“ตาไหม” พระเอกรางวัลนาฏราช

บทบาท “คนจน” ที่สวมมาตลอดชีวิต

หากเอ่ยถึง รางวัลนาฏราช การประกาศผลรางวัลยอดเยี่ยมด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ จัดโดย สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ภาพจำที่ทุกคนจำได้ คงเป็นรางวัลที่มอบให้ดาราเจ้าบทบาท ทั้งที่จริง ๆ แล้ว รางวัลนาฏราชยังมีประเภทรางวัลหลากหลายที่มอบให้วงการสื่อมวลชน โดยให้คนที่ทำงานตัวจริงในวงการเป็นผู้พิจารณา

การมอบรางวัลประจำปี 2564 ที่มอบกันในเดือนกันยายน ปี 2565 มีถึง 36 รางวัล รวมถึง สารคดีคนจนเมือง ตอน ซอกหลืบเยาวราช ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 ที่ได้รับรางวัล “สารคดียอดเยี่ยม”

“สารคดีคนจนเมือง” เปิดให้เห็นแผลลึกของสังคมแห่งความเหลื่อมล้ำ ผ่านชีวิตของ ตาไหม หรือ ทองคูณ โพสลิต เจ้าของต้นเรื่อง ทีมผู้ผลิตสารคดีเชิญตาไหมมาร่วมรับรางวัล ในโอกาสที่สมาพันธ์ฯ นำรางวัลมามอบให้ถึงที่ เนื่องจากปีนี้งดจัดงานเพราะสถานการณ์โควิด-19 วันนี้ตาไหมมาในชุดที่แกบอกว่า “ไม่ค่อยได้แต่งแบบนี้มากนัก” ปกติใส่เสื้อกล้ามกางเกงเก่า ๆ เดินเก็บของเก่าแถวเยาวราช

นาฏราช
อนุพงษ์ ไชยฤทธิ์, วัชระ แวววุฒินันท์, ณาตยา แวววีรคุปต์ และ “ตาไหม” ทองคูณ โพสลิต (เรียงจากซ้าย)

รู้จักรางวัลนาฏราชไหม? เราถามตาไหม ระหว่างรอการรับรางวัล

ตาไหมตอบทันทีว่า “ไม่” แต่เมื่อเราอธิบายต่อว่า รางวัลที่เขามอบให้ดารา ภาพจำของตาไหมที่มีต่อรางวัลนาฏราชชัดเจนขึ้น ก่อนจะร้อง อ๋อ! “เคยเห็นแต่พวกดาราเขาขึ้นไปรับ แต่คนจนเมืองมารับได้ยังไง ก็งงอยู่เหมือนกัน” (หัวเราะ)

ก่อนหน้านี้ สารคดีคนจนเมืองเคยได้รับรางวัล “สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ประจำปี 2564 จาก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือองค์การนิรโทษกรรมสากล มาแล้ว

2 รางวัลระดับประเทศ นี่อาจเป็นการตอกย้ำถึงคุณภาพและความเข้มข้นของเนื้อหา

ในมุมมองของตาไหมมองว่า เพราะความจนที่ฉายผ่านชีวิตของแกไม่ใช่เรื่องปรุงแต่ง “เราพูดความจริง เราให้เขาไปถ่ายที่บ้านของจริง ไม่ได้พูดเรื่องโกหก เราจนจริง ๆ ไม่มีที่จะไป”

แต่หากฟังในมุมของ วัชระ แวววุฒินันท์ รักษาการ นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ บอกสั้น ๆ ขณะที่นำรางวัลมามอบให้กับทีมผู้ผลิตสารคดีถึงไทยพีบีเอส ว่า “สารคดีคนจนเมือง มีเนื้อหาโดดเด่น มีความยากในการถ่ายทอด และหากเนื้อหามีผลต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงของสังคม ก็น่าจะเป็นมุมมองหนึ่งในการพิจารณาของคณะกรรมการ ซึ่งเราก็เปิดกว้างโดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นประเด็นใดประเด็นหนึ่ง แต่หากสร้างผลกระทบกับสังคมได้ นี่เป็นสิ่งที่คนทำงานสื่อต้องการทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสารคดี ข่าว รายการ หรือแม้แต่ละคร”

ส่วน ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ (The Active) ส.ส.ท. ผู้ผลิตสารคดี พูดถึงเป้าหมายของการผลิตสารคดีคนจนเมือง ซึ่งทำออกมาต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 3 ว่ารางวัลที่ได้รับยืนยันว่าเรื่องราวที่เล่าได้รับการยอมรับ ทั้งเนื้อหาสาระ มีความหมายต่อสังคม ปัญหานี้มีความซับซ้อน แต่สารคดีค่อย ๆ เล่าข้อเท็จจริงในมิติต่าง ๆ ให้คนดูค่อย ๆ รับรู้ รู้สึก ซึ่งมีผลต่อการสร้างพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย

“หากความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ที่เอื้ออาทรต่อกันยังทำงานได้อยู่ ปัจจุบันจะเห็นว่าปัญหาคนจนเมือง เป็นปัญหาที่เราต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขด้วยกัน เราหวังว่าอย่างนั้น ถึงได้ผลิตออกมาถึงซีซั่นที่ 3 แล้ว ยังพบคนจนเมือง เรื่องราวมิติอื่น ๆ อีกมากมาย ผลิตไปก็คิดว่าจะมีทางออก หรือทางแก้ปัญหาเพื่อออกจากความยากจนได้ยังไง ถึงจะทำทุกรัฐบาล หากไม่จริงจังต่อเนื่อง ก็ยากที่จะหลุดพ้น โดยเฉพาะรุ่นลูกหลานของพวกเขา”

นาฏราช
ตาไหมทองคูณ โพสลิต และ ณาตยา แวววีรคุปต์

ณาตยายังบอกอีกว่า รางวัลถือเป็นความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติแก่คนทำงานที่ได้ใช้ความรู้ความสามารถถ่ายทอดเรื่องราวของคนที่ไม่เคยมีปากมีเสียง เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนตัวเล็กตัวน้อย แม้คนจนไม่หมดไป แต่อย่างน้อยพวกเขาต้องมีชีวิตที่ดีขึ้น

“การเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น เป็นบทบาทของสื่อสาธารณะอยู่แล้ว”

อนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท.  ขยายประเด็นนี้เพิ่มเติมว่า การได้รับรางวัลนี้อาจจะเป็นสัญญาณที่บอกว่าเสียงของพวกเขาดังขึ้นและมีคนได้ยิน แต่จะทำอย่างไรต่อให้ปัญหาได้รับการคลี่คลาย

“สารคดีทำให้เสียงที่ไม่เคยได้ยินถูกบอกกล่าวออกมา เสียงของคนที่ไม่เคยมีปากเสียงในสังคมดังขึ้น แสดงว่าสังคมตระหนักว่าควรแก่การรับฟัง เราควรฟังร่วมกัน และแก้ปัญหา เราเชื่อว่าเสียงเหล่านั้นจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง”

วันนี้ตาไหมอาจเป็นตัวแทนของคนจนเมืองที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่ใช่คนจนทุกคนจะขี้เกียจ และแม้ว่าจะทุ่มเทแรงกายทั้งชีวิต ก็ไม่อาจจะการันตีได้ว่าวันพรุ่งนี้จะดีกว่าวันนี้ เรากำลังหลงลืมคนเหล่านี้หรือไม่ ความจนของพวกเขา เราช่วยได้? หรือเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของรากปัญหานี้?

ตาไหม…ยังคงทำงานหนักทุกวัน ต่างเพียงแค่วันนี้ แรงของแกอ่อนล้าลงทุกที

“เจ็บเข่าที่ลื่นล้ม เดินขึ้นบันไดแบกของไม่ได้เหมือนเดิม มันเจ็บ ซื้อยามาทาแล้ว แต่ไม่ได้ไปหาหมอ”

ตาไหมกำลังจะไม่มีบ้านอยู่ เพราะเจ้าของที่ไม่ต่อสัญญาเช่า เขาบอกว่าอาจต้องไปอาศัยศาลเจ้าอยู่ จนกว่าจะหาห้องเช่าได้ ตาไหมบอกว่าจ่ายไหวเดือนละ 1,000 บาท แต่ห้องเช่าที่มีคนเสนอให้เช่าในละแวกเดิมราคาถึงเดือนละ 3,000 บาท

“ผมอยากอยู่ที่นี่ เพราะหลานที่เขาไปเรียนประจำกลับมา เขาจะไม่เจอ แล้วเราก็เดินเก็บของเก่าที่นี่ ไปไหนมาไหนคนก็รู้จัก ปลอดภัย”

อะไรที่ทำให้ตาไหมกลายเป็นคนจน? ตาไหมอยากกลับไปแก้ไขอะไรหรือไม่

ตาไหมบอกกับเราว่า “ไม่มี”

ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเจอหน้าพ่อหน้าแม่ อายุ 10 กว่าขวบก็ออกมาเร่ร่อน เมื่อมีครอบครัวก็ถึงได้ลงหลักปักฐานหากินแถวตลาดน้อย ย่านเยาวราช จนชีวิตล่วงเลยมาถึงวัย 62 ปี และแกรู้สึกว่าไม่เคยประสบผลสำเร็จอะไรสักอย่างในชีวิต

หากเลือกได้ ตาไหมกลับไม่อยากเปลี่ยนบทบาท “คนจนที่สวมมาตลอดชีวิต” เพราะคนจนมี “อิสระ” และตราบใดที่ลูกเมียมีข้าวกิน มีที่ซุกหัวนอน มีงานทำ แม้จะจน…แต่แค่นี้ชีวิต…ก็มีความสุขแล้ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส