อย่าให้ชีวิตบั้นปลาย กลายเป็นภาระ… ‘Joy Ride’ ขออาสา บริการลูกรับจ้าง หลานจำเป็น

‘Joy Ride – ลูกรับจ้าง หลานจำเป็น’ คือ บริการพาผู้สูงวัยออกจากบ้าน ไม่ว่าจะไปโรงพยาบาล ไปเที่ยว ไปวัด ทำบุญ ที่ดูแลกันประหนึ่งญาติมิตร แบบที่นิยามตัวเองว่า “ลูกหลานสายเอนท์”

“แก่อย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีคุณภาพ ไม่รู้สึกเป็นภาระลูกหลาน” เป็นเป้าหมายสูงสุดของบริการนี้ ทำไม ? ถึงเป็นเช่นนั้น The Active ชวนหาคำตอบกับ ‘จอย – ณัฐกาญจน์ เด่นวณิชชากร’ ผู้ก่อตั้งบริการ Joy Ride (จอยไรด์) – ลูกรับจ้าง หลานจำเป็น’ ในวันที่ไทยกำลังก้าวเข้าสูงสังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ แล้วพวกเราพร้อมกันหรือยัง ?

 จอย – ณัฐกาญจน์ เด่นวณิชชากร
ผู้ก่อตั้งบริการ จอยไรด์ – ลูกรับจ้าง หลานจำเป็น

เมื่อคนเป็นโรคซึมเศร้า อยากช่วยคนเพื่อฮีลใจ

“บริการจอยไรด์ เริ่มมาจากการที่เราป่วยเป็นโรคซึมเศร้า..”

จอย เล่าให้เราฟังด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ว่า จุดเริ่มต้นของบริการ จอยไรด์ – ลูกรับจ้าง หลานจำเป็น มาจากการที่เธอไปโรงพยาบาล แล้วได้เห็นผู้สูงอายุมานั่งรอคิวหน้าห้องตรวจเยอะมาก บางคนมาคนเดียว ทำอะไรก็ไม่ค่อยถูก บางคนก็เป็นคุณยาย – คุณตาที่แก่ชรา แล้วพากันมาหาหมอโดยไม่มีลูกหลานดูแล ความไม่สะดวกสบายแบบนี้จึงทำให้เธอเริ่มเห็น Pain Point ในสังคมไทย

“ตอนนั้นเรายังทำงานประจำอยู่ มันทำให้เรานึกถึงภาพที่เห็นเพื่อนร่วมงาน ต้องพาแม่ที่เป็นมะเร็งไปหาหมอ แต่ลางานไม่ได้เพราะติดประชุมสำคัญ ประกอบกับตอนนั้นเราเป็นโรคซึมเศร้า ทั้งเครียดกับเรื่องตัวเลข และการตลาด ถ้าเราได้ช่วยคน ได้พาผู้สูงอายุไปหาหมอ มันอาจจะช่วยฮีลใจตัวเองก็ได้”

เธอจึงเกิดไอเดียนี้ขึ้นมา แล้วก็นำไปปรึกษาในกลุ่มเฟซบุ๊ก ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน’ เสียงตอบรับส่งกลับมาเป็นอย่างดีจนคนสนใจ และบอกกันปากต่อปาก

สิงหาคม 2564 จอยไรด์ เริ่มเปิดให้บริการวันแรก โดยเริ่มจากบริการพาผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีนโควิด บริการต่าง ๆ ถูกพัฒนาต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ จนถึงตอนนี้ทำมาได้ 2 ปีกว่าแล้ว

จอย เล่าว่า กว่า 80 % ที่เรียกใช้บริการ คือ ลูก ๆ หลาน ๆ ที่ต้องทำงานประจำ ไม่มีเวลา หรือไม่ได้อยู่บ้านหลังเดียวกันกับพ่อแม่ แต่ที่น่าสนใจคือกลับมีกลุ่มคนที่ยังไม่แก่มาก หรือมีอายุแค่เพียง 30 ต้น ๆ เข้ามาติดต่อขอรับบริการเช่นกัน

“ถ้าเจ็บป่วยแล้วต้องไปโรงพยาบาลคงไม่มีใครอยากไปคนเดียวใช่ไหม มันคงจะอุ่นใจกว่า ถ้าออกจากห้องตรวจ แล้วมีคนมานั่งรออยู่หน้าห้อง” 

คนกลุ่มนี้มีมากโดยเฉพาะในช่วงต้องฉีดวัคซีนโควิด ผลข้างเคียงจากวัคซีนทำให้ผู้รับบริการกังวลใจไม่น้อย แม้ว่าจะยังอายุไม่มากก็ตาม แต่นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น

ปัจจุบัน จอยไรด์ ให้บริการลูกค้ามาแล้วกว่า 2,000 คน ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปีครึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกจากความสดใสและบริการอย่างมืออาชีพแล้ว สิ่งที่จอยไรด์มีให้ลูกค้ามาตลอด คือ ‘ความไว้วางใจ’

“เราคัดกรองทีมงานอย่างละเอียด ทั้งประวัติอาชญากรรม รวมถึงการมีความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น (CPR first aid) เพื่อให้ผู้ใช้บริการมั่นใจถึงมาตรฐานและความปลอดภัย จากคนที่สนใจเข้ามาสมัครกว่า 1,200 คน เราคัดเลือกจนเหลือทีมงานเพียงกว่า 10 คน เท่านั้น”

ด้วยการที่ต้องทำงานกับผู้สูงอายุ จอยจึงคิดว่า คงจะดีหากมีทีมงานเป็นผู้สูงอายุ แต่ในความเป็นจริงก็มีข้อจำกัดอยู่เหมือนกัน

“มีคนวัย 50-60 ปี มาสมัครเข้ามาเป็นทีมกับเราหลายคน เพราะเขายังรู้สึกว่าแข็งแรงอยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว งานนี้ต้องใช้แรงกาย แรงใจ เยอะมาก อาจไม่เหมาะกับวัย แต่ด้วยความที่เราอยากสร้างรายได้ผู้สูงอายุ เราเลยให้เขาทำหน้าที่เป็นทีมหลังบ้าน หรือลูกค้าสัมพันธ์แทน ทำหน้าที่คอยโทรไปสอบถามความพึงพอใจ หรือไปติดตามผล เช่น ฉีดวัคซีนไปแล้วแพ้ไหม ได้กินยาที่ได้ไปไหม” 

‘รับฟัง’ หัวใจแห่งบริการ สร้างสุขชีวิตบั้นปลาย

กว่า 2 ปี กับการให้บริการ ทำให้จอยได้เห็นความต้องการลึก ๆ ของผู้สูงวัยในไทย ที่แทบไม่ต่างกัน การออกแบบกิจกรรมหรือบริการที่ตอบโจทย์ pain point ของผู้สูงวัยจึงน่าจะเป็นตัวช่วยที่ดี

“เราเจอว่าทุกคนเหมือนกันหมด คือ เขาต้องการคนรับฟัง ไม่อยากเป็นภาระลูกหลาน และไม่อยากเป็นคนไร้ค่า การได้ทำอะไรให้ผู้อื่นจะช่วยดึงคุณค่าในตัวเขากลับมา”

จริง ๆ แล้ว หัวใจการให้บริการของจอยไรด์นั้นเรียบง่ายมาก ที่เน้นมากที่สุด การ ‘รับฟัง’ เพียงแค่ตั้งใจฟังว่า ผู้รับบริการต้องการอะไร และฟังในสิ่งที่เขาสื่อสารซึ่งสำหรับผู้สูงอายุเองแทบไม่ต่างกัน นั่นคือการเล่าเรื่องราวในอดีต หรือเล่าเรื่องลูกหลาน เพราะการมีคนรับฟังความสุขของเขา จะยิ่งหล่อเลี้ยงให้ชีวิตเขามีความหมายมากขึ้น

ไม่เพียงแค่รับฟังให้มากที่สุด แต่จอยไรด์ ยังออกแบบกิจกรรมที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ของครอบครัวให้แนวแน่นมากขึ้นด้วย อย่างกิจกรรม ‘คุณช้างจับมือ’ ที่ให้ผู้สูงอายุมาเย็บตุ๊กตาช้างร่วมกับลูกหลาน แล้วเอาไปมอบให้ผู้ป่วยติดเตียง ถือว่าช่วยสร้างสัมพันธ์ในครอบครัวได้ ทำให้ได้ทำในสิ่งที่มีคุณค่าให้ผู้อื่น และยังได้ฝึกการใช้ eye hand co-ordination

“ในวันนั้น เราเห็นคุณแม่ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง และเป็นโควิดขั้นโคมามาร่วมกิจกรรมด้วย ตาของเขามองไม่คอยเห็น แต่เขาได้ใช้ความพยายาม ได้ใช้สมาธิ ได้ใช้เวลากับครอบครัว และถึงที่สุด เขารู้ว่า สิ่งที่เขาทำได้ช่วยเหลือสังคม”

วิกฤตสังคมสูงวัย เมื่อผู้สูงอายุไทยยังอยู่ภาวะพึ่งพิง 

ในต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น ปัญหาเรื่องประชากรสูงวัยวิกฤตมาก ทำให้เกิดวิธีการบริหารจัดการ และนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย ในขณะที่บ้านเรา ก็กำลังก้าวไปสู่จุดนั้นในไม่ช้า

“เราโชคดีที่สถานการณ์ผู้สูงวัยในบ้านเรายังตามหลังญี่ปุ่นอยู่ 30 กว่าปี เขาพยายามแก้ไขสถานการณ์วิกฤตจนนำมาสู่การบริการจัดการที่ประสบความสำเร็จ บ้านเราเองก็ควรนำโมเดลนั้นมาเรียนรู้ หรือ learning from failure ไม่ว่าจะเรื่อง universal design  อย่างการส่งสาธารณะหรือทำทางเท้า ราวมถึงการวางแผนทางสุขภาพและการเงิน แต่ทำไมเรายังไม่เห็นเรื่องการตระหนักเรื่องนี้ในบ้านเรานัก”

“ผู้สูงอายุในบ้านเรายังอยู่ในภาวะพึ่งพิง รอความช่วยเหลือจากรัฐไม่ก็ลูกหลาน แม้จะมีผู้สูงอายุบางส่วนวางแผนค่าใช้จ่ายหลังเกษียณไว้บ้างแล้ว แต่เราควรมีโจทย์ให้ผู้สูงอายุดูแลตัวเองได้ คนส่วนใหญ่กำลังหวังพึ่งระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ป่วยแล้วให้หมอรักษา แก่แล้วให้รัฐดูแล ซ้ำร้ายที่คนไทยมีค่านิยมอยู่กันแบบครอบครัว แก่ตัวแล้วอยากให้ลูกหลานดูแล แต่บริบทนี้อาจไม่เหมาะกับปัจจุบันแล้ว เมื่อก่อน เรามีลูกกันหลายคน ผลัดกันดูแลพ่อแม่ ผลัดกันพาไปหาหมอและดูแลค่าใช้จ่าย แต่ตอนนี้สถานการณ์ครอบครัวมันเปลี่ยนไปแล้ว บางคนไม่ได้แต่งงาน บางคู่ก็ไม่มีลูก คนไทยอาจต้องปรับตัวตั้งแต่ระบบการศึกษารึเปล่า ?”

นี่คือสิ่งที่ จอยและหลาย ๆ คนในสังคมไทยตั้งคำถาม

เกิด ‘เดอะแบก’ ในสังคมไทย หรือ ผู้สูงวัยจะกลายเป็นปัญหา ?

บริการของจอยไรด์ เป็นเหมือนตัวช่วยให้กับครอบครัวสมัยใหม่ที่ครอบครัวมีขนาดเล็กลง และเมื่อลูกออกไปมีครอบครัวเป็นของตัวเอง พวกเขาก็จำต้องดูแลทั้งครอบครัวของตัวเอง และพ่อแม่ที่แก่เฒ่า กลายเป็น ‘เดอะ แบก‘ ที่ต้องแบกรับภาระทุกทาง สร้างความกดดันทั้งทางร่างกาย จิตใจ และการเงิน

“ลูกค้า 80-90 % เป็นเดอะแบกของบ้าน บางคนเป็นลูกสาวคนเดียว พอแต่งงานออกไปก็ต้องดูแลลูก-สามี แล้วยังต้องดูแลพ่อ-แม่ด้วย พวกเขาคือเจเนอเรชันที่ต้องแบกรับทุกทาง จะพาพ่อ-แม่ไปหาหมอ ก็ต้องลางาน ขาดประชุม กลับบ้านไปก็ต้องหาข้าวให้ลูกกินอีก เขาไม่รู้จะพึ่งใครแล้วเพราะไม่สามารถบริหารจัดการเวลาได้ทั้งหมด”

หากลองมองย้อนมาที่สังคมไทย ลูกหลานหลายบ้านเลือกที่จะทุ่มเททั้งเวลา เงินทอง และร่างกายจิตใจ เพราะยึดมั่นว่าคือความกตัญญู และอยากดูแลท่านให้ดีที่สุด เพราะไม่รู้จะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน และเมื่อพ่อแม่เสียชีวิตลง สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น สร้างผลกระทบร้ายแรงอย่างน่าตกใจ

“บางคนลาออกจากงานมาดูแลพ่อแม่เต็มตัว การดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงวัยตลอด 24 ชม. ไม่ใช่เรื่องง่าย กระทบทั้งร่างกายจิตใจ บางคนดูและจนตัวเองหมดไฟ แม้จะปะทะมีปากเสียงกับพ่อแม่ยังไง แต่ก็ลาออกจากงานดูแลนี้ไม่ได้อยู่ดี พอพ่อแม่ตาย ลูกก็เคว้งคว้าง กลายเป็นคนว่างงาน พี่น้องที่เคย support ก็ต่างแยกย้ายเกิด ‘สภาวะสูญากาศ’ อย่างแท้จริง และตามมาด้วยความเครียด วิตกกังวล และซึมเศร้าในที่สุด”

“ลองคิดดูว่า ในวันที่ลูกของบ้านอายุ 35 ปี กำลังเติบโตในหน้าที่การงาน แต่ต้องลากออกจากงานประจำมาดูแลพ่อแม่เต็มตัว พอผ่านไป 10 ปี พ่อแม่ตายจากไปหมดแล้ว เขาจะกลับไปทำงานในสังคมได้ยังไง ? หรือเริ่มต้นใหม่กับอาชีพยังไง ? ในวัยที่อายุมากแล้วและอ่อนล้าทั้งร่างกายและจิตใจ” 

ขอเป็นตัวช่วยคลายความกังวลใจ ไม่ใช่ใช้เงินแก้ปัญหา

นี่ถือเป็นปัญหาที่ จอย สะท้อนว่าเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย เป็นเหตุผลที่ทำให้มีลูกหลานจำนวนมากเลือกใช้บริการจอยไรด์ แต่จากที่เล่ามาทั้งหมดนี้ นั่นหมายความว่า เรากำลังเห็นว่าผู้สูงวัยกำลังเป็นปัญหาหรือเปล่า ? 

แต่จอยเน้นย้ำกับว่า ‘ไม่ใช่เลย’ 

“บางคนบอกว่าบริการของจอยไรด์คือการใช้เงินแก้ปัญหา นั่นหมายความว่าคุณมีทัศนคติว่าผู้สูงอายุเป็นปัญหา แต่เราคิดว่าผู้สูงอายุเป็นความกังวลใจของลูกหลานต่างหาก บริการของเราคือการคลายความกังวลใจในบ้านให้ต่างหาก เพราะจุดเริ่มต้นของคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงวัยต้องเริ่มตั้งแต่ที่บ้าน ไม่ใช่โรงพยาบาล”

อย่าด้อยค่าความสามารถผู้สูงวัย เมื่ออาหาร ‘รสมือแม่’ อาจกลายเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’

ประสบการณ์ที่ได้ใกล้ชิด คลุกคลีกับผู้สูงอายุของจอย ยังทำให้เห็นอีกเรื่องราวสำคัญ เมื่อพบว่า ผู้สูงอายุหลายคนยังมีศักยภาพอยู่มาก และการได้ ‘ทำงาน’ ช่วยลดความเบื่อหน่าย และเพิ่มคุณค่าให้ตัวเองได้ไม่น้อยเลย

“คนชอบมองว่างานของคนแก่ คือการนั่งสานตั๊กแตนเท่านั้นหรือเปล่า แต่จริง ๆ มัมมีอย่างอื่นที่ให้เขาได้ทำตามทักษะที่เขามีตั้งแต่วัยหนุ่มสาว ต้องเป็นงานที่ไม่ไปลดทักษะเขา หรืองานที่เขาไม่ได้สนใจ”

“เรามีผู้สูงอายุมาสมัครงานกับเราหลายคน บางคนจบปริญญาเอกจากเมืองนอก บางคนเป็นผู้บริหารระดับสูง หรือ บางคนลูกหลานก็มาสมัครให้เพราะไม่อยากให้พ่อแม่อยู่บ้านเฉย ๆ การเลือกงานที่เหมาะสมกับเขาจะทำให้เขาได้ใช้ทักษะและประสิทธิภาพที่มีได้อย่างสูงสุด”

จอยทำให้เรานึกถึง skill หนึ่งที่มักมีอยู่ในผู้สูงวัย นั่นคือ การทำอาหาร หลายบ้านมีเมนูประจำบ้านที่เป็นอาหาร ‘รสมือแม่’ หรือบางบ้านอาจมีกระทั่งสูตรยาแก้โรคเก่าแก่ประจำตระกูล ของดีที่มาจากภูมิปัญญาของผู้สูงวัยที่ซ้อนอยู่ก้นครัวนี้เองหรือเปล่าที่อาจกกลายเป็น Soft power ก็ได้

“บางบ้านอาจมีสูตรไข่พะโล้ฝีมือคุณย่าที่อร่อยมาก หรืออาจมีสูตรยากวาดคอแก้ร้อนในที่ใช้แล้วลูกหลานหายชะงัก สูตรลับของย่ายายพวกนี้รึเปล่าที่อาจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ มันอาจไม่ใช่กางเกงช้าง หรือเครื่องถ้วยลายครามแต่มันอยู่ในตัวของปู่ย่าตายายในบ้านเรานี้เอง เราอยากให้รัฐมองเห็นศักยภาพของคนธรรมดาอย่างผู้สูงวัย มากกว่าจะมองออกไปไกลตัว”

เตรียมแผนแต่เนิ่น ๆ ให้พร้อมก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างมั่นคง

จอย ยังอยากเห็นภาครัฐ ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุ เพราะนอกจาการสร้างรายได้แล้ว ยังช่วยให้เขามีคุณค่า การทำงานจะช่วยชะลอความเสื่อมถอยทั้งร่างกายจิตใจ แต่ควรอยู่ภายใต้การเข้าใจข้อจำกัดของคนแก่ด้วย แต่ต้องไม่เป็นงานที่ลดทอนศักยภาพของเขา

“การจ้างงานผู้สูงวัยจำเป็นต้องรู้ข้อจำกัด บางทีเขาต้องนอนกลางวัน บางทีเขาต้องไปรับหลานที่โรงเรียนตอนบ่าย ความยืดหยุ่นเป็นสิ่งสำคัญ อย่างในอเมริกา หรือแมกซิโก มีการจ้างงานผู้สูงอายุคอยหยิบของใส่ถุง เขาไม่มีเงินเดือน แต่อยู่ได้ด้วยทิปจากลูกค้า แต่ตอนนี้ ไทยยังไม่ได้มีวัฒนธรรมแบบนั้น

ในขณะที่ต่างประเทศจะมีการจ่ายภาษีค่อนข้างสูง ทำให้เมื่อประชาชนแก่ตัว รัฐสวัสดิการจะช่วยดูแลเขาได้แม้ไม่มีลูกหลาน และมีบริการเสริมอย่าง Elderly Companion Care ที่เป็นเหมือนเพื่อนสนิท คอยมาทำดูแล ทำอาหาร ทำความสะอาดบ้านและพูดคุย เป็นเหมือนลูกหลานที่ต้องไปเยี่ยมเยียนพ่อแม่ประจำสัปดาห์

“ในต่างประเทศมันสะดวกตั้งแต่การเดินทาง ทุกป้ายรถเมล์มีร้านสะดวกซื้อ ทำให้ผู้สูงมาทำงานได้ง่าย บางทีเป็นแค่การหยิบของใส่ถุงหรือจัดชั้นวางของ และทำงานเป็นกะ ด้วยการออกแบบระบบแบบนี้ทำให้เขาเดินทางง่าย ลดค่าใช้จ่าย และลดความเสี่ยงพลัดตกหกล้ม”

ท้ายที่สุด การปรับตัวเข้าสู่สังคมสูงวัย ไม่ใช่เรื่องของผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่วันนี้ทั้งเรื่องการเตรียมการเงิน สุขภาพ ไปจนถึงเรื่องการวางแผนในระยะท้าย

จอยเน้นย้ำถึงอีกสิ่งที่สำคัญมากคือ การวางแผนสุขภาพระยะท้าย หรือ Advance care planning (ACP) เมื่อวันที่เราอยู่ในการป่วยไข้ระยะท้าย ตัดสินใจเองไม่ได้แล้ว เราอยากให้พี่น้องจัดการอย่างไร ทั้งหมดนี้คือคุณภาพชีวิตในระยะท้ายที่ต้องวางแผน

“ไม่ได้แปลว่าวันนี้จะซื้อประกันสุขภาพแล้วจบนะ แต่มันต้องมองยาวไปถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต เราอยากจะใช้เวลาไปกับหมอและเตียงโรงพยาบาล หรือใช้ไปกับงานอดิเรกที่ชอบ สุขภาพที่ดีเกิดจากการสร้างอย่างมีวินัยตั้งแต่วันนี้ต่างหาก”

จอยฝากทิ้งท้าย

Author

Alternative Text
AUTHOR

ปุณยอาภา ศรีคิรินทร์

Transmedia Journalist

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

วราพร อัมภารัตน์