REALFRAME: ให้ภาพถ่ายทำงานกับสังคม

“การได้เจอผู้คนก็ทำให้เราได้เรียนรู้สังคม ไม่ใช่แค่เรื่องการถ่ายภาพอย่างเดียว”

การถ่ายภาพเป็นสิ่งช่วยบันทึกความทรงจำของทั้งช่างภาพและผู้คนที่ได้เห็นภาพถ่าย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังคงดำเนินอยู่ในภาพที่ถ่ายทอดออกมาผ่านเลนส์กล้อง หลายช่วงเวลาของเหตุการณ์สำคัญ ก็มีช่างภาพหลายคนพร้อมจะหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายทอดและร้อยเรียงเรื่องราวด้วยภาพของพวกเขา เพื่อส่งต่อให้คนที่ไม่สามารถเข้าไปอยู่ในจุดเดียวกับช่างภาพขณะลั่นชัตเตอร์ได้

แต่ไม่ว่าเรื่องราวในภาพจะเป็นประเด็นเล็กหรือใหญ่ สิ่งสำคัญที่สุด คือ ภาพถ่ายได้ทำหน้าที่ต่อความรู้สึกของคนที่เห็นภาพอย่างไรบ้าง?

ช่างภาพกลุ่มหนึ่งที่ก่อตั้งมานานกว่า 13 ปี อย่าง REALFRAME (เรียลเฟรม) ที่ใช้ภาพถ่ายในการสื่อสารประเด็นสังคม โดยเริ่มต้นจากการรวมตัวของกลุ่มคนที่ชื่นชอบการถ่ายรูป และมีความสนใจประเด็นเชิงสังคมเหมือนกัน

The Active ชวนอ่านมุมมองการทำงานของ ยศธร ไตรยศ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง REALFRAME (เรียลเฟรม) ว่าการถ่ายทอดมุมมองและชีวิตของคนเล็ก ๆ สามารถสั่นสะเทือนโครงสร้างทางสังคมได้อย่างไร

จุดเริ่มต้น : รักการถ่ายภาพเชิงประเด็น

ยศธร อดีต NGO ด้านแรงงาน ที่ชื่นชอบการถ่ายรูป เล่าว่า REALFRAME (เรียลเฟรม) เป็นการรวมตัวของคนรักการถ่ายภาพประเด็นเชิงสังคม ซึ่งเมื่อถ่ายภาพแล้วก็นำไปลงตามเว็บบอร์ดต่าง ๆ ประกอบกับในช่วงสิบกว่าที่แล้ว เป็นช่วงสถานการณ์การเมืองร้อนแรง จึงเริ่มมีความขัดแย้งกันของผู้คนตามเว็บบอร์ด และไม่อยากให้นำภาพถ่ายเกี่ยวกับการเมืองไปลงในเว็บ เขาและเพื่อนช่างภาพจึงตัดสินใจเริ่มทำเว็บไซต์ของตัวเองเพื่อจะนำผลงานภาพถ่ายไปลง ซึ่งในตอนแรกไม่ได้คิดอะไรมาก คิดเพียงว่าจะได้มีพื้นที่ในการแบ่งปันผลงาน ให้คนที่สนใจภาพถ่ายแนวนี้ได้เข้ามาชม และเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

ยศธร ไตรยศ

ยศธร บอกว่าการได้ลงพื้นที่เพื่อถ่ายภาพการชุมนุมของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ทำให้ได้เห็นผู้คนและประเด็นปัญหาของแต่ละพื้นที่มากขึ้น ทำให้ REALFRAME เริ่มทำงานเชิงประเด็น โดยเริ่มต้นมีช่างภาพ 7 – 8 คน ที่สนใจประเด็นคล้ายกัน ส่วนหนึ่งก็รู้จักกันจากเว็บบอร์ด

เขาเล่าย้อนว่าในช่วงปี 2553 การชุมนุมเป็นพื้นที่เปิดและน่าสนใจ สามารถเข้าไปเพื่อศึกษากลุ่มคนที่เคลื่อนไหวได้ และเป็นพื้นที่ที่เอาไว้ฝึกถ่ายภาพที่ดีมาก ๆ

“การได้เจอผู้คนก็ทำให้เราได้เรียนรู้สังคม ไม่ใช่แค่เรื่องการถ่ายภาพอย่างเดียว”

พอเริ่มทำไปเรื่อย ๆ ก็รู้สึกว่าแนวทางเริ่มชัดขึ้นว่าเน้นประเด็นการเมือง และนอกจากภาพถ่ายแล้วยังต้องการการเล่าภาพให้มีเรื่องในเชิงลึกแบบสารคดีด้วย โดยช่างภาพเจ้าของผลงานแต่ละคนจะต้องทำคอนเทนต์เป็นของตัวเองถึงจะมีผลงานลงเว็บไซต์ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีรูปแบบการนำเสนอตามความถนัดของตัวเอง ทั้งรูปแบบ การเล่าเรื่องด้วยภาพถ่าย หรือการเขียนบรรยายเรื่องราว

ภาพ: Realframe

ด้วยความที่ REALFRAME ไม่ใช่องค์กร จึงมีความท้าทายเรื่องงบประมาณ เพราะต้องใช้ทุนของตัวเองเป็นหลัก จึงอาจดูเติบโตช้า แต่ก็มีแนวทางที่ชัดเจน ทำด้วยความอยากทำ ‘เป็นงานอดิเรกที่ดูค่อนข้างจะจริงจัง’

ซึ่งประเด็นทำมักเป็นประเด็นที่ช่างภาพแต่ละคนมีความสนใจมาก่อนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นว่าสังคมให้ความสนใจประเด็นไหนแล้วต้องเล่นตามกระแส แต่จะเน้นมาจากตัวช่างภาพ เพราะจะได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง และค่อยเป็นค่อยไป

เชื่อมโยงสังคมด้วยการทำสื่อ

“ไม่แน่ใจว่าจะช่วยให้ชุมชนเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่าเป็นการช่วยเพิ่มพื้นที่ให้กับเขา”

กิจกรรมร่วมกับชุมชน อย่างการจัด workshop การถ่ายภาพหรือการทำสื่อ เริ่มจากการชักชวนกันของคนที่รู้จักหรือหน่วยงานที่เคยร่วมทำงานด้วย เป็นความร่วมมือระหว่างทางกลุ่มกับองค์กรต่าง ๆ เช่น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย องค์กรเกี่ยวกับสิทธิ ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม เป็นต้น หรือบางโปรเจกต์ก็ขอทุนมาทำกิจกรรมเอง ซึ่งสื่อมวลชนบางคนก็อาจเคยผ่านการอบรมการทำสื่อร่วมกับ REALFRAME มาแล้ว โดยทาง REALFRAME จะไม่เก็บเงินจากผู้เข้าร่วมทำกิจกรรม เพราะฉะนั้น เงินสนับสนุนต่าง ๆ จะมาจากแหล่งทุน

“ส่วนใหญ่เป็นองค์กรสิทธิที่เห็นงานที่เราทำอยู่ เลยถูกพูดถึงปากต่อปาก ก็มีแหล่งทุนสนใจเข้ามาให้ความสนใจ”

ยศธร มองว่าพื้นที่ชุมชนที่ REALFRAME ร่วมทำงานด้วย อาจเป็นกลุ่มที่แสงยังส่องมาไม่ถึงคนในพื้นที่ เช่น ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ค้นพบว่าหลายประเด็นที่คนในพื้นที่อยากเล่า แต่ก็ยังไม่มีพื้นที่ในสื่อมากนัก อาจเป็นเพราะในบางพื้นที่ประสบปัญหา ‘อคติ’ ของคนรับสารที่ไม่เปิดใจยอมรับ

“ด้วยความจริงใจ อยู่เป็นเพื่อนเขา โดยไม่แสวงหาผลประโยชน์”

ภาพถ่าย

เขาย้ำว่าไม่ใช่ไม่มีใครเคยทำ แต่เมื่อทำแล้วก็ไม่ได้ถูกพูดถึงอย่างเปิดใจ ในบางประเด็นก็พยายามที่จะพาคนเข้าไปสัมผัสตัวตนของผู้คนในพื้นที่ ให้เข้าใจว่าตัวตนของพวกเขาเป็นอย่างไร

‘ความสำเร็จ’ ของ REALFRAME ในมุมของยศธร คือ การได้ลงไปทำงานในพื้นที่ใดก็ตาม แล้วคนในพื้นที่ยังยินดีต้อนรับให้กลับไปทำกิจกรรมอีกครั้ง ให้พา ‘เพื่อนใหม่’ ไปร่วมลงพื้นที่ แต่ในมุมของอิทธิพลที่ส่งผลต่อสังคม เขาบอกว่าเป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งนี้เป็นความสำเร็จของ REALFRAME กลุ่มเดียว แต่คิดว่าก็อาจจะมีใครหลาย ๆ คนที่ทำงานประเด็นเดียวเหล่านี้มาก่อน ซึ่ง REALFRAME ก็เป็นส่วนหนึ่งที่พยายามสื่อสารประเด็นเหล่านี้ออกไปเช่นกัน

ดังนั้น หากจะเรียกว่าความสำเร็จก็คงต้องยกให้เป็นความสำเร็จของทุกคนที่ทำงานในประเด็นเชิงสังคม ทั้งสื่อมวลชน ช่างภาพคนอื่น ๆ รวมถึงนักวิชาการ หรือ NGO หลาย ๆ คน

ส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเด็นสังคม

“การส่งต่อภาพถ่ายของเรา ก็เป็นการ Take Action อย่างหนึ่ง หลังจากที่ภาพถ่ายทำงาน”

ยศธร บอกว่า ‘ภาพถ่าย’ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเด็นสังคม แต่ถ้าจะบอกว่าเป็นสิ่งที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมโดยปริยาย ก็อาจจะเกิดการตั้งคำถามได้ว่าจุดไหนที่สังคมเปลี่ยนแปลงได้โดยภาพถ่าย เขารู้สึกว่าการทำงานของภาพถ่ายที่ชัดเจนที่สุดคือทำให้เกิดการตั้งประเด็นคำถาม ซึ่งอาจจะให้คำตอบได้ในบางประเด็น

ส่วนการ ‘การเปลี่ยนแปลง’ ก็ต้องขึ้นอยู่กับคนที่เสพผลงานว่าจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองหรือไม่ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ทั้งแบบรูปธรรม หรือเป็นการส่งต่อ การแชร์ภาพถ่าย ให้ออกไปสู่วงกว้างมากขึ้น

เขาไม่แน่ใจว่าภาพถ่ายขับเคลื่อนสังคมได้จริงไหม แต่เชื่อว่าภาพถ่ายของ REALFRAME ก็พยายามพูดถึงเรื่องราวบางอย่างที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ในส่วนของการส่งต่อก็พยายามหาวิธีสื่อสารที่ทำงานกับความรู้สึกคนให้มากที่สุด ไม่ว่าจะผ่านตัวหนังสือ ภาพ หรือหลาย ๆ บุคคลที่อยู่ในภาพของ REALFRAME

“ถ้าถามว่าภาพถ่ายสามารถขับเคลื่อนสังคมได้ไหม ก็อาจจะทำได้ แต่ก็ไม่ใช่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะต้องทำงานร่วมกันกับภาคประชาสังคมอื่น ๆ ด้วย”

นอกจากประเด็นสังคมแล้ว REALFRAME ยังพยายามถ่ายทอดภาพถ่ายที่สื่อถึงวัฒนธรรมของท้องถิ่น เพราะเชื่อว่าอัตลักษณ์เป็นส่วนหนึ่งของสังคม รวมถึงเป็นการให้ตัวตนกับชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ แสดงถึงการทำความเข้าใจ เพราะฉะนั้นการมองวัฒนธรรมว่าเป็นเรื่องสวยงามอย่างเดียว แท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งมิติอื่นอีกมากมาย และวัฒนธรรมก็เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นมนุษย์ เพื่อทำความเข้าใจในการอยู่ร่วมกัน

ภาพถ่าย

จากการพูดคุยกับ ยศธร ไตรยศ ทำให้เห็นแง่มุมการพยายามที่จะขับเคลื่อนสังคมของช่างภาพกลุ่มหนึ่ง แม้จะไม่ใช่องค์กรใหญ่ แต่ด้วยใจรัก จึงนำสิ่งที่ชื่นชอบมาช่วยร้อยเรียงสังคมให้เดินหน้าต่อไป โดยการร่วมเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ให้กับสังคม ใช้เลนส์กล้องฉายภาพประเด็นเชิงสังคม ให้ผู้คนได้หันมามอง ซึ่งการทำกิจกรรม การลงพื้นที่ การจัดแสดงนิทรรศการของ REALFRAME ก็สะท้อนให้เราเห็นเรื่องราวเล็ก ๆ ที่แฝงอยู่ในตัวตนของบุคคล สถานที่ ในภาพถ่ายเหล่านั้น


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

เมธาวี ทวีผล

เรียนมานุษยวิทยา สนใจเรื่องราวทางสังคม อยากปล่อยใจสู่เสรี