม จะพบว่าการนิรโทษกรรมนักโทษคดีการเมืองมาตรา 112 จะขึ้นอยู่กับว่าศาลจะตีความความผิดมาตรา 112 เป็นการแสดงออกทางการเมืองที่เกี่ยวกับการชุมนุมหรือไม่

นิรโทษกรรม

หรือนี่จะเป็นนิรโทษกรรมฉบับทะลุซอย?

5 ตุลาคม 2566 พรรคก้าวไกลยื่น ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากการเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง จากการรายงานของ BBC ระบุว่า กลุ่มบุคคลที่เข้าข่ายได้รับอานิสงส์จากกฎหมายนี้คือ แกนนำและแนวร่วมชุมนุมทางการเมืองกลุ่มสำคัญ ๆ อาทิ กลุ่ม พันธมิตรฯ, นปช., กปปส., ขบวนการนักศึกษาและประชาชนฝ่ายต่อต้าน คสช. และกลุ่มคณะราษฎร

หากนับเฉพาะการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งสำคัญในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ร่างกฎหมายนี้จะมีจำนวนของจำเลยที่เกี่ยวข้องในแต่ละคดีการชุมนุมทางการเมืองที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 2,500 ราย (ทั้งที่คดีสิ้นสุดแล้วและยังไม่สิ้นสุด) โดยในช่วงการชุมนุมเมื่อปี 2563 – 2566 มีจำนวนของจำเลยมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากรูปแบบการชุมนุมที่เน้นปริมาณ กระจายตัวตามจังหวัดต่าง ๆ ประกอบกับการใช้กฎหมายที่เข้มงวดของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์​

ขณะนี้ยังมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี อย่างน้อย 25 คน และเป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 10 คน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้วยจำนวนจำเลยในรอบการชุมนุมล่าสุด ทำให้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมดูให้น้ำหนักไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมในปี 2563 – 2566 มากกว่าครั้งไหน ๆ นอกจากนี้ หลายฝ่ายยังตั้งข้อสังเกตว่า การนิรโทษกรรมนี้จะ “ทะลุซอย” ไปถึงการล้างผิดมาตรา 112 ที่เป็นประเด็นแหลมคมอยู่ ณ​ ขณะนี้ด้วยหรือไม่ ด้าน ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า การวินิจฉัยเพื่อล้างผิดใด ๆ นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการชี้ขาด

“ตอนที่นิรโทษกรรมให้กับเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็เป็นเรื่องความผิดมาตรา 112 เป็นหลัก และยังมีคดีกบฏล้มล้างการปกครอง เปิดให้คนที่เข้าร่วมต่อสู้ด้วยอาวุธ เราสามารถที่จะอภัยเพื่อทำให้การเมืองไทยเดินหน้าไปได้ จึงคิดว่าหากไม่มีอคติจนเกินไป ทุกฝ่ายควรจะร่วมกัน” 

ชัยธวัช ตุลาธน
No photo description available.

ตามเนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม ทั้ง 9 คน ซึ่งประธานรัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้ง ประกอบด้วย 

  • ประธานสภาผู้แทนราษฎร 1 คน
  • ผู้นำฝ่ายค้านในสภา 1 คน
  • บุคคลที่ได้รับเลือกโดย ครม. 1 คน
  • บุคคลที่ได้รับเลือกโดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร 2 คน
  • ผู้พิพากษา/อดีตผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 1 คน
  • ตุลาการ/อดีตตุลาการศาลปกครองซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 1 คน
  • พนักงาน/อดีตพนักงานอัยการซึ่งได้รับเลือกโดยคณะกรรมการอัยการ 1 คน
  • เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 1 คน

การเลือกกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดฯ ชุดนี้ ต้องทำให้เสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้ โดยการกำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเคยปรากฏขึ้นแล้วในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์ ปี 2556 โดยต่างกันที่จำนวนคณะกรรมการ และไม่มีตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภา, บุคคลที่ได้รับเลือกโดย ครม., ประธานรัฐสภา และเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

ถอนฟืนจากกองไฟ สู่การล้างผิดครั้งสุดท้าย

เบญจา แสงจันทร์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ฉายภาพการเสนอกฎหมายฉบับนี้เสมือนกับ “การถอนฟืนออกจากกองไฟ” ตนเชื่อว่าประเทศชาติจะไปต่อไม่ได้ หากยังมีเยาวชนถูกคุมขังเนื่องจากความเห็นต่างทางการเมือง โดยเฉพาะการใช้อำนาจศาลควบคุมการแสดงออกของผู้เห็นต่าง จะยิ่งเป็นการสุมไฟให้แรงขึ้น โดยที่ปัญหาของผู้ที่ถูกกดทับไม่ได้ถูกรับฟังและแก้ไขอย่างจริงจัง ดังนั้น การล้างผิดผู้เห็นต่างจากทุกฝ่ายจะนับเป็น “ก้าวแรก” ของการเริ่มต้นหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยกันใหม่ และย้ำว่านี่เป็น “ก้าวปกติ” ที่สังคมไทยเองก็เคยผ่านกันมาแล้วในอดีต

“พวกเราไม่สามารถสร้างชาติที่มีอนาคตได้ ด้วยการเอาเยาวชนผู้เป็นอนาคตของชาติไปคุมขัง การนิรโทษกรรมจะเป็นการถอนฟืนออกจากกองไฟ…และจะเป็นก้าวแรกที่จะทำให้ประชาชนเชื่อว่า สังคมนี้เปิดโอกาสให้คนเห็นต่างสามารถเดินหน้าประเทศนี้ร่วมกันได้”

เบญจา แสงจันทร์

ส่วนอานิสงส์ของการนิรโทษกรรมนั้นจะครอบคลุมถึงผู้ต้องหาคดี ม. 112 หรือไม่ เบญจาระบุว่า ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและการวินิจฉัยชี้ขาดโดยคณะกรรมการ 9 คน ซึ่งถูกกำหนดตามร่างกฎหมายดังกล่าว แต่โดยส่วนตัวคาดหวังว่า ตามร่างกฎหมายแล้วก็ควรได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมด ทั้งนี้ เบญจาได้ยกกรณีเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 ได้ระบุให้มีการล้างผิดผู้ต้องหาคดี ม. 112 ตลอดจนการกระทำของกลุ่มประชาชนที่ใช้อาวุธตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐด้วยเช่นกัน

ในทางกลับกัน ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตหัวหน้าพรรคไทยภักดี ได้ให้ความเห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวของก้าวไกลจะยิ่งเป็น “การสุมไฟลงในกองฟืน” เพราะเนื้อหาร่างกฎหมายเน้นให้ประโยชน์ไปที่กลุ่มการเคลื่อนไหวของเยาวชนในช่วง 2563 – 2565 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ นพ.วรงค์ ตั้งข้อสังเกตว่า นี่จะเป็นการพยายามล้างผิดผู้ต้องหา ม. 112 โดยปราศจากการสำนึกผิด ตนเชื่อว่าการนิรโทษกรรมจะเห็นควรให้เกิดขึ้นได้ ผู้กระทำผิดต้องมีท่าทีสำนึกผิดในสิ่งที่ทำเสียก่อน

“กรณีกลุ่มพันธมิตร กปปส. คนเสื้อแดง-เหลือง มาวันนี้สถานการณ์มันคลี่คลาย คนมันผ่านร้อนหนาวมา ถ้าจะนิรโทษกรรมผมโอเคในหลักการ แต่อย่างกรณีคดี 112 มันยังไม่นิ่ง คนยังมีท่าทีดูหมิ่น โจมตี เผาป้าย อย่าลืมว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่มีใครไปแกล้งคุณ คุณจงใจทำเอง แล้วจะให้นิรโทษกรรมมันจะยิ่งไปกันใหญ่”

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม

ยิ่งไปกว่านั้น นพ.วรงค์ ให้ความเห็นว่าพรรคก้าวไกลพยายามโหนเอาความขัดแย้งตั้งแต่ปี 2549 มาบังหน้า เพื่อหวังเอื้อประโยชน์ให้พรรคพวกฝ่ายตน ยกตัวอย่างที่ร่างกฎหมายมีการยกเว้นไม่ให้ล้างผิดจำเลยคดี ม. 113 ทั้งที่เป็นคดีความของแกนนำกลุ่มเสื้อสีต่าง ๆ ในอดีต แต่กลับเอื้อให้มีการพิจารณาล้างผิดจำเลย ม. 112 ได้ ซึ่งเป็นคดีความที่ผู้ชุมนุมในช่วงปี 2563 – 2565 ถูกตั้งข้อหากันเสียมาก

ท้ายที่สุด นพ.วรงค์ มองว่า นี่จะเป็นการนิรโทษกรรมครั้งสุดท้ายได้ก็ต่อเมื่อผู้กระทำผิดมีท่าทีที่สำนึกผิดจริง แต่ขณะนี้ยังเห็นการพยายามเคลื่อนไหว ต่อต้าน และแสดงท่าทีที่ไม่สำนึกผิด และตนย้ำว่า ภาครัฐมีพื้นที่ในการแสดงออกทางการเมืองได้อย่างอิสระ แต่คนบางกลุ่มกลับมุ่งละเมิดกฎหมาย ดังนั้น การปล่อยให้มีการนิรโทษกรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า จะยิ่งเป็นการเอื้อให้คนทำผิดซ้ำอีก และไม่สำนึกผิด

“ผมเชื่อว่าเวลาผ่านไป คนไทยเป็นคนให้อภัยง่าย แต่ก็ไม่ชอบผู้ร้ายปากแข็ง ตอนนี้คุณยังโจมตีอยู่ คุณยังให้ร้ายอยู่ ถ้าจะให้นิรโทษฯ ผมถามกลับว่าพวกเขานิ่งหรือยัง ถ้านิ่ง หยุดกระทำ สำนึกผิด ผมว่าศาลก็ใจดี มีกรณีที่เขาสารภาพว่าถูกหลอกใช้งาน แล้วศาลท่านก็ยกโทษให้ แล้วยิ่งมี พ.ร.บ.นิรโทษฯ มันก็จะไม่กลัวอะไรกัน”

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม

ขณะที่ เบญจา ให้ความเห็นว่า ส่วนตัวอยากให้การนิรโทษกรรมครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายของหน้าการเมืองไทย เพราะการที่ต้องมีความพยายามนิรโทษกรรมอยู่บ่อยครั้ง นั่นสะท้อนว่าการเมืองอยู่ในสภาวะไม่ปกติ มีการใช้ตุลาการอภิวัฒน์และอำนาจศาลปิดปากผู้เห็นต่าง และการนิรโทษกรรมครั้งสุดท้ายจะเกิดขึ้นได้นั่นหมายความว่า ระบบการเมืองต้องเปิดกว้างความเห็นต่างหลากหลายให้ได้เสียก่อน เพื่อที่จะได้ไม่มีความคิดเห็นต่างใดถูกกำจัดอีก แต่เท่าที่มองภาครัฐทำงานมา 1 เดือน ตนพบว่า ยังคงมีจุดที่รัฐบาลต้องพัฒนาเพิ่มเติม โดยเฉพาะเรื่องของการเปิดกว้างสิทธิเสรีภาพในการแสดงของประชาชน

“ท่วงทำนองของรัฐบาลยังเป็นปฏิปักษ์ต่อพี่น้องประชาชนอยู่ เห็นได้จากท่าทีของรัฐบาลที่ปฏิบัติต่อม็อบสมัชชาคนจนที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐแก้ไขเรื่องปากท้อง แต่ก็มีการใช้กลุ่มเจ้าหน้าที่เข้ากดดัน ปิดกั้นพื้นที่…ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายรวมถึงฟากรัฐบาลเองได้เสนอร่างกฎหมายใดใด โดยเฉพาะกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อหาทางออก หาฉันทามติใหม่ของสังคม ภายใต้พื้นที่ปลอดภัยในเวทีรัฐสภา”

เบญจา แสงจันทร์
เบญจา
เบญจา แสงจันทร์

อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

บัณฑิตจบใหม่คณะสื่อสารฯ ผู้เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์