‘กฎหมายชาติพันธุ์’ โอกาสความเสมอภาค = โอกาสประเทศ

คำตอกย้ำล่าสุดจาก เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี “ยืนยันให้ความสำคัญกับกลุ่มชาติพันธุ์ และจะเร่งผลักดันเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด” ถือว่าใกล้ความจริงเข้าไปทุกขณะ สำหรับการเดินหน้าผลักดัน ‘ร่างกฎหมายชาติพันธุ์’

เพราะก่อนหน้านี้ ‘เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ก็รับปากกับตัวแทนพี่น้องชาติพันธุ์กว่า 40 กลุ่ม ซึ่งไปรวมตัวกันที่ จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อร่วมเป็นสักขีพยานการประกาศ kick off ผลักดันร่างกฎหมายชาติพันธุ์ ซึ่งเวลานี้อยู่ในมือรัฐบาลรวม 4 ฉบับ พร้อมให้คำมั่นสัญญาว่า จะทำให้กฎหมายชาติพันธุ์มีผลบังคับใช้ได้ทันในรัฐบาลนี้

คุณค่าของทุนทางวัฒนธรรม องค์ความรู้ วิถีภูมิปัญญา รวมถึงฐานทรัพยากรธรรมชาติ ที่กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ช่วยกันรักษาเอาไว้ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งต่อมายังคนรุ่นหลัง และเป็นเหตุผลว่าทำไม ? กฎหมายชาติพันธุ์ จึงจำเป็นกับการเป็นเครื่องมือปกป้อง คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ยิ่งไปกว่านั่นยังถือเป็นโอกาสของคนทั้งประเทศอีกด้วย   

นี่เป็นหนึ่งในหลายประเด็นสำคัญที่ถูกสะท้อนออกมาผ่านเวทีเสวนา ‘กฎหมายชาติพันธุ์  : ตัวตนศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์’ เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา ณ ตลาดซอกจ่า ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน จังหวัดที่มีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่อาศัยรวมกันมากถึง 13 กลุ่ม ซึ่งสะท้อนการเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี  

ทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย สะท้อนศักยภาพของตัวเองได้แค่ไหน ? The Active รวบรวมแต่ละมุมมอง เพื่อตอกย้ำความสำคัญของการปกป้อง คุ้มครองคุณค่าในวิถีชาติพันธุ์ ผ่านกลไกกฎหมายที่ทุกคนเฝ้ารอ…

ผลักดัน ‘กฎหมายชาติพันธุ์’ เพื่อ ‘ขอบคุณ’ และ ‘ขอโทษ’ อดีตที่เคยทำผิดพลาด

การร่วมประกาศเจตจำนงผลักดันร่างกฎหมายชาติพันธุ์ทุกฉบับครั้งนี้ ‘อภินันท์ ธรรมเสนา’ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เชื่อว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับนโยบายการดูแลกลุ่มชาติพันธุ์ จากเดิมที่อาจเป็นแค่แนวนโยบาย มติ ครม. แต่ตอนนี้กำลังถูกยกระดับเป็นตัวกฎหมาย สาระสำคัญคือ การยอมรับการมีตัวตนของพี่น้องชาติพันธุ์ทุกกลุ่ม

สำหรับหัวใจสําคัญของการเคลื่อนกฎหมายฉบับนี้ คือ การแสดงให้เห็นว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไทยมีศักยภาพอย่างไร ? มีคุณค่าอะไร ? การส่งเสริมเรื่องเขตพื้นที่คุ้มครอง ทําให้เห็นว่าการมีเขตพื้นที่คุ้มครองจัดการป่าอย่างไร ? รวมถึงทรัพยากร ดนตรี อาหาร ภาษา เครื่องแต่งกายซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นต้นทุนที่สามารถเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์กับการพัฒนาประเทศได้ เพราะฉะนั้น นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทําให้คนเริ่มเปลี่ยนวิธีคิดกับกลุ่มชายพันธุ์ ไม่ได้มองว่าพี่น้องชาติพันธุ์เป็นคนอื่น แต่มองว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกัน เป็นพวกเดียวกัน และหันมาให้ความสนใจประเด็นเหล่านี้

“เชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้ ถ้ามีแล้วจะเป็นโอกาส  ไม่ใช่แค่โอกาสของชาติพันธุ์นะ คือโอกาสของประเทศนี้ ที่จะเดินไปข้างหน้าอย่างมีความเข้มแข็ง ที่ผ่านมาประเทศนี้เสียโอกาสไปเยอะแล้ว เราปล่อยให้ความรู้ต่าง ๆ หายไปเรื่อย ๆ เช่น สมุนไพร  ยารักษาโรคต่างๆ ที่มันเคยจะเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม มันหายไป และเราต้องซื้อของข้างนอกมาใช้ตลอด แต่การที่เราหันกลับมาดูภูมิปัญญาของเรา หันกลับมาดูความรู้ที่เรามีอยู่ในท้องถิ่น ในชุมชนชาติพันธุ์  สิ่งต่างๆเหล่านี้มันจะเป็นโอกาสของประเทศนี้“

อภินันท์ ธรรมเสนา

อภินันท์ ยังเชื่อด้วยว่า ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะไม่สนับสนุนกฎหมายแบบนี้ แล้วก็ไม่มีเหตุผลอะไรเลย ที่จะไม่กล่าวขอบคุณพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ช่วยรักษาความรู้ รักษาทรัพยากรเอาไว้ และถึงเวลาที่จะต้องกล่าวคําขอโทษพี่น้องชาติพันธุ์ด้วยว่า ที่ผ่านมาจากนโยบายที่อาจจะผิดพลาดในยุคหนึ่ง ถึงก้าวจังหวะใหม่ของสังคมไทย ควรจะเป็นสังคมที่ยอมรับเรื่องความหลากหลาย 

“กฎหมายฉบับนี้จะเป็นทั้งการขอบคุณ และก็การขอโทษที่น้องชาติพันธุ์ไปด้วยในคราวเดียวกัน“ 

อภินันท์ ธรรมเสนา

อภินันท์ ยังได้ยกตัวอย่างในแคนาดา ก็ออกมาขอโทษและขอบคุณพี่น้องชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งมองว่าไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย เป็นเรื่องของการยอมรับในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งก็ถึงเวลาแล้วที่จะร่วมเดินไปด้วยกันอีกครั้ง เพราะฉะนั้นการกล่าวคําขอโทษ หรือว่าการกล่าวให้อภัยกัน จะทําให้เดินต่อไปได้

ขณะเดียวกัน คิดว่ากลไกสำคัญที่ต้องเดินต่อไปหลังจากนี้ คือ 1. การทําความเข้าใจ สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้กับพี่น้องชาติพันธุ์ทุกพื้นที่ 2. การเดินหน้าเขตพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม รวมถึงคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่ต้องมี ไปจนถึงการหนุนเสริมพลังของสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ และ 3. การเดินหน้าที่เหมือน Policy watch คือหน่วยติดตามที่จะคอยดูว่า ตอนนี้มีความคืบหน้าการผลักดันกฎหมายถึงไหนแล้ว มีโอกาสที่จะตกหล่นตรงไหนบ้างเพื่อคอยเฝ้าระวัง

ดึงวิถีชุมชน – ภูมิปัญญา เพิ่มคุณค่าการมีตัวตนชาติพันธุ์

สมภพ ยี่จอหอ นักพัฒนาอิสระ ผู้ก่อตั้ง DoiSter (ดอยสเตอร์) ยอมรับว่า ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์มีศักยภาพและต้นทุนในชุมชนที่ดีมาก ชาวบ้านอยู่กับป่าได้ ก็เลยทำการท่องเที่ยวให้คนมาเห็นป่า เห็นวิถีชีวิต เห็นอะไรต่าง ๆ แล้วเป็นสิ่งที่พิสูจน์ถึงรูปธรรมว่าชาวบ้านจัดการได้ด้วยตัวเอง  

“ชาวบ้านไม่ต้องการการสงเคราะห์มาก เพียงต้องการการหนุนเสริม อันนี้คือเป็นเรื่องที่เราทำงาน 20 – 30 ปี และก็พิสูจน์ได้ ว่าชาวบ้านมีศักยภาพ มีทุนทางสังคมที่ดี มีทุนทางวัฒนธรรม มีทุนทางธรรมชาติที่จะจัดการตัวเองได้ นำผลงานไปเสนอตัวตนที่ต่างประเทศ ไปเชิญชวนคนต่างประเทศมาเที่ยวเมืองไทย“ 

สมภพ ยี่จอหอ 

สมภพ ยังมองว่า ก่อนหน้านี้เวลาพูดถึงท่องเที่ยววิถีชีวิตชาติพันธุ์ ก็จะเป็นเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยว แต่ช่วงหลัง ๆ จะเห็นว่าคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนในเมืองมาเที่ยวกันมากขึ้น ก็ทำพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นที่พัก เรื่องอาหาร กิจกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงเรื่องของฝากของที่ระลึก เมื่อก่อนเวลานักท่องเที่ยวมาเที่ยว ก็จะจ่ายค่าที่พัก 100 – 150 บาท แต่เวลาซื้อของที่ระลึก เขาสามารถซื้อได้เป็นหลักพัน โดยเห็นศักยภาพภูมิปัญญาที่พี่น้องมี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานถักทอต่าง ๆ ถ้าพัฒนามาอีกจุดนึงแล้ว ก็ถูกใจนักท่องเที่ยว แล้วก็ไม่ทิ้งความเป็นชุมชนชาติพันธุ์ สามารถสร้างมูลค่าได้ อย่างผ้าทอที่นำมาโชว์บนเวที เป็นของหมื่อแพคี ที่บ้านเมืองแพม ก็จะมีวังปลาอนุรักษ์ ก็เลยหยิบอัตลักษณ์มาทําทอเป็นเสื้อลายปลาโดยใช้เทคนิคการจก ได้ไปโชว์ไปขายที่เบอร์ลิน ประเทศเยอรมณี 

“ถ้าถามว่า กฎหมายเดินช้ามีผลอะไรไหม และถ้ามันเร็วมันจะมีผลยังไง คือเรื่องนี้มองจากที่ตนเข้ามาทำงานตรงนี้กับพี่น้องชาติพันธุ์เกือบ 20 ปี ทำงานทั้งกับ Gen Boomer และ Gen X, Gen Y รวมถึงกับคน Gen Z และตอนนี้รัฐก็รณรงค์ให้คนรุ่นใหม่กลับบ้าน บัณฑิตกลับบ้าน แต่คำถามคือ เมื่อกลับบ้านมา ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ จะมาทำที่พัก รีสอร์ท เพื่อเชิญชวนคนมาเที่ยว ก็มีปัญหาด้านกฎหมาย อยู่ในพื้นที่อุทยาน พื้นที่ที่มีข้อจำกัดกฎหมายไม่เอื้ออำนวย สิ่งที่เราจะนำมาเสนอว่านี้เป็นของดีเรา ทำไปก็ผิดกฎหมายอันนี้ก็ไม่ได้ ก็เลยรู้สึกว่า ถ้ากฎหมายตัวนี้ออกมาเร็ว ก็จะมาหนุนเสริมคนรุ่นใหม่ กลุ่มคนที่จะมาขับเคลื่อนสังคม กลุ่มคน  Gen Z ที่เขามีความตั้งใจอยากจะกลับบ้านมาพัฒนาบ้านตัวเอง  แต่ถ้าไม่มีกฎหมายรองรับเขาอาจจะไม่มีความมั่นใจในการที่จะลงหลักปักฐานในชุมชนตัวเอง”

สมภพ ยี่จอหอ 

ลุกขึ้นโชว์ศักยภาพ พาสังคมก้าวข้าม ‘อคติ’

ในฐานะของข้าราชการที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับพี่น้องชาติพันธุ์ ‘จิรนันท์ เจียมเจริญ’ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง จ.แม่ฮ่องสอน ยอมรับว่า ดีใจกับการ kick off กฎหมายชาติพันธุ์ ก่อนหน้านี้เธอเคยทำงานกับพี่น้องชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ราชบุรี เมื่อประมาณ 6 – 7 ปีที่แล้ว ก็ยังตั้งคำถามกับตัวเองว่า จะมีกฎหมายตัวไหนที่จะใช้ทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องกะเหรี่ยงที่ราชบุรีได้ ก็พยายามศึกษา ปรากฎว่าก็ได้มติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 แนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงที่เป็นกรอบ หรือเป็นแนวทางการพัฒนาขับเคลื่อนคุณภาพชีวิต แต่ว่าสุดท้ายแล้ว ก็ทำได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นไม่ว่ากฎหมายจะมาช้าหรือเร็ว สำคัญคือ พี่น้องชาติพันธุ์เอง ควรแสดงศักยภาพให้สังคมข้างนอกได้เห็น เพื่อก้าวข้ามอคติการกดทับ 

“ในฐานะคนที่ทำงานคนหนึ่ง เรามองอย่างงี้ว่าพี่น้องชาติพันธุ์ยังเหมือนรู้สึกไม่มั่นคงในตัวเอง ไม่กล้าแสดงออก ยังเขิน อาย ในการที่จะโชว์ศักยภาพหรือวิถีที่คุณพูดว่าคุณสวยงาม วิถีของความเรียบง่ายตรงนี้ เพราะอะไร ก็เพราะคุณโดนกดทับโดยคำของสังคม ที่เขาบอกเรียกว่าคนป่าเป็นคนค้ายาค่ะ ประมาณนี้ นี่คือสิ่งที่สังคมพยายามที่จะนิยามพวกคุณที่อยู่ในพื้นที่แต่ในทางตรงกันข้ามพวกเราเองต่างหาก ที่เป็นพี่น้องชาติพันธุ์ไม่พยายามที่จะแบบยืนขึ้นมา แล้วโชว์ศักยภาพให้เขาเห็นว่า วิถีเราเจ๋ง “

จิรนันท์ เจียมเจริญ

ผอ.ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง จ.แม่ฮ่องสอน ยังสะท้อนความรู้สึกการทำงานตลอดทั้งชีวิต ว่า “อกจะแตก” ที่ต้องทำงานกับพี่น้องชาติพันธุ์ เพราะแทบไม่มีกลไกใดมาสนับสนุนเต็มที่ แต่ก็อยากบอกกับกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ อย่าไปแคร์คำที่เขาบอกว่าคุณเป็นคนป่า เพราะวิถีคุณดีอยู่แล้ว คุณกล้าที่จะยืนขึ้นมาแล้วสู้กับสังคมที่เขาให้ค่าคุณผิด โดยต้องมีกรอบและกฎหมายเป็นหลัก 

“ถึงบอกว่าดีใจที่จะมีกฎหมายตัวนี้ที่คุ้มครอง เราจะไม่มั่วซั่วทำจนแบบว่าเอ็นดูเขาเอ็นเราขาด เพราะฉะนั้นเราช่วยชาวเขา เขาก็ช่วยชาวเรา สุดท้ายแล้วมันก็จะช่วยชาวโลก อย่างที่รัชกาลที่ 9 ทรงมอบให้กับพวกเรามาแล้ว ว่าชาวเขาเนี่ยคือที่สุด ถ้าเขามีคุณภาพชีวิตที่ดี เขารักษาป่า เขารักษาภูมิ อะไรของเขาก็แล้วแต่ มันก็จะส่งผลถึงชาวเราซึ่งอยู่พื้นราบนั้นแหละค่ะ” 

จิรนันท์ เจียมเจริญ

กฎหมาย ไม่ใช่ ‘สิทธิพิเศษ’

ขณะที่ ‘ไมตรี จงไกรจักร’ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท สะท้อนว่า ต้องขอบคุณที่กลุ่มชาติพันธุ์ช่วยปักเขตแดนสยาม ย้อนกลับไปในอดีตมีพลเอกคนหนึ่งเคยพูดขอบคุณชาวเลที่รักษาเกาะหลีเป๊ะให้เป็นของสยามได้ สิ่งนี้บันทึกชัดเจนว่าเขาถามคนบนเกาะว่าจะอยู่ประเทศไหน ชาวเลตอบว่าอยากอยู่สยาม เกาะหลีเป๊ะ อาดังราวี จึงได้เป็นของสยามตั้งแต่นั้นมา แต่ถ้าไปถามใหม่ตอนนี้ ก็คิดเหมือนกันบรรพบุรุษไม่น่าคิดผิด เพราะว่าปัจจุบันเขาไม่มีแผ่นดินจะอยู่บนเกาะหลีเป๊ะ ฉะนั้นก็จะไปสอดคล้องกับคนรุ่นใหม่ เห็นว่าการท่องเที่ยวในเกาะหลีเป๊ะกําลังเจริญ แล้วเด็กรุ่นใหม่ก็กลับไปเริ่มสร้างห้องพัก 2 – 3 ห้องแล้ว หน่วยงานทั้งหมดก็แจ้งความจับชาวเลทั้งหมดที่สร้างห้องพัก เพราะไม่ได้รับอนุญาต ล่าสุดประชุมกรรมการคณะหนึ่ง มีข้าราชการผู้ใหญ่คนหนึ่งพูดว่า “ต้องระมัดระวังเอกชนเข้มแข็งมากที่จะฟ้องเรา แต่ชาวเลไม่เป็นไร เขาไม่ฟ้องเราหรอก” นี่เป็นวิธีคิดของข้าราชการ เพราะฉะนั้นกฎหมายชาติพันธุ์จึงเป็นเหตุที่จะคุ้มครองสิทธิ ความดั้งเดิมของเขา

“ในการขับเคลื่อนผมคิดว่าต้องสื่อสารเรื่องราววิถีชีวิตของเราว่ากฎหมายฉบับนี้จะคุ้มครองอะไรเราได้บ้าง เราไม่ต้องการเป็นพิเศษอะไรแต่คุ้มครองสิทธิของเราในการอยู่ทํากินในพื้นที่และสามารถมีชีวิตแบบปกติแบบคนอื่นได้โดยไม่ต้องขีดกรอบกฎหมาย เพราะว่าตอนนี้เท่าที่รัฐบาลที่แล้วเนี่ยแจ้งความจับคดี ป่าไม้และที่ดินทั้งหมด 48,000 คดี จากแผนทวงคืนผืนป่าทั่วประเทศ อันนี้ครึ่งหนึ่งเกี่ยวข้องกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์คนจน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ไม่มีสิทธิ์ เพราะฉะนั้นกฎหมายอันนี้ต้องคุ้มครองเหล่านี้ได้ อันสุดท้ายก็คือว่าเราต้องร่วมกันผลักดัน เกาะติดกฎหมายฉบับนี้ให้เกิดขึ้นได้ แล้วผมคิดว่ารัฐบาลอาจจะกล้าหาญ ถึงวันหนึ่งถ้าเราสร้างความเข้าใจ เขาอาจจะต้องมาขอบคุณและขอโทษพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นผู้ปกป้องขอบเขตประเทศสยามนี้ไว้“ 

ไมตรี จงไกรจักร

ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ยังเห็นว่า เมื่อร่างกฎหมายเข้า ครม. กระบวนการเร็วสุดน่าจะปีครึ่ง ถึงสองปี แต่ก็มีนโยบายบางอย่างของรัฐบาล หากเป็นนโยบายแบบนายกฯ พูด หรือรองนายกฯ พูดออกมาก็อาจจะยืดไปเรื่อย ๆ นี่เป็นปัจจัยที่หนึ่ง และถ้าเกิดพวกเราเงียบนิ่ง และไม่แสดงออกอะไรเลย ก็จะมีอย่างอื่นมาแทรกตลอดเวลาได้ ปัจจัยที่ 2 คือ ร่างกฎหมายกันไป 3 – 4 ฉบับดูเหมือนดี แต่พอเข้าสภาฯ ถ้าไม่ยืนยันกฎหมายทุกครั้งในการประชุม อันนี้จากประสบการณ์ที่ทําเรื่อง พ.ร.บ.คืนสัญชาติคนไทยพลัดถิ่น ก็เข้าสภาฯ ทุกรอบ จะต้องนั่งรอติดตามหน้าสภาฯ ทุกรอบเช่นกัน เขาจะได้เห็นว่ามาเฝ้าอีกแล้ว อย่าไปแก้ของเขามาก

‘กฎหมายชาติพันธุ์’ ความหวัง ‘กฎหมายมีชีวิต’ บังคับใช้ได้จริง

สอดคล้องกับ ‘ศักดิ์ดา แสนมี่’ เลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สพช.) ยอมรับว่า จริง ๆ แล้วผลักดันกฎหมายมา 10 กว่าปี ตั้งแต่ประกาศตัวตนการมีชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยอย่างเป็นทางการในปี 2550 ก็จัดตั้งเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย จัดงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยที่เชียงใหม่ ก็มาพูดคุยกับแกนนําว่าต้องพัฒนาให้เป็นสภาชนเผ่าเมือง จนนํามาสู่ในปี 2555 ได้จัดตั้งคณะยกร่างกฎหมายขึ้นมาชุดหนึ่ง เพราะว่าได้คุยในแกนนําควรจะผลักดันกฎหมายเป็นสิ่งแรก เป็นเครื่องมือสําคัญที่จะมาปกป้องคุ้มครองตัวตน ก็มีการยกร่างกฎหมายมา ที่สุดก็ผลักดันกฎหมาย จนถึงปี 2557 ก็เอาร่างกฎหมายที่มีการทําด้วยการมีส่วนร่วมของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ไปผ่านเวทีสมัชชาของสภาชนเผ่าพื้นเมืองครั้งแรก ในที่ประชุมก็เห็นชอบที่จะผลักดันให้มันเป็นกฎหมายผ่านเข้าไปสู่ในระบบสภานิติบัญญัติต่อไป 

และในปี 2557 การเข้ามาของรัฐประหาร ทางรัฐบาลก็มีสภานิติบัญญัติ และก็ยังมีกลไกที่เรียกว่าคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เป็นหน่วยในการช่วยทําให้ร่างกฎหมายมีความสมบูรณ์ ซึ่งองค์ประกอบครบถ้วนในการผลักดันให้เป็นกฎหมายในระดับสภานิติบัญญัติ ในที่สุดก็เสนอเข้าไป แต่ว่าลําบากเพราะช่วงนั้นมันมีความวุ่นวาย รวมถึงต้องการที่จะจัดการเรื่องของโครงสร้างระบบประเทศ  ทั้งรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่าง ๆ จนถึงการเซ็ตกลไกต่าง ๆ และในที่สุดเมื่อมีรัฐธรรมนูญ 2560 จนถึงปี 2562 ที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรก ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ก็ผลักดันเรื่องนี้ใหม่ จนถึงปี 2564  เป็นปีที่สามารถยื่นเรื่องร่างกฎหมายฯ ที่เป็นร่างกฎหมายเสนอโดยภาคประชาชนอีกฉบับหนึ่งเข้าไป ในที่สุดก็นําไปสู่การรับฟังความเห็นแล้วก็ได้รับการวินิจฉัยโดยประธานสภาฯ ว่าไม่เป็นร่างกฎหมายว่าด้วยเรื่องการเงินก็นําไปสู่การบรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ไม่ทันที่จะนําไปสู่การพิจารณาจนยุบสภาไป แล้วกลับไปอีกครั้งหนึ่ง 

ล่าสุดปี 2566 มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ ก็ได้ไปยื่นเรื่องให้กับทางประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้นําร่างฯ กลับมาสู่การบรรจุในระเบียบวาระอีกครั้งหนึ่ง จนในที่สุดประมาณเดือนกันยายนปีก่อน ก็นํากลับเข้ามาบรรจุอยู่ในระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง และ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ก็เชิญชวนให้ผู้แทนที่เป็นผู้ไปนําเสนอชี้แจงหลักการรักษาสําคัญของร่างกฎหมายไปชี้แจงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร แล้วเปิดอภิปรายในที่ประชุมอย่างกว้างขวาง

“เท่าที่ผมฟังมาเนี่ยทั้งหมดเนี่ยให้การสนับสนุนการมีร่างกฎหมายภาคประชาชนฉบับนี้ ร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมือง แต่ว่ายังติดขัดในเรื่องของการจัดกระบวนการการทําวิจัย รวมถึงการเตรียมการที่จะนําเสนอชื่อกรรมาธิการ จนในที่สุดประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ขอให้แต่ละฝ่ายที่ต้องไปเตรียมกรรมาธิการ แล้วก็ค่อยมามีมติและรับฟังเสนอรายชื่อในวันที่ 20 ธ.ค.66 แต่แล้ว ทางคณะรัฐมนตรี ก็แถลงขอนําเอาร่างของพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมือง นําไปสู่การพิจารณาของครม.อีกครั้ง นํามาสู่เรื่องเวทีวันนี้ จึงเห็นว่าเป็นความสําคัญของการที่จะดึงร่างอื่นๆ ที่มีหลักการร่วม เข้ามาสู่การพิจารณาในอนาคตอันเร็วนี้” 

“ผมเชื่อว่า รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม คงจะเตรียมตัวผลักดันให้มีการพิจารณาร่างฯ นี้ สิ่งที่เป็นตัวทําให้เกิดตามที่ยืนหยัดในสาระสำคัญของร่างกฎหมายทั้งหมด คือการคุ้มครองวิถีชีวิต ถ้ามีกฎหมายมันจะทําให้วิถีชีวิตเราเนี่ยสามารถอยู่ได้จริง แล้วก็มาเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตที่มันสามารถที่จะอยู่ได้ยาวได้ยั่งยืน อันนี้เป็นความท้าทายว่าจะทํายังไงถึงจะเป็นอย่างนั้นได้ เราก็หวังว่ากฎหมายเนี่ยมันต้องมีชีวิต เมื่อมีกฎหมายก็ต้องทําให้สามารถนําไปใช้ได้จริง ส่งเสริมวิถีชีวิตได้จริง”

ศักดิ์ดา แสนมี่

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล