Save อโยธยา: นักอนุรักษ์รุ่นใหม่ มองอนาคตเมืองเก่า

คนรุ่นใหม่หวงแหนพื้นที่ทางประวัติศาสตร์
การอนุรักษ์จะอยู่คู่กับการพัฒนาอย่างไรให้ยั่งยืน

มีประเด็นทางสังคมมากมายที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ แต่กับการอนุรักษ์พื้นที่เมืองเก่า คนทั่วไปอาจมองว่าไม่ใช่เรื่องที่คนรุ่นใหม่จะให้ความสนใจ แต่เครือข่าย ‘Save อโยธยา’ ทำให้เห็นว่าแท้จริงแล้วยังมีคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งกำลังขับเคลื่อนประเด็นการอนุรักษ์พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ในไทยอยู่ นอกจากนี้ เครือข่ายนี้ยังประกอบไปด้วยนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ที่มีใจในการอนุรักษ์อีกด้วย

The Active คุยกับตัวแทนคนรุ่นใหม่จากเครือข่าย ‘Save อโยธยา’ ถึงประเด็นความสนใจที่อยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์เมืองเก่า โดยเฉพาะเมื่อมีการเดินหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง สถานีอยุธยา ที่กำลังถูกพูดถึงในสังคม ภายใต้การถูกตั้งคำถามว่านี่เป็นการอนุรักษ์ที่ ‘คัดค้าน’ การพัฒนาหรือไม่

รวมพลคนอนุรักษ์เมืองเก่า

การรวมตัวกันของเครือข่าย ‘Save อโยธยา’ เกิดจากความหวงแหนมรดกวัฒนธรรมที่สุ่มเสี่ยงจะถูกทำลาย และมองว่าปัญหานี้ควรเป็นหน้าที่ของผู้ที่มุ่งมั่นในการอนุรักษ์ และศึกษาเล่าเรียนด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เพราะจะเป็นผู้ที่เข้าใจปัญหานี้ได้ดี และควรมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหา ที่อาจส่งผลกระทบในอนาคต

Save อโยธยา ออกมาขับเคลื่อนการอนุรักษ์พื้นที่เมืองเก่าอโยธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากบริเวณนี้กำลังมีโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง สถานีอยุธยา ที่อาจส่งผลกระทบและสร้างการสั่นสะเทือนเมืองเก่า และไม่ใช่แค่เมืองเก่าอโยธยาเท่านั้น แต่ต้องการเป็นกระบอกเสียงให้คนในสังคมหันมาสนใจการอนุรักษ์พื้นที่ทางประวัติศาสตร์อื่น ๆ ในไทยด้วย

Save อโยธยา

ภานุพงศ์ ศานติวัตร ศิษย์เก่าคณะโบราณคดี และนักศึกษาปริญญาโท คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร บอกว่า ก่อนหน้านี้มีพื้นที่โบราณสถานหลายแห่งที่เครือข่าย ‘Save อโยธยา’ ได้แสดงความคิดเห็นและข้อห่วงใย เช่น การใช้งานพื้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพงก่อนจะย้ายไปสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) หรือพื้นที่สถานีรถไฟสูงเนิน ที่มีประเด็นรื้ออาคารสถานีเก่าออก โดยส่วนใหญ่ทางเครือข่ายจะพูดถึงประเด็นการอนุรักษ์

เช่นเดียวกับ ภาณุพงศ์ ชลสวัสดิ์ นักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในเครือข่าย Save อโยธยา ที่สนใจในเรื่องการอนุรักษ์พื้นที่อโยธยา ที่มองว่า แม้ตนจะเป็นคนรุ่นใหม่ แต่การเป็นผู้อนุรักษ์พื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ก็สำคัญ เพราะประวัติศาสตร์ คือ ความทรงจำและเรื่องราวสังคมในอดีต ซึ่งพื้นที่ทางประวัติศาสตร์เป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าและเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้

หากสามารถรักษาสิ่งเหล่านี้ต่อไปได้ จะสามารถนำไปสู่การอธิบายและทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของไทย ซึ่งจะส่งต่อไปรุ่นสู่รุ่น หากเลือกที่จะไม่สนใจหรือปล่อยให้พื้นที่อนุรักษ์ทางประวัติศาสตร์เสื่อมหายไป คนรุ่นหลังก็จะไม่เห็นมรดกวัฒนธรรมเหล่านั้น เพราะคนรุ่นปัจจุบันไม่สามารถรักษาสืบทอดได้

ปารมี ปาลียะ นักศึกษาสาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่เราควรทำ คือ ควรจะชะลอความเสื่อมโทรมของอโยธยา และช่วยกันรักษามรดกวัฒนธรรมที่ยังเหลืออยู่ ในฐานะที่เป็นรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง

จากการพูดคุยกับเครือข่าย Save อโยธยา จะเห็นว่าเป็นเครือข่ายที่มีคนรุ่นใหม่คอยผลักดันการอนุรักษ์พื้นที่ทางประวัติศาสตร์อยู่ แม้ว่านับวันคุณค่าและความหวงแหนพื้นที่เหล่านี้อาจลดลงตามกาลเวลา แต่ก็อยากให้คนในสังคมรับรู้ว่าพวกเขาต้องการขับเคลื่อนประเด็นการอนุรักษ์อย่างมีนัยสำคัญ

แม้จะรุ่นใหม่แต่ใจรักษ์เมืองเก่า

กลุ่มคนรุ่นใหม่ในเครือข่าย Save อโยธยา แต่ละคนให้ความสนใจต่อการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ เมื่อได้ศึกษาเล่าเรียนตามความสนใจแล้ว พวกเขาได้นำองค์ความรู้มาขับเคลื่อนสังคม และเมื่อเกิดประเด็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับพื้นที่อโยธยา กลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้ก็ไม่รอช้าที่จะออกมาแสดงความคิดเห็น

เมื่อถามว่าเหตุใดคนรุ่นใหม่อย่างพวกเขาถึงสนใจศึกษาด้านประวัติ ปารมี ตัวแทนเสียงคนรุ่นใหม่ที่หลงใหลเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ บอกกับเราว่า สิ่งนี้เป็นความสนใจตั้งแต่วัยเด็ก และด้วยความที่เขาเป็นคนอยุธยา เมื่อได้เห็นโบราณสถานและวัดวาอารามต่าง ๆ ก็เกิดเป็นความหลงใหลที่ทำให้อยากจะศึกษาต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่เฉพาะแค่พื้นที่ประวัติศาสตร์ในอยุธยา แต่รวมถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศอื่น ๆ ด้วย

Save อโยธยา
ปารมี ปาลียะ

ปารมี ได้กล่าวเสริมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองเก่าอโยธยาว่า การเรียนประวัติศาสตร์ในแบบเรียนมักอ้างว่า สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก แล้วย้ายมาอยุธยา จนละเลยที่จะให้ความสำคัญกับชุมชนหรือเมืองโบราณที่เปรียบเหมือนแผ่นดินตั้งต้นของอยุธยา บางครั้งอาจหลงลืมว่ายังมีเมืองโบราณที่เก่ากว่าเมืองอยุธยา ซึ่งอโยธยาก็เป็นส่วนหนึ่งของอยุธยา ถ้าไม่มีอโยธยาก็อาจไม่มีอยุธยาอย่างที่เห็นในทุกวันนี้

ส่วน ภานุพงศ์ ศานติวัตร ให้ความเห็นว่า แม้จะเป็นคนรุ่นใหม่ แต่เรื่องการอนุรักษ์เมืองเก่าไม่ใช่สิ่งที่น่าเบื่อสำหรับเขา แต่ “เป็นการเก็บสิ่งที่มองว่าสำคัญไว้ให้กับคนรุ่นหลัง” และรู้สึกเหมือนได้เก็บของที่หลายคนอาจมองว่าไม่มีค่า แต่ในอนาคตอาจมีคนที่มองเห็นคุณค่าก็ได้

“หน้าที่ของเราก็คือการทำทางใดทางหนึ่ง เพื่อที่จะรักษามรดกวัฒนธรรม”

ภานุพงศ์ ศานติวัตร – เครือข่าย Save อโยธยา
Save อโยธยา
ภานุพงศ์ ศานติวัตร

อีกมุมหนึ่งของเรื่องราวประวัติศาสตร์ ภาณุพงศ์ ชลสวัสดิ์ เขามีความสนใจในการศึกษาเรื่อง ‘รถไฟ’ ในตอนที่ยังเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี และมองว่ารถไฟนั้นสามารถเป็นเครื่องมือทางประวัติศาสตร์ได้ และสามารถอธิบายเรื่องราววิถีชีวิตของมนุษย์ได้มากกว่าการเห็นรถไฟเป็นแค่ระบบขนส่ง เพราะรถไฟอยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน เป็นตัวแปรที่เปลี่ยนแปลงสังคมไทย และเห็นว่ายังไม่มีใครพูดถึงในมิตินี้ จึงเลือกศึกษาด้านนี้เพราะยังไม่ค่อยมีใครพูดถึง

Save อโยธยา
ภาณุพงศ์ ชลสวัสดิ์

จากแง่มุมการศึกษาประวัติศาสตร์ของคนรุ่นใหม่ในเครือข่าย Save อโยธยา อาจเป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจก้าวเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในวงการวิชาของไทยในอนาคต โดยเริ่มจากการใช้ทักษะการอธิบายประวัติศาสตร์ที่มีการส่งมอบข้อเท็จจริงบางประการให้สังคม…

แม้พวกเขามีความมุ่งมั่นต่อการอนุรักษ์ แต่อีกแง่หนึ่ง การออกมาปกป้องพื้นที่โบราณสถาน อาจถูกมองว่ากำลัง ‘คัดค้าน’ การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ เมื่อโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงกำลังมุ่งมาสู่อยุธยา และคาบเกี่ยวกับบริเวณเมืองเก่าอโยธยาซึ่งเป็นพื้นที่มรดกวัฒนธรรม เครือข่าย Save อโยธยา ไม่อาจนิ่งเฉยต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

การพัฒนาที่หวั่นว่าจะเกิดผลกระทบ

แม้จะเป็นการพัฒนาที่หวังว่าจะได้รับประโยชน์จากโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงนี้ แต่ก็มีประเด็นปัญหาที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะเกิดผลกระทบเช่นกัน เช่น ในเชิงเศรษฐกิจ อาจได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม หรือข้อกังวลเรื่องทัศนียภาพที่อาจถูกบดบัง และการสั่นสะเทือนที่ส่งผลต่อโบราณสถาน ซึ่งเครือข่าย Save อโยธยา หวั่นว่าระบบของรถไฟฟ้าความเร็วสูงอาจเข้ามาสร้างความเสียหายในระยะสั้นหรือระยะยาวให้กับโบราณสถานหรือไม่

ปารมี ได้ให้ความเห็นในฐานะที่เขาเป็นชาวอยุธยา ซึ่งก็รู้สึกดีใจที่อยุธยาจะมีรถไฟความเร็วสูงเข้ามา จะได้มีระบบขนส่งที่สามารถเชื่อมจังหวัดต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น แต่เมื่อมองถึงลักษณะ รูปแบบ โครงสร้าง ของรูปแบบสถานี และรางรถไฟที่ต้องยกสูง ซึ่งต้องมีการเวนคืนที่ดินจากคนในพื้นที่ จึงทำให้รู้สึกว่าควรจะมีการพัฒนาระบบขนส่งที่ทำควบคู่ไปกับการรักษามรดกวัฒนธรรมที่ดีได้มากกว่านี้

Save อโยธยา

ปารมี กังวลถึงการเกิดขึ้นของแรงสั่นสะเทือน ถึงแม้จะมีผู้เชี่ยวชาญจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ออกมายืนยันว่าไม่กระทบก็ตามที แต่ในระยะยาวเขาก็ยังกังวลว่าจะมีผลกระทบ นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบด้านทัศนียภาพของพื้นที่ที่มีการขยายทางรถไฟเข้ามา เนื่องจากทางรถไฟไม่ได้เข้ามาแค่ชานเมือง แต่ผ่าเข้ามากลางเขตเมืองโบราณอยุธยา ซึ่งในอนาคตหากมีการศึกษาและขุดค้นเพิ่มเติม ในชุมชน วัด หรือโบราณสถาน ที่อยู่ใกล้บริเวณเขตทางรถไฟ เราจะกลับไปขุดค้นอีกไม่ได้ เนื่องจากมีการสร้างระบบรางรถไฟและสถานีที่เพิ่มเข้ามา รวมถึงความแออัด และมลพิษทางเสียง ก็จะส่งผลกระทบระยะยาวต่อบรรยากาศความเป็นเมืองโบราณของอยุธยาอีกด้วย

“รางรถไฟ เราสามารถขยับขยายย้ายได้ ถึงแม้จะต้องใช้งบประมาณมากขึ้นก็ตาม แต่โบราณสถาน อิฐเก่า ๆ เหล่านี้ โบราณวัตถุเหล่านี้ มีทรัพยากรมหาศาลขนาดไหนก็สร้างมันขึ้นมาใหม่ไม่ได้แล้ว”

ปารมี ปาลียะ – เครือข่าย Save อโยธยา

ภาณุพงศ์ ชลสวัสดิ์ มองว่า การพัฒนานั้นนำความเจริญมาให้จริง และมีหลักฐานว่าระบบขนส่งทางรางส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่การพัฒนาในปัจจุบันเน้นไปที่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งในโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงนี้มีปัญหาหลายอย่างที่อาจไม่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน อาจมองแค่เรื่องของระบบรางรถไฟ ระบบขนส่ง แต่ไม่ได้มองลึกเข้าไปถึงประเด็นปัญหาด้านวัฒนธรรมที่จะเกิดขึ้น ในบางประเด็นอาจไม่รอบคอบ ซึ่งหลายฝ่ายควรหันมาพูดคุยกันว่าโครงการนี้ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง

“การพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ การที่ความเจริญไปข้างหน้าแล้วก็ไม่ทำลายวัฒนธรรมที่อยู่ทางด้านหลัง มันสามารถไปควบคู่กัน และพูดคุยกันได้”

ภาณุพงศ์ ชลสวัสดิ์ – เครือข่าย Save อโยธยา

ส่วน ภานุพงศ์ ศานติวัตร มองว่าโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่มาก สำหรับพื้นที่ที่เป็นเมืองโบราณ ดังนั้น จึงคิดว่าจำเป็นจะต้องพูดคุยหารือกันในเรื่องนี้

“สำหรับเรา เราไม่ได้คัดค้าน แต่มองว่าการอนุรักษ์ต้องควบคู่ไปกับการพัฒนา แล้วการพัฒนาจะอ้างว่าการอนุรักษ์เป็นการขัดขวางการพัฒนาไม่ได้”

ภานุพงศ์ ศานติวัตร – เครือข่าย Save อโยธยา

เครือข่าย Save อโยธยา ได้ย้ำชัดถึงมุมมองและจุดประสงค์ของเครือข่ายว่าไม่ได้อยากจะคัดค้านโครงการก่อสร้างนี้ เนื่องจากก็มีส่วนที่มีประโยชน์ต่อพื้นที่ แต่ในมุมของการอนุรักษ์นั้นก็มีความเสี่ยงไม่น้อยต่อตัวโบราณสถาน ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลก ดังนั้น การหาทางหาทางออกจากหลายฝ่ายจึงสำคัญมาก

ข้อห่วงใยของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อพื้นที่เมืองเก่า หากการเปลี่ยนแปลงมาถึง

คงไม่อาจหาบทสรุปได้ในเร็ว ๆ นี้ ว่าผลกระทบที่เครือข่าย Save อโยธยากังวล จะเกิดขึ้นจริงมากน้อยเพียงใด แต่ในมุมของคนรุ่นใหม่ พวกเขามีข้อห่วงใยหลายประการต่อพื้นที่เมืองเก่าอโยธยา หากการเปลี่ยนแปลงมาถึงจริง ๆ

ภาณุพงศ์ ชลสวัสดิ์ กล่าวว่า อโยธยาเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างมาก ถ้าเครือข่าย Save อโยธยาไม่สามารถปกป้องได้ กรณีต่อไปหากเกิดขึ้นกับโบราณสถานที่อื่น ๆ จะเป็นข้ออ้างได้เสมอ ถ้า Save อโยธยา รักษาไม่ได้ โบราณสถานอื่น ๆ ก็จะรักษาไม่ได้เช่นกัน

หามองในมุมที่ว่า เราเป็นสังคมประชาธิปไตย ภาณุพงศ์ ชลสวัสดิ์ บอกว่า ‘ความเห็นต่างเป็นเรื่องสำคัญ’ หากมีการแสดงความคิดเห็นกันว่าฝ่ายไหนต้องการแบบไหน ซึ่งจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ฝ่ายหนึ่งพูดในมุมมองการพัฒนา อีกฝ่ายหนึ่งพูดในมุมมองการอนุรักษ์ โดยเขาเชื่อเสมอว่า ถ้าหันมาพูดคุยกันอย่างจริงจัง หาประโยชน์ร่วมกันได้ ก็จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

“คาดหวังให้คนในสังคมยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ก่อนที่จะตัดสินอะไร ถ้าเกิดการพูดคุยกันก็อาจจะได้มุมมองหรือแนวคิดอะไรที่มากขึ้น”

ภาณุพงศ์ ชลสวัสดิ์ – เครือข่าย Save อโยธยา

ด้าน ปารมี นั้น อยากส่งเสียงเรียกร้องถึงผู้เกี่ยวกับประเด็นการพัฒนาเมือง ที่หลาย ๆ คนมีความเห็นว่าการที่มีการกระจุกตัวของการคมนาคมศูนย์กลางเข้าในเขตเกาะเมืองอโยธยา ยิ่งเป็นเหมือนกระจุกความเจริญเพียงในศูนย์กลาง หากมีการขยายแนวทางรถไฟความเร็วสูงออกไปนอกเมืองอีก อาจเกิดการกระตุ้นการขยายตัวของเมือง และลดความแออัดของเกาะเมืองลง และอาจนำไปสู่การสร้างเมืองที่มีการวางผังที่ดี การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมถึงการจัดการระบบสาธารณูปโภคให้ดีขึ้น มากกว่าการนำปัญหาหรือศูนย์กลางทุกอย่างมากระจุกไว้ที่เกาะเมืองอโยธยา

ภานุพงศ์ ศานติวัตร ให้มุมมองข้อห่วงใยเรื่องความเสี่ยงถูกถอดถอนจากการเป็นมรดกโลก เนื่องจากมีข้อเสนอของนักวิชาการหลายเสียงที่ห่วงว่าหากมีการสร้างรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้นจริง มีความเป็นไปได้ที่พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์อยุธยาจะถูกถอดถอน โดยส่วนตัวเขามองว่าการถูกถอดถอนจากมรดกโลกนั้นเป็นเรื่องใหญ่ เพราะจะถูกถอดถอนเป็นพื้นที่ที่ 5 ของโลก

Save อโยธยา

การอนุรักษ์เมืองโบราณกับการสร้างรถไฟความเร็วสูง เป็นประเด็นเชิงวัฒนธรรม ซึ่งอาจไม่ได้เป็นกระแสที่สังคมให้ความสนใจมากนักโดยเครือข่าย Save อโยธยา มองว่าแม้จะไม่มีพื้นที่ข่าวมากนัก แต่อยากให้คนในสังคมเห็นว่าประเด็นนี้สำคัญมากจนทำให้เครือข่าย Save อโยธยา ต้องออกมาเรียกร้อง แสดงความคิดเห็นในการอนุรักษ์ และข้อห่วงใยที่มีต่ออนาคตของเมืองเก่าอโยธยา

และนี่คือเสียงของเหล่านักอนุรักษ์รุ่นใหม่ที่มีใจรักในการอนุรักษ์พื้นที่ประวัติศาสตร์อย่างเมืองเก่าอโยธยา และหวังว่าจะมีพื้นที่ในการปกป้องโบราณสถาน ได้รับการฟังเสียงจากทุกฝ่ายอย่างจริงใจ… เพื่อร่วมกันพัฒนาพร้อมกับการอนุรักษ์เมืองอย่างแท้จริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

เมธาวี ทวีผล

เรียนมานุษยวิทยา สนใจเรื่องราวทางสังคม อยากปล่อยใจสู่เสรี

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์