“ภาษีลดเหลื่อมล้ำ” วาทกรรม หรือฝันที่ยังไม่เป็นจริง

เมื่อพูดถึง “ภาษี” หากมองจากมุมประชาชนผู้จ่ายภาษี หรือแม้แต่กำลังหาทาง “หลีกเลี่ยง” เพื่อจ่ายภาษีให้น้อยที่สุด คงมีไม่น้อยที่มองว่าเป็น “ภาระ” มากกว่า “หน้าที่” เพราะเข้าไปกระทบต่อเงินในกระเป๋าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หลักการที่ว่า “ไม่มีอะไรได้มาฟรี ๆ” คงจะอธิบายให้เห็นภาพของการจ่ายภาษีได้ชัดเจนที่สุด เพราะไม่ว่าจะจ่ายมากหรือจ่ายน้อย เงินทุกบาททุกสตางค์จะวนกลับมาหาเราไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง

การเป็นเงินทุนสำหรับใช้จ่ายสาธารณะหรือสร้างสวัสดิการสำหรับประชาชน อาจเป็นความหมายที่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีของรัฐ แต่หากมองว่า “ภาษี” เป็นเครื่องมือทางการคลังอย่างหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ด้วย ตอนนี้ประเทศไทยเดินทางมาถึงจุดที่ว่านั้นหรือยัง

The Active ชวนทำความเข้าใจการใช้มาตรการทางภาษีเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ กับ ผศ.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณะ ที่นำเสนอเรื่องการปฏิรูประบบภาษีเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งโครงการงานวิจัยเพื่อสนับสนุนด้านองค์ความรู้ต่อร่างกฎหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า, โครงการแบบจำลองการปรับปรุงภาษีที่ดินและระบบภาษีที่ดินเพื่อการกระจายการถือครองที่ดิน รวมถึงงานวิจัยเรื่องการกระจุกตัวของความมั่งคั่งในสังคมไทย

ลดเหลื่อมล้ำ

ทำไมประชาชนไม่ค่อยเต็มใจจ่ายภาษี

เมื่อมีหลายเสียงในประเทศไม่อยากเสียภาษี รัฐบาลจะต้องสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนว่าการเสียภาษีเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่ต้องจ่ายให้กับรัฐ เพื่อนำมาพัฒนาประเทศในส่วนของการบริการสาธารณะให้กับประชาชนทุกคน อีกทั้งยังต้องเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนให้รู้สึกว่าตนได้ประโยชน์จากการเสียภาษี ซึ่งรัฐก็จะต้องสร้างความมั่นใจว่าภาษีที่นำไปใช้นั้นจะคืนกลับไปยังประชาชนอย่างแท้จริง โดยไม่มีการทุจริตหรือการนำภาษีไปใช้อย่างไม่เหมาะสม และสุดท้ายจะทำให้ประชาชนหันมาเสียภาษีกันมากขึ้น

ความเป็นธรรมทางภาษี ระหว่างคนรวยที่มีความมั่งคั่ง กับมนุษย์เงินเดือน

เมื่อพูดถึงการเสียภาษีอย่างภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จะเห็นว่าประชาชนที่มีฐานะยากจนจะต้องแบกรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มมากกว่าประชาชนคนรวย แม้ว่ามูลค่าของภาษีที่คนรวยจ่ายอาจจะเยอะกว่า แต่สัดส่วนของภาษีต่อรายได้สำหรับคนจนสูงกว่าคนรวย เมื่อเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นการจัดเก็บในลักษณะของอัตราก้าวหน้า จะทำให้คนที่มีรายได้สูงต้องเสียภาษีมากกว่าคนที่มีรายได้น้อย สัดส่วนภาษีต่อรายได้ก็จะสูงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ที่อยู่นอกระบบที่สามารถเลี่ยงภาษีได้ค่อนข้างมาก จึงเกิด ‘ความไม่เป็นธรรมในแนวนอน’ กับผู้ที่อยู่ในระบบอย่างพนักงานบริษัทหรือมนุษย์เงินเดือนซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงภาษีได้ แม้จะมีรายเท่ากันกับผู้ที่อยู่นอกระบบก็ตาม

ภาพรวมภาษีของประเทศไทยตอนนี้มีอะไรบ้าง

ภาษีภาพรวมของประเทศไทย อาจแยกตามโครงสร้างภาษีเป็นภาษีทางตรงกับภาษีทางอ้อม คือ ภาษีทางตรง ในทางเศรษฐศาสตร์ คือคนที่ต้องเสียภาษี ไม่สามารถที่จะผลักภาระภาษีไปให้คนอื่นได้ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีทรัพย์สินต่าง ๆ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีมรดก เป็นต้น

ส่วน ภาษีทางอ้อม คือคนที่มีหน้าที่เสียภาษีสามารถผลักภาระภาษีไปให้คนอื่นได้ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม คนที่มีหน้าที่เสียภาษีก็คือผู้ผลิต แต่เวลาที่มีการเก็บภาษีเช่น VAT 7% คนที่มีหน้าที่เสียภาษีอาจจะไม่ได้รับภาระภาษีทั้ง 7% เพราะเขาสามารถผลักภาระไปให้ผู้บริโภคได้ แต่จะผลักได้มากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์อุปทาน นอกจากนี้ ก็มีภาษีสรรพสามิต ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีศุลกากรต่าง ๆ ในส่วนนี้ คือส่วนของรัฐบาลกลางในภาพรวม จะไม่ได้ลงรายละเอียดมาก

แต่ในส่วนท้องถิ่นเอง ก็จะมีภาษีที่ท้องถิ่นจัดเก็บเองด้วย นั่นก็คือตัวภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีป้าย ภาษีโรงแรม หรือค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ท้องถิ่นสามารถจัดเก็บเองได้ รวมถึงอากรการฆ่าสัตว์ อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย สัดส่วนของภาษีที่ท้องถิ่นจัดเก็บเองถือว่าน้อยมาก คือประมาณ 10% ของรายได้ทั้งหมดของท้องถิ่น ซึ่งในประเทศอื่น ๆ มีถึง 40-50% ทำให้ท้องถิ่นมีอิสระทางการคลังค่อนข้างน้อย

ลดเหลื่อมล้ำ

การใช้มาตรการทางภาษีเพื่อแก้ความเหลื่อมล้ำ ที่ดูเหมือนมีพัฒนาการที่ดี ทั้งการเก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดินฯ

ในส่วนของพัฒนาการการจัดเก็บภาษี ทางกระทรวงการคลังมีความพยายามที่จะปรับปรุง เช่น การหาวิธีจัดการคนที่อยู่นอกระบบ อย่างกลุ่มขายของออนไลน์ให้เข้ามาในระบบเพื่อเสียภาษีอย่างถูกต้อง หรือภาษีที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำอย่าง ‘ภาษีมรดก’ ซึ่งได้มี พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก ออกมา แม้ว่าจะเป็นการยกเว้นการเสียภาษีสำหรับผู้ที่ได้รับมรดกไม่ถึง 100 ล้านบาท แต่ถือว่าเป็นจำนวนค่อนข้างสูงและอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้มากนัก รวมถึง ‘ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง’ เช่นเดียวกัน อาจช่วยได้บ้างในการลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน แต่ต้องรอผลในระยะยาว เพราะเป้าหมายของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคือต้องการให้เป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้มีรายได้และนำไปพัฒนาต่อไป

ดังนั้น ถ้าพูดถึงเรื่อง ‘การลดความเหลื่อมล้ำ’ ของประเทศไทย ในแง่การจัดเก็บรายได้หรือภาษี ยังเห็นไม่แน่ชัดว่ามีภาษีที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างจริงจัง

“ภาษีลดเหลื่อมล้ำ” เป็นแค่วาทกรรมไหม แค่พูดให้ออกมาสวย ๆ แต่แก้ไม่ได้จริง

สำหรับประเทศไทย ยังไม่ได้มีความจริงจังในเรื่องการจัดเก็บภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แม้ว่า ‘ภาษีมรดก’ ดูเหมือนจะเป็นจุดเริ่มต้นที่อาจลดความเหลื่อมล้ำและอาจมีผลบ้างในระยะยาว แต่ยังคงมีจุดบอด เช่น ผู้ที่รู้ตัวว่าจะต้องเสียภาษีมรดกสามารถเลี่ยงภาษีได้อย่างถูกกฎหมายจากการประกาศล่วงหน้าของทางรัฐว่าจะมีการเก็บภาษีมรดกนี้

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นอาจยังไม่เห็นภาพแน่ชัดว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แต่เชื่อว่าในอนาคตอาจมีผลบ้าง ซึ่งก็ต้องปรับปรุงและแก้ไข พ.ร.บ. ด้วย

การใช้มาตรการทางภาษี เพียงพอในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือเปล่า

ในส่วนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยปกติแล้ว เครื่องมือทางการคลังด้านรายจ่ายจะสามารถช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือแก้ปัญหาความยากจนได้มากกว่าทางด้านรายรับ หรือด้านภาษี แต่สำหรับประเทศไทยจะต้อง ‘ใช้ทั้งสองด้าน’ เสริมกันและกันในการลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งรายจ่ายและรายรับ ซึ่งต้องหารายได้เข้ามาเพื่อนำมาเป็นรายจ่าย เนื่องจากการกู้เงินไปเรื่อย ๆ ทำให้ขีดจำกัดทางการคลังเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จนอาจทำให้ฐานะทางการเงินของประเทศไทยไม่มีเสถียรภาพ

ดังนั้น การจะมีสวัสดิการต่าง ๆ หรือการใช้จ่ายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ จึงต้องพิจารณาว่ารายได้ที่นำเข้ามาจะไม่กระทบกับผู้ด้อยโอกาสหรือยากจน ซึ่งจะยิ่งทำให้ภาวะความเหลื่อมล้ำมากขึ้นกว่าเดิม

ตัวอย่างโครงการที่ทำให้เห็นความพยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ด้วยมาตรการทางรายจ่ายและรายได้

มาตรการทางรายจ่ายที่ดูแลเรื่องความเหลื่อมล้ำ เป็นเรื่องสวัสดิการที่ให้กับประชาชนซึ่งต้องครอบคลุมและต่อเนื่อง โดยเป็นเครือข่ายคุ้มครองทางสังคมให้กับประชาชนในประเทศทั้งระบบ ตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ซึ่งเป็นมาตรการที่จะสามารถดูแลในระยะยาวได้โดยเฉพาะสังคมไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ส่วนมาตรการทางรายรับ มีภาษีเป็นตัวหลัก ส่วนเครื่องมืออื่น ๆ นอกจากการจัดเก็บภาษี อาจจะต้องดูว่ามีนวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มรายได้ได้ โดยที่ไม่ต้องเก็บภาษีให้มากขึ้นหรือไม่ แต่ในขณะเดียวกัน โครงสร้างรายรับของประเทศไทย ส่วนใหญ่มาจากภาษีประมาณ 80-90% โดยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาคิดเป็นสัดส่วน 85-90% ซึ่งปัญหาที่ทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีลดลง คือมีการลดหย่อนหรือการยกเว้นที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนหรือคนระดับบนค่อนข้างเยอะ โดยคนเหล่านี้ได้รับสิทธิพิเศษมากมายอย่าง BOI ที่ไม่มีข้อมูลเปิดเผยถึงการสูญเสียรายได้ จึงอาจตรวจสอบไม่ได้ว่าการให้สิทธิพิเศษกับกลุ่มนายทุนจะมีความคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน ซึ่งทางรัฐบาลควรหาวิธีอื่นนอกจากการให้สิทธิเศษในการจ่ายภาษีดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากกว่า

ดังนั้น หากรัฐบาลสามารถลดหรือยกเลิกสิทธิพิเศษดังกล่าวได้ ก็จะเป็นการเพิ่มรายได้เข้ามาอีกก้อนหนึ่ง และอาจจะไม่ต้องเก็บภาษีกับประชาชนทั่วไปเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ความเป็นไปได้ระยะยาว ที่จะใช้นโยบายทางการเมือง หรือนโยบายสาธารณะเข้ามาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

สำหรับนโยบายสาธารณะที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ จะต้องมีสวัสดิการที่ครอบคลุมกลุ่มที่ด้อยโอกาสอย่าง ‘ทั่วถึงและยั่งยืน’ ในขณะเดียวกัน ก็จะต้องมีการกระจายทรัพยากรด้วยการดึงเงินจากผู้ที่มีความสามารถในการจ่ายมาให้กับคนที่ด้อยโอกาสประกอบคู่กันไป แต่จากการออก พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับภาษีของรัฐบาลที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ามีความยากลำบากที่จะดึงเงินผู้ที่มีความสามารถในการจ่ายออกมา ด้วยผลประโยชน์ทับซ้อนจากหลายฝ่าย ขัดขวางการดำเนินงานอยู่

ดังนั้น รัฐบาลจะต้องจริงจังกับการช่วยเหลือและคำนึงถึงประชาชนที่เป็นในระดับฐานรากของประเทศให้มากที่สุด เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับความเดือนร้อนมากกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งสวนทางกับความสนใจของคนในสังคม แม้ว่าจะเป็นคนกลุ่มใหญ่ แต่เสียงที่ส่งมาถึงผู้มีอำนาจกลับเป็นเสียงที่เบา ต่างจากเสียงของกลุ่มที่มีฐานะทางการเงินในระดับดี ซึ่งเป็นกลุ่มที่เล็กกว่ากลุ่มระดับฐานราก กลับได้รับความสนใจมากกว่าผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน

รัฐมีความพยายามเก็บภาษีให้ได้ ลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ แต่ก็มีอุปสรรค?

ด้วยความที่ประชาชนไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียงที่จะต่อรองกับผู้มีอำนาจ นี่จึงเป็นอุปสรรคที่ทำให้ภาษีที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำเป็นไปได้ยาก รวมถึงการผลักดันต่าง ๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำต้องใช้เวลานาน ซึ่งทำให้ความก้าวหน้าของประเทศถูกถ่วงไว้อยู่กับที่ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต้องใช้เวลาร่วม 20 ปี อีกทั้งเมื่อผ่านมาแล้ว ยังเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ที่มีทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นช่องโหว่ทางกฎหมาย หรือข้อยกเว้นบางข้อที่ไม่เหมาะสม นี่จึงเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

ดังนั้น ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายจะต้องมีเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ผ่านการออก พ.ร.บ. ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับคนที่ด้อยโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ

ที่ผ่านมา ภาคประชาสังคม พยายามผลักดันการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำผ่านมาตรการทางภาษีหลาย ๆ อย่าง แต่ดูเหมือนยังมีอุปสรรค

สำหรับภาคประชาชน แม้ว่ามีความพยายามเสนอกฎหมายหลายฉบับ เช่น การเสนอภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าที่เป็นภาษีรวบรวมแปลงตามขนาดการถือครอง แต่ก็ยังไม่ได้รับการสนับสนุนในเรื่องนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจที่สามารถออกนโยบายหรือผ่าน พ.ร.บ. ต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ได้ให้ความสำคัญในจุดนี้มากนัก เพราะเกรงว่าอาจไปกระทบกับกลุ่มคนชั้นบนของประเทศ

เพราะฉะนั้น การมีกฎหมายทางภาษีหรือ พ.ร.บ.ต่าง ๆ ที่จะทำให้คนในระดับล่างสามารถลืมตาอ้าปากหรือได้รับความคุ้มครองทางสังคม จะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าภาคประชาชนไม่เข้มแข็งพอที่จะรวมตัวกันเพื่อส่งเสียงไปยังผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง

ลดเหลื่อมล้ำ

มาตรการทางภาษีแบบไหน ที่จะช่วยให้การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จัดเก็บเป็นอัตราก้าวหน้า เป็นการช่วยแก้ปัญหาได้ค่อนข้างดี เพราะคนที่มีรายได้มากก็จะเสียภาษีมาก คนที่มีรายได้น้อยก็เสียภาษีน้อย

ส่วนภาษีมรดกที่ต้องการลดเรื่องของความเหลื่อมล้ำตั้งแต่แรกเริ่ม ควรมีการแก้ไขปรับปรุง โดยอาจจะลดลงมาเหลือ 50 ล้านบาท เพราะข้อยกเว้นที่ 100 ล้านบาทนั้นสูงเกินไป

ในเรื่องของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปพัฒนาท้องถิ่นนั้น ๆ นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะท้องถิ่นใกล้ชิดกับประชาชน หากท้องถิ่นมีรายได้ ให้บริการสาธารณะที่ดีกับประชาชน ก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ ส่วนประเด็นปัญหาของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็เช่นเดียวกับภาษีมรดก คือประเด็นของข้อยกเว้น โดยมีการยกเว้นให้ที่ดินสำหรับการเกษตรและที่อยู่อาศัยถึง 50 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการยกเว้นที่ค่อนข้างสูง ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถจัดเก็บรายได้ อีกทั้งคนที่ถือครองที่ดิน ที่ทำการเกษตร หรือมีบ้านอาศัยถึง 50 ล้านบาท หมายความว่าคนเหล่านี้เป็นผู้ที่มีความสามารถในการจ่ายอยู่แล้ว ไม่ได้ถือเป็นผู้ด้อยโอกาส เพราะฉะนั้น หากจะยกเว้นภาษีก็ควรที่จะยกเว้นให้คนที่ไม่มีความสามารถในการจ่ายจึงจะสมเหตุสมผล

ดังนั้น รัฐบาลจะต้องดูแลประชาชนอย่างเหมาะสม โดยแก้ พ.ร.บ. ให้ลดเกณฑ์ยกเว้นลงมาให้เหลือแค่ 5 ล้านบาท เนื่องจากการซื้อขายบ้านในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีการซื้อบ้านอยู่ที่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งอาจไม่ได้มีความสามารถในการจ่ายภาษี ด้วยรายได้และทรัพย์สินที่มีมูลค่าต่ำ การยกเว้นภาษีจึงเป็นเรื่องที่ควรทำสำหรับคนกลุ่มนี้ อีกทั้งกลุ่มเกษตรกรจำแลงที่ต้องระมัดระวังว่าจะใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อเลี่ยงภาษี ทางรัฐบาลก็จะต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ให้หมดไปหรือน้อยลง เพื่อเพิ่มศักยภาพของท้องถิ่นและลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ

นอกจากนี้ หากมองในแง่การกระจายการถือครองที่ดิน จากผลงานวิจัยที่เคยศึกษาไว้พบว่า มีการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินสูงมาก คือคน 10% ถือที่ดินที่เป็นโฉนดไปแล้ว 60% แล้วที่เหลือก็แบ่งกันแค่ 40% โดยยังไม่นับรวมคนที่ไม่มีที่ดินถือครอง แต่ในเรื่องของการกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน จากงานวิจัยที่ทำไว้ มีการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินค่อนข้างสูง คือ 10% ของคนที่ถือครองที่ดิน ที่เป็นโฉนดถือครองไปแล้ว 60% อีก 90% ของคนที่เหลือแบ่งกันอยู่ที่ 40% ทำให้เห็นภาพของการกระจุกตัวสูง ไม่นับรวมคนที่ไม่มีที่ดินถือครอง ซึ่งในประเด็นนี้ ยังไม่ได้มีมาตรการอะไรที่จะกระจายการถือครองที่ดินได้อย่างจริงจัง

ดังนั้น ถ้าต้องการแก้ปัญหาเรื่องการกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน ต้องเก็บภาษีโดยที่ออกเป็นรวมแปลงทั้งหมด เช่น นาย ก. มีที่ดินทั้งหมดในประเทศไทยมากเท่าไหร่ ต้องมาวิเคราะห์หาความเหมาะสมว่าควรจะเสียภาษีตามขนาดการถือครองหรือจะตามมูลค่า ซึ่งการทำเช่นนี้จะไม่เป็นการกระทบกับคนจน เพราะคนจนไม่ได้มีใครที่ถือครองที่ดินเยอะขนาดนั้น หรือมูลค่าสูงขนาดนั้น อย่างไรก็ตามรัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้มากเท่าที่ควร

อีกภาษีหนึ่งที่ทางกระทรวงการคลังเคยเสนอและเครื่องมือที่รัฐสามารถทำได้ เพราะมีโครงร่างของ พ.ร.บ.ไว้อยู่แล้ว คือ ภาษีส้มหล่น (ภาษีลาภลอย) หรือ Windfall Tax เป็นภาษีที่จัดเก็บ เมื่อมีการพัฒนาสาธารณูปโภคเข้ามาในบริเวณที่ดินตรงนั้น ซึ่งทำให้ที่ดินตรงนั้นมีราคาสูงขึ้นมาก คนที่อยู่ในบริเวณนั้นก็ควรที่จะมาแชร์ส่วนของต้นทุนกับรัฐด้วย หากรัฐบาลจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ ก็สามารถยกเครื่องมือทางภาษีเหล่านี้มาใช้ได้ รวมทั้งเรื่องของภาษีต่าง ๆ ซึ่งหลายประเทศมีการจัดเก็บ แต่ว่าประเทศไทยก็ไม่ได้ให้ความสนใจตรงนี้

ขยายความข้อเสนอให้ลดเกณฑ์ยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเหลือ 5 ล้านบาท

เรื่องข้อเสนอให้ลดการยกเว้นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ 5 ล้านบาท มีข้อเสนอว่า ให้ดูจากสภาพที่เป็นจริงหรือจากฐานข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม คือคนส่วนใหญ่ถือครองบ้านที่ราคาบ้านพร้อมที่ดินไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งอาจได้รับการยกเว้นไปแล้วถึง 80% ของคนในประเทศ เพราะฉะนั้น หากพิจารณาแบบไม่อคติ ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่มีความเหมาะสม อีกทั้งยังมีฐานข้อมูลที่ backup ได้ชัดเจนว่าคนในระดับล่างไม่ได้รับผลกระทบ และอย่างที่ทราบว่า ไม่ว่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ราคาประเมินจะต่ำกว่าราคาซื้อขายจริงค่อนข้างมาก เช่น ในราคา 5 ล้านบาท ราคาซื้อขายจริงก็อาจจะสูงถึง 10 ล้านบาท

ดังนั้น จึงมองว่าการยกเว้นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ 5 ล้านบาท มีความสมเหตุสมผลในการนำมาแก้ปัญหา แต่ก็ขึ้นอยู่ที่ว่าผู้กำหนดนโยบายจะรับกับสิ่งนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ตั้งใจที่จะผลักดันให้การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้มีประสิทธิภาพหรือไม่ สามารถเป็นแหล่งรายได้ที่ดีให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่

การที่นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เคยออกมาพูดให้ทบทวนภาษีที่ดินฯ และภาษีมรดก เพื่อให้แก้เหลื่อมล้ำได้จริง ๆ เป็นสัญญาณที่ดีไหม

ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นปัญหาที่อยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ในส่วนของนายกฯ ที่ต้องขึ้นมาบริหารประเทศ ต้องแสดงให้เห็นว่ามีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาหรือมีสวัสดิการที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวย รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นที่น่าสนับสนุน หากใช้เครื่องมือทางภาษีเป็นส่วนหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำ แต่ก็ต้องลงรายละเอียดให้แน่ชัด ทั้งรายละเอียดและวิสัยทัศน์ที่แสดงให้เห็นว่าเรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและต้องการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่มองเพียงด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือการเจริญเติบโตทางด้านการค้าและการลงทุน

ถ้าจะจับตาในเรื่องของภาษีที่จะลดความเหลื่อมล้ำในสิ่งที่มีอยู่แล้ว จะเป็นเรื่องของภาษีมรดกกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งต้องดูเป้าประสงค์ของนายกฯ เศรษฐาว่าต้องการแก้ไขอย่างไร โดยภาคประชาชนก็ต้องมีข้อเสนอแนะในการนำเสนอกฎหมายที่ช่วยปรับปรุงและแก้ไขความเหลื่อมล้ำของประเทศเพื่อเป็นเสียงที่ช่วยผลักดันให้เกิดนโยบายด้วย

แม้กระทั่งกลุ่มที่อาจจะได้รับผลกระทบ จากการปรับปรุงแก้ไข และคนที่อาจเสียประโยชน์ที่รัฐจัดเก็บภาษี?

เป็นเรื่องธรรมดาที่คนที่ต้องเสียภาษีเยอะ จะได้รับผลกระทบ ก็อาจมีความเคลื่อนไหวยาก

ความเป็นไปได้ในการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการแก้ไขกฎหมายในอนาคต จะต้องมีขั้นตอนทั้งในสภาและนอกสภา โดยภาคประชาชนต้องเลือกตัวแทนเข้าไปในขั้นกรรมาธิการ เพื่อเสนอให้รัฐมีการปรับปรุงมาตรการต่าง ๆ ถึงแม้ว่าในภาคประชาชนไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะบรรลุตามเป้าหมายหรือไม่ แต่การมีส่วนร่วมในภาคประชาชนจะช่วยให้การปรับปรุงกฎหมายมีประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

ข้อเสนอเพื่อแก้ไขภาษีมรดกและภาษีที่ดินฯ เพื่อให้แก้เหลื่อมล้ำได้จริง ตามการที่นายกฯ เศรษฐา ออกมาเปิดช่องไว้

ในสถานการณ์ปัจจุบันควรที่จะเน้นไปในเรื่องของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นสำคัญ ซึ่งภาษีมรดกก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ ขณะเดียวกัน ยังเป็นผลพลอยได้ที่จะเป็นลายลักษณ์อักษรและเป็นรายได้ให้กับรัฐบาลกลาง แต่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีรายได้มากน้อยแค่ไหน จึงทำให้การคาดหวังที่จะนำรายได้ในส่วนของภาษีมรดกเพื่อไปพัฒนาอาจไม่มีรายได้มากนัก

อย่างไรก็ตาม หากต้นทุนในการจัดเก็บภาษีมรดกไม่ได้มากกว่ารายได้ที่จัดเก็บได้ ภาษีมรดกก็ควรที่จะมีต่อไป ซึ่งก็จะช่วยในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ในระยะยาว

ในส่วนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แม้ไม่ใช่รายได้ของรัฐบาลกลางเช่นเดียวกันกับภาษีมรดก แต่ยังคงมีความเชื่อมโยงกันกับการลดความเหลื่อมล้ำ เช่น เมื่อท้องถิ่นมีรายได้เยอะ เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจะต้องอุดหนุนให้กับท้องถิ่นก็จะลดลงไปด้วย ทำให้ในระยะยาวภาษีอาจมีผลในเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินได้ แม้ว่าไม่ได้เป็นกลไกทางภาษีที่มีเป้าประสงค์ในเรื่องของการกระจายการถือครองที่ดิน แต่มีเป้าประสงค์ในการใช้ประโยชน์ในที่ดิน นอกจากนี้ การมีรายได้เพิ่มของการปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างมาก ด้วยการนำงบประมาณไปพัฒนาพื้นที่ให้บริการสาธารณะ หรือจัดสวัสดิการให้เข้าถึงประชาชนโดยทั่ว

ดังนั้น การปรับปรุง พ.ร.บ. ให้สามารถเป็นแหล่งรายได้ที่ดีสำหรับท้องถิ่น ก็จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนค่อนข้างมาก ซึ่งจะทำให้ประชาชนยินดีที่จะเสียภาษี เพราะรู้ว่าเงินที่ประชาชนเสียไป จะได้กลับคืนมา หรือประชาชนสามารถที่จะร้องเรียนได้หากรู้สึกว่าเงินที่เสียไปไม่ถูกนำไปพัฒนาอย่างเหมาะสม ด้วยความใกล้ชิดกับกลุ่มผู้บริการท้องถิ่น ซึ่งสิ่งนี้ถือว่ามีความสำคัญและยังเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยในระดับฐานอีกด้วย

ลดเหลื่อมล้ำ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์