ส่องสัตว์ ริมรั้วมรดกโลก : ผลประโยชน์การอนุรักษ์ที่ชุมชนจับต้องได้

“ผมคิดว่าป่าไม้จะอยู่ได้ คนจะต้องอยู่ได้ก่อน เพราะว่าคนที่ด้อยโอกาสในสังคม เขาไม่สามารถจะไปเรียกร้องอะไร เขาไม่มีอำนาจ คนเหล่านี้อยู่กับธรรมชาติ ผมคิดว่าป่าจะอยู่หรือจะไป อยู่กับคนกลุ่มนี้ด้วย”

คือประโยคที่ สืบ นาคะเสถียร เคยพูดไว้เมื่อตอนยังมีชีวิต สะท้อนถึงแนวคิดการอนุรักษ์ของ ‘สืบ’ ที่มองว่านอกจากเจ้าหน้าที่แล้ว ‘ชาวบ้าน’ และ ‘ชุมชน’ คือกำลังสำคัญในการรักษาผืนป่าใหญ่ และสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน

รูปปั้น สืบ นาคะเสถียร ที่ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

‘ห้วยขาแข้ง’ บ้านของสัตว์ป่า

เสียงปืน และการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในวันที่ 1 กันยายน 2533 ส่งผลสั่นสะเทือนผู้คนในสังคม ให้หันมาตระหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น ขณะที่เนื้อหาจากรายงานเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของห้วยขาแข้ง ที่ สืบ ทุ่มเทเขียนเพื่อนำเสนอต่อ ยูเนสโก (UNESCO) ส่งผลให้ปีถัดมา ผืนป่าห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่นเรศวร ก็ได้รับการรับรองให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (ภาพจาก:ระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย)

ผ่านมาแล้วกว่า 30 ปี วันนี้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เนื้อที่กว่า 1 ล้าน 7 แสนไร่ ยังคงความอุดมสมบูรณ์ เป็นบ้านของสัตว์ป่าน้อยใหญ่ เป็นแหล่งศึกษาและอนุรักษ์พันธุกรรมสัตว์ที่มีความสำคัญระดับโลก และด้วยการทำงานอย่างจริงจัง ก็ทำให้พบสัตว์ป่าหลายชนิดเพิ่มประชากรมากขึ้น และกระจายตัวไปสู่ผืนป่าข้างเคียง

เมื่อสัตว์ป่าไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมีพื้นที่ครอบคลุม 6 อำเภอ ใน 3 จังหวัด แม้ว่าภายในไปเขตป่าห้วยขาแข้งจะไม่มีชุมชนตั้งอยู่ แต่รอบแนวเขตอนุรักษ์ ก็เป็นที่ตั้งของชุมชนจำนวนมาก แค่เฉพาะตำบลระบำ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ที่ถือเป็นปากทางของห้วยขาแข้ง ก็มีถึง 11 หมู่บ้าน ที่มีพื้นที่ติดกับผืนป่ามรดกโลก

ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่มีรายได้หลักจากเกษตรกรรม เมื่อแปลงเกษตรตั้งอยู่ชายป่า  ก็เลี่ยงไม่ได้ที่บางครั้งจะมีสัตว์ป่าออกมาใช้พื้นที่และหาอาหาร จนพืชผลทางการเกษตรเสียหาย กลายเป็นปัญหากระทบกระทั่งระหว่างชาวบ้าน สัตว์ป่า และเจ้าหน้าที่

แม้ที่ผ่านมาจะมีเจ้าหน้าที่คอยลาดตระเวนผลักดันสัตว์กลับเข้าป่า แต่ก็ไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด เมื่อผลผลิตของชาวบ้านเสียหายก็ทำให้พวกเขามองสัตว์ป่าเป็นศัตรู ในขณะที่ผลประโยชน์อื่น ๆ จากการอนุรักษ์และการเพิ่มจำนวนขึ้นของสัตว์ป่า ชาวบ้านก็จับต้องไม่ได้”

เสียงสะท้อน ที่ชาวบ้านในพื้นที่เคยมีต่อสัตว์ป่า

ปรับแนวคิด สู่ประโยชน์ที่จับต้องได้

เพื่อแก้ปัญหาที่เรื้อรังมานานหลายปี มีการลงพื้นที่ศึกษาวิจัยโดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อพัฒนาแนวทางอนุรักษ์ควบคู่กับการใช้ประโยชน์พื้นที่ของคนในชุมชนให้ได้อย่างเหมาะสมที่สุด นำไปสู่การหาทางออก ด้วยแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสัตว์ป่า เพื่อการคุ้มครองประชากรสัตว์ป่าและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนไปพร้อมกัน

เกิดเป็น “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมการท่องเที่ยวสัตว์ป่าตำบลระบำ” ที่ก่อตั้งเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 โดยชาวบ้านปรับตัวและใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน

จาก 11 หมู่บ้านรอบห้วยขาแข้ง ปัจจุบันมี 7 หมู่บ้านเข้าร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจ มีสมาชิกรวมกันมากกว่า 100 คน โดยกลุ่มวิสาหกิจแบ่งเป็น 9 กลุ่มย่อย เพื่อดูแลกิจกรรมท่องเที่ยวในแต่ละด้าน คือ

– กลุ่มรถนำเที่ยว

⁃ กลุ่มเรือนำเที่ยว

⁃ กลุ่มผู้นำเที่ยวชุมชน

⁃ กลุ่มหอชมธรรมชาติ (บ้านต้นไม้)

⁃ กลุ่มบ้านพักชุมชนและลานกางเต็นท์

⁃ กลุ่มอาหาร

⁃ กลุ่มศูนย์เรียนรู้

⁃ กลุ่มเส้นทางศึกษาธรรมชาติ

⁃ กลุ่มเส้นทางจักรยาน

เมื่อมีนักท่องเที่ยว เรือหาปลาก็พร้อมเปลี่ยนเป็นเรือนำเที่ยว พาชมความงาม และวิถีชีวิตในอ่างเก็บน้ำทับเสลา

8 เดือนแรกของปี 2566 กลุ่มวิสาหกิจฯ มีรายได้รวมกันมากกว่า 1 แสนบาท  ซึ่งกระจายไปยังชาวบ้านในชุมชน ที่ทำหน้าที่แตกต่างกันไป โดยแบ่ง 5% ของรายได้ เป็นค่าบริหารจัดการของกลุ่มวิสาหกิจฯ

กิจกรรมนั่งรถชมสัตว์ป่า รอบพื้นที่ห้วยขาแข้ง เป็นจุดขายของการท่องเที่ยวโดยชุมชน

คนจน กับการปกป้องเพชรเม็ดงาม

แม้ทุกฝ่ายจะเห็นตรงกัน ว่าการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างเหมาะสม จะเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยปกป้อง ป่าและชีวิตสัตว์ป่า และมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) พัฒนาการท่องเที่ยวสัตว์ป่าตำบลระบำ เพื่อส่งเสริมการจัดการพื้นที่กันชนมรดกโลกฯ ที่มีทั้งหน่วยราชการ หน่วยงานทางวิชาการ ท้องถิ่น และชุมชนร่วมลงนาม แต่สำหรับชุมชนแล้ว พวกเขามองว่า ยังมีหลายเรื่องที่ไม่ชัดเจน และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนมากกว่านี้ รวมถึงเรื่องกฎระเบียบการใช้ประโยชน์พื้นที่ ที่อาจส่งผลต่อการจัดการท่องเที่ยวของชุมชน

“ตอนนี้ชาวบ้านรอบห้วยขาแข้ง คือคนที่ใส่เสื้อผ้าขาด ๆ นุ่งผ้าขาวม้า แต่ต้องคอยดูแลป่าห้วยขาแข้งที่เปรียบเหมือนเพชรเม็ดงาม จะทำยังไงให้ชาวบ้านที่ต้องปกป้องเพชรเม็ดงามเม็ดนี้ สามารถยกระดับอาจจะเปลี่ยนไปใส่เสื้อเชิ้ตได้หรือไม่”

บุญเลิศ เทียนช้าง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมการท่องเที่ยวสัตว์ป่าตำบลระบำ เปรียบเปรยถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่ชุมชนก็ยังจัดการท่องเที่ยวแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังขาดองค์ความรู้ที่จะช่วยสนับสนุน เช่น ความรู้เรื่องป่าและสัตว์ป่า สำหรับผู้นำเที่ยวชุมชน หากพัฒนาตรงนี้ได้ และชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พี่น้องเหล่านี้ ก็จะกลายเป็นอาวุธสำคัญของหน่วยงานอนุรักษ์

บุญเลิศ เทียนช้าง (ขวา) ขณะพาคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่มรดกโลกฯ ลงพื้นที่เส้นทางนำเที่ยวในเขตห้าล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา-ห้วยระบำ

อนุรักษ์-ท่องเที่ยว จุดสมดุลอยู่ตรงไหน

เพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เล่าว่า ในสมัยที่ สืบ นาคะเสถียร ทำหน้าที่หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สืบ มองว่าชาวบ้านและชุมชนรอบเขตป่าเป็นผู้ด้อยโอกาสในการใช้ทรัพยากร ก็พยายามสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนมาโดยตลอด เพราะแนวคิดการอนุรักษ์คือการใช้ทรัพยากรอย่างฉลาด การเปิดโอกาสให้ชุมชนใช้การท่องเที่ยวสัตว์ป่าเพื่อสร้างรายได้ก็เป็นวิธีการหนึ่ง แต่ก็ต้องพูดคุยว่าจุดที่เหมาะสมอยู่ตรงไหน

“การแก้ปัญหาสัตว์ออกนอกพื้นที่ ปัจจุบันมีชุดผลักดันช้าง ที่ทำงานร่วมกับเครือข่ายชุมชน ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน แต่เพื่อให้ทั้งคน และสัตว์ปลอดภัย ก็ต้องทำงานคู่ขนานกันไป เรื่องการท่องเที่ยวอะไรส่งเสริมได้ก็ส่งเสริม แต่การบังคับใช้กฎหมายก็ยังต้องมี”

ขณะที่ วีรยา โอชะกุล ซึ่งคุ้นเคยกับพื้นที่มรดกโลกและผืนป่าตะวันตก เพราะเคยเป็นทั้งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่ปัจจุบัน ดำรงดำแหน่ง ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ก็มองว่า กิจกรรมท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นวิธีการลดความขัดแย้ง ระหว่างชาวบ้านรอบขอบป่ากับสัตว์ป่า

โดยอธิบายว่าในอดีตพื้นที่รอบขอบป่าของผืนป่าตะวันตกจะไม่ค่อยพบเห็นสัตว์ป่าได้ง่ายมากนัก แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มที่สัตว์ป่าจะขยายพื้นที่ออกมานอกป่า จนทำให้พบเห็นสัตว์ป่าได้ง่ายมากขึ้น ด้านหนึ่งเจ้าหน้าที่ก็พยายามดึงสัตว์ให้กลับเข้าป่า เช่นการเพิ่มแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร แต่ก็จำเป็นต้องใช้เวลา

“เห็นด้วยกับการใช้ประโยชน์ของชุมชน เพราะหากบอกว่าประโยชน์จากป่าไม้ คือ น้ำ และอากาศ มันเป็นสิ่งที่ชุมชนจับต้องไม่ได้ แต่การจัดการท่องเที่ยว ทำให้ชุมชนมองเห็นประโยชน์ที่พวกเขาจับต้องได้ แต่ก็ต้องมีการทำแผนร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน ว่าแบบไหนถึงจะได้ประโยชน์ทั้งเศรษฐกิจของชุมชน และการปกป้องคุ้มครองป่า และสัตว์ป่า”

วีรยา โอชะกุล ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์)

ต้นแบบที่ต้องเดินต่อ

ก่อนถึงวันรำลึกครบรอบสืบ นาคะเสถียร ปีนี้ คณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง (PAC) ตัวแทนกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบฯ มีนัดหมายกัน ที่หน่วยพิทักษ์ป่าทุ่งแฝก ปากทางเข้าห้วยขาแข้ง เพื่อแลกเปลี่ยนกับตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมการท่องเที่ยวสัตว์ป่าตำบลระบำ พร้อมลงพื้นที่สำรวจเส้นทางส่องสัตว์ หรือที่เรียกว่า เกมไดร์ฟ

รถขับเคลื่อน 4 ล้อ ค่อย ๆ พาผู้โดยสารลัดเลาะเข้าไปตามถนนดิน และเมื่อรถวิ่งพ้นแนวป่าทืบ ก็เผยให้เห็นภาพของทุ่งหญ้าริมอ่างเก็บน้ำทับเสลา จุดนี้สามารถพบเห็นสัตว์ป่าได้หลากหลายชนิด  เช่น เช่น ฝูงละมั่ง เนื้อทราย นกยูงพันธุ์ไทย รวมถึงเจ้าช้างยักษ์ใหญ่ของผืนป่า

ฝูงละมั่ง บนทุ่งหญ้าริมอ่างเก็บน้ำทับเสลา โดยมีสิ่งปลูกสร้างของชาวบ้านอยู่ห่างออกไปไม่ไกล
ช้าง ยืนกินหญ้าอยู่ไม่ไกลจากหอส่องสัตว์ ริมอ่างเก็บน้ำทับเสลา
ช้าง ยืนกินหญ้าอยู่ไม่ไกลจากหอส่องสัตว์ ริมอ่างเก็บน้ำทับเสลา

ภาพการใช้ประโยชน์พื้นที่ของสัตว์ป่า ที่อยู่ไม่ห่างจากกิจกรรมของชาวบ้านและชุมชน ก็พอจะบอกเราได้ว่า สำหรับสัตว์ป่าแล้วพื้นที่ตรงนี้ปลอดภัยเพียงพอ

แต่เดิมบริเวณนี้เคยถูกใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ของชาวบ้าน แต่เพื่อป้องกันปัญหาระหว่างสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า รวมถึงโรคติดต่อระหว่างสัตว์ มีการให้ชาวบ้านอพยพสัตว์เลี้ยงออกจากพื้นที่ และปลูกหญ้าทดแทนเพื่อเป็นอาหารของสัตว์ป่า

ระหว่างเส้นทางเรายังสามารถพบเห็นร่องรอยของสัตว์ป่า รวมถึงกล้องดักถ่าย ที่ติดไว้เพื่อเก็บข้อมูลสัตว์ป่า ที่บ่งบอกว่า พื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งอยู่รอบพื้นที่มรดกโลกก็เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของสัตว์ป่า

ภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร บอกว่า สถานการณ์ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และผืนป่าตะวันตกในปัจจุบัน สัตว์ป่า เริ่มขยายแนวเขตออกมาด้านนอกพื้นที่อนุรักษ์ เข้ามาในชุมชนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจสร้างผลกระทบกับชุมชนที่อยู่แนวขอบของพื้นที่ หากปล่อยไว้ ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับสัตว์ป่าอาจรุนแรงมากขึ้น อย่างเช่นที่เกิดขึ้นกับผืนป่าตะวันออก แต่ยังถือว่าโชคดี ที่ป่าตะวันตกมีการทำงานกับชุมชนมายาวนาน หากวางแผนดี ทำให้มีมาตรการรองรับ

แต่ต้องย้ำว่า การจัดการและดูแลสัตว์ป่ามีหลายมิติ ท่องเที่ยวเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น ซึ่งตัวอย่างของวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวสัตว์ป่าตำบลระบำ เป็นตัวอย่างที่ดี แต่ก็กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ที่ต้องค่อย ๆ พัฒนา และแก้ปัญหาร่วมกัน

ภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ผ่านมาแล้ว 2 ปี ของการเริ่มต้นการท่องเที่ยวสัตว์ป่า รอบพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้ง แม้จะยังมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ชาวบ้านก็มองเห็นแล้วว่า ประโยชน์ของสัตว์ป่าและการอนุรักษ์ที่พวกเขาจับต้องได้คืออะไร หลังจากนี้ก็คือการเดินหน้าต่อของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้ เครื่องมือที่เรียกว่าการท่องเที่ยว ช่วยอนุรักษ์และยกระดับความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ซึ่งหากสามารถทำได้อย่างที่หวัง เพชรเม็ดงามที่ชื่อมรดกโลกห้วยขาแข้ง ก็จะมีกำแพงที่แข็งแรง เป็นชาวบ้านและชุมชนที่อยู่รอบผืนป่าช่วยปกป้องดูแล

Author

Alternative Text
AUTHOR

ณัฐพล พลารชุน

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

ณัฐพล พลารชุน