“มินิธัญญารักษ์” พร้อมไหม ? ย้ายผู้เสพจากคุก… มาอยู่ในโรงพยาบาล

หลังการแก้ไขประมวลกฎหมายยาเสพติดให้ “ผู้เสพคือผู้ป่วย” เมื่อปี 2564 นำมาสู่การร่างกฎกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่าด้วยการครอบครองยาบ้า ซึ่ง สธ. และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) มีความเห็นตรงกันว่าใช้เกณฑ์ถือครองขั้นต่ำกว่า 5 เม็ดถือเป็น  “ผู้เสพ” 

นั่นหมายความว่าหากใครถือครองยาบ้าต่ำกว่า 5 เม็ด ก็จะไม่ผิดกฎหมาย ไม่ต้องรับโทษอาญา แต่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บอกว่าต้องอยู่บนเงื่อนไข 3 ข้อ  นั่นคือ 1. สมัครใจรักษา 2. เข้าสู่กระบวนการรักษาจนครบ และ 3.ได้รับการรับรอง โดยย้ำถึงเจตนาของกฎหมาย มุ่งการบำบัดรักษาเพราะเห็นแล้วว่ามาตรการป้องกัน และปราบปรามอย่างเดียวไม่ได้ผล 

ปัจจุบันนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาลประกอบไปด้วย 3 เรื่องใหญ่ คือ 1. การป้องกัน 2. การปราบปราม และ 3. การบำบัดรักษาฟื้นฟู ซึ่งเป็นส่วนการรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข 

สำหรับที่มาของแนวคิดผู้เสพคือผู้ป่วย มาจากสถานการณ์ราชทัณฑ์ไทยที่ต้องเผชิญปัญหานักโทษล้นคุกมาตลอดช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำที่มากเป็นอันดับ 6 ของโลก ส่วนใหญ่เป็นนักโทษคดียาเสพติดถึง 75%

ย้อนไปในยุค อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนก่อน เคยมีแนวคิดกำหนดให้ผู้มียาบ้าเพียงเม็ดเดียวถือเป็น “ผู้ค้า” แต่ก็ถูกคัดค้านจากนักวิชาการว่าจะยิ่งเพิ่มผู้ต้องหาคดียาเสพติดเข้าไปในคุกอีกเป็นจำนวนมาก และเป็นการผลักภาระทางการพิจารณาไปที่ตำรวจและศาล 

ขณะที่ นพ.ชลน่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คนปัจจุบัน ปักธง “นโยบายผู้เสพคือผู้ป่วย” และจะต้องเพิ่มศักยภาพสถานบำบัดรองรับผู้เสพยา เป็นนโยบาย Quick Win ของกระทรวงสาธารณสุข สร้าง 1 จังหวัด 1 มินิธัญญารักษ์ในโรงพยาบาลชุมชน 

‘การบำบัด’ แก้ปัญหายาเสพติดได้จริงไหม ?

“เชื่อว่าถ้าเราให้โอกาสคนกลับเข้าสู่สังคมโดยผ่านกระบวนการบำบัดอย่างดี ก็จะเป็นการแก้ปัญหาที่น่าจะได้ผล” นพ.ชลน่าน คาดหวังว่าการบำบัดจะช่วยตัดวงจรยาเสพติดได้ 

แต่การบำบัดผู้เสพยาไม่ใช่เรื่องใหม่ มีในสังคมไทยมานานแล้ว พร้อมกับคำถามว่าการบำบัดมีประสิทธิภาพไม่ให้กลับไปเสพซ้ำได้มากแค่ไหน? เพราะที่ผ่านมาหลังพ้นไปจากการบำบัดกลับไปอยู่ในชุมชน ยังคงพบว่าเป็นปัญหาวนเวียน

ชุมชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่สีแดงมีปัญหายาเสพติดที่ยังไม่สามารถปราบปรามได้ หลายหลังคาเรือนที่นั่นมีสมาชิกในครอบครัวที่เป็นผู้เสพยา หนึ่งในนั้นคือ หญิงวัย 64 ปี ลูกของเธอเกือบทุกคนติดยาเสพติดยกเว้นคนโตซึ่งเป็นผู้พิการ เธอยอมรับว่าเคยส่งลูกไปบำบัดด้วยตัวเองและเคยปล่อยให้ตำรวจจับลูกที่เสพยาเข้าคุกแต่เมื่อกลับออกมาก็เสพซ้ำ เธอบอกว่า 

“นโยบายผู้เสพคือผู้ป่วยอาจจะไม่ได้ช่วยปราบปรามยาเสพติดเท่าไหร่นัก หากผู้ขายยังมีอยู่”

ผู้คนที่เดินไปเดินมาปะปนอยู่ในชุมชนแห่งนี้ มีผู้เสพยารวมอยู่ด้วย ชายคนหนึ่ง ลักษณะเป็นคนเร่ร่อน เก็บของเก่าขาย ยอมรับว่าเคยถูกส่งไปบำบัดในโรงพยาบาลธัญญารักษ์ จ.ปทุมธานี เป็นเวลา 1 เดือน แต่เมื่อกลับมาอยู่ในชุมชนแห่งเดิม เพียงได้กลิ่นเพื่อนบ้านเสพยาก็เกิดอาการอยากและกลับไปเสพซ้ำ ขณะที่การซื้อยาก็หาได้ง่าย มีผู้ขายแบ่งตามโซนและมีราคาถูกเพียงเม็ดละ  20 บาท โดยเขาจะซื้อมาเสพครั้งละ 2 เม็ด 

ณัฐวุฒิ ชิตชวนจิต

ณัฐวุฒิ ชิตชวนจิต เครือข่ายสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต ซึ่งทำงานขับเคลื่อนเพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชที่ตกหล่นในชุมชนเข้าถึงการรักษา บอกว่าชุมชนส่วนใหญ่จะมีลักษณะไม่พร้อมในการรองรับผู้เสพ เพราะแต่ละคนต้องทำมาหากิน แต่ก็ไม่ได้คัดค้าน “ผู้เสพคือผู้ป่วย” แต่อยากตั้งคำถามว่า สถานบำบัดฯ มีประสิทธิภาพและความพร้อมมากน้อยแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาพบกรณีตำรวจจับไปพูดคุยสอง 1-2 ชั่วโมง ก็ปล่อยกลับเข้าชุมชนเหมือนเดิม กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างระหว่างผู้เสพและคนในชุมชน และสร้างความหวาดกลัว  

จากคำบอกเล่าของคนในชุมชนก็พอจะเห็น ความท้าทายของประสิทธิภาพในการบำบัดผู้เสพยา ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ปี 2566 มีจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดราว 186,104 คน ในจำนวนนี้กลับไปเสพซ้ำถึง 107,183 คน หรือ คิดเป็น 57% เรียกได้ว่าเกินครึ่งที่ออกจากสถานบำบัดฯ แล้วก็กลับมาเสพซ้ำ 

รพ.ธัญญารักษ์ ต้นแบบบำบัดผู้เสพยา สู่… “มินิธัญญารักษ์”

ตามหลักการแพทย์ “ผู้ป่วยจิตเวช” เหมือนป่วยเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด” ยิ่งมีโอกาสที่จะกลับไปเสพซ้ำกระบวนการในการบำบัดจึงมีทั้งในส่วนของ “การรักษา” และ “การฟื้นฟู” ซึ่งเป็นกระบวนการทางสังคมเพื่อให้กลับเข้าไปสู่ในชุมชนแล้วก็ไม่ให้เสพซ้ำ

โรงพยาบาลธัญญารักษ์​ จ.ปทุมธานี  เป็นสถานที่บำบัดผู้เสพยาที่ใหญ่ที่สุดของไทย มีศักยภาพรองรับได้ 600-700 เตียง มีผู้ป่วยหมุนเวียนไม่ขาด ขณะที่ผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่สามารถเข้ารับการฟื้นฟูได้ จะถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวช เช่น โรงพยาบาลศรีธัญญา หรือ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา

กระบวนการรักษาเริ่มจากการจำแนกระดับความรุนแรงของอาการป่วย ซึ่งผู้ป่วยจากการใช้ยาเสพติดหลายคนมักมีอาการคลุ้มคลั่งหลังเข้ารับการบำบัดในระยะแรก การใช้ยาฉีดเพื่อระงับอาการทางจิตเป็นสิ่งที่ได้ผลมากที่สุด 

ลักษณะของหอผู้ป่วยที่นี่จะแตกต่างจากหอผู้ป่วยโรคอื่น มีการล็อกประตูอย่างแน่นหนาสองชั้น เพื่อป้องกันผู้ป่วยหลบหนีจากการบำบัด

การบำบัดอาการป่วยจิตเวชจากยาเสพติดใช้เวลาเป็นเดือน ในระยะแรกเน้นบำบัดด้วยการใช้ยาเพื่อลดความต้องการใช้สารเสพติด ระยะเวลาในการรักษาจะมากหรือน้อยต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล แต่ภายหลังจากที่ผู้ป่วยอาการดีขึ้นจะเข้าสู่กระบวนการ “ฟื้นฟู”

กระบวนการการฟื้นฟูจะเน้นที่การพูดคุย แสดงออกถึงการรับฟัง และเข้าใจ พร้อมเน้นฝึกอาชีพเพื่อให้สามารถกลับไปอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมได้ ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะกลับไปเป็นผู้เสพซ้ำ

ปัจจุบัน “โรงพยาบาลธัญญารักษ์” มีจำนวน 6 แห่ง กระจายอยู่ในทุกภาค ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะรองรับ ดังนั้น นโยบาย “1 จังหวัด 1 มินิธัญญารักษ์” จะนำรูปแบบการบำบัดจากที่นี่ไปปรับใช้ โดยการตั้งหอผู้ป่วยแยกออกมาอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน และสามารถรับผู้ป่วยจากการเสพยาเป็นผู้ป่วยในได้ เพื่อให้การรักษาทั้งแบบระยะกลางและระยะยาว

สถานที่บำบัดมีเพียงพอ กับจำนวนผู้เสพ ?

เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้เสพยา กับจำนวนเตียงในสถานบำบัดฯ จากการให้สัมภาษณ์ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อ เดือนพฤศจิกายน 2566 ระบุว่าจำนวนสะสมของผู้ใช้ ผู้เสพ และผู้ที่ติดยาเสพติดแล้วมีกว่า 1.5 ล้านคน 

ขณะที่จำนวนเตียงรองรับผู้เสพคือผู้ป่วยขณะนี้มีอยู่ประมาณ 11,500 เตียง แบ่งเป็น

  • สบยช. (โรงพยาบาลธัญญารักษ์ จ.ปทุมธานี) 670 เตียง
  • โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ 350 เตียง 
  • โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน 90 เตียง 
  • โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น 240 เตียง 
  • โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี 120 เตียง 
  • โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา 220 เตียง 
  • โรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี 120 เตียง 

มีโรงพยาบาลชุมชนประสงค์จัดตั้ง “มินิธัญญารักษ์” 146 แห่ง รองรับผู้ป่วยยาเสพติดได้1,957 เตียง และหอผู้ป่วยจิตเวชทุกจังหวัดอีก 7,796 เตียง โดยในเดือนธันวามคม2566 มี “มินิธัญญารักษ์” ในโรงพยาบาลชุมชนแล้วจำนวน 47 แห่งใน 28 จังหวัด ซึ่งตามแผนควิกวินจะต้องมีครบทุกจังหวัดภายใน 100 วันนับจากเดือนพฤศจิกายนนี้ 

ส่วนช่องทางการรับผู้เสพเข้ารับการบำบัด

  1. ตำรวจส่งมาโดยส่งตรง
  2. ครอบครัว Walk in เข้ามา
  3. ได้รับการส่งต่อจากโรงพยาบาลอื่น 

ด้าน รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) มองว่าหากรัฐมีนโยบายเช่นนี้ออกมาจำนวนผู้ต้องโทษคดียาเสพติดก็จะลดลง แต่ในขณะเดียวกันจำนวนของผู้ที่ต้องเข้าสู่ระบบการบำบัดก็จะเพิ่มมากขึ้น จึงต้องเพิ่มระบบการบำบัดให้มีเพียงพอและทั่วถึงไป ทั้งนี้เป็นห่วงเรื่องภาระงานบุคลากรที่ต้องแบ่งมาดูกลุ่มผู้ป่วยจากยาเสพติดซึ่งอาจจะกระทบกับการดูแล โรคอื่น ๆ 

ย้อนกลับไปผลจากประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่มีการปรับปรุงใหม่ใน พ.ศ. 2564 กำหนดผู้เสพคือผู้ป่วย ทำให้จำนวนผู้ต้องขังคดียาเสพติดลดอย่างเห็นได้ชัด 

  • ปี 2561 มีผู้ต้องขังคดียาเสพติด 245,080 คน
  • ปี 2562 มีผู้ต้องขังคดียาเสพติด 251,840 คน
  • ปี 2563 มีผู้ต้องขังคดียาเสพติด 231,153 คน
  • ปี 2564 มีผู้ต้องขังคดียาเสพติด 203,862 คน*
  • ปี 2565 มีผู้ต้องขังคดียาเสพติด 183,355 คน 
  • ปี 2566 มีผู้ต้องขังคดียาเสพติด 180,896 คน

ข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ย. 2566 ที่มา: กรมราชทัณฑ์ 

อย่างไรก็ตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่า จำนวนผู้เข้ารับการบำบัดผู้ติดยาเสพติดทั้งประเทศ ก่อนหน้าปี 2564 มีมากกว่า หลังแก้ประมวลกฎหมายยาเสพติด “ผู้เสพคือผู้ป่วย” แต่ก็เริ่มเห็นแนวโน้มมีผู้เข้ารับการบำบัดมากขึ้น 

  • ปี 2652 มีผู้เข้ารับการบำบัดผู้ติดยาเสพติด 263,834 คน
  • ปี 2563 มีผู้เข้ารับการบำบัดผู้ติดยาเสพติด 222,627 คน
  • ปี 2564 มีผู้เข้ารับการบำบัดผู้ติดยาเสพติด  179,619 คน
  • ปี 2565 มีผู้เข้ารับการบำบัดผู้ติดยาเสพติด 120,915 คน
  • ปี 2566 มีผู้เข้ารับการบำบัดผู้ติดยาเสพติด 186,104 คน

ข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ย. 2566 ที่มา: กระทรวงสาธารณสุข 

กำลังคน ถือเป็นอีกส่วนสำคัญในการดำเนินการตามนโยบายที่ได้มีการวางเอาไว้บุคลากรจะที่เข้ามาดูแลผู้ป่วยจากยาเสพติดจะมีเพียงพอหรือไม่ นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผอ.สบยช. ยอมรับมีความตึงตัว แต่มีการบริหารจัดการเพิ่มกรอบเพิ่มตำแหน่งไปแล้วในบางแห่ง และเร่งอบรมบุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขาวิชาชีพ เพื่อให้มีความรู้ในการดูแล บำบัด รักษา และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดได้ รวมทั้งพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาจากจิตแพทย์ อายุรแพทย์ และแพทย์เฉพาะทางอื่นไปพร้อมกัน

“เราขยายเตียงแล้วจากนโยบายนี้ การขยายเตียงก็มีข้อจำกัดเรื่องกรอบอัตรากำลังแต่จะไม่ลดทอนการบำบัดและการฟื้นฟู” 

นพ.สรายุทธ์ กล่าว

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ ย้ำว่าชุมชนจะมีบทบาทสำคัญ ที่จะส่งเสริมกลไกการดูแลทางสังคม และจิตใจ ซึ่งยังจำเป็นที่ต้องแสวงหาความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งจากฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายปกครองในพื้นที่ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้มีภาคส่วนจากท้องถิ่นเข้ามาช่วยสนับสนุน และทำงานกันอย่างเต็มที่ 

แม้สถานบำบัดผู้เสพจากยาเสพติดเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายผู้เสพคือผู้ป่วย แต่ย้ำว่าการเสพติดก็เหมือนอาการป่วยของโรคเรื้อรังที่อาจต้องรักษาต่อเนื่อง เพราะผู้ป่วยก็มีโอกาสที่จะหันกลับไปเสพซ้ำ “ประสิทธิภาพของสถานบำบัด” และ “ความร่วมมือจากชุมชน” จึงเป็นโจทย์ท้าทายทั้งคู่ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS