วิเคราะห์เหตุผลทำไมเศรษฐกิจยังไม่ไปไหน ?
เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคที่มีความเปลี่ยนแปลงสูงและวิกฤตการณ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้เสมอ ทำให้การแข่งขันในเวทีโลกยากขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ หรือแม้แต่การดำเนินนโยบายรัฐ ทำอย่างไรให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้พร้อมกับนโยบายที่ตรงเป้าหมาย ตรงใจประชาชน เพราะหลายครั้ง หลายหน มีนโยบายที่ดีแต่ไม่ถูกผลักดัน หรือเมื่อทำออกมาแล้วกลับกลายเป็นหนังคนละม้วน
The Active ชวนถอดรหัส “คิด” กับ ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ และกรรมการผู้จัดการสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future) มองบริบทความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ กับโจทย์ใหญ่ในการเปลี่ยนผ่าน ไปต่อของประเทศไทย การตัดสินใจทำนโยบาย ต้องมีการ “วัดผล” และอย่าลืม สั่งสมคุณภาพคน ที่เรียกว่า “ทุนมนุษย์”
ปัญหารุมเร้าเศรษฐกิจไทย เฉี่อย เก่า เหลื่อมล้ำ รัฐต้องลดบทบาท ให้ตลาดเสรีทำงานได้มากขึ้น
“สถาบันอนาคตไทยศึกษา เป็นองค์กรคลังสมอง หรือ Think Tank ที่ทำหน้าที่ศึกษาเชิงนโยบาย ทำงานวิจัย และเข้าไปเชื่อมต่อกับเจ้าหน้าที่รัฐในการขับเคลื่อนนโยบายให้มีหลักฐานมากขึ้น โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการทำให้นโยบายต่าง ๆ ของประเทศตรงเป้าหมายและมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายมากขึ้นกว่าในอดีต”
ณภัทร พูดถึงบทบบาทของสถาบันคลังสมองที่เขาขับเคลื่อนอยู่ ก่อนจะตอบคำถามแรก ว่าอะไร คือปัญหาใหญ่ของประเทศไทย ที่ทำให้การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ยังไม่ตรงเป้าหมาย และไม่ตรงใจประชาชน
ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ณภัทร เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหามาก สะสมมานานและยังแก้ไม่จบ ด้วยความเป็นเศรษฐกิจที่ “โตช้า” ผลผลิตต่อประชากรยังห่างจากเป้าหมายไกลมาก และยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำ รวยกระจุก จนกระจาย ด้านหนึ่งเป็นธรรมชาติของทุนนิยม แต่หากยังปล่อยไปเรื่อย ๆ ปัญหาเศรษฐกิจจะรุกเลยไปถึงปัญหาสังคม ที่ผ่านมาเห็นภาพชัด จากการเติบโตแบบเฉี่อย ๆ ค่าแรงไม่ขึ้นสวนทางค่าครองชีพ ระดับหนี้ครัวเรือนสูง ทำให้คนใช้ชีวิตลำบาก ความเป็นอยู่ไม่ดี
อีกปัญหาคือ เศรษฐกิจของประเทศเราเก่า เครื่องยนต์เศรษฐกิจเดิม ๆ เริ่มหมดฤทธิ์ เพราะถูกใช้มานานขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงทุกวัน ปัญหาคือ ถ้าจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในระดับโลกได้เหมือนในยุคที่บ้านเราถูกขนานนามว่าเป็นเศรษฐกิจเสือ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหา “กระบวนท่าใหม่” ใช้ทรัพยากรเท่าเดิมให้ได้มากกว่าเดิม ด้วยรูปแบบและไอเดียใหม่ ๆ
หากมองย้อนไปในช่วงยุครัฐบาลไทยรักไทย ช่วงนั้นมีแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า นโยบายอุตสาหกรรม (Industrial Policy) มีการพูดกันว่าเศรษฐกิจต้องเลือกกลยุทธ์ หรือมุ่งเน้นผลักดันบางภาคส่วน แต่พอเวลาผ่านไป ณภัทร บอกว่าเขาเริ่มเปลี่ยนแนวคิด เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจในยุคสมัยใหม่ โอกาสที่รัฐเจาะจงเลือกและผลักดันเศรษฐกิจบางภาคส่วนเต็มร้อย แล้วเกิดเลือกไม่ถูก ก็มีโอกาสพังสูง ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นแล้วในหลายประเทศ
ดังนั้นสิ่งที่สำคัญกว่าคือการกลับมาสู่สามัญ โดยการทำให้ระบบตลาดในประเทศทำงานได้ดีขึ้น เปิดเสรีมากขึ้นเพื่อทำให้มีการแข่งขัน และทำให้ ‘คน’ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ได้มีโอกาสแสดงฝีมือ ได้มีโอกาสระดมทุน ทดลองและเติบโตไปเป็นบริษัทใหม่ ๆ แต่ปัญหาคือ ตอนนี้ยังเห็นแววในการทำเรื่องนี้น้อยมาก
“ที่ผ่านมามีดราม่าว่า สตาร์ตอัพไทย ตายไปหมดแล้วหรือยัง ทำไมถึงไม่มี เหล่านี้เป็นปัญหาที่สัมพันธ์กันทั้งหมด สุดท้ายอาจจะต้องกลับมาตั้งคำถามว่า เราดูแล คน กฎกติกา และการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจของเราดีแค่ไหน”
ณภัทร มองว่า รัฐไม่ควรถืออำนาจมากเกินไป และควรจะมีบทบาทในการเข้ามาแก้ปัญหาเรื่อง “สินค้าสาธารณะ” (Public goods) เช่น อากาศไม่สะอาด กองทัพอ่อนแอ ปัญหารถติด สาธารณสุข หรือการศึกษา ให้เกิดความเท่าเทียมกัน แต่บางอย่างรัฐไม่ควรแทรกแซง เพียงแค่ทำระบบ วางระเบียบให้ดีแล้วปล่อยให้เอกชนและภาคประชาชนเข้ามาฉายแสงของเขาเองจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เพราะประเทศไทยมีทรัพยากรที่ดี ไม่ว่าจะเป็น คน ทุน หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ
แต่ถ้ามองไปถึงอนาคต ทรัพยากรเดิมอาจไม่เพียงพอต่อการแข่งขันในระดับโลกที่ยากขึ้น หากเรายังย่ำอยู่กับที่ ขายสินค้าและบริการแบบเดิม ๆ ยังพึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และภาคบริการที่ต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก จริงอยู่ที่ภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงานจะดีขึ้นหลังผ่านสถานการณ์โควิด-19 แต่ในอนาคตหากต้องเผชิญผลกระทบจากโลกร้อน รวมถึงการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีควบคุมการทำงานผ่านคอมพิวเตอร์ (Automation) จะทำให้งานหายไปค่อนข้างมากและทำให้ประเทศไทยต้องตกอยู่ในความเสี่ยง
จาก “ไทยรักไทย” ถึงรัฐบาล ”เพื่อไทย” ความเหมือนที่แตกต่าง บนบริบทที่เปลี่ยนไป
นับหนึ่งการทำงานของรัฐบาลภายใต้การนำของ “เศรษฐา ทวีสิน” ที่ประกาศเทหมดหน้าตัก เดินหน้าแก้ปัญหาประเทศ หนึ่งธงใหญ่คือเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ประสบการณ์บริหารประเทศของพรรคเพื่อไทยในหลายช่วงเวลาก่อนหน้านี้ ในความเห็นของ ณภัทร มองว่าอาจไม่ได้เป็นข้อได้เปรียบ หรือเป็นต้นทุนทั้งหมดที่รัฐบาลจะเอามาใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีในยุคปัจจุบัน
“ถ้าพูดถึงหลักการ คนรุ่นใหม่มองไปทางประชาธิปไตยมาก มีคนเคยเขียนบทความเปรียบเทียบเหมือนในสมัยเอเธนส์ที่ว่า พ่อครัวที่ไหนก็มาเป็นนายกฯได้ คือให้สิทธิกับประชาชนมากในการเลือกใครเข้ามาก็ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้คงชัดเจนว่าคนรุ่นใหม่คงไม่พอใจ”
แต่ถ้าเป็นเรื่องของศักยภาพในการทำงาน ยุคนี้ต้อง “ดูที่ทีมมากกว่าตัวบุคคล” เพราะแน่นอนว่า ผู้ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญในฝ่ายบริหารควรจะมีประสบการณ์ในระดับหนึ่ง แต่ในยุคนี้ที่โลกมีความละเอียดซับซ้อนมากขึ้น ขณะเดียวกันฐานเสียง กับความต้องการของประชาชนก็มีความหลากหลายกว่าในยุคยังไม่มีอินเตอร์เน็ตที่ผู้คนยังมีความคิดอยู่ในกรอบเหมือนกันหมด ดังนั้น การที่ใครคนหนึ่งจะตัดสินใจแล้วรอบรู้หมดทุกเรื่อง จึงแทบเป็นไปไม่ได้แล้ว
“ก่อนหน้านี้ ที่มีคนชอบล้อว่าพ่อผม (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เป็น อีโคโนมิก ซาร์ (Economic Czar) หรือขุนพลใหญ่ด้านเศรษฐกิจ ยุคนั้นหมดไปแล้ว มันเป็นไปไม่ได้แล้วที่เราจะหวังให้มีคนมาเคาะ ให้ไปทางโน้นทางนี้”
แต่ในความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ก็ยังเห็นข้อได้เปรียบของคนคนรุ่นก่อน คือประสบการณ์ที่เคยผ่านการทำงานและมองเห็นอุปสรรคจนรู้ว่าทำอย่างไรให้การทำงานภาครัฐเดินหน้าไปได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการ มากกว่ารัฐบาลที่เข้ามาแล้วทำไม่ได้ หรือลอย ๆ ไม่ทำอะไร เพราะฉะนั้นเรื่องการดำเนินการให้สำเร็จจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
วัดผลนโยบาย เรื่องใหญ่ ที่ยังไม่มีรัฐบาลไหนกล้าทำ
“ผมคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ แต่เรื่องการวัดผลการทำงานอย่างไรก็ควรต้องมี ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีวันรู้เลยว่าจะทำอะไรไปเพื่ออะไร นโยบายนี้ดีจริงหรือเปล่า และจะก้าวไปสู่สังคมที่ไว้ใจรัฐบาลที่เลือกขึ้นมาได้อย่างไร เรื่องนี้ในประเทศพัฒนาแล้วถือเป็นเรื่องจำเป็น แต่ในบ้านเราที่ผ่านมายังไม่เห็นรัฐบาลไหนกล้าทำ”
ในคำอธิบายของ ณภัทร การทำนโยบายต้องมีการ “วัดผล” แต่เขาไม่ได้หมายความว่าต้องวัดละเอียดแบบนักวิชาการแล้วค่อยออกนโยบาย เพราะจะช้าเกินไป แต่อย่างน้อยจะเป็นการแสดงความถ่อมตน ว่าผู้บริหารบ้านเมืองไม่ได้รู้หรือตัดสินใจถูกทั้งหมด เพราะหากลองย้อนไปดูนโยบายพัฒนาประเทศ จะพบว่าบางครั้งก็ได้ผลลัพธ์ที่ผิดเพี้ยนไปจากความเชื่อหรือสิ่งที่ตำราว่าไว้ เช่น การแจกของเข้าไปในห้องเรียน อย่างหนังสือ ปากกา อาจไม่มีผลเลยกับคุณภาพของเด็ก แต่นโยบายที่อาจดูไม่มีอะไร อย่างการฉีดวัคซีนหรือถ่ายพยาธิให้เด็กฟรี กลับได้ประโยชน์มากในระยะยาว เพราะเด็กไม่ป่วย สามารถไปโรงเรียนได้และมีชีวิตที่ดีขึ้น
“ผมเชื่อว่านโยบายที่ดีที่สุดต้องวัดผลได้ ต้องมีการทดลองอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ทุกนโยบายที่ออก มาจากกระเป๋าประชาชนเป็นภาษี ควรจะต้องวัดได้ระดับหนึ่งว่าทำไมเราถึงเลือกทำ แล้วได้ผลอย่างไร”
เข้าใจว่าบางครั้งมันเป็นเรื่องนโยบายทางการเมืองแต่หากยอมรับและตัดเรื่องนั้นไป แล้วโฟกัสเฉพาะเรื่องการใช้จ่าย ว่าเราจะทำนโยบายนี้ เราจะออกแรงด้านนี้ อย่างน้อยควรจะวัดอย่างจริงจังว่าทำอะไรไป ได้ผลเท่าไหร่ เพื่อที่ครั้งหน้าจะได้รู้ว่าผลลัพธ์ในแต่ละนโยบายเป็นอย่างไรและจะได้ไปถูกทางขึ้น
ณภัทร ยกตัวอย่างประเทศที่เขาเคยไปสัมผัส อย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีข้อดีคือการกระจายอำนาจ ทำให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกอยู่อาศัยในรัฐที่มีการบริหารจัดการงบประมาณ มีสวัสดิการ ที่ต้องการได้ แม้แต่เรื่องคุณภาพอากาศที่รัฐมีการเก็บภาษีสูงมากแต่แลกมาด้วยคุณภาพอากาศที่ดี ได้น้ำสะอาด เปรียบเป็นการ “โหวตด้วยเท้า” คือคนอเมริกันสามารถเลือกย้ายถิ่นฐานตามที่ตนพอใจได้ และไปถึงจุดที่ผู้บริหารรัฐมีความเชื่อใจนักวิจัย ถึงขั้นโยนคำถามมาให้ช่วยคิดว่าควรดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ อย่างไร อย่างเช่นเรื่องเด็กด้อยโอกาส รวมไปถึงเรื่องเล็กมากๆ อย่างวันที่หิมะตก ควรปิดโรงเรียนหรือไม่
“เราเห็นข่าวเยอะว่าสังคมอเมริกันถดถอย มีปัญหามากมาย แต่ถ้ามองลึกลงไปในบางจุด จะเห็นว่าทำได้ค่อนข้างดีแม้กระทั่งเรื่องเล็ก ๆ เขาก็เอาสถิติมาดู อย่างกรณีหิมะตกก็ต้องปิดโรงเรียน เพราะถ้าเปิด เด็กยากจนก็ไปโรงเรียนไม่ได้ ส่วนเด็กที่มีฐานะ เดินทางไปเรียนได้ก็เสียประโยชน์เช่นกัน เพราะวันรุ่งขึ้นครูก็ต้องย้อนไปติวเพิ่มให้เด็กที่ขาดเรียนอยู่ดี การตัดสินใจที่ดีที่สุดคือปิดเรียนไปเลย มันสะท้อนให้เห็นว่าแม้แต่นโยบายเล็ก ๆ แบบนี้ ตัดสินใจได้อย่างมีระบบระเบียบขึ้นมาก”
เกิดน้อย ตายเร็ว คนมีคุณภาพไหลออก สะท้อนเหตุผลว่าทำไมเศรษฐกิจยังไม่ไปไหน
“เราต้องอย่าลืมเรื่องคน คือ ทุนมนุษย์ เพราะถือเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญที่สุดของการขับเคลื่อนทั้งสังคมและเศรษฐกิจสมัยใหม่ ที่ผ่านมาเศรษฐกิจสมัยเก่าอาจมีแบบแผนชัดเจนว่าต้องลงทุนหรือต้องสร้างในแบบไหน แต่เศรษฐกิจยุคนี้ต้องใช้คนในอีกบริบทหนึ่ง ต้องมีความละเอียดอ่อนมากขึ้น คือต้องอาศัยคนที่มีทักษะสูงและหลากหลายมารวมกัน จึงจะออกมาเป็นความคิดและบริการในรูปแบบใหม่ ๆ และนำมาสู่การเกิดเศรษฐกิจใหม่ ๆ ได้ หากไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ คนอาจจะย้ายออกจากประเทศไทยไปอยู่ที่อื่น เมื่อมีคนน้อยลง ผลิตอะไรก็เหมือนเดิม ไม่ได้อะไรใหม่ ๆ”
ณภัทร ชี้ให้เห็นว่าในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ คนมีความสำคัญที่สุด ไม่ใช่แค่ในเชิงคุณภาพ แต่หมายรวมถึงปริมาณด้วย เพราะการเติบโตของเศรษฐกิจ มี 2 ปัจจัยสำคัญ คือ ทุน หมายถึง เครื่องจักร เทคโนโลยีต่าง ๆ และ คน ที่จะช่วยทำให้เศรษฐกิจมี นวัตกรรมแบบก้าวกระโดด เพราะในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่มีเงินไปซื้อเครื่องจักรเพื่อตั้งโรงงานเท่านั้น แต่ยังต้องผสมผสานเข้ากับความคิดใหม่ ๆ เพื่อไปแข่งขันในเวทีโลก
“ปัญหาของประเทศไทย ไม่ใช่ไม่มีคนเก่ง ทุกแทบจะทุกสาขา รวมถึงด้าน AI เรามีคนแถวหน้าระดับโลก แต่ปัญหาคืออาจจะมีจำนวนไม่พอสำหรับการค้นพบไอเดียที่ดีและแปลกใหม่ จะต้องเพิ่มจำนวนคนอัดเข้าไป การที่ประเทศเรามีคนเก่งแบบระดับแถวหน้าแค่หยิบมือเดียว อันนี้อันตราย เพราะว่าถ้าพวกเขาไปลองแล้วมันไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดี ไม่ได้แปลว่าเขาไม่เก่ง เปรียบเป็นการทอยเต๋าแค่ครั้งเดียว ทั้งที่จริงแล้วอาจต้องทอยเป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นครั้ง เพื่อจะได้บริษัทอย่าง กูเกิล หรือเฟซบุ๊ก มา ส่วนหนึ่งเลยมันคือเรื่องจำนวนด้วยมันไม่ใช่แค่ความเก่งเพียงอย่างเดียว”
ภัทร บอกว่า เรื่องประเด็นเห็นต่างทางการเมืองเป็นเรื่องปกติของทุก ๆ สังคม แต่เมื่อคนกลุ่มหนึ่งรู้สึกถูกกดดันมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือไม่ได้ดั่งใจเลยสักอย่าง อาจทำให้พวกเขาเริ่มหาทางเลือก แน่นอนว่าคนที่เก่งที่สุดย่อมมีทางเลือก และสามารถไปอยู่ที่อื่นได้ ดังนั้น “การรักษาจำนวน” ก็เป็นสิ่งสำคัญ ทั้งเรื่องของการรักษาประชากรเก่ง ๆ ไว้ไม่ให้ออกไปนอกประเทศ รวมถึงการดึงดูดคนเก่ง ๆ จากภายนอกเข้ามาอยู่ ซึ่งต้องเป็นเรื่องของการสร้างแรงจูงใจและทำสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ หรือในหลายประเทศถึงขั้นให้สัญชาติกับคนต่างชาติที่มีคุณภาพ คำถามคือประเทศไทยทำเรื่องเหล่านี้ได้เต็มที่แล้วหรือยัง
“ทุกอย่างมันฟ้องว่าการรักษาความสามารถพิเศษ (Talent) ในระบบเศรษฐกิจของเรามีปัญหา และอาจจะตอบคำถามของมันเอง ว่าทำไมเราถึงยังไม่พบแนวทางเศรษฐกิจใหม่ที่ดีกว่าเดิม นี่ยังไม่รวมไปถึงเรื่องการกำกับดูแลที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือเรื่องอื่น ๆ เลย”
สั่งสมคุณภาพคน พัฒนา “ทุนมนุษย์” เรื่องใหญ่ ที่ต้องไม่ลืมทำ
เมื่อเห็นความสำคัญของทั้งคุณภาพ และปริมาณของคนแล้ว คำถามคือจะสร้าง หรือมีวิธีการสั่งสม “ทุนมนุษย์” อย่างไร นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ให้คำตอบว่า นอกจากต้องเร่งแก้ปัญหาคนไทย “เสียชีวิตก่อนวัยอันควร” ให้ได้ รวมถึงการดึงคนที่มีคุณภาพไม่ให้ไหลออกไปนอกประเทศ พร้อมกับสร้างแรงจูงใจให้คนคุณภาพจากภายนอกเข้ามาช่วยทำงานพัฒนาประเทศเราแล้ว
อีกคำถามสำคัญ คืออาจจะต้องมีการเพิ่มจำนวนคนให้มากกว่านี้หรือไม่ ? ณภัทร บอกว่า เรื่องนี้ยังต้องหาคำตอบกันต่อว่า เมื่อมีประชากรเกิดใหม่แล้วจะอยู่ตรงไหน ใครดูแล เพราะหากลองดูอีกด้าน สังคมก็มีปัญหามีลูกไม่พร้อมและเลี้ยงดูไม่ดีเพราะพ่อแม่ต้องหาลำไพ่ แต่ถ้ามองดูองค์รวมแล้วพบว่าคนของเราน้อยเกินไป ก็อาจจะต้อง “หาสมดุล” ของการผลิตคนเพิ่ม หรือนำเข้าทุนมนุษย์ ซึ่งประเทศไทยมีข้อได้เปรียบในเรื่องปัจจัยต่าง ๆ เช่น สภาพอากาศ อาหาร ไทยจึงเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่คนต่างชาติอยากเข้ามาอยู่ จึงควรใช้ข้อดีตรงนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้คนมีความสุข เมื่อมีความสบายใจ ก็สามารถทำงาน มีความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ ได้ดี เรื่องนี้ต้องอยู่ที่บทบาทการทำนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขเป็นสำคัญ
อีกส่วนสำคัญของการพัฒนาทุนนุษย์ คือ “การเก็บข้อมูล” เพื่อการไปต่อที่ดีขึ้น เรื่องนี้ทำได้โดยการเอาชุดข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก ที่อยู่ในกระทรวงศีกษาธิการมาจัดการให้ดี ณภัทร ย้ำว่ายิ่งเก็บข้อมูลตั้งแต่อายุยังน้อยยิ่งดี เพราะการลงทุนในทุนมนุษย์ ผลตอบแทนที่สูงที่สุดจะเกิดขึ้นเมื่อลงกับเด็กเล็ก ขณะเดียวกัยก็ต้องเก็บ “ข้อมูลครู” ว่าใคร คือคนที่มาสอนอนาคตของชาติ
ทั้งหมด เรียกว่า “ข้อมูลวัยเด็ก” ซึ่งต้องมีการติดตามรายละเอียด ว่าเด็กเรียนหลักสูตรไหน เจอครูแบบใด ได้รับวัคซีนแค่ไหน จนไปถึงวัยเติบโต เข้าสู่ตลาดแรงงานแล้วมีรายได้ท่าไหร่ แต่งงานตอนอายุเท่าไหร่ เสียชีวิตระหว่างทางไหม เป็นหนี้รึเปล่า จ่ายภาษีเท่าไหร่ ไปถึงสุดท้าย ว่าตายตอนที่มีอายุขัยเท่าไหร่
“ถ้าเกิดเราลงทุนมนุษย์แบบฉลาด ผลตอบแทนมันจะกลับมาในอนาคต ในรูปแบบของการเก็บภาษี เพราะเราลงทุนไปแล้วเด็กฉลาด เศรษฐกิจดี ทำให้จ่ายภาษีเป็นเม็ดเงินมากขึ้น แล้วมันก็มีประโยชน์อีกหลายต่อ เช่น ถ้าเรามีคนคุณภาพ เศรษฐกิจมันอาจจะโตอีกระดับเลย และเมื่อคนเก่งอยากอยู่กับคนเก่งก็จะมีคนต่างชาติมารังสรรค์ความคิดใหม่ ๆ ร่วมกัน สังคมอาจจะปลอดภัยขึ้นถ้าปัญหาปากท้องลดลง มันต่อหลายเด้งเลยนะ ”
ความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ที่เกิดขึ้นเร็วและตลอดเวลาทำให้คนยุคนี้ต้องปรับตัว ณภัทร ให้ความเห็นทิ้งท้ายในเรื่องของการปรับวิธีคิดในเรื่องการศึกษา และพัฒนาทักษะของคนเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงไว้อย่างน่าสนใจ
“ผมว่าไม่ได้แย่ กับการที่เด็กจะพักการศึกษา แล้วไปทำงานก่อน ตราบใดที่เขากลับมาได้ หรือมีโอกาสที่ภาครัฐจะเข้าไปช่วยเสนอทางเลือกในการทำให้คนเก่งขึ้นตลอดจนกระทั่งเขาเลิกทำงาน ดูเหมือนตอนนี้เราอัดการศึกษาเต็มที่ตอนเด็ก ๆ แล้วก็ตัวใครตัวมัน ซึ่งอาจไม่ถูกนักกับบริบทใหม่ของโลก เพราะอายุการใช้งานของทักษะ มันสั้นลง พูดง่าย ๆ ว่าสิ่งที่เราพยายามให้เด็กเรียนกัน อย่าง โค้ดดิ้ง ทักษะใหม่ ๆ หรือแม้แต่การวิเคราะห์ข้อมูล ปัจจุบันอายุขัยและความมีประโยชน์ของทักษะเหล่านี้ลดลง แปลว่า ประเดี๋ยวเดียวก็หมดยุค หมดค่า และมีสิ่งอื่นมาทดแทน ดังนั้น คนต้องขนขวายและพันาในอัตราที่เร็วขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด แต่ถ้ามีการสนับสนุนจากรัฐ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสกว่า เป็นเรื่องที่ดี”
ติดตาม ซีรีส์ “อย่าลืม”
- ‘สงครามสีเสื้อ’ สู่ ‘นิติสงคราม’ กับการเปิดพื้นที่เสรีภาพลดความรุนแรง I พิภพ ธงไชย
- รักษาพื้นที่สาธารณะให้ความคิดต่าง I ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
- เปลี่ยนผ่านประเทศไทย ต้องกลับไปตั้งต้นที่ “รัฐธรรมนูญ ” I ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล
- อย่าลืม “รักษาคำพูด” เดินหน้านโยบาย ส่งมอบความหวังให้ประชาชน I ดวงฤทธิ์ บุนนาค
- เคลื่อนไหว ต่อสู้ด้วยความเป็นมนุษย์ บนเพดานสันติวิธีที่ไม่เท่ากัน I อานนท์ นำภา
- การสร้างความปรองดอง ต้องทำเป็นขั้นตอน และใช้เวลา I ศ.วุฒิสาร ตันไชย