ถนนคนเสี่ยงจน: ความจนในโลกยุคใหม่ ที่คนต่อไปอาจเป็นคุณ

‘น้องแพร’ เด็กหญิงอายุสองขวบ ซุกหน้ากับอกพ่อ หลบแดดร้อนและฝุ่นควันขนาดเล็กจากรถราบนท้องถนนเมืองใหญ่

ขณะที่ ‘หรั่ง’ พ่อวัย 37 ปี อดีตหัวหน้าช่างประจำโรงแรมใหญ่ กลายเป็น ‘ไรเดอร์ส่งอาหาร’ ที่ต้องกระเตงลูกน้อยด้วยเป้เด็กอย่างระมัดระวังและเลี้ยงสมดุลระหว่างขี่มอเตอร์ไซค์

ด้านหน้าคือลูกน้อย ส่วนด้านหลังคือกล่องใส่อาหารขนาดใหญ่ บางครั้ง ‘น้องแพร’ ตื่นร้องไห้หิว อ้อน พ่อขอกินน้ำ หรือฉี่เต็มผ้าอ้อมสำเร็จรูป ‘หรั่ง’ จำเป็นต้องแวะจัดการธุระส่วนตัวให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อเก็บชิ้นงานให้มากที่สุดตลอด 6-8 ชั่วโมงต่อวัน แม้รู้ว่าท้องถนนเสี่ยงมากมายอย่างไร นี่คือทางที่เขาต้องเลือก

เขาถูกกดดันให้ออกจากงานประจำที่ทำมากว่า 5 ปี ในช่วงเวลาที่มีงานประจำ รายได้เกือบเดือนละ 30,000 บาท หนี้สินจากบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด เคยเป็นสิ่งที่จัดการได้ แต่จู่ ๆ ต้องกลายเป็นคนว่างงาน ทำให้ภาระทางการเงินนี้กระทบชีวิตเข้าอย่างจัง

ส่วนภรรยาที่ตกงานช่วงเวลาไล่เลี่ยกันต้องตระเวนสมัครงาน ในเมื่อดอกเบี้ยจากหนี้สินไม่เคยหยุดรอใคร และปากท้องของทุกคนในบ้านก็ต้องการอาหารมาเลี้ยงดู

“ชีวิตที่ไม่ใช้เงินมันเป็นไปไม่ได้หรอก ทำงานอะไรก็ได้ ผมไม่เกี่ยงที่ไหนก็ได้ ขอให้มีเงินเดือนพออยู่ได้ แต่ถ้าแย่ลงกว่านี้ อีกหน่อยสงสัยนอนใต้สะพานแน่เลย”

‘หรั่ง’ ตัดพ้อกับชะตาชีวิตช่วงนี้

‘น้องเกล’ กำลังยืนเต้นเกาหลีคัฟเวอร์แดนซ์อย่างร่าเริงให้แม่ดูในห้องเช่าอันคับแคบเหมือนที่เคยทำทุกวัน ‘มะลิ’ แม่เลี้ยงเดี่ยวนั่งดู พร้อมปรบมือเป็นจังหวะให้ลูก เธอยิ้มอย่างมีความสุข ถ้าลูกสาวยังยิ้มได้ รอยยิ้มนั้นช่วยปลอบประโลมหัวใจแม่ไว้

“ที่ทำงานเก่าเขาให้ออกจากงานมา แบบไม่ได้ตั้งตัว อายุ 49 ปีจะ 50 ปี เราจะไปทำอะไรได้ จะไปเป็นแม่บ้านก็ไม่มีใครรับ ตัดเรื่องการหางานทำประจำออกไปเลย เมื่อก่อนทำงานอยู่ในห้องแอร์เย็น ๆ คือปรับตัวเยอะมาก มาขี่รถส่งอาหารแล้วมาเจออากาศร้อน ๆ บางครั้งวันหนึ่งออกไปเจอสามฤดูเลยก็มี”

ทางไม่ได้เลือกของ ‘มะลิ’ และลูกสาววัย 8 ขวบ ต้องย้ายมาอยู่ในห้องเก็บของแคบ ๆ ที่ไม่ได้ออกแบบมาให้คนพักอาศัย ต้องมาเช่าอยู่ในราคา 1,000 บาทต่อเดือน เพื่อลดค่าใช้จ่าย หลังจากตกงานตกงานกะทันหัน จากที่เคยเป็นผู้ช่วยดีไซเนอร์ในแผนกขายเสื้อผ้าของห้างสรรพสินค้า มีเงินเดือน 20,000 บาท เธอต้องผันตัวมาเป็นแรงงานแพลตฟอร์มส่งอาหาร ขี่มอเตอร์ไซค์คู่ใจคันเก่าหารายได้ให้พออยู่รอดในช่วงเวลาที่ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อกับชีวิต      

รถมอเตอร์ไซค์ที่เคยขับขี่ไปทำงานของทั้งสองคน กลายเป็นเครื่องมือทำมาหากินของคนตกงานยุคใหม่ หลายคนผันตัวเองออกมาสมัครขับรถรับส่งอาหาร และส่งเอกสารประจำแอปพลิเคชัน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้พรากความหวังและความฝันจากพวกเขาไป อย่างไม่ทันตั้งตัว จากที่เคยมีงานทำ มีรายได้มั่นคง เขาต้องกลายเป็นคนจนต้องดิ้นรนทุกวิถีทาง เพื่อเอาชีวิตรอดในเมืองใหญ่


พิษเศรษฐกิจจากโรคระบาดครั้งใหญ่ ทำให้คนจำนวนมากต้องกลายเป็นคนตกงาน แล้วก็กลายเป็นคนที่มีสภาพเสี่ยงจน คือ ผู้มีรายได้น้อยกว่า ‘เส้นความยากจน’ ‘สมชัย จิตสุชน นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) อธิบายว่า ‘เส้นความยากจน’ นั้นดูจาก 3 มิติ คือ คนหนึ่งมีเงินเข้าถึงอาหารเพียงพอไหม มีบ้านที่อยู่อาศัย และเสื้อผ้าใส่หรือไม่ เมื่อแปรเป็นตัวเลขคือรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 3,000 บาท ตั้งแต่ปี 2559 -2561 เกิดคนจนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งที่เศรษฐกิจของประเทศไทยขยายตัว GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 1-3 การเพิ่มขึ้นของคนจนในอดีตมักสัมพันธ์กับปัญหาทางเศรษฐกิจ เช่น วิกฤกต้มยำกุ้งหรือภัยพิบัติต่าง ๆ

“ผมกังวลว่า ความจนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว จะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘คนจนเรื้อรัง’ หรือ ‘คนจนดักดาน’”

กลุ่มคนจนเรื้อรัง คือคนที่ยังจนและไม่สามารถขยับขยายไปทางไหนได้ แม้ว่าจะเกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจในอนาคตไปทางใดก็ตาม และยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้นว่า ในช่วงวิกฤตโรคระบาดนี้ คนจนเรื้อรังกลุ่มนี้จะยิ่งมีปัญหาเรื่องความจนซ้ำเติม จนไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้หรือไม่ คนจนกลุ่มนี้จะยิ่งแย่มากขึ้นหรือไม่ เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไป

ข้อมูลจากรายงานสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ไทยมีคนจนอยู่ 6.7 ล้านคน และคาดว่าหลังการระบาดของโควิด-19 คนจนจะเพิ่มขึ้นอีก พบว่าปี 2563 มีจำนวนผู้ว่างงานพุ่งสูงถึงประมาณ 6.5 แสนคน อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.69 เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.98 และหากรวมคนจนในมิติอื่น ๆ ด้วย ตัวเลขจะขยับไปที่ 13.8 ล้านคน แต่ในที่นี้เราจะพูดถึงเฉพาะ “ความจน” ที่ชี้วัดกันทางรายได้เท่านั้น

        

ในอีกมุมหนึ่ง ‘เดชรัต สุขกำเนิด’ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ยังพบว่า หลักประกันในชีวิตของคนจนสั่นคลอนมากขึ้น ข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า คนกลุ่มนี้ มีเงินออมเพื่อใช้ยามเกษียณลดน้อยลง หรือติดลบ ซึ่งภาวะคนตกงาน ขาดรายได้ ในช่วงที่มีการปิดเมืองเพื่อคุมการระบาดโควิด-19 ยิ่งฉายให้เห็นภาวะสภาพคล่องทางการเงินของคนไทย ที่ไร้เงินเก็บ มีข้อมูลบ่งชี้ว่า มากกว่า 50% ของครัวเรือน ที่รายได้น้อยกว่า 50,000 บาท มีสัดส่วนเงินออมเพื่อเป็นหลักประกันส่วนบุคคลน้อยลง และคนส่วนใหญ่มีเงินออมไว้ใช้ในยามฉุกเฉินเพียง 1-3 เดือนเท่านั้น ส่วน 58% ของครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาท/เดือน มีรายได้ลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งจากสถานการณ์นี้ และคนกลุ่มนี้ยังมีโอกาสสร้างหนี้เพิ่มขึ้น

กว่า 6 เดือนแล้ว ที่ ‘หรั่ง’ กลายเป็นคนตกงาน รถมอเตอร์ไซค์คันเก่ายังต้องผ่อนเดือนละ 1,700 บาท กับบริษัทเช่าซื้อรถยนต์ ด้วยระบบเงินผ่อนหรือไฟแนนซ์ นอกจากนี้ คนจนเมืองรุ่นใหม่อย่างเขา ยังมีหนี้สินจากบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และหนี้นอกระบบราว 200,000 บาท

คิดไม่ออกเลยว่าจะทำอย่างไรต่อ จะเดินชีวิตอย่างไรต่อ พรุ่งนี้จะกินอะไร หนี้รถ หนี้สิน ช่วงแรก ๆ ก็ไม่มีหรอกช่วงทำงาน พอช่วงโควิดมันกลับกลายเป็นหนี้เฉยเลย ผมท้อเครียดจนนอนไม่ได้ เราก็คิดหางานว่าจะทำอย่างไรต่อ จนมาได้ขับรถส่งอาหาร ตอนนี้รายได้วันหนึ่ง เหมือนใช้ไปวัน ๆ ดูเหมือนจะเป็นหนี้มากกว่าเดิม ต้องหาวิธีแก้ไข คิดว่าต้องหาทำธุรกิจหรือไม่ก็งานประจำไปเลย”

ภรรยาของ ‘หรั่ง’ ทำงานที่เดียวกันในโรงแรม ต้องกลายเป็นคนตกงานไปด้วย เมื่อภรรยาของเขาต้องออกหางานทำ เขาจึงต้องพา ‘น้องแพร’ ออกตะเวนขับรถรับส่งอาหาร ทั้งที่รู้ว่าเสี่ยงอันตราย ที่รู้ว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อบนท้องถนน แต่เขาก็ไม่มีทางเลือก เพราะไม่มีเงินส่งให้ลูกไปสถานรับเลี้ยงเด็ก นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่ชายคนนี้ได้ทำหน้าที่พ่อ ที่พ่อคนหนึ่งจะทำได้กว่า 6 เดือนแล้ว มีแต่หนี้สินล้นพ้นตัว ข่าวร้ายยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อ ‘หรั่ง’ กลับมาถึงบ้าน พบว่าข้าวของถูกนำออกมากองไว้นอกห้อง พร้อมกับกุญแจปิดล็อกห้องไว้อย่างแน่นหนา เพราะค้างค่าเช่ามานานกว่า 6 เดือน

“ผมคงไปอยู่บ้านพี่สาวก่อนครับ ไปอยู่แบบชั่วคราว เพราะผมยังวิ่งรถแถวนี้ ผมอาจต้องหาเช่าบ้านถูก ๆ หน่อย ใครเห็นว่าวิ่งรถส่งอาหารสนุก ๆ จริงแล้วมันไม่สนุกนะ คือตอนนี้เหมือนคนขับเยอะมากขึ้น ทำให้งานลดลงไปเรื่อย ๆ มันเฉลี่ยแบ่งงานกันไปทำ”


การทำงานอาชีพที่คอยส่งอาหารราคาแพงให้แก่คนชนชั้นกลางได้กิน แลกกับเงินค่าจ้างต่อครั้งหลักสิบ หรือไม่กี่ร้อยบาทต่อวัน ทำให้พวกเขาไม่กล้าที่จะไปกินอาหารแพง ๆ ต้องอาศัยอาหารตามสั่งจานละ 30-40 บาทเพื่อให้อิ่มท้อง พอมีแรงทำงานต่ออีกทั้งวัน รายได้จำเป็นจะต้องเหลือแบ่งไว้เป็นค่าน้ำมันรถ ค่าผ่อนงวดรถจักรยานยนต์ หรือค่าสึกหรอของรถ ค่าเช่าห้องรายเดือน โดยไม่มีโอกาสได้คิดถึงเงินเก็บสะสม

“คนงานแพลตฟอร์ม” (Platform Labor หรือ gig worker) หรือ “แรงงานที่ทำงานบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ” เป็นรูปแบบหนึ่งของแรงงานนอกระบบ มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมเมืองของประเทศไทยอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นบริการส่งอาหาร ส่งเอกสาร บริการซักรีดหรือทำความสะอาด บริการนวด ฯลฯ อาชีพเหล่านี้ดำรงอยู่และดำเนินไปท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด เนื่องจากคนที่เคยมีอาชีพประจำ ต้องตกงานฉับพลันก็เข้ามาอยู่ในกลุ่มภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการนี้ด้วย

“แรงงานที่ทำงานบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ” เติบโตก้าวกระโดดท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดโควิด -19 เป็นทางเลือกที่ไม่ใช่ทางรอดของทุกคน ทั้งมีข้อกังวลที่ซ้ำเติมคนที่เข้าสู่อาชีพนี้ อาทิ ความเป็นธรรมเรื่องค่าตอบแทน “ความมั่นคงในอาชีพ” รวมถึงสวัสดิการที่บริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มมองข้ามคนงานไปทั้งสิ้น

ทั้ง ‘หรั่ง’ และ ‘มะลิ’ เป็นแรงงานไร้สวัสดิการ บริษัทแพลตฟอร์มมักเรียกพวกเขาเป็นพาร์ทเนอร์ (Partner) หรือหุ้นส่วนการทำงาน แต่แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะแรงงานเหล่านี้ไม่มีสัญญาจ้าง แต่ได้รับเงินจากการทำงานเป็นรายชิ้น เป็นเพียง “ผู้รับจ้างทำของ” รับค่าตอบแทนตามชิ้นงาน จึงไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน ไม่ได้รับการดูแลหรือเงินชดเชยหากประสบเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุจากการปฏิบัติงาน ตายหรือคลอดบุตร ไม่มีวันลา ไม่มีการชดเชยการเลิกจ้าง

แม้จะเคยมีการรวมตัวกันเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 คนขับ GrabBike และกลุ่มสมาชิก Grab สันทนาการ จำนวนกว่า 500 คน มารวมตัวกันหน้าอาคารธนภูมิ สำนักงานใหญ่ของ Grab ประเทศไทย เพื่อเรียกร้องเกี่ยวกับมาตรฐานการคุ้มครองแรงงาน แม้ข้อเรียกร้องจะยังไม่บรรลุผล แต่ก็ทำให้เห็นความตื่นตัวในการเรียกร้องสิทธิแรงงานในลักษณะนี้มากขึ้น

“เราทำงานมากขึ้นเพื่อที่จะได้ค่าแรงน้อยลง เราทำงานมากขึ้น เวลาของเราที่จะอยู่กับครอบครัวก็น้อยลง การลดค่าแรงเปรียบเสมือนการลดคุณค่าของคนขับ ลดคุณค่าของครอบครัวคนขับ มันเป็นปัญหาลูกโซ่”

‘เรย์’ ไรเดอร์ พูดเสียงสั่นเครือระหว่างที่เขากับเพื่อน ๆ เกือบ 500 คน จากแอปพลิเคชัน Line Man ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนนโยบายของไลน์แมน โดยเฉพาะเรื่องค่ารอบวิ่งในแต่ละรอบที่ถูกปรับลดจาก 62 บาท เหลือแค่ 50 บาท มารวมตัวหน้าตึกทีวัน สุขุมวิท (T-One) ซึ่งเป็นสำนักงานเช่าของ Line Man-Wongnai เพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องถึงบริษัทให้ปรับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา

ปัญหาของแรงงานแพลตฟอร์ม:

  • สถานะคนงาน: บริษัทแพลตฟอร์มมักเรียก “คนงานแพลตฟอร์ม” (Platform worker) เป็นพาร์ทเนอร์ (Partner) หรือหุ้นส่วนการทำงาน แต่คำว่าพาร์ทเนอร์นี้ ทั้ง ‘คลุมเครือ’ และ ‘มีคำถาม’ เกี่ยวกับสถานะของคนงาน ว่าเป็น พนักงานบริษัท หรือ หุ้นส่วน อย่างที่บริษัทเรียก ขณะที่ สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Just Economy and Labor Institute หรือ JELI ) มอง “คนงานแพลตฟอร์ม” เป็นคนทำงานรายชิ้น (gig worker) ไม่ได้เป็นพาร์ทเนอร์หรือหุ้นส่วนอย่างที่บริษัทเรียก ซ้ำร้ายจากการวิจัยพบว่า คนงานแพลตฟอร์มไม่มีสัญญาจ้าง ไม่ได้เป็นพนักงานประจำของบริษัท แต่ได้รับเงินจากการทำงานเป็นรายชิ้น
  • “คนงานแพลตฟอร์ม” เป็นคนทำงานรายชิ้น (gig worker) หรือ “ผู้รับจ้างทำของ” จะอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และได้รับค่าตอบแทนตามชิ้นงาน ในขณะที่ลูกจ้างที่เป็นแรง งานในระบบจะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554
  • การที่แรงงานผู้ให้บริการกับแพลตฟอร์มไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานหมายถึงการขาด การประกันสังคมตามมาตรา 33 (ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตายหรือ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตรและชราภาพ การว่างงาน) ขาดการดูแลจากกองทุนทดแทน (ความเจ็บป่วยและอันตรายที่เกิดจากการปฏิบัติงาน) สิทธิประโยชน์วันลา วันหยุดโดยได้รับค่าจ้าง การชดเชยการเลิกจ้าง การดูแลสภาพการทำงาน เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และสิทธิในการรวมตัวกันและการเจรจาต่อรองร่วม
  • สถานการณ์ปัจจุบัน คนงานแพลตฟอร์มต้องเผชิญกับความเสี่ยงของของโควิด -19 ทำให้พบปัญหาหลัก ๆ อยู่ 3 เรื่อง คือ เรื่องของรายได้ (ที่ไม่แน่นอนในแต่ละวัน) สวัสดิการ และสิทธิของคนงาน โดยรากเหง้าของปัญหาทั้งหมดมาจากสถานะคนงาน
    1. ค่าจ้าง: เนื่องด้วยคนงานแพลตฟอร์มรับงานเป็นรายชิ้น ทำให้ไม่มีหลักประกันรายได้ขั้นต่ำของค่าจ้าง และในปีที่ผ่านมามีการปรับลดลงของค่าจ้างมาโดยตลอด แม้อยู่ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ก็ตาม เพราะฉะนั้น ปัจจัยหลาย ๆ อย่างทั้งโควิด-19 เศรษฐกิจตกต่ำ และความไม่มั่นคงในอาชีพ รวมถึงบริษัทแพลตฟอร์มรับคนเข้ามาทำงานจำนวนมากอย่างไม่จำกัด ความคาดหวังของคนที่เข้าสู่อาชีพนี้ จะหาทางเลือกเพื่อเป็นทางรอด ทว่า อาชีพนี้กลับไม่มีความมั่นคงในอาชีพ และยิ่งเป็นการขูดรีดแรงงานของคนงานแพลตฟอร์มที่ต้องทำงานมากกว่าวันละ 12 ชั่วโมง เพื่อให้มีรายได้ประทังชีวิต “หาเช้ากินค่ำ” อย่างพอเอาชีวิตรอดเป็นวัน ๆ
      • ข้อสังเกตอันน่าแปลกใจ: ธุรกิจแพลตฟอร์มสามารถขยายตัวและผลประกอบการค่อนข้างดี แต่มีการปรับลดค่าจ้างลงเรื่อย ๆ จนนำไปสู่การประท้วงของไรเดอร์แกร็บ (Grab) เรียกร้องค่าตอบแทนรายเดือนให้เพียงพอต่อการยังชีพ ให้มีการกำหนดค่าตอบแทนที่เป็นมาตรฐาน
    2. สวัสดิการที่ไม่เพียงพอ: เมื่อบริษัทแพลตฟอร์มไม่ยอมรับว่าแรงงานเป็นพนักงานหรือลูกจ้าง ทั้งที่สภาพการทำงานชี้ชัดว่าเข้าข่ายพนักงานของบริษัท บริษัทผลักภาระต้นทุนให้แก่คนทำงาน อย่างน้อยต้องมีพาหนะเป็นของตนเอง หรือกลุ่มผู้หญิงที่ทำความสะอาดจำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์ทุกอย่างในการทำงาน ต้องออกค่าเดินทางเอง ไม่มีสวัสดิการเมื่อประสบอุบัติเหตุในระหว่างการทำงาน หรือการเจ็บป่วยจากการทำงาน เช่น ถูกของมีคมบาด การสัมผัสพิษ หรือการต้องเผชิญกับฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว
      • เรื่องสวัสดิการทางสังคมเป็นเรื่องที่ผูกติดกับสถานะแรงงาน เพราะกลุ่มคนงานแพลตฟอร์มเป็นแรงงานนอกระบบ เป็น “แรงงานอิสระ” กฎหมายไทยไม่เปิดโอกาสให้คนงานแพลตฟอร์มเข้าไปเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 ในการเข้าถึงสิทธิ เช่น การลาป่วย การมีวันหยุดตามเทศกาล หรือการลาป่วยแล้วยังได้รับค่าตอบแทน รวมถึงการคุ้มครองแรงงานช่วงลาคลอด หรือการตกงานด้วย
    3. สิทธิแรงงาน: ก็เกี่ยวข้องกับสถานะคนงานเช่นกัน ทำให้เกิดความแตกต่างของอำนาจต่อรอง เพราะสถานะคนงานอยู่นอกกรอบกฎหมาย และบริษัทแพลตฟอร์มมักใช้อำนาจเกินขอบเขต
      • เมื่อบริษัทแพลตฟอร์มมีรูปแบบการจ้างงานแบบใหม่ ทำให้แพลตฟอร์มไม่ได้ถูกกำกับด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายอื่น ๆ จึงเป็นเรื่องตลกมากที่บริษัทแพลตฟอร์มสามารถทำหลาย ๆ อย่างที่นายจ้างปกติไม่สามารถทำได้ เช่น การลงโทษ การปิดแอปพลิเคชัน การหักเงินเดือนเมื่อขอลา การลงโทษเมื่อเขายกเลิกงาน อีกทั้งแพลตฟอร์มขนาดใหญ่หรือแพลตฟอร์มข้ามชาติ เช่น Grab ไม่มีกลไกในการรับฟังปัญหาของคนทำงาน ที่สำคัญ แพลตฟอร์มข้ามชาติ อย่างเช่น Grab หรือ Gojek เหล่านี้มีอิทธิพลทางการตลาด ในการกำหนดทิศทางการจ้างงานต่าง ๆ ทำให้แพลตฟอร์มย่อยยึดปฏิบัติตาม

        จริงแล้ว คนทำงานแพลตฟอร์มเขามีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจได้ เช่น กลุ่มไรเดอร์ก็มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเมืองใหญ่ ถ้าทุกคนหยุดทำงานก็เกิดการชะงักของกระแสการเคลื่อนที่ของสินค้าในสังคมเมือง แต่ทุกวันนี้ เขายังไม่มีอำนาจเพราะยังไม่มีการรวมตัวกันเป็นองค์กรหรือสหภาพ ไม่มีการจัดตั้งกลุ่มคนงานแพลตฟอร์ม

“ขอล้างเพื่อนคู่ชีวิตหน่อย ถ้าไม่มีเขา (รถมอเตอร์ไซต์) คงลำบากมากเลย กลายเป็นตัวหาเงินหลัก สงสารเขามากเลย มันเริ่มพังแล้ว ส่วนเครื่องไม่ค่อยโอเคแล้ว ดันมาใช้งานในตอนที่อายุเริ่มเยอะแล้ว กลัวจะไปก่อน พยายามดูแลรักษาอยู่ เสียงอะไรดังนิดหน่อยก็ต้องเอาเข้าอู่ซ่อมรถให้เขาดูอาการอย่างเร็วเลย เพราะว่ามันเคยดับบ่อย อยู่ดี ๆ ก็ดับ เหมือนจะเกเรแล้ว”

‘มะลิ’ กับ ‘น้องเกล’ ช่วยกันล้างมอเตอร์ไซต์คันเดียวที่มีอยู่ ไม่นานนักเสียงเรียกจากแอปพลิเคชันให้รับงานเข้ามาพอดี เธอจึงพาลูกสาวซ้อนรถด้านหน้าไปส่งอาหารด้วยกัน

“ออกมาแบบนี้เกลก็ได้เที่ยวด้วย เพราะวันหยุดเราไม่ได้พาเขาไปไหน ได้ออกมาหน่อยก็ยังดี”

“ก็สงสารลูก แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะออกไปทีค่าใช้จ่ายก็เยอะนะ มันไม่ใช่แค่ให้เวลากับลูก มันต้องใช้เงินด้วยนะ เป็นธรรมชาติของเด็กอยากได้นู่นได้นี่ เขาเห็นตุ๊กตาก็ แม่สวยนะ แต่เขาก็ไม่ได้แบบว่าหนูจะเอา ไว้มีตังค์ค่อยมาเอาก็ได้ แต่ก็ทวงนะ” มะลิเล่าด้วยเสียงเหนื่อย ๆ หลังจากส่งอาหารให้ลูกค้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว

มะลิไม่สามารถหยุดทำงานได้เลย เพราะต้องหาเงินส่งเสียลูกสาว แล้วต้องหาเงินใช้หนี้บัตรเครดิตและสหกรณ์ที่กู้สวัสดิการที่ทำงานเดิม ไม่เพียงขับรถรับส่งอาหาร เธอยังรับงานเสริมคือต้องขับรถส่งเอกสาร งานที่ผู้หญิงอย่างเธอไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะต้องทำ เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว

ความเสี่ยงจน ที่คนในเมืองต้องเผชิญอีกด้าน คือ ความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัย เมื่อสัดส่วนของรายได้กับสัดส่วนของค่าที่อยู่อาศัยนั้นไม่สมดุลกัน คนในเมืองต้องจ่ายเงินค่าที่อยู่อาศัยสูงถึง 30-40% ของรายได้ ‘ชลนภา อนุกูล’ นักวิจัยสมทบ หน่วยปฏิบัติการวิจัยความมั่นคงของมนุษย์และความเท่าเทียม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า ในต่างประเทศมีการวัดความยากจนด้วยเกณฑ์ที่เรียกว่า ความสามารถในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย (Affordable Housing) โดยดูว่าประชากรในแต่ละเมืองมีค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยเกิน 10 เปอร์เซ็นต์มากน้อยเพียงใด เพื่อออกแบบที่อยู่อาศัยในเมืองให้ตอบสนองความต้องการของครัวเรือนทุกระดับ ไม่เน้นเพียงที่อยู่อาศัยของคนชนชั้นกลางขึ้นไปเท่านั้น      

แม้จะมีบ้านที่ต่างจังหวัดให้กลับไปพึ่งพิงในยามยาก แต่ ‘มะลิ’ ก็เลือกจะสนับสนุนความฝันของลูกเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ลูกสาวมีการศึกษาที่ดีในสภาพแวดล้อมที่เด็กหญิงคุ้นเคย

หลังจากเกิดวิกฤตโควิด 19 ทำให้บทสนทนาในประเทศไทยมีการพูดถึงรัฐสวัสดิการมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในแง่นโยบายของพรรคการเมืองและข้อเรียกร้องของประชาชนคนรุ่นใหม่ที่มาเคลื่อนไหวบนท้องถนน เพราะเราต่างตระหนักว่าทุกคนในสังคมมีความเสี่ยงจะเป็นคนจนได้โดยไม่ทันตั้งตัว

นี่จึงเป็นโอกาสอันดีที่รัฐจะทบทวนนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมใหม่ให้รองรับกลุ่มเปราะบาง ป้องกันกลุ่มเสี่ยง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง เช่น ในยุโรปมีการเสนอ ‘สหกรณ์แพลตฟอร์ม’ (Platform Cooperativism) ที่ช่วยประสานความช่วยเหลือ ให้เข้าถึงระบบประกันสังคม ระบบภาษี เปรียบเหมือนฝ่ายบุคคลที่คอยรองรับสวัสดิภาพของแรงงานแพลตฟอร์ม ช่วยต่อรองกับบริษัทที่จ้างงานนั่นเอง

นอกจากนี้ บางประเทศยังมีการปฏิรูประบบภาษีเพื่อสร้างสวัสดิการการระบบเงินเดือนพื้นฐานชีวิต (Universal basic income) โดยมอบเงินสดให้ประชาชนทุกคนในจำนวนที่เพียงพอต่อการดำรงชีพขั้นพื้นฐาน ด้วยฐานความคิดที่เชื่อว่าเมื่อคนเราไม่หิวจนตาลาย ก็จะมีเวลาพัฒนาศักยภาพ ต่อยอดชีวิตให้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วยความมั่นใจ ไม่ต้องเลือกเส้นทางเสี่ยงทั้งที่ยังไม่พร้อมอีกต่อไป

แล้วคุณหล่ะ วันนี้มีหลักประกันใดในชีวิตบ้าง

เราทุกคนเสี่ยงจน และวันหนึ่ง ทุกคนอาจเป็นคนจนฉับพลันได้


อ้างอิง


ชมสารคดีชุด “คนจนเมือง” ตอน ถนนคนเสี่ยงจน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active