work & life หมดยุคสร้าง ‘เมือง’ แบบเป็น ‘แท่ง’

เมื่อไลฟ์สไตล์มันเบลอ ‘เมือง’ จึงต้องมีความหลากหลาย: ศานนท์ หวังสร้างบุญ

โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในหลายมิติ ตั้งแต่สุขภาพ การงาน การเงิน ไปจนถึงวิถีชีวิต คนจำนวนไม่น้อยตกงาน ภาคธุรกิจจำนวนมากได้รับผลกระทบ หลายองค์กรปรับเปลี่ยนการทำงานของพนักงานเป็นแบบ Work from Home หรือ Remote Working

กลายเป็นรูปแบบ ‘การทำงานวิถีใหม่’ ที่ทุกคนสามารถทำงานได้ทุกที่ ขอแค่มี “พื้นที่” และ “สัญญาณอินเทอร์เน็ต” นำมาสู่การ เติบโต ของ Co-working Space สถานที่ทำงานที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมืองมากขึ้น

The Active ชวน ศานนท์ หวังสร้างบุญ มาพูดคุยถึงเรื่องทิศทางของเมือง ที่ควรปรับเพื่อให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนยุคนี้ ในฐานะผู้ประกอบการโฮสเทล และหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายสาธารณะ ที่ลุกขึ้นมาปรับโมเดลธุรกิจพลิกฟื้น common space ในช่วงที่โฮสเทลกำลังซบเซา มาเป็น Co-working Space เปลี่ยนภาพลักษณ์ของตึกเก่าย่านเยาวราชเป็นพื้นที่ทำงานที่ทันสมัยในยุค New Normal

“เมืองควรมีความหลากหลาย คนอยู่ร่วมกันได้ อันนี้คือหัวใจนะ ประเด็นคือทำยังไงให้เมืองมีความหลากหลาย มีความพร้อม สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ไม่มีใครที่จะมาทำงานแบบเดิมอีกแล้ว ทุกวันนี้มันเบลอแล้ว ชีวิตกับงาน”

ศานนท์ หวังสร้างบุญ ผู้ประกอบการโฮสเทล
ศานนท์ หวังสร้างบุญ

ศานนท์ เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของ Luk Hostel ซึ่งเปิดก่อนมีโควิด-19 ประมาณ 3 เดือน เป็นตึกขนาดใหญ่ หน้ากว้างประมาณ 15 เมตร ได้ตึกจากเจ้าของเดิม เขามีไอเดียว่าอยากเปลี่ยน ตึกเก่า ที่อยู่กลางสําเพ็ง ให้กลายเป็นคลับสำหรับนักท่องเที่ยว เพราะเขามองว่าจุดที่เราอยู่ตรงนี้มันเป็นจุดที่เชื่อมระหว่างเยาวราชกับสําเพ็ง เขาเลยอยากทำให้พื้นที่ตรงนี้เป็นคลับ พอโจทย์เป็นนักท่องเที่ยวและตัวของเราเองมีประสบการณ์การทำโฮสเทลมาก่อน เราเลยทำเริ่มแรกเป็นสถานที่สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบพักแบบโฮสเทล ซึ่งก็เป็นการใช้ชีวิตแบบพักอาศัยร่วมกัน มี Common Space (พื้นที่ส่วนกลาง) ขนาดใหญ่ นอนรวมด้วยซ้ำและมาทำกิจกรรมรวมกัน

เมือง

จุดเริ่มต้น และการมองโอกาส

เราจะเห็นว่าการที่ให้ space ของโรงแรมอย่างเดียวรองรับเฉพาะนักท่องเที่ยว แต่พอล็อกดาวน์ปุ๊บ ทุกอย่างจบ ในขณะเดียวกันผมคิดว่า ไลฟ์สไตล์ของคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ การทำงานเปลี่ยนไป ตอนนี้เราไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศแล้ว บางคน work from home 2 -3 ปีเริ่มจะชิน หรือบางคนไม่ได้ทำงานออฟฟิศแล้ว แต่ทำงานออนไลน์ล้วน หรือว่าเป็นฟรีแลนซ์ที่ไม่มีตารางเวลาต้องเข้าแล้ว ผมเลยมองว่าโอกาสจากไลฟ์สไตล์การทำงานที่เปลี่ยนไป ค่อนข้างที่จะสอดรับกับพื้นที่อย่างโฮสเทล หรือโรงแรม พูดง่าย ๆ ว่าพื้นที่เหล่านี้มีศักยภาพอยู่แล้วแต่เดิม

ศานนท์ หวังสร้างบุญ

“โควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวหายไปกับไลฟ์สไตล์ การทำงานคนที่เปลี่ยนไป 2 เรื่องนี้ทำให้ผมคิดว่ามันเป็นโอกาสที่จะทำให้โรงแรมมีความเหมาะสมมากที่จะปรับตัวเป็น co-working space”

เมือง

Co-working ยังไม่ตกผลึกในเรื่องของ Business model ส่วนมากคนยังเลือกที่จะไปร้านกาแฟและไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเช่าที่ แต่เปลี่ยนเป็นการซื้อกาแฟแทน ผมคิดว่าในตัวของโฮสเทล มีคนมานอนอยู่แล้ว อย่างไรก็จะได้ในเรื่องของราคาที่พัก และโดยทั่วไปพื้นที่ส่วนกลางก็จะให้ใช้ฟรี ผมมองว่าตรงนี้ก็ถือเป็น Business Model ที่ค่อนข้างแข็งแรง

แต่หากเป็นในลักษณะของ Co-working Space อาจจะมีปริ้นเตอร์ มี WiFi หรือน้ำให้ นี่ก็อาจจะเป็นอีกโมเดลนึง ที่เรียกว่าเป็นพื้นที่ทำงาน ที่มีประสิทธิภาพ และปัจจุบันก็มีการนิยม จ่ายเป็นรายวัน อาจจะไม่ถึงวันแต่จ่ายเพียงหนึ่งร้อยบาท มีกาแฟแล้วก็มีบริการอื่น ๆ ให้ มันขึ้นอยู่กับ Business Model ของแต่ละที่ตอนนี้มันก็ยังคงมีความหลากหลายมันไม่ได้มีความชัดเจนอย่างธุรกิจอื่น ๆ

co-working space

พื้นที่แบบนี้ขาดแคลนมาก ปัจจุบันบ้านไกลงาน หรือ งานไกลบ้าน พูดง่าย ๆ คือเราไม่มีพื้นที่ทำงานที่อยู่ใกล้บ้าน หลายคนก็ต้องไปเช่าอพาร์ทเม้นท์เพื่อที่จะให้มันอยู่ใกล้งานมากที่สุด แต่ก็ต้องแลกมาด้วยรายเดือนอาจจะจ่ายเป็น 3,000-5,000 บาท ในขณะเดียวกันโรงแรม คือ ว่าง ร้างมาก ร้างมา 2 ปีแล้ว ซึ่งอย่างที่ผมบอกโรงแรมมีศักยภาพในการที่จะเตรียมพื้นที่ให้เป็น co-working เพื่อให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่

นักท่องเที่ยว

เพียงแต่ว่ากลไกตลาดยังไม่สามารถกระตุ้นเจ้าของโรงแรมแบบผมหรือคนอื่น ๆ ให้ปรับตัวได้ เพราะหากมองเรื่องความคุ้มค่า มันไม่คุ้มจริง ๆ สมมติเราทำห้องเดียว จะได้ 1,000 บาท/คืน แต่ถ้าเป็นอพาร์ทเม้นท์ก็อาจจะได้ 5,000 ต่อเดือน มันไม่มีทางเลยที่จะกระตุ้นให้ทางผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนมารองรับหรือถ้าเป็น co-working ก็ไม่คิดว่าทุกคนจะจ่ายราคา co-working  สมมติว่าต้องจ่ายวันละ 300 ทั้งเดือน เงินเดือนมันก็หมดไปแล้วสำหรับเด็กจบใหม่

“ผมเลยคิดว่าตรงนี้แหละมันเป็นช่องว่างที่ว่ากลไกตลาดไม่กระตุ้นให้ผู้ประกอบการ ปรับเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ทำให้คนรุ่นใหม่มี Supply เพราะไม่รู้จะไปไหน สุดท้ายก็ไปอยู่ที่ร้านกาแฟ”

พื้นที่ขาดแคลน กลไกตลาดไม่ตอบโจทย์

เรื่องนี้เป็นจุดใหญ่และค่อนข้างมีความละเอียด อาจจะไม่สามารถคิดแบบง่าย ๆ ได้ ในฐานะผู้ประกอบการโฮสเทล มี Business Model ที่แข็งแรง เขาได้เงินจากนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว และมีพื้นที่ทั่วไปที่ค่อนข้างใหญ่มาก ผมว่า Step แรกคือการเชิญชวนคนที่ทำโฮสเทลที่มีพื้นที่ทั่วไปปรับตัวมาทำ หรือ co-working พยายามทำให้บ้านมันใกล้งานมากขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่ชั้นในที่มันค่อนข้างแออัดอยู่แล้วหรือพื้นที่ชั้นนอกก็ได้ 

“อาจจะต้องมีตัวกลางสักคน ที่ต้องมาประสานงาน ผมว่ามัน win-win ในมุมมองของโรงแรม หนึ่งคือพื้นที่ส่วนกลางจะไม่ร้าง สังเกตง่าย ๆ เลย Lobby หลายโรงแรมส่วนมากจะไม่ถูกใช้ มันอาจจะยังไม่ใช่รายได้หลัก เพราะโรงแรมยังไงรายได้หลักยังไงก็ต้องเป็นค่าที่พักอยู่แล้ว”

กรุงเทพฯ

Step ที่ 2 เรามีตึกร้างค่อนข้างเยอะใจกลางเมือง คนนอกเมืองจะเข้ามาในเมืองทุกวัน แล้วเขาก็ต้องกลับแบบนี้ทุกวัน มันทำให้เวลา Busy Time โดยเฉพาะเวลา 8:00 น. และ 17:00 น. ที่รถจะติดมาก แต่ถ้าหากเราเชื้อเชิญตึกร้างชั้นในให้สามารถทำเป็นบ้านหรือพื้นที่เช่าได้ อาจจะเป็นชั่วคราว สำหรับช่วงอายุของคน อย่างเช่น First Jobber หรือเด็กจบใหม่แทนที่ว่าจะต้องเดินทางตลอดต้องซื้อทั้งรถ ต้องเสียทั้งเวลา ต้องเสียทั้งเงิน ก็มาอยู่ใกล้งานมากขึ้นผมว่าลักษณะแบบนี้ดี

“อุปสรรคสำคัญก็คือ กลไกตลาดจะ support แค่ไหน กับการลงทุนระยะสั้นอาจจะต้องมีรัฐเข้ามาช่วยเป็นตัวกลางไหม แล้วราคาของเช่าจะทำให้คนที่ต้องการจริง ๆ จ่ายได้ไหม ไม่ใช่ว่าไปทำแล้วราคาก็ยังเป็นหมื่นสุดท้ายคนที่ซื้อ ก็ไม่ใช่คนที่ต้องการจริง ๆ แต่จะเป็นคนเกร็งกำไร มันก็จะไม่ตอบโจทย์กับคนที่เรียกว่ากำลังเผชิญปัญหาอยู่ดี”

หากปล่อยให้เป็นไปตามกลไกทางตลาดก็จะร้างแบบนี้

กทม. ก็คือรัฐ และ กทม. เป็นระดับท้องถิ่นที่ต้องเรียกว่าใกล้กับประชาชนมากที่สุด มากกว่ารัฐบาลใหญ่อยู่แล้ว กรุงเทพฯ เป็นเมืองแรงงาน อย่างเช่น ตัวของผู้สื่อข่าวเองก็ไม่ได้เป็นคนกรุงเทพฯ ก็ต้องมาทำงานที่นี่ หรือว่าหลาย ๆ คนที่รู้จักก็คือไม่ได้เป็นคนกรุงเทพฯ แต่มาทำงานกรุงเทพฯ

มันค่อนข้างที่จะขาดตัวเชื่อมประสาน ถ้ากลไกตลาดไม่ตอบโจทย์ อาจจะเป็นหน้าที่ของรัฐท้องถิ่นที่จะเข้ามาประสานตรงนี้ อย่างเช่นช่วยคุย การทำข้อตกลงว่าเราอาจจะไม่ได้เช่ายาว แต่จะเช่าเพียงแค่ 10 ปี หลังจากนั้นผู้ประกอบการก็ต้องมาดูว่าจะทำเป็นพื้นที่ในลักษณะไหน คนจ่ายจะจ่ายได้เท่าไร เกณฑ์การช่วยกันจะเป็นอย่างไร อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องไปคิดต่อแต่หากปล่อยให้เป็นไปตามกลไกทางตลาดก็จะร้างแบบนี้แหละ

work & life
work & life

เราต้องทำให้เมืองหรือว่าชุมชนตอบโจทย์ผู้มาใช้ที่เปลี่ยนไป จะเห็นว่าตึกเก่าเขาก็จะเปลี่ยนเป็นโฮสเทล เป็นร้านกาแฟ ในขณะเดียวกัน คนที่เป็นผู้อยู่อาศัย เริ่มไม่มีร้านที่เคยกินร้านเก่า ๆ ก็เริ่มหายไป เพราะย่านเปลี่ยนไป โดยเฉพาะยุคโควิด-19 เข้ามาทำให้สภาพกลุ่มที่เรียกว่า นักท่องเที่ยวหายไป และจะเห็นว่าย่านชั้นใน อาจจะเรียกว่าร้างก็ได้ ข้าวสารก็กลายเป็นย่านที่ไม่มีคนเลย หรือว่าในเขตพระนครก็ตาม มุมของผมเลยคิดว่า ที่บอกว่าร้างมันอาจจะเป็นเพราะว่าเราตอบสนองให้คนที่เป็นนักท่องเที่ยวเยอะไป

“จะดีกว่าไหมถ้าเรากลับมามองว่า เมืองเป็นของใคร และถ้าเราให้ความสำคัญว่า เมืองต้องดูแลใครก่อน เราอาจจะต้องดูแลคนที่อยู่อาศัยเป็นคนกลุ่มแรกก่อน แล้วก็คนเหล่านั้นเขาต้องการให้เมืองเขาเป็นแบบไหน”

ตอนนี้น้ำเสียงของผู้ประกอบการอาจจะใหญ่ เพราะเขาเป็นเจ้าของตึกสามารถที่จะบิดซ้าย ขวา ให้ใครเช่าหรือไม่ให้ใครเช่าได้ แต่การตัดสินใจให้เช่า ไม่ให้เช่า ก็ส่งผลต่อเมืองทั้งหมด ผู้ประกอบการอย่างผมเลือกได้ กลุ่มคนที่เขาใช้เมืองก็จะเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้น ผมมองว่าน้ำเสียงของผู้ประกอบการต้องคุยกัน

ในขณะเดียวกัน ก็ต้องคุยกับทางรัฐบาลด้วยว่า เขาอยากให้พื้นที่นี้เป็นแบบไหน และจริง ๆ แล้วถ้ารัฐมีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือดูแลคนที่เป็นผู้อยู่อาศัยก่อน อย่าเพิ่งไปรองรับคนอื่น เอาผู้อยู่อาศัยที่เขาอยู่ทุกวันนี้ให้ได้ก่อน เขาก็ควรจะเชื้อเชิญผู้ประกอบการมานั่งคุยกันเพื่อจะตอบโจทย์ให้กับผู้อยู่อาศัยก่อน

“ถ้ารัฐไม่ไปชวนคุยเรื่องนี้ ผมไม่เห็นว่าทำไมผู้ประกอบการจะต้องทำเพื่อผู้อยู่อาศัย ถ้าทุ่มเทให้กับผู้ท่องเที่ยว ทุกย่านก็จะเป็นพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยวทั้งหมด มันก็จะทำให้กรุงเทพฯ อาจจะไม่เหลือพื้นที่สำหรับผู้อยู่อาศัย ยิ่งทุกวันนี้ มีแต่คนบ่นว่าอยากออกจากกรุงเทพฯ มากพออยู่แล้ว ผมมองว่ามันถึงเวลาที่รัฐท้องถิ่นต้องมาพูดหรือให้น้ำหนักกับผู้อยู่อาศัยมากขึ้น “

work & life

“ผมมองว่าไลฟ์สไตล์ของคนมันเปลี่ยนครับ ผมไม่แน่ใจว่า co-working space จะอยู่กี่ปี ไลฟ์สไตล์มันเบลอ ระหว่าง work กับ life  แล้วก็เมืองมันควรที่จะยืดหยุ่นได้ โซนออฟฟิศ โซนท่องเที่ยว โซนกิน ผมว่าเมืองแบบนี้ มันหมดยุคแล้ว มันหมดยุคการสร้างเมืองแบบเป็นแท่งแล้ว”

work & life

พื้นที่ควรจะมีความหลากหลายในตัวมัน เช่น ย่านนี้มีทุกอย่าง การที่เราออกแบบย่านให้มีทุกอย่าง ผมว่าต้องอาศัยการร่วมมืออย่างที่บอก ท้องถิ่น เอกชน และก็ผู้ประกอบการ อะไรก็ว่ากันไป และคนที่อยู่ในเมืองด้วย ไม่ใช่ออกแบบพื้นที่สำหรับนักท่องเที่ยวเลย แต่ว่าไม่มีใครอยากไป มันก็ไม่ตอบโจทย์ เพราะฉะนั้น ต้องไปทั้งเอกชน ผู้อยู่อาศัย และท้องถิ่น ต้องไปด้วยกัน ผมคิดว่า Co-working Space เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าพื้นที่หนึ่ง มันทำได้มากกว่าแค่ทำงาน ทำได้มากกว่าแค่เป็นล็อบบี้ ทำได้มากกว่าแค่เป็นพื้นที่ธรรมดา แต่ว่าสามารถทำงานร่วมกันได้มีพื้นที่ร่วมกันได้

“ผมมองว่า co-working space ไม่ใช่คำตอบ แต่คือ mindset ใหม่ ว่าเมืองควรที่จะมีความหลากหลายคนอยู่ร่วมกันได้ อันนี้คือหัวใจนะ ไม่ใช่ว่าต้องเป็น co-working ทุกที่ ประเด็นคือทำยังไงให้เมือง มีความหลากหลาย มีความพร้อมสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ทุกวันนี้มันเบลอแล้ว ชีวิตกับงาน”

แต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์ประวัติศาสตร์ เรื่องราวของผู้คน

พื้นที่ก็ต้องมีเอกลักษณ์ของเขาอยู่แล้ว พื้นที่มีเนื้อเรื่องของประวัติศาสตร์ มันมีเรื่องราวของผู้คน อย่างเรามาตอนนี้ เราอยู่สำเพ็ง-เยาวราช มันก็มีประวัติศาสตร์พื้นที่ เรื่องของชาวจีน เรื่องของอัตลักษณ์ต่าง ๆ รวมถึงประเพณี มันคือความหลากหลาย มันเป็นความหลากหลายในแง่ของฟังก์ชัน เอกลักษณ์ กลิ่นอาย บางคนบอกว่า แต่ละย่านมีกลิ่นไม่เหมือนกัน แต่ละย่านมีสถาปัตยกรรมต่างกันมัน มีความหลากหลายที่สวยงาม ทุกที่ล้วนแต่มีเอกลักษณ์แต่ละย่าน

work & life

สุดท้ายมันก็จะกลับมา แต่ละย่านเขามีเอกลักษณ์ยังไง คำว่าย่านไม่ได้หมายถึงเขต แต่เป็นพฤติกรรมของคน มันพูดถึงประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าย่านจะฟื้นยังไง มันอยู่ที่องค์ประกอบหลายอย่าง ประวัติศาสตร์ดั้งเดิม คนดั้งเดิม รวมไปถึงโอกาสใหม่ ๆ อย่างที่บอกว่าฟังก์ชันมันต้องหลากหลายขึ้น

work & life

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ