เมื่อเมืองใหญ่ ผลักคนให้ไกลน้ำ

ใคร ๆ ก็ทราบดีว่า กรุงเทพมหานคร คือนครแห่งสายน้ำมาแต่ในอดีต จนได้รับสมญานามว่า ‘เวนิสแห่งตะวันออก’ ด้วยผังเมืองที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาผ่ากลาง แตกแขนงออกเป็นคูคลองน้อยใหญ่ทั้งสิ้น 1,994 คลอง สมัยก่อนมีไว้เพื่อการสัญจรทางน้ำและอุปโภคเป็นหลัก แต่ปัจจุบัน คลองเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้หมดสภาพการใช้งานลง เนื่องจากปัญหาขยะมูลฝอยจากชุมชนและโรงงานริมคลอง ทำให้คลองตื้นเขินจนไม่สามารถสัญจรไปมาได้

ขณะที่ แม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็นแม่น้ำสายสำคัญของประเทศและเป็นภูมิประเทศสำคัญของกรุงเทพฯ แต่ประชาชนกลับเข้าถึงได้ยากขึ้น เนื่องจากปัญหาการขยายตัวของเมืองใหญ่ โครงสร้างอาคารที่บดบังทัศนียภาพของลำน้ำคูคลอง และการถือครองที่ดินริมน้ำของเอกชน ปัญหาเหล่านี้อาจทำให้ผู้อาศัยในกรุงเทพฯ แทบไม่ได้รู้สึกว่าเรากำลังอาศัยอยู่ใน ‘เวนิสตะวันออก’ อย่างที่ใครเขาพูดกัน

The Active เชิญชวนผู้อ่านร่วมเดินสำรวจพื้นที่ริมน้ำ บริเวณย่านสะพานปลา-ชุมชนตลาดน้อย-สะพานพุทธ พร้อมย้อนฟังทรรศนะจาก 2 สถาปนิกจากภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อมองหาแนวทางที่เมืองใหญ่ สายน้ำ และผู้คนจะร่วมพัฒนาเพื่อสร้างพื้นที่ริมน้ำของทุกชีวิตในเมือง

เมือง
โครงสร้างผุพังบริเวณริมน้ำวัดยานนาวา
แม่น้ำเจ้าพระยา
แม่น้ำเจ้าพระยา

ใครคือเจ้าของ ‘เจ้าพระยา’?

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลโดย The Urbanis by UDDC เผยว่า พื้นที่ริมน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาจากสะพานกรุงธน (ซังฮี้) จนถึงสะพานกรุงเทพ มีความยาวรวม 2 ฝั่งราว 24 กิโลเมตร พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในระยะดังกล่าว พบว่ากว่าร้อยละ 64 เป็นพื้นที่เอกชน และมีเพียงร้อยละ 36 เท่านั้นที่เป็นพื้นที่ของหน่วยงานภาครัฐ

เมื่อพิจารณาในมิติของการเข้าถึงพื้นที่ พบว่าร้อยละ 75 เป็นพื้นที่ที่คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ ขณะที่อีกร้อยละ 25 ที่เหลือถูกแบ่งเป็นพื้นที่สาธารณะราวร้อยละ 15 และพื้นที่กึ่งสาธารณะ เช่น ศาสนสถาน พื้นที่เชิงพาณิชย์ และสถานที่ราชการอีกเพียงราวร้อยละ 10 ด้วยสัดส่วนของพื้นที่สาธารณะริมน้ำที่น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรภายในเมือง จึงทำให้ผู้อาศัยไม่อาจเข้าถึงสายน้ำได้โดยสะดวก เว้นแต่จะเสียค่าใช้จ่ายเพื่อเข้าถึงบริการของพื้นที่เอกชน เช่น ร้านอาหาร โรงแรม เป็นต้น

พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจบริเวณกรมเจ้าท่า

จุฤทธิ์ กังวานภูมิ สถาปนิกชุมชนจากกลุ่มปั้นเมือง มองว่า แต่เดิมพื้นที่ริมน้ำเป็นที่ตั้งของชุมชนในอดีต พอปัจจุบันเมืองเริ่มขยายตัวขึ้น คลองที่เคยมีอยู่แต่เดิมก็ถูกลดความสำคัญลงและเปลี่ยนสภาพไป ขนาดเมืองที่ใหญ่โตทำให้คนในเมืองไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแม่น้ำลำคลองอยู่ที่ไหนในชีวิตของพวกเขา

“กรุงเทพฯ มันโตต่อเนื่องมา 200 กว่าปีโดยไม่มีหยุดพัก เป็นเมืองที่เราวิ่งไปข้างหน้าตลอด เกิดเมืองใหม่ ๆ ขึ้นทุกวัน โดยที่เราไม่ได้ทบทวนว่า เราจะทำอย่างไรไม่ให้ผู้คนถูกทิ้งไว้ข้างหลังเงาเมืองที่โตขึ้น”

จุฤทธิ์ กังวานภูมิ

ผู้อาศัยริมน้ำในย่านสะพานปลาเผยว่า มีเพียงวัดและโป๊ะท่าเรือบางแห่งเท่านั้นที่ตนสามารถเข้าไปใช้งานได้ ในขณะที่สถานที่ราชการจะถูกปิดกั้นเมื่อถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ จึงมีโอกาสน้อยมากที่ประชาชนในละแวกนั้นจะได้ใช้สอยพื้นที่ริมน้ำเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ

ชยากร จุลาสัย อดีตสถาปนิกผังเมือง สำนักผังประเทศและผังภาค กรมโยธาธิการและผังเมือง ระบุว่า ผังเมืองกรุงเทพฯ ค่อนข้างมีสภาพเป็นผังเมืองที่ตายแล้ว ยากต่อการรื้อถอนพัฒนาใหม่ โดยเฉพาะพื้นที่ริมน้ำ ที่ถึงแม้จะมีความพยายามจากหน่วยงานรัฐให้ทำเป็นพื้นที่ใช้สอยสาธารณะ แต่การเวนคืนที่อาศัยของประชาชนสร้างผลกระทบอย่างมากต่อวิถีคนในชุมชน ทำให้พื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาได้รวดเร็วและเป็นรูปธรรมมากที่สุดมี 2 เงื่อนไขคือ 1) เป็นพื้นที่ของรัฐ 2) เป็นพื้นที่โล่ง ซึ่งปัจจุบันแทบจะไม่มีเหลืออยู่เลยในบริเวณริมน้ำ

“ผมเห็นด้วยว่า สำหรับผังเมือง ณ ตอนนี้ ใช้วิธีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านั้นเหมาะสมที่สุด แต่ขอเสริมว่ามันไม่ได้น่าเศร้าขนาดนั้น เพียงแต่ตอนนี้ รัฐต้องมีเป้าหมาย มีตัวชี้วัดที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ซึ่งมันจะทำให้เรามีกำลังใจที่ดีขึ้น ในมุมมองของการทำงานเราจะค่อย ๆ เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับ”

ชยากร จุลาสัย
ชยากร จุลาสัย อดีตสถาปนิกผังเมือง สำนักผังประเทศและผังภาค กรมโยธาธิการและผังเมือง

อย่างไรก็ดี ชยากรเผยว่า ตามกฎหมายผังเมืองแล้ว บทบาทหน้าที่ของสำนักผังเมืองเป็นเพียง ‘กรอบกำหนด’ ในการควบคุมทิศทางการพัฒนาผังเมือง ไม่ได้มีอำนาจในการจัดการพื้นที่โดยเบ็ดเสร็จ เพราะยังมีหน่วยงานภายใต้อีกมากที่ดูแลพื้นที่โดยตรง เช่น กรุงเทพมหานคร เทศบาลนคร กรมเจ้าท่า หรือหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ที่จะเป็นคนออกแบบแนวทางการพัฒนาพื้นที่อีกชั้นหนึ่ง

แต่อำนาจการพัฒนาพื้นที่ที่ทับซ้อนหลายหน่วยงาน มีข้อถกเถียงจากมุมมองหลายฝ่าย ทำให้โครงการส่วนใหญ่มักเป็นไปอย่างล่าช้าและหาจุดลงตัวได้ยาก ทำนองเดียวกันกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ระบุในงานเสวนา ‘ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ประชาชนได้อะไร?’ ไว้ว่า “ประเทศไทยขาดหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบต่อแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองสาขาโดยตรงจึงทำให้หน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมต่าง ๆ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมักดำเนินกิจกรรมต่อแม่น้ำเจ้าพระยาโดยขาดการพิจารณาถึงผลกระทบต่อภาพรวม ทำให้การพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง”

ทาง TDRI เสนอให้มีการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบต่อระบบแม่น้ำและคลองสาขาเพื่อทำหน้าที่พัฒนาระบบแม่น้ำและคลองสาขาแบบบูรณาการ เพื่อให้การใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ระบบแม่น้ำและคลองสาขาเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศที่จะได้ใช้สายน้ำเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ

โป๊ะเรือบริเวณวัดยานนาวา

สายน้ำห่างไกล สายสัมพันธ์ห่างเหิน

เขตสัมพันธวงศ์ มีพื้นที่ติดริมน้ำตลอดทั้งเขตถึง 2 กิโลเมตร แต่น้อยที่จะมีประชาชนคนใดเข้าไปใช้งานได้ เว้นเสียแต่จะเสียเงินเข้าไปกินข้าวร้านอาหารริมน้ำ ผู้อยู่อาศัยย่านตลาดน้อยระบุว่า ในอดีต ชุมชนมีลักษณะยืดหยุ่น ทุกคนรู้จักกันหมด ทำให้แม้ไม่ใช่บ้านตัวเองก็สามารถเดินเข้าไปใช้งานได้

ปัจจุบันยังคงเห็นร่องรอยของอดีตทั้งวิถีชีวิต อาชีพดั้งเดิมที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น การอยู่อาศัยแบบชาวตรอก อาคารบ้านจีนโบราณ อาหารและเทศกาลของชาวจีน ศาลเจ้าเก่าแก่ของชาวฮกเกี้ยนและฮากกา แต่เมื่อเมืองเติบโต ก็เริ่มเกิดรอยต่อมากขึ้น รั้วที่มีไม่ได้กั้นแค่ความสัมพันธ์ แต่ปิดกั้นการเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำด้วย

นอกจากนี้ ชุมชนตลาดน้อย มีอาคารเก่าถูกทิ้งร้างหลายสิบหลัง หลายหลังตั้งอยู่บริเวณริมน้ำ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปใช้งานได้ บางส่วนก็ถูกสร้างใหม่เป็นอาคารพาณิชย์หรือธุรกิจร้านอาหารแทน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จำกัดการเข้าถึง จำเป็นต้องซื้อน้ำ ซื้ออาหารและบริการจึงจะสามารถเข้าใช้พื้นที่เหล่านั้นได้

จุฤทธิ์ ระบุว่า สิ่งสำคัญของการสร้างความสัมพันธ์ในชุมชนให้ขึ้นในพื้นที่สาธารณะ คือการเชื่อมโยง (Connect the Dot) พื้นที่สาธารณะริมน้ำ-ชุมชน-ระบบนิเวศเมืองโดยรอบให้สามารถเข้าถึงกันได้ เพราะถึงแม้จะดีไซน์พื้นที่ริมน้ำให้สวยงามร่มรื่นอย่างไร ถ้าคนเข้าถึงไม่ได้ พื้นที่ที่พยายามออกแบบมาเหล่านั้นก็ไม่เกิดประโยชน์

“สถานที่ราชการ ศาสนสถาน ตลาดในชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำแต่ละพื้นที่ มันมีศักยภาพแตกต่างกัน ถ้าเราสามารถเชื่อมโยงพื้นที่เหล่านี้ด้วย 1) ถนนชุมชน 2) โครงข่ายของซอย 3) Bypass ริมน้ำ ด้วยการออกแบบที่ตอบโจทย์พื้นที่นั้น ๆ ไม่ใช่แค่การสร้างแบบแผนหนึ่งขึ้นมาแล้วทำซ้ำ มันจะไม่สามารถดึงศักยภาพพื้นที่ออกมาได้เต็มที่”

จุฤทธิ์ กังวานภูมิ
จุฤทธิ์ กังวานภูมิ สถาปนิกชุมชนจากกลุ่มปั้นเมือง

จุฤทธิ์ กล่าวเสริมว่า มุมมองและทัศนคติของผู้คนต่อพื้นที่มันเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา เราจึงควรมองที่ฟังก์ชันของพื้นที่เป็นสำคัญว่ามันยังตอบโจทย์คนในชุมชนหรือไม่ ถ้าหากมันล้าหลังหรือไม่จำเป็น เราอาจจะต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่นั้นให้ตอบโจทย์ยุคสมัยมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมของผู้คนในชุมชน

ร้านอาหารริมน้ำบริเวณชุมชนตลาดน้อย

ด้านชยากรเผยว่า การจัดทำประชาพิจารณ์หรือการสร้างการมีส่วนร่วม เป็นคำสำคัญที่กำหนดไว้ในกฎหมายผังเมืองปัจจุบัน แต่ในเชิงปฏิบัติการ มันมีช่องโหว่ในการรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ บางคนอาจไม่เข้าใจศัพท์เทคนิคเชิงสถาปัตยกรรม หรือยังไม่เข้าใจวิธีการดูผัง 3 มิติ อุปสรรคในการสื่อสารเหล่านี้ทำให้ Feedback ที่ได้มาไม่ได้สะท้อนความต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง

“แทนที่จะไปเร่งรัดขั้นตอน สู้ให้เวลาไปกับกระบวนการคิดของชาวบ้านในพื้นที่ดีกว่า ให้เขาได้เขียน Brief กับมือของเขาเองเลย วาดมันออกมา แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยสรุปรวบยอดออกมาจากชุมชน โดยชุมชน ซึ่งมันน่าจะเป็นบรีฟที่ตอบโจทย์ในการพัฒนาเชิงพื้นที่มากที่สุด”

ชยากร จุลาสัย

เรือในคลองและกองขยะ: ปัญหาการสัญจรทางน้ำที่คนบนบกมองข้าม

ทุกวันนี้ กรุงเทพฯ มีบริการเดินเรือเพียง 3 สายเท่านั้น ได้แก่ 1) แม่น้ำเจ้าพระยา 2) คลองแสนแสบ 3) คลองผดุงกรุงเกษม ขณะที่คลองภาษีเจริญได้ยกเลิกบริการไปแล้วเมื่อปี 2565 โดยแผนโครงข่ายการเดินทางทางน้ำ (W-Map) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รายงานถึงคลองที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นเส้นทางเดินเรือ 32 คลอง ระยะทางกว่า 492 กิโลเมตร คิดเป็นราว ๆ ร้อยละ 18 จากระยะทางคลองในกรุงเทพฯ ทั้งหมด

“เจ้าพระยา” เป็นแม่น้ำสายหลักของกรุงเทพฯ ที่ถูกใช้ในการสัญจรทางน้ำ และยังเป็นที่รองรับขยะจากคลองสายหลักทั้ง 23 สาย (เฉพาะพื้นที่ กทม.) ลำคลองถูกยึดครองโดยชุมชนริมน้ำและโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปัญหาขยะมูลฝอยไม่เพียงแต่ส่งผลทางตรงต่อเรื่องความสะอาดและกลิ่น แต่หากปล่อยทิ้งไว้ จะเพิ่มตะกอนมูลฝอยในก้นแม่น้ำ จนทำให้คูน้ำตื้นขึ้น จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถใช้สายน้ำเหล่านั้นในการสัญจรทางเรือได้

ขยะมูลฝอยที่สะสมบริเวณปากคลองสาทรใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา
ประชาชนกำลังตักน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อการอุปโภคบนท่าเรือสาทร

Rocket Media Lab เปิดเผยว่า สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร มีความพยายามที่จะจัดสรรงบประมาณขุดลอกคลองมากขึ้น แต่ยังไม่สำเร็จเท่าที่ควร ใน ปี 2564 สำนักการระบายน้ำมีการตั้งงบฯ ขุดลอกคูคลองจำนวน 32 คลอง แต่มีเพียง 14 คลองเท่างั้นที่ได้รับงบฯ จากคลองที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้งหมด 296 คลอง หรือคิดเป็น 4.7 % เท่านั้น

โดยในแต่ละปีทุกเขตจะมีการขุดลอกคลองที่อยู่ในความรับผิดชอบ แต่ด้วยงบฯ ที่จำกัด ทำให้แต่ละเขตไม่สามารถขุดลอกคลองทุกคลองได้ครบ ต้องเลือกพิจารณาคลองเส้นสำคัญ และตัวงบฯ ที่นำมาใช้ในการจ้างเหมาขุดลอกคลอง ยังต้องนำไปใช้ในส่วนอื่นร่วมอีกด้วย เช่น การขุดลอกท่อระบายน้ำ

ขยะมูลฝอยที่สะสมบริเวณสถานีสูบน้ำคลองสาทร

อย่างไรก็ดี มีแนวโน้มปริมาณการขุดคลองเพิ่มขึ้นในปี 2566 สำนักการระบายน้ำ ได้มีแผนการขุดลอกคลองเพื่อเชื่อม 9 คลองสายหลัก กับอีกจำนวน 65 คลอง เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำให้ไหลไปลงสู่อุโมงค์ และสถานีสูบน้ำ แล้วระบายน้ำไปลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา รวมความยาวราว 393 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 50 เขต

เมื่อปลายปี 2565 กทม. ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ริเริ่มพิมพ์เขียวสำหรับการขยายเส้นทางการสัญจรทางเรือเพิ่มขึ้น 8 เส้นทาง ในแผนพัฒนา 10 ปี หากพัฒนาแล้วเสร็จจะมีเส้นทางเดินเรือเพิ่มขึ้น 131.2 กิโลเมตร และท่าเรือเพิ่มขึ้น 97 ท่าเรือ ปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการเสนอต่อกระทรวงคมนาคม

แม้เป็นสายน้ำเดียวกัน แต่เข้าถึงได้ไม่เหมือนกัน ทุกวันนี้การสัญจรทางเรือเป็นการเดินทางที่สะดวกและราคาถูก แต่ผู้พิการทางการมองเห็นและการเคลื่อนไหวยากที่จะสามารถใช้งานได้ เนื่องจากการออกแบบโป๊ะเรือที่ยังไม่เอื้อต่อการสัญจรของผู้พิการ การออกแบบตามอารยสถาปัตย์ (Universal Design) จึงเป็นกรอบการออกแบบที่ทาง กทม. ริเริ่มนำมาใช้มากขึ้น เพื่อหวังให้สายน้ำในเมืองเป็นของเราทุกคนอย่างแท้จริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

บัณฑิตจบใหม่คณะสื่อสารฯ ผู้เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง