“ปีศาจ” ก่อนศิลปะและสัญญะจะถูกอุ้มหาย : ศิลปะนานาพันธุ์​ 45 ปี 6 ตุลา

สวนเล็ก ๆ ใจกลางเมืองหลวงของประเทศไทย ในย่านที่มีตึกรามบ้านช่องและร้านอาหารเรียงราย ขึ้นชื่อว่าค่าครองชีพสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ อย่างทองหล่อ ซอย 3 กรุงเทพมหานคร มีนิทรรศการ “ศิลปะนานาพันธุ์” ซ่อนตัวอยู่

เป็นการจัดครั้งที่ 28 ในปี 2564 ช่วงของการรำลึก 45 ปี 6 ตุลา

เราหามุมเล็ก ๆ ในสวนเพื่อพูดคุยที่มาที่ไป จนกว่าจะออกมาเป็นนิทรรศการนี้

“เบลซ” สุพศิน กรีเจริญ เด็กจบใหม่ จากมหาวิทยาลัยกลางกรุง เป็น Art Director ผู้สรรสร้างงานนิทรรศการ ศิลปะนานาพันธ์ 45 ปี 6 ตุลา ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก หนังสือเรื่อง ปีศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นพระเอกของนิทรรศการครั้งนี้

“ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลา ที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที”

สาย สีมา ตัวละครในเรื่องปีศาจ กับประโยคทองที่ยังถูกอ้างอิงในปัจจุบัน

เขาเริ่มบทสนทนาด้วยการทำความรู้จักตัวบุคคลและตัวงาน ถ้าจะเรียกว่า ศิลปะนานาพันธุ์ ตอน ปีศาจแห่งการเวลา ก็น่าจะได้ ประจวบเหมาะกับวาระครบรอบ 45 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อีกด้วย

เบลซ เล่าว่า เดิมที อาจารย์สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย เจ้าของโครงการเป็นคนริเริ่ม เขารู้สึกว่าอยากได้คนรุ่นใหม่มาทำต่อ เพราะเขามองว่าหากรุ่นเขาทำต่อไปเรื่อย ๆ มันจะไม่ดึงดูดคนรุ่นใหม่

ก่อนจะกลายมาเป็นผู้จัดงานนี้ เขาคือหนึ่งในคนตัวเล็ก ๆ ที่ไปร่วมฟังและสังเกตการณ์เก็บข้อมูลในการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้งในช่วงปีที่ผ่านมา และนั่นเป็นอีกหนึ่งจุดที่เป็นแรงเคลื่อนและตัดสินใจให้เขาเลือกก้าวมาอยู่ ณ จุดนี้

“ผมรู้สึกว่าในการจัดนิทรรศการนี้ ผมต้องพูดอะไรได้มากกว่าการที่ผมไปม็อบ หมายถึงว่ามันต้องมีข้อความบางอย่างที่ลึกซึ้งกว่าการไปม็อบ  คือ ม็อบก็มีการใช้สัญญะใช้ ศิลปะเยอะมากอยู่แล้ว ในการเขียนป้ายหรือคำด่าเองก็ตาม ผมเลยเอามันมาคิดต่อว่าแล้วถ้ามากกว่านั้น ผมต่อยอดมันได้ยังไงบ้าง”

กว่าจะเป็น ศิลปะนานาพันธุ์ 45 ปี 6 ตุลา

“จริง ๆ เรื่องสเกลงาน เราไม่ได้มีความกังวลเท่าไร แต่เราจะกังวลเรื่องการเมืองในสิ่งเหล่านี้มากกว่า เพราะจริง ๆ แล้วลำดับงาน การจัดวางงาน มันไม่ได้เป็นแบบนี้นะ คือเปลี่ยนแทบจะทุกวัน เพราะมีปัญหากับตำรวจบ้าง การติดต่อพื้นที่บ้าง เงื่อนไขแปลก ๆ บ้าง เช่น ผู้ประสานงานเราไปประสานกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ แล้วเขาถามกลับมาว่า จะไลฟ์เนี่ย ไปขอ กสทช. หรือยัง ผมแบบ ห๊าาาาา ปี 2021 เราต้องไปขออนุญาต กสทช. เพื่อไลฟ์อยู่หรอ เรารู้สึกว่ามันตลก มันก็เห็นอยู่ว่ามันเป็นการใช้กฎหมายที่แปลก ๆ กฎหมายบางข้อก็เอามาใช้กับทุกคน ผมก็มองว่ามันไม่ค่อยมีสาระเท่าไร ผมมาเครียดเรื่องนี้มากกว่า ว่ามันจะมีอะไรแปลก ๆ มาตลอด”

เขาเล่าอีกว่า พี่ที่ทำหน้าที่เชื่อมเหล็กที่เป็นกรงขังในนิทรรศการ เพิ่งโดนจับไปเมื่อ 3 วัน ก่อนเริ่มงาน ทำให้ดีลงานยากมาก ทุกคนที่มาก็เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่เหมือนคนทั่วไป ที่มีวันเวลาตายตัวว่า มาวันนี้ 9 โมงนะ เสร็จกลับบ้าน พักผ่อน นอน แต่อยู่ ๆ ก็โดนจับไป ไม่ทันตั้งตัว เขาเปรียบว่าเหตุการณ์ระหว่างเตรียมงาน มันค่อนข้างจะตลกร้าย

ปีศาจแห่งกาลเวลา หนังสือที่เป็นแรงบันดาลงาน

“งานศิลปะนี้ เป็นงานครบรอบ 45 ปี 6 ตุลาด้วย เราก็เลยรู้สึกว่าอยากเล่าเรื่อง 6 ตุลา แต่ว่า เรารู้สึกว่าเมื่อพูดถึง 6 ตุลา ภาพจะเป็นความรุนแรงของวันนั้นเท่านั้น ทุกคนจะรู้ว่าวันนั้นมีการปราบปรามนักศึกษาที่รุนแรง แล้วมันยังไงต่อ? ผมรู้สึกว่าเราได้ยินมันจนเบื่อแล้วเราจะทำมันซ้ำแบบนี้ไปทำไม คือมันก็มีประโยชน์ในแง่ที่มันช่วยย้ำเตือนและสร้างความทรงจำร่วมให้กับผู้คนและสังคม ที่มันเคยมีสิ่งนี้เกิดขึ้น แต่ผมอยากจะหาวิธีการ อื่น ๆ ในการเล่าเรื่องนี้”

“ก่อนหน้านี้ผมเคยไปอ่านงานวิชาการของอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ แล้วก็ เห็นอิทธิผลหนังสือเรื่องปีศาจต่อนักศึกษา ปัญญาชนในยุคนั้น ที่นักศึกษาจำนวนหนึ่งมีความคิดที่ค่อนข้างก้าวหน้า และด้วยความที่มันเป็นบริบทของสงครามเย็น ทำให้แนวคิดที่เป็นสัญลักษณ์ต่าง ๆ สังคมนิยมต่าง ๆ มันเข้ามามีอิทธิพล ด้วยความที่ตัวเนื้อเรื่องพูดถึงคนธรรมดาที่เกิดในสังคมที่ไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ เรื่องเศรษฐกิจ ทำให้ตัวเอกที่เป็นคนธรรมดาต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อเปลี่ยนแปลงมันเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ก็ได้”

หรือนี่อาจจะเป็นจุดร่วมและเชื่อมเรื่องราวของคน 2 รุ่น ที่ดูเหมือนอายุจะห่างกัน เกือบ 45 ปี การเป็นคนธรรมดาในทุกยุคที่ถูกกดขี่

“ผมคิดว่านี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ดึงดูดใจนักศึกษาสมัยนั้น เพราะมีจินตนาการร่วมบางอย่างของตัวละครเอกและตัวของนักศึกษาเอง เลยทำให้เขารู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้มันสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขา ด้วยความที่มันเป็นที่นิยมมาก และยุคนั้นก็มีการปราบปรามคอมมิวนิสต์รุนแรงมาก ผมเลยรู้สึกว่าอยากเอาบริบทวิธีคิดของหนังสือปีศาจ มาเล่าในสมัยนี้ว่า ทำไมหนังสือของเสนีย์ เสาวพงศ์ ไม่เก่าสักที รวมทั้ง 6 ตุลา หลาย ๆ บริบท ในเหตุการณ์นั้นมันยังร่วมสมัยอยู่จนตอนนี้”

เราให้ความหมายของปีศาจ แห่งกาลเวลายังไง?

ทุกคนมีปีศาจอยู่ในตัว ขึ้นอยู่กับว่ามันจะออกมาตอนไหน ทำหน้าที่ในสถานการณ์อะไร ปีศาจ ในต้นเรื่อง มันจะเล่าผ่านตัวผู้หญิง ซึ่งครอบครัวผู้หญิงมีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม ไม่สนับสนุนให้ผู้หญิงเรียนหนังสือด้วยซ้ำ ไม่สนับสนุนให้ผู้หญิงแต่งตัวโป๊ แล้วทุกวันนี้เรายังต้องเรียกร้องต่อสู้กันเรื่องการแต่งตัวโป๊ของผู้หญิงอยู่เลย ซึ่งมันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอยู่แล้วว่าเขามีสิทธิในเรือนร่างของเขา ว่าจะแต่งตัวแบบไหน ซึ่งเรื่องนี้มันถูกเกริ่นมาตั้งแต่ต้นเรื่องเลย เปิดมาแค่นี้ก็เห็นได้เลยว่ามันยังเอามาเล่าอ้างอิงกับปัจจุบันได้อยู่

“ในตัวเรื่องความคิด ของหัวก้าวหน้าพยายามต่อสู้กับความคิดเก่า คือผมรู้สึกว่า สาย สีมา เป็นตัวแทนความคิดของความคิดใหม่ ที่เขาเลื่อนชนชั้นจากการศึกษา เขาเป็นลูกชาวนา แต่เขาพยายามเลื่อนชนชั้นไปเป็นทนายความ แต่ในทางกลับกัน พ่อของนางเอกเป็นตัวแทนของคนที่มาจากตัวแทนศักดินาเก่า ที่ไม่ได้แคร์ว่าคุณจะเรียนสูงเท่าไร แต่ถ้าคุณมาจากเชื้อไพร่ คุณก็คือไพร่ มันคือคือการเลือกปฏิบัติตามลำดับที่เกิดมา ไม่ได้เกี่ยวกับความสามารถใด ๆ ซึ่งมันขันต่อค่านิยมของคนชนชั้นกลางมาก ๆ”

กาลเวลาเข้าข้างคนรุ่นใหม่เสมอ จากเล่มนี้มันบอกเราได้ไหม?

“จุดจบของเล่มนี้มันค่อนข้างเป็นปลายเปิด แต่สำหรับผมมันให้ความหวังคน ในช่วงท้ายที่ พระเอกถูกพ่อนางเอกชวนเพื่อไปฉีกหน้า สาย สีมา ว่าเป็นชนชั้นต่ำต่อหน้าสังคมชนชั้นกลาง พระเอกก็พูดวลีเด็ดของเขาออกมาว่า “ผมคือปีศาจที่กาลเวลาที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอวาดกลัว” มันคือประโยคทองของเรื่องนี้เลยนะ พอพูดจบ สาย สีมา ก็หนีออกมา ตัวของผู้หญิงเองก็เกิดความคิดว่าอยากไปสร้างสิ่งใหม่ วัฒนธรรมใหม่ ๆ และเดินตาม สาย สีมา ออกมาเช่นกัน ในเรื่องมีความเน้นย้ำว่าผู้หญิงเขาไม่ได้พกอะไรมา เขากำลังก้าวไปสู่สิ่งใหม่จากวัฒนธรรมหนึ่งไปยังอีกวัฒนธรรมหนึ่ง”


ย้อนกลับไปคำถามที่ เบลซ ค้างคาไว้ว่า เพราะอะไรกันนะที่ทำให้ หนังสือเล่มนี้ไม่เก่าสักที และในโอกาส สถานการณ์เดียวกันนี้ เราก็ได้มีโอกาสได้พูดคุยกับ ศราพัส บำรุงพงศ์ ลูกสาวคนโตของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ที่ไปร่วมเปิดนิทรรศการในครั้งนี้ด้วย

เธอเดินวนในงานเพื่อชมศิลปะ ในมือถือหนังสือที่ปกเขียนว่า ปีศาจ

ทำไมหนังสือของเสนีย์ เสาวพงศ์ ถึงยังไม่เก่าสักที?

เราเริ่มบทสนทนาด้วยคำถามที่ค้างคามาจากผู้จัดงาน ว่าทำไมกันนะ หนังสือเล่มนี้ยังไม่เก่าสักที

“ถ้าจำไม่ผิด ปี 2498 มันก็เกือบจะ 70 ปีมาแล้ว ซึ่งคุณพ่อเองก็คงไม่ได้คิดไว้ว่า 70 ปีผ่านไป หนังสือเรื่องนี้ยังได้รับการตีพิมพ์ ยังเป็นที่สนใจของ “เยาวชน” ที่พี่สังเกตดูว่าทุกครั้งที่มีการเกิดความไม่ทัดเทียม เอารัดเอาเปรียบ ไม่ยุติธรรม มีการประทุแรง ๆ หนังสือของคุณพ่อ จะกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งหนึ่ง ยิ่งช่วง 6 ตุลา แทบจะเรียกได้ว่าหนังสือ ปีศาจ เหมือนเป็นของประดับของทุกคนสมัยนั้น ทุกคนจะต้องมีย่าม รองเท้าแตะ และก็ถือหนังสือปีศาจ ถึงขนาดที่บางคนหาซื้อไม่ได้ ก็ถ่ายเอกสารแจกกัน เท่าที่ได้ยินมา หลาย ๆ คนก็ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือคุณพ่อ”

เธอบอกว่า “อานนท์ นำภา” ก็เคยพูดกับเธอว่า ผมมาเรียนทนาย เรียนกฎหมายก็เพราะว่า  ประทับใจปีศาจ ประทับใจ สาย สีมา ที่เป็นตัวเอกของเรื่อง และเจ้าของประโยคทอง

“ถ้าประเทศเราดี ประเทศเราพัฒนา มีความเท่าเทียม ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบ ทุกคนเข้าถึงการศึกษา สวัสดิการดี  หนังสือเล่มนี้จะต้องเชย ตกยุคแล้วนะ มันก็เลยเป็นอะไรที่สะท้อนใจว่าจนบัดนี้ 70 ปีผ่านไป ตั้งแต่ที่คุณพ่อแต่งเรื่องนี้ เหมือนเวลามันนิ่งสนิท 2498 มา 2564 ความเปลี่ยนแปลงน้อยมาก เราต้องกลับไปถามนะ ว่าเพราะอะไร  หลายแต่หลาย ๆ คนน่าจะมีคำตอบในใจ ว่าเป็นเพราะอะไรอยู่ที่ว่าเราจะพูดได้ไหม

มองการกลับมาของหนังสือยังไงในยุคที่โลกไปไกล ทั้งเรื่องของกระบวนการคิดและเทคโนโลยี? 

“จริง ๆ ต้องไปถามคนรุ่นนี้ ที่จริงพี่ก็ยากรู้นะ”

แล้วมันมีเหตุผลหรือคำตอบอะไรที่ทำให้ปีศาจยังถูกหยิบมาเล่า และเป็นที่นิยมในสังคมหนุ่มสาวผู้เรียกร้องประชาธิปไตย

กว่า 70 ปี ของหนังสือเรื่องปีศาจ สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษา คนธรรมดา และผู้จัดนิทรรศการมาอยู่ตลอด หนังสือ ผู้เขียน ตัวละคร ยังคงมีชีวิตและดำเนินไปในเล่มอยู่อย่างนั้น เล่นวน เริ่มและจบที่ตัวอักษรเดิม

ที่เหลือคือมันจะทำหน้าที่เช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ได้ ไหม หรือจะถูกวางตั้งไว้เฉย ๆ เพราะเรื่องราวในเรื่องมันเชย เราไม่อาจรู้ได้เลย

ส่งท้ายจากผู้จัด

ศิลปะในสวนครูองุ่น ย่านทองหล่อ ถูกแต่งเติมจากศิลปินผู้มีอุดมการณ์ทางการเมือง ผู้จัดเองก็มีความกังวลอยู่ไม่น้อยจากการเล่าขั้นเตรียมงาน ระหว่างการทำงานมา คาดเดาไม่ได้เลยว่า ศิลปะเหล่านี้จะถูกวางจัดแสดงให้ผู้คนได้เยี่ยมชมนานแค่ไหน

“6 ตุลา นอกเหนือจากความรุนแรงแล้ว มันมีปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดสิ่งนั้นอีกไหม หรือมันมีอุดมการณ์อะไร ทั้งนักศึกษาหรือรัฐบาลเขามีแนวคิดอะไร ทำไมมันถึงเกิดเหตุการณ์ขึ้นแบบนั้น เขาคิดอะไรเขาถึงโดนแบบนั้น หรือรัฐอ้างเหตุผลอะไร ผมรู้สึกว่าโปรเจกต์นี้จะช่วยให้เราตีความอะไรได้มากขึ้น 

งานนี้อาจจะไม่ได้มีคำตอบ ผมรู้สึกว่ามันเป็นปลายเปิด เพราะว่ามันคืองานศิลปะ มันอาจให้คำตอบเหมือนอย่างงานวิชาการไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราอยากให้มันตั้งคำถามได้”

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

เชาวริน เกิดสุข