คนพิการมีสิทธิ์ไหมคะ? ปริญญาก็มี แต่ไม่มีงานทำ

ปัจจุบันไทยมีคนพิการราว ๆ 2 ล้านคน หรือคิดเป็น 3% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ ในจำนวนนี้อยู่ในวัยทำงาน กว่า 8 แสนคน แต่มีคนพิการเพียงแค่ 3 แสน หรือราว 36% เท่านั้นที่มีงานทำ แปลว่ายังมีคนพิการอีกจำนวนมากที่ยังไม่มีงานทำ

แม้ว่าไทยจะมีกฎหมาย พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ที่สนับสนุนให้เกิดการจ้างงานก็ตาม ได้แก่

  • มาตรา 33 ระบุว่า ให้สถานประกอบการและหน่วยงานรัฐ ที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป ต้องรับคนพิการที่สามารถทำงานได้เข้าทำงานและมีการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ในอัตรา ร้อยละ 1
  • มาตรา 34 หากไม่มีการจ้างก็ให้ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นรานปี (ยกเว้นหน่วยงานรัฐ) และทางเลือกที่ 3 คือ
  • มาตรา 35 สถานประกอบการให้สัมปทาน คือการจัดสถานที่ การจ้างเหมาช่วง หรือสนับสนุนประโยชน์อื่นใด เพื่อช่วยเหลือให้คนพิการมีงานทำ

แต่ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พบว่า ในปี 2566 มีจำนวนสถานประกอบการที่ต้องจ้างงานทั้งหมด 14,456 แห่ง มีการจ้างงานหรือปฏิบัติตามเงื่อนไขของ มาตรา 33, 34 และ 35 ดังกล่าวข้างต้นแล้ว 56,800 คน แต่ยังมีที่ต้องจ้างเพิ่มอีก 11,068 คน ทั้ง ๆ ที่คนพิการจำนวนไม่น้อยมีวุฒิการศึกษาแต่กลับไม่มีงานทำ

จะทำอย่างไรให้คนพิการที่ยังถูกมองข้ามอีกนับหมื่นคน ‘มีงานทำ’ นี่คือประเด็นคำถามที่นำมาสู่งาน Hack Hug Hug Hackathon เพื่อคนพิการ ที่ ไทยพีบีเอส เพื่อชวนภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และตัวแทนคนพิการ ร่วมระดมความคิดเห็น และข้อเสนอเพื่อส่งเสริมการจ้างงานให้เพิ่มขึ้น และบทความชิ้นนี้จะช่วยสรุปว่า 8 ทีม ที่เข้าร่วมกิจกรรม เสนอแนวคิดที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง…

ทีม 1 โจทย์เพิ่มอัตราการจ้างงานภาคเอกชน ม.33

เสนอแนวคิด “มหาวิทยาลัยตามสั่ง” สร้าง Ability Employment ผลักดันให้มีการปรับหน้าให้เหมาะสมกับสมรรถนะของผู้พิการ ขณะเดียวกันข้อมูลปัญหาเชิงลึกพบว่า ส่วนหนึ่งคือคนพิการยังไม่มีความรู้เพียงพอที่จะทำงาน ขาดทักษะบางประการ กับอีกส่วนคือคนพิการที่มีวุฒิการศึกษาปริญญาตรี แต่ก็ยังไม่มีงานเช่นเดียวกัน เนื่องจากยังไม่เจอผู้ประกอบการที่เปิดโอกาสให้ หรือสถานประกอบการที่ต้องการจ้างงานแต่ยังหาคนพิการที่มีทักษะตรงความต้องการไม่ได้

“เราต้องการส่งเสริมโครงการจ้างงานคนพิการกระแสหลักให้สามารถจ้างงานได้ทันที โดยสิ่งที่ต้องพัฒนาคือช่องว่างทางทักษะ เติมเต็มด้วยการทำงานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย เน้นที่ไปความสามารถและทักษะในโลกดิจิทัล เรื่องของสิ่งแวดล้อม เพื่อนร่วมงานหัวหน้างาน ก็มีส่วนอย่างมาก ดังนั้น ต้องทำให้ที่ทำงานยอมรับความแตกต่าง เปิดรับความเท่าเทียม การจ้างงานอาจจะมีรูปแบบใหม่ ๆ เป็นกิ๊กเวิร์กเกอร์ได้ อยากให้เอกชนเห็นว่าการจ้างงานเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมที่ทุกคนต้องมี และเชิดชูยกย่ององค์กรที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้”

นอกจากนี้ยังสามารถสร้างศูนย์บริการคนพิการจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั้ง 47 แห่ง ทั่วประเทศไทย ซึ่งมีนักศึกษาที่เป็นคนพิการอยู่ในมหาวิทยาลัยประมาน 3,000 คน ที่พร้อมเข้าทำงานใน ม.35 ได้เลยและถ้าเรียนจบแล้วก็สามารถที่จะขยับเป็น ม.33 ได้ต่อเนื่อง ในส่วนขององค์กรที่รับคนพิการเข้าทำงานแล้ว ก็จะมีแนวทางที่เข้าไปพัฒนาทักษะองค์ความรู้ให้คนพิการต่อนเนื่อง มีการการันตีความสามารถต่าง ๆ ผ่านในรับรองมาตรฐานเพื่อเป็นต่อให้การทำงานที่ต่าง ๆ

“เชื่อว่าถ้าทำได้ดังนี้ 1. จะสามารถยกระดับทักษะคนพิการได้ 2. สร้างความเท่าเทียมให้กับคนพิการในการทำงาน 3. เพิ่มการจ้างงาน ม.33 ให้ได้ 50% ใน 3 ปี ขอให้คำมั่นจากความร่วมมือของภาคีที่มั่นคงสู่การจ้างงานที่ยั่งยืน ประกอบด้วยตัวแทนสภาการศึกษา ตัวแทนจากองค์กรเอกชน ตัวแทนจากบัณฑิตพิการ และองค์กรภาคประชาชน ว่าเราจะช่วยกัน เติมทักษะ เติมการจ้างงาน เติมความเท่าเทียม เติมใจให้กัน เพื่อคนพิการมีงานทำ”

ทีม 2 โจทย์เพิ่มอัตราการจ้างงานในภาคเอกชนมาตรา 33

ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยที่เปิดรับนักศึกษาพิการเข้าศึกษามากถึง 147 แห่ง ทำให้มีนักศึกษาพิการสามารถเรียนร่วมในมหาวิทยาลัยได้เป็นจำนวนมาก โดยมีความร่วมมือของ DSS (Disability Support Service) หรือศูนย์บริการสนับสนุนนักศึกษาพิการในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ คอยช่วยอำนวยความสะดวก ซึ่งทางเราอยากจะทำโมเดลการทำงานดังกล่าวมาพัฒนาสนับสนุนให้สถานประกอบการรับคนพิการเข้าไปทำงานได้ เรียกว่า DSD (Disability Support & Development) ทำหน้าที่ในการสนับสนุนและพัฒนาคนพิการในสถานประกอบการให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข กลุ่มเป้าหมายคือผู้ประกอบการที่ยังไม่เคยและไม่กล้าจ้างงานคนพิการในมาตรา 33 อีกกลุ่มคือคนพิการที่ใฝ่ฝันจะทำงานในองค์กรผ่านมาตรา 33 โดยจะประสานให้สองกลุ่มนี้ได้ทำงานร่วมกัน และทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้นในภาพรวม

“DSD (Disability Support & Development) จะเป็นหน่วยงานที่เข้าไปอยู่ในสถานประกอบการ เพื่อดูแลคนพิการที่เข้ามาทำงานในสถานประกอบการ ตั้งแต่การหาความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการรับคนพิการเข้ามาทำงานตามมาตรา 33 ให้ได้บัณฑิตที่ตรงความต้องการของสถานประกอบการ ร่วมออกแบบลักษณะงาน และมีหลักสูตร มีการวางแนวทางฝึกคนให้คนพิการมีศักยภาพทำงานได้ จัดสรรให้ได้ทำงานที่เหมาะสมกับตำแหน่ง สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงานร่วมกันระหว่างคนพิการ และคนทั่วไป รวมไปถึงการดูแลความสะดวกในเชิงโครงสร้างพื้นที่ เครื่องใช้สำนักงานให้สามารถรองรับคนพิการได้ และเราจะมีการประเมินผลประสิทธิภาพการทำงานของคนพิการในองค์กรด้วย”

ถ้า DSD เกิดขึ้น สิ่งแรกจะเป็นผลตามมาคือช่วยลดรายจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ให้กับสถานประกอบการ เช่น ถ้าผู้พิการ 10 คน หักภาษีได้ 200% ทำให้คนพิการสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ และสร้างรายได้เพิ่มจากการทำงานให้กับองค์กร เป็นตัวอย่างให้กับสถานประกอบการอื่น ๆ ในการที่จะทำตาม

ทีม 3 โจทย์ส่งเสริมการมีงานทำโดยภาครัฐ มาตรา 35

คนทั่วไปว่าหางานยากแล้ว คนพิการหางานยากกว่า เมื่อวิเคราะห์ว่าทำไมคนพิการถึงหางานยาก ได้คำตอบว่า 1.อึดอัด จากการที่คนในองค์กรไม่รู้วิธีปฏิบัติตัวต่อคนพิการ ได้งานที่ไม่ตรงความถนัด 2.อดทน กับการที่ต้องตอบคำถามว่า คนพิการทำอะไรได้บ้าง และ 3.อดตาย จากการที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตสูงกว่าคนทั่วไป บางครั้งต่อให้มีงานทำ ก็ยังไม่เพียงพอต่อปัจจัยครองชีพ ซึ่งส่วนราชการควรที่จะมีการจ้างงานตามมาตรา 35 แต่พบว่ามีอุปสรรคหลักคือ 1.ไม่รู้ ว่าคนพิการแต่ละประเภทสามารถทำอะไรได้บ้าง เนื่องจากไม่มีฐานข้อมูลที่จะเชื่อมต่อความรู้หรือติดต่อกัน 2.ไม่จ้าง ถึงแม้ว่าจะมีพื้นที่ โอกาส ศักยภาพ เพราะไม่รู้ว่าหน่วยงานของตนมีความพร้อมที่จะรองรับคนพิการแบบใด 3.ไม่มีเงิน รอการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“กระบวนการขับเคลื่อนการจ้างงานคนพิการโดยรัฐที่ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมาก อย่างแรกคือกระทรวงแรงงาน กรมส่งเสริมการจ้างงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มหาวิทยาลัยต่างๆ เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมสร้างมุมมองทัศนคติที่จะทำให้คนทั่วไปทำงานร่วมกับคนพิการได้ มีมุมมองที่ดี มุมมองที่เกิดความเข้าใจในการทำงานร่วมกับคนพิการได้มากขึ้น แล้วอะไรบ้างที่หน่วยงานภาครัฐสามารถทำได้ เช่น การสัมปทาน ตลาดนัด ศูนย์อาหาร ผลิตภัณฑ์ สินค้าคนพิการ จ้างเหมาคนพิการ นโยบายพัสดุสนับสนุนคนพิการ”

ทีม 4 โจทย์ลดการจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ คนพิการ มาตรา 34

พื้นที่ตัวอย่าง จังหวัดระยองพบว่ามีการจ้างงานคนพิการ (ม.33) 1,161 ราย ส่งเงินเข้ากองทุน (ม.34) 898 ราย และให้สัมปทาน (ม.35) 410 ราย ในแง่หนึ่งวิเคราะห์ว่าเพราะสถานประกอบการส่วนใหญ่เป็นต่างชาติลงทุน อาจจะไม่เข้าใจในกฎหมาย ความยุ่งยากซับซ้อน ของบริบทการจ้างงานคนพิการในมาตราต่างๆ หรือแม้แต่การเข้าถึงคนพิการที่มีศักยภาพเหมาะกับการจ้าง ที่ผ่านมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพยายามเข้าไปประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในสถานประกอบการต่างๆ ปรับทัศนคติ ความเข้าใจ และรับข้อเสนอแนะว่าควรจะมีหน่วยงานที่รับดูแลเรื่องนี้อำนวยความสะดวกให้สถานประกอบการโดยตรง

จึงเกิดแนวคิดการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการจ้างงานคนพิการ (one stop service) เพื่อช่วยดำเนินการเรื่องเอกสาร รวบรวมฐานข้อมูลคนพิการทั้งจังหวัดไว้ในที่เดียว โดยบูรณาการร่วมกันกับหลายหน่วยงาน วิเคราะห์ข้อมูลที่จะทำให้เห็นรายละเอียดของคนพิการ เช่น ศักยภาพ ความพร้อม ความต้องการ เพื่อเชื่อมต่อการจ้างงาน ขณะเดียวกันสถานประกอบการจะได้รับการสนับสนุนให้การจ้างงานคนพิการเป็น CSR หรือการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของสถานประกอบการ ของสถานประกอบการ มีการทำ MOU ความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันให้เกิดโมเดลแบบนี้ในทุกจังหวัด

“ในประเทศไทยอาจจะมีคนพิการอยู่ในจังหวัดที่มีสถานประกอบการจำนวนน้อย ยากที่จะเข้าถึงมาตรา 35 จึงเสนอเป็นนโยบายให้ปรับแก้มาตรา 35 โดยเปลี่ยนจากการดำเนินงานของสถานประกอบการ มาเป็นทำหน้าที่ของคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประจำจังหวัดทุกจังหวัด ที่จะให้การตรวจสอบ กลั่นกรอง และให้มีการปรับระเบียบกองทุนให้สามารถจัดสรรงบประมาณเป็นการจ้างเหมาบริการ หรือเป็นทุนประกอบอาชีพอิสระได้ เพื่อให้คนพิการไม่ต้องรอการเข้าถึงสถานประกอบการ”

ทีม 5 โจทย์ลดการจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ คนพิการ มาตรา 34

การทำเอกสารที่ยุ่งยาก ระบบล่ม เป็นเสียงสะท้อนจากทั้งนายจ้าง ลูกจ้างคนพิการ หรือเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานเองก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แม้ว่ารัฐจะมีระบบ e-service หรือ การให้สิทธิ์ รับสิทธิ์ ตามมาตรา 35 แล้วก็ตามแต่ยังพบว่าไม่ได้ช่วยอำนวยความสะดวกเท่าที่ควร จึงเสนอให้มีการพัฒนาระบบเดิมเป็น new e-service เพื่อความสะดวก รวดเร็ว คล่องตัวในการเดินเอกสาร โดยเป็นการพัฒนาระบบการตรวจสอบข้อมูล ให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลหลังบ้าน ที่จะไม่ต้องส่งเอกสารที่ซ้ำซ้อน และลดเอกสารที่ไม่จำเป็น เมื่อพัฒนาระบบแล้วจะใช้เวลาในการทดสอบการใช้งาน เทรนด์ให้ผู้ใช้ได้ทดลอง และเรียนรู้การใช้ระบบให้มีประสิทธิภาพ

“ระบบต่อสัญญารายเดิม คลิปเดียวจบ ตรวจสอบเอกสาร ด้วยระบบ AI ให้การกรอกข้อมูลไม่ยุ่งยากอีกต่อไป และการตรวจสอบสิทธิด้วยวิดีโอ เจ้าหน้าที่ไม่ต้องลงพื้นที่เหมือนเดิม เชื่อว่าเราสามารถทำได้ถ้ามีเครือข่ายช่วยเหลือสนับสนุนการพัฒนาระบบของเรา… ทำง่าย ทำได้ ไม่ต้องรอ เพื่อให้เกิดการจ้างงานที่มากขึ้นด้วยระบบการเดินเอกสารที่ไม่ยุ่งยากอีกต่อไป”

ทีม 6 โจทย์ลดการจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ คนพิการ มาตรา 34

ตั้งเป้าเพิ่มอัตราการจ้างงาน 4,000 คน ด้วยการเปิดเวทีให้ผู้บริหารบริษัทต่างๆ ได้นัดพบกับภาคีคนพิการ เครือข่ายสนับสนุนการจ้างงาน ตัวแทนคนพิการ รัฐมนตรี ปลัด ผู้ว่าฯ​ ในพื้นที่ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกระชับความสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจในการทำงานร่วมกัน ในส่วนของการจ้างงาน จะมีการประสานความร่วมมือให้ภาคีที่ทำงานเกี่ยวกับคนพิการมาช่วยบริษัทในการทำเรื่องจ้างตามมาตรา 35 หรือมาตรา 33 ทั้งในส่วนของการเตรียมคนพิการตามที่บริษัทต้องการ การอำนวยความสะดวกในการยื่นขออนุญาตกับหน่วยงานรัฐ และช่วยติดตาม รายงานผลการจ้างงานระหว่างปี ทั้งนี้ยังมีผลักดันให้มีการขยายระยะเวลาในการขอใช้สิทธิ์จ้างคนพิการในมาตรา 35 ได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 จากเดิมที่เคยส่งได้ถึงช่วงปลายปีเท่านั้น

“สำหรับบริษัทที่ส่งเงินเข้ากองทุนตามมาตรา 34 ต้องมีมาตราการอื่นๆ ร่วมด้วย คือนอกจากการส่งเงินแล้วต้องทำแผนการเตรียมจ้างงานในอนาคต ทั้งในรูปแบบของมาตรา 33 และมาตรา 35 แล้วส่งมาให้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อแสดงให้เห็นแนวโน้มในการจ้างงานในอนาคต หากทำไม่เป็นจะเรียกภาคีให้ไปช่วยก็ได้ หรือหากบริษัทไหนที่จ้างในอัตราน้อยไม่ถึงครึ่งหนึ่งของโควต้าที่มี ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี น่าจะต้องขึ้นราคาการส่งเงินเข้ามาตรา 34, 35 ประการถัดมาคือการขอความร่วมมือ BOI กำหนดเงื่อนไขบริษัทให้ส่งเสริมการจ้างงานให้ครบ 100% หากไม่ครบให้ลดสิทธิประโยชน์ 1 ปี สุดท้ายคือให้บริษัทที่มีความพร้อมสามารถจ้างงานคนพิการแทนได้เหมือนการจ่ายคาร์บอนเครดิต”

ทีม 7 โจทย์สร้างทางเลือก-อาชีพอิสระแก่คนพิการ

คนพิการด้านสมองและพัฒนาการ มีลักษณะเฉพาะของตัวเองต้องอยู่ร่วมกับคนที่มีความเข้าใจเขา แต่หลายคนก็มีศักยภาพในการทำงาน สามารถผลิตงานที่เกิดจากภูมิปัญญา วัฒนธรรม วิถีชีวิต เช่น การงานฝีมือ จิตรกรรม เย็บผ้า หากต้องการจะอุดหนุนมีใครรู้บ้างว่าพวกเขาอยู่ตรงไหน ดังนั้นต้องใส่ข้อมูลของคนพิการที่มีอาชีพอิสระเหล่านี้ เข้าไปในฐานข้อมูลของศูนย์บริการคนพิการ สภาคนพิการทุกประเภท และหน่วยจัดหางานจังหวัด

“เมื่อได้รับการสนับสนุนให้เกิดงานอาชีพ ผ่านมาตรา 35 แล้ว โจทย์ต่อไปคือจะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน หากบริษัทยังไม่มีความรู้เราก็มีองค์กรที่จะสนับสนุนให้คำปรึกษา ให้บริการคนพิการประจำจังหวัด ผ่านสภาคนพิการ มหาวิทยาลัยต่างๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถมาช่วยพัฒนาคนพิการที่ได้รับการจ้างงานให้พัฒนาตนเป็นผู้ประกอบการได้ในอนาคต กระทั่งสามารถที่จะตั้งเรื่องขอการสนับสนุนเงินคนพิการ เพื่อต่อยอดทำธุรกิจต่อไป อาจยกระดับจากธุรกิจส่วนตัว เป็นธุรกิจชุมชน หรือธุรกิจเพื่อสังคมต่อไปได้ แบบนี้จะเป็นการสนับสนุนที่ทำให้เกิดความยั่งยืน ไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้เพียงแต่ขอให้หน่วยงานประจำจังหวัดจัดทำฐานข้อมูลให้จริงจังแล้วทำให้คนเหล่านี้มีที่ยืนในสังคม”

ทีม 8 โจทย์สร้างทางเลือก-อาชีพอิสระแก่คนพิการ

มีคนพิการเพียง 10% เท่านั้นที่ได้รับการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาและมีคุณวุฒิเพียงพอที่จะอยู่ในระบบแรงงาน หรือคนพิการอีกกว่า 5 แสนคนในวัยแรงงานยังไม่ได้มีโอกาสถูกจ้างงานในมาตรา 33 หรือมาตรา 34 อย่างไรก็ตามคนพิการก็อาจจะมีสิ่งที่ตัวเองอยากทำ สิ่งที่อยากได้รับการสนับสนุน

คำถามแรกที่ต้องตอบคือ คนพิการทำอะไรได้บ้าง? แล้วคนพิการที่มีศักยภาพอยู่ตรงไหน? บริษัทจะให้พื้นที่โอกาสคนพิการได้อย่างไร? หากภาคธุรกิจลงทุนให้คนพิการแล้วเขาจะได้อะไร? และสิ่งสำคัญที่สุดคือสังคมต้องก้าวข้ามความรู้สึกด้านลบที่มีต่อคนพิการ และไม่ตีกรอบความสามารถให้คนพิการ จนกลายเป็นมายาคติที่สร้างข้อจำกัดให้คนพิการไม่กล้าแสดงศักยภาพที่แท้จริงของพวกเขา

แนวทางข้อเสนอ 1. บ่มเพาะความรู้ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับคนพิการ 2. เปิดพื้นที่แสดงศักยภาพให้กับคนพิการไม่ว่าจะเป็นการให้พื้นที่แสดงสินค้าหรือบริการ 3. เพิ่มเครือข่ายคนพิการ 4. เพิ่มพื้นที่แสดงความสามารถ เช่น จัดงานแฟร์ผลงานคนพิการ และ 5. เชื่อมโยงแนวร่วมคนพิการ จับคู่งาน ส่งเสริมการลงทุน ผ่านมาตรา 35 ทั้งหมดนี้เรียกว่า dEcosystem

“เริ่มจาก 1. d เปลี่ยนจาก Disability เป็น The Ability พัฒนาทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำงาน เช่น ทักษะการบริหารจัดการงาน 2. มีระบบ digital service พื้นที่รวมข้อมูลคนพิการในลักษณะ profile protfolio ตัวอย่างผลงาน และเป็นพื้นที่รวบรวมคนพิการตัวอย่างเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนพิการคนอื่น ๆ 3. สิ่งดี ๆ มีการจัดให้นำเสนอโครงการเพื่อขับเคลื่อนส่งเสริมคนพิการ เปิดพื้นที่ร่วมลงทุนสนับสนุนคนพิการเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจ และเป็นแหล่งให้ผู้ประกอบการเฟ้นหาคนพิการได้เช่นกัน”

ผลกระทบทางสังคมจากโครงการของเราไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะคนพิการที่ไม่มีงานทำเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนพิการทุดคนมีโอกาสได้พัฒนาทักษะ แสดงศักยภาพ มีความพร้อมในการสร้างรายได้ด้วยตัวเอง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้