ชีวิตบนเส้นด้าย: เสี่ยงตายหรืออดตาย ทางสองแพร่งของแรงงานนอกระบบ

“เร็ว ๆ เข้า”

เขาร้องตะโกนบอกน้องชาย ขณะที่ตัวเองรีบใส่เสื้อยืดแขนยาวสีส้มยัดลงกางเกงยีนส์สีเข้มขายาว ข้างหลังเสื้อมีข้อความคำเตือน “ปลอดภัยไว้ก่อน” เพื่อให้ตระหนักในการทำหน้าที่ทุกครั้ง

เขารีบใส่รองเท้าบูทรัดข้อรูปทรงหนา ใต้พื้นรองเท้าติดขาเหล็กปีนเสาไฟฟ้า (Pole Step) เป็นเหล็กเพลายาว 9 นิ้ว ยื่นพ้นจากรองเท้าออกมาเห็นได้ชัด เส้นผ่านศูนย์กลาง 4 หุน ที่เหยียบเหล็กแบน 1.5 นิ้ว

ใจของ ‘วิทวัส’ จรดจ่อผูกสายรัดรองเท้าให้มั่นใจว่า แน่น – ปลอดภัย และหยิบอุปกรณ์ทำงาน ทั้งประแจ คีม มีดคัตเตอร์ เทปพันสายไฟเหล่านี้ เสียบไว้ที่เข็มขัดเชือกขนาดใหญ่ที่เอว น้ำหนักทั้งหมดของอุปกรณ์ต่าง ๆ บนตัวไม่ต่ำกว่า 5 กิโลกรัม จากเด็กหนุ่มธรรมดา เมื่อเขาใส่เครื่องแบบ ‘แรงงานปีนเสาไฟ’ ความทะมัดทะแมง ความเชื่อมั่น ประกอบร่างให้เขาดูเหมือนผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานมานาน

‘วิทวัส’ และชายวัยหนุ่มหลายสิบคน ง่วนอยู่กับการติดตั้งสายไฟฟ้า มีเพียงเชือกเหนี่ยวรั้งไว้ไม่ให้พลาดพลั้งตกลงจากเสา พวกเขาเป็นลูกจ้างรายวันของผู้รับเหมางานมาจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งกำลังขยายเขตไฟฟ้าให้ครอบคลุมจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งอยู่ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC: Eastern Economic Corridor ซึ่งต่อยอดความสำเร็จมาจากโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) รายได้จากการพัฒนาอุตสาหกรรมในปี 2563 ของพื้นที่นี้สูงถึง 2,464,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 14% ของ GDP ประเทศไทย เป็นความหวังสำคัญของรัฐที่มุ่งเป้าจะไปสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมของอาเซียนในอนาคต

“EEC เป็นระเบียงเศรษฐกิจของใคร?” เพราะชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานในพื้นที่เหล่านี้ กลับไม่ได้สอดคล้องกับรายได้มวลรวมของประเทศแต่อย่างใด โดยเฉพาะพวกเขา ลูกจ้างรายวันรับเหมาช่วง อีกรูปแบบหนึ่งของแรงงานนอกระบบ เช่น ‘วิทวัส’ ชายหนุ่มอายุ 20 ปี และ ‘วิทิต’ น้องชายวัย 18 ปี สองพี่น้องเป็นแรงงานอพยพมาจากจังหวัดสุรินทร์ วุฒิการศึกษาชั้น ป.6 ไม่สามารถหางานในโรงงานได้ ค่าแรงวันละ 450 บาท เป็นเงินที่พวกเขาคิดว่ามากแล้ว สำหรับคนไม่มีทางเลือกมากนัก

“สายข้างบนที่ผมทำตอนนี้ มีไฟฟ้าอยู่ ไม่มีไฟเฉพาะเส้นข้างล่าง อันตรายถึงชีวิตเลย ใครบ้างอยากเล่นกับไฟ ใจหนึ่งก็ไม่อยากทำหรอก แต่มันก็ต้องทำ ไหนจะลูก ไหนจะแฟน”

วิทวัส: กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่บนเสาไฟฟ้า

ระหว่างเวลาพักเล็กน้อย ‘วิทวัส’ เล่าให้ฟัง “เวลาที่อยู่บนเสามีไฟใช่ไหมครับ บางทีก็โดนไฟชอร์ตบ้างก็มี ค่าแรงที่ผมทำได้วันละ 450 บาท แต่ก็ไม่ได้พอจ่ายค่างวดรถ ค่าบ้าน ค่าลูก แค่เงินค่านมลูกเฉย ๆ ก็ปาไปครึ่งเดือนแล้วครับ”

“ทำงานอะไรก็ได้ ต่อให้เป็นงานก่อสร้างผมก็ทำ ขอแค่อย่าให้ครอบครัวอดอยากก็พอ จริง ๆ ผมไม่อยากปีนขึ้นตอนมีไฟฟ้าตามเสา ถ้าผมโดนชอร์ตมา ไหนจะค่าโรงพยาบาล ไหนจะเสียรายได้ เพราะไม่ได้ทำงานอีก”

แรงงานนอกระบบอีกกว่า 20 ล้านคนในประเทศไทย มากกว่าครึ่งหนึ่งทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม รองลงมาทำงานอยู่ในภาคการค้า และภาคการผลิต ปัญหาส่วนใหญ่ที่พวกเขาเหล่านี้ต้องเผชิญ คือ ค่าตอบแทนอันน้อยนิด การจ้างงานที่ไม่ต่อเนื่อง การทำงานหนักเกินไป และไร้สวัสดิการสังคมรองรับ ภาวะความรู้สึกไม่มั่นคงทางการเงิน ทำให้พวกเขาเลือกจะทำงานโดยไม่มีวันหยุด ทำงานเกินชั่วโมงที่กฎหมายกำหนด แต่ทางเลือกของแรงงานนอกระบบมีไม่มากนัก หากไม่อยากเสี่ยงตายทำงานอันตรายที่ได้ค่าแรงมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำเล็กน้อย ก็อาจต้องอดตายจากภาระค่าใช้จ่ายที่เกินจะแบกรับ

“ในชีวิตทุกคนก็ต้องเสี่ยงอยู่แล้วครับ มีความเสี่ยงหลายแบบ งานนี้ผมอาจจะเสี่ยงที่ต้องตกลงมาพิการหรือเสียชีวิต บางคนเสี่ยงที่จะเอาตัวเองไม่รอด ไม่มีเงินกินข้าว ไม่มีอะไร เราก็ไม่ได้รวยอะไร เราไม่ทำงานก็ไม่มีเงินกินข้าว เราก็ต้องอดตายเหมือนเดิม”

วิทิต: กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่บนเสาไฟฟ้า

‘วิทวัส’ กับน้องชาย ‘วิทิต’ ทำงานเป็นแรงงานรายวันปีนเสาไฟมากกว่า 2 ปีแล้ว เราสังเกตเห็นว่า มีแต่คนรุ่นหนุ่มเท่านั้นที่ขึ้นปีนเสาไฟ “คนที่มีอายุมากขึ้น จะเลื่อนไปเป็นหัวหน้างาน เพื่อกำหนดจุดและพื้นที่การทำงานให้กับพวกเรา ผมเรียนมาน้อย โอกาสที่จะเติบโตคงไม่มี ที่มาทำงานนี้ เพราะพ่อเคยทำมาก่อน แล้วชวนกันมาทำ ทุกวันนี้ก็คือการสะสมความรู้ประสบการณ์”

“พวกผมไม่มีประกันสังคม แต่เถ้าแก่ทำประกันอุบัติเหตุให้”


นับจากทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ผลจากโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝังตะวันออก ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนและชาวบ้านไปอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบต่อการขยายเมือง เช่น การเวนคืนที่ดินของชาวบ้านในเขตพื้นที่ของการพัฒนาอุตสาหกรรม ส่งผลให้ชาวบ้านบางส่วนที่ยังยืนสิทธิในที่ทำกินของตนเองต้องตกอยู่ในวงล้อมของนิคมอุตสาหกรรม และการขยายตัวของเมืองอุตสาหกรรม เช่น ชุมชนแหลมฉบัง หมู่บ้านอ่าวอุดม จังหวัดชลบุรี เป็นต้น การอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาของประชากรในระยะแรก จะเป็นแรงงานก่อสร้างประเภทรับเหมา หมุนเวียนกันเข้ามาเพื่อก่อสร้างสิ่งอำนายความสะดวก แรงงานเหล่านี้จะพักอาศัยอยู่ตามบ้านพักชั่วคราว แคมป์คนงาน ตู้คอนเทนเนอร์ หรือบางครอบครัวก็อาศัยและมีชีวิตอยู่บนหัวรถพ่วง

ประชากรจากหลากหลายภูมิภาค ต่างอพยพเข้ามาหางานเป็นลูกจ้างอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมและพื้นที่โดยรอบ การเคลื่อนย้ายผู้คนต่างถิ่นเข้ามา และการเกิดขึ้นของชนชั้นทางสังคมแบบใหม่ ได้แก่ ผู้คนต่างถิ่น คือ กลุ่มคนที่เข้ามาแสวงหางานทำหรือประกอบอาชีพ (เป็นประชากรแฝงของท้องถิ่นจังหวัดนั้น ๆ ) เช่น แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม พ่อค้าแม่ค้า และผู้ประกอบการรายย่อย หรือผู้ที่เข้ามาประกอบอาชีพนั้น อาจมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 88 และเกือบทั้งหมดมีระยะเวลาในการเข้ามาอยู่ตั้งแต่ 1 เดือนจนกระทั่ง 10 ปี มีรายได้ประมาณไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน แต่กลับมีภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตจำนวนมาก เช่น การส่งเงินกลับบ้าน ค่าเทอมและค่าใช้จ่ายของบุตรหลาน ค่าผ่อนสินค้าและค่าเช่าบ้าน ค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินชีวิตประจำวัน เติมน้ำมันรถ ค่าเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย เป็นต้น

สิ่งที่น่าสนใจในการขยายเมืองอุตสาหกรรม ทำให้เกิด “ชนชั้นกลางใหม่ในสังคมอุตสาหกรรม” คือ กลุ่มชาวบ้านที่มีบ้าน ที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ประกอบการธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับความเจริญเติบโตของเมือง อุตสาหกรรม เช่น ร้านอาหาร ร้านค้าของฝาก ร้านซักรีด หรือร้านโชว์ห่วย เป็นต้น และมี “ชนชั้นล่างในสังคมอุตสาหกรรม” คือ กลุ่มแรงงานรับจ้างราคาถูก กลุ่มคนเร่ร่อน หรือชาวบ้านในชุมชนแออัด ผู้คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ประสบปัญหาต่อการปรับตัวกับการมีชีวิตแบบอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก เนื่องจากเคยมีวิถีชีวิตแบบเกษตรหรือเป็นชาวประมงมาก่อน หลายรายปรับตัวไปประกอบอาชีพเป็นผู้รักษาความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรม

ผศ.ธนิต โตอดิเทพย์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ทำการวิจัยที่เผยให้เห็นความจริง “คนจนในเมืองอุตสาหกรรม” โดยเฉพาะเมืองชลบุรีถูกออกแบบเพื่อรองรับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม (เบา) เท่านั้น คนจำนวนมากไม่มีพื้นที่ใช้ชีวิต พื้นที่สาธารณะเพื่อการพักผ่อนน้อยมาก เช่น หากต้องการเตะฟุตบอล ต้องจ่ายเงินเช่าสนาม จึงไม่เป็นที่แปลกใจว่า ทำไมคนจำนวนมากในเมืองนิคมอุตสาหกรรมชอบดื่มเหล้า

ในเมืองอุตสาหรรม ร้านเหล้าเปิดตั้งแต่ 6 โมงเช้าเพื่อรองรับคนเลิกงานกะเช้า เพราะพวกเขาไม่มีพื้นที่ให้ทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่สำคัญ คือ ชีวิตถูกกำหนดด้วยตารางการทำงาน คนทำงานเป็นกะหรือ shift work หากต้องการมีรายได้สูงก็ต้องแลกด้วยการทำงานหนัก เงินเดือนอาจขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ความหวังของแรงงานอยู่ที่โบนัสปลายปี 

ประชากรในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมประมาณ 80-90% เป็นประชากรแฝง มีแรงงานระดับล่างจำนวนมากที่ไม่ว่าจะจบด้วยวุฒิไหน (แม้แต่จบปริญญา) จะต้องยอมรับค่าแรงขั้นต่ำ หากยอมรับเงื่อนไขค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ ก็ต้องไปสมัครงานที่อื่น หรือหากต้องการเงินที่มากขึ้นก็ต้องแลกด้วยการทำงานล่วงเวลา โดยรายได้เฉลี่ยของแรงงานจะอยู่ที่ประมาณ 13,000 – 14,000 บาท (รวมค่าตอบแทนล่วงเวลาแล้ว) ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอกับค่าครองชีพ จึงเป็นไปได้ยาก หากเด็กจบใหม่ต้องการสร้างตัวในพื้นที่นี้ ส่วนใหญ่จึงเป็นคนต่างถิ่นที่เข้ามาทำงาน เช่าที่อยู่อาศัย และพยายามทำงานเก็บเงินเพื่อโยกย้ายกลับไปใช้ชีวิตที่บ้าน ถิ่นกำเนิด หรือที่อื่น

ผศ.ธนิต ระบุว่า “ผู้คนจำนวนมากในที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง รวมไปถึงระยอง เป็นประชากรแฝงทั้งหมด ไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการออกแบบเมืองหรือที่อยู่อาศัย แม้ประชากรแฝงจะเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับล่างที่สำคัญ แต่กลับถูกมองข้าม ทั้งจากสายตาของรัฐและคนในท้องถิ่นว่าเข้ามาสร้างปัญหา กอบโกย เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ และสุดท้ายก็กลับบ้าน”

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องงบประมาณ ที่มาจากการบริหารของรัฐ เป็นงบฯ รายหัวตามทะเบียนราษฎร์ ประชากรแฝงจึงถูกมองว่ามาฉกฉวยใช้พื้นที่ทรัพยากรของคนตามทะเบียนราษฎร์ หรืออย่างสวนสาธารณะที่จัดทำขึ้นมาอย่างดี แต่ปิดไม่ให้บริการโดยทั่วไป เพราะมองว่าประชากรแฝงเข้ามาใช้พื้นที่กันเยอะ เป็นตัวอย่าง การออกแบบเมืองที่ไม่จำเป็นต้องให้ความสนใจกับ “คน/แรงงาน” แต่กลับให้ความสนใจกับกลุ่มทุนมากกว่า

และเมื่อชลบุรีเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตามแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ที่มีการขยายตัวของพื้นที่อุตสาหกรรม ทำให้ผลประโยชน์กระจุกตัวอยู่กับกลุ่มนายทุน เช่น เครืออมตะ เติบโตขยายตัวมากกว่า 40,000 ไร่ จากการประกาศเขตอุตสาหกรรมพิเศษ หรือ การปรับสีผังเมือง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเทียม บริเวณบางปะกงซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ เกิดขึ้นโดยเอกชนที่เข้ามาจัดตั้งโรงงานและขับไล่ชาวบ้านออกนอกพื้นที่ 

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ/นิคมอุตสาหกรรม ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ แต่กลับกลายเป็นรูปแบบ รัฐซ้อนรัฐ ที่ปล่อยให้นิคมอุตสาหกรรมจัดการชีวิตแรงงานอีกทอดหนึ่ง

หากเปรียบให้เห็นภาพชัด ผศ.ธนิต ยกตัวอย่างว่า เคยถามคนขับรถตู้คอนเทนเนอร์ว่า หากมีมอเตอร์ไซด์ปาดหน้า คนขับจะเลือกหักหลบหรือขับชน คนขับเลือกชน โดยให้เหตุผลว่าเจ้านายสามารถเคลียร์ให้ได้ แต่ถ้าหักหลบแล้วรถคว่ำเกิดความเสียหายแก่ของในตู้คอนเทนเนอร์ อาจทำให้เขาตกงานได้ ตัวอย่างนี้สะท้อนให้เห็นการให้คุณค่าต่อชีวิตแรงงานที่น้อยกว่ามูลค่าสิ่งของ และภาพปัญหาของเมืองอุตสาหกรรมที่ไม่ได้เอื้อให้เกิดคุณภาพในการดำเนินชีวิตของแรงงาน


ณ ห้องแถวชั้นเดียว ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ในเทศบาลนครแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นที่พักของแรงงานนอกระบบ มีทั้งแรงงานไทย และแรงงานข้ามชาติ ค่าเช่าเดือนละ 2,000 บาท ‘วิทวัส’ อาศัยอยู่กับแฟนสาวที่เพิ่งมีลูกด้วยกันไม่นาน เพราะว่าต้องเลี้ยงลูก ความหวังที่จะกลับไปเรียนต่อของคนทั้งคู่จึงจบลง เด็กหนุ่มวัย 20 ปี ต้องเปลี่ยนชีวิต ดิ้นรนทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัวให้อยู่รอด ด้วยค่าจ้างรายวัน

ภรรยาของวิทวัสชื่อ จูน ตอนเรียนอยู่ชั้น ปวช. 2 พ่อประสบอุบัติเหตุ เธอต้องออกจากโรงเรียนเพื่อให้น้องสาวได้เรียนต่อ แม้มีความฝันที่จะกลับไปเรียนต่อ มีงานดี ๆ ทำ แต่ทุกอย่างก็ต้องจบลง เมื่อจูนตั้งท้องในวัย 18 ปี… เธอทำงานรับจ้างทุกที่ที่คนจ้าง

“ตั้งแต่เริ่มเลยขายเสื้อผ้า ขายส้มตำ แล้วก็ไปรับจ้างที่ร้านข้าวแกงปักษ์ใต้ ต่อจากนั้น ก็ไปเป็นแคดดี้ เปลี่ยนงานทุก ๆ สองเดือน ช่วงนี้เป็นลูกจ้างอยู่ร้านอาหารใกล้บ้าน”

เมื่อมีลูก เธอก็ย้ายที่อยู่ตามครอบครัวของวิทวัสมาจากจังหวัดสุรินทร์ อาศัยอยู่ในห้องเช่าราคาเดือนละ 2,000 บาท โดยมีแม่ พ่อเลี้ยง และน้องชายของวิทวัสพักอยู่ในห้องเช่าถัดไป ระหว่างคุยถามทุกข์สุขและอนาคตที่อยากเห็น จูนเสียงเครือ พยายามกระพริบตาถี่ไล่น้ำตาไม่ให้เราสังเกตเห็น แต่ความพยายามเล็กน้อยนั้นไม่สำเร็จ น้ำจากหางตาไหลรินอาบหน้า เรารับฟังความสะเทือนอารมณ์ที่เข้าครอบงำบรรยากาศไว้ เหมือนได้ยินเสียงจากที่ไกล ๆ ทั้งที่เธอนั่งอยู่ตรงหน้า

“ทุกวันนี้ หนูทนไปเพื่อตัวเล็ก ย่าไม่เคยให้หนูอดเลย แต่พอมาอยู่อย่างนี้ หนูรู้เลยว่าความลำบากมีจริง พอเวลาหนูทะเลาะกับเขา หนูก็อยากเลิก หนูก็โทรไปหาย่า ‘แม่ หนูทนไม่ไหวแล้วนะ’ ย่าก็บอกว่ากลับมาอยู่บ้านก็ได้นะ ย่าก็เลี้ยงหนูได้เหมือนกัน แต่หนูก็คิดว่า ย่าเขาก็ลำบากอยู่ ไม่อยากให้เขาลำบากเพิ่มขึ้นไปอีก ไม่อยากเพิ่มความลำบาก เอาทุกข์ของเราไปโยนทิ้งให้กับคนอื่น หนูโตมาคิดว่าย่ากับปู่เป็นพ่อแม่ของหนู”

ส่วน ‘วิทวัส’ เอง เขาเลือกโอนโอกาสของเขาไปที่ลูกทั้งหมด “เลี้ยงเด็กคนหนึ่งกว่าจะโตได้แต่ละเดือน เขาเกิดมาแล้วก็ต้องเลี้ยงให้ถึงที่สุด ชีวิตของผมต่อให้ไม่เพอร์เฟกต์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผมก็พยายามประคับประคองไปให้ได้”

แต่วันนี้ วิทวัสถูกเลิกจ้างกะทันหันโดยไม่ได้รับเงินค่าชดเชย จึงใช้เงินเก็บทั้งหมดที่มีอยู่ราว 5,000 บาท ซื้ออุปกรณ์มาลงทุนขายปลาหมึกย่าง ขณะที่จูนทำงานเป็นลูกจ้างในร้านขายไก่ทอด มีรายได้น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ เขาทบทวนตัวเองในวันวาน

“ผมจบ ป.6 เป็นคนดื้อ เกเร เที่ยวตะลอนไปกับเพื่อน เห็นวัยรุ่นแต่งตัวโก้ เท่ กินเหล้า มีปัญหาเรื่องต่อยตี ความคิดผมในวัยนั้นมันเท่ไปหมด วัยรุ่นที่เขาทำ เราอยากทำได้แบบเขา คิดว่าเป็นเรื่องที่ดูเท่สำหรับเรา แต่ทุกวันนี้เป็นอะไรที่เราไม่น่าทำแบบนั้นเลย”


“ผมอยากให้น้อง (วิทิต) ให้มีวุฒิที่สูงกว่าผม เรียนการศึกษานอกระบบก็ได้ ลูกเมียยังไม่มี เขายังไปต่อยอดได้อีกไกลในอนาคต อายุเขายังน้อย เมื่อมีความรู้อาจจะไปทำอย่างอื่น ไม่ต้องมาตากแดดอยู่บนเสาไฟแบบนี้”

‘วิทวัส’ เคยบอกน้องชายด้วยความเป็นห่วง ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนกว่า 1 ใน 3 ของประเทศต้องกลายเป็นแรงงานนอกระบบนั้น สัมพันธ์กับระดับการศึกษาที่ไม่ผ่านการศึกษาภาคบังคับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ให้ข้อมูลที่น่าตกใจอย่างยิ่งว่า เด็กไทยจำนวนกว่า 2 ล้านคนกำลัง ‘เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา’ ขณะที่กว่า 5 แสนคนได้หลุดออกนอกระบบการศึกษาไปแล้ว หลังวิกฤตการณ์ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562

ผศ.ธนิต ให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า รายได้เฉลี่ยต่อหัวในประชากรในจังหวัดระยองและชลบุรีพุ่งถึงหลักล้านต่อหัวต่อปี นับว่าสูงติดอันดับหนึ่งในสามของประเทศไทย แต่รายได้ที่แท้จริงของแรงงานหรือชาวบ้านในพื้นที่กลับไม่สอดคล้องกับตัวชี้วัดดังกล่าว สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มถ่างขยายมากขึ้นไปอีก เพราะค่าแรงขั้นต่ำรายวันของระยองอยู่ที่ 335 บาท โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปรับขึ้นเพียง 10 บาท แม้ ‘วิทวัส’ และ ‘วิทิต’ จะได้ค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่ 450 บาทต่อวัน แต่ต่อให้พวกเขาทำงานทั้งปี ไม่มีวันหยุดพัก พวกเขาก็จะได้เงินเพียง 13,500 บาทต่อเดือนเท่านั้น

เพราะวุฒิการศึกษาเป็นตัวกำกับทางเลือกในชีวิตของ ‘วิทวัส’ ‘วิทิต’ และ ‘จูน’ ให้เหลือเพียงไม่กี่ทางให้เดิน

จังหวะชีวิตที่ผลิกผันทำให้ ‘วิทิต’ ต้องหยุดเรียนในวันที่ใกล้จะจบ ม.3 วุฒิการศึกษาแค่ชั้นป.6 ไม่เคยถูกใช้สมัครงาน เขายังหวังถึงโอกาสที่จะมีชีวิตดีกว่านี้

การสร้างคนผ่านโอกาสทางการศึกษา จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด สำหรับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน การแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นเรื่องเดียวกันกับการพัฒนาคนอย่างไม่อาจแยกขาดจากกันได้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2561 จึงเน้นการสร้างเสริมระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามความถนัดของตนไปจนสุดความสามารถ และตามบริบทในชุมชนท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ ไม่ให้ความยากจนส่งต่อข้ามชั่วคนไปยังรุ่นต่อไปได้อีก

2 ปีที่จากบ้านไปขายแรงงาน นี่เป็นครั้งแรกที่ ‘วิทิต’ เดินทางกลับบ้าน จังหวัดสุรินทร์ เขาตั้งใจไปหายายที่บ้านเกิดในอำเภอรัตนบุรี และไปโรงเรียนเดิมที่เรียนไม่จบ โดยหวังว่าจะมีวุฒิ ม.3 กลับไปหางานที่ดีขึ้น

เขาทั้งดีใจและเสียใจปนเปจนแยกไม่ออก มียาย ป้า และน้ารออยู่ที่บ้าน “ผมกลับมาโรงเรียนเดิม เพื่อแก้เกรดศูนย์ที่ติดอยู่ครับ ค้างไว้ 2 ปีแล้ว อยากจะกลับมาแก้ให้ผมเรียนจบ” เขาเรียนรู้จากการได้เห็นชีวิตของแต่ละคน โดยเฉพาะคนที่ได้เรียนกับไม่ได้เรียน แตกต่างกันแค่ไหน “งานปีนเสาไฟก็ทำได้เรื่อย ๆ แต่ผมไม่อยากทำแล้วเพราะว่าอันตราย ไม่รู้ว่าวันหนึ่ง หากพลาดมาจะเป็นอย่างไร?”

นอกจากเป็นการกลับบ้านครั้งแรก นี่ยังเป็นครั้งแรกที่เขานำเงินเก็บสะสมเรือนหมื่นมอบให้ยายที่เพิ่งกลับจากการไปเก็บปูนาในนา ซึ่งยายยังเลี้ยงชีพด้วยการเป็นลูกจ้างให้กับนาเพื่อนบ้าน และการโอบกอดที่อบอุ่นจากยายก็เป็นครั้งแรกที่ช่วยปลอบโยนเขาเช่นกัน

“ยายดีใจ ภูมิใจ เลี้ยงไว้ไม่เสียแรง เขาเป็นคนดี เคยสัญญากับแม่จ๋าไว้ ว่าจะไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ จะเป็นคนดี ยายภูมิใจ ดีใจ ที่มีโอกาสเลี้ยงมาตั้งแต่เล็ก ๆ ตั้งแต่เกิด เสียดายพ่อจ๋า ไม่ได้เห็นหลานเอาเงินมาให้”

ความฝันของยาย อยากเห็นหลานได้เรียนสูง ๆ ทำงานในห้องแอร์ ไม่ลำบากเหมือนยาย และพ่อแม่ ส่วนความฝันของ ‘วิทิต’ นั้น ต้องการให้ครอบครัวกลับมาอยู่บ้านที่สุรินทร์อย่างมีความสุขด้วยกัน เพราะเมื่อทุกคนเดินทางไปเป็นแรงงานอพยพต่างถิ่น บ้านที่อบอุ่นกลายเป็นบ้านร้างว่างเปล่า

ทว่า เขาต้องผิดหวัง เพราะกลับมาช้าเกินไป อายุของเขาเกินการศึกษาภาคบังคับ ครูที่โรงเรียนเก่าช่วยได้เพียงออกใบรับรองการศึกษา เพื่อสามารถนำไปใช้เรียนต่อปรับเกรดใหม่กับการศึกษานอกโรงเรียน ครูยังอวยพรให้เขามีกำลังใจว่า การศึกษาทางเลือกยังเปิดกว้างแก่เขา


แรงงานนอกระบบอย่าง ‘วิทิต’ และ ‘วิทวัส’ เป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ของเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พวกเขาเดินทางเข้ามาด้วยความหวังและความฝันที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เก็บเงินได้สักก้อนเพื่อกลับบ้านที่จากมา

วันนี้ ‘วิทิต’ กลับมาหาพี่ชายอีกครั้ง ที่บ้านพักในนิคมอุตสาหกรรม ครอบครัวของพี่ชายกำลังสาละวนซื้อกับข้าวของสดจาก ‘รถพุ่มพวง’ รถกระบะเร่ขายอาหารของ ‘วิน’ ชายวัยกลางคน อดีตแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม ที่ผันตัวมาเป็นเจ้าของกิจการรายย่อย บอกว่า เขาเสียเวลากับการเป็นแรงงาน ต่อให้ทำงานล่วงเวลาทุกวัน ทั้งปี รวมหลาย ๆ ปี เขาก็ไม่สามารถยกฐานะของตัวเองได้ เมื่อร่างกายไม่สามารถใช้กำลังวังชาเป็นต้นทุนขายแรงงานเช่นคนวัยหนุ่ม เขาจึงถอยออกมากโดยมีเงินเก็บติดตัวเล็กน้อยมาก เขายอมเป็นหนี้ครั้งใหญ่ในชีวิต โดยลงทุนผ่อนรถกระบะคันนี้ทำเป็นรถขายอาหารเร่

“เมื่อก่อนขายดีมาก ยอมรับว่าเราสร้างเนื้อสร้างตัวจากการขับรถพุ่มพวงขายกับข้าวมา ตั้งแต่ปี 2539 ที่รัฐบาลประกาศนโยบายโชติช่วงชัชวาลที่นี่เลย” ช่วงนั้นเขาต้องจ่ายตลาดซื้อวัตถุดิบ อาหารสดต่าง ๆ สองรอบ แต่ความยินดีแสดงออกผ่านสีหน้าได้ไม่นาน ‘วิน’ บอกว่าช่วงหลังเศรษฐกิจไม่ได้ เขาจ่ายของเพียงหนึ่งรอบวนรอบชุมชนในเมืองอุตสาหกรรมทั้งวันก็ยังขายไม่หมด รถพุ่มพวงกลายเป็นตัวชี้วัดปากท้องและเศรษฐกิจภาคไม่เป็นทางการได้อย่างดี

“คนรุ่นเก่าแก่ที่ซื้อของสดมาทำอาหารเองก็ทยอยล้มหายตายจาก คนรุ่นใหม่ น้อยครอบครัวจะทำอาหารกินเอง เขานิยมซื้ออาหารถุงสำเร็จรูป” และที่ซ้ำเติมคนจนในเมืองอุตสาหกรรมให้ทุกข์ทวีขึ้น คือ ตั้งแต่เกิดวิกฤตโรคระบาด แรงงานข้ามชาติจำนวนมากกลับประเทศภูมิลำเนา และไม่กลับเข้ามาอีกเลย การจ้างงานก็ลดน้อยลง

ประสบการณ์จาก ‘วิน’ กำลังส่งไม้ต่อให้กับครอบครัว ‘วิทวัส’ ‘วิทิต’ และ ‘จูน’ แรงงานนอกระบบที่เป็นฟันเฟืองของเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งปลายทางของผลประโยชน์ไม่ได้กลับมาสนับสนุนหล่อเลี้ยงพวกเขาที่อยู่ในซอกหลืบของความเจริญ


อ้างอิง

ธนิต โตอดิเทพย์. “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนไป ในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทย”. ในชุดโครงการวิจัย “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนไป”. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัติกรรม (สกสว.). พฤษภาคม 2563.

บทสัมภาษณ์พิเศษ ธนิต โตอดิเทพย์. “เมืองแห่งงาน ที่ไม่ได้ออกแบบเพื่อแรงงาน”. กองบรรณาธิการ The Active หรือ “ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ” ไทยพีบีเอส. เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564.

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active