“พิราบ” ส่วนหนึ่งในความทรงจำ คนเดือนตุลาฯ

หนังสั้นจากบันทึกนักศึกษา 6 ตุลาฯ

“ผมแค่อยากเห็นช่องว่างระหว่างชนชั้น ระหว่างคนรวยกับคนจนที่ต่างกันราวฟ้ากับเหวน้อยลงกว่าที่เป็นอยู่นี้ ไม่เคยคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้จะเป็นการขายชาติขายเมืองเหมือนอย่างที่พวกเขาใส่ร้ายป้ายสี ลูกของแม่คนนี้ไม่ได้เลวอย่างที่เขากล่าวหา เพื่อนของผมก็เช่นกัน…”

เนื้อความตอนหนึ่งในจดหมาย ที่ตัวละคร “รัฐ” เขียนทิ้งไว้ให้แม่ ก่อนจะหนีออกจากบ้านเข้าป่า หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เหมือนกับเพื่อน ๆ ของเขา ที่ต่างต้องขวนขวายหาทางเอาชีวิตรอด พร้อม ๆ กับการเดินทางครั้งใหม่

ภาพยนตร์สั้นเรื่อง “พิราบ” (2560) กำกับโดย ภาษิต พร้อมนำพล ถูกนำมาฉายอีกครั้งในงานรำลึก 47 ปี 6 ตุลาฯ

แม้จะเผยแพร่ครั้งแรกตั้งแต่ 6 ปีก่อน แต่กลับถูกนำมาฉายซ้ำในทุก ๆ ปี เพราะเป็นผลงานหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่ ๆ ได้รับรู้การมีอยู่ของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

ภาษิต บัณฑิตวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม สาขาภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวของผู้เป็นพ่อ หนึ่งในคนเดือนตุลาฯ นักศึกษาหนุ่มจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เขียนหนังสือบันทึกเรื่องราวของตัวเอง ตั้งแต่เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 รวมถึงเหตุผลของการตัดสินใจเข้าป่า และการต่อสู้ตอนใช้ชีวิตอยู่ในป่า

“พิราบ” เป็นภาพยนตร์สั้นที่ถูกพูดถึงช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะเป็นเรื่องราวอิงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในอีกมุมหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นเส้นทางชีวิตของนักศึกษาธรรมดา ๆ ทั่วไปที่ไม่ได้เป็นแกนนำนักศึกษา แต่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหว และอยู่ในเหตุการณ์ล้อมปราบเมื่อ 47 ปีก่อน

ชีวิตของ “รัฐ” ต้องเปลี่ยนไปและเลือกเดินทางเข้าไปต่อสู้ในป่า จำต้องบอกลาครอบครัวเพื่อทำตามสิ่งที่เขาเชื่อว่านี่เป็นอุดมการณ์ของตัวเอง

“พิราบ” ได้รับรางวัลประกาศนียบัตรชมเชย สายหนังสั้นนักศึกษา และรางวัล “พิราบขาว” โดย มูลนิธิ 14 ตุลา เมื่อปี 2560

พิราบ
พิราบ (2560)

อดีต – ปัจจุบัน ช่องว่างชนชั้นที่ถูกส่งต่อ

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองอย่าง 14 ตุลาฯ 2516 และ 6 ตุลาฯ 2519 ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง รวมถึงเป็นฉากของช่วงเวลาในภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น The Moon Hunter 14 ตุลา สงครามประชาชน (2544), October Sonata รักที่รอคอย (2552) และดาวคะนอง (2559) เป็นต้น ซึ่งหลายคนคงเคยชมภาพยนตร์เหล่านี้กันมาบ้างแล้ว

แต่สำหรับการรับชม “พิราบ” ครั้งแรกของผู้เขียน ในงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในปีนี้ อาจพูดได้ว่านี่เป็นภาพยนตร์สั้นที่เล่าได้ครอบคลุมและกระชับ ไม่ได้เน้นความผาดโผนหรือความระทึก แต่เปิดเรื่องด้วยช่วงเวลาหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จบลง แล้วกลับมามองที่ชีวิตของนักศึกษาคนหนึ่งที่ยังพร้อมต่อสู้เพื่อสิ่งที่ตัวเองยึดมั่นอยู่ สะท้อนว่าแม้เหตุการณ์จะจบลง แต่ขบวนการต่อสู้ของนักศึกษายังไม่จบ

ที่บอกว่าเล่าเรื่องได้ครอบคลุมก็คงเพราะเนื้อเรื่องที่เล่าถึงสิ่งที่นักศึกษาหลายคนในสมัยนั้นต้องพบเจอ เมื่อเลือกก้าวสู่ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว ทั้งการถูกคุมขัง มีตัวแทนจากมหาวิทยาลัยมาประกันตัว การถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกค้นหาถึงบ้าน การต้องดื้อรั้นต่อครอบครัว การเดินทางเพื่อเข้าป่า ซึ่งภาพยนตร์ก็ตัดจบถึงตอนที่ตัวละคร “รัฐ” เดินทางถึงจุดหมาย

พิราบ
พิราบ (2560)

แต่ฉากที่ทำให้รับรู้ได้ถึงความรู้สึกของคนในยุค 6 ตุลาฯ คือ ก่อนที่ “รัฐ” จะหนีแม่ออกจากบ้านเพื่อเดินทางเข้าป่า เขาได้เขียนจดหมายถึงแม่ว่า

“ผมขอโทษที่ทำให้แม่ผิดหวัง สิ่งที่ผมกำลังจะทำไม่ใช่ทำเพื่อครอบครัวเราครอบครัวเดียว และไม่ได้ทำเพื่อแม่คนนี้คนเดียว ผมกำลังจะทำให้กับแม่ของทุก ๆ คน ถ้าสังคมในบ้านเรายังมีคนอีกมากที่ทุกข์ยากลำเค็ญ ถูกเอารัดเอาเปรียบโดยผู้มีอำนาจส่วนน้อยในสังคม ครอบครัวเล็ก ๆ อย่างเราจะไปอยู่รอดได้ยังไง ผมแค่อยากเห็นช่องว่างระหว่างชนชั้นระหว่างคนรวยกับคนจนที่ต่างกันราวฟ้ากับเหวน้อยลงกว่าที่เป็นอยู่นี้ ไม่เคยคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้จะเป็นการขายชาติขายเมืองเหมือนอย่างที่พวกเขาใส่ร้ายป้ายสี ลูกของแม่คนนี้ไม่ได้เลวอย่างที่เขากล่าวหา เพื่อนของผมก็เช่นกัน พวกเขาถูกฆ่าตายอย่างโหดร้ายทารุณ ไม่ละเว้นแม้แต่ผู้หญิงและเด็ก พวกเขาเอาสิทธิอะไรมาเข่นฆ่าพวกเราราวกับเป็นผักเป็นปลา นี่น่ะหรือเมืองพุทธอย่างที่เขาชอบพูดกัน”

พิราบ
พิราบ (2560)

เมื่อได้ฟังข้อความนี้ ก็ทำให้สะท้อนภาพมาถึงยุคปัจจุบัน ว่าเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีตกับปัจจุบันนั้นมีความเชื่อมโยงกันอยู่ไม่มากก็น้อย เพราะทุกวันนี้ก็ยังเห็นขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ในนาม คนจน เพื่อเป็นตัวแทนการต่อสู้เพื่อลดช่องว่างระหว่างชนชั้น และการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิบางอย่างอยู่เช่นเดิม

จึงเกิดคำถามว่าจากเรื่องราว 6 ตุลาฯ จนถึงทุกวันนี้สังคมไทยมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แน่นอนว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน อะไร ๆ ก็เปลี่ยน แล้วเหตุการณ์ในอดีตให้อะไรกับปัจจุบัน และทำอย่างไรให้บาดแผลนี้ยังคงเป็นที่จดจำ…ไม่ควรลืม

ไม่เช่นนั้น “พิราบ” ก็อาจถูกนำมากลับมาฉายซ้ำในทุก ๆ ปี

พิราบ
พิราบ (2560)

Author

Alternative Text
AUTHOR

เมธาวี ทวีผล

เรียนมานุษยวิทยา สนใจเรื่องราวทางสังคม อยากปล่อยใจสู่เสรี

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์