ส่องตลาดเวียดนาม สู่เป้าหมาย “ประเทศพัฒนาแล้ว”

“เวียดนาม” ไม่แย่ แต่ก็ไม่ดีอย่างที่คิด

เวียดนามในสายตานักลงทุนไทย ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจของเวียดนามกำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง หลังรัฐบาลเวียดนามเปิดประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจโลก และต้อนรับเม็ดเงินการลงทุนจากทั่วโลก

โดยทั่วไป คนไทยมักจะได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับประเทศเวียดนามจากผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่เข้าไปลงทุนมานาน ซึ่งส่วนมากมักจะพูดถึงศักยภาพของเวียดนามประหนึ่งเพชรเม็ดงาม จากการลงทุนขนาดใหญ่ อาทิ โรงไฟฟ้า ปิโตรเคมี นิคมอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

แต่หากเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ยังไม่ค่อยได้รับรู้กันมากนัก ถึงโอกาส ปัญหาและอุปสรรคด้านการค้าการลงทุน 

เมื่อปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบระดับเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัป นำโดยบริษัท เรียลลี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (SEA Bridge) ผู้ให้คำปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านการขยายตลาดต่างประเทศ ร่วมกับ บริษัท ปันโปรโมชั่น จำกัด (ปันโปร) แพลตฟอร์มโปรโมชั่นและไลฟ์สไตล์ออนไลน์ พาผู้ประกอบการไทยร่วมสำรวจตลาดที่ฮานอยและกว๋างนิญ ประเทศเวียดนาม

การเดินทางไปสำรวจตลาดในครั้งนี้ มีธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อย (SMEs) ประมาณ 5 ราย และหน่วยงานของรัฐ อย่างสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และผู้ประกอบการไทยในเครือข่ายของเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้าร่วมแนะนำผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณภาพสูงจากไทย

เป้าหมายที่ชัดเจนจากรัฐบาลเวียดนาม

หากใครเคยชินกับนโยบายการพัฒนาของบางประเทศที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก เปลี่ยนแปลงทุกรัฐบาล แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดกับเวียดนาม 

เวียดนามประกาศแผนแม่บทแห่งชาติระหว่างปี 2564-2573 (ค.ศ. 2021-2030) วิสัยทัศน์ถึงปี 2593 (ค.ศ. 2050) โดยตั้งเป้าภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) รายได้ต่อหัวของเวียดนามจะสูงถึง 7,500 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับในปี 2565 ประมาณ 4,100 ดอลลาร์สหรัฐ

รัฐบาลยังตั้งเป้าหมาย รายได้ต่อหัวเฉลี่ยเป็น 27,000-32,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ซึ่งหากเวียดนามบรรลุเป้าหมายภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ก็จะกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูง โดยมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการเติบโตทางเศรษฐกิจ

การประกาศเป้าหมายของเวียดนาม หลายคนมองด้วยความสงสัยว่าจะทำได้จริงหรือไม่ แต่สำหรับคนที่คุ้นเคยกับเวียดนามเชื่อมั่นว่าเวียดนามสามารถทำได้ เพราะที่ผ่านมา เมื่อมีการประกาศเป้าหมายการพัฒนาประเทศออกมา เวียดนามก็มักจะทำได้ตามเป้าหมาย แม้ว่าอาจจะล่าช้าไปบ้างในเงื่อนเวลา แต่ก็เป็นไปในทิศทางที่วางไว้

ประเด็นนี้ สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่ได้เป็นปัญหา แต่สำหรับรายเล็กที่เพิ่งเข้าไปในตลาดเวียดนามหรือต้องการจะเข้าสู่ตลาดแห่งนี้ อาจจำเป็นต้องรับรู้เพื่อประเด็นทิศทางได้อย่างถูกต้อง 

รู้จักพฤติกรรมผู้บริโภคเวียดนามในแต่ละภาค

การเดินทางมาสำรวจตลาดครั้งนี้ ได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของทางการไทย ซึ่งได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเวียดนาม ตั้งแต่นโยบายและแผนการพัฒนาของเวียดนาม และรวมถึงโอกาสทางการค้า ซึ่งข้อมูลหลายเรื่องนับว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับหลายคนในทริปนี้

การเดินทางในครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ของไทย ประกอบด้วย นิกรเดช พลางกูร เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย ซึ่งปัจจุบันย้ายมาดำรงตำแหน่งโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ธนียา ฟูเจริญ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย และ อำนาจ จุลชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ กรุงฮานอย เกี่ยวกับการค้าการลงทุนในเวียดนาม

เวียดนาม

ข้อมูลจากหน่วยงานรัฐ ทำให้รู้ว่าแต่ละคนมีมุมมองไม่แตกต่างกันมากนักเกี่ยวกับศักยภาพของเวียดนาม และพร้อมจะให้คำแนะนำกับธุรกิจไทยที่ต้องการเข้าสู่ตลาดเวียดนาม

จากข้อมูลที่ได้ การเข้าสู่ตลาดเวียดนามมีสิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจ คือ พฤติกรรมผู้บริโภคของชาวเวียดนาม นอกจากมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมแล้ว ยังมีความแตกต่างกันภายในประเทศอีกด้วย

เวียดนาม

จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และบรรดานักธุรกิจไทยที่มีโอกาสได้พบปะ ระบุ ตรงกันว่าตลาดเวียดนามนับว่ามีความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากตลาดในประเทศมีความแตกต่างกันตามพื้นที่ ดังนั้น หากต้องการจำหน่ายสินค้าและบริการในตลาดเวียดนาม มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องทำความเข้าใจในความแตกต่างของแต่ละพื้นที่ กล่าวคือ

  • เวียดนามทางภาคเหนือ มีลักษณะอนุรักษ์นิยมค่อนข้างสูง ประหยัด ชอบอาหารรสจืดและ มีความภักดีต่อแบรนด์ค่อนข้างสูง หากสามารถเจาะตลาดได้ 
  • เวียดนามภาคกลาง มีแนวโน้มคล้อยตามการโฆษณาค่อนข้างสูง เปิดกว้างรับสิ่งใหม่กว่าคนภาคเหนือ ชอบอาหารคล้ายคนไทย
  • เวียดนามภาคใต้ ชอบที่จะลองสิ่งใหม่ ๆ เนื่องจากลักษณะคนเวียดนามทางตอนใต้ เปิดรับวัฒนธรรมภายนอกมากกว่าส่วนอื่น ชอบอาหารรสจัด

ลักษณะดังกล่าวของคนเวียดนามในแต่ละพื้นที่ดูเหมือนบรรดาผู้ประกอบการไทยจะมองไปทางเดียวกันว่ามีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ แต่เหนืออื่นใด สินค้าที่จำหน่ายในเวียดนามยังมีปัจจัยที่เป็นตัวชี้ขาด นั่นคือ “ราคา” เนื่องจากฐานะของคนเวียดนามส่วนใหญ่ยังถือว่ายังมีรายได้ไม่สูงมากนัก เพราะเศรษฐกิจของประเทศเพิ่งเริ่มต้นการพัฒนาเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่

แม้ว่าคนเวียดนามจะมีคนชั้นกลางเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ยังซื้อสินค้าราคาไม่แพง 

สินค้าประเภทไหนเหมาะกับตลาดเวียดนาม

หากใครต้องการรู้ว่าตลาดมีความต้องการสินค้าประเภทไหน ช่องทางที่ดี คือ ต้องไปดูซูเปอร์มาร์เก็ต และห้างค้าปลีกที่ผู้บริโภคนิยมจับจ่ายใช้สอย

ในทริปนี้ ได้มีโอกาสเยี่ยมชมห้างสรรพสินค้าค้าปลีก MM Mega Market อยู่ในกรุงฮานอย ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ไทยวางจำหน่ายมากกว่า 2,000 รายการ และศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป GO! Mall ณ เมืองฮาลอง จังหวัดกว๋างนิญ

MM Mega Market เป็นห้างสรรพสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงจากผู้บริโภคชาวเวียดนาม โดยเป็นโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ เหมือนโลตัส หรือ บิ๊กซี ในเมืองไทย โดยมีการนำสินค้าจากหลายประเทศเข้ามาจำหน่าย แต่เท่าที่สังเกตเห็นพบว่าสินค้าจากประเทศไทยได้รับความนิยม จะเห็นได้จากจำนวนสินค้ามีมากและชั้นวางจำหน่ายทั้งแถบ ซึ่งส่วนมากสินค้าไทยที่ได้รับความนิยมสูงเป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค

เช่นเดียวกับ GO! Mall ในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป ซึ่งวางจำหน่ายสินค้าระดับทั่ว ๆ ไป ที่ราคาไม่แพง โดยสินค้าไทยมีวางกระจายอยู่ทั่วไป และเป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค

นอกจากนี้ ยังมีโอกาสร่วมออกบูธในงาน Mini Thailand Week 2024 ระหว่างวันที่ 28 – 31 มีนาคม ณ เมืองฮาลอง จังหวัดกว๋างนิญ ซึ่งงานนี้ กระทรวงพาณิชย์จัดเป็นประจำทุกปีเฉพาะในเมืองรอง โดยร้านค้าที่มาร่วมออกบูธเป็นธุรกิจไทยและร้านค้าเวียดนามที่นำเข้าสินค้าไทย ส่วนมากเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค และได้รับความสนใจจากชาวเวียดนามมาหาซื้อของกินของใช้

มีทั้งโอกาสและความท้าทาย

ธีรณัฐ รุ่งสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย เอนโท ฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์โปรตีนจากจิ้งหรีด Sixtein® กล่าวว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีเป้าหมายเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงและในกลุ่ม Gen-Z ที่ดูแลเรื่องสุขภาพ ซึ่งเป็นโปรตีนทางเลือกจากจิ้งหรีด และในประเทศพัฒนาแล้วได้รับความนิยม

“เราก็เห็นศักยภาพตลาดเวียดนามที่มีกลุ่มคนรุ่นใหม่เยอะ แม้ขณะนี้ยังไม่เป็นที่นิยม”

ขณะที วีรดาอร พึ่งโพธิ์เจริญพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซ็น แอนด์ โกสุม อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากปลาร้าและเครื่องปรุงรสต่าง ๆ จากภูมิปัญญาชาวบ้าน กลับมองเห็นศักยภาพ แม้ตลาดยังเฉพาะอยู่มาก ซึ่งผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่คนเวียดนามรู้จักมักจะมาจากนักท่องเที่ยวชาวเวียดนามที่ไปเที่ยวไทย

“จากข้อมูล มีร้านอาหารไทยในเวียดนามหลายแห่ง มองตลาดเวียดนามจะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น หากจะเข้ามาเจาะตลาด จะมองไปที่ร้านอาหารไทย แต่จะต้องมีการปรับรสชาติให้เข้ากับแต่ละพื้นที่ของเวียดนาม” 

ระวิวรรณ ทองแตง จากบริษัท ฮิวจ์ คอฟ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกาแฟ ชา โกโก้ และเครื่องดื่มสำเร็จรูป กล่าวว่าไม่ได้คาดหวังตลาดเวียดนามมากนัก แต่ต้องการข้อมูลและมาสังเกตตลาดในเวียดนาม ซึ่งจะเห็นว่าตลาดเวียดนามสำหรับกาแฟและเครื่องดื่มมีผู้ผลิตและจำหน่ายค่อนข้างมาก

“เท่าที่สังเกต ตลาดเวียดนามใช้โซเชียลและออนไลน์ค่อนข้างมาก แต่หากต้องการซื้อของใหม่ ๆ มักจะจากในห้าง”

ปิยนิชย์ พีระเทคสิทธิ์ บริษัท แอบบรา จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายผงผักเคล และผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ 100%  กล่าวว่าตลาดอาหารเสริมในเวียดนามกำลังเติบโตจากคนรุ่นใหม่ แต่อุปสรรคสำคัญคือสินค้าจากเกาหลีจะเป็นเจ้าตลาด ซึ่งของเรามักจะถูกถามเปรียบเทียบกับสินค้าเกาหลี

“หากจะใช้ผลิตภัณฑ์มารุกตลาดถือว่ายังยาก แต่หากขายวัตถุดิบให้กับผู้ผลิตในเวียดนาม มีความเป็นไปได้มากกว่า”

จะประสบความสำเร็จต้องมีเครือข่าย

ธนกฤษณ์ เสริมสุขสัน ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SEA Bridge และผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม Nghien Thai กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ธุรกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจฐานนวัตกรรม (IDE) ได้เข้าถึงและเข้าใจตลาดเป้าหมาย รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับมาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์และกลยุทธ์การตลาดของบริษัท โดยเชื่อมั่นว่าการทำธุรกิจในต่างประเทศให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั้น ธุรกิจจะต้องมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง จึงมุ่งเน้นและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้สร้างความสัมพันธ์อันดีกับภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ

“งานนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากทีมประเทศไทย (Thailand Team) และตัวแทนภาคเอกชนไทย นำโดยประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมไทยในเวียดนาม (ThaiCham) พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการนำธุรกิจไทยของคนรุ่นใหม่ก้าวสู่ตลาดโลก”


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

AUTHOR

ทศพร โชคชัยผล

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล