ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ : สัญญา…ว่าจะไม่เกิดซ้ำ “โศกนาฏกรรมความรุนแรง”


ทะเลาะกันอย่างมีความหมาย

อยู่กับ “ความเป็นจริง” ในวันที่โลก “ไม่แน่นอน” และ “ไม่เหมือนเดิม”

ไม่ใช่ “ต้องอดทน” แต่ “ทนกันได้” ในความเห็นต่าง

เพราะความทนกันได้ จะไม่พาเรา “ข้ามเส้น” บางอย่าง

สังคมไทยต้อง “สัญญากับตัวเอง” ว่ามันจะไม่มีวันเกิดซ้ำอีก “โศกนาฏกรรมความรุนแรง”

ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความโกรธแค้น ความรู้สึกที่ถูกทำร้าย และถูกทำลาย การพยายามทำความเข้าใจและ “ใส่ใจ” ในความเห็นต่างที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นหนทางเดียวที่จะไม่พาสังคมไทยหวนกลับสู่ความรุนแรง ที่เหตุการณ์ในอดีต ยังคงเป็นบาดแผลที่ “เจ็บ” ฝังลึก ซึ่งจะไม่เกิดขึ้น ถ้าสังคมไทย “สัญญา” ว่าจะไม่ทำให้มันเกิดขึ้น

The Active ขอส่งต่อข้อความจาก ศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี ชวนคนไทยร่วมกัน “สัญญา” ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป

ศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ | ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี


เปรียบเทียบความแตกต่างเหตุการณ์ในอดีตกับปัจจุบัน

สิ่งที่มันต่างคือ ครั้งนั้น นักศึกษาถูกกล่าวหาว่าละเมิดสถาบันสูงสุดผ่านกลไกของสื่อมวลชน แต่เวลานี้ สิ่งที่นักศึกษากำลังเรียกร้อง ส่วนหนึ่งก็เป็นการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ตอนนั้นเป็นการต่อสู้เพื่อประท้วงการกลับมาของจอมพล ถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นเผด็จการ มันก็เลยไม่ตรงกันสักทีเดียว

แต่สิ่งที่ตรงกันก็คือความรุนแรงที่เกิดในยุคนั้น ไม่ได้มาจากรัฐบาล ตอนนั้นคือรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และเชื่อว่ารัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ก็พยายามเต็มที่ที่จะไม่ใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วงในเวลานั้น แต่ความรุนแรงมาจากกลุ่มอื่นที่รณรงค์อยู่ในสังคม ทำงานร่วมกับกลุ่มพลังมวลชนและสื่อมวลชน เป็นลักษณะร่วมที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ประเด็นที่สำคัญกว่าที่น่าสนใจและทำให้เรากังวล ผมคิดว่าในคราวนี้ ปัจจัยที่เป็นความไม่แน่นอนมันมีสูงกว่า เพราะมีตัวแปรที่เราไม่รู้ว่าตอบสนองต่อปัญหานี้เป็นอย่างไร มีส่วนที่เรารู้และไม่รู้ และยังมีกลุ่มคน มีการใช้โซเชียลมีเดียเต็มไปหมด

ในปี 2519 อาจจะมีสื่อจำนวนหนึ่ง เช่น วิทยุยานเกราะ ตอนนี้ก็มีสื่อกระแสหลักที่คนเรียกว่ายานเกราะยุคใหม่ แต่ปัญหาที่น่าสนใจมันไม่ใช่สื่อกระแสหลักเพียงอย่างเดียว เพราะแม้แต่สิ่งที่สื่อกระแสหลักที่พูดถึงเรื่องแบบนี้ก็ใช้จากสื่อออนไลน์ และสื่อออนไลน์เป็นสิ่งที่ส่งเข้าไปเต็มไปหมดในขณะนี้

อีกประเด็นที่ทั้งน่าสนใจและน่ากลัวก็คือ ความไม่แน่นอนของผู้คน อย่าลืมว่าเราก็เจอสถาการณ์ที่เราไม่เคยคิดว่าจะเคยเกิดขึ้นในเรื่องของความรุนแรงอย่างเรื่องการกราดยิงที่โคราช ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่เกิดในประเทศอื่น ในสมัยก่อนเราคิดว่าเมืองไทยไม่มี เพราะฉะนั้น ความไม่แน่นอนในสิ่งที่เราเข้าไม่ถึง เราไม่รู้ อย่างนี้ที่น่าเป็นห่วง

“อาจจะมีคนมีความรู้สึกว่าต้องใช้ความรุนแรงจัดการ เพื่อให้เรื่องจบลงได้ อาจจะมีความรู้สึกแบบนี้อยู่ ถึงแม้รัฐบาลอาจจะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะไม่ให้มันเกิด ความไม่แน่นอนอย่างนี้เป็นสิ่งที่ผมเป็นกังวล ไม่ใช่ว่ามันจะเหมือนกับ 6 ตุลาคม 2519 แต่ว่าผมคิดว่าต้องเอาปัจจัยนั้นเข้ามาคิดในสมการนี้”

ภาพ | โครงการ “บันทึก 6 ตุลา” DOCUMENTATION OF OCT 6



สิ่งที่ไม่แน่นอน มีตัวอย่างอะไรบ้าง?

บางอย่างมันเป็นสิ่งที่พูดไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่ามันจะมาอย่างนั้น แต่เพราะมันไม่แน่นอน คนก็เลยคิดไปได้สารพัด คิดว่าทำอย่างนี้ถึงจะดี ก็จะยุ่งยากมาก

“ปัจจัยที่จะลดความเสี่ยง สมมุติเรามีสื่อจำนวนมากที่เวลานี้ออกมาสร้างความเกลียดชังนักศึกษาด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งก็จะผลักดันให้รัฐบาลทำอะไรบางอย่าง ถ้ารักรัฐบาล นั่นเป็นสิ่งสุดท้ายที่ควรทำ หมายความว่าไม่ควรเรียกร้องให้รัฐบาลทำอะไรแบบนั้น เพราะการทำแบบนั้นจะเพิ่มความเสี่ยง และความเสี่ยงนั้นจะมาจากที่อื่น ซึ่งผลของมันในที่สุดจะทำให้รัฐบาลนี้อยู่ไม่ได้”



รัฐบาลนี้ก็กำลังพยายามอยู่ให้ได้ภายใต้เงื่อนไขนานาชนิด เจอโควิด-19 ก็พยายามอยู่ให้ได้ ก็ต้องยอมรับว่าทำได้ดีพอสมควรในการจัดการกับโรคนี้ จัดการกับระบบเศรษฐกิจก็พยายามเท่าที่จะทำได้ และถ้าความรุนแรงเกิดขึ้นกลางเมือง เกิดขึ้นกับนักศึกษา รูปแบบปัจจุบันก็จะย้อนกลับไป อาจจะมีการรัฐประหาร ประเทศก็ถอยหลังอีก มันก็ไม่คุ้มสำหรับคนที่รักรัฐบาล

ถ้าอย่างนั้นภายใต้รูปแบบนี้ ควรประคับประคองอย่างไร?

ก็คงต้องพยายามเข้าใจว่า สิ่งที่เรากำลังเห็นอยู่ จริง ๆ มันคืออะไร และมันมีทางที่จะคิดถึงสิ่งที่เห็นนี้ในด้านดีได้ไหม มีคนถามว่าพอเราได้ยินข้อเรียกร้องทั้ง 10  ประการของนักศึกษาเรารู้สึกอย่างไร ผมก็เป็นคนรุ่นเก่า ผมโตมากับจารีตความคิดแบบหนึ่ง ถามว่าตกใจไหม ก็ตกใจ

“เรื่องบางเรื่องมันพูดได้เมื่ออยู่ในที่ลับ ไม่ใช่พูดในที่แจ้ง แต่พอมาพูดในที่แจ้งแบบนี้ มันก็เลยนำมาซึ่งความตระหนก”



คำถามต่อมาก็คือ Shock Value มันมีไหม ผมคิดว่ามี เพราะปัญหาสำคัญก็คือ คล้าย ๆ เป็นการชวนให้เราคิดว่าสังคมไทยที่มีอารยธรรม มีความเชื่อ มีความอุดมทางความคิดสติปัญญาจำนวนหนึ่ง และเดินทางมาถึงปัจจุบันนี้ เราสามารถอยู่กับสิ่งที่ทำให้เราตระหนกหรือสิ่งที่แปลกไปจากเดิมได้มากน้อยแค่ไหน

ในที่สุดเราอาจจะต้องก้าวไปสู่จุดที่ ณ วันหนึ่ง คุณกับผมจะต้องนั่งลงโดยที่เราเชื่อต่างกันในเรื่องสำคัญ แต่เราก็ยังเป็นมิตรกันได้ เรายังอยู่ในสังคมไทยด้วยกันได้โดยตัวของเราเอง และสังคมไทยก็มีพื้นที่ให้สำหรับสิ่งเหล่านี้ตามสมควรในขนบแบบที่กำลังค่อยๆ เกิดขึ้นในสังคม

การปะทะกันเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง แต่ตอนนี้ศตวรรษที่ 21 ควรจะข้ามไปให้ได้?

ผมมองว่า ความเห็นต่างเหล่านั้นมันสำคัญ แต่เราจะต้องหาวิธีอยู่กับความเห็นต่างเหล่านั้นให้ได้ เพราะมันเป็นบททดสอบความมีอารยะของสังคม ที่เดินทางผ่านร้อนผ่านหนาวมามากแล้ว ว่าเราจะอยู่ด้วยกันอย่างไร เพราะโจทย์ใหญ่ที่สุดของสังคมก็คือเรื่องนี้

มีเรื่องใหญ่ที่เป็นไปได้ มีเรื่องใหญ่ที่ข้ามได้ หรือเรื่องที่เคยมีความพยายามที่จะทดลองข้าม เช่น เมื่อตอนที่สังคมนิยมเข้ามาในไทย ตอนนั้นผมเข้าเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ปี 2515 ปลายปีนั้นก็มีการสัมมนาใหญ่มากที่ธรรมศาสตร์ ซึ่งจัดโดยสถาบันไทยคดีศึกษา เรื่องสังคมนิยมในสังคมไทย เชิญผู้รู้มาพูดเรื่องเหล่านี้ในหอประชุมใหญ่ของธรรมศาสตร์

ที่น่าสนใจคือ เรื่องแรกเป็นการพูดถึงสังคมนิยมที่สมัยนั้นมีคำกล่าวว่า สังคมนิยมทุกชนิดก็คือคอมมิวนิสต์นั่นเอง ซึ่งตอนนั้นก็มีพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำเป็นคอมมิวนิสต์อยู่ มีกฎหมายคลุมอยู่ ถึงแม้จะบอกว่าในห้องเรียนพูดได้ แต่นั่นไม่ใช่ห้องเรียน เป็นห้องสัมมนาใหญ่มีคนมาก และวันนั้นยังเป็นการสัมมนาหน้าพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ท่านเสด็จมาเป็นประธานในงาน

เรามีคุณสมบัติแบบนั้นอยู่ ทำอย่างไรที่จะสร้างเงื่อนไขเกื้อกูลคุณสมบัติเหล่านั้นให้พาสังคมไทยไปในจุดที่เราจะทนสิ่งต่าง ๆ ได้

“อุดมคติแบบนี้ในสังคมของเรา จะต้องปลูกฝังให้มันเข้มข้นมากกว่านี้ไหม ตอนนี้เรากำลังตกใจ แต่ถ้าเราใช้จังหวะของการตกใจมาหวนคิดถึงปัญหาพวกนี้บ้าง ก็จะมีประโยชน์ในการเดินไปข้างหน้าได้”



สถานการณ์ตอนนี้ อยู่ในช่วงที่ตกใจกับข้อเรียกร้องที่ไม่เคยมีใครกล้ามาก่อน?

ผมคิดว่าคนในสังคมไทยตกใจกับการที่ของบางอย่างซึ่งไม่เคยอยู่ในที่เปิดเผยขนาดนี้ ถูกนำมาอยู่ในที่เปิดเผย แต่ต้องเข้าใจว่า เรากำลังพูดถึงของที่เป็นที่รักของคน เวลาเราคิดถึงของที่เป็นที่รักของคนแล้ว คนจำนวนหนึ่งทำแบบนี้ ก็ไม่แปลกอะไรที่คนอีกฝ่ายตกใจและโกรธ ยิ่งในกรณีที่เขารู้สึกว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

“ความโกรธเหล่านี้ ตอนนี้กำลังถูกประมวล ถูกโฟกัส และออกฤทธิ์ในลักษณะต่าง ๆ แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ต้องคิดให้ละเอียดว่า เราอยากจะพาสังคมไทยไปที่ไหน อันนี้ต่างหากที่เป็นโจทย์ใหญ่ เราจะอยู่ด้วยกันอย่างไรในอนาคต นี่เป็นโจทย์สำคัญ”


เมื่อต้องคิดให้ละเอียดว่าจะพาสังคมไทยไปที่จุดไหนร่วมกัน ควรจะเป็นอย่างไร นอกจากอดทน?

ไม่ใช่ “ความอดทน” แต่เป็นความ “ทนกันได้” สองคำนี้ไม่เหมือนกัน ความอดทน เวลาพูดมันมีเซนส์เหมือนกับหม้อน้ำที่เดือดและปิดฝาไว้ ถึงเวลาก็ระเบิด นั่นคือความอดทน

แต่ความทนกันได้ มันเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเราอาจจะถูกฝึกมาหรือเราอาจจะอยู่ในระบอบอีกแบบหนึ่งเช่น วัฒนธรรมการโต้เถียงกัน คิดไม่เหมือนกัน แต่ก็อยู่ด้วยกันได้ เวลาไม่เห็นด้วยกันก็ไม่เห็นด้วยกันอย่างจริงจัง แต่เสร็จแล้วก็จบตรงนี้ และออกไปพูดคุยกันเป็นปกติได้ คือมิตรภาพมันยังอยู่ ในแง่ของ Tolerances ความทนกันได้จึงไม่เหมือนความอดทน ซึ่งเป็นคุณค่าอีกแบบที่ค่อนข้างสำคัญสำหรับประชาธิปไตย

ถามว่าเกี่ยวอย่างไร เพราะความทนกันได้ มันจะไม่พาเราข้ามเส้นบางอย่าง เส้นซึ่งถ้าเราข้ามไปแล้ว ก็จะยากมากที่จะฟื้นฟูสังคมของเรา เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เราข้ามเส้น ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือ เจเนเรชันนั้นก็สูญสลายอย่างที่เราเคยเห็นมาแล้ว เราตกอยู่ในความรู้สึกซึ่งพูดก็ไม่ออก จำก็ไม่ได้ ลืมไม่ลง ตกอยู่ในความเงียบ และที่สำคัญคือ มันเหมือนกับความบริสุทธิ์บางอย่างของสังคมไทยถูกทำลาย ซึ่งอันนั้นมีค่ามหาศาล

เราเคยเสียมันไปแล้ว และใช้เวลานานมากค่อย ๆ ฟื้นฟูขึ้นมา ซึ่งขณะนี้ก็มีปัญหาแบบเดียวกัน เพราะฉะนั้นก็ต้องประคับประคองสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่แค่เพราะเด็กเป็นอนาคตของชาติ แต่ถ้าเกิดความรุนแรง ก็จะเป็นการทุบทำลายของที่มีความหมายต่ออนาคตพอสมควร

ภาพ | โครงการ “บันทึก 6 ตุลา” DOCUMENTATION OF OCT 6

สิ่งที่จะต้องทนกันให้ได้ของสองฝ่าย คืออะไร?

ฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องทนความรู้สึกรักและหวงแหนของฝ่ายที่ไม่อยากจะเปลี่ยน สำหรับพวกเขาก็อาจจะมองสิ่งเหล่านั้นในอีกแนวทางหนึ่ง เหมือนกับมองผมที่เชื่อในพระเป็นเจ้า ผมก็รักและหวงแหนศาสดา ถ้าไปทำการ์ตูน ผมก็เสียใจ

แต่คำถามอาจจะง่ายกว่านั้นก็ได้ เช่น ทั้งสองฝ่ายอาจจะต้องเรียนรู้ว่าเราจะทำการต่อสู้ทางการเมือง เราจะประท้วง เราจะรณรงค์อย่างไร โดยนึกถึงความเสียใจของอีกฝ่าย ไม่ใช่ให้เลิกในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ แต่ให้ใส่ความรู้สึกลงไปด้วยว่า ทำอย่างไรอีกฝ่ายถึงจะไม่เสียใจ ไม่อย่างนั้นยุคสมัยนี้ก็จะเต็มไปด้วยความโกรธ ความเกลียดอย่างที่เราเห็น

“อีกฝ่ายหนึ่งก็คงจะต้องพยายามเข้าใจว่า ในสายตาของคนรุ่นหนึ่ง โลกมันเปลี่ยนไปเยอะแล้ว เขาไม่ได้มีความรู้สึกต่อสิ่งที่เรารักและหวงแหน เราจะอยู่กับความรู้สึกเหล่านี้ได้อย่างไร เขาพูดถึงมันด้วยอีกวิธีหนึ่ง เราจะอยู่กับมันได้มากน้อยแค่ไหน ผมคิดว่ามันเป็นบททดสอบสังคมไทยที่สำคัญ”



ดังนั้น คำถามที่สำคัญคือ Shock value นี้ แม้จะเป็นข้อเสนอเพื่อการปฏิรูป แต่ Value สำคัญคือ มันทำให้สังคมไทยไปตรวจสอบตัวเองว่าในเรื่องเหล่านี้ เราจะอยู่กับมันอย่างไร เราจะคิดถึงของพวกนี้อย่างไร

ผมเคยอธิบายว่า คนมักจะบอกว่าเรื่องทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 3 ข้อ แต่ผมคิดว่ามันเกี่ยว เพราะข้อเรียกร้อง 3 ข้อนั้น แก้รัฐธรรมนูญ ยุบสภา และอย่ารังแกประชาชน ทั้ง 3 ข้อนี้เป็นข้อเรียกร้องที่เกี่ยวพันกับสิ่งที่เราเรียกว่ารัฐธรรมนูญตามที่เราเห็นอยู่ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงมันยังมีอีกสิ่งที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม” ซึ่งสิ่งที่ Shock นั้นก็คือ นักศึกษาก้าวเข้าไปพูดในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม ซึ่งไม่เคยถูกเปลี่ยนแปลง

“สังคมไทยเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ แต่ก็เฉพาะรัฐธรรมนูญในแบบ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม และผู้คนก็บอกว่าห้ามแตะต้อง แต่ตอนนี้มีคนกำลังจะแตะ ก็เลยตกใจมาก”



ดังนั้น เราน่าจะฉวยใช้โอกาส Shock value นี้มาพัฒนาวัฒนธรรมในการทนกันได้ให้มากขึ้น ให้เข้าใจว่าความต่างนี้เกิดขึ้นแล้ว เป็นความต่างระหว่างวัย สิ่งที่เกิดขึ้นคือโลกของคนรุ่นใหม่กับโลกของเรามันห่างออกจากกันเรื่อย ๆ ในสิ่งที่เขาเป็น ภาษาที่เขาใช้ ความรู้สึกที่เขามี ประเด็นคือ ผู้ใหญ่จะทนของพวกนี้ได้อย่างไร เราจะอยู่กับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร ผมคิดว่าก็ต้องทำทั้งคู่

อะไรคือเครื่องมือที่ให้ทนกันได้?

คือ การอยู่กับความจริง เป็นเรื่องสำคัญ ผมฟังผู้ใหญ่บางคนเหมือนกับไม่ได้อยู่ในโลกของความจริงที่สังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว คนรุ่นใหม่เปลี่ยนแล้ว ความคิดความอ่านเปลี่ยนไปแล้ว เทคโนโลยีเปลี่ยนไปแล้ว วิถีความผูกพันระหว่างคน ระหว่างเขากับสถาบันฯ เปลี่ยนไปแล้ว

ทำไมจึงคุยมาถึงจุดนี้ ผมคิดว่าเราเริ่มต้นจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผมเป็นห่วงเพราะในประวัติศาสตร์ของแต่ละสังคม มันเป็นสังคมที่ทุกแห่งมีโศนาฏกรรมของมันอยู่ สำหรับรุ่นของพวกเรา เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็เป็นโศกนาฏกรรม

สิ่งที่ควรจะตามหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็คือ การสัญญากับตัวเอง หมายถึงสังคมไทยสัญญากับตัวเองว่า มันจะไม่มีวันเกิดซ้ำอีก เพราะมันสร้างความสูญเสียให้กับสังคมไทยอย่างชนิดที่ประมาณได้ยากมากในทุกฝ่ายที่เกิดขึ้น เราจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม

“มันพาเราไปอีกที่หนึ่งที่มืดทะมึน มีแต่ความอึดอัด อิหลักอิเหลื่อ มีแต่ความโศกเศร้า เกลียดชังตามมา ดังนั้น เราก็จะต้องสัญญากับตัวเราเองว่า ไม่ว่าจะอย่างไร ก็อย่าให้มันซ้ำรอย Never Again”



ถ้าเราเห็นอย่างนั้น คนทั้งสังคมก็จะลุกขึ้นและบอกว่า เราไม่อยากเห็นภาพนั้นอีก เราก็จะเพิ่มระดับของความทนกันได้ มันก็จะโหยหาเส้นทางที่พอจะเป็นทางออกได้


ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อยู่รอบ ๆ อีกไหม?

เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งก็จะมีคนที่จะฉวยใช้จากปัญหาที่เกิดขึ้น ปัจจัยเสี่ยงพวกนั้นมันก็มีเต็มไปหมด ดังนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องหาวิธีลดปัจจัยเสี่ยง คือทุกฝ่ายก็อาจจะต้องทำงานหนักพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ผู้ประท้วง และสื่อทั้งที่ชอบและไม่ชอบรัฐบาล

“สิ่งที่ผมมักจะพูดเสมอก็คือ ผมไม่เคยบอกให้ยุติความขัดแย้ง แต่ผมจะคิดเสมอทำอย่างไรเราจะขัดแย้งกันด้วยดีให้ได้มากกว่านี้ เก่งกว่านี้ โดยไม่ได้นำพาเราไปสู่โศกนาฏกรรมอย่างที่เคยเกิดขึ้น”



ปัจจัยเสี่ยงที่มีอิทธิพลมาก ๆ อยู่ตรงไหน อยู่ที่คนมีอำนาจ?

มันไม่ใช่แค่นั้น สื่อก็มีส่วนในการทำให้เปลวไฟมันคุโชนได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ นี่คือปัจจัยเสี่ยง และตอบไม่ได้ว่ามันจะมาจากทิศทางไหน มันเลยต้องตอบภาพใหญ่

สมมุติถ้าเป็นกรณีที่มีมือปืนบุกเข้าไปในที่ต่าง ๆ ก็อาจจตอบได้ว่าปัจจัยเสี่ยงคืออะไร แต่ของเราไม่ใช่ มันเป็นประเด็นทางการเมืองซึ่งยากกว่า ก็เลยไม่สามารถจะตอบลงไปแบบนั้นได้ จะออกกฎหมายคุมปัจจัยเสี่ยงก็ทำไม่ได้ หรือบางที่อาจจะไม่ได้เจตนาแต่ทำอะไรไปบางอย่างที่ทำแล้วมันกลับไปไม่ได้

ความไม่แน่นอนนี้ ตอบไม่ได้ หรือพูดไม่ได้กันแน่?

ที่ตอบไม่ได้ก็เพราะถ้าถามว่าอะไรที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนมากขึ้น เพราะความไม่แน่นอนนั้นมาจากหลายแหล่ง มันอาจจะมาจากตัวละครที่เยอะขึ้น มาจากความซับซ้อนของอำนาจที่กำลังหมุนอยู่ในสังคมไทยในขณะนี้ มันอาจจะมาจากความรู้สึกของคนที่จูนเข้าหาเรื่องนี้ในระดับที่แตกต่างกัน แล้วเราก็ไม่รู้ว่าของพวกนี้มันผสมกันแล้วทำงานอย่างไร เลยตอบไม่ได้

ดังนั้น ถามว่าผมไม่ตอบหรือตอบไม่ได้ ส่วนที่ตอบได้ตอบไปแล้ว แต่สิ่งที่เป็นกังวล ไม่รู้จะตอบอย่างไร แต่ผมคิดว่ามันมีของพวกนี้ และของพวกนี้มันเป็นปัจจัยเสี่ยง

ข้อเสนอให้มีพื้นที่ปลอดภัย น่าสนใจไหม?

พื้นที่ปลอดภัยมันจำเป็นเสมอในทุกสังคม แต่ตอนนี้มันน่าสนใจมากว่า พื้นที่ปลอดภัยนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยแบบ Private หรือ Public เป็นพื้นที่ปลอดภัยแบบสาธารณะหรือไม่สาธารณะ พื้นที่ปลอดภัยแบบทางการหรือไม่ทางการ หรือปัญหาบางที่มันขัดกันเพราะสำหรับคนบางกลุ่ม ความเป็นสาธารณะคือตัวการันตีความปลอดภัยของเขา

ข้อเรียกร้องของนักศึกษา 3 ข้อนั้น แม้ข้อที่อาจจะสำคัญที่สุดคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ที่น่าสนใจอีกข้อคือ อย่ารังแกประชาชน คิดว่านี่อาจจะเป็นอีกอย่างที่รัฐบาลอาจจะทำให้ความรู้สึกปลอดภัยมันกลับมา อะไรต่าง ๆ ที่เคยมีกรณีกัน ไม่ปลอดภัย ถูกอุ้มหาย ก็เอาจริงเอาจังหน่อยว่าอยู่ตรงไหน เป็นอย่างไร ทำให้ความจริงเหล่านี้ปรากฏ ทำให้คนรู้สึกมีความมั่นใจขึ้นว่า เราสามารถจะมีพื้นที่ปลอดภัยได้จริง ๆ

ถ้าจะจริงใจกับพื้นที่ปลอดภัย เราต้องทำอย่างไรในเวลานี้?

ก็คงจะต้องให้การประท้วงเป็นไปได้ ในรั้วมหาวิทยาลัยก็อาจจะถือว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่คนก็อาจจะตั้งคำถามว่าไปขัดกฎหมายหรือเปล่า เรื่องนี้ผมคิดว่าผู้ประท้วงเองก็รู้ว่า บางทีเขาทำบางอย่างที่ขัดกับกฎหมาย ก็ต้องรับผลทางกฎหมายนั้นไป

“ความปลอดภัยที่ว่านี้ ผมหมายถึงความปลอดภัยจากอำนาจดิบเถื่อนที่ไม่รู้เหนือใต้ ไม่มีร่องรอย ไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นแก้ไขได้ในกระบวนการทางกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งแบบนี้จำเป็นต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้พอสมควร”



ความรุนแรงมีกี่ระดับ แค่ไหนที่จะยอมได้?

ถ้าตอบง่าย ก็อย่างที่สถาบันวิชาการจำนวนหนึ่งทำกัน ก็คือ นับศพ จำนวนไหนเป็นความรุนแรงระดับไหน แต่ผมคิดว่า นับแบบนั้นผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่

แต่ตอนนี้ความรุนแรงที่เป็นกังวลคือ ทำอย่างไรเราถึงจะสามารถทะเลาะกันอย่างมีความหมาย โดยไม่ทำร้ายความรู้สึกของคนอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับเรา และซึ่งอันนั้นมันจะนำไปสู่ความรุนแรงได้ อันนี้ไม่ได้แก้ปัญหาความรุนแรงจากปัจจัยเสี่ยงบางส่วน แต่อย่างน้อยก็อาจจะลดลงได้

ตอนนี้ยังไม่รุนแรงแบบนั้น?

ผมหวังว่ามันจะไม่เกิด ด้วยเหตุผลคือ ผมคิดว่าผู้ประท้วงก็รู้ รัฐบาลก็ไม่อยากให้เกิด คนในสังคมไทยจำนวนหนึ่งก็ไม่อยากให้เกิด เพื่อจะป้องกันมัน ก็ต้องกลับมาทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ให้มากขึ้น ถามเหตุผลว่าทำไมไม่ควรให้เกิด ก็เพราะว่ามันเกิดมาครั้งหนึ่งก็เกินพอแล้ว สำหรับประเทศนี้ ก็ต้องร่วมใจกัน


“หลักข้อหนึ่งของประชาธิปไตยคือ ต้องไม่เห็นว่าคนที่เห็นต่างกับเราเป็นศัตรู ต้องเห็นว่าเป็นเพื่อนร่วมสังคม นี่เป็นภาคทฤษฎี ส่วนภาคปฏิบัติก็มีตัวอย่างคำสัมภาษณ์ของ ผบ.ทร. ที่บอกว่าไม่ใช่พวกชังชาติ แต่ก็เป็นคนที่เห็นต่างกัน เขาอาจจะรักชาติด้วยวิธีของเขา ทำอย่างไรถึงจะทำให้ทั้งหมดนี้มันดำเนินต่อไปได้”



อะไรคือการยกระดับจากต้นทุนที่เราเคยประสบมา?

ให้ทะเลาะกันอย่างมีคุณค่า ทะเลาะกันให้ดีกว่าเดิม ทำอย่างไรโดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่ทำให้อีกฝ่ายเสียใจ เอาใจเขามาคิดว่าเขารักจริง เขาไม่ได้รู้สึกอะไรไปเอง


ขณะเดียวกัน อีกฝ่ายก็ต้องเข้าใจคนที่เรียกร้อง

เพราะเขาก็เรียกร้องจริง ในความหมายที่เขาเชื่อว่าอันนี้มันผิด มันน่าจะมีอะไรบางอย่างที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ บางคนก็บอกว่านี่มันเป็นเรื่องของการต่อรองกัน แต่ผมพยายามจะบอกว่าไม่ใช่เรื่องของผู้ประท้วงกับรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของสังคมไทยโดยรวม เรื่องราวทั้งหมดเป็นเรื่องของเรา เป็นชีวประวัติของสังคมไทยที่กำลังค่อย ๆ คลี่คลาย เรากำลังเจอของใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นเส้นที่สังคมไทยเคยเดินข้ามไปแล้วด้วยความสูญเสียมากมาย จึงควรเป็นบทเรียนของเราว่า อย่าทำอีกเลย อย่าทำให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นกับบ้านเมืองของเราอีกเลย  นี่ไม่ใช่ข้อเรียกร้องต่อผู้ประท้วง หรือรัฐบาล แต่เป็นข้อเรียกร้องต่อสังคมไทย เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะต้องสัญญากับตัวเอง ว่าเราเห็นต่างกันต่อไปได้ในเรื่องที่คิดว่าสำคัญ แต่อย่าทำอะไรที่ทำให้โศกนาฏกรรมเหล่านั้นอุบัติขึ้นอีก

“เราอยู่ในโลกที่ไม่มีอะไรแน่นอนอีกต่อไป เราอยู่ในโลกที่เราต้องเตรียมตัวสำหรับสิ่งที่เราอาจจะไม่ได้เห็นในสิ่งที่เคยเห็น โรคภัยใหม่ ๆ ความพินาศในทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น โลกทั้งใบมันกำลังเปลี่ยน”


บทส่งท้าย

สถานการณ์ ณ เวลานี้ ยังไม่เกิดความรุนแรงทางกายภาพ เป็นช่วงเวลาของความขัดแย้งต่างที่ต้องนำประสบการณ์ในอดีตมายกระดับ ทำให้เป็นการทะเลาะกันอย่างมีคุณค่า ทะเลาะกันให้ดีกว่าเดิม 

เอาใจเขามาคิดว่าเขารักจริง เขาไม่ได้รู้สึกอะไรไปเอง และอีกฝ่ายก็ต้องมองให้เห็นว่าเขาเรียกร้องจากสิ่งที่เขาเชื่อว่ามันน่าจะมีอะไรบางอย่างที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ 

แม้บางคนจะบอกว่านี่เป็นเรื่องของการต่อรองกัน แต่ ศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ พยายามจะบอกว่า ไม่ใช่เรื่องของผู้ประท้วงกับรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของสังคมไทยโดยรวม  เป็นชีวประวัติของสังคมไทย ที่กำลังค่อย ๆ คลี่คลาย เรากำลังเจอของใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน

“เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นเส้นที่สังคมไทยเคยเดินข้ามไปแล้วด้วยความสูญเสียมากมาย จึงเป็นบทเรียนว่า อย่าทำอีกเลย อย่าทำให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นกับบ้านเมืองของเราอีกเลย”


ศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ ไม่ได้เรียกร้องต่อผู้ประท้วง หรือรัฐบาล แต่เป็นข้อเรียกร้องต่อสังคมไทย โดยระบุว่า “เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะต้องสัญญากับตัวเองว่า เราเห็นต่างกันต่อไปได้ในเรื่องที่คิดว่าสำคัญ แต่อย่าทำอะไรที่ทำให้โศกนาฏกรรมเหล่านั้นอุบัติขึ้นอีก”

แค่เราต่างเตือนตัวเองว่า “เราอยู่ในโลกที่ไม่มีอะไรแน่นอนอีกต่อไป”

Author

Alternative Text

The Active

กองบรรณาธิการ The Active