“แรงงานก้มหน้า” เมื่อโรคระบาดคือฝันร้ายไม่เลือกสัญชาติ

มีคนก้มหน้าก้มตาทำงาน ไม่เงยหน้าสบตาใคร และไม่ค่อยพูดจา

ทุกเวลามีค่าเป็นน้ำพักน้ำแรง คุณเดินสวนกับพวกเขาบ้างไหม?

เดือนพฤษภาคม 2564 เกิดโรคระบาดรุนแรงในชุมชนแออัด เกิดคลัสเตอร์การแพร่ระบาด ตลาดสด แคมป์คนงาน

โรงงานจำเป็นต้องปิดตัวลง เพื่อควบคุมการระบาดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กลายเป็น “ศูนย์กลางกระจายเชื้อ” แพร่ไปทั่วประเทศ สถานการณ์เลวร้าย ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คนไม่เลือกสัญชาติ

“ตลาดคลองเตย” ตลาดสดโต้รุ่งที่ใหญ่ที่สุดของเมืองหลวง กลายเป็นฉากทัศน์จำลองฝันร้ายของคนจนเมือง เราพบกับ ชายขายมะม่วง จากเมียนมา อายุ 40 ปีกว่า เขาเข้ามาทำมาหากินตั้งแต่ อายุ 15 – 16 ปี เมื่อถามว่า “ชอบไหมประเทศไทย?” มีเสียงหัวเราะนำมา ก่อนคำตอบสั้น ๆ “ก็อยู่มาจนถึงป่านนี้แล้ว” เราไม่เห็นสีหน้าของเขาที่ซ่อนอยู่ภายใต้หน้ากากอนามัยสีขุ่นนั้น 

แรงงานข้ามชาติ

ส่วนคนเข็นผักและรับจ้างเข็นของ สังเกตเห็นหลายคนใส่เสื้อกั๊กสีน้ำเงินบ้าง สีแดงบ้าง บนเสื้อของทุกคนมีหมายเลขสองหลักบ้าง สามหลักบ้าง และมีข้อความระบุ “ตลาดคลองเตย” คือพื้นที่และขอบแดนการจำกัดการทำงานและเดินทางของพวกเขา เสื้อกั๊กเหล่านี้ ลดทอนอัตลักษณ์ความหลากหลายของผู้คนลง เหลือเพียงตัวตน “คนรับจ้าง” ที่ก้มหน้าเดินกึ่งวิ่ง แข่งกันทำรอบ ไม่แวะสุงสิงพูดคุยกับใคร เพื่อแลกค่าแรงรายวัน

“ผมเป็นคนจากประเทศลาวมาทำงาน 3 ปีแล้ว”

“วันนี้ได้กี่รอบ?”
“เพิ่งได้สามรอบครับ ใครจ้างเท่าไร ผมไปหมด ไม่เกี่ยง ขอให้จ้างอย่างเดียว”

“ช่วงมีโควิด, เราอยู่ทางนี้ลำบากไหม?”
“ลำบากครับ”

“กดดัน ตื่นเช้ามา ต้องลุ้นว่าวันนี้จะได้กี่ร้อย พอใช้ไหม จะพอค่าใช้จ่าย ค่าเช่าห้องไหมหาเงินลำบากมากครับ”


เศรษฐกิจของตลาดคลองเตยขับเคลื่อนไปด้วย “แรงงานข้ามชาติ” จากประเทศเพื่อนบ้านกว่า 3,000 คน เป็นมดงานซ่อนตัวกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ คอยรับจ้างขนสินค้า เป็นลูกจ้างของร้านค้าต่าง ๆ คนไทยเจ้าของกิจการในคลองเตยยอมรับว่าพวกเขาเป็นกำลังสำคัญ หากขาดหายไป คนไทยจะต้องลำบากอย่างแน่นอน แต่ท่ามกลางวิกฤตการบริหารจัดการควบคุมโรคระบาด พวกเขากลับเป็นบุคคลกลุ่มลำดับท้ายที่เข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐไทย

มีแรงงานข้ามชาติกว่า 2,347,124 คนในประเทศไทย (ตามรายงานของสำนักบริหารงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน ประจำเดือนสิงหาคม 2564) จากที่ต้องใช้ชีวิตลำบากทำงานหนักแลกกับรายได้อันน้อยนิดอยู่แล้ว ก็ต้องประสบปัญหาหนักหนาซ้ำเติมยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อต้องพบเจอวิกฤตโควิด 19 พวกเขาสูญเสียรายได้จากการถูกลดวันทำงาน บางส่วนถูกเลิกจ้าง บางส่วนต้องเสี่ยงออกไปทำงานโดยไม่มีหลักประกันสุขภาพรองรับ

และนี่ไม่ใช่ปัญหาชั่วคราว แต่เป็นปัญหาเรื้อรังอันซ้อนทับกันหลายชั้น ผูกพันเกาะเกี่ยวกันมายาวนาน ถึงจุดที่ปะทุขึ้นมารุนแรง เมื่อปะทะกับโรคระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในรอบศตวรรษ

ถ้าหนูติดโควิดต้องกักตัว 14 วัน กลับมากักตัวที่บ้านอีก 14 วัน ไม่ทำงานเราก็ไม่ได้เงิน เราทำงานเป็นรายวัน ติดโควิด เขาไม่จ่ายค่าแรงหรอกคะ”

‘คำน่อย’ สาวไทยใหญ่ จากประเทศเมียนมา กล่าวอย่างกังวล ขณะไปต่อคิวรอตรวจโรคโควิด 19 ฟรี ผลการตรวจจะกำหนดว่าชะตากรรมของเธอในอีก 28 วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร 

กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เธอติดโควิดมาแล้วและต้องไปรักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม แต่เมื่อหายดีและกลับมาทำงานในตลาดคลองเตย เธอก็ต้องเสี่ยงกับการติดเชื้ออยู่ตลอดเวลา เพราะยังไม่ได้ฉีดวัคซีน และสภาพการทำงาน

คำน่อยไม่สามารถทำงานที่บ้านได้อย่างชนชั้นกลางในเมือง งานที่เธอต้องทำทุกวัน คือ การจัดของขึ้นร้านขายผักในตลาดสด ตัดแต่งฟักทอง หั่นมะระ ปอกกะหล่ำปลี เริ่มต้นจากค่าแรงวันละ 250 บาท ช่วยงานอย่างแข็งขัน จนเจ้าของร้านขึ้นเงินให้เป็นวันละ 400 บาท ตามหน้าที่รับผิดชอบที่เรียกได้ว่า ทำงานแทนได้ทุกอย่าง ทำงานวันละ 12 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุดมาตลอด 10 กว่าปี

“ยกเว้นวันที่ไม่สบายจริง ๆ เจ๊สั่งให้หยุด หนูไม่อยากหยุด หยุดไป ก็ไม่ได้เงินนะคะ” ระหว่างที่คุยกับเรา มือเธอก็สาละวนหั่นผักโดยไม่หยุดสักนิด

แรงงานข้ามชาติ

แรงงานข้ามชาติอีกนับล้านคนที่เข้ามาเป็นฟันเฟืองในตลาดแรงงานไทย มักต้องอดทนทำงานที่คนไทยไม่นิยมทำ นั่นคือ งานหนัก งานสกปรก และงานอันตราย โดยกระจายตัวอยู่ทั้งในภาคเกษตรกรรม กิจการประมง อุตสาหกรรม และเป็นคนรับใช้ในบ้านของชาวไทยชนชั้นกลาง

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ให้ข้อมูลน่าสนใจว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) พึ่งพาแรงงานข้ามชาติมากที่สุด และประเทศไทยถือเป็นอันดับที่ 17 ของโลก และเป็นอันดับที่ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีแรงงานข้ามชาติหลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากเมื่อเทียบกันแล้ว ค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำในประเทศเมียนมา ราว 3 เท่าตัว 

แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ กระจุกตัวรวมกันในพื้นที่หัวเมืองอย่างกรุงเทพฯ เชียงใหม่ สงขลา สุราษฎร์ธานี บางส่วนยังเลือกทำงานในจังหวัดติดกับชายแดนอย่าง ตาก เชียงราย ระนอง นอกจากนี้ ยังมีการรวมตัวหนาแน่นในจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมอย่าง สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ปทุมธานี ชลบุรี ระยอง


“ไปไหนไม่เป็น ไม่ค่อยจะไปไหน เรามีพาสปอร์ต ไม่โดนจับอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเรากลัว อดหลับอดนอนค่ะ ก็เลยไม่ค่อยได้ไปไหน ถ้ามีวันว่างก็ไปทำบุญที่วัด ปล่อยปลา จะไม่ไปเดินห้าง ถ้าไปแล้ว ก็อยากได้ของโน่นนั่นนี่ เลยไม่ไปดีกว่า และถ้าเราพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็จะทำงานไม่เต็มที่ค่ะ”

คำน่อย อธิบายถึงวิถีชีวิตของตนเองที่ต้องพึ่งพารถสองแถว ไม่ก็มอเตอร์ไซค์รับจ้างในการเดินทางไปทำธุระใกล้ที่พักอาศัย และไปเท่าที่จำเป็น แม้ห้องพักเล็ก ๆ ที่เธออยู่กับสามีจะอากาศไม่ค่อยถ่ายเท แต่ก็อดทนเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด แม้จะต้องฝืนใจและร่างกายอย่างมากในบางวัน

“ยอมทำทุกอย่าง เพื่อจะได้เงินมา เรามาหาเงิน ถึงไม่สบายก็ต้องฝืน หายากิน ยาพาราฯ นี่ซื้อไว้ที่ห้อง ปวดหัวตัวร้อนก็กิน สี่ชั่วโมงกินที ให้มันหาย ๆ ไป เราคิดเองว่าเป็นอะไรนิดนึงแล้วพักผ่อน หยุดงาน แล้วมันจะเป็นหนัก ถ้าเราฝืนทำงานนู่นนี่นั่นเดี๋ยวมันก็หาย”

ห้องพักที่เธออยู่ คือตึกแถวดัดแปลง ตึกหนึ่ง 3 ชั้น ปรับเป็นห้องพักให้แรงงานได้ 12 ห้อง ทั้งตึกอยู่กัน 18 คน การต้องซอยแบ่งเป็นห้องย่อยเล็ก ๆ ทำให้ห้องอับทึบ เพดานต่ำ หลายห้องไม่มีหน้าต่างระบายอากาศ และใช้ห้องน้ำร่วมกัน ตากผ้าร่วมกัน แต่ละห้องถ้าไม่มีพัดลม แทบอยู่ไม่ได้ ที่ผ่านมา ในตึกนี้ ติดเชื้อโควิด 19 ไปแล้ว 10 ห้องจาก 12 ห้อง และบางห้องต้องอยู่ร่วมกัน ทั้งคนติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ จากสภาพที่อยู่อาศัยจึงไม่น่าแปลกใจทำไมจึงเกิดการแพร่เชื้ออย่างรวดเร็วในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

และเผลออดใจไม่ได้ แอบสำรวจเนื้อตัวร่างกายของคำน่อยอย่างละเอียด ใบหน้าและน้ำเสียงที่ดูรื่นเริงสดใส แต่ภายใต้หน้ากากอนามัยโดยรอบนั้นเต็มไปด้วยผดผื่นจากความอับชื้น เพราะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อทำงานในที่สาธารณะ วันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 12 ชั่วโมง เธอพยายามป้องกันตนเองเต็มที่

เมื่อตลาดคลองเตยกลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ใจกลางกรุงเทพมหานคร การแพร่ระบาดทั้งในชุมชน ตลาดสด แคมป์คนงาน โรงงาน ทำให้สถานที่ที่กล่าวมาข้างต้นจำเป็นต้องปิดทำการ ห้ามคนในออก ห้ามคนนอกเข้า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดระลอกใหม่ เมื่อไม่มีงาน ก็ไม่มีเงิน กลุ่มแรงงานข้ามชาติจึงทยอยเดินทางออกจากพื้นที่เพื่อเอาตัวรอด แต่ไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะกลับบ้านเกิด

หนึ่งในนั้นคือ ‘หมวย’ แรงงานข้ามชาติจากประเทศลาว เมืองละคอนเพ็ง แขวงสาละวัน เธอทำงานผ่าเครื่องในไก่ในตลาดคลองเตยมาเป็นเวลากว่า 15 ปี 

“คลองเตยติดเชื้อกันเยอะ คนลาวก็ติดเยอะ คนพม่าก็ติดเยอะ บางคนติดจากที่นี่ ไปรักษาที่ประเทศลาว กลับไปเป็นรถตู้คันละ 10-20 คน เขาบอกว่าที่นี่ไม่รับรักษา ประเทศไทยเขาก็รักษาคนไทยเยอะแล้ว ก็เข้าใจ คนประเทศอื่นกับประเทศตัวเอง ก็ต้องรักษาประเทศตัวเองไว้ก่อน ตัวหนูเองก็กลัว เพราะยังไม่ได้ฉีดวัคซีน”

แรงงานข้ามชาติ

ปัญหาแรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงสิทธิอย่างที่ควรจะเป็นนั้นเกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่ก่อนโควิด 19 แพร่ระบาด

งานวิจัยของ ‘จิราภรณ์ ไพรเถื่อน’ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ชี้ให้เห็นว่า แม้แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่จะมีประกันสังคม แต่เมื่อเจ็บป่วยก็มักซื้อยากินเองหรือยอมจ่ายเงินรักษาที่คลินิกเอกชน เนื่องจากทุกวินาทีที่ต้องนั่งรอคิวเท่ากับรายได้รายวันที่สูญเสียไป แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมายมีสิทธิประกันสังคมรองรับอยู่ แต่นอกจากจะต้องใช้เวลาแล้ว ยังต้องเผชิญกับเอกสารที่ยุ่งยากซับซ้อน ล้วนแต่เขียนด้วยภาษาไทยที่พวกเขาไม่ถนัด ทำให้คนจำนวนมากถอดใจ ล้มเลิกความพยายามที่จะลงทะเบียนรับเงินเยียวยาตามมาตรการของรัฐ 

ในวัย 42  ปี หมวยเป็นแม่ของลูก 4 คน เป็นภรรยาของสามีคนไทย ซึ่งเคยขับรถแท็กซี่ จากที่ทั้งคู่เคยมีรายได้รวมกันมากกว่าวันละ 1,000 บาท แต่เมื่อทั้งเมืองหยุดชะงักด้วยวิกฤตโรคระบาด หมวยจึงกลายเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการหารายได้เลี้ยงทุกคนในครอบครัวด้วยรายได้วันละ 300-400 บาท 

“เครียดมาก บางคืนก็นอนไม่หลับ ทำยังไงจะเลี้ยงลูกเลี้ยงเต้าได้ กลัวหลายอย่าง โควิดก็กลัว เงินก็หาไม่ได้”

หมวยเล่าภาวะที่เธอต้องเผชิญกับงานหนัก เงินน้อย และไม่ได้รับการคุ้มครองใดจากแผ่นดินที่อาศัยอยู่

ระหว่างที่คุยกัน, หมวยก่อไฟจุดเตาถ่านทำอาหารที่หน้าห้องแถวที่เธอเช่าอยู่กับสามีและลูก “ห้องพักราคา 4,000 บาท ก็ไม่อยากอยู่หรอกมันแพง บางครั้งก็อยากจะย้ายหนีเพราะว่าสู้ไม่ไหว แต่ว่าเราไม่มีที่ไป ที่อื่นเขาก็ไม่ให้อยู่เพราะว่าช่วงนี้โควิด เขาไม่รับ ตอนนี้ไม่มีจ่าย ผ่อนเอา ไม่มีก็เลื่อนจ่ายไปเรื่อย ๆ เพราะงานไม่ค่อยเยอะ ได้ตังค์น้อย ก็บอกเจ้าของบ้านเขาเขาก็เห็นใจเรา เขาก็สงสารเรา สงสารเพราะว่านี่แหละตัวเล็ก ๆ เนี่ย” เธอหันไปมองลูกชายวัยเตาะแตะในวงแขนด้วยความเอ็นดู

“ทุกวันนี้ก็หนูนี่แหละ หาเลี้ยงครอบครัว ลูกยังเล็ก แฟนเขาตกงาน แฟนหนูเขาไม่เคยทำงานในตลาด เพราะว่าเขาทำไม่ได้ งานมันหนักมาก เขาบอกว่างานสกปรก”
“อย่าว่าแต่แฟนเลยลูกสาวก็บอก งานสกปรกทำได้ยังไง”
“งานสกปรกนี่แหละที่แม่หาเลี้ยงหนูมาพวกหนูได้กินได้ใช้”

ไม่ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด 19 จะสูงขึ้นหรือลดต่ำลงอย่างไร หมวยก็ต้องออกไปทำงานที่ใคร ๆ ก็เบือนหน้าหนี เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ทั้งที่ตัวเธอไร้ซึ่งสวัสดิการสังคมใด ๆ รองรับ หากบังเอิญติดเชื้อหรือล้มป่วยลง เพราะเธอไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับสามีคนไทย จึงไม่มีโอกาสได้รับสิทธิและสวัสดิการในฐานะพลเมืองไทย


‘อดิศร เกิดมงคล’ ตัวแทนเครือข่ายแรงงานองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG: Migrant Working Group) ขมวดประเภทของแรงงานข้ามชาติในตลาดคลองเตย เพื่อสะท้อนภาพรวมของทั้งประเทศไทย แบ่งได้อย่างน้อย 3 กลุ่ม คือ (1) แรงงานข้ามชาติถูกกฎหมาย ที่มีนายจ้างชัดเจน ขึ้นทะเบียนถูกต้อง มีสวัสดิการประกันสังคม (2) แรงงานข้ามชาติที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว ประกอบอาชีพที่ไม่ได้ถูกระบุไว้ในกิจการของกฎหมายประกันสังคม เช่น คำน่อย คนเข็นผักในตลาด แรงงานที่ใส่เสื้อกั๊กรับจ้างทั่วไป คนเหล่านี้ไม่มีนายจ้างชัดเจน พวกเขาจะถือเอกสารเดินทางแบบนักท่องเที่ยว มีวีซ่าอนุญาตให้อยู่ได้ 30-90 วัน เมื่อครบกำหนดก็ต้องไปต่อวีซ่า ระบบใต้ดินก็จะหาใครสักคน “รับเป็น” นายจ้าง แต่คนเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำงานให้นายจ้างคนนั้นคนเดียว บางคนเข้ามารับจ้างทั่วไปรายวัน แรงงานกลุ่มนี้ มักซื้อประกันสุขภาพแบบสมัครใจ หรือซื้อประกันภัยซึ่งมักมีอายุแค่ 4 เดือนเท่านั้น 

และ (3) แรงงานข้ามชาติที่มีความสัมพันธ์กับคนไทยลักษณะเครือญาติ ไม่มีใบอนุญาตทำงาน เช่น เข้ามาทำงานนานจนแต่งงานกับคนไทย มีลูกได้รับสัญชาติไทยแล้ว ถือวีซ่านักท่องเที่ยวเช่นกัน เช่น กรณีของหมวย แต่ด้วยไม่มีการจดทะเบียนสมรสถูกกฎหมาย ทำให้เธอไม่มีหลักประกันทางสังคมและหลักประกันสุขภาพใด ๆ เลย

ล่าสุดเมื่อตุลาคม 2564, อดิศร ทำวิจัยร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี พบสถิติแรงงานข้ามชาติในเดือนสิงหาคม 2563 จากการขออนุญาตทำงานทั้งหมด 2.19 ล้านคน ประมาณการว่า ควรมีแรงงานข้ามชาติ อยู่ในประกันสังคม จำนวน 1.7 ล้านคน แต่อยู่จริงจำนวน 1.05 คน ควรมีแรงงานข้ามชาติอยู่ในประกันสุขภาพจำนวน 4.6 แสนคน แต่มีอยู่จริงเพียง 3.9 แสนคน และในเดือนเดียวกันนี้ มีตัวเลขประมาณการแรงงานข้ามชาติที่อาจจะไม่มีหลักประกันทางด้านสุขภาพถึง 7.5 แสนคน หรือคิดเป็น 3.4% ของแรงงานข้ามชาติทั้งหมด ทั้งนี้ยังไม่นับรวมแรงงานข้ามชาติที่หายไปจากระบบอีกประมาณ 5 แสนคน

จากข้อมูลข้างต้น ระหว่างเกิดวิกฤตโควิด 19 แพร่ระบาดในประเทศไทย คาดการณ์ว่าปัจจุบันอาจมีแรงงานข้ามชาติที่อาจจะ “ไม่มี” หลักประกันสุขภาพใด ๆ เลย ประมาณ 1.25 ล้านคน นั่นหมายความว่ารัฐบาลไทยพลาดการมี “ส่วนร่วมจ่าย” จากแรงงานข้ามชาติและนายจ้าง แต่กลายเป็นภาระของประเทศที่ต้องแบกรับไว้ โดยไม่มียุทธศาสตร์การจัดการ

สถานการณ์แรงงานข้ามชาติช่วงโควิด-19 เมื่อรัฐบาล “ขาดยุทธศาสตร์การจัดการแรงงานข้ามชาติ ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติหลุดระบบการจ้างงานกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย” เกิดปัญหาใหญ่ 4 มิติ คือ (1) แรงงานข้ามชาติขาดรายได้ เพราะถูกเลิกจ้าง หรือนายจ้างปิดกิจการ เปลี่ยนนายจ้างไม่ได้ เพราะต้องหานายจ้างให้ได้ภายใน 30 วันตามกฎหมาย และยังห้ามออกนอกพื้นที่ และหลุดจากระบบประกันสุขภาพ ทำให้แรงงานจำนวนมากกลายเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมาย ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เข้าไม่ถึงการชดเชยการว่างงาน แรงงานจำนวนมากต้องเคลื่อนย้ายเพื่อหางานใหม่ จึงย้ายไปอยู่ร่วมกันอย่างแออัด  

(2) คนถูกกฎหมายเสี่ยงหลุดจากระบบ แรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมายประมาณ 1.5 ล้านคน เสี่ยงต่อวีซ่าผ่อนผันเข้าประเทศไม่ทัน เกือบทั้งหมดไม่สามารถตรวจสุขภาพได้ เนื่องจากโรงพยาบาลปิดรับตรวจสุขภาพช่วงโควิด ส่วนแรงงานถูกกฎหมายอีก 4 แสนคน (เช่น กรณีคำน่อยหรือหมวย) หนังสือเดินทางกำลังจะหมดอายุ และไม่สามารถต่ออายุหนังสือเดินทางได้ เพราะเดินทางออกนอกพื้นที่ไม่ได้ การปิดชายแดน และการปิดศูนย์ต่ออายุหนังสือเดินทางในประเทศไทย มีค่าใช้จ่ายในการตรวจโควิดเพิ่ม สถานการณ์จ้างงาน กิจการเริ่มปิดกิจการ เลิกจ้าง เปลี่ยนนายจ้างไม่ได้เพราะห้ามออกนอกพื้นที่ ไม่มีรายได้ กลับสู่วังวนเหมือนต้นปี 2564 อีกครั้ง

(3) แรงงานขาดหลักประกันสุขภาพ เนื่องด้วยรัฐบาลขยายเวลาการต่อใบอนุญาต แต่ประกันสุขภาพที่มีหมดอายุ ยังต่อไม่ได้ มาตรการขึ้นทะเบียนรอบใหม่ ตามมติ ครม. วันที่ 29 ธันวาคม 2563 มีค่าใช้จ่ายสูงมากขึ้น แรงงานจำนวนมากอาจเข้าสู่ระบบไม่ได้ และ (4) การเข้าไม่ถึงข้อมูลและการดูแลทางสุขภาพ โดยเฉพาะช่วงล็อกดาวน์ การเข้าไม่ถึงข้อมูลสุขภาพทำให้ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันโรคไปด้วย และคนที่ทำงานไม่ถูกกฎหมายก็กลัวถูกจับ

แรงงานข้ามชาติ

ดังนั้น ในห้วงวิกฤตโควิด 19 แพร่ระบาดไม่เลือกสัญชาติ ทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติลำบากไม่ต่างกัน แต่ด้วย “ความเป็นอื่น” ที่พวกเขาอยู่กับสังคมไทย เราจึงเห็นความเปราะบางของพวกเขาชัดมากขึ้น ตั้งแต่การระบาดระลอกแรกและสอง (ที่จังหวัดสมุทรสาครและใกล้เคียง) พวกเขาเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารการป้องกันตนเองจากโรคระบาด เพราะอุปสรรคด้านภาษา จึงถูกตีตรา เลือกปฏิบัติว่าเป็น “คนแพร่เชื้อ” ทั้งที่คนไทยก็เป็นส่วนหนึ่งในการแพร่เชื้อไม่ต่างกัน และไม่มีใครอยากเป็นคนแพร่เชื้อ หรือบางครั้งการเป็นแรงงานไม่มีเอกสาร หรือกลายเป็นผู้ผิดกฎหมายต้นทางมาจากนโยบายของรัฐไทยเสียเอง

ด้วยปัจจัยข้างต้น เมื่อเข้าการระบาดระลอก 3 เชื่อมต่อระลอก 4 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา ทำให้พวกเขา “แรงงานข้ามชาติ” ก้มหน้ารับชะตากรรม เพราะ (ก) เข้าไม่ถึงการตรวจคัดกรอง มีผลต่อการแยกกักตัวไม่ได้ และเมื่อตรวจคัดกรองแล้วพบว่าติดเชื้อ ก็รอส่งตัวนาน หรือเมื่อไปถึงโรงพยาบาลแล้ว โรงพยาบาลไม่รับเพราะไม่มีเตียงหรือเตียงถูกจัดลำดับไว้สำหรับคนไทยก่อน แรงงานจำนวนหนึ่งถูกไล่ออกจากที่พักอาศัยเพราะขาดรายได้ จำนวนหนึ่งไม่ได้รับการสนับสนุนให้กักตัว ทำให้พวกเขาขาดอาการ อาชีพ ที่พักอาศัย และเข้าไม่ถึงการรักษาเมื่อพวกเขาป่วยจนมีอการ รวมทั้ง (ข) ไม่กล้าเปิดเผยตัวเพราะไม่มีเอกสาร ทำให้เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขขาดโอกาสในการควบคุมโรค “กลุ่มเสี่ยง” ตัวแรงงานข้ามชาติเอง ไม่มั่นใจ กลัวว่าจะไม่ได้รับความช่วยเหลือ กลัวถูกปล่อยให้ตาย โดยเฉพาะช่วงล็อกดาวน์เมืองเห็นได้ชัดว่าเป็นการออกมาตรการโดยขาดความเข้าใจบริบทการจ้างงาน

และที่ผ่านมา ผู้บริหารตลาดคลองเตยเองก็เลือกปิดตลาด เพื่อไม่ต้องรับผิดชอบชีวิตของแรงงานข้ามชาติปล่อยให้เขาต้องดิ้นรนตามชะตากรรม เราจึงเห็นทั้งการกักตัวแรงงานข้ามชาติโดยชุมชนและบางคนก็หลบหนีออกจากพื้นที่ไป


หลังจากที่ตลาดคลองเตยปิดตัวไปกว่าหนึ่งเดือน วันที่ 11 มิถุนายน ตลาดเปิดมาเกือบสัปดาห์แล้ว แต่การคุมระบาดในพื้นที่อาจยังไม่จบลงง่าย ๆ เพราะที่นี่ยังพบผู้ติดเชื้อรายวัน และแรงงามข้ามชาติกลับมาติดเชื้อซ้ำวันนี้ มีหน่วยตรวจเชื้อเชิงรุกมาตลาดแรงงานข้ามชาติที่ตลาดคลองเตยเป็นการเฉพาะ  

“ผลตรวจเป็นลบ” 

คำน่อยดีใจที่สุดที่ไม่ติดเชื้อ เธอโชว์ใบตรวจให้ดู เพราะไม่ต้องกักตัว ไม่ต้องสูญเสียรายได้ แม้การมาใช้สิทธิตรวจหาเชื้อ โดยไม่ต้องเสียเงินจะต้องพบเจอกับการรอคอยที่เกือบทำให้ถอดใจ หลังจากที่ครั้งก่อนไปเข้าคิวตรวจโควิดฟรีในจุดตรวจเชิงรุกใกล้บ้าน แต่กลับพบว่าต้องรอคิวนานเกินกว่าที่เธอจะรอได้ไหว เนื่องจากเจ้าหน้าที่แจ้งว่าต้องให้สิทธิแก่ผู้ถือบัตรประชาชนไทยจนครบก่อน 

แรงงานข้ามชาติ

ข้อมูลจากภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤตโควิด-19 จำแนกมุมมองของรัฐไทยที่ส่งผลถึงการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติไว้อย่างน้อย 3 มุมมอง ได้แก่ 1) แรงงานข้ามชาติเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ จากมายาคติที่เชื่อว่าหากแรงงานข้ามชาติเข้ามาในประเทศจำนวนมากจะส่งผลต่อความมั่นคง 2) แรงงานข้ามชาติเป็นภัยทางสังคม สื่อมวลชนนำเสนอข่าวอาชญากรรมเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติในเชิงลบ สร้างตัวแทนที่ดูอันตราย น่าหวาดกลัว และ 3) แรงงานข้ามชาติเป็นภัยทางสาธารณสุข ด้วยวิธีการนำเสนอตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แยกระหว่างคนไทยกับแรงงานข้ามชาติ สร้างความเป็นอื่นในความรู้สึกของคนในสังคม ว่ามี “คนอื่น” ที่กำลังทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อของประเทศไทยไม่ลดต่ำลงดังหวัง

สำหรับอดิศร ข้อเสนอเร่งด่วนต่อสถานการณ์โควิด 19 ในปัจจุบัน คือ (1) รักษาแรงงานให้อยู่ในระบบ ป้องกันไม่ให้ผิดกฎหมาย มีกลไกการเยียวยา (2) ดึงแรงงานที่ผิดเข้าสู่ระบบ ทำให้จดทะเบียนง่าย ค่าใช้จ่ายไม่แพง ครอบคลุมทุกกลุ่ม (3) ป้องกันการเข้าเมืองผิดกฎหมาย เข้มงวดกับการนำพาที่ผิดกฎหมาย เปิดช่องให้นำเข้าถูกกฎหมาย และ (4) สร้างหลักประกันสุขภาพให้ทุกคน เพื่อให้ตรวจได้ทั่วถึง เข้าถึงหลักประกัน ส่งเสริมสุขภาพด้วยฐานของชุมชน

แต่กระนั้น ‘นภาพร อติวานิชยพงศ์’ อาจารย์จากวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์การเมืองและแรงงาน สรุปว่า สิ่งที่ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่อาจเข้าถึงสิทธิที่พวกเขาควรจะได้รับ เกิดจากข้อกำจัดของกฎหมายบางประการร่วมกับอคติของรัฐที่มีต่อแรงงานข้ามชาตินั่นเอง

แม้วันนี้คำน่อยจะกลับบ้านไปพร้อมรอยยิ้ม แต่ความกังวลก็ยังไม่หมดลง เพราะทุกวันที่ออกไปทำงานคือความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ และที่หนักหนากว่านั้นก็คือการต้องขาดรายได้ระหว่างรักษาตัว เธอยังรอวันที่จะมีสิทธิได้ฉีดวัคซีน เพื่อที่จะได้มีโอกาสรักษาชีวิตให้รอดจากความเจ็บป่วยและการตาย เช่นเดียวกับแรงงานข้ามชาติคนอื่นในประเทศไทย


คำน่อยเล่าความฝันว่า เธอและสามี ตั้งใจจะทำงานในประเทศไทยอีกประมาณ 1-2 ปี เก็บเงินกลับไปดูแลพ่อแม่ที่บ้าน

“เราสองคนก็วางแผนกันไว้จะตั้งใจทำงานแล้วก็ร่วมกันสร้างบ้าน พอสร้างบ้านเสร็จก็จะเก็บเงินได้ส่วนหนึ่งแล้วก็ไปตั้งหลักที่บ้าน ตอนนี้สร้างบ้านยังไม่เสร็จ ต้องเสี่ยงทำงานทุกอย่างเลย ต้องยอมทำทุกอย่างเพื่อที่จะได้เงิน” 

ความยากลำบากที่คำน่อยและหมวยต้องประสบพบเจอ เมื่อตัดสินใจเข้ามาทำงานในประเทศไทย สามารถดีกว่านี้ได้ หากเราร่วมกันคิด ร่วมกันตั้งคำถาม ว่าจะสร้างสังคมที่ดีขึ้นสำหรับเราทุกคนได้อย่างไร

อดิศร ตั้งข้อสังเกตว่า เห็นพัฒนาการของแรงงานข้ามชาติ เช่น ทำหน้าที่ได้แทนนายจ้าง ความรับผิดชอบมาก ไม่ใช่แค่แรงงานที่ใช้ทักษะหรือขายแรงอย่างเดียว สามารถฝึกตัวเองให้พูดและเขียนภาษาไทย และพูดภาษาอังกฤษแทนเจ้าของได้ ดังนั้น ค่าจ้างอันน้อยนิดไม่คุ้มกับการขายแรง สวัสดิการก็ไม่มี ทั้งที่ทำงานอยู่กับนายจ้างคนเดิมและอยู่ในประเทศไทยมานาน แต่ก็ยังไม่เข้าถึงบริการสุขภาพที่ควรจะเป็น 

“ศักยภาพของแรงงานข้ามชาติที่อยู่นานจนมีทักษะ ไม่เคยถูกหยิบมาพูดอย่างจริงจังในสังคมไทยให้เกิดประโยชน์ ทั้งต่อนายจ้าง คนงาน และระบบเศรษฐกิจในภาพรวม เช่น ความเข้มงวดของกฎหมายไทยไม่อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติยกระดับเป็นผู้ประกอบการรายย่อยได้ หรืออาจจะกำลังเป็นผู้ประกอบการรายย่อยอยู่ แต่ไม่สามารถเปิดเผยตัวได้ เช่น เป็นหาบเร่แผงลอยขายของในชุมชนของตนเอง หรือการจ้างงานรายวันด้วยค่าตอบแทนต่ำ ก็ไม่สามารถทำให้เขาสามารถสะสมทุนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและชีวิตตนเองได้ เหมือนในอดีต ที่คนจีนเสื่อผืนหมอนใบสามารถทำงานจนเลื่อนฐานะและยกระดับตัวเองจนกลมกลืนกับสังคมไทย”

ขณะที่ องค์การระหว่างประเทศ (ILO) มีคำตอบที่เกิดจากการวิจัยและเก็บข้อมูลอย่างจริงจัง ออกมาเป็นแนวทางคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่เหมาะสมไว้อย่างละเอียด เพื่อเป็นแนวทางให้รัฐบาลไทยทบทวน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน อย่างเหมาะสม ให้ครอบคลุมทุกประเภท รวมไปถึงแรงงานในภาคเกษตรกรรม งานรับใช้ในบ้าน และแรงงานประมง โดยเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติได้มีสิทธิที่พึงมี ไม่ว่าจะเป็นวันหยุดค่าแรงขั้นต่ำ ชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม วันลาป่วย วันลาคลอด สิทธิในการเข้าร่วมสหภาพแรงงาน โดยรัฐต้องสนับสนุนให้มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง วางระบบร่างสัญญาอย่างมีมาตรฐาน ทั้งภาษาไทยและภาษาที่แรงงานข้ามชาติใช้ด้วย  

กลไกการร้องเรียนที่สะดวกและมีประสิทธิภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติ ก็เป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะคงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน หน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมเฝ้าระวังการละเมิดทุกรูปแบบ ไม่ให้แรงงานข้ามชาติถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง มีระบบร้องเรียนที่ปกป้องผู้ให้ข้อมูลไม่ให้ถูกทำร้ายหรือไล่ออกจากงานโดยไม่มีการชดเชย เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ ต้องมีทักษะสื่อสารด้วยภาษาของแรงงานข้ามชาติได้ หรือมีการจัดหาล่ามสำหรับการสื่อสารที่ถูกต้องแม่นยำ เพื่อดูแลสิทธิตามกฎหมายของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

ส่วนสุดท้ายที่สำคัญที่สุดก็คือ การสร้างความตระหนักในสังคมไทยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์ทุกคนมาตั้งแต่เกิด และการปฏิบัติตนต่อผู้คนที่มีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรมอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน เพื่อให้แรงงานข้ามชาติอยู่ร่วมกับคนไทยได้อย่างปกติสุข ในเมื่อปัจจุบันประเทศไทยพึ่งพาแรงงานข้ามชาติอยู่ถึงราวร้อยละ 6 ของคนทำงานทั้งประเทศ พวกเขาเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนสังคมที่ไม่อาจละเลยได้

จากแนวโน้มประชากรไทยที่จำนวนลดลงเรื่อย ๆ และเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ การยกระดับคุณภาพชีวิต วางรากฐานดูแลแรงงานข้ามชาติให้ดีขึ้น จึงเป็นเรื่องเดียวกันกับการพัฒนาประเทศไทยให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคต 

แล้วคุณคิดว่า ทำไมเขาถึงเป็น “แรงงานก้มหน้า” ตลอดเวลา?

จะมีวันไหนที่พวกเขาจะเงยหน้าคุยกับพวกเราได้อย่างไม่กังวลใจบ้าง


อ้างอิง


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active