คลองโอ่งอ่าง จะไปต่อ (อี)ท่าไหน…

ภาพความทรงจำต่อคลองโอ่งอ่างของคุณผู้อ่านเป็นแบบไหน? และภาพคลองโอ่งอ่างในอนาคตจะเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่ชวนคิดกันต่อ… ในวันที่มีกระแสว่า ผู้บริหารกรุงเทพมหานครจะไม่สานต่อนโยบายพัฒนาพื้นที่ริมคลองโอ่งอ่าง เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องประโคมข่าวโหมกระแส บทความชิ้นนี้มีคำตอบ

กว่าจะมาเป็น “คลองโอ่งอ่าง” ในวันนี้

ภาพแรก บอกเล่าคลองโอ่งอ่างในอดีต คลองสายนี้ถูกขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เริ่มจากปากคลองมหานาคตัดทอดไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางประมาณ 750 เมตร ทำหน้าที่แบ่งเขตปกครองระหว่างเขตพระนคร และเขตสัมพันธวงศ์ เป็นย่านการค้าเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร ใกล้เคียงกับพื้นที่ป้อมมหาไชย ถนนจักรเพชร เวิ้งนาครเขษม ซึ่งในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี วันที่ 7 ธันวาคม 2525 มีการเอ่ยนามชื่อ “คลองรอบกรุง” เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ และคลองโอ่งอ่างก็เป็นหนึ่งในนั้น ถึงวันนี้บริเวณรอบคลองโอ่งอ่าง ยังพบว่ามีแหล่งมรดกวัฒนธรรมที่สำคัญทั้งจับต้องได้และจับต้องไม่ได้มากมาย

ต่อมาในปี พ.ศ.2525 กรุงเทพมหานคร ให้สัมปทานเอกชนทำตลาด 10 ปี ที่หลายคนเรียกว่า “ตลาดสะพานเหล็ก” มีแผงลอยรุกล้ำพื้นที่คลอง อาคารบ้านเรือนต่อเติมเข้ามายังพื้นที่สาธารณะ มีความแออัดเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย ปัญหาอาชญากรรม สภาพคลองเหม็นเน่าไร้การบำบัดดูแล เมื่อหมดสัญญาการก่อสร้าง ผู้เช่าแผงค้าก็ยังไม่ออกจากพื้นที่ กทม. จึงฟ้องศาลเพื่อขอคืนพื้นที่ กระทั่ง คณะกรรมการพัฒนาและอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า มีมติให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำ ตลาดสะพานเหล็กออกในปี พ.ศ.2543 กทม. จึงรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่เป็นปัญหา จำนวน 500 แผงค้า

หลังเคลียร์พื้นที่ เป็นโอกาสที่จะเกิดการพัฒนา ในปี พ.ศ.2559 กรุงเทพมหานครเคาะแผนแม่บทการปรับปรุงฟื้นฟูชุมชนริมคลองรอบกรุง มีกิจกรรมแต้มสีสร้างบรรยากาศในพื้นที่ กิจกรรมลอยกระทง ไฮไลท์อยู่ที่ ปี 2561-2562 กทม. อนุมัติงบประมาณ 238 ล้านบาท ดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงภูมิทัศน์ สะพาน ทำเขื่อน ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง วางระบบสาธารณูปโภค บูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานหลายภาคส่วน ทั้งสำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักงานเขต (เขตพระนคร, เขตสัมพันธวงศ์) สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง

และยังได้รับความร่วมมือจากการไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง นำสายไฟฟ้าแรงสูงลงดิน ส่วนนี้ยังได้งบประมาณ จากการไฟฟ้านครหลวงมาดำเนินการด้วย ราวๆ 20 ล้านบาท ดำเนินการ 480 วัน ภายใต้ยุทธศาสตร์ 4 เรื่องสำคัญ คือ ด้านกายภาพ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคมวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน และด้านเศรษฐกิจ “พลิกโฉมคลองโอ่งอ่างให้กลายเป็นแลนด์มาร์คใหม่ของเมือง” ในวันนี้

คลองโอ่งอ่าง

“คลองโอ่งอ่าง” กับจุดพลิกผัน

หลังจากนั้นปี พ.ศ.2563-2564 ก็มีกิจกรรมมากมายเกิดขึ้น ทั้งสตรีทอาร์ท ลอยกระทง พายเรือคายัค ถนนคนเดิน ช้อปปิ้งกินข้าว เกิดขึ้นทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เวลา 16.00-20.00 น. มีการแต่งตั้งฝ่ายบริหารพื้นที่ภาคประชาชน ในนาม ประชาคมคลองโอ่งอ่างเขตพระนคร และเขตสัมพันธวงศ์ 2 หน่วยงาน ให้ชาวบ้านบริหารจัดการกันเองโดยมีภาครัฐ (สำนักงานเขต) เป็นฝ่ายสนับสนุน เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้เป็นตะเข็บระหว่างเขตสัมพันธวงศ์ และเขตพระนคร จึงตั้งประชาคม 2 เขตตามพื้นที่ เป็นช่วงที่ใครๆ ก็ไปเดินคลองโอ่งอ่าง กระทั่งได้รับรางวัลเลื่องชื่อ Asian Townscape Award 2020

ก่อนที่ทุกอย่างจะหยุดชะงักลงจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การงดจัดกิจกรรมทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาน้อย ร้านค้าตั้งแผงแล้วไม่คุ้มผู้ค้าก็เริ่มห่างหาย การบริหารจัดการของประชาคมในพื้นที่ก็สะดุดลงไปด้วย 

แม้ในช่วงที่สถานการณ์เริ่มดีขึ้น ปลายปี พ.ศ.2565 มีการจัดกิจกรรมลอยกระทง เทศกาลอินเดีย Deepavali แต่นักท่องเที่ยวก็จะมาเยอะแค่ในช่วงเทศกาล วันไหนที่ไม่มีงานกิจกรรมพิเศษก็มีคนมาประปราย อย่างไรก็ตามจุดที่มีคนมาน้อยๆ ไม่ใช้ตลอดพื้นที่ของคลองโอ่งอ่าง แต่เป็นแค่บางส่วนเท่านั้น ชวนวิเคราะห์

อธิบายโดยเทียบกับแผนที่สะพานคลองโอ่งอ่าง ช่วงระหว่างสะพานดำรงสถิต-สะพานภาณุพันธ์ุ ถ้าไม่มีการจัดกิจกรรมหรือเทศกาลจุดนี้ค่อนข้างจะเงียบ เพราะเป็นจุดที่มีล็อควางแผงขายของอย่างเดียว ถ้าแม่ค้าไม่มา ก็เป็นเหมือนทางเดินริมคลองทั่วไป ซึ่งในวันธรรมดาก็จะมีผู้ค้ามาเปิดร้านแค่ราวๆ 20-30 จากทั้งหมด 90 กว่าแผงค้า ส่วนบริเวณช่วงสะพานภาณุพันธ์ุ-สะพานบพิตรพิมุข มีสะพานหันอยู่ตรงกลาง ตรงนี้คนจะมากหน่อย มีความคึกคัก เพราะเป็นบริบทพื้นที่เป็นบ้านเรือนเปิดหน้าร้านเข้าหาคลอง และผู้ค้าชุมชนพยายามสร้างบรรยากาศ มีกิจกรรมร้องรำทำเพลงเรียกความสนใจของนักท่องเที่ยว ส่วนเรือคายัคยังเปิดให้บริการอยู่ต่อเนื่อง

“เริ่มต้นมาจากช่วงโควิด-19 ระบาด บรรยากาศเริ่มซบเซาแล้ว พอผ่านมาสักระยะหนึ่ง ผู้ค้าก็ติดเชื้อบ้างร้านค้าบางร้านไม่มาขาย พอไม่มีร้านมาคนก็ไม่เดินอีก ถ้าเป็นวันที่มีเทศกาลก็จะคึกคัก แต่ถ้าเป็นวันธรรมดาก็เงียบเหงา อยากให้มีการปรับปรุงอีกสักนิดนึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขา ที่จอดรถลำเลียงของผู้ค้า และอยากให้มีการประชาสัมพันธ์ว่ายังมีคลองโอ่งอ่างอยู่นะ”

สุภณ โลเกศระวี ผู้ค้าริมคลองโอ่งอ่าง (บริเวณสะพานเหล็ก)

ย้ำภารกิจ สานต่อนโยบายพัฒนาคลองโอ่งอ่าง?

ด้วยสถานการณ์แบบนี้ก็เลยมีคำถามว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไม่สานต่อนโยบายหรือเปล่า? ก็เลยทำให้บรรยากาศดูซบเซา ถ้าย้อนดูจากทามไลน์ข้างบนคือไม่ใช่ มีการจัดกิจกรรมอยู่บ้างไม่ได้ทอดทิ้ง โดย ‘ชัชาติ’ มีการมอบหมายให้ วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ดูแลเรื่องโยธาฯ วางแผนการพัฒนาพื้นที่ และพร้อมมอบหมายให้รองฯ ศานนท์ หวังสร้างบุญ พัฒนากลไกการจัดการในระดับพื้นที่

แม้จะยอมรับว่าที่ผ่านมาการค้าซบเซา ไม่คึกคัก ขาดการประชาสัมพันธ์ ไร้กิจกรรมต่อเนื่อง แต่ กทม. ก็หวังสานความร่วมมือ พัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ ตั้งหมุดหมายสำคัญ เชื่อมต่อทุกมิติพัฒนาย่านเมืองเก่า พร้อมแสดงความชัดเจนว่าสานต่อแน่นอน 

“สานต่ออยู่แล้วครับ เพราะว่าจริงๆ ผู้ว่าฯ ที่ทำต่อเนื่องมาทุกยุคไม่ใช่แค่ยุคที่ผ่านมา คลองโอ่งอ่างก็เป็นโปรเจคส์ใหญ่ที่ลงทุนไว้ และกายภาพดีมากเคยติดตลาดแล้วทุกคนรู้จักแล้ว เพราะฉะนั้นเราก็ต้องสานต่อ ซึ่งคลองโอ่งอ่างเหมือนอยู่ตรงกลาง แล้วมีคลองคูเมืองเดิม มีคลองผดุงกรุงเกษมที่มีแผนพัฒนาอีกหลายระยะ และตอนนี้เราก็มีงบประมานสำหรับทำต่อไม่มีหยุด แต่จะต้องมีอัตลักษณ์ มีการมีส่วนร่วม ยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง สำหรับโปรเจคส์อื่นๆ ที่พัฒนาต่อยอดเราก็มีเหมือนกัน เช่นนโยบายพัฒนาย่าน 50 ย่าน เราอยากทำ เพื่อสานต่อของเก่าและพัฒนาของใหม่ไปด้วย”

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ในช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ ชาวชุมชนริมคลองโอ่งอ่าง จัดประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “ชุมชนร่วมคิด ร่วมสร้าง ย่านคลองโอ่งอ่าง” เพื่อหาแนวทางพัฒนาย่านคลองโอ่งอ่าง โดยบรรยากาศการพูดคุย เต็มไปด้วยการแสดงความคิดเห็น แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มเขตสัมพันธวงศ์ 1 กลุ่ม และกลุ่มเขตพระนคร 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสะพานเหล็ก และกลุ่มสะพานหัน โดยร่วมแสดงความคิดเห็นมองจุดแข็ง/จุดเด่น/จุดขาย ของย่านคลองโอ่งอ่าง ที่มีมรดกทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ส่งผลให้มีแหล่งอาชีพ และอาหารการกินแบบดั้งเดิมจำนวนมากที่เป็นที่รู้จัก ตลอดจนอาคารเก่าแก่และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ด้วย

ทิศทางเป้าหมายสอดรับกัน คือต้องการทำให้คลองโอ่งอ่างเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวอีกครั้งหนึ่ง สิ่งที่ต้องมีคือการจัดกิจกรรมทุกเดือน โปรโมทให้นักท่องเที่ยวเข้ามา และผู้ค้าต้องพร้อมให้บริการ โดยเตรียมที่จะจัดตั้งประชาคมใหม่ ให้ชาวบ้านได้บริหารจัดการกันเองก่อน ขาดเหลืออะไรภาครัฐก็สนับสนุน แบบนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ในพื้นที่ และยั่งยืนมากกว่าค่ะ

“สิ่งที่อยากให้มีตรงนี้คืองานศิลปะ คำว่าศิลปะไม่ใช่แค่วาดรูป แต่มีทั้งเรื่องการแสดงและอื่นๆ เพราะจริง ๆ แล้วหลังจากที่ กทม. ปรับพื้นที่แล้ว เรายังมีพื้นที่ว่างเยอะมากให้ทำกิจกรมเพิ่มเติมได้ ซึ่งยังขาดหายไป เราควรจะเอากิจกรรมนำเข้ามาก่อน ส่วนเรื่องการค้าจะตามมาเอง เพราะเดิมก็มีแผงค้าร้านค้าในตำนานเจ้าเก่าอยู่แล้ว แต่ร้านค้าเล็กๆ อยากให้มาเติม เรื่องการบริหารจัดการเราแบ่งงานกันว่า จะมี 3 กลุ่มจัดการ คือคลองโอ่งอ่างสะพานหัน คลองโอ่งอ่างสะพานเหล็ก และคลองโอ่งอ่างสัมพันธวงศ์ ระบบบริหารจัดการแยกจากกัน เขาจะเก็บค่าแผงค้าส่วนกลางเท่าไหร่แล้วแต่ แต่เมื่อมีกิจกรรมส่วนกลาง เทศกาล อีเว้นท์ ก็มาร่วมกันทำ ใครมีงบฯ อะไรก็มาร่วมกัน ต้องมานั่งคิดกันใหม่ว่าชุมชนจะทำอะไรได้บ้าง และเขต ราชการ จะเข้ามาสนับสนุนอะไรเพิ่มเติม เช่น คอนเนคชันเอกชน หรือสิ่งอำนวยความสะดวกบางอย่าง”

พรยศ จิรัฐติกาลสกุล ผู้ค้าริมคลองโอ่งอ่าง

หากทำให้คลองโอ่งอ่างกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง จะเป็นโอกาสในหลายเรื่อง ในแง่มิติของชุมชน เนื่องจากคลองโอ่งอ่างเป็นตะเข็บของเขตพระนคร และเขตสัมพันธวงศ์ เป็นโอกาสเชื่อมโยงการค้าขายชาวจีน ชาวอินเดีย พัฒนาเศรษฐกิจ และดำรงไว้ซึ่งประวัติศาสตร์พื้นที่ดั้งเดิม

มิติเชื่อมโยงกับย่าน คลองโอ่งอ่างเชื่อมต่อคูเมืองเดิม คลองผดุงกรุงเกษม คลองหลอด พื้นที่ยังเชื่อมโยงกับสำเพ็ง ตลาดน้อย ปากคลองตลาด เยาวราช ซึ่งสามารถทำให้พื้นที่ถูกพัฒนาต่อเนื่องกันได้

ส่วนมิติระดับเมือง การพัฒนาหากสำเร็จจากความร่วมมือของชุมชน ควบคู่การดูแลเชิงกายภาพของเมือง ก็จะสามารถเป็นตัวอย่างต้นแบบของพื้นที่อื่นด้วย เป็นโมเดลของความร่วมมือและเป็นที่หมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์