คน ป่า วัฒนธรรม

มุมมองผ่านเลนส์: เรียนรู้วิถีคน เข้าใจวิถีป่า เข้าถึงวัฒนธรรม

“การเข้ามาอาจไม่ยาก แต่เข้ามาแล้วอาจไม่ง่ายที่จะเข้าใจและเข้าถึง”

จากสนามบินเชียงใหม่ มุ่งหน้าบ้านห้วยหินลาดใน ชุมชนพี่น้องกะเหรี่ยงในอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย

คนแปลกหน้า 13 ชีวิต หยิบกล้องถ่ายรูปขึ้นมาสะพายทันทีที่เท้าสัมผัสผืนดิน เตรียมพร้อมสู่การเปิดโลกผ่านเลนส์ เรียนรู้วิถีและวัฒนธรรมพี่น้องกะเหรี่ยงไปพร้อมกับชุมชน

เราได้ทำความรู้จักพี่น้องกะเหรี่ยงในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตพอดี ปรีชา ศิริ หรือ “พะตีปรีชา” ผู้นำทางจิตวิญญาณอาวุโสของชุมชน เอ่ยชวนพวกเราทุกคนไปเดินป่าและดูวิถีการเกี่ยวข้าวไร่ด้วยกัน

ยกแรกของการเรียนรู้ได้เริ่มขึ้นแล้ว…

“บ้านห้วยหินลาดในอยู่ในพื้นที่ป่ามาช้านาน วิถีชีวิตของพี่น้องกะเหรี่ยงที่นี่จึงพึ่งพาอาศัยและดูแลทุกสรรพสิ่งในผืนป่าแห่งนี้ร่วมกัน ซึ่งเป็นจารีตประเพณีที่ทุกคนทุกรุ่นปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยมีงานประเพณีและพิธีกรรมสำคัญต่าง ๆ เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของทุกคนให้ได้เรียนรู้และเข้าใจความสำคัญของวิถีคนอยู่กับป่า”

พะตีปรีชาอธิบายสั้น ๆ ถึงภาพรวมของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของพี่น้องกะเหรี่ยงบ้านห้วยหินลาดใน

อิริยาบถและท่าทางที่ยังดูกระฉับกระเฉง น่าเคารพยำเกรงของพะตีปรีชา ชวนให้เราคิดตลอดทางที่สนทนาไปด้วยกันว่า ผู้อาวุโสท่านนี้มีความเข้าใจต่อสังคมและวัฒนธรรมทั้งในและนอกชุมชนอยู่ไม่น้อย แม้จะอยู่ในช่วงวัยสูงอายุแล้วก็ตาม

“ที่ผ่านมาเราพยายามทำความเข้าใจต่อพี่น้องในสังคมนอกชุมชนมาโดยตลอด ว่าเราดูแลและบริหารจัดการทรัพยากรในป่าอย่างไร แต่ถ้าเราสื่อสารโดยมุมมองจากคนในชุมชน การรับรู้ก็จะถูกจำกัดแค่คนในชุมชน เพราะฉะนั้น การที่มีสื่อหรือนักสร้างสรรค์จากในเมืองหรือนอกชุมชนมาเรียนรู้ ถ่ายทอดมุมมองและเรื่องราวในบ้านของเราไปด้วยกัน จะช่วยเติมเต็มในข้อจำกัดนี้ได้มาก เพราะพวกเขาอาจมีผู้ฟัง หรือผู้ชมที่หลากหลาย เสียงจากพี่น้องกะเหรี่ยงบ้านห้วยหินลาดในก็จะมีโอกาสถูกส่งไปถึงคนที่อยากจะเข้าใจวิถีคนอยู่กับป่าได้มากขึ้น”

สื่อสารโดย “ภาพถ่าย” ด้วยความเข้าใจ

แสงแดดยามสายตัดกับกลิ่นไอกาแฟคั่วร้อน ๆ เมื่อวันแรกที่พวกเราได้เข้ามาเยือนชุมชนแห่งนี้ ได้เชื้อเชิญให้เข้ามาสู่ประตูแห่งการเรียนรู้ที่จะเข้าใจ พร้อมฟังบรีฟสั้น ๆ จาก ยศธร ไตรยศ ช่างภาพผู้ก่อตั้งกลุ่ม Realframe ที่นำเสนอผลงานจากกลุ่มช่างภาพสารคดีที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชน สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำในมิติทางสังคมต่าง ๆ เพื่อให้ได้ทำความรู้จักและเข้าใจแนวคิดของกิจกรรมนี้ที่ทำร่วมกับชุมชนฯ

“เรามองว่าภาพเป็นสื่อที่พี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองได้ดูได้เห็นแล้วเข้าใจ สามารถต่อยอดเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์หรือการมีส่วนร่วมระหว่างกันได้ไม่ยาก แต่จริง ๆ แล้วจุดประสงค์ที่แท้จริงของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้คือการได้มาเรียนรู้วิถีคนอยู่กับป่าของพี่น้องกะเหรี่ยงและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน เพราะผู้เข้าร่วมทั้ง 13 คนที่เราคัดมาร่วมกิจกรรมด้วยกัน มาจากหลากหลายอาชีพ บางคนไม่ได้เป็นช่างภาพมืออาชีพแต่มีความตั้งใจที่อยากจะเข้ามาเรียนรู้และเข้าใจพี่น้องกะเหรี่ยงที่นี่ หรือมีประสบการณ์สื่อสารในทักษะอื่น ๆ ที่สามารถเติมเต็มให้ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ออกมาอย่างน่าสนใจ และมีมุมมองหลากหลายผ่านชุดภาพถ่ายของแต่ละคนที่จะนำไปจัดแสดงในงานนิทรรศการซึ่งเป็นบทสรุปของกิจกรรม”

ยศธรเล่าให้ฟังถึงที่มาของกิจกรรมและการเลือกใช้ “ภาพถ่าย” เป็นสื่อกลางสำหรับการเรียนรู้ในกิจกรรมครั้งนี้

หลังจบกิจกรรมแต่ละวัน ทุกคนต้องคัดเลือกชุดภาพถ่ายที่ดีที่สุดไม่เกิน 4 – 5 ภาพ มาฉายสไลด์ดูพร้อม ๆ กันกับชาวบ้านในพื้นที่ นอกจากจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเข้าใจมุมมองการสื่อสารของแต่ละคนแล้ว ชาวบ้านก็ได้มีส่วนร่วมเรียนรู้และเข้าใจสิ่งที่ทุกคนอยากจะบอกกับชุมชนด้วยเช่นกัน

“พอเราไปชวนชาวบ้านให้มาชมภาพถ่ายที่พี่ ๆ น้อง ๆ ถ่ายมาจากไร่หมุนเวียนในป่าชุมชนหรือในหมู่บ้าน ปรากฏว่าทุกคนดีใจและมีความสุขมาก ๆ ที่ได้เห็นตนเองอยู่ในภาพถ่ายของหลายคน สำหรับมุมมองจากคนในชุมชนไม่ได้เป็นแค่ผลตอบรับที่ดี แต่ยังเป็นกำลังใจที่คอยเติมเต็มให้กันและกันด้วย อย่างน้อยที่สุด ทุกคนรู้สึกเหมือนว่ายังมีคนจากสังคมภายนอกอีกไม่น้อยที่อยากจะเข้าใจและอยากจะพูดแทนพวกเขา ว่าวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของพี่น้องกะเหรี่ยงเป็นอย่างนี้ เป็นวิถีที่กำลังพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้”

ประสิทธิ์ ศิริ คนรุ่นใหม่บ้านห้วยหินลาดในได้แสดงความคิดเห็นต่อผลตอบรับที่เกิดขึ้น

เขายังมองว่าการเรียนรู้วิถีคนกับป่าร่วมกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 13 คน ทำให้เห็นว่าทุกคนไม่ได้โฟกัสแค่การถ่ายภาพตามโจทย์ที่ได้รับ แต่ทุกคนพยายามที่จะพูดคุย ซักถามข้อสงสัยกับชาวบ้านที่ไปร่วมเอาแรงเอามื้อเกี่ยวข้าวไร่หมุนเวียน เพื่อให้ได้เรื่องราวที่สื่อสารออกมาแล้วเป็นความรู้สึกที่อยากจะสื่อสารเพื่อชุมชนบ้านห้วยหินลาดในและเพื่อคนในสังคมข้างนอกอย่างแท้จริง

“ในงานนิทรรศการภาพถ่ายคนกับป่าบ้านห้วยหินลาดในที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ ผมอยากให้ทุกภาพถ่ายที่ได้ไปโชว์ในงานสามารถพูดแทนใจของทุกคนที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ ให้ผู้ชมทุกท่านได้มองเห็นการมีอยู่ของพวกเรา และได้มองเห็นว่าในประเทศไทยก็ยังมีคนตัวเล็กตัวน้อยอีกมากที่กำลังพยายามช่วยกันดูแลป่าตามวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนนั้น ๆ”

ประสิทธิ์ ศิริ

“ถ่ายภาพ” เพื่อเข้าใจคนกับป่า ผ่านมุมมองผู้เรียนรู้

แสงแดดยามบ่ายใกล้เย็นที่สาดส่องมายังพวกเราหลังกลับจากถ่ายภาพการเกี่ยวข้าวไร่หมุนเวียนกับอากาศที่เริ่มเย็นขึ้น อาจทำให้หลายคนรู้สึกอ่อนล้า แต่ในความอ่อนล้าก็ทำให้ได้มุมมองความเข้าใจหลายอย่างที่เกี่ยวกับวิถีคนกับป่ากลับมาเป็นของแถมด้วยเช่นกัน

ชุติพนธ์ พิสิษฐ์ธนาดุล หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมเล่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้ร่วมเดินทางครั้งนี้ ว่าเพิ่งเรียนจบจากอเมริกาแล้วกลับมาอยู่ไทย ความยากของการเริ่มต้นที่จะหางานทำคือไม่รู้จักใครเลย ไม่รู้จะเข้าถึงแหล่งงานที่ตรงกับความชอบของตนอย่างไร จนกระทั่งมีพี่คนหนึ่งส่งข่าวประกาศรับสมัครผู้เข้าร่วมกิจกรรม Workshop ครั้งนี้มาให้ ก็ลองส่งผลงานไปแล้วปรากฏว่าได้รับคัดเลือกมาร่วมลงพื้นที่ถ่ายภาพสื่อสารร่วมกัน

“ผมเริ่มศึกษาเรื่องวิถีคนอยู่กับป่าเมื่อตอนที่รู้จักกิจกรรมนี้ พอค้นหาข้อมูลไปเรื่อย ๆ ผมก็ตั้งคำถามว่าในฐานะช่างภาพจะสื่อสารอย่างไรให้รัฐและประชาชนได้เข้าใจว่า นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ร่วมกับป่าอยากจะบอกกับทุกคนว่า พวกเขามีวิถีชีวิตแบบนี้ กำลังเผชิญกับปัญหานี้ อยากให้ทุกคนที่เห็นภาพถ่ายเหล่านี้แล้วมาร่วมกันเรียนรู้และเข้าใจวิถีของพวกเขาไปด้วยกัน ซึ่งเป็นชุดภาพถ่ายที่ผมอยากจะเอาไปเล่าให้เพื่อน ๆ ฟัง”

ชุติพนธ์ พิสิษฐ์ธนาดุล

เพราะไม่ได้เป็นช่างภาพมืออาชีพ ศศิธร มูลสาร และเพื่อน ๆ จึงเน้นถ่ายทอดวิธีคิดและมุมมองที่แต่ละคนมีมากกว่าเทคนิคการถ่ายภาพ ศศิธร มองว่าการที่ชุมชนมีเรื่องราวและมีคนในพื้นที่สื่อสารเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการฉายภาพความเข้มแข็งของชุมชนได้อีกแบบหนึ่ง ซึ่งความเข้มแข็งของชุมชนจะเกิดขึ้นได้ กลุ่มเยาวชนหรือคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ถือเป็นส่วนสำคัญอย่างมากสำหรับการขับเคลื่อนพลังชุมชน เพราะบ้านห้วยหินลาดในได้ยืนหยัดในวิถีของตนมาเป็นเวลานานหลายสิบปี มีเยาวชนสืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน และสามารถเป็นชุมชนต้นแบบด้านวิถีคนอยู่กับป่าได้

“อนาคตต่อจากนี้อยากให้โมเดลวิถีคนอยู่กับป่าบ้านห้วยหินลาดใน เป็นอีกแรงบันดาลใจที่ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญของการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในบ้านเกิดของตนเองมากขึ้น เพราะหลายพื้นที่ได้พยายามปกป้องบ้านเกิด แต่คนที่ออกมาต่อสู้ก็เป็นผู้สูงวัยแล้ว ถ้าพื้นที่นั้น ๆ ได้แรงหนุนเสริมจากคนรุ่นต่อไป ก็จะทำให้ความพยายามที่จะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในบ้านเกิดยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

ศศิธร พูดถึงสิ่งที่อยากจะให้เกิดขึ้นในสังคมชุมชนต่อจากการมาเรียนรู้ในครั้งนี้

“ภาพถ่ายคนกับป่า” จากผืนป่าสู่ใจกลางเมือง

ชุดภาพถ่ายพร้อมเรื่องเล่าของแต่ละคน จะถูกคัดเลือกโดย Realframe และ Pulitzer Center เพื่อจัดแสดงในนิทรรศการภาพถ่าย “คนกับป่า” บอกเล่าเรื่องราว วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของพี่น้องกะเหรี่ยงบ้านห้วยหินลาดในโดยมุมมองของคนที่เติบโตในสังคมเมืองและสนใจที่จะทำความรู้จักกับพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองอย่างลึกซึ้ง โดยงานนิทรรศการจะจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)

วิจิตรา ดวงดี ผู้จัดการโครงการให้กับ Pulitzer Center องค์กรไม่แสวงหากำไรด้านสื่อสารมวลชน ได้อธิบายถึงความตั้งใจในการจัดกิจกรรมตั้งแต่ Mini Workshop ที่บ้านห้วยหินลาดใน จนมาถึงงานนิทรรศการภาพถ่ายคนกับป่าที่กำลังจะจัดขึ้นนี้ว่า ตลอดทั้งกิจกรรมมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่และเป็นกระบอกเสียงให้กับชาวบ้านที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับป่า ชาวบ้านที่เป็นผู้ถูกผลักให้กลายเป็นคนชายขอบและถูกตีตราว่าเป็นศัตรูของนโยบายป่าไม้ของรัฐ ดังนั้น งานนิทรรศการภาพถ่ายที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นส่วนหนึ่งเพื่อฉายแสงไปยังคนเหล่านี้

ซึ่งโครงการนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรายงานเรื่อง “เจาะปัญหาป่าทับคน คนทับป่า” ของ ภัทชา ด้วงกลัด ที่ได้รับรับทุน Pulitzer Center Climate Crisis Reporting โดยรายงานเรื่องนี้ได้ชี้ให้เห็นผลกระทบในหลากหลายมิติของนโยบายที่เกี่ยวกับป่าไม้ของรัฐไทย โดยเฉพาะนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกิน การดำเนินคดีกับพี่น้องชาติพันธุ์ในข้อหา “บุกรุก” ป่าจิตวิญญาณ รวมไปถึงการถูกกล่าวโทษว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยชาวบ้านกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศมีปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำกินกับหน่วยงานรัฐตั้งแต่มีนโยบายทวงคืนผืนป่า ปี 2554 ทำให้พวกเขาไม่มีความมั่นคงในชีวิต และกลายเป็นรากของปัญหาความเหลื่อมล้ำในไทยอย่างยาวนาน

นอกจากนี้ นิทรรศการภาพถ่าย “คนกับป่า” เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ #ShowMeYourTree ที่เชิญชวนให้ทุกคนที่อยู่ในภูมิภาคลุ่มน้ำแม่โขงร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องป่าฝน ด้วยการสร้างความสมดุลระหว่างความความสัมพันธ์ของป่าและชาวบ้าน ซึ่งเป็นผู้ปกป้องป่า อีกทั้งเน้นย้ำในความสำคัญของรายงานจาก Pulitzer Center ด้วย

“แม้ว่ากิจกรรมนี้อาจเป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ ในการขับเคลื่อนประเด็นปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่เราเชื่อว่าผลที่ได้รับจะทำให้ทุกคนได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง และต่อยอดเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่เราอยากจะบอกกับรัฐให้หันมาใส่ใจและให้ความสำคัญกับปัญหาของพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองอย่างจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชนที่ไม่ใช่แค่อยากให้คนกับป่าอยู่อย่างเคารพกฎหมาย แต่กฎหมายต้องเคารพคนดูแลป่าด้วย”

วิจิตรา ดวงดี

ในฐานะผู้ออกแบบนิทรรศการครั้งนี้ ยศธร ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Realframe ยังได้พูดถึงสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในงานนิทรรศการครั้งนี้ว่า ปัจจุบันในพื้นที่สื่อเริ่มพูดถึงประเด็นคนกับป่ามากขึ้น สื่อมวลชนเริ่มให้โอกาสชาวบ้านในพื้นที่ได้สื่อสารวิถีคนกับป่าด้วยตนเอง และเมื่อสื่อมวลชนต่างพร้อมใจกันนำเสนอประเด็นนี้ ก็จุดประกายให้สื่อที่มีขนาดรองลงมา เช่น สื่อท้องถิ่น อินฟลูเอ็นเซอร์ ยูทูบเบอร์ บล็อกเกอร์ด้านต่าง ๆ เริ่มเข้าไปยังพื้นที่ชุมชนเพื่อหยิบเรื่องราวจากในชุมชนมาช่วยสื่อสารอีกทางหนึ่ง ซึ่งในงานนิทรรศการนี้ก็อยากให้เกิดการจุดประกายแบบนี้เช่นกัน ผู้ชมที่เข้ามาดูผลงานแสดงของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 13 คนก็สามารถนำความประทับใจจากภาพถ่ายไปบอกต่อคนอื่น ๆ ได้

“จริง ๆ เราไม่ได้มองว่างานนิทรรศการภาพถ่ายคือปลายทางของงานกิจกรรม Workshop ในครั้งนี้ เพราะหลังจากเรื่องคนกับป่ายังมีอีกหลายประเด็นที่คาบเกี่ยวกันและเป็นประเด็นที่คนในเมืองต้องประสบเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝุ่นควัน PM2.5 การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ (Climate Change) หรือเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ล้วนเป็นเรื่องที่เราพยายามจะหาโอกาสสื่อสารอย่างต่อเนื่องและต้องอาศัยความร่วมมือในการสื่อสารจากทุกคน”


รายงานพิเศษ : เรียนรู้วิถีคน เข้าใจวิถีป่า เข้าถึงวัฒนธรรม
มุมมองผ่านเลนส์ จากผู้เข้าร่วมกิจกรรม Mini Workshop Photography “วิถีคนกับป่า” บ้านห้วยหินลาดใน จ.เชียงราย

ภาพ : ก้องกนก นิ่มเจริญ, กานต์ ตันติวิทยาพิทักษ์, จิราภรณ์ ล้อมหามงคล, จีระภา มุลคำมี, ชนากานต์ เหล่าสารคาม, ชุติพนธ์ พิสิษฐ์ธนาดุล, ณัฐพล เมฆโสภณ, ทรงวุฒิ จุลละนันท์, บุญลีย์ ตันตินราวัฒน์, ประสิทธิ์ ศิริ, พัชร์สุรางค์ เดชาพุทธรังสี, ศศิธร มูลสาร, สมศักดิ์ เนตรทอง

Author

Alternative Text
AUTHOR

รัชชา สถิตทรงธรรม

กรุงเทพฯ สู่ ลำปาง - แพร่, หลงรักวิถีวัฒนธรรมของพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง และมีความฝันอยากเปิดร้านอาหารชาติพันธุ์