‘ก้าวไกล’ ทำให้ ‘การกระจายอำนาจ’ เป็นรูปธรรมมากขึ้น
การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคเพื่อไทยกวาดเก้าอี้ สส. ในพื้นที่เชียงใหม่ 8 ที่นั่ง จากทั้งหมด 9 เขต ส่วน พรรคอนาคตใหม่ แทรกตัวมาปักธงได้สำเร็จเพียงแค่ 1 เขตเท่านั้น
แต่ผ่านไป 4 ปี พรรคก้าวไกล พลิกกลับมาเอาชนะได้ 7 จาก 10 เขต ส่วนแชมป์เก่าอย่างพรรคเพื่อไทยรักษาฐานที่มั่นได้เพียงแค่ 2 เขต อีกทั้งหากพิจารณาเฉพาะ ‘คะแนนบัญชีรายชื่อ’ จะพบว่าพรรคก้าวไกล สามารถเอาชนะได้ถึง 9 เขต จากทั้งหมด 10 เขต
ปรากฏการณ์ ‘แดง’ เปลี่ยน ‘ส้ม’ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่จากการเลือกตั้งรอบนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่สะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ท่ามกลางบริบทการเมืองที่เต็มไปด้วยความไม่คุ้นเคย
ในวันฝนพรำ ช่วงชุลมุนก่อน MOU 8 พรรคร่วมรัฐบาล ภายใต้การนำของพรรคก้าวไกลถูกฉีก The Active นัดหมายกับ ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ที่ เฮือนครูองุ่น มาลิก : หอประวัติศาสตร์ประชาชนภาคเหนือ เพื่อพูดคุยถึงปรากฏการณ์ต่าง ๆ สะท้อนผ่านผลเลือกตั้งครั้งนี้ เชื่อมโยงไปถึงทิศทาง ‘การกระจายอำนาจ’ ที่กำลังก่อตัวเป็นรูปธรรมมากขึ้น
เริ่มต้นจาก ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่ ศ.อรรถจักร์ มองว่า สะท้อนความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ รวมไปถึงประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทั้งระบบเศรษฐกิจช่วงก่อนหน้านี้ 9 ปี ที่ทำให้เกิด ‘หน่ออ่อน’ ของการเติบโตของ ‘ผู้ประกอบการอิสระ’ มากขึ้น ในกรณีของเชียงใหม่จะเห็นร้านกาแฟกระจายตัวทั่วไป เจาะตลาดเป็นเซกเมนต์เล็ก ๆ นี่คือผู้ประกอบการรายกลาง รายเล็ก ทั้งหมดนี้เป็นการเคลื่อนเข้าสู่ สิ่งที่เรียกว่า ‘สังคมผู้ประกอบการ’
ในชนบทเชียงใหม่ก็เป็นแบบเดียวกัน ไม่มี ชาวนา ชาวไร่ แบบเดิมแล้ว ทุกคนเข้ามาสัมพันธ์กับกระบวนการผลิตแบบมุ่งสู่ตลาดโดยตรง ทั้งหมดคือสังคมผู้ประกอบการ มีความเปลี่ยนแปลงของวิธีคิด ผู้ประกอบการเริ่มนึกถึงอนาคตของตัวเองว่าจะเดินไปอย่างไร เขากลายเป็นผู้กำหนดอนาคตของเขาเองมากขึ้น
ศ.อรรถจักร์ สะท้อนภาพว่า บนความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ทำให้ชาวเชียงใหม่ เริ่มมองว่า ‘การเมือง’ จะสัมพันธ์กับ ‘ชีวิต’ เขาอย่างไร ครั้งหนึ่งคนเชียงใหม่อาจไม่รู้สึกว่าการเมืองซึ่งคือการตัดสินใจใช้ทรัพยากรกลางแก่ใคร ที่ไหนอย่างไร เมื่อก่อนคนชั้นกลางเชียงใหม่ก็รู้สึกว่าให้รัฐเป็นคนกำหนด แต่ทันทีที่เขาเริ่มเป็นผู้ประกอบการ เริ่มรู้สึกว่าพวกเขาต่างหากที่จะเป็นคนกำหนดชีวิตตัวเอง
ดังนั้นจึงเริ่มเข้ามาสัมพันธ์กับการเมือง หรือเข้ามาคิดเชื่อมโยงกับการเมือง ในแง่เป็นประชาชนผู้กระตือรือร้นมากขึ้น ผลักดันให้การตัดสินใจใช้ทรัพยากรนั้น เอื้อประโยชน์กับสังคมผู้ประกอบการมากขึ้น
“นโยบายของก้าวไกลจำนวนมาก รวมทั้งการกระจายอำนาจ จึงไปสอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึกของคนตรงนี้ ความเปลี่ยนแปลงนี้ยังสามารถดูได้ทั่วไปในประเทศไทย ทั้ง ชลบุรี ภูเก็ต ที่ชัดเจนมาก ในการเปลี่ยนตัวเองไม่ใช่พื้นที่แบบเดิม เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้พื้นที่สีแดงของเชียงใหม่ เทิร์นเป็นพื้นที่สีส้มอย่างชัดเจนมากขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้”
เสน่ห์ของ ‘เพื่อไทย’ ลดลง เพราะไม่เปิดหน้าต่างแห่งโอกาส
หากมองในมุมของนโยบายที่แตกต่างกัน ศ.อรรถจักร์ มองว่า เมื่อก่อนนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่โดนใจคือ 30 บาท รักษาทุกโรค ทำให้ผู้ประกอบการเข้มแข็ง เมื่อก่อนคนเหนือ คนเชียงใหม่ เวลาพ่อแม่ป่วยเขาจะพูดว่าขายนาเพื่อไปโรงพยาบาล โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรคมาช่วยเขา วันนี้เขาไปไกลกว่านั้น กลายเป็นผู้ประกอบการ 30 บาทรักษาทุกโรค ด้านหนึ่งเป็นการขยายตัวของรัฐ การขยายตัวด้านบริการของรัฐขยายแล้วหุบไม่ได้ เขาจึงมองหานโยบายอันใหม่ที่เอื้อชีวิตเขามากขึ้น
“เสน่ห์ของเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้ลดลง เนื่องจากยังเป็นเสน่ห์ที่หยิบยื่นให้ไม่ใช่เป็นการเปิดหน้าต่างแห่งโอกาส แต่ก้าวไกล นโยบายจังหวัดจัดการตนเองอย่างเข้มแข็งเป็นเหมือนการเปิดหน้าต่าง ทำให้เขาได้อากาศบริสุทธิ์ ตรงนี้คืจุดเปลี่ยน แต่คะแนนของสีส้ม กับ สีแดง ก็ยังไล่กัน คนจำนวนหนึ่งก็ยังรัก ‘ทักษิณ’ ยังคงรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณกับเพื่อไทยอยู่ แต่ก็เปลี่ยนเยอะ ซึ่งไม่ได้แปลว่าเชียงใหม่เป็นของสีส้มหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์”
ก้าวไกล ทำให้ประเด็นกระจายอำนาจเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ก้าวไกลได้ทำให้ประเด็นการกระจายอำนาจ ทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น จังหวัดจัดการตนเอง โดยพูดถึงหน่วย ๆ หนึ่งที่จะต้องดูแลตนเอง แม้ว่าก้าวไกล ไม่ได้เป็นรัฐบาลแต่กระแสนี้จะเดินต่อ เชื่อว่าพรรคการเมืองที่มาเป็นรัฐบาล ทุกคนก็ลดทอนกระแสนี้ไม่ได้ เพียงแต่คุณจะจัดการกระแสนี้ยังไง
การนำร่องจะเกิดขึ้น แต่จะเป็นการนำร่องที่ผนวกกับพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทยขึ้นมา นโยบายแบบจังหวัดจัดการตนเอง เกิดขึ้นแน่ ๆ เพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ ภูมินิเวศวัฒนธรรมหนึ่ง อาจมีตัวอย่าง 3-4 กรณีศึกษา กระแสนี้เป็นกระแสที่คุณเบี่ยงเบนไม่ได้ หยุดไม่ได้ เพียงแต่คุณจะ เข้าไปจัดการกับมันอย่างที่คุณได้เปรียบอย่างไร ในความคิดของแต่ละพรรค คงไม่มีใครสามารถหยุดมันได้ เพียงแต่เปลี่ยนให้เร็ว ทำให้เกิดความเป็นอิสระโดยสัมพัทธ์ ระหว่างรัฐสวัสดิการกับท้องถิ่นมากน้อยแตกต่างกันไปของแต่ละพรรค
อิสระโดยสัมพัทธ์ นำไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่
เชียงใหม่ ตั้งแต่อดีตมีลักษณะเฉพาะพอสมควร ภูมิภาคภาคเหนือตอนบน แต่ละหน่วยภูมินิเวศวัฒธรรม เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน เชียงใหม่ตะวันตก เชียงใหม่ตะวันออก แต่ละแห่งมีภูมินิเวศวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน และการจัดการภูมินิเวศวัฒนธรรม ที่ผ่านมาก่อนพ.ศ. 2500 มีอิสระในการจัดการตนเองค่อนข้างมาก เนื่องจาก อำนาจรัฐมาไม่ถึง
แต่หลังจาก พ.ศ. 2500 อำนาจรัฐส่วนกลางเริ่มขยายตัวเข้ามา มันทำลายลักษณะพิเศษของตรงนี้มากพอสมควร ซึ่งในเขตของภูมินิเวศวัฒนธรรม ส่วนที่เรียกว่าล้านนา เขายังรักษาตัวตนของเขาอยู่
ถ้าหากทำให้อิสระโดยสัมพัทธ์ ไม่ถูกกำหนดโดยส่วนกลาง ถ้าเราสามารถสร้างสรรค์ตรงนี้ขึ้นมา มันจะกลายเป็นส่วนที่เรียกว่า Creative Economy เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เชิงวัฒนธรรมที่ดีขึ้น เป็นเรื่องตลก ช่วงที่รัฐบาลส่วนกลางขยายอำนาจเข้ามา ผนวกเอาเชียงใหม่เข้ามา การสร้างสถานที่ราชการมี ‘กาแล’ ไปแปะ แต่เป็นกาแลปูน เป็นภาพที่ขัดแย้งมาก ๆ
แต่ถ้าเรามีอิสระโดยสัมพัทธ์ เราก็จะสามารถสร้าง สิ่งอื่น ๆ ที่เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ความเป็นล้านนา เชียงใหม่ แพร่ น่าน มันจะบวกสองอย่าง อย่างแรกคือทำให้พวกเขาเป็นหนึ่งเดียว ขณะเดียวกันนำไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้อย่างมีพลังเปรียบเทียบกับที่ญี่ปุ่น แต่ละเกาะ แต่ละเมือง เขาสามารถสร้างสรรค์เศรษฐกิจได้อย่างมาก เช่น ตุ๊กตาประจำเมือง ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ ถ้าเราทำให้ มีอิสระโดยสัมพัทธ์จากรัฐส่วนกลาง
“ทันทีที่ถูกกำหนดจากทุน และ รัฐส่วนกลาง เราทำลายสมบัติชุมชนที่สร้างสรรค์ได้ ถ้าคนในเมือง ตอนนี้ 10-20 ปีก่อน กินผักไม่กี่อย่าง ปลูกเป็นแมส ทั้งที่การกินผัก ทางเหนือ อีสาน ใต้ มีผักเป็นร้อยชนิด กินกับอาหารต่าง ๆ งานวิจัยของหมอโกมาตร (จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร) เรื่องอาหาร อีสาน แต่ละฤดูกาลมีผักเฉพาะ ตรงนี้เป็น Creative Economy แต่รัฐส่วนกลางมองไม่ห็น มีคนเห็นบ้างช่วงหลังแต่ยังไม่พอ มันต้องทำให้เกิดการผสาน ของผู้คนในพื้นที่วัฒนธรรมหนึ่ง ที่จะมาร่วมสร้างสรรค์ตรงนี้ ตรงนี้คือการสร้างอิสระโดยสัมพัทธ์ ไม่ใช่มากังวัลว่าล้านนาจะแยกประเทศ ผมว่าคนที่พูดแบบนี้ ไม่โง่จริง ก็ดัดจริตโง่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ”
การเติบโตของ ‘กลุ่มประชาสังคมใหม่’ พลังของคนที่ต้องการจัดการกับชีวิตตนเองมากขึ้น
ในแง่ความพร้อมสู่จังหวัดจัดการตนเอง ศ.อรรถจักร์ ประเมินว่า เชียงใหม่พร้อมมาก สำหรับการระดมผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนจัดการปัญหาหนึ่ง ๆ เชียงใหม่ผ่านการเติบโต ผ่านการมีส่วนร่วม ของประชาชนในเรื่องใหญ่ ตั้งแต่คัดค้านกระเช้าขึ้นดอยสุเทพ และ อื่น ๆ พลังของแต่ละหน่วย แต่ละสังคมในเชียงใหม่ เข้มแข็งพอจะทำให้เกิดการถกเถียง แสวงหาทางเลือกที่ดีที่สุดของพื้นที่นี้
เปรียบเทียบกับหลายพื้นที่ในประเทศไทย ภาคประชาสังคมในเชียงใหม่ มีความหลากหลายเข้มแข็งมาก ในระดับน่าสนใจ เป็นส่วนนำร่องให้เกิดการจุดประกายให้พื้นที่อื่นเดินตาม
สิ่งที่น่าสนใจคือ ‘กลุ่มประชาสังคมใหม่’ เติบโตอย่างรวดเร็ว ในหลายพื้นที่ ในยามวิกฤติช่วงโควิด กลุ่มผู้คน ที่เป็นผู้ประกอบการร้านอาหารผู้ประกอบการอื่นในพื้นที่เมือง ได้ลุกขึ้นมารวมกลุ่มแสดงบทบาทของพลเมืองผู้กระตือรือร้น ในการเข้าไปช่วยเหลือผู้คน นอกจากช่วยเหลือช่วงโควิดแล้ว ยังทำเรื่องดับไฟป่า ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ
ตอนนี้มีกลุ่มประชาสังคมใหม่มีหลากหลายมาก เขาสามารถไปสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชนเขา หลายวัดในเชียงใหม เปลี่ยนตัวเองไปปรับตัวไปสู่รับการท่องเที่ยว ทุกวันศุกร์จัด ถนนคนเดินเล็ก ๆ ในหมู่บ้าน สุวารี วงศ์กองแก้ว เคยศึกษาพบว่ามีกลุ่มประชาคม หรือประชาสังคมใหม่ในพื้นที่ 20-30 กลุ่ม และลักษณะแบบนี้ ไม่เกิดขึ้นแค่เชียงใหม่ แต่ยังรวมไปถึงขอนแก่น สงขลา มหาสารคาม หากศึกษาเปรียบเทียบก็จะพบพลังของคนที่ต้องการที่จะจัดการกับชีวิตตนเองมีมากขึ้น
ดุลอำนาจระบบราชการ สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน
ความเข้มแข็งของกลุ่มนี้ เขาต้องการเข้าไป บาลานซ์ ดุลอำนาจระบบราชการ เป้าหมายสุงสุด ต้องการสามารถเข้าถึงทรัพยากร ส่วนแบ่ง มีส่วนแบ่งดูแลบ้านเขา กรณี ญี่ปุ่น มีนโยบาย Furusato Policy และนำไปสู่ Furusato Tax เปิดโอกาสให้คนทำงานกรุงเทพฯ แต่มีภูมิลำเนาอยู่ที่เชียงใหม่ ยินดีที่จะให้ภาษีของเขาที่กรุงเทพฯ ส่งมาที่เชียงใหม่
“นโยบายแบบนี้ เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ คนในพื้นที่เข้มแข็ง ปรารถนาจะสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ถ้าทำแบบบนี้ได้ แต่ละจังหวัด แต่ละเมืองจะมีพลัง นอกจากงบฯ ส่วนกลาง ประชาสังคมจะต่อเนื่องกับคนเชียงใหม่ ภูเก็ต สร้างคอมมูนิตี้ใหญ่ โดยมุ่งเน้นพัฒนาจังหวัดบ้านเกิดของเขาให้เข้มแข็งมากขึ้น เป็นตัวอย่างการกระจายอำนาจ ที่ทำให้เกิดอิสระโดยสัมพัทธ์ ไม่ใช่กระจายอำนาจแบบดาด ๆ แบบที่ทำมา”
นอกจากเรื่องบฯ ยังมีเรื่องอำนาจการตัดสินใจ การจัดสรรทรัพยากรในพื้นที่ เช่น สมมติ มีอำนาจปกครองตนเอง ก็จะมาดูว่าที่ดินตรงไหนบ้างสมควรกระจายการถือครอง หรือขอเช่าจากทหาร หรือพื้นที่ โรงเรมสวยงาม สนามกอล์ฟ ก็จะขอแบ่ง เป็นสวนสาธารณะร่วมกัน เราสามารถจัดการทรัพยากรที่ดินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราสามารถจัดการภาษี ท้องที่ บางแห่งเพิ่มขึ้น บางแห่งลดลง นี่คืออำนาจที่เราจะสามารถ กระจายและจัดการในทุกมิติของทุกพื้นที่ขอบเขต
เชียงใหม่มีความพร้อมแน่นอน เราต้องให้ความชื่นชมปัญญาชนเชียงใหม่ ที่สืบสานเรื่องนี้ อย่าง ศ.ธเนศวร์ เจริญเมือง อ.ชำนาญ จันทร์เรือง เอ็นจีโอ หลายกลุ่ม สภาลมหายใจเชียงใหม่ และกลุ่มอื่น ๆ อื่น ที่พยายามคิดตลอดว่าเขาจะจัดการตนเองอย่างไร ด้านองค์ความรู้เชียงใหม่ถือว่ามีความพร้อม ด้านการจัดองค์กรเชียงใหม่ก็พร้อม แต่ที่น่าวิตกคือส่วนกลางที่คิดว่าจะมีการแยกล้านนา คนเชียงใหม่หรือคนล้านนาไม่เคยมีความคิดเรื่องแยกดินแดนอยู่แล้ว เขาอยู่กับสยามจนเราเป็นสยามไปแล้ว อนาคตเขาสัมพันธ์อยู่กับดอนเมือง สุวรรณภูมิ เขาไม่ได้อยากแบ่งแยกดินแดน ควรได้รับความเป็นเป็นธรรมมากกว่านี้
การแก้ปัญหาคนจนเมือง ตัวอย่างจุดอ่อนของรัฐราชการรวมศูนย์
อีกหนึ่งในปัญหาของพื้นที่คือเรื่องคนจนมือง คนเชียงใหม่เป็นคนที่อพยพมาจากรอบ ๆ ข้าง ๆ เข้ามาอยู่พื้นที่สลัม มีพื้นที่ว่างเปล่าก็ยึดครอง มีคนจนเมืองมากขึ้น มีทั้งชนเผ่าที่ถูกถีบมาจากป่าจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ทำให้คนเดือดร้อน 2.8 หมื่นชุมชน ครึ่งหนึ่งอยู่ภาคเหนือตอนบน ไทยใหญ่ คนเหล่านี้ต้องกระจายอยู่ห้องเช่าเป็นหย่อม ๆ ถ้าเราได้ผู้ว่าฯ ที่เข้าใจปัญหาก็จำเป็นต้องจัดโซนพื้นที่ สุขอนามัย แต่หน่วยราชการไทยทำไม่ได้
เราใช้แรงงานพี่น้องไทยใหญ่ผลักให้เขาไปขูดรีดตัวเอง อยู่พื้นที่แย่มาก เช่าห้องอยู่รวมกัน การจัดการตนเอง นโยบาย ที่เกิดขึ้นบนความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่จะได้รับการตอบสนองที่ดีขึ้น หากใช้นโยบายจากส่วนกลาง ไม่มีกระทรวงไหนที่จะเข้าใจและมาแตะปัญหาคนเมืองได้ การแก้ปัญหาคนจนเมืองต้องคิดในระดับพื้นที่เพราะเข้าใจความผันแปร เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กลไกรัฐส่วนกลางทำไม่ได้ นี่คือจุดอ่อนของรัฐราชการรวมศูนย์