จากนักโทษทางความคิด ‘ภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้’(2)

ทำไมต้องพูดเรื่องภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้
สัมภาษณ์พิเศษ | “มูฮาหมัด อัณวัร หะยีเต๊ะ”

‘อันวาร์’ – “มูฮาหมัด อัณวัร หะยีเต๊ะ” นักกิจกรรมทางสังคม ผ่านประสบการณ์เป็นนักโทษคดีความมั่นคง ขณะที่เขานิยามตัวเองว่าเป็นเพียงแนวร่วมทางความคิดกับขบวนการบีอาร์เอ็นเท่านั้น

ทว่า บทบาทการเป็นสื่อใหม่ “บรรณาธิการ The Motive คือการชี้ชวนให้คนจำนวนมาก ครุ่นคิด ตั้งคำถามกับ “ภาพอนาคตปาตานี ภาพอนาคตชายแดนใต้” และอะไรคือเบื้องหลังความยุ่งยากที่จะชวนให้เราติดตามถึงผลกระทบด้านต่าง ๆ ในเร็ววันนี้

The Active ชวนอ่านบทสัมภาษณ์ขนาดยาวตอนที่ 2

อันวาร์ The Motive

Q: ทำไม The Motive ต้องเปิดตัวด้วย ‘ภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้’ ?

อันวาร์: เหตุผล 2 ประเด็น ประเด็นแรก ผมได้แรงบันดาลใจจากหนังสือ MARATHON: อินเทอร์เน็ต การเมือง วัฒนธรรม (ฉบับออกตัว) (2555) ในเล่มนั้นมีบทความ เล่าเรื่อง: “สื่อใหม่” เปิดพื้นที่การเมืองและข้อเสนอต้องห้าม “นครปาตานี” มีคำว่า Scenario หรือฉากทัศน์ ภาพอนาคต ผมไม่รู้แน่ชัดว่ากระบวนการสร้างภาพอนาคตเพื่อให้คนเห็นร่วมกันทำอย่างไร ผมก็ทำง่าย ๆ แบบผม

แต่ในบทความนั้น ชี้ให้เห็นถึงกระบวนการออกแบบการสื่อสารที่เชื่อมร้อยสื่อสาธารณะและสื่อในพื้นที่ การทำงานร่วมกับคนหลายฝ่าย นักวิชาการ นักการเมืองระดับชาติและนักการเมืองท้องถิ่น นักสื่อสาร นักข่าวพลเมือง มีการให้ความหมายเรื่องพื้นที่การเมืองจากการสื่อสาร เมื่อพื้นที่ ผู้คนในส่วนกลาง (กรุงเทพฯ) พูดคำต้องห้ามที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงได้ เช่น คำว่า ‘เอกราช’ ถูกพูดถึงในพื้นที่สาธารณะ ในรายการโทรทัศน์ได้ ทำให้บรรยากาศในการพูดเรื่องการเมืองการปกครองในพื้นที่ชายแดนใต้เปิด สามารถพูดและถกเถียงการออกแบบรูปแบบการปกครองท้องถิ่นรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเขตปกครองพิเศษ เขตปกครองตนเอง หรือบางครั้งใช้คำว่า Autonomy ทำให้ผู้คนมีจินตนาการถึงการอยู่ร่วมกันในอนาคตได้

“สื่อเคยสามารถรวมตัวกันเป็นเครือข่ายและทำให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมทางการเมือง พูดเรื่องการกระจายอำนาจการบริหารและจัดการทรัพยากรอย่างเป็นธรรมได้ นั่นเป็นช่วงก่อนที่มีการพูดคุยสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้ด้วยซ้ำ ผมอยากให้เกิดบรรยากาศแบบนี้ได้อีกครั้ง”

จริงแล้ว ผมอยากทำเหมือน The Active เหมือนไทยพีบีเอส ที่สามารถจัดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นของคนเห็นต่างและเป็นพื้นที่รับฟัง หาข้อเสนอ หาทางออกร่วมกัน แต่คงจะเป็นระยะต่อไป หลังจากที่มีการประมวลความเห็นจากเวทีเสวนา ‘ภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้’ และหากพวกผมจัด ก็จะทำให้แตกต่างจาก “เวทีบีจารอ” ซึ่งเป็นเวทีเปิดที่ให้ชาวบ้านในระดับหมู่บ้านพูดถึงทางออกของปาตานี ที่จัดโดย สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือเปอร์มัส ผมอยากจัดเวทีสาธารณะในระดับอำเภอและตำบล มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้คนที่คุ้นเคยกับการกระจายอำนาจในระดับท้องถิ่นมาบ้างแล้ว คนที่สามารถถอดบทเรียนในอดีต และเห็นว่าการกระจายอำนาจในอนาคตที่เป็นรูปธรรมจริงหน้าตาควรเป็นแบบไหน ก็ขอเวลาในการเตรียมการเรื่องนี้ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

เหตุผลประการที่ 2 สถานการณ์ความรุนแรงชายแดนใต้/ปาตานี ยืดเยื้อมา 18 ปี คนเสียชีวิตจำนวนมาก แต่คนที่ได้รับผลกระทบทั้งชีวิต เศรษฐกิจ สังคมมีมากกว่า แม้โต๊ะพูดคุยสันติภาพจะล้มและเริ่มใหม่เป็นครั้งที่ 3 ก็ต้องนับว่าเป็นความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรม แต่กระบวนการพูดคุยที่ไม่เห็นปลายทางว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร สถานการณ์ความรุนแรงเริ่มกลับมาอีกแล้ว นี่เป็นเหตุผลชอบธรรมเพื่อถามถึง ‘ภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้’ ของคนในพื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 5 อำเภอในจังหวัดสงขลา จากบุคคล องค์กรที่ส่งอิทธิพลทางความคิดต่อคนในพื้นที่ หน่วยงานรัฐ ทั้งฝั่งที่รัฐเรียกว่า “กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ” หรือขบวนการที่ต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานี ฝ่ายการเมือง รวมไปถึงองค์กร หรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการติดตามประเด็นความรุนแรง กระบวนการสันติภาพในพื้นที่

ผมและทีมงานอยากให้คนหรือองค์กรข้างต้น ได้แสดงความเห็น วิสัยทัศน์ ข้อเสนอที่เป็นภาพอนาคต (1) ด้านรูปแบบการเมืองการปกครอง (2) ด้านเศรษฐกิจ (3) ด้านวัฒนธรรม และ (4) ด้านกระบวนการสันติภาพ ที่มีความเป็นไปได้ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย หรือ กฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อให้เห็นภาพว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคต ประชาชนในพื้นที่จะได้เข้าใจในปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้น และให้เป็นเวทีพบปะแลกเปลี่ยนทัศนะที่จะเป็นประโยชน์แก่พื้นที่ด้วย

Q: หลังจากเผยแพร่กำหนดการ ดูเหมือนรายชื่อบุคคลที่เข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ ทำให้ทั้งฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายทหาร และคนในพื้นที่จำนวนหนึ่งโดยเฉพาะคนไทยพุทธรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ โดยเฉพาะการให้ตัวแทนของขบวนการบีอาร์เอ็นมาพูดปิดท้ายรายการ มีวิธีคิดในการเลือกคนและจัดวางกำหนดการที่จะกลายเป็น ‘บทสนทนาของสังคม’ และนัยของการอยู่ร่วมกันในอนาคตอย่างไร

อันวาร์: อย่างที่บอกข้างต้น เราต้องการฟังวิสัยทัศน์ของคนที่มีอิทธิพลต่อคนในพื้นที่ในมุมสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และกระบวนการสันติภาพ และอยากให้เวทีนี้เป็นเวทีที่กำหนดทิศทางการเลือกตั้งในอนาคต หากจัดช่วงปลายปีหรือช้ากว่านี้ เวทีจะให้ผลด้านกลับ กลายเป็นเวทีหาเสียงของนักการเมืองทันที

ทีมงานประเมินว่า คะแนนเสียงของพรรคพลังประชารัฐ และคณะทหารน่าจะลดความนิยมลงมาก พรรคที่จะกลายเป็นคนจัดตั้งรัฐบาลอาจเป็นพรรคเพื่อไทย ทว่า เมื่อพิจารณาไปที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย หรือ คุณอุ๊งอิ๊งแพรทองธาร ชินวัตร ที่กำลังเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ พวกเราประเมินแล้วน่าจะไม่เข้าใจ หรืออ่านสถานการณ์พื้นที่ชายแดนใต้ไม่ขาด ท้ายสุดไม่ว่าใครในพรรคเพื่อไทยอาจต้องไปพึ่งวิสัยทัศน์ ‘ทักษิณ ชินวัตร‘ อดีตนายกรัฐมนตรีอยู่ดี ถ้าเช่นนั้น พวกเราสอบทานความคิดกันในกลุ่มแล้ว ‘เล่นใหญ่ชวนคุณทักษิณเลยไหม?’ เมื่อทุกคนเห็นพ้องกัน ก็หาคนช่วยประสานงานให้ รวมแล้วใช้เวลาประสานนานเป็นเดือน ทีมงานเพิ่งได้รับการคอนเฟิร์มร่วมเวทีหลังจากที่เราได้ประชาสัมพันธ์การจัดงานวันแรก ซึ่งเราดีใจมาก

แง่หนึ่ง คุณทักษิณ อาจเป็นคนแรก ๆ ที่เห็นอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้ล่วงหน้า ตั้งแต่ 20 ปีก่อน จึงประกาศยุบ ศอ.บต. และกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหารที่ 43 (พตท.43) เมื่อปี 2545 จนความขัดแย้งรุนแรงปะทุขึ้นมารอบใหม่ ปี 2547 คุณทักษิณก็เป็นปัจจัยหนึ่ง หรือการอยู่เบื้องหลังคุยกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย จนทางการมาเลเซียไปกดดันกลุ่มขบวนการต่าง ๆ สมัยคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี จนเกิดการริเริ่มพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีอย่างเปิดเผย เมื่อปี 2556 ก็น่าสนใจว่า ขณะนี้คุณทักษิณคิดอะไรอยู่กับพื้นที่นี้

ส่วนพรรคการเมืองใหม่อย่างก้าวไกล หรือคณะก้าวหน้าที่มาแทนพรรคอนาคตใหม่ ก็ขยายฐานเสียงกับกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น การสร้างพรรคการเมืองด้วยวิธีคิดแบบ Startup เมื่อการทำงานความคิดเป็นสินค้ารูปแบบหนึ่ง เชื่อว่าในอนาคตพรรคก้าวไกลจะเป็นตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาลด้วย แน่นอนเราต้องการฟังวิสัยทัศน์ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ หัวหน้าคณะก้าวหน้า ที่พยายามขายความคิดการปลดล็อกท้องถิ่นและการกระจายอำนาจว่า เขาคิดว่ารูปแบบการปกครองในพื้นที่ชายแดนใต้ควรเป็นแบบใด และจะทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไร

มี ‘ทักษิณ’ ‘ธนาธร’ สองคนนี้คงไม่เพียงพอที่จะเป็นตัวแทนเสียงของกลุ่มคนทั้งหมด อาจทำให้ฝ่ายทหาร ฝ่ายความมั่นคง คนไทยพุทธไม่สบายใจ พวกผมพยายามหาว่านักการเมืองในกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ค่อนข้างก้าวหน้า น่าจะเป็นใคร เราคิดถึงคนในพรรคประชาธิปัตย์ แต่เราไม่เห็นใครจริง ๆ นอกจาก ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเขาเคยมีบทบาทและรับรู้ในการพูดคุยสันติภาพวงปิดหลายครั้ง

“พอได้ชื่อและการตอบรับจาก 3 อดีตหัวหน้าพรรคการเมือง เพราะพบว่าทั้ง 3 คน มีศักดิ์และสถานะที่เหมือนกันคือ เขาทั้งสาม ไม่สามารถลงเลือกตั้งสมัยหน้าได้ คนหนึ่งลี้ภัยการเมืองอยู่ต่างประเทศ อีกคนหนึ่งถูกตัดสิทธิทางการเมือง อีกคนลาออกจากพรรคการเมืองแล้ว นั่นจะทำให้การแสดงวิสัยทัศน์ของเขาเป็นอิสระ ไม่ผูกพันกับความเป็นตัวแทนพรรค และชี้ทิศทางทางการเมืองได้ระดับหนึ่ง”

สำหรับตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น เขาขึ้นโต๊ะพูดคุยสันติภาพกับตัวแทนรัฐไทยมาแล้ว 2 ครั้ง จนกระทั่งไม่นานนี้ มีการเปิดตัวบุคคลสำคัญและหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการทางทหารของขบวนการ รวมแล้ว 7 คนบนโต๊ะพูดคุยสันติภาพรอบใหม่ แต่ที่ผ่านมา ตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็นไม่เคยพูดถึงรูปแบบการปกครองที่มีความเป็นไปได้อย่างเป็นรูปธรรม และด้วยจุดประสงค์ของเวทีเสวนา จะชวนกันวาดภาพอนาคตปาตานีร่วมกัน เราไม่อยากได้ยินเรื่องเล่าเก่า ๆ กระบวนการจัดตั้งกองกำลังในหมู่บ้าน หรืออะไรทำนองนี้ อยากได้ยินสิ่งที่เป็นความหวังสำหรับคนรุ่นใหม่

“ด้วยโจทย์แบบนี้ ผมคิดว่าฝ่ายขบวนการก็คิดหนักเหมือนกันว่าจะส่งใครมา”

“ใช่ครับ เขาตอบรับว่าจะมาเข้าร่วมด้วย ตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้ว”

“จะเปิดตัวคนใหม่หรือไม่ นอกจากคนที่เคยเปิดตัวบนโต๊ะพูดคุยสันติภาพแล้ว ยังไม่มีการส่งสัญญาณใดมา จะเห็นว่าในกำหนดการยังมีไม่มีการเปิดชื่อและรูป ดังนั้น เราต้องลุ้นไปด้วยกัน จนกว่าจะถึงวันที่ 25 มิถุนายนนี้ โดยส่วนตัว ผมอยากให้เปิดชื่อและหน้านะครับ เพราะไม่อย่างนั้น The Motive จะถูกตั้งคำถามได้ว่าเอาใครมาอ้างเป็นตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็นหรือเปล่า จะเสียหายทั้งฝ่ายผู้จัดและฝ่ายขบวนการด้วย”

เมื่อตัวละครหลัก ๆ ตอบรับแล้ว เป็นเรื่องลำบากใจของทีมงานในการจัดวางว่าจะให้ใครพูดก่อนหรือหลัง จะให้คู่ขัดแย้งคือ ‘ทักษิณ’ กับ ‘ตัวแทนขบวนการ’ ได้เจอกันในวันแรกเลยไหม คุยวนกันไปมา ข้อสรุปคือ ไม่ควรให้มีการเผชิญหน้ากันเกินไปนัก เราควรจัดการพื้นที่กลางนี้ให้เกิดความสมดุล ได้เห็นวิสัยทัศน์ของแต่ละฝ่าย โดยปลอดภัยในความรู้สึกของผู้พูดและไม่กดดันจนเกินไปนัก

“และคิดว่า ใดใดก่อนแสดงวิสัยทัศน์ของตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น เขาควรจะได้รับฟังทิศทาง แนวโน้ม สัญญาณใหม่ ๆ ในอนาคตก่อน เพราะสถานการณ์สังคมไทยและโลกหลังโควิด-19 หลายอย่างเปลี่ยนไปมาก ความรู้สึกนึกคิดของคนในพื้นที่ก็เปลี่ยนไปมาก ทั้งปัญหาปากท้อง การทำมาหากิน ปัญหาความยากจน และปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจมิติต่าง ๆ จึงตัดสินใจให้ตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นคนพูดคนสุดท้ายของงาน”

“เป็นความยากลำบากในการประสานงานและการจัดการผู้คนอย่างมาก”

ปาตานี ชายแดนใต้

ในช่วงของการเปิดงาน เราอยากได้ผู้อาวุโสที่เป็นนักคิด นักปราชญ์ ผู้อาวุโสที่เคยมีบทบาทนำในอดีตและมองอนาคตได้ และอยากให้มีบรรยากาศการเปิดงานเป็น 2 ภาษา คือ มลายูและไทย มาวางหมุดหมายและระบบคิดให้พวกเราก่อน ซึ่งฝ่ายมลายูไม่มีปัญหา ชื่อแรกและชื่อเดียวที่ทีมงานนึกถึงเป็นเอกฉันท์คือ ‘อุสตาซอุสมัน โต๊ะตาหยง’ หรือ ‘ดอรอแม หะยีหะซา’ จากสมาคมนักเขียนปาตานี อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาษามลายูอักษรยาวี และยังเป็นนักจัดรายการวิทยุภาษามลายูของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ผู้ซึ่งเข้าใจความคิดและความรู้สึกของคนในพื้นที่อย่างดี

ขณะที่นักคิดฝ่ายไทย เราคิดถึง 3 คน คือ ‘ธงชัย วินิจจะกูล’ ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ และ ‘ชัยวัฒน์ สถาอานันท์’ ผมโชคดีมีโอกาสได้คุยแลกเปลี่ยนกับนักคิดทั้ง 3 ท่าน แต่คนที่สะดวกและเข้าใจสิ่งที่พวกผมจะทำมากที่สุดคือ อาจารย์ชัยวัฒน์ แต่ท่านมีข้อแม้เรื่องเดียวคือ อย่ากำหนดหัวข้อให้ท่าน เพราะเมื่ออาจารย์ทราบโจทย์ของพวกผมก็บอกว่า จะพูดให้คนวงกว้างฟัง ไม่ได้พูดให้ผู้จัดฟัง “ผมยอมทุกอย่างเลย”

(มาถึงจุดนี้อันวาร์หัวเราะดังมาก) “คือ มีเรื่องให้ทีมงานต้องลุ้นกันตั้งแต่เปิดงาน ซึ่งทั้งตื่นเต้นและท้าทายพวกเรามาก” การจัดเสวนาหัวข้ออื่น ๆ ก็ไม่ง่ายเลย เช่น

  • เสวนาภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้ด้านการเมืองการปกครอง: ทำอย่างไรจะให้คนเข้าใจเรื่องรูปแบบการปกครองระดับท้องถิ่นรูปแบบต่าง ๆ เราโชคดีได้ ‘นายกอ๋า’ – พงษ์ศักดิ์ ยิงชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ที่ถูกบอกว่าเป็นนายกเทศมนตรีที่ก้าวหน้าที่สุดในประเทศไทย ‘รอมฎอน ปันจอร์’ จากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ หนึ่งในทีมที่ศึกษารูปแบบการปกครองท้องถิ่นชายแดนใต้มายาวนาน และ ‘อาเตฟ โซ๊ะโก’ ตัวแทนจาก The Patani กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อกำหนดอนาคตทางการเมืองของตัวเองที่ตั้งข้อสังเกตถึงจุดยืนที่เปลี่ยนไปของบีอาร์เอ็น ว่าอาจไม่ต้องการเอกราชแล้ว หลังการเปิดตัวเข้าร่วมเจรจากับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
  • เสวนาภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้ด้านเศรษฐกิจ: จุดอ่อนของเราคือ เราไม่รู้จักนักเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาพื้นที่ชายแดนใต้ และไม่แน่ใจว่ามีคนเหล่านั้นหรือเปล่า ขณะเดียวกันเราไม่อยากฟังนโยบายเศรษฐกิจแบบแจกแพะ แจกปลา แจกไก่ โครงการแบบประชาสงเคราะห์เช่นที่รัฐทำกับเราตลอด 20 ปี เราอยากเห็นโอกาสทางเศรษฐกิจและความหวังว่า คนในพื้นที่คนรุ่นใหม่จะมีอาชีพและทำมากินกันอย่างไร ก็มีคนเสนอชื่อ ‘นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ’ ในฐานะนักธุรกิจเข้าของกิจการเครือข่ายอาหาร Roti De Forest ตัวแทนจากภาครัฐจาก ศอ.บต. ‘วรุต ชลทิศ’ ประธานกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ชายแดนใต้ และ ‘ดร.กูมัจดี ยามิรูเด็ง’ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เขาเคยเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ก่อตั้งธนาคารอิสลามในประเทศไทย
  • เสวนาภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้ด้านวัฒนธรรม: เป็นหนึ่งในเรื่องที่หนักใจ เพราะหลายคนคาดหวังให้นำเสนอประเด็นพหุวัฒนธรรม ผมปรึกษากับพี่ ‘รักชาติ สุวรรณ’ ตัวแทนคนไทยพุทธในพื้นที่ว่ามีใครกำลังขับเคลื่อนเรื่องวัฒนธรรมไทย ที่ไม่ได้เน้นเรื่องอัตลักษณ์จนเกินไปนัก ก็หายาก ยิ่งทางฝั่งมลายู หากดึงเรื่องศาสนาออกไปก่อนนะครับ เน้นวัฒนธรรมมลายูมีใครบ้าง หลายคนเราต้องไปสร้างความเชื่อมั่นและอ้อนวอน และมากกว่านั้นคือ ตัวแทนคนจีนในพื้นที่หายากกว่าตัวแทนคนพุทธ แต่ในที่สุด เราได้ ‘พี่ย่อง’‘ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์’ ผู้ก่อตั้งกลุ่มหัวใจเดียวกัน ‘ฮาซัน ยามาดีบุ’ ประธานกลุ่มบุหงารายา ‘นราวดี โลหะจินดา’ นักวิชาการ สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มอ.ปัตตานี และ ‘ณายิบ อาแวบือซา’ นักวิจัยและนักวิชาการอิสระ
  • เสวนาภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้ด้านกระบวนการสันติภาพ: เพราะสันติภาพไม่ใช่แค่เรื่องข้อตกลงบนโต๊ะเจรจา ยังมีเรื่องการสร้างบรรยากาศ การประคับประคองกระบวนการ การมอนิเตอร์การหยุดยิงและการเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิมนุษยชน การทำงานการเมืองควบคู่กันไป ใครควรต้องทำอะไร และมีบทบาทอย่างไรในอนาคตบ้าง

    เป็นความโชคดีที่เราได้ตัวจริงที่อยู่ในกระบวนการพูดคุยสันติภาพตั้งแต่ยังเป็นการปิดลับ สู่การเปิดเผยในที่สาธารณะ ตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน ‘ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี’ ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ซึ่งเป็นผู้สังเกตการณ์และนั่งอยู่บนโต๊ะพูดคุยสันติภาพครั้งแรก ‘ดร.มารค ตามไท’ นักสันติวิธี มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังกระบวนการ peace talk หลายรัฐบาล และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้สังเกตการณ์ในการพูดคุยสันติภาพครั้งล่าสุด ‘มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ’ ประธานสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) อาจพูดได้ว่าเขาเป็นผู้สังเกตการณ์ในฝั่งผู้เห็นต่างของรัฐ ที่ติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด ‘ดร.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช’ จากสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะรู้ความเคลื่อนไหวองค์กรระหว่างประเทศ และฝ่ายที่สาม ที่อยู่บนโต๊ะเจรจาอย่างดี สุดท้ายเราได้ทำหนังสือเชิญ พล.อ. วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ แต่ท่านได้มอบหมาย ‘ฉัตรชัย บางชวด’ รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ผู้ทำงานกับทุกคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทย และเป็นคนเขียนยุทธศาสตร์ความมั่นคงชายแดนใต้ของ สมช. และรัฐบาลหลายสมัย
  • เสวนาภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้ในมุมนักการเมือง: ก่อนอื่นต้องขอโทษหัวหน้าพรรคการเมืองหลายคน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ไม่ได้เชิญอย่างเป็นทางการและคนจากหลายพรรคการเมืองส่งสัญญาณต้องการร่วมเวทีด้วย หลังจากทราบว่ามี 3 อดีตหัวหน้าพรรคการเมืองได้รับเชิญมาแสดงวิสัยทัศน์ เสวนาในช่วงนี้ ทีมงานต้องการมุมมองจากนักการเมืองในพื้นที่ว่าเขาคิดจะพัฒนาพื้นที่ในแง่มุมเศรษฐกิจ ความเป็นธรรม การสร้างพื้นที่การเมืองอย่างไร ซึ่งไม่แน่ใจว่าหากมีการเลือกตั้งใหญ่ พวกเขาจะได้กลับมาอีกหรือไม่ จึงเน้นไปที่ ส.ส.ในพื้นที่จากพรรคต่าง ๆ ได้แก่ ‘พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา’ พรรคภูมิใจไทย ‘กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ’ พรรคประชาชาติ ‘อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ’ พรรคพลังประชารัฐ และ ‘อันวาร์ สาและ’ พรรคประชาธิปัตย์

Q: เป็นงานเสวนาที่เปิดพื้นที่ให้กับฝ่ายขบวนการ และกลุ่มเห็นต่างจากรัฐค่อนข้างมาก ทำให้คนไทยพุทธอ่อนไหวต่องานนี้ และอยากทราบความหมายคำว่า ‘ปาตานี’ ของฝ่ายขบวนการนั้นจะทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในพื้นที่อย่างไร

อันวาร์: ความหมายของปาตานีนั้น ‘ฮาซัน ตอยิบ’ ตัวแทนของขบวนการบีอาร์เอ็น เคยตอบไว้ชัดเจนตั้งแต่การพูดคุยสันติภาพรอบแรกกับรัฐไทย เมื่อปี 2556 ในเชิงพื้นที่หมายถึง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวมห้าอำเภอในจังหวัดสงขลา คือ นาทวี สะเดา จะนะ เทพา และสะบ้าย้อย ส่วนผู้คนนั้นหมายถึงประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ ศาสนา หรือฐานะอย่างไร นี่คือส่วนหนึ่งในความหมายการอยู่ร่วมกันและรับรองสวัสดิภาพความปลอดภัย ช่วงที่ทำข้อตกลงหยุดยิงเดือนรอมฎอนสันติสุข ตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 เป็นต้นมา

Q: มีคนสงสัยว่าทำไมไม่มีตัวแทนจากทหารได้นำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพอนาคตของปาตานี/ชายแดนใต้เลย

อันวาร์: (นิ่งไปสักครู่ก่อนตอบด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม) เป็นคำถามเดียวกับความห่วงใยของคุณอภิสิทธิ์ และอีกหลายคนว่าไม่เชิญทหารเข้าร่วมงานด้วยหรือ ผมก็ตอบว่า ภาพอนาคต 4 มิติ ทั้งรูปแบบการปกครอง การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ทหารไม่น่าจะมาเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ผมก็ย้อนถามบางคนว่าควรเชิญทหารพูดในหัวข้อใดบ้าง ทุกคนตอบผมด้วยความเงียบกลับมาหมดเลย ผมและทีมงานรับทราบความห่วงใยทั้งหมดนี้ จึงได้ทำหนังสือเชิญแม่ทัพและรองแม่ทัพภาค 4 ให้เข้าร่วมการเสวนาและร่วมงานแล้วครับ

Q: ประเด็นที่คุยกันเป็นเรื่องอ่อนไหวต่อความมั่นคง ได้เตรียมหรือประเมินความเสี่ยงอย่างไรบ้าง

อันวาร์: ตั้งแต่คิดจัดงานนี้และประสานงาน มีแต่คนถามว่าไม่กลัวโดนฟ้องเหรอ เพื่อนบางคน วิทยากรบางรายถามผมว่า มีทนายหรือยัง เขาอาจจะแซวผมเล่น แต่ผมถามจริงจังนะ การคุยเรื่องอนาคตของการอยู่ร่วมกันเป็นความผิดอย่างไร เป็นเรื่องที่ควรถามควรคุยกันบ่อย ๆ ด้วยมิใช่หรือ ท้องถิ่นอื่น ๆ ทำไมรัฐและชุมชนสามารถวางแผนร่วมกันในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองได้ แต่ที่ชายแดนใต้, ทำไมทำไม่ได้ เขาก็บอกว่าเราไม่ได้ทำผิด แต่ให้ปรึกษาทนายไว้บ้าง (มีเสียงหัวเราะแทรก)

“การประสานงานกับเครือข่ายที่อยู่ สมช. เพื่อช่วยกันเชิญวิทยากรเข้าร่วมงานนี้ ก็ช่วยกันประเมินความเสี่ยงระดับหนึ่ง เขาไม่ได้กังวลเรื่องการพูดของคุณทักษิณ หรือตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น แต่ฝ่ายความมั่นคงประเมินว่าทหารน่าจะอ่อนไหวกับวิสัยทัศน์ของคุณธนาธรมากที่สุด เบื้องต้น ผมเข้าใจวิทยากรที่เชิญมาแสดงวิสัยทัศน์และเสวนาร่วมกัน เขารู้ดีว่ามีเพดานที่พูดได้แค่ไหน ผมไม่อยากจัดงานแล้ววิทยากรโดนฟ้อง หรือพวกผมโดนข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือความผิดอื่นใด สัญญาณเหล่านี้อาจไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ ผมอยากเปิดตัวสำนักข่าวของผมด้วยความหวังของคนในพื้นที่ที่จะอยู่ร่วมกัน”

“เอาเข้าจริง ก่อนเข้าสู่การพูดคุยสันติภาพปี 2556 พื้นที่ชายแดนใต้เคยเปิดเวทีสาธารณะลงไปถึงหมู่บ้านกว่า 200 เวที เรามีบรรยากาศการพูดคุยถึงรูปแบบการเมืองการปกครอง คุยกับคนไทยพุทธ คนจีน คนที่มีความเห็นต่างกันว่าอนาคตเราจะอยู่อย่างไรกันในร้านน้ำชา ตั้งแต่โมเดลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ หรือการเลือกตั้งผู้บริหาร ศอ.บต. นี่คือวิถีการเมืองที่ควรจะเกิดขึ้นไม่ใช่เหรอ?”

“ทำไมคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ถึงคุยเรื่องอนาคตของตัวเองไม่ได้ ทั้งที่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ควรคุยทั้งเรื่องการศึกษาของคนรุ่นใหม่ มีเด็กตกหล่นการศึกษาจากระบบมากมาย นโยบายแก้จน เรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ แต่เรื่องเหล่านี้ก็จะมาตันที่เรื่องการเมืองวนกลับมาที่จุดเดิมอีก”

“The Motive เป็นคนรุ่นใหม่กลุ่มเล็ก ๆ ที่เปิดพื้นที่ จุดประกายให้คนทั่วไปได้มีโอกาสคุย แลกเปลี่ยนสามารถพูดคุยเรื่องอนาคต วันนี้คุยกันในพื้นที่ออนไลน์ ต่อไปสามารถจัดเวทีสาธารณะระดมการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาของคนในพื้นที่ร่วมกัน กลายเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายจากคนในพื้นที่ หากพื้นที่การเมืองเปิดกว้างเชื่อว่าพื้นที่ความรุนแรงจะลดลงอย่างมีนัย ผมเชื่อแบบนั้น มีความหวังเช่นนั้น”

ปาตานี

ติดตามรายละเอียด THE MOTIVE FORUM ได้ที่ "SCENARIO PATANI" ภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้  และการสรุปเนื้อหาตลอด 7 วันได้ที่ #SCENARIOPATANI

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ฐิตินบ โกมลนิมิ

อดีตนักข่าวกระทรวงสาธารณสุข ผู้คลุกคลีในสนามข่าวสีแดงชายแดนใต้ เป็นทั้งนักมนุษยวิทยา นักสตรีศึกษา และนักสันติศึกษา ที่ใช้การเขียนเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง