เปลี่ยน ‘ย่านชายขอบ’ สู่ เกตเวย์ของกรุงเทพมหานคร

วางอนาคตพัฒนา พระโขนง-บางนา รองรับความเปลี่ยนแปลงโดยการมีส่วนร่วม

พระโขนง-บางนา ย่านที่อยู่อาศัยและอุตสาหกรรมชานเมือง เสมือน “ย่านชายขอบ” ด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แม้ว่าในอดีตจะมีบทบาทเป็นเพียงย่านที่อยู่อาศัยแนวราบ ปะปนกับอุตสาหกรรมที่ห่างไกล แต่มีความเป็นไปได้และศักยภาพของการเป็น “ใจเมือง” หรือ “ดาวน์ทาวน์ของมหานครกรุงเทพส่วนใต้” (Bangkok South Downtown) ย่านพระโขนง-บางนา ได้เติบโตอย่างรวดเร็ว

เมื่อระบบขนส่งทางรางสายสีเขียว (BTS) ได้ต่อขยายถึงสถานีเคหะสมุทรปราการ ส่งผลให้ย่านนี้ถูกผสานเข้ากับแนวระเบียงการพัฒนาของภาคมหานคร นอกจากนี้ ระบบรถไฟฟ้าสายสีเหลืองตามแนวถนนศรีนครินทร์ และสายสีเงินตามแนวถนนบางนา-ตราด จากสนามบินสุวรรณภูมิ จะทำให้ศักยภาพในการเข้าถึงและการพัฒนาอยู่ในระดับสูงมาก

เมื่อพิจารณาร่วมกับถนนสายหลักที่เชื่อมต่อกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จะทำให้ย่านนี้พลิกบทบาทจาก “ย่านชายขอบ” สู่ “เกตเวย์ของกรุงเทพมหานคร” ย่านพระโขนง-บางนาจึงเป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัยแนวตั้ง โครงการพัฒนาศูนย์การค้า และโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน อีกทั้งนโยบายจากภาครัฐในการผลักดันเป็น “ย่านนวัตกรรม” ที่จะดึงดูดนวัตกรและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้มาลงทุน ทำงาน และใช้ชีวิตภายในย่าน

ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง (UDDC-CEUS) ร่วมกับภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย We!Park PNUR   Local Dialects User-Friendly และ BUILK ONE GROUP นำเสนอ “โครงการร่วมสร้างย่านพระโขนง-บางนา” โดยริเริ่มการวิจัยเชิงปฏิบัติการผนวกเข้ากับการเรียนการสอนวิชาปฏิบัติการวางผังและออกแบบชุมชน ร่วมหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและภาคีพัฒนาของย่าน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมขึ้นในต้นปี 2564

ต่อจิ๊กซอว์ตัวสำคัญ “แผนพัฒนาระดับย่าน”

ผศ.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง (UDDC-CEUS) ระบุว่า ที่ผ่านมาย่านพระโขนง-บางนา ขาด “แผนพัฒนาระดับย่าน” ทำให้ตัวตนดั้งเดิมย่านเกษตรกรรมชานเมือง ยังไม่สามารถที่จะปรับตัวและวิวัฒน์ไปพร้อมกับกระแสการพัฒนาที่โหมเข้ามาอย่างรวดเร็ว อีกทั้งด้วยลักษณะเป็นซุปเปอร์บล็อก (superblock) ซอยแคบ และซอยตัน ประกอบกับรถโดยสารระบบรอง (รถแดง) ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนผู้คนที่อยู่ในซอยลึกออกมาสู่ปากซอย ทำให้การจราจรติดขัดอย่างหนักทั้งวัน ทุกวัน และตลอดสัปดาห์

“พระโขนง บางนา สมุทรปราการ มีประชาการอาศัยในพื้นที่ประมาณ 2 ล้านคน เป็นย่านที่อยู่อาศัยสำคัญของประชากรวัยทำงาน โดยมีคะแนน Living Score อยู่ในระดับสูง 72 คะแนน เนื่องจากราคาที่อยู่อาศัยในย่านนี้เข้าถึงได้ แต่พบว่า 50% ของพื้นที่เป็นซอยตัน และเดินยาก ต้องอาศัยรถแดง เป็นตัวเชื่อมการเดินทาง แต่รถแดงที่ไม่มีการจัดระเบียบการวิ่งรถหรือจุดจอด มีผลระทบต่อการจราจรในพื้นที่”

ทางเท้าที่เดินไม่ได้และเดินไม่ดี ไม่สะดวก ไม่ปลอดภัย ไม่น่าเดิน ทำให้การลงทุนระบบรางและการมีสถานีรถไฟฟ้าจำนวนถึง 5 สถานีพาดผ่านหน้าย่าน จึงไม่มีความดึงดูดพอที่จะให้ผู้คนหันมาเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ เมื่อผู้คนไม่เดิน โอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจรายย่อยและการกระจายความมั่งคั่งจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของสำนักงานและที่อยู่อาศัยจึงเป็นไปอย่างจำกัด

ย่านนี้เข้าถึงสะดวก แต่ไปถึงแล้ว ไปต่อไม่สะดวก กล่าวคือ เข้าถึงพื้นที่สะดวกด้วยระบบขนส่งมวลชน ทั้งทางถนน รถเมล์ ทางด่วน รถไฟฟ้า มีคะแนน transit score 65 แต่มีระบบขนส่งมวลชนรองและเสริมให้บริการย่างจำกัด ลักษณะของพื้นที่ย่าน มีทั้งซอยลึก ซอยลัด แต่มีซอยตันมากถึง 50% ของซอยทั้งหมด ทำให้การจราจรติดขัดและคับคั่งบนถนนสายหลักของย่าน ส่วนพื้นที่ทางเดินทางเท้า เป็นย่านเดินไม่ดีและไม่น่าเดิน คะแนน Good walk score 35 คะแนน ด้วยโครงสร้างขนาดใหญ่แบ่งย่านเป็นหลายส่วน ลดศักยภาพ การเชื่อมต่อภายในย่าน

กระแสการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวตั้งทำให้จำนวนผู้อยู่อาศัยใหม่เพิ่มจำนวนขึ้นแบบเท่าทวีคูณ แต่พื้นที่สีเขียวสาธารณะและการบริการสาธารณะด้านอื่น ๆ กลับไม่ได้สูงตาม ย่านทั้งสองยังคงติดอันดับ “ย่านที่มีพื้นที่สีเขียวสาธารณะน้อยมาก” ของกรุงเทพฯ คลองความยาวรวมกันหลายสิบกิโลเมตรภายในย่านยังรอการฟื้นฟูให้มีสภาพดีและใช้ประโยชน์ได้ทั้งในด้านการสัญจร

ค่าเฉลี่ยของพื้นที่สีเขียว เขตพระโขนง เฉลี่ยอยู่ที่ 3.4 ตร.ม./คน (ลำดับที่ 39 ของ กทม.) ส่วนเขตบางนา เฉลี่ยอยู่ที่ 5.0 ตร.ม./คน (ลำดับที่ 29 ของ กทม.) ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของ กทม. อยู่ที่ 7.27 ตร.ม./คน และมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก อยู่ที่ 9.0 ตร.ม./คน

การพักผ่อนและการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมอันเป็นปัญหาใหญ่ของย่าน ชุมชนที่อยู่ในย่านจำนวน 73 ชุมชนทั้งชุมชนดั้งเดิม ชุมชนซอย ชุมชนคอนโด ชุมชนแออัด ล้วนเป็นทุนทางสังคมอันมีค่า แต่ “พื้นที่กลาง” (platform) ที่จะสื่อสารและสร้างความร่วมมือยังเป็นไปอย่างจำกัด ทำให้ย่านพระโขนง-บางนา “ยังไม่น่าอยู่” และเป็นอุปสรรคในการพัฒนาได้สมกับศักยภาพที่ควรจะเป็น 

สภาพแวดล้อมยังคงเป็นปัญหาที่ท้าทาย ทั้งเรื่องของการจราจรที่คับคั่งบริเวณปากซอย อาคารพานิชย์ตึกแถวซบเซา ลำคลองทรุดโทรม เข้าถึงยากและเน่าเสีย มีที่ว่างรอการพัฒนากระจายอยู่ทั่วพื้นที่ มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งขยะ น้ำเสีย ฝุ่น มลพิษทางอากาศ และยังเป็นย่านที่เปราะบางกับน้ำท่วม น้ำรอระบาย

1 ปี ของกระบวนการมีส่วนร่วม-รับฟังความคิดเห็น

ผลลัพธ์สำคัญจากกระบวนร่วมหารือในระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมา ประกอบด้วย (1) แผนพัฒนาระดับย่าน และ (2) โมเดลการพัฒนาย่าน โดยประกอบด้วย 11 แนวคิดหลัก ที่ครอบคลุมทั้งการพัฒนาพื้นที่ (Hardware) และด้านกลไกการบริหารจัดการ (Software) ได้แก่ 

  1. การจัดทำแผนพัฒนาระดับย่านด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม
  2. การสร้างย่านน่าอยู่เพื่อดึงดูดเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะเศรษฐกิจนวัตกรรมและธุรกิจสร้างสรรค์ 
  3. การพัฒนาให้ย่านเดินได้-ย่านเดินดีกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก
  4. การพัฒนาพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กกระจายทั่วย่านจากที่ดินที่รอการพัฒนาเพื่อยกระดับสุขภาวะชุมชน
  5. การปรับปรุงอาคารที่มีการใช้ประโยชน์ไม่เต็มศักยภาพสู่พื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ที่เข้าถึงได้ของเยาวชนและประชาชน
  6. การพัฒนาที่ดินรอการพัฒนาสู่พื้นที่สร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจและสังคม
  7. การพัฒนาพื้นที่ริมคลองสู่พื้นที่เดินได้ นั่งได้ สัญจรได้ บรรเทาน้ำท่วมได้
  8. การพัฒนาการสัญจรที่หลากหลายด้วย ล้อ ราง เรือ และเท้า
  9. การพัฒนาพื้นที่ทดลองทางนวัตกรรม (Innovation Sandbox) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เช่น รถแดง น้ำท่วม ฝุ่นควัน เป็นต้น
  10. การพัฒนาโมเดลจตุรภาคี (Public Private People Partnerships, P4s) ในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และวิชาการ เพื่อขับเคลื่อนย่าน
  11. การทดลองแนวคิดการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting) ในกระบวนการจัดทำโครงการพัฒนาย่าน โดยการมีส่วนร่วมของภาคีพัฒนาในย่าน

ภาพอนาคตย่านพระโขนง-บางนา

ผศ.นิรมล อธิบายให้เห็นถึงภาพอนาคตย่านพระโขนง-บางนา เปรียบเทียบหากมีการวางแผนพัฒนา และในกรณีที่ปล่อยให้เป็นไปตามวิถีดั้งเดิม ดังนี้

ภาพที่ 1 : ภาพอนาคตฐาน “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” มีรถไฟฟ้าเป็นระบบขนส่งมวลชนหลัก ไม่มีการปรับปรุงพื้นที่ ชีวิตของผู้คนในย่านจะมีค่าแค่ภายในซอยย่อย กิจกรรมจะกระจุกตัวอยู่อย่างหนาแน่นบนบริเวณปากซอยบริเวณทางลงจากสถานีรถไฟฟ้าเท่านั้น อาคารตึกแถว ถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้งาน พื้นที่ทิ้งร้างไม่มีการพัฒนา กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรม หันหลังลงคลองน้ำเน่าเสีย เมื่อย่านไม่เกิดการพัฒนา รวมถึงไม่มีคนกลุ่มใหม่ๆ เข้ามา ที่ดินที่รอการพัฒนาภายในพื้นที่จึงถูกทิ้งร้าง

ภาพที่ 2 : ภาพอนาคตฐานทางเลือก “The Wolf of Wall” การพัฒนายังคงกระจุกอยู่ที่บริเวณรอบสถานีรถไฟฟ้า BTS และแกนถนนสายหลัก การพัฒนากระจุก ไม่มีการเชื่อมต่อและเชื่อมโยงพื้นที่เข้าด้วยกัน ที่ดินถูกตัดขาดรอการพัฒนา แม้จะมีการแบ่งพื้นที่ร้านค้าและผู้ประกอบการแต่ก็จะอยู่แค่บริเวณขนส่งมวลชนสายหลัก ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งขยะ น้ำเสีย และฝุ่น สภาพเศรษฐกิจมีการแบ่งเป็น 2 โลกอย่างชัดเจน

ภาพที่ 3 : ภาพอนาคตที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น คืออาคารร้างและทรุดโทรม ไม่มีการใช้งาน ส่งผลให้พื้นที่ไม่มีพลวัตรของคนและเศรษฐกิจ ทางเท้าเดินไม่ได้ ย่านเงียบเหงา และเศรษฐกิจไม่คึกคัก มีพื้นที่รกร้างไม่มีการพัฒนาและกลายเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม คลองเน่าเสียเนื่องจากถูกละเลย โครงการพัฒนาต่างๆ ไม่มีการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีคนเข้ามาใช้บริการ ไม่สามารถดึงดูดกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาในพื้นที่ได้

ภาพที่ 4 : ภาพอนาคตที่พึงปรารถนา “Downtown Cha Cha Cha” พื้นที่ feeling good เกิดจากภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งผู้ประกอบการรายย่อยและรายใหญ่ รวมถึงภาคประชาชนมีบทบาทในการร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ มีแกนกลางพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน มีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่แห่งใหม่ๆ เกิดขึ้น ควบคู่กับธุรกิจดั้งเดิมที่ดำเนินต่อไป สภาพเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของผู้คนมีความสมดุล สิ่งแวดล้อมดี มีต้นไม้ พื้นที่สีเขียว และทัศนียภาพที่ดี ขนส่งมวลชนหลักและรองเชื่อมต่อโครงข่ายซอย สร้างการเข้าถึงได้สะดวก มีทางเดินริมคลองไปถึงแม่น้ำเจ้าพระยา มี Public Space เป็นพื้นที่สาธารณะของคนเมือง

“ทิศทางใหม่ของการพัฒนาย่านพระโขนง-บางนา” ในการพัฒนาย่านทั้ง 11 ข้อ พิจารณาควบคู่กับ แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) จะพบว่ามีความสอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์มหานครกระชับ ผ่าน “กลยุทธ์พัฒนาศูนย์ชุมชน”… โครงการร่วมสร้างย่านพระโขนง-บางนา ยังมีศักยภาพที่จะเป็นพื้นที่นำร่องในการทดลองสร้างเมื่อต้นแบบการพัฒนาที่เน้นการฟื้นฟูย่าน การมีส่วนร่วมของหุ้นส่วนการพัฒนา ที่จะพัฒนาย่านอื่นๆ ต่อไปได้”

โอกาสที่จะขับเคลื่อนวาระการทำเมืองน่าอยู่ของ ที่ผ่านมาข้อดีของ กทม. มีศักยภาพเยอะ ความฝันเยอะ โดยเฉพาะในระดับนโยบาย แต่ทำยากและไม่เกิดขึ้น เพราะขาดการบูรณาการของหน่วยงานรัฐแต่ละหน่วย และอำนาจในการจัดการที่ไม่ครอบคลุมวาระการสร้างเมืองน่าอยู่ เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะเมืองเปลี่ยนแปลงเร็ว มีความเสี่ยงเยอะ ความเหลื่อมล้ำสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่ กรุงเทพฯ ต้องรีบแก้ไข นี่จึงเป็นโอกาสที่เราจะเข้าไปสนับสนุน กทม. ตอนนี้ประตูเปิดแล้ว

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดาว์นโหลดข้อมูลแนวทางการพัฒนาย่านพระโขนง-บางนา ได้ที่ https://southsukhumvit.com/

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้