นโยบายรัฐ ตัดสัมพันธ์ชุมชน | แม่น้ำเจ้าพระยา

ย้อนไปเมื่อ 7-8 ปีก่อน หลายคนอาจจะคุ้น ๆ ชื่อ โครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หรือที่ภาคประชาสังคมมักเรียกว่า “โครงการทางเลียบเจ้าพระยา” เนื่องจากแบบการก่อสร้างที่ถูกเปิดเผยในช่วงแรก ระบุโครงสร้างที่คล้ายกับถนนเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง ตั้งแต่บริเวณสะพานพระราม 7- สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า แม้โครงการจะถูกศาลปกครองสั่งระงับไปแล้ว แต่เมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่ ผู้บริหารชุดใหม่ ก็มีคำถามว่าาโครงการนี้จะถูกนำกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้งหรือไม่ ซึ่งข้อกังวลหนึ่งที่มักพูดถึงบ่อยครั้ง คือการพัฒนาอาจจะทำลายคุณค่าชุมชนในพื้นที่

The Active คุยกับ ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยา ที่ปรึกษา มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ในฐานะคนกรุงเทพฯ แต่เก่าก่อน ถึงแนวทางการพัฒนาของรัฐที่ควรจะอยู่บนหลักการของมานุษยวิทยา เพื่อรักษาสัมพันธ์ชุมชนและสายน้ำเอาไว้

“ก่อนที่คุณจะพัฒนาอะไร คุณต้องรู้จักเขาให้ดีก่อน รู้ว่าเขามีวิถีวัฒนธรรม โลกทัศน์เป็นอย่างไร อยู่กันมาอย่างไร แล้วถ้าเราจะไปเปลี่ยนแปลงอะไร รู้หรือไม่ว่าอะไรที่เขาไม่พอใจ ไม่เห็นด้วย การจะไปทำให้เขาต้องยอมรับให้ได้ มันคือเรื่องใหญ่ การวางแผนพัฒนาแบบนี้มันคือการบังคับ ประเทศที่เขาเป็นประชาธิปไตย เขาต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา มันถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นมา เพราะฉะนั้นต้องคุยกัน แต่บ้านเรานี้ไม่ทำ เวลาหน่วยงานมีโครงการมา คิดถึงแต่เศรษฐกิจ ไม่คิดถึงสังคม แต่บอกว่าเป็นประชาธิปไตย คุณอ้างความเจริญ คุณสร้างอะไรเต็มไปหมด แต่คุณรู้ไหมว่าทำลายความเป็นวัฒนธรรมชุมชนดั้งเดิมไปเท่าไหร่”

ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม

ประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น สำคัญอย่างไรต่อเมือง?

ศ.(พิเศษ) ศรีศักร อธิบายว่า ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเกิดขึ้น ตามธรรมชาติของคนในชุมชน เพราะชุมชนคือส่วนหนึ่งของท้องถิ่น และท้องถิ่นก็จำเป็นต้องมีชุมชน ซึ่งชุมชนก็หมายความว่า พื้นที่ที่มีผู้คนอยู่รวมกลุ่มกันหลายช่วงอายุ และมีความรู้สึกว่าเป็นพวกพ้องเดียวกัน แสดงออกผ่านกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ไปวัดเดียวกัน ไปโรงเรียนเดียวกัน ร่วมงานนักขัตฤกษ์เดียวกัน มีกลไกบางอย่างที่ทำให้เกิดการรวมศูนย์ เป็นหมู่เหล่า

“ความเป็นชุมชนจะเกิดได้ต้องมีการสะสมระยะเวลา อย่างน้อย 3 ช่วงอายุขึ้นไป ให้มีความใกล้ชิด สนิทสนม กระทั่งอาจจะมีการร่วมสกุลกัน ทำให้เกิดสำนึกร่วมถึงความเป็นพวกเดียวกัน และรู้สึกถึงความเป็นบ้านเกิด ซึ่งสังคมไทยไม่ได้เกิดจากกลุ่มชาติพันธุ์เดียว เกิดจากหลายกลุ่มมารวมกัน บางพื้นที่เป็นคนแขก คนญวณ คนไทย คนจีน มาแต่งงานกัน หลายชาติพันธุ์ที่มาอยู่รวมกัน โดยมีลักษณะทางกายภาพของพื้นที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตในแต่ละพื้นที่ เช่น มัสยิด บ้าน วัด โรงเรียน จะไม่เหมือนกับบ้านจัดสรรที่ต่างคนต่างอยู่ บางทีตายไป 7 วันแล้วยังไม่รู้เลย”

ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม

สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ-ธนบุรี เป็นพื้นที่เมืองเก่า ธนบุรีเกิดก่อนในฝั่งตะวันตก และกรุงเทพฯ กำเนิดต่อเนื่องมาในฝั่งตะวันออก แต่ความเหมือนคืออยู่ในพื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยา ซึ่งเปรียบเหมือนกับซี่โครงของคน จะประกอบด้วยตรอก ซอย คูคลอง ต่าง ๆ เชื่อมกันเข้ามาสู่เจ้าพระยา และชุมชนก็ถือกำเนิดตามตรอก ซอก ซอยเหล่านั้น จะเห็นว่าปากคลองต่าง ๆ มักมีศาสนสถานตั้งอยู่ นั่นคือลักษณะของกรุงเทพฯ-ธนบุรี

ชุมชนกรุงเทพฯ ดั้งเดิมมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังที่ปรากฏในนิราศภูเขาทอง สุนทรภู่เดินทางไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้ผ่านย่านหรือชุมชมต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็นำชื่อย่านชุมชนมาประพันธ์เปรียบเปรย “ถึงบางจากจากวัดพลัดพี่น้อง มามัวหมองม้วนหน้าไม่ฝ่าฝืน เพราะรักใคร่ใจจืดไม่ยืดยืน จึงต้องขืนในพรากมาจากเมือง” … “ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจาฯ

“กรุงเทพฯ ประกอบด้วย บ้าน ย่าน หรือบาง ถ้าขึ้นด้วยบางแปลว่าอยู่ใกล้น้ำ เช่น บางลำพู บางพลัด ย่านวิสุทธิกษัตริย์ ย่านสำเพ็ง และในพื้นที่ต่าง ๆ ก็มีวิถีชีวิตที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง แม้ในยุคหลัง ๆ จะมีหลายกลุ่มที่พยายามพัฒนาเรื่องย่าน บางโครงการก็ดี บางโครงการก็ไม่ไหว”

ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม

โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กำลังทำลายวัฒนธรรมชุมชน?

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ และคณะ ให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ว่า โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา โดยกระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร ได้มีการว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ศึกษาและออกแบบ ระยะแรก 14 กิโลเมตร และมีการเปิดเผยแผนงาน 12 แผน ทำให้เห็นภาพวาดว่าเดินตามข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง (TOR) ที่กำหนดให้สร้างเส้นทางเลียบแม่น้ำแบบตอกเสาเข็ม ซึ่งรับน้ำหนักรถพยาบาลได้ ซึ่งแตกต่างจากที่คณะทำงานปฏิเสธแก่ชุมชนรอบแม่น้ำตลอดมาว่าไม่ได้สร้างเส้นทางใด ๆ นอกจากเส้นทางลำลองเป็นทางเดินวิ่งและจักรยาน เป็นต้น

จากการที่ วลัยลักษณ์ และคณะ ได้ศึกษาเรื่อง “นิเวศวัฒนธรรม” มาอย่างยาวนาน ด้วยวิธีการทำความเข้าใจกับสภาพนิเวศตามธรรมชาติที่สัมพันธ์กับชีวิตของผู้คน สังคม ความเชื่ออย่างเป็นองค์รวม ทำให้กังวลถึงผลกระทบจากโครงการสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนในสยามประเทศ ที่อยู่อาศัยโดยใช้พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสำคัญมานานหลายร้อยปีและเป็นศูนย์กลางของการเมือง สังคม วัฒนธรรมที่ไม่อาจทำให้สูญเสียหรือเสียหายไปได้มากกว่านี้

“การออกแบบโดยไม่มีข้อมูลพร้อมทุกด้านจึงกลายเป็นปัญหาของวิชาชีพที่ต้องใช้ในการศึกษางานเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นวิชาชีพใด ๆหากการออกแบบนั้นไม่เป็นไปตามที่คิดฝันเอาไว้แต่แรก ความรับผิดชอบเหล่านี้จำเป็นต้องมีการกล่าวถึงและมีหน่วยงานหรือบุคคลเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกัน หากผลที่ออกมานั้นเป็นการทำให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อม”

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ และคณะ ให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์

อย่างพื้นที่จากท่าน้ำวัดสมอรายหรือวัดราชาธิวาสวิหาร เรื่อยไปจนถึงบริเวณริมน้ำวัดส้มเกลี้ยงหรือวัดราชผาติการามในปัจจุบัน มีชาวบ้านตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยริมน้ำ ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ภาษา และศาสนา ชุมชนแรกเริ่มคือกลุ่มบริเวณตรอกบ้านเขมร บ้านญวนสามเสน มีที่มาคือ มีครัวเขมรเข้ารีตเป็นคริสตังราว 400-500 คน ที่ติดตามเจ้านายคือ “นักองเอง” ออกมาจากบ้านเมืองที่กำลังมีปัญหาศึกสงครามระหว่างกรุงเทพฯ และเวียดนาม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกับชาวบ้านเชื้อสายโปรตุเกสจากกรุงศรีอยุธยาที่อพยพมาอยู่ ณ กรุงเทพฯ หลังจากเสียกรุงฯ ศูนย์กลางของชุมชนคือ “วัดคอนเซ็ปชัญ” กลุ่มของวัดคอนเซ็ปชัญอยู่บริเวณนี้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยการนำของบาทหลวงชาวโปรตุเกส จากนั้นหมู่บ้านโปรตุเกสที่นี่จึงถูกเรียกอีกชื่อว่า “บ้านเขมร” และ “วัดคอนเซ็ปชัญ สามเสน” ก็ถูกเรียกว่า “วัดเขมร” ไปในภายหลัง

“การออกแบบของโครงการทางเลียบน่าจะมีผลกระทบมากต่อสังคมไทยถึงในระดับรากเหง้าวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงที่ยากจะแก้ไขทีเดียว”

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ และคณะ ให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธ์ุ

สอดรับกับ ศ.(พิเศษ) ศรีศักร ที่มองว่า การที่เราจะทำถนนเลียบริมฝั่งน้ำ มันคือการที่เราไปบล็อกพื้นที่เชื่อมโยงเหล่านั้น และต้องไปรื้อโครงสร้างที่มีอยู่ริมฝั่งน้ำ ทำให้จะกระทบกับกายภาพเดิมที่มีอยู่ ชุมชนที่เคยมีอยู่ก็จะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการที่จะไปบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคนในพื้นที่เขาพอใจหรือเปล่า

ประชาธิปไตย ต้องไม่ลืมรากเหง้า และเคารพสิทธิชุมชน

ศ.(พิเศษ) ศรีศักร มองว่า คนไทยยังติดแนวทางการปกครองแบบเก่า คือรัฐมีอำนาจเต็มที่ บอกว่าจะเป็นประชาธิปไตย แต่ไม่ฟังเสียงประชาชนได้อย่างไร ในประเทศที่เจริญแล้ว จะมีการศึกษาว่าบริบทของพื้นที่นั้น ผู้คนเขาอยู่กันอย่างไร จะพัฒนาอย่างไรในสอดรับกัน แต่เมืองไทยไม่มีแนวคิดแบบนี้ แล้วก็ไม่มีใครศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น มีแต่ประวัติศาสตร์ของชาติ สมัยอยุธยา สุโขทัย สถานที่ราชการ มันมีแต่สถานที่ แต่ไม่เห็นคน เมื่อการพัฒนามาแบบไม่สนใจเขาก็สร้างความเดือดร้อน ขัดแย้งกับชุมชน ทำลายชุมชนให้สลายไป ในอดีตก็เกิดขึ้นแล้วหลายแห่ง

“ในประเทศอื่นที่เขาพัฒนาแล้ว การที่จะทำอะไรในพื้นที่ที่มีชุมชนอยู่จะต้องทำการศึกษาความเป็นชุมชนนั้น ๆ ก่อน ว่าเขาอยู่กันมาอย่างไร เป็นยังไง แต่งานแบบนี้เขาต้องใช้เวลา เป็นงานของนักมานุษยวิทยา 1 ปี อาจจะทำการศึกษาได้แค่ชุมชนเดียว เพราะต้องพยายามจะรู้จักคนทั้งหมด ดังนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือ ให้ชุมชนมาร่วมให้ข้อมูล ร่วมทำการศึกษา โดยมีนักมานุษยวิทยาเป็นพี่เลี้ยงคอยรวบรวม แบบนั้นก็จะทำให้ระยะเวลาในการทำงานรวดเร็วขึ้น และทำให้ชุมชนได้รู้จักประวัติศาสตร์ในพื้นที่ของตัวเอง เห็นที่มาที่ไป เห็นคุณค่าความเชื่อมโยงต่อสังคม องค์ความรู้เหล่านั้นยังใช้สอนในโรงเรียนได้ให้เด็ก ๆ รุ่นหลังได้รู้ด้วย แต่เราไม่เคยทำ”

ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม

ในการศึกษา เรามักไปเรียนประวัติศาสตร์ชาติ ประวัติศาสตร์สมัยก่อน เป็นเรื่องราวในอดีต เป็นเรื่องของคนที่ตายไปแล้ว แต่อันที่จริงประวัติศาสตร์สังคมเป็นเรื่องที่มีความต่อเนื่องไม่จบสิ้น มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตลอดเวลา เป็นการเปลี่ยนแปลงที่คนในท้องถิ่นจะต้องรู้ว่า ในยุคปู่ ย่า ตา ทวด และจนถึงรุ่นเขา มีความเป็นมาอย่างไร ขัดแย้งอะไรไหม ถึงวันนี้มีอะไรดีหรือไม่ดี คือเรื่องที่จำเป็นต้องรู้ ก่อนที่สิ่งใหม่จะเข้ามา เพื่อเอาความรู้มาต่อรองกันกับการพัฒนาที่มาจากโครงสร้างทางอำนาจ แต่สังคมเราไม่เคยมีความคิดแบบนี้ รัฐไม่เคยรับรู้ว่าควรจะมีการศึกษาประวัติศาสตร์แบบนี้ เราบอกว่าจะเป็นประชาธิปไตย ต้องสร้างการมีส่วนร่วม แต่ในความเป็นจริงมันไม่มี

“เวลาจะทำโครงการอะไรที ก็ส่งคนมาเก็บข้อมูลแบบลวก ๆ มาจากการค้นคว้า มาจากการจ้างให้ไปทำมา แต่คนในชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการบันทึกประวัติศาสต์ชุมชน และเมื่อจะนำความรู้ไปใช้พิจารณาก็ไม่มีความหมาย บางครั้งข้อมูลที่เก็บมาก็เพียงแค่จะเอามาเสนอ เสริมให้โครงการตัวเองมีเรื่องราวมากขึ้นเท่านั้น… หากดูแผนที่เมื่อก่อน กรุงเทพฯ สวยงามมาก มีวัดวาอารามต่าง ๆ สถานที่สำคัญต่าง ๆ ที่คนเขาก็รักษาของเขา โบสถ์ มัสยิด วัด เรียงรายกันไป แต่การพัฒนาที่ผ่านมาลบคุณค่าสิ่งเหล่านี้หมด ตัดขาดความเชื่อมโยงความเป็นชุมชนดั้งเดิมหมด ทำให้ความเป็นชุมชนกระจัดกระจายไปหมด พอเขาไม่เห็นด้วยคุณก็ย้ายเขาไปทั้งชุมชน แล้วชุมชนใหม่ก็ต้องทำให้มันมีอะไรคล้ายของเดิม เขาเคยอยู่กระต๊อบแล้วจะให้ไปอยู่ตึกระฟ้าแทนหรอ มันเป็นการทำลายชุมชน ทำให้ประชาชนต้องขัดขืน ด้วยการฟ้องกฎหมาย”

ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม

อนาคตชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะเป็นอย่างไร? ศ.(พิเศษ) ศรีศักร มองว่า คงจะเหลือแต่จุดเล็ก ๆ กระจัดกระจายกันไป ละลายหายไป ไม่เป็นปึกแผ่นชุมชน อาจจะเหลือแค่ไม่กี่หลัง ‘รัฐบาลใหญ่โต แต่ไม่รู้คนจะอยู่ยังไง มันคงจะเป็นชะตากรรมบ้านเมือง’


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้