Save อโยธยา: เพราะเป็นโบราณสถานจึงสำคัญ

เงื่อนไขของการอนุรักษ์
เมื่อรถไฟความเร็วสูงกำลังเข้าใกล้พื้นที่ทางประวัติศาสตร์

พื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศไทย แต่เมื่อพูดถึง “พระนครศรีอยุธยา” ภาพของโบราณสถาน วัดวาอาราม คงปรากฏเด่นชัดในความทรงจำ เพราะสะท้อนถึงร่องรอยของอยุธยาในอดีต รวมถึงเมืองเก่าอโยธยาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น

เมื่อกาลเวลาผ่านไป การพัฒนาเริ่มขยับเข้ามาใกล้พื้นที่ทางประวัติศาสตร์มากขึ้น หากมองเชิงการอนุรักษ์อาจทำให้นักประวัติศาสตร์หรือนักโบราณคดีหลายคนหวั่นใจว่า การพัฒนาอย่าง ‘โครงการรถไฟความเร็วสูง’ จะเข้ามาบดบังและเปลี่ยนทัศนียภาพไป เพราะในอยุธยายังมีพื้นที่อย่าง ‘อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา’ ที่ยูเนสโกรับรองให้เป็น ‘มรดกโลก’

The Active พูดคุยกับนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ เพื่อสอบถามถึงข้อห่วงใยและความเสี่ยงที่โบราณสถานและพื้นที่ทางประวัติศาสตร์เมืองเก่า ‘อโยธยา’ ถูกถอดถอนจากการเป็นมรดกโลก หากโครงการรถไฟความเร็วสูงใช้เส้นทางที่คาบเกี่ยวกับพื้นที่เหล่านี้

Save อโยธยา

ในฐานะ “คนทำงานด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี”

นักวิชาการและนักอนุรักษ์ ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นว่า พวกเขาไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาด้านคมนาคม อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูง เพียงแต่มีมุมมองว่าเส้นทางที่โครงการนี้เลือก อาจกระทบต่อโบราณสถาน ทั้งที่เป็นมรดกโลกและไม่ได้เป็นมรดกโลก…

หนึ่งในนั้น คือ พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่บอกว่าเขาไม่ปฏิเสธการพัฒนา รถไฟความเร็วสูงเป็นสิ่งที่จำเป็น เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ เพราะประเทศเสียโอกาสมานานจากปัญหาการเมือง

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์

แต่ พิพัฒน์ มองว่าปัญหาใหญ่ของเรื่องนี้ คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง มีช่วงระยะทางการวิ่งประมาณ 13.5 กิโลเมตร ซึ่งผ่านเมืองโบราณอโยธยา ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก รวมถึงพื้นที่วัดอโยธยา วัดมเหยงคณ์ จนไปถึงวัดใหญ่ชัยมงคล วัดพนัญเชิงวรวิหาร และหากมองในระดับสากล มีน้อยครั้งมากที่จะมีการสร้างเส้นทางรถไฟตัดผ่านเมืองโบราณ แม้เมืองโบราณอโยธยาอาจไม่ใช่มรดกโลกอย่างเป็นทางการ แต่เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์คาบเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของกรุงศรีอยุธยา ถึงจะเป็นพื้นที่นอกเกาะเมือง แต่ก็มีหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์

นอกจากนี้ พิพัฒน์ ยังพูดถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชนและโบราณสถานว่า โครงการก่อสร้างนี้อยู่ใกล้แนวชุมชนอีกหลายแห่ง ซึ่งพื้นที่การสร้างรางรถไฟความเร็วสูง มีการขยายมากกว่า 40 เมตร ชุมชนอาจถูกไล่รื้อ เวนคืนที่ทำกิน ส่วนโบราณสถาน 2 แห่งที่ติดแนวรางรถไฟ คือ ‘วัดวิหารขาว’ ที่มีเจดีย์รอการบูรณะอยู่ และ ‘วัดหลวงพ่อคอหัก’ เป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเช่นกัน ซึ่งอาจได้รับผลกระทบต่อโครงสร้างของวัดได้

ด้าน ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี แสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า “ไม่ได้ปฏิเสธความเจริญ” แต่ในฐานะของคนทำงานด้านโบราณคดี เขาไม่สามารถปล่อยผ่านเรื่องการอนุรักษ์พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ไปได้

          “เราไม่ปล่อยผ่านไปเฉย ๆ โดยจรรยาบรรณของคนทำงานโบราณคดีต้องบอกว่า มันกำลังจะถูกทำลาย”

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

Save อโยธยา
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

สิ่งที่ ศิริพจน์ บอกว่าเขารู้สึกแย่ คือ คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าพื้นที่ที่รางรถไฟจะผ่านนั้น คือ เมืองโบราณ และเพิ่งเริ่มมีการสำรวจแล้วพบว่ามีแนวคูน้ำคันดินในพื้นที่เมืองเก่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. 1893 ของการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ซึ่งโดนทำลายและรุกล้ำไปเยอะแล้ว เนื่องจากไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของมรดกโลก นอกจากนี้เขายังห่วงเรื่องการนำเสาตอหม้อลงดิน ซึ่งต้องขุดดินขึ้นมาหลายตัน สิ่งนี้ถือเป็น “การขุดหลักฐานทางโบราณคดีทิ้งทั้งหมด”

เสียงของผู้ที่ทำงานด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี อาจสะท้อนถึงมุมมองของเสียงที่มีข้อห่วงใยต่อโบราณสถาน ซึ่งหลายคนมองว่ากำลังถูกการพัฒนาล่วงล้ำ โดยสิ่งที่นักวิชาทั้งสองเน้นย้ำ คือ ‘ต้องหาทางออกร่วมกัน’ เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ และความคุ้มค่า เพราะหากสูญเสียโบราณสถานไป ก็ไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้…

โลกทัศน์ของการอนุรักษ์ เพื่อ Save อโยธยา

พิพัฒน์ ให้นิยาม ‘โลกทัศน์’ เกี่ยวกับการถกเถียงเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูงกับพื้นที่โบราณสถานว่า มีโลกทัศน์อยู่ 2 แบบ แบบแรก คือ มองโบราณสถานในมุมของความโรแมนติก ซึ่งให้ความสำคัญและคุณค่าของความดั้งเดิม ในลักษณะนี้เกิดการปฏิเสธ เมื่อเริ่มมี ‘สิ่งใหม่เข้ามาแทรกกับสิ่งเก่า’ ส่วนแบบที่สอง มองว่า การพัฒนานั้นควรเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการอนุรักษ์โบราณสถาน

ประเด็นสำคัญอย่างเรื่องทัศนียภาพนั้น ในสายตาของอนุรักษ์ พิพัฒน์ บอกว่า ‘ไม่อยากให้มีอะไรแปลกปลอม’ แต่บางคนก็อาจคุ้นเคยกับภาพโบราณสถานตั้งอยู่ใกล้กับการก่อสร้างของใหม่ โดยยกตัวอย่าง จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีการสร้างตึกอยู่ใกล้กับเจดีย์เก่า หรือวัดที่รายล้อมไปด้วยตึก ซึ่งทัศนียภาพแบบนี้ การมองว่าสวยหรือไม่สวยนั้นเป็นเรื่องที่ตัดสินยาก ขึ้นอยู่กับมุมมองและประสบการณ์ของแต่ละคน

ส่วนกรณีอย่าง หลวงพระบาง ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลก นักท่องเที่ยวไปเพราะอยากดูทัศนียภาพ และความดั้งเดิมของเมือง จึงต้องนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน สร้างทางรถไฟให้อยู่ตามแนวภูเขา มีการทำถนนเชื่อมต่อเข้าเมืองระยะทาง 10 กิโลเมตร แต่กรณีอยุธยา พื้นที่นั้นห่างไม่ถึง 5 กิโลเมตร และสามารถมองเห็นได้จากวัดราชบูรณะ ซึ่งความเสี่ยงนี้จะแก้อย่างไร

“การสร้างรางรถไฟไม่เหมือนการสร้างตึก อาคาร ซึ่งรื้อง่าย แต่การรื้อทางรถไฟ รื้อไม่ได้ จึงต้องคิดให้ดี เพราะสร้างแล้วสร้างเลย”

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์

นอกจากนี้เขายังยกประเด็นเรื่องความคิดเห็นของผู้คนในโซเชียลมีเดียว่า มีหลายความคิดเห็นที่มองว่าโครงการรถไฟความเร็วสูง ผูกกับเงี่อนไขเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง หลายคนอาจมองว่า การมีรถไฟความเร็วสูง คือการนำความเจริญมาสู่พื้นที่ ให้คุณค่าว่าสิ่งนี้จะทำให้ปากท้องของคนในพื้นที่ดีขึ้น เกิดการเข้ามาของรายได้ และนักท่องเที่ยว แต่อาจหลงลืมประเด็นปัญหาบางอย่าง นั่นหมายถึงว่าเราอาจมองการพัฒนานี้ในระยะสั้นเกินไป

“บ้านเรามีปัญหาเรื่องหนึ่ง คือ เวลาทำโครงการขนาดใหญ่ไม่ค่อยทำประชาพิจารณ์อย่างจริงจัง ทำให้เสียงทัดทานจากคนส่วนน้อยไม่ถูกเอามาทบทวน แก้ไข ปรับปรุง ปัญหาคลาสสิก คือทำอย่างไรให้คนเสียงเล็ก ได้มีผลต่อการตัดสินใจอย่างรอบคอบ

เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นโบราณสถานควรได้รับการอนุรักษ์ ยิ่งสถานที่เหล่านั้นมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากเพียงใด ควรระมัดระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้น การทำประชาพิจารณ์และการรับฟังความคิดเห็นในหลากหลายมุมจึงสำคัญ… และหากโบราณสถานนั้นได้รับรองว่าเป็นมรดกโลก ยิ่งต้องมีความรอบคอบมากขึ้น

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์

‘มรดกโลก’ ไม่ได้เป็นของชาติใดชาติหนึ่ง

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ได้พูดถึงข้อกังวลที่ทางยูเนสโกมีต่อความเป็นมรดกโลก จึงนำไปสู่การเสนอให้ทำ HIA (Heritage Impact Assessment) หรือรายงานการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก ซึ่งเป็นครั้งแรกของไทย จากการศึกษาประเด็นปัญหานี้ ศิริพจน์ มีความกังวลว่ามีความเสี่ยงต่อการถูกถอดถอนจากการเป็นมรดกโลก ซึ่งในปัจจุบันทั่วโลกมีมรดกโลก เพียง 4 แห่ง ที่ถูกถอดถอน

ในกรณีของอยุธยานั้น อาจใกล้เคียงกับเมืองเดรสเดน ประเทศเยอรมนี และเมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลกในพื้นที่เขตเมือง แต่เกิดการสร้างสิ่งปลูกสร้างทับลงไป ซึ่งถือเป็นการทำลายลักษณะดั้งเดิมของพื้นที่นั้น

ในกรณีเมืองเดรสเดน มีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำขึ้นเพียงแห่งเดียว ซึ่ง ศิริพจน์ มองว่า ไม่ได้บดบังทัศนียภาพมากนัก แต่ก็ถูกถอดถอนจากการเป็นมรดกโลก ส่วนกรณีเมืองลิเวอร์พูล ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก บริเวณปากน้ำเมอร์ซีย์ ที่มีกลุ่มทุนเข้ามาสร้างประโยชน์เชิงธุรกิจ มีการสร้างสนามแห่งใหม่ของสโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันทับท่าเรือแห่งหนึ่ง และทำลายภูมิทัศน์ดั้งเดิมของปากน้ำเมอร์ซีย์ ซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์อันสำคัญของเมือง จึงถูกถอดถอนจากการเป็นมรดกโลกในที่สุด

“เขามอบตราที่บอกว่าเป็นมรดกของคนทั้งโลก ไม่ใช่ของชาติใดชาติหนึ่ง”

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

พร้อมกับพูดทิ้งท้ายว่า “ทำไมคนเขาอยากเป็นมรดก” เพราะการที่ประเทศมีมรดกโลก จะได้รับสิทธิป้องกันพื้นที่ หากเกิดสงครามจะได้รับการปกป้องจากทุกชาติ และสิ่งที่ไทยไม่เคยใช้ประโยชน์จากการเป็นมรดกโลก คือ การหาแหล่งทุนวิจัย การศึกษางานเพื่อนำมาบูรณะพื้นที่ ซึ่งไทยกลับไม่ใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้มากเท่าที่ควร ….

มุมมองของนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ทั้งสอง คงฉายให้เห็นภาพแล้วว่าการมีอยู่ของ ‘โบราณสถาน’ และพื้นที่ ‘มรดกโลก’ นั้นมีความสำคัญต่อประเทศชาติอย่างไร และการถูกถอดถอนจากมรดกโลกอาจทำให้บริบทของพื้นที่ทางประวัติศาสตร์นั้นเปลี่ยนและลบล้างความดั้งเดิม ถ้าปล่อยให้การพัฒนามาเบียดบังการอนุรักษ์จนเกินไป หากไม่คำนึงถึงผลประโยชน์แต่ละด้านอย่างรอบคอบ ไม่แน่ว่าความเสี่ยงที่จะถูกถอดถอนออกจากการเป็นมรดกโลกอาจเกิดขึ้น แต่ก็คงไม่มีใครที่อยากให้ไปถึงจุดนั้น

อ่านซีรีส์ชุด Save อโยธยา ตอนอื่น ๆ

Author

Alternative Text
AUTHOR

เมธาวี ทวีผล

เรียนมานุษยวิทยา สนใจเรื่องราวทางสังคม อยากปล่อยใจสู่เสรี

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์