Save อโยธยา: รถไฟความเร็วสูง ผ่ากลางเมืองโบราณ

เมืองที่มีก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา 
กำลังจะเหลือแต่เพียงชื่อในตำนานและจารึก 

“สถานีรถไฟอยุธยา” ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ตัวอาคารสถานียังถูกอนุรักษ์ไว้ในรูปแบบเดิม รางรถไฟที่วิ่งเลียบแม่น้ำป่าสัก ผ่านเกาะเมืองอยุธยา ระยะทาง 13.5 กิโลเมตร บริเวณนี้นักโบราณคดีพบหลักฐานว่าเป็นเมืองเก่าโบราณ มีมาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา และมีประวัติคาบเกี่ยวเชื่อมโยงกัน ชื่อว่าเมือง “อโยธยาศรีรามเทพนคร”

กรมศิลปากรมีแผนแม่บทที่จะพัฒนาพื้นที่มรดกโลกอยุธยา จากในเกาะเมือง ขยายมาถึงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก ครอบคลุมพื้นที่เมืองเก่าอโยธยา แต่ โครงการรถไฟความเร็วสูงที่กำลังจะสร้างทับรางรถไฟสายเดิม กำลังทำให้หลายฝ่ายกังวล เพราะการวางเสาตอหม้อยกระดับสูง 19 เมตร จะต้องมีการขยายพื้นที่จากรางรถไฟเดิมมากกว่า 40 เมตร กินพื้นที่ชุมชนริมทางรถไฟ ต้องมีการไล่รื้อ และกระทบกับโบราณสถานที่ยังไม่ได้ขุดค้น

“อโยธยา” คือรากเหง้าความเป็นไทย

ทำไมเมืองอโยธยาถึงมีความสำคัญ? แม้เป็นเมืองที่ไม่เป็นที่รู้จักทั่วไป ไม่มีในตำราเรียน ไม่มีในประวัติศาสตร์ไทย นั่นเพราะเมืองอโยธยาถูกกีดกันออกจากประวัติศาสตร์ ด้วยลัทธิชาตินิยม เพราะขัดกับประวัติศาสตร์แห่งชาติ ที่มี “กรุงสุโขทัย” เป็นราชธานีแห่งแรก เมื่อรถไฟความเร็วสูงมีแผนวิ่งผ่านเมืองอโยธยา ความรู้เกี่ยวกับเมืองเก่าแห่งนี้ จึงไม่ถูกนำมาเป็นเงื่อนไขเดินหน้าโครงการ

แผนที่เมืองเก่าอโยธยาเทียบกับเส้นทางรถไฟความเร็วสูง

แต่ “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” มีพระราชดำรัสเมื่อ 116 ปีที่แล้ว ว่าอโยธยาเป็นเมืองต้นกำเนิดของกรุงศรีอยุธยา เมืองอโยธยาซึ่งอยู่ทางตะวันออกของอยุธยา เป็นเมืองที่มีมาก่อนการสร้างอยุธยา นับเป็นต้นประวัติศาสตร์สยาม

“กรุงสยามเป็นประเทศที่แยกกันบ้างบางคราว รวมกันบ้างบางคราว ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินผู้ที่ปกครองก็ต่างชาติกันบ้าง ต่างวงษ์กันบ้าง”

พระราชดำรัส ร.5 ทรงเปิด “โบราณคดีสโมสร” หรือ “สมาคมสืบสวนของบุราณในประเทศสยาม” พระราชทานที่พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ในพระราชวังโบราณ อยุธยาเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2450
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกประทับยังรัตนสิงหาสน์ พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท พระราชวังโบราณกรุงเก่า และโปรดให้ข้าราชการและราษฎรมณฑลกรุงเก่าเข้าเฝ้า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ร.ศ. 126 (พ.ศ. 2450)
(ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

“เมืองอโยธยา” ปรากฏทั้งในจารึกและตำนานพงศาวดารเหนือ เกี่ยวข้องกับพระนางจามเทวี พระราชธิดาจากเมืองละโว้ไปครองเมืองลำพูน มีสวามีครองเมืองราม

“เมืองราม” คือ เมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร ปัจจุบันอยู่ตรงสถานีรถไฟอยุธยา เก่ากว่ากรุงสุโขทัยซึ่งเกิดขึ้นราว พ.ศ. 1700 เป็นเมืองบริวารของเมืองอโยธยา ขณะที่เมืองอโยธยาเกิดหลัง พ.ศ. 1600 เก่ากว่ากันเกือบร้อยปี และเป็นต้นกำเนิดของกรุงศรีอยุธยา 

ลักษณะทางกายภาพของเมืองอโยธยา อยู่นอกเกาะเมืองอยุธยาทางด้านทิศตะวันออก มีผังเมืองเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีแม่น้ำป่าสักเป็นเส้นคูเมืองในอดีต (แม่น้ำป่าสักสายเก่าคือคลองหันตราในปัจจุบัน) เมืองมีความกว้าง 1.4 กิโลเมตร ความยาว 3.1 กิโลเมตร โซนเหนือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ มีวัดอโยธยา (วัดเดิม) เคยเป็นพระราชวังของเมืองอโยธยามาก่อน 

หลังกาฬโรคระบาด ราว พ.ศ. 1890 ตำนานเรียกโรคห่า “สมเด็จรามาธิบดีที่ 1” จึงย้ายศูนย์กลางอำนาจจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตกบริเวณหนองโสน ขนานนามใหม่ว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” นับเป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายของเมืองอโยธยา และเป็นปฐมกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา

‘Save อโยธยา’ หากทัศนียภาพเปลี่ยน คุณค่าจะถูกลดทอน

“เครือข่าย Save อโยธยา” ซึ่งเกิดจากการรวมตัวทั้งนักวิชาการและกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ศึกษาประวัติและโบราณคดี เป็นห่วงว่าหลักฐานทางโบราณคดี​ที่ยืนยันการมีอยู่​ของเมืองเก่าอโยธยาซึ่งยังไม่ได้ขุดค้นจะถูกทำลายไป ทำให้เสียโอกาสในการศึกษาเพื่อให้ได้ข้อค้นพบใหม่​ ๆ​ รวมทั้งทัศนียภาพ​ดั้งเดิมจะเปลี่ยนไป ลดทอนคุณค่าของความเป็นเมืองโบราณ​

พวกเขาพาเราลงพื้นที่สำรวจโบราณสถานที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงมากที่สุด จุดแรก ศาลาประดิษฐานของ “หลวงพ่อคอหัก” ศิลปะสมัยทวารดี อยู่คู่ชุมชนมาหลายร้อยปี อยู่ตรงข้ามสถานีรถไฟอยุธยา ที่อาจต้องหลีกทางโยกย้ายให้กับการก่อสร้าง 

ศาลาประดิษฐาน “หลวงพ่อคอหัก” ที่อยู่ตรงข้ามสถานีรถไฟอยุธยา
ลงพื้นที่เมืองเก่าอโยธยา

“ภานุพงษ์ ชลสวัสดิ์” นักศึกษาโบราณคดี ในเครือข่าย Save อโยธยา บอกว่า คุณค่าของหลวงพ่อคอหักมีสูงมาก และอาจเป็นหลักฐานหนึ่งในการยืนยันว่ามีชุมชนก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา และในฐานะนักโบราณคดีเขาทราบดีว่าในเขตเมืองเก่า หากเราไปสร้างอะไรทับลงไป จะถือเป็นการทำลายหลักฐานของคนที่อยู่มาก่อนเรา  

วัดใหญ่ชัยมงคล

อีกจุดสำคัญที่สะท้อนความเป็นเมืองเก่าอโยธยาคือ “วัดใหญ่ชัยมงคล” เป็นวัดเก่าแก่ที่มีก่อนกรุงศรีอยุธยา เป็นกลุ่มโบราณในเมืองเก่าอโยธยา หากขึ้นไปบนเจดีย์แล้วมองลงมา ทัศนียภาพเมืองอยุธยาก็จะเปลี่ยนไป เราจะเห็นรางรถไฟที่ยกระดับสูงขึ้นเป็นแนว บดบังอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เปลี่ยนฉากเมืองเก่าให้ต่างไปจากอดีตที่เคยเป็นมานับร้อย ๆ ปี 

ทำไมนักโบราณคดีจึงให้ความสำคัญกับทัศนียภาพมากเป็นพิเศษ? ภานุพงษ์ บอกว่า หากเปรียบเทียบระหว่างโบราณสถานที่อยู่กับทัศนียภาพแบบดั้งเดิม ก็ยังคงความดั้งเดิมได้มากกว่าโบราณสถานที่ยังคงอยู่ แต่ทัศนียภาพเปลี่ยนไป ก็จะลดทอนคุณค่าลงไป ซึ่งเขากังวลว่ากรณีอยุธยา ถ้าไม่มีการจัดการแก้ไขในส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูง ก็เสี่ยงที่จะถูกถอดออกจากการเป็นมรดกโลก 

จุดนี้เป็นโบราณสถานที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด “เจดีย์วัดวิหารขาว” อยู่ใกล้กับรางรถไฟไม่ถึง 10 เมตร การยกระดับรางรถไฟขึ้นด้วยเสาสูง ก็จะบังเจดีย์องค์นี้เต็ม ๆ ขณะที่เจดีย์ซึ่งอยู่ในสภาพทรุดโทรมอยู่แล้ว และอยู่ใกล้กับรางรถไฟ ก็อาจได้รับผลกระทบ มีความเสี่ยงที่จะพังลงมา 

เครือข่าย Save อโยธยา ยังเชื่อด้วยว่าหากมีการขุดค้นทางโบราณคดี ที่บริเวณนี้จะพบหลักฐานเมืองเก่าอโยธยาอีกมาก เพราะจากร่องรอยการขุดร่องน้ำของการรถไฟฯ เผยให้เป็นเศษซากโบราณที่ยังไม่ได้ขุดค้น 

“พื้นที่ของการรถไฟฯ และโบราณสถานมีความต่อเนื่องกัน ทับซ้อนและใกล้เคียงกันเป็นอย่างมาก พอขุดปุ๊ป ก็เผยให้เห็นหลักฐานที่อยู่ใต้ดินซึ่งเป็นหลักฐานทางโบราณคดี ที่สำคัญ เพราะมีแนวอิฐอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งพื้นที่ใกล้เคียงย่านนี้ ล้วนแต่มีหลักฐานทางโบราณทั้งสิ้น แต่ยังไม่ได้มีการขุดค้น เรามีความเป็นห่วงว่ามันจะเสียหาย”

ภานุพงษ์ ชลสวัสดิ์

แม้เมืองเก่าอโยธยาจะอยู่นอกพื้นที่มรดกโลกอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา ที่ยังจำกัดอยู่เฉพาะในเกาะเมือง แต่ในมุมมองของนักวิชาการและกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดี กังวลว่าหากโครงการรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้นโดยไม่คำนึงถึงข้อมูลเหล่านี้ ภาพอนาคต อาจส่งผลต่ออดีต หรือรากเหง้าประวัติศาสตร์ของเรา 

รถไฟความเร็วสูงที่รอมานาน ต้องไม่ทำลายเมืองเก่า

ไม่มีใครปฏิเสธการพัฒนาประเทศ ด้วยรถไฟความเร็วสูงเป็นสิ่งจำเป็น ส่งเสริมการท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้า หลังไทยเสียโอกาสมานานจากปัญหาการเมือง

ความพยายามก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” โดยมี “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่วันที่ 12 มีนาคม 2557 “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้านบาท ขัดรัฐธรรมนูญ ขัดวินัยการเงินการคลัง และไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องกู้

คำพิพากษานี้ ทำให้แผนสร้างอนาคตไทย ที่ตั้งเป้าปี ค.ศ. 2020 ไทยจะมีรถไฟความเร็วสูงทุกภาค ต้องยุติลง 

การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา เฟสแรก เป็นการนับหนึ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงในประเทศอีกครั้ง แต่มีทางเลือกอะไรอีกบ้าง ที่จะยังรักษาหลักฐานของเมืองโบราณต้นกำเนิดกรุงศรีอยุธยาให้ยังอยู่ต่อ และโครงการรถไฟความเร็วสูงสามารถเดินหน้าไปพร้อมกัน?


อ้างอิง 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์