ประชานิยม มนุษย์เงินเดือน และความเป็นธรรมทางภาษี

ช่วงรอยต่อระหว่างปี ช่วงเวลาที่ประชาชนผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พยายามทุกวิถีทางเพื่อหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินมาลดหย่อนภาษีให้ได้มากที่สุด

แม้จะมีการกำหนดอัตราภาษีแบบก้าวหน้าเอาไว้ 5-35% ตามฐานของรายได้ แต่ดูเหมือนผู้มีเงินได้จำนวนไม่น้อย กลับรู้สึกตะขิดตะขวงใจที่ต้องเสียภาษีให้รัฐอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

เดือนเมษายน พ.ศ. 2566 ผลสำรวจโดย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าเหตุผลที่ประชาชนไทย “ไม่อยากเสียภาษี” เพราะไม่มีเงินเพียงพอที่จะเสียภาษี กังวลว่ารัฐจัดสวัสดิการให้ประชาชนได้ไม่ทั่วถึง และไม่มีหลักเกณฑ์/กฎหมายที่แน่นอนที่จะรับประกันว่ารัฐจะจัดสวัสดิการให้

หากดูผิวเผินอาจเป็นเรื่องรายได้ที่ไม่สอดคล้องกับรายจ่าย รวมถึงความไม่เชื่อมั่นการดำเนินนโยบายและจัดสวัสดิการโดยรัฐ แต่หากพิจารณาตามหลักการของการมีส่วนร่วมในระบบภาษี อาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่อง “จิตสำนึกของการเสียภาษีอย่างถูกต้อง” ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก ระหว่าง “ประชาชนผู้จ่ายภาษี” กับ “รัฐผู้ใช้ภาษี” เพื่อนำมาพัฒนาประเทศ

เมื่อพูดถึงเรื่องภาษี นอกจากแนวโน้มการจัดเก็บภาษีที่ลดลงเมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศแล้ว การใช้งบประมาณเพื่อจัดทำนโยบายซึ่งมีที่มาจากภาคการเมืองหลายครั้ง ยิ่งเป็นความท้าทายที่เชื่อมโยงกับ “ความยินยอมและเต็มใจ” ที่จะจ่ายภาษีของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

The Active ชวนทำความเข้าใจสถานการณ์ภาษีของประเทศไทย ที่นำมาสู่ข้อเสนอ “การปฏิรูประบบภาษี” ที่นักวิชาการหลายสำนักพยายามสื่อสารอยู่ในเวลานี้ กับ รศ.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนงานวิชาการเรื่อง “สร้างความแข็งแกร่งให้ระบบภาษีไทย” ทางรอดการคลังในโลกหลังโควิด-19 ผ่านการสร้างระบบภาษีที่คนไทยเต็มใจและภูมิใจมีส่วนร่วม

สถานการณ์อะไร ที่นำมาสู่ความจำเป็นต้องพูดเรื่อง “การขยายฐานภาษี” ในเวลานี้

ภาพใหญ่ของประเทศไทย ในช่วง 15-20 ปีที่ผ่านมา รายได้ภาษีของประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 16% เป็นราว ๆ 14% ต่อ GDP นำมาซึ่งคำถามสำคัญว่า รัฐบาลไทยมีความสามารถที่จะดึงประเทศให้ออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้หรือเปล่า จะมีทรัพยากรมากพอรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบเต็มตัวหรือเปล่า ถ้ามองในด้านภาษี คำถามที่ตามมา คือ ทำยังไงให้คนไทยยินดีและเต็มใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบภาษี ซึ่งผมว่ามันเกี่ยวข้องกับ 3 มิติ

มิติแรก คือเรื่องของนโยบายภาษี (Tax policy) หากมองย้อนไป 3 ทศวรรษที่ผ่านมา major policy change ของประเทศไทยเกี่ยวกับภาษี แทบทั้งหมดเป็นการลดภาษีหรือการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สะท้อนว่าที่ผ่านมารัฐบาลของประเทศไทย มองแต่เรื่องผลประโยชน์ระยะสั้น ไม่ได้มองเรื่องโครงสร้างประเทศในระยะยาว

มิติที่ 2 คือเรื่องการปฏิบัติทางภาษีให้ถูกต้อง (Tax compliance) หรือการดึงคนเข้าสู่ระบบภาษี ในภาษีเงินได้ของประเทศไทยมีคนที่จ่ายภาษีแค่ประมาณ 4 ล้านคน ซึ่งตัวเลขคิดเป็นแค่ 10% ของกำลังแรงงานของประเทศ นำมาสู่ความกังวลสำคัญว่าถ้าจะต้องให้สวัสดิการ ต้องทำนโยบายต่าง ๆ ที่ต้องใช้เงินอย่างมากมาย มันมีแค่คนเพียงหยิบมือเดียวของกำลังแรงงานแค่ 10% ที่จะเป็นคนคอยไฟแนนซ์งบประมาณต่าง ๆ

มิติที่ 3 คือเรื่องจิตสำนึกของการเสียภาษีอย่างถูกต้อง (Tax moral) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณที่ต้องตระหนักว่าภาษีเป็น Social contract หรือเป็นสัญญาทางสังคมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างการที่คนยินดีที่จะจ่ายภาษีด้วยสัดส่วนที่เป็นธรรม กับการที่รัฐใช้จ่ายเม็ดเงินภาษีอย่างรับผิดชอบ

การสร้างความเป็นธรรมทางภาษี จะเอื้อให้คนมีศักยภาพกลุ่มอื่น ๆ เต็มใจและพร้อมจ่ายมากขึ้น?

เมื่อพูดถึงความเป็นธรรมของระบบภาษี สามารถมองได้ทั้งแนวตั้งและแนวราบ แนวตั้ง คือ จะทำอย่างไรให้คนที่มีรายได้และความมั่งคั่งมากกว่า เสียภาษีเป็นสัดส่วนที่มากกว่าคนรายได้น้อยกว่า ซึ่งต้องพิจารณาในแง่ของการเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม ทั้งเงินที่มาจากการจ้างงาน และเงินที่มาจากการลงทุน หุ้นเงินปันผลต่าง ๆ ทำยังไงให้คนจ่ายภาษีในลักษณะที่มันเป็นธรรมมากขึ้น

มนุษย์เงินเดือนจ่ายภาษี 5-35% แต่ถ้ามีรายได้จากเงินปันผล หรือการลงทุนจากตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีแนวโน้มทำให้มีรายได้สูงกว่ามาก จะต้องทำอย่างไรให้อัตราภาษีมีความเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น

ในแง่ของ แนวราบ คือ ถ้าคนมีรายได้ ไม่ว่าจะมาจากแหล่งไหนก็ตาม ควรจะเสียภาษีในลักษณะเดียวกัน พูดให้เห็นภาพคือถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือน คุณถูกจ้างในระบบเสียภาษีแน่นอน เพราะมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่หากงานที่ทำเป็นอาชีพอิสระหรือ Freelance ก็อาจไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ได้เงินเท่ากันก็จริง แต่คนที่ทำงานอาชีพอิสระก็อาจจะไม่มีการจ่ายภาษี ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องของความเป็นธรรม ซึ่งคิดว่าเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่สำคัญหากจะมองว่าคนไทยรุ่นใหม่จะเต็มใจเป็นส่วนหนึ่งในระบบภาษีของประเทศหรือไม่

กลุ่มที่มีศักยภาพและพร้อมจ่ายภาษี ปัจจัยอะไรที่ทำให้เขายังไม่เข้าสู่ระบบภาษี

การดึงธุรกิจเข้าระบบภาษีมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับขนาดและบริบทของธุรกิจ

ถ้าเริ่มต้นจากการยื่นภาษีแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภ.ง.ด.90 และ 91 คนที่กระทบจากภาษีตัวนี้รายได้อาจจะไม่เยอะเท่าไหร่ ส่วนคนที่ได้รับผลกระทบ คือ จะทำอย่างไรให้คนมีแรงจูงใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบภาษีตัวนี้ มันเกี่ยวข้องกับว่า ทำอย่างไรให้คนจ่ายภาษีรู้สึกว่าเวลาที่จ่ายภาษีตัวนี้แล้วได้สิทธิประโยชน์กลับมา หรือเมื่อถึงเวลายื่นภาษี แล้วไม่ได้เป็นต้นทุนที่มากเกินไปสำหรับเจ้าของธุรกิจ

ส่วนธุรกิจที่มีไซซ์ใหญ่ขึ้นมานิดนึง มีรายได้ถึง 1.8 ล้านบาท ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แต่ในปัจจุบันการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบมีต้นทุนเยอะ ไม่ใช่เพียงแค่การชาร์จลูกค้า 7% เท่านั้น แต่ยังมีต้นทุนการบริหาร (Administrative costs) ต่าง ๆ เช่น การต้องออกใบกำกับภาษีอย่างถูกต้อง หรือการต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 ทุกเดือน ซึ่งมันเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างเยอะสำหรับธุรกิจขนาดที่ไม่ใหญ่มาก แต่การจะทำอย่างไรให้ต้นทุนตัวนี้มันไม่มากเกินไปสำหรับธุรกิจเหล่านี้ อาจจะต้องมองย้อนกลับมาดูที่ระบบภาษีของประเทศไทย

ตอนนี้ระบบภาษีของประเทศ เรียกว่าเป็น one size fits all เพราะไม่ว่าธุรกิจจะมีขนาดแค่ไหนก็ตาม ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบภาษีเดียวกันหมด ซึ่งหากลองเปรียบเทียบธุรกิจที่ขนาด 2 ล้านบาท กับ 200 ล้านบาท ความสามารถต่างกันเยอะ แต่ทั้ง 2 ธุรกิจ ต้องปฏิบัติตามกฎเดียวกัน เป็นต้นทุนที่เยอะมากสำหรับธุรกิจ อาจจะขายอาหารมีรายรับแค่ 2 ล้านบาท ดังนั้น วิธีคือทำยังไงให้ต้นทุนตัวนี้มันไม่เยอะเกินไป ในบางประเทศจะพยายามทำให้การเข้าสู่ระบบ VAT เป็นเรื่องง่ายสำหรับธุรกิจขนาดที่ยังไม่ใหญ่มากนัก แล้วเมื่อขนาดธุรกิจใหญ่ขึ้นก็ค่อย ๆ ปรับไปสู่ระบบ VAT แบบปกติ เป็นอีกแนวทางหนึ่ง

เวลาพูดเรื่อง one size fits all ต้นทุนการจัดการทางบัญชีบางอย่างที่ว่าหมายถึงอะไรบ้าง

One size fits all ในที่นี้ หมายถึงเรื่องการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ตอนนี้ไม่ว่า 2 ล้านบาท 20 ล้านบาท หรือ 200 ล้านบาท กฎเกณฑ์เหมือนกันหมด ต้องยื่นทุกเดือน ต้องออกใบกำกับภาษีให้ถูกต้อง ต้องเตรียมสมุดบัญชีรอสรรพากรมาตรวจสอบ ซึ่งจะเป็นต้นทุนที่มีนัยสำคัญสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งหากไม่ได้จ้างนักบัญชีก็อาจจะทำด้วยตนเองได้ยาก

ตัวอย่างที่ดีของบางประเทศ จะมีสิ่งที่เรียกว่า “Simplify VAT system” ซึ่งจะผ่อนผัน ถ้าเป็นธุรกิจที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก ก็ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายได้ VAT ทุกเดือนก็ได้ อาจจะยื่นทุกไตรมาสหรือทุกครึ่งปี ก็ลดต้นทุนตรงนั้นได้ส่วนหนึ่ง หรืออาจจะเป็นเรื่องการขอเครดิตภาษี ซึ่งมันจะง่ายขึ้นสำหรับเจ้าของธุรกิจ

ถ้าพูดถึงนโยบายรัฐบาลปัจจุบัน ตอนนี้มีนโยบายหลายอย่างที่มีการมองว่าอาจจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และทุกครั้งเวลาพูดอะไรแบบนี้จะมีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่เมื่อมองไปที่ขาเข้าของงบประมาณที่นำมาใช้กับนโยบายเหล่านี้ กลายเป็นว่าไปกระทบความรู้สึกกับคนบางกลุ่มที่อาจไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายนั้น ๆ ยกตัวอย่าง นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมา รวมถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต

วงจรของการใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน ที่นำไปใช้ในนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินเหล่านี้ย้อนกลับเข้ามาเป็นรายรับให้ประเทศอย่างไร

รัฐกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการให้เงิน หรือการให้แรงจูงใจให้คนออกไปซื้อของ เพราะรัฐคาดหวังว่าเมื่อคนไปซื้อของจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ และสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น ถ้าการใช้จ่ายนั้นเป็นการใช้จ่ายที่เรียกว่า “Local Content” หรือมีส่วนประกอบของสินค้าที่ผลิตในประเทศเยอะ ประเทศก็มีแนวโน้มได้เงินไปด้วย เมื่อเราซื้อของจากร้านค้า ร้านค้าก็จะนำเงินไปซื้อของต่อจากซัพพลายเออร์ของทางร้าน หรือดีกว่านั้น คือเมื่อเราไปซื้อของจากร้านค้า ร้านค้ามองเห็นโอกาสในธุรกิจที่มากขึ้น อาจจะเป็นที่รู้จักของคนมากขึ้น จนขยายหน้าร้านของตัวเอง ซึ่งต้องลงทุนเพิ่มขึ้น หรือขยายการจ้างงาน ทำให้เศรษฐกิจโตมากขึ้น ถ้ามองในแง่ของรัฐบาล เรื่องแรกที่ได้ คือเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ระยะยาว ถ้าธุรกิจมีรายได้มากขึ้น สิ่งที่จะตามมา คือ ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรของร้านค้า และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการจ้างงานต่าง ๆ

ดังนั้น เลยมีเงื่อนไขสำคัญว่า ถ้าจะทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบนี้ประสบความสำเร็จได้ ต้องทำให้การใช้จ่ายนำไปสู่การลงทุนระยะยาวของธุรกิจ ทำยังไงที่จะกำหนดเงื่อนไขของการใช้เงินให้เป็นการซื้อสินค้า Local Content เป็นการซื้อที่ตกไปถึงร้านค้าที่เป็นฐานราก ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้เม็ดเงินสร้างความแตกต่าง (Make a different) สำหรับร้านค้าได้เยอะ และจะทำยังไงไม่ให้ตกถึงร้านค้าที่เป็น chain ของบริษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งความจริงแทบไม่มีผลกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบนี้

ถ้าจะดีไซน์การแจกเงินอย่างดิจิทัลวอลเล็ตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในแง่กระตุ้นเศรษฐกิจแล้วเงินกลับเข้าสู่รายรับของประเทศหรือไม่เป็นภาระทางการคลังมากเกินไป ปัจจัยสำคัญอะไรที่รัฐต้องพิจารณา

ปกติเวลาที่นักเศรษฐศาสตร์จะดูว่าเม็ดเงินตัวนี้ให้ไปแล้วประสบความสำเร็จหรือเปล่า มีเกณฑ์ที่เรียกว่าเป็น “Marginal Propensity to consume” เรียกว่า MPC คือเป็นแนวโน้มการบริโภค เช่น ให้เงินไป 100 บาท มีแนวโน้มที่จะเอา 100 บาทนี้ไปบริโภคกี่บาท ถ้า MPC เท่ากับ 0.6 ก็แปลว่าได้เงินไป 100 บาท เอาไปซื้อ 60 บาท ซึ่งถือว่าค่อนข้างดี บางคนอาจจะนำไปออม ก็จะใช้ไป 0.2 ก็จะลดลงไป ดังนั้น ต้องจับตาดูว่าเมื่อรัฐให้เงินไปแล้ว จะทำอย่างไรให้ MPC เยอะ

ในงานวิจัยทางเศรษฐกิจพบว่า การกระตุ้นในลักษณะนี้จะเวิร์กถ้ามันไปสู่คนที่มีสภาพคล่องทางการเงินต่ำ เพราะคนจะเดือดร้อนและมีความต้องการใช้เงินในช่วงขณะนั้น การที่ได้เงินมาคนก็มีแนวโน้มจะใช้จ่ายเลย ซึ่งจะเป็นผลที่รัฐอยากเห็นว่ามันไปสู่ภาคส่วนอื่นในเศรษฐกิจ

ตัวแทนบัญชี (proxy) หนึ่งที่ใช้ในการดูสภาพคล่อง คือ การดูรายได้กับสินทรัพย์คน ดังนั้น ก็ไปสู่เกณฑ์ที่เห็นในสื่อว่าทำไมรัฐถึงสนใจเรื่องรายได้ ทำไมถึงพยายามไปโยงที่ตัวแทนสินทรัพย์อย่างบัญชีธนาคาร

หากให้ช่วยขยายความเรื่องการประเมินรายได้/สินทรัพย์ในมิติอื่น ๆ อย่างเรื่องหนี้?

ถ้ารัฐต้องการทำให้งบประมาณไม่มากเกินไป แล้วให้กระตุ้นเศรษฐกิจและมีประสิทธิผลมากขึ้น ก็ต้องมีการเลือกกลุ่มเป้าหมาย กุญแจสำคัญ คือ การพิสูจน์ให้ได้ว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนรวย แล้วกันกลุ่มคนรวยออกไป ซึ่งต้องดูที่รายได้ และไม่ใช่รายได้ที่เป็นรายได้ในระบบที่รัฐมีในขณะนี้เท่านั้น ตอนนี้เงื่อนไขสำคัญก็คือรัฐบาลแทบไม่รู้รายได้ของคนที่ไม่ใช่มนุษย์เงินเดือน ทุกอย่างไปผูกกับข้อมูลของ ภ.ง.ด.90 และ 91 ตอนนี้มันเลยกลายเป็นคนที่มีรายได้เกิน 50,000 บาท หรือ 25,000 บาท มีไม่เยอะ เพราะไปผูกกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งอิงกับมนุษย์เงินเดือนเท่านั้น ดังนั้น เงื่อนไข คือ การพยายามขยายขอบเขตการรับรู้รายได้ของรัฐให้มากขึ้น ซึ่งอาจจะโยงไปสู่เงื่อนไขที่ว่า ถ้าคุณจะได้รับเงินตัวนี้ คุณอาจจะต้องยินยอมเปิดเผยว่าที่ผ่านมาคุณได้รายได้เท่าไหร่

ด้านสินทรัพย์ รัฐต้องขยายตัวกรองออกไปไม่ใช่เพียงบัญชีธนาคารเท่านั้น ควรจะรวม financial ทั้งหลาย หุ้น กองทุน ฯลฯ และต้องพยายามเอาข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ออกมาลบด้วย จึงจะได้เป็น network ของคนที่แท้จริง ซึ่งจะสะท้อนสถานะของคนได้ดีกว่า

ถ้าจำเป็นต้องทำให้รอบคอบ แล้วใช้ข้อมูลเหล่านี้ อาจารย์ประเมินว่ารัฐทำได้?

รัฐสามารถทำได้ แต่ต้องใช้เวลามากขึ้นในการบูรณาการ (integrate) ข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ให้ออกมาเป็นข้อมูลของ 1 คน

ขณะเดียวกัน ด้วยความที่นโยบายนี้ตอนหาเสียงมันหวือหวามากเลย จะแจกคนอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน แต่พอมีข้อเสนอจากทางราชการว่ามันมีรายละเอียดที่ต้องปรับแก้ในเรื่องความละเอียดอ่อน ข้อเสนอล่าสุดที่ออกมาว่าจะแจกให้บางกลุ่ม ทำให้กลับมากระทบกับแรงงานในระบบ

ยิ่งไปตอกย้ำความรู้สึกไม่เป็นธรรมในการจ่ายภาษีไหม ทางออกที่น่าจะเหมาะสมที่สุดในสถานการณ์นี้คือเรื่องอะไร

กระทบแน่นอน เพราะตอนนี้เราพบว่าเพียง 10% ของกำลังแรงงานเป็นคนจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนั้น การแจกเงินอาจไม่ได้ผลต่อกลุ่มนี้ เพราะรัฐรับรู้รายได้เพียงกลุ่มเดียวในประเทศ อีกทั้งกลุ่มนี้จะมีคนที่ไม่มีสิทธิประโยชน์ดิจิทัลวอลเล็ต จึงต้องหลุดจากรับสิทธิประโยชน์ ขณะเดียวกัน เขากลับต้องยื่นภาษีเงินได้ฯ ทางออกมันอาจจะแก้ไขไม่ได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาว รัฐควรขยายฐานข้อมูลของผู้จ่ายภาษีเงินได้ฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดกรองระยะยาว ซึ่งจะเป็นผลดีเมื่อรัฐทำนโยบายต่อไปในอนาคต

ตั้งแต่คุณเศรษฐา เข้ามาเป็นนายกฯ มีการพูดเรื่องภาษีอยู่สองสามตัว เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดินฯ ภาษีลาภลอย ฯลฯ คิดว่าการที่รัฐเริ่มพูดเรื่องภาษีตัวที่ไปแตะกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ มีนัยอะไร

เป็นสัญญาณดีที่ควรจะต้องติดตามต่อไป เพราะความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ภาษีเป็นเครื่องมือหนึ่งที่รัฐบาลหลายประเทศพยายามใช้เพื่อลดทอนความเหลื่อมล้ำ ภาษีมรดกก็เป็นอีกเครื่องมือที่ถูกใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่มีข้อจำกัดมาก เรื่องวางแผนภาษีมรดกมีความยากลำบาก การที่รัฐต้องวิ่งไล่ตามกลยุทธ์การวางแผนภาษีของมหาเศรษฐีทั้งหลายในการหลบเลี่ยงภาษีมรดก ดังนั้น เครื่องมือภาษีที่เหมาะสมที่สุดในการจัดการเรื่องความเหลื่อมล้ำจึงไม่ใช่ภาษีมรดก ถ้าสะท้อนจากรายได้ภาษีมรดกที่รัฐจัดเก็บได้มันน้อยมาก การใช้ภาษีทรัพย์สินหรือรายได้จากทุน capital income (หรือ Capital Gain TAX) เป็นทางเลือกที่ดีกว่า เช่น รายได้จากการลงทุนหลักทรัพย์หรือรายได้จากเงินปันผล ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการจัดการความเหลื่อมล้ำ

ผลสำรวจหลายครั้ง มีหลายปัจจัยที่ทำให้คนไทยไม่อยากจ่ายภาษี ตอนนี้สิ่งที่รัฐควรทำอย่างเร่งด่วนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้คนอยากมีส่วนในการพัฒนาประเทศผ่านระบบภาษีคืออะไร

ภาษีเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ตอนที่รัฐพูดเรื่องภาษี รัฐบาลต้องคิดเยอะพอสมควร เพราะจะมี reaction จากคนทั้งประเทศและในโซเชียลมีเดียเยอะมากเมื่อพยายามจะขึ้นภาษี ถ้ารัฐบาลต้องการจัดการเรื่องนี้ให้คนยินดีจ่ายภาษีมากขึ้น รัฐต้องเริ่มจาการใช้จ่ายเม็ดเงินภาษีอย่างรับผิดชอบ ทำอย่างไรให้คนเห็นว่ารัฐจริงจังกับการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน จัดสรรงบประมาณอย่างระมัดระวัง รวมไปถึงการให้สิทธิประโยชน์ภาษีแต่ละครั้ง เป็นการให้สิ่งที่ประโยชน์ มีความสมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์ ช่วยวัตถุประสงค์อะไรบ้าง คนที่ได้รับเป็นใครบ้าง เป็นคนรวยหรือคนจน และเป็นภาพแบบที่รัฐอยากเห็นหรือเปล่า

ตอนที่รัฐให้การลดหย่อนภาษีแต่ละครั้ง นั่นคือเม็ดเงินภาษีที่หายไป และสิ่งที่ตามมา คือรัฐต้องเก็บภาษีมากขึ้นในอนาคต เพื่อทดแทนรายได้ที่หายไป ทำอย่างไรให้คนเห็นว่ารัฐจริงจังกับการใช้เม็ดเงินหรือการให้สิทธิประโยชน์ภาษี เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อน social contract เมื่อข้างต้นว่า การที่คนจ่ายภาษีเพื่อแลกกับรัฐว่าต้องเอาเงินไปใช้อย่างรับผิดชอบ


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

วิฆเนศ ตรีตรง

นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทยประยุกต์ วิชาโทภาษาไทยเพื่อการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

Alternative Text
AUTHOR

อรุชิตา อุตมะโภคิน

ตามหาความเสมอภาคผ่านงานทั้งศาสตร์และศิลป์ พยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์รอบตัว