เมื่อโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ ทำคนตกงาน-ว่างงานพุ่ง “ปากท้อง” จึงสำคัญไม่น้อยกว่า “การควบคุมโรค”
หากสถานการณ์ปกติ ช่วงเวลานี้ หรือไตรมาส 2 ของปี จะเป็นเวลาที่นักศึกษาจบใหม่ต้องเข้าสู่ตลาดงาน…
แต่การระบาดของ โควิด-19 ระลอกใหม่ซ้อนระลอก เมื่อเดือนเมษายน และยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่าย ๆ ได้ทำให้หลายอย่างชะลอหรือหยุดชะงักอีกครั้ง
แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน ที่เป็นปัญหาต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีก่อน
ข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ศึกษาร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI และ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ UNICEF Thailand ในปี 2563 ประเมินว่าเยาวชนกลุ่มอายุ 15-24 ปี โดยเฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่กำลังจะเรียนจบ มีแนวโน้มว่างงานรวมกว่า 1.3 ล้านคน ส่วนคนวัยทำงาน กลายเป็นคนว่างงานมากถึงร้อยละ 17.9 หรือ กว่า 6 ล้านคน
คนตกงานสะสมต่อเนื่อง โควิด-19 ระลอกใหม่ เพิ่มยอดตกงานว่างงานพุ่ง
เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ประเมินปัญหานี้จาก 2 ส่วน ส่วนแรก คือกิจการที่พอจะเดินหน้าไปได้ ก็อาจจะเดินต่อไปได้ลำบาก เพราะมีการระบาดระลอกใหม่ขึ้นมา จึงอาจต้องปิดกิจการและเลิกจ้างไป เพราะฉะนั้น การเลิกจ้างหรือปิดกิจการก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
ส่วนที่ 2 คือ การจ้างงานใหม่ ซึ่งปกติเด็กจบใหม่ทุก ๆ ปี จะมีโอกาสเข้าทำงานช่วงเวลานี้ คือ ตั้งแต่ไตรมาส 2 และ 3 แต่ในปีนี้ ที่การระบาดระลอกใหม่มาในจังหวะช่วงเวลานี้พอดี ก็จะทำให้เกิดปัญหาภาคธุรกิจหรือผู้ประกอบการ ไม่กล้าจ้างงานใหม่ นั่นหมายความว่า ทั้งการถูกเลิกจ้างและการจ้างงานใหม่ที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานได้น้อยลง อัตราการว่างงานอาจสูงขึ้นจากปีที่แล้ว
ด้วยเหตุผลว่า จะมีส่วนหนึ่งที่ยังหางานไม่ได้จากปีที่แล้ว สะสมมาเป็นส่วนที่หางานไม่ได้ในปีนี้เพิ่มขึ้น และก็อาจรวมกับคนที่ตกงานเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้ มีความเป็นไปได้ว่าเยาวชนน่าจะมีอัตราการตกงาน 10% จากตัวเลขทั้งหมด คือก่อนหน้าช่วงเดือนกรกฎาคม เมื่อปี 2563 หรือปีที่แล้ว ที่มีภาวะล็อกดาวน์ ตอนนั้นก็คือมีอัตราเกือบ ๆ 10 % ส่วนเดือนธันวาคมตัวเลขดีขึ้น ลงมาเหลือ 6% แต่พอมาตอนนี้ก็น่าจะกลับขึ้นไปใกล้เกือบ 10% หรืออาจจะมากกว่า
ตกงาน ขาดรายได้ กำลังซื้อลด ปัญหาปากท้องย้อนวนเป็นวัฏจักร
เดชรัต บอกว่า นอกจากความเป็นอยู่ที่ลำบากมากขึ้น ประการต่อมา คือ กำลังซื้อที่จะมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ก็จะช่วยชะลอตัวไปด้วย
ส่วนหนึ่งที่เห็นว่าเมื่อเดือนธันวาคมสถานการณ์เริ่มดีขึ้น นั่นเพราะแคมเปญสำคัญ เช่น คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ฯลฯ ทำให้รู้สึกว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นคืนมาค่อนข้างดี เพียงแต่เมื่อยังมีงานทำอยู่ แม้ลดเวลาทำงานลง ไม่ได้ค่าล่วงเวลา (โอที) ก็ส่งผลต่อรายได้ และส่งผลต่อกำลังซื้อที่ลดน้อยลงเป็นอย่างมาก เมื่อมาประกอบกับสถานการณ์ช่วงเดือนพฤษภาคม ที่โดยปกติจะเป็นช่วงเปิดภาคเรียน ที่แม้จะเป็นการเรียนออนไลน์แทน แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าหนังสือ ค่าอุปกรณ์ ค่าเล่าเรียน ส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชน
ผมคิดว่า มันมีผล 2 ส่วน คือการทำงานเองและมีผลต่อกำลังซื้อ พอมีผลต่อกำลังซื้อ มันก็วนกลับไปมีผลต่อการทำงาน เพราะเมื่อเรามีกำลังซื้อน้อยลง ภาวะการจ้างงาน มันก็จะน้อยลงไปด้วย
ต้องดึงความร่วมมือทุกภาคส่วน เร่งแก้ไข ปรับงบฯ ไม่จำเป็นมาสนับสนุน
ในส่วนของกลุ่มนักศึกษาและเยาวชน อายุ 15-24 ปี เดชรัต เสนอว่า ต้องมีการจ้างงานลักษณะชั่วคราวราว 1 ปี โดยภาครัฐเป็นเจ้าภาพ ดึงความร่วมมือภาคส่วนต่าง ๆ ทำงานร่วมกัน ภายใต้นโยบายหรือแคมเปญเดียวกัน ที่สำคัญคือการตั้งเป้าหมาย ให้เกิดการจ้างงาน เบื้องต้นสัก 200,000 อัตรา เช่น ที่ทำอยู่อย่างโครงการโคกหนองนาโมเดล หรือ โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งเกษตรทฤษฎีใหม่ ก็มีการจ้างงานบัณฑิต หรือเยาวชนในพื้นที่ให้ทำงานใกล้บ้าน ทำงานกับพี่น้องเกษตรกร เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถดำเนินการในลักษณะนี้ขยายออกไปได้เพิ่มมากขึ้น ก็น่าจะเป็นการช่วยเหลือเยาวชนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างมาก
อีกช่องทาง คือ การเกณฑ์ทหาร แม้จะผ่านมาแล้ว แต่ยังทำได้ในปีถัดไป นั่นคือการโยกงบประมาณที่เห็นว่าอาจจะจำเป็นน้อยในปัจจุบัน ไปใช้ในการจ้างงานด้านอื่นที่มีความจำเป็นกว่า
แต่ละปีจะมีการเกณฑ์ทหารปีละ 100,000 คน ถ้าเราจะแบ่งงบประมาณก้อนเดียวกัน แทนที่เราจะไปเกณฑ์ทหาร ซึ่งคนที่ไปเกณฑ์ทหาร บางคนเขามีงานทำอยู่ แต่หากเรากันออกมาเลยครึ่งหนึ่ง นำงบประมาณส่วนนั้นมาทำการจ้างงาน งบฯ ก้อนเดียวกัน แทนที่จะไปทำในกรมกองทหาร ซึ่งไม่ได้จำเป็นเร่งด่วนในปัจจุบัน ก็กลับมาทำงานกับพี่น้องประชาชน องค์กรปกครองท้องถิ่น หรือหน่วยราชการหน่วยอื่นที่อาจมีความจำเป็นเร่งด่วน ในการเพิ่มอัตราคนทำงานมากกว่า
นอกจากเป้าหมายแล้ว เขาเห็นว่าสิ่งสำคัญ คือ การกระจายรายจังหวัดและรายกลุ่มของเยาวชน เช่น เยาวชนที่ตกงาน ไม่ได้มีเฉพาะคนที่เรียนในระบบมหาวิทยาลัย แต่ยังรวมถึงเยาวชนกลุ่มอื่นด้วย เพราะฉะนั้น ลักษณะการจ้างงาน ต้องไม่มุ่งไปที่การจ้างงานกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
อย่างโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งเกษตรทฤษฎีใหม่ ผมมีโอกาสไปเจอน้อง ๆ ที่ไม่ได้จบมหาวิทยาลัย เขาก็ทำงานได้ดี และใช้โอกาสนี้เก็บเงิน โดยหวังว่าสักวันหนึ่งจะมีโอกาสไปสู่การเรียนมหาวิทยาลัยเหมือนกัน
สร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ที่มั่นคง ให้คนวัยทำงานกลับสู่ตลาดงาน พร้อมกับการพัฒนาศักยภาพ
เดชรัต บอกว่า ส่วนแรก คือ การสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ หมายความว่าต้องใช้เวลามากกว่า 2 ปี ในการฟื้นตัว ทั้งการท่องเที่ยว การส่งออก ให้กลับมาเข้มแข็งเหมือนเดิม ดังนั้น 2 ปีนี้ ภาวะการว่างงานก็อาจดำรงอยู่ เพราะฉะนั้น รัฐบาลควรสร้างเซกเตอร์ (sector) ฐานเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมา ที่จะทำให้เศรษฐกิจเข้มแข็งขึ้น
เช่น ภาคการดูแลเฉพาะบุคคล หมายถึงดูแลผู้สูงอายุ เด็กเล็ก คนป่วยติดเตียง คนพิการ ซึ่งเป็นเซกเตอร์ที่ใหญ่มาก แต่เรากลับไม่เคยมองเป็นเซกเตอร์เศรษฐกิจ ทั้งที่มีจุดแข็ง คือ นอกจากใช้แรงงานเยอะแล้ว ยังมี AI เข้ามาเกื่ยวข้อง หรือมาแทนได้ยากด้วย
อันนี้คือสิ่งที่รัฐบาลมองข้ามไป จึงควรให้ความสำคัญกับการเติบโตของเซกเตอร์นี้
และอีกส่วนที่เติบโตมาก คือ โลจิสติกส์ การขนส่งสินค้ารูปแบบดิลิเวอรี ที่ช่วยตอบโจทย์ ช่วยเพิ่มโอกาสให้กับประชาชนบางส่วนที่ไม่เคยมีโอกาสนี้มาก่อน ไม่เคยขายของออนไลน์มาก่อน แต่ธุรกิจแบบนี้ มีการจ้างงานที่ไม่ได้คุ้มครองแรงงานที่ดีนัก เพราะเป็นการจ้างงานแบบใหม่ เป็นธุรกิจบนฐานแพลตฟอร์ม หรือ กิ๊ก อีโคโนมี (Gig Economy) ทั้งหลาย หากรัฐบาลสามารถวางระบบในการจ้างงานที่คุ้มครองแรงงานที่เหมาะสม นี่ก็เป็นอีกธุรกิจที่น่าจะเติบโตต่อเนื่องต่อไป
ภาคธุรกิจที่สำคัญในอนาคตอีกส่วน คือ ธุรกิจเกษตรอาหารและสิ่งแวดล้อม ที่เรามีศักยภาพอยู่เดิม แต่มักเจอปัญหาอุปสรรค ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม ราคาผลผลิตตกต่ำในช่วง 2 ปีนี้ แต่อีก 2 ปีหลังจากนี้ รัฐบาลควรจะต้องดูแลประคับประคอง อย่าให้ภาคเกษตรต้องประสบปัญหาผลกระทบด้านภัยพิบัติ หรือเกิดปัญหาราคาตกต่ำซ้ำรอยอีก อาจดูเป็นข้อเสนอเดิม แต่สำคัญมาก กับภาวะที่การท่องเที่ยวเรายังไม่ฟื้นตัว การส่งออกยังไม่ฟื้นตัว การดูแลภาคเกษตรให้มีกำลังซื้อ ตรงนี้ ผมว่าสำคัญมาก
ส่วนที่ 2 ที่สำคัญที่ควบคู่ไปด้วย คือ Reskill หรือการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงาน ให้สอดคล้องกับความต้องการ เพื่อให้คนทำงานสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ แม้รัฐบาลมีมาตรการอยู่ แต่ค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนของคนที่จำเป็นต้อง Reskill คิดว่าหากเสริมได้ จะช่วยเรื่องการจ้างงานได้
เมื่อการระบาดที่ยังไม่รู้จะสิ้นสุดตรงไหน การวางแผนรับมือผลกระทบในเรื่องอาชีพและรายได้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตและปากท้องของประชาชน และเป็นอีกเรื่องสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อลดผลกระทบคนว่างงาน ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางวิกฤตที่ทุกคนเผชิญร่วมกัน