เปิดข้อมูล “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง”
หากการปักหมุดหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ที่เริ่มต้นอย่างมีแบบแผน นับได้ตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา แต่ในช่วงปลายทศวรรษ 2540 จนถึงต้นทศวรรษ 2560 มีพลวัตในเชิงเศรษฐกิจการเมืองและนโยบายที่กระทบชุมชนแออัดและคนจนเมืองอย่างมีนัยสำคัญ
หากแต่คำอธิบายทางวิชาการที่ผ่านมา ตามไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของชุมชนแออัดและคนจนเมือง
โครงการวิจัย “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไป ในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” จึงเกิดขึ้น เพื่อศึกษาและอธิบายการเปลี่ยนแปลงและพลวัตดังกล่าว จาก 7 นักวิชาการทั่วทั้ง 5 ภูมิภาคของไทย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภาคตะวันออก เหนือ ใต้ และอีสาน ภายใต้แนวคิด “สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง” (The right to the City) รวมระยะเวลาศึกษา 2 ปี (กรกฎาคม 2562 – มิถุนายน 2564) และได้ค้นพบข้อมูลที่มีนัยสำคัญ ในการอธิบายและทำความเข้าใจ เชื่อมโยงสู่ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่หยั่งรากฝั่งลึกในสังคมไทย
นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยช่วงทศวรรษ 2500 มีโครงการขนาดใหญ่และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กระจายไปยังพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางของแต่ละภูมิภาค เช่น จังหวัดเชียงใหม่ มีการก่อสร้างสนามบินและส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จนกลายเป็นเมือง “โตเดี่ยว”
จังหวัดชลบุรี ก่อสร้างถนนสุขุมวิท และมีโครงการพัฒนา (Eastern Sea Board: ESB) ทำให้เกิดเมืองท่องเที่ยวอย่างเมืองพัทยาและเมืองอุตสาหกรรม
จังหวัดขอนแก่น การก่อสร้างถนนมิตรภาพ จุดศูนย์กลางของเมืองผ่านทุกจังหวัดในภาคอีสาน และโครงการพัฒนาต่อเนื่องทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart city ) ส่วน จังหวัดสงขลา ศูนย์กลางของการพัฒนาในภาคใต้ ถูกกำหนดให้เป็นเมืองหลักและศูนย์กลางเมืองท่าส่งออกสินค้า การคมนาคมขนส่ง การค้า และการบริการ
ขณะที่ กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศนับได้ว่าเป็นจุดศูนย์รวมของการพัฒนาเมืองในทุก ๆ ด้าน
ผลพวงของการเติบโตของเมืองที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ศูนย์กลางของการพัฒนาในทุกภูมิภาคของไทย ส่งผลให้เศรษฐกิจในยุคแรกของการพัฒนามีความเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก การเคลื่อนย้ายอพยพแรงงานเข้าสู่เมืองเพื่อแสวงหาโอกาสของชีวิตที่ดีกว่า โดยผันตัวเองจากแรงงานเกษตรสู่การขายแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ เกิดชุมชนใหม่ในเขตเมือง หรือ “ชุมชนแออัด” พร้อมคำขานเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “คนจนเมือง”
ผศ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักวิจัยโครงการนี้ ซึ่งศึกษาพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ระบุว่า วิสัยทัศน์การพัฒนาเมืองของรัฐช่วง 10 ปีหลัง มีแนวโน้มตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ ชนชั้นกลาง และชนชั้นสูง เน้นทำให้เมืองเป็นสินค้าแต่ขาดมุมมองจากชาวชุมชนแออัดและคนจนเมือง ทั้งที่พวกเขาได้รับผลกระทบโดยตรงจากการพัฒนาเมือง และเมื่อก่อนการศึกษาความเป็นเมืองมักมองผ่านสายตาของนักออกแบบเมืองหรือนักวางผังเมืองขาดมิติในการเชื่อมโยงกับกลุ่มคนชายขอบของเมือง
“ที่ผ่านมา คำอธิบายวิชาการตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของชุมชนแออัดและคนจนเมือง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นผลจาการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงเห็นคนในชุมชนแออัดหลายคนสามารถเก็บเงินออม ยกฐานะของตนเองได้ เปลี่ยนสภาพแผงค้าเป็นร้านค้า จากแรงงานรับจ้างเป็นผู้รับเหมา ขับรถกระบะ ฯลฯ ภาพของคนรุ่นใหม่ที่เกิดและโตในชุมชนแออัด สามารถเรียนจบระดับอุดมศึกษา เป็นภาพที่เห็นได้ไม่ยาก และข้อถกเถียงว่า ‘คนจนเมืองอยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบ’ อาจแคบไป ยังมีคนจนเมืองกลุ่มอื่น ๆ ที่ยังไม่มีใครศึกษา ทำความเข้าใจอีกจำนวนมาก เช่น คนจนเมืองที่เช่าที่อยู่อาศัยราคาถูกและคุณภาพต่ำ เป็นต้น”
บนฐานคิดของการพัฒนาเมืองที่ถูกทำให้ที่ดินในเมืองกลายเป็นสินค้า ผู้คนดั้งเดิมและแรงงานอพยพที่ทำมาหากินใต้เงาความเติบโตของเมือง สามารถขยับสถานะด้วยเงื่อนไขและปัจจัยที่เอื้อ จนกลายเป็น “ผู้ประกอบการรายย่อย” พร้อมกับอาชีพใหม่ ๆ อีกมากมายรองรับวิถีชีวิตคนเมืองชนชั้นกลาง เกิดเครือข่ายและความสัมพันธ์ที่หล่อเลี้ยง หมุนเมือง เคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
ผศ.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งศึกษาคนจนในอีสาน ทั้งเขตเมืองเก่าชั้นใน เขตเมืองเก่าชั้นนอก อธิบายในมุมนี้ว่า “เดิมทีเรามองว่ากลุ่มคนจนเมืองเหล่านี้ น่าจะทำงานที่ใช้แรงงานเป็นหลัก รับจ้างรายวัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นแบบนั้น แต่เกือบ 50 ปี ที่มีความพยายามสร้างและอยู่ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก เช่น การขายของชำ เปิดร้านกาแฟเล็ก ๆ อาหารรถเข็น ที่เป็นสมาชิกของสตรีทฟู้ดในขอนแก่น ซึ่งกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของเมืองไปแล้ว”
ไม่ต่างจากคนจนเมืองในเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ผศ.ธนิต โตอดิเทพย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา นักวิจัยพื้นที่ภาคตะวันออก ระบุว่า คนจนเมือง ที่ขยับสถานะขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ธุรกิจเช่าห่วงยาง หาบเร่แผงลอย ซึ่งอาชีพเหล่านี้ล้วนต้องพึ่งพาพื้นที่สาธารณะในเขตเมือง การท่องเที่ยว ทำมาหากินแทบทั้งสิ้น
ส่วนข้อสังเกตจากเชียงใหม่ในกรณีศึกษาบางกลุ่ม รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า คนจนเมืองเชียงใหม่ที่ไม่สามารถยกระดับฐานะได้ คือแรงงานที่อพยพเข้ามาในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งร้อยละ 80 เป็นแรงงานจากเพื่อนบ้าน คือ ไทใหญ่และเมียนมา
“การยกระดับสถานะ พบว่ากลุ่มชุมชนขนาดใหญ่บางส่วนสามารถยกระดับสถานะของตัวเองได้ เพราะการทำมาหากินในยุคที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู ส่งให้บุตรหลานได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น ขยับสถานะเป็นชนชั้นกลาง ต่างจากแรงงานเพื่อนบ้านและแรงงานอพยพที่อยู่ชุมชนแออัดขนาดเล็ก ที่ชีวิตมีความเปราะบางมากกว่า โดยเฉพาะแรงงานไทใหญ่ ซึ่งมีปัญหาด้านสถานะบุคคล สถานะทางพลเมืองของไทใหญ่เป็นข้อจำกัดในการสร้างความมั่นคงในชีวิต มีค่าใช้จ่ายที่สูง”
คนจนเมืองรุ่นแรก แม้มีโอกาสขยับสถานะขึ้นมาได้บ้าง แต่จากข้อมูลในงานวิจัยทุกภูมิภาคพบปัญหาร่วมกันว่า การพัฒนาระยะหลัง “คนจนเมือง” ถูกกีดกันออกจากเมืองที่เติบโต เบียดขับกลายเป็นคนชายขอบและไร้สิทธิเสียงในการต่อรอง หรือร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเมือง หรือสิทธิที่จะอยู่ในเมือง
เช่น กรณีข้อมูลจากพื้นที่กรุงเทพฯ ผศ.บุญเลิศ ชี้ให้เห็นว่า คนจนเมืองโดยเฉพาะในรุ่นที่ 3-4 แม้การศึกษาสูงขึ้นกว่ารุ่นพ่อแม่ และขยับอาชีพเข้าสู่การจ้างงานในระบบระดับล่างได้ แต่ก็ต้องแบกรับต้นทุนภาระในชีวิตที่สูงขึ้น
“คนจนเมืองรุ่นใหม่อาจสร้างตัวได้ยากกว่าคนจนเมืองรุ่นพ่อแม่ เพราะว่าต้นทุนชีวิตเขาแพงขึ้น จากวิธีคิดการจัดระเบียบเมืองให้เรียบร้อยสวยงาม การทำย่านเก่าให้กลายเป็นเมืองของผู้ดี การบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะเป็นประโยชน์กับเฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น รวมทั้งค่าเดินทางต่อวันสูงขึ้น เมื่อเมืองเป็นสินค้ามากขึ้น หาบเร่แผงลอยหายไป คนต้องฝากท้องกับศูนย์อาหารมากขึ้น ผู้ประกอบการรายย่อยต้องเสียค่าเช่าทั้งที่อยู่อาศัยและที่ทำมาหากินแพงขึ้น ไม่นับว่าพวกเขาต้องทำงานแข่งกับแรงงานข้ามชาติที่กำลังถาโถมเข้ามา มีน้อยคนมากที่จะไม่มีหนี้สินและเก็บเงินไปซื้อบ้านในชนบทได้”
ข้อมูลนี้สอดคล้องกับคนจนเมืองอีสาน เกือบครึ่งหนึ่งพยายามที่จะถีบตัวเองขึ้นมาให้เป็นผู้ประกอบการจากแรงงานรับจ้างรายวัน แต่เมื่อพื้นที่สาธารณะในเมืองเริ่มมีต้นทุนค่าใช้จ่ายด้วยเงื่อนไขของรัฐ แม้รายได้ทางเศรษฐกิจขยับขึ้น แต่ก็ยังไม่มากพอเมื่อเทียบกับต้นทุนที่ต้องจ่ายเพื่อแลกกับการเป็นผู้ประกอบการถูกต้องตามกฎหมายในการจัดระเบียบเมือง
“มันมีกลไกบางอย่างมาขวางอยู่ โดยเฉพาะกลไกในเชิงเทคนิคของทางราชการ ต้องมีทุนจดทะเบียนทำการค้า ต้องไปจดเป็นนิติบุคคล ต้องไปจดทะเบียนพาณิชย์ สิ่งเหล่านี้ผมมองว่ามันไม่เอื้อ โอกาสของพวกเขามันถูกปิดกั้นในเบื้องต้นแล้ว เพราะฉะนั้นคนที่เขาจะสู้ต่อก็ดิ้นจนบางทีเขาเหนื่อย สู้ไม่ไหว”
เช่นเดียวกับข้อมูลจาก รศ.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ นักวิจัยจากภาคใต้ ที่พบว่า มากกว่า 50 ปี ของการขยายและพัฒนาเมือง ส่งผลให้เกิดคนจนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน แม้จะมีหลายคนพยายามจะพาตัวเองให้หลุดพ้นจากสภาวะความยากจนนี้แล้ว แต่ทุกโครงการพัฒนาเมืองกลับมองไม่เห็นพวกเขาอยู่ในนั้นเลย ทั้งนี้ ในงานวิจัยยังพบว่า นอกจากนโยบายระดับชาติแล้วเทศบาลนครสงขลา ยังมีนโยบายพัฒนาท้องถิ่นให้สอดคล้องกับแนวทางพัฒนาระดับชาติ อาทิ การศึกษาใหม่รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เน้นการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบครบวงจร มีการพัฒนาโครงการพื้นฐานใหม่ เพิ่มไฟฟ้าให้สว่างทั่วเมือง สร้างทางจักรยาน ปรับปรุงภูมิทัศน์ใหม่สร้างป่าในเมือง
“บ้านเช่าที่ค้าขายเล็ก ๆ ถูกเปลี่ยนเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ โฮมสเตย์ พื้นที่ถูกเปลี่ยนมือไปสู่นายทุนนักธุรกิจ การส่งเสริมเมืองเก่าเป็นย่านท่องเที่ยวยิ่งเป็นการเบียดกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ชาวบ้านค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ต้องถูกผลักออกไป”
ชีวิตของคนจนเมืองจากงานวิจัยชิ้นนี้ พยายามชี้ให้เห็นถึงลักษณะของฐานคิดและทิศทางการพัฒนาเมืองตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ “คนจนเมือง” นี่อาจเป็นข้อมูลสำคัญในการอธิบายความสัมพันธ์ ระหว่าง “เมือง” และ “ผู้คน”
ยิ่งไปกว่านั้น โจทย์ของการแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ที่ทุกรัฐบาลพยายามแก้ปัญหามาอย่างยาวนานกว่า 60 ปี มุมมองของการให้โอกาสคนจนได้พึ่งพาตนเอง โดยการเริ่มต้นมองเมืองที่มากกว่าสินค้า มูลค่า และการเติบโตทางเศรษฐกิจ สู่การออกแบบเมืองที่ยุติธรรมสำหรับคนทุกกลุ่ม
สามารถติดตามอ่านรายละเอียดและข้อเสนอในเชิงนโยบายจากงานวิจัยฉบับเต็ม โครงการวิจัย “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” และร่วมฟังการนำเสนอข้อมูลจากเวทีสาธารณะในวันที่ 26 มกราคม 2565 ได้ที่เพจ The Active