‘เด็กทุน’ ต้องเจ๋ง ต้องจน แค่ไหน ? ถึงจะใกล้โอกาสการศึกษา

ในโลกการศึกษา ‘เด็กทุน’ มักเป็นบุคคลที่ได้รับโอกาสให้เข้าสู่ระบบภายใต้เงื่อนไขพิเศษ คือ “ไม่เก่งที่สุด ก็ต้องจนจริง ๆ หรือ ทั้งเก่งทั้งจนในคนเดียวกัน”

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใคร ๆ ก็อยากสนับสนุนคนเก่ง ๆ หรือคนที่ขาดแคลนให้ได้เรียนหนังสือ

แต่คุณเคยสงสัยไหมว่า…ถ้าหากเด็กเหล่านี้ไม่ได้รับทุนการศึกษา พวกเขาจะไปอยู่ส่วนไหนของระบบ ? จะมีโอกาสไหม ? ที่จะได้เรียน

และถ้าหากเราเป็นเพียงคนธรรมดาที่ไม่ได้ จน ไม่ได้เก่งเลิศเลอ ระบบการศึกษามีพื้นที่ให้โอกาสสำหรับคนธรรมดาที่ใฝ่เรียนหรือไม่ ?

โอปอร์ – วิชชุริณี ชุมพล ปี 4 นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

The Active ชวนคุยกับ ‘โอปอร์’ วิชชุริณี ชุมพล นักศึกษาทุนช้างเผือก ปี 4 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในเด็กไม่กี่คน ที่คว้าทุนการศึกษา โครงการเรียนดีจากชนบทปี 2563 อะไร ? ทำให้เธอต้องถีบตัวเองอย่างหนัก ในวันที่ระบบการศึกษานั้นสารพัดค่าเกินกว่าจะถึงฝัน และด้วยความหวังของคนทั้งบ้าน เส้นทางพิสูจน์ความจน พิสูจน์ความรู้ความสามารถที่มีจึงได้เริ่มขึ้น

‘ค่าใช้จ่าย’ พุ่ง! เรียนมหาวิทยาลัยไม่ใช่เรื่องง่าย

กว่าจะมาเป็นนักศึกษาทุน โอปอร์ ถือเป็นนักเรียนทุนมาตั้งแต่สมัย ม.ต้น แล้ว (โรงเรียนสภาราชินี จ.ตรัง) เธอมาจากครอบครัวที่พ่อแม่แยกทางกัน พ่อหันหลังให้ทางโลกบวชพระยังไม่มีทีท่าจะสึก ส่วนแม่ก็มีชีวิตใหม่ กับครอบครัวใหม่ และไม่ได้ติดต่อกันอีก

แม้ครอบครัวแตกสลาย แต่ โอปอร์ ยังมีตากับยายดูแล รับหน้าที่เป็นผู้ปกครอง ทั้ง 2 คนทำอาชีพรับกรีดยางทั่วไป ไม่มีสวนเป็นของตัวเอง ด้วยความไม่มั่นคงทางอาชีพ แต่ต้องรับผิดชอบดูแลหลานรวมกันถึง 3 คน ตายายจึงแบกภาระหนี้สิ้นค่อนข้างเยอะ ในระหว่างช่วงที่เธอเรียนอยู่ ม.ปลาย ครอบครัวเจอวิกฤตค่าใช้จ่ายในบ้าน โอกาสได้เรียนต่อมหาวิทยาลัยของโอปอร์ในเวลานั้นริบหรี่ลงเต็มที แม้เธอตั้งใจเรียนแค่ไหนก็ตาม

“เริ่มต้นเข้ามาเรียนในกรุงเทพ เข้ามาเรียนในเมืองครั้งแรก ค่าใช้จ่ายสูงมาก ค่าแรกเข้าก็สูงมาก ไปกู้หนี้ยืมสินมาก็ต้องไปใช้จ่ายคืนเขา คือ เราทำงานหาเงินตั้งแต่เด็ก ๆ อยู่แล้ว ต้องเตรียมเงินเยอะมากในการที่จะสมัครสอบ ไม่ว่าจะเป็นข้อสอบ Gat Pat วิชาละ 100-200 บาทตอนนั้น แล้วก็มี 9 วิชาสามัญอีก O-Net อีก ซึ่งมันก็เตรียมสอบใช้เงินเยอะกว่าที่จะรวบรวมโปรไฟล์ หรือรวบรวมเงินเพื่อที่จะทำกิจกรรมต่างๆไปเก็บผลงานได้ก็ใช้เงินเยอะมาก”

โอปอร์ ย้อนเรื่องราว

กว่าจะมาเจอ ‘ทุนการศึกษา’

อุปสรรคสำหรับโอปอร์ ไม่ได้มีไว้ให้ยอมแพ้ เธอรู้ดีว่าสิ่งเดียวที่จะยกระดับชีวิตครอบครัวได้คือการศึกษา ดังนั้นเธอจึงพยายามหาทุนมาสนับสนุนความฝันโอกาสได้เรียนต่อ จนมาเจอทุนจากโครงการธรรมศาสตร์ช้างเผือก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

เราอยากจะเรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่ไม่มีเงินจริง ๆ กว่าจะมาหาและมาเจอโครงการธรรมศาสตร์ช้างเผือกก็ยากอยู่เหมือนกัน แต่มันมีจุดง่าย ตรงที่เราสนใจอยู่คณะเดียวเลย คือ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ และมันมีเปิดแค่อยู่ในธรรมศาสตร์ และอีก 2-3 ที่ในประเทศไทย”

การเข้าไม่ถึงข้อมูลด้านทุนการศึกษา เป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้เด็กที่ขาดแคลนแต่ใฝ่เรียนต้องหยุดเรียนกลางคัน สอดคล้องกับข้อมูลจาก ศ. สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า การมีครูแนะนำจะช่วยลดข้อจำกัดเรื่องนี้ได้

“เด็กมักเข้าไม่ถึงข้อมูล เพราะเมื่อที่บ้านยากจน ก็จะไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีเทคโนโลยี พ่อแม่หาเช้ากินค่ำก็จะไม่มีเวลา ซึ่งครูนั้นเป็นส่วนสำคัญอย่างมากต่อเด็กในระบบการศึกษา ถ้าหากเขาลงเยี่ยมเด็ก รู้ปัญหา และสามารถพูดคุยกับเด็กได้ คอยแนะแนวทางเรื่องทุนการศึกษา เชื่อว่าเด็กทุกคนจะรับฟัง แต่ครูกลับเป็นปัจจัยที่ขาด”

ศ.สมพงษ์ สะท้อนมุมมองต่อครู

แต่สำหรับ โอปอร์ เธอโชคดีที่มีครูแนะแนว ในเวลานั้นก็ต้องใช้ความพยายามการเข้าหาของตัวเองด้วย เธอไม่เคยรอคอยโอกาสแต่กลับเป็นฝ่ายวิ่งเข้าหาโอกาสมากกว่าเด็กคนอื่น ๆ

“ทำดีกับอาจารย์ตอนนั้น ว่าเผื่อมีทุนอะไรแนะนำหนูไหม ? แล้วโปรไฟล์ที่ต้องใช้ต้องมีอะไรบ้าง เพราะเราแข่งกับคนทั้งประเทศ 40 จังหวัดที่เข้าเกณฑ์มหาวิทยาลัย ตอน ม.6 ตอนนั้นคือ เหนื่อยมาก!”

“ศักยภาพทางการเงินเราไม่สู้ เราก็ใช้ความรู้แหละ ในการที่จะขออาจารย์สอบอันนี้นะ แข่งอันนี้นะ ขอไปอันนี้ได้ไหม ? โรงเรียนจะส่งอันนี้หนูขอไปได้ไหม ? ทำงานตัวเป็นเกลียว เพื่อที่จะให้โรงเรียนเห็นศักยภาพของเรา และส่งเราไป”

มาตรฐานการเป็นเด็กทุน

การได้สถานะ ‘เด็กทุน’ ว่ายากแล้ว แต่การรักษามาตรฐานการเป็นเด็กทุนท้าทายยิ่งกว่า เพราะว่าเด็กทุนเรียนดีจากชนบทนั้น จะมีเงื่อนไขพิเศษสำคัญที่มหาวิทยาลัยตามหาจากเด็กหนึ่งคน ก็คือการเป็น ช้างเผือก

ทุนอาจความสำคัญกับฐานะทางเศรษฐกิจที่ขาดแคลนมาเป็นลำดับแรก รองลงมาจึงจะเป็นเรื่องผลการเรียน และกิจกรรมที่โดดเด่น รวมถึงมีการใช้คะแนนสอบวัดผลได้แก่ Gat และ O-Net มาพิจารณาด้วย นั่นทำให้เด็ก ควรที่จะเก่งเป็นพิเศษ หรือพรีเมียมในระดับหนึ่ง ซึ่งโอปอร์ก็พยายามพิสูจน์ตัวเองเพื่อไขว่คว้าไว้ให้ได้

โดดเด่นในที่นี้แน่นอนว่า จะต้องอยู่ในระดับที่คนในพื้นที่จังหวัด ในพื้นที่โรงเรียนต้องรู้จักเรา ต้องเห็นผลงานของเรา เพราะว่าถ้าเรามีระดับผลงานอยู่แค่ในโรงเรียน ทำกิจกรรมอยู่แค่ในหมวด ๆ นึงของโรงเรียนแค่นี้ มันไปแข่งกับคนที่เขาส่งรายชื่อมาไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นแล้ว มันก็จำเป็นที่จะต้องผลักดันในเรื่องของกิจกรรม มีเยอะก็ยิ่งดี มีระดับสูงมากขึ้นก็ยิ่งดี โดดเด่นสแตนด์เอาท์ (Standout) ออกมาได้ก็ยิ่งดี”

โปรไฟล์ของผู้ยื่นสมัครจะผ่านสายตาคณะกรรมการจากมหาวิทยาลัย นักเรียนที่เป็นผู้สมัครต้องผ่านการคัดเลือกที่เข้มข้นจากภายในโรงเรียนก่อน ซึ่งตามเกณฑ์ของโครงการฯ โรงเรียนจะสามารถส่งนักเรียนได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สายสามัญ แต่ต้องไม่เกิน 10 คน

จุดนี้เองที่ โอปอร์และเด็กทุนคนอื่น จึงต้องมาสู้กันตั้งแต่ในรั้วโรงเรียน พวกเขาต้องอาศัยความเมตตาจากครูแนะแนวในการใส่ใจรู้ลึกในตัวนักเรียนที่ยื่นสมัคร ซึ่งนักเรียนต้องเขียนเอกสารทุกฉบับยื่นทุนด้วยความประณีต พร้อมด้วยเรียงความหนึ่งหน้ากระดาษ ระบายความฝัน และความลำบากของเด็กคนหนึ่งที่กว่าจะเข้าถึงระบบการศึกษาได้

“รู้สึกว่า แค่อยากเรียนทำไมมันยากขนาดนั้น ? พิสูจน์มากมายอะไรขนาดนั้น ?”

โอปอร์ ตั้งคำถาม

เมื่อผ่านเกณฑ์คัดเลือก มหาวิทยาลัยก็จะลงพื้นที่สำรวจฐานะทางบ้าน พิสูจน์ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ? บางคนตกรอบ บางคนเข้ารอบ เพราะทุนจากมหาวิทยาลัยคงไม่สามารถจัดสรรไว้ได้สำหรับทุกคนแน่นอน ฉะนั้น นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ก็จะมีทางเลือกไม่มากในระบบการศึกษา

บางคนก็เลือกจะหลุดออกจากระบบการศึกษาไปเลย และหันไปทำงานแทน ซึ่ง โอปอร์ เล่าว่า เธอก็เคยเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่คิดว่าจะออกมาทำงาน และส่งน้องเรียนเช่นกัน หากในวันนั้นเธอไม่สามารถถีบตัวเองจนได้รับทุนการศึกษาสำเร็จ แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะสมหวังอย่างโอปอร์

การศึกษาที่เข้าถึงยาก ค่าใช้จ่ายสูง ต้องถีบตัวเองแค่ไหนหรือ ? ถึงจะเข้าใกล้ระบบการศึกษา”

สารพัด ‘ค่า’ กว่าจะมาถึงฝัน

มิติที่เด่นชัดที่สุด สำหรับปัจจัยที่ทำให้กระทบต่อปัญหาการเรียนต่อ คือ ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่มากเกินไป ไม่ว่าจะเป็น ค่าแรกเข้าทางการศึกษา, ค่าทำกิจกรรมไว้ใส่ผลงาน(Portfolio), ค่าครองชีพในการเดินทาง, ค่าอาหาร ,ค่าเครื่องแบบ, ค่าสอบวัดความรู้เข้ามหาวิทยาลัย, ค่าเรียนพิเศษ, กรณีที่ความรู้ในโรงเรียนอาจไม่เพียงพอไปสอบเข้าระดับอุดมศึกษา เช่น การสอบ GAT เชื่อมโยงภาษาไทย เป็นต้น

นอกจากนี้ หากหลายคนยังจำได้ ในปี 2563 ระบบการสอบของเด็กไทยที่ใช้ชื่อว่า TCAS ก็ยังเผชิญข้อถกเถียงเป็นดรามาร้อนแรงเรื่องค่าสอบเข้ามหาวิทยาลัย จากคำกล่าวของ พีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และผู้จัดการระบบ TCAS เคยพูดไว้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2563

“ค่าสมัครสอบแอดมิชชั่น 10 อันดับ 900 บาท อู้ย! ไม่แพงเลย ถูกมาก บางสาขา เขาตั้งเกณฑ์สูง เพราะต้องการคนมีคุณภาพ จะได้เรียนรอด คนที่บอกว่าอยากจะเรียน แต่คุณสมบัติไม่ถึง อยากให้เปิดโอกาส เขาก็บอกว่า เปิดโอกาสไปก็ไม่ผ่านการคัดเลือกหรอก เพราะคนมีคุณสมบัติถึง มันมีมากพอที่เขาจะคัดเลือกแล้ว ถ้าเปิดโอกาสลงมาสมัครฟรี ยังไงก็ไม่ได้ เพราะมีคุณภาพสมัครเพียงพอให้เขาใช้งานคัดเลือกได้”

ในมุมของผู้จัดการระบบ TCAS อาจจะเป็นข้อเท็จจริง แต่ในมุมของคนทั่วไปอีกจำนวนไม่น้อย เห็นว่า นี่เป็นการตอกย้ำให้ถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และยิ่งตอกย้ำให้คนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือนักเรียนในครอบครัวยากจน ต้องพยายามดิ้นรนสุดความสามารถ เป็นคนพิเศษที่พรีเมียม เพียงพอ เพื่อจะหาทุนการศึกษามาเป็นใบเบิกทางเรียนต่อให้ได้

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษา กสศ. ย้ำว่า ตัวเลขเด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษาสะสมในปี 2567 มี1,0020,000คน ซึ่งสาเหตุหลักคือ ปัญหาความยากจน และระบบการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์เรื่องความถนัดและความสนใจ

ท่ามกลางนโยบายเรียนฟรี 15 ปีของรัฐบาล จึงไม่พ้นที่จะถูกตั้งคำถามจากสังคม ว่าเพียงพอแล้วจริงหรือ ? นำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ จากนักการศึกษา ว่า “ฟรีทิพย์”

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษา กสศ.

“การศึกษาเรียนฟรี 15 ปีเป็นเรื่องของกฎหมายนะ แต่ทรัพยากรที่เรามาใช้กับเรื่องของการศึกษานี่ มันไม่ได้ลงมาสู่ที่ตัวเด็ก ไปสู่คุณภาพการศึกษา แต่มันไปลงสู่เรื่องโครงสร้างระบบ และค่าตอบแทนบุคลากรที่มากเกินไป ฉะนั้นเด็กที่ได้เรียนฟรี 15 ปี มันจึงกระท่อนกระแท่น ค่าใช้จ่ายของเด็กคนที่ได้เข้าไปในโครงการเรียนฟรี แต่เขาต้องจ่ายเพิ่ม สูงตั้งแต่ประมาณ 6,000-9,000 บาท ต่อคนต่อปี ซึ่งนี่ไม่ใช่เรียนฟรี และถ้ายิ่งคุณเรียนอุดมศึกษาค่าใช้จ่ายก็จะทวีคูณ”

ศ.สมพงษ์ สะท้อนข้อเท็จจริง

ในมุมมองของที่ปรึกษา กสศ. เมื่อถูกถามว่าคิดอย่างไร ? กับการทำหน้าที่ของรัฐ ล้มเหลวไหม ? ในการให้สิทธิขั้นพื้นฐานแก่เด็ก ? คำตอบอย่างตรงไปตรงมาที่ได้ คือ “ผมว่าเขาล้มเหลว”  

“เราต้องปฏิรูปโดยเน้นจากกลุ่มคนที่เขาขัดสน ยากจน เข้าไม่ถึงระบบการศึกษาให้เข้าถึงได้มากที่สุด เน้นกลุ่มชาติพันธุ์ คนพิการ แม่วัยใส กลุ่มคนที่เป็นคน จน เมือง กระจายอำนาจ ไม่ใช่รวมศูนย์แบบปัจจุบัน ถ้ากระจายอำนาจออกไป ท้องถิ่น อบต. เทศบาล หรือหน่วยงานต่าง ๆ เขาจะใกล้ชิดกับปัญหา ใกล้ชิดกับครอบครัวที่จะเข้าถึงระบบการศึกษาได้ดี”

“สุดท้ายต้องปฏิรูประบบงบประมาณ ไม่ใช่คิดงบฯ ค่าใช้จ่ายรายหัวตามจำนวนเด็กเป็นหลัก เป็นวิธีการจัดระบบที่ล้มเหลว และมักง่ายที่สุดเท่าที่ผมเห็น โรงเรียนขนาดใหญ่และขนาดเล็กงบฯ แตกต่างกันเป็นล้านเท่าพันเท่า แล้วจะอยู่รอดได้อย่างไร”

การจะปฏิรูปการศึกษาจะเกิดขึ้นได้จริง ๆ สำคัญที่สุด ต้องออกพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ไปเลย ซึ่งจะปรับเรื่องโครงสร้างได้อย่างแท้จริง

อย่างน้อยปัญหาเชิงโครงสร้าง เชิงระบบ ก็จำเป็นต้องแก้ และหาทางออกผ่านการออกกฎหมายที่สอดรับกับการแก้ไขปัญหา

แต่ ‘ความหวัง’ และ ‘โอกาส’ ก็ยังเป็นเรื่องจริงที่สังคมไทย และแวดวงการศึกษา ต้องช่วยกันทลายข้อจำกัด เพื่อไม่ทำให้ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ปิดกันอนาคตของเด็กไทยอีกต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส

Alternative Text
AUTHOR

ณัฎฐวรรณ บุญทำ

นักศึกษาสาขาวิทยุโทรทัศน์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล