“อ่อนแอก็แพ้ไป อ่อนไหวก็ตกงาน” เอาตัวรอดยังไง ? เมื่อเป็นผู้ประสบภัยในออฟฟิศ

“อ่อนแอก็แพ้ไป อ่อนไหวก็ตกงาน” คำกล่าวนี้คงไม่เกินจริงในยุคสมัยแห่งความ productive (มีประสิทธิผล) เราถูกคาดหวังจากสังคม ครอบครัว หรือแม้กระทั่งตัวเราเอง ให้ต้องเก่งที่สุด ดีที่สุด ก้าวหน้าที่สุด แต่สุดท้ายในสนามแห่งนี้กลับเหลือผู้รอดชีวิตเพียงไม่กี่คน

บางคนล้มหายตายจากระหว่างทาง บ้างคลานออกมาจากสนามรบอย่างสะบักสะบอมจนแทบร้องขอชีวิต นี่คือสภาวะ ‘ผู้ประสบภัย’ ที่เชื่อว่าครั้งหนึ่งในชีวิตของหลาย ๆ คน ต้องเคยตกอยู่ในสถานะนี้  

“อกหักเป็นเรื่องของใจ แต่หมดไฟเป็นเรื่องปากท้อง
กับคนรักยังเลิกได้ แต่ถ้าเลิกกับงานไม่ได้”

The Active ชวนฟังวิธีเอาตัวรอดในที่ทำงาน สำหรับมนุษย์ออฟฟิศ ที่ตกอยู่ในสถานะผู้ประสบภัย กับ ‘ดีเจพี่อ้อย’ – นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล ในงาน “Mission To The Moon Forum 2024 : Work-Life Survival Guide คู่มือเอาชีวิตรอดสำหรับคนสู้งาน” 

ทำสิ่งที่ “อยากทำ” ไม่ใช่สิ่งที่ “ต้องทำ”

ทุกวันนี้ เรามีเรื่องที่ ต้องทำ เต็มไปหมด แต่ละวันผ่านไปอย่างเหนื่อยล้าโดยทำตามหน้าที่ แต่ไม่เคยได้ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำจริง ๆ เสียที เรื่องของเรากลายเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่ถูกพักไว้ บอกตัวเองว่า “ว่างค่อยทำ” ซึ่งท้ายที่สุด วันนั้นก็ไม่เคยมาถึง

ดีเจพี่อ้อย จึงอยากให้กลับมาถามตัวเองว่า “แท้จริงแล้ว ใจของเราอยากทำอะไร ?” ยังไม่ต้องคิดถึงกิจกรรมใหญ่โตก็ได้ บางทีอาจเป็นแค่การได้เดินเล่น อ่านหนังสือ หรือเป็นแค่การนอนเฉย ๆ เมื่อคิดได้แล้ว ก็ลาเลย แต่ลาพักใจนะ อย่าเพิ่งลาออก!

“บางครั้งต่อให้เรารักงาน งานก็ไม่ได้รักเรา ต้องพยายามหามุมน่ารักของมันให้เจอ ในแต่ละวันให้ลองหาสิ่งที่อยากทำ หรือถ้าตื่นแล้วยังไม่อยากลุก ก็แค่นอนต่อ หรือถ้าไม่อยากกินอะไร ก็แค่นอนต่อไปเรื่อย ๆ เราไม่จำเป็นต้องเป็นคนเก่งต่อหน้าใคร อย่ารอจนกว่าจะหมดไฟจนไม่มีแรงทำอะไรอีกแล้ว”

หากลองสำรวจความรู้สึกตัวเองทุกวัน วันละนิด หรือได้ลาพักใจแม้แค่เพียงวันเดียว อย่างน้อยจะทำให้เรามีแรงฮึดสู้รบกับงานในวันถัดไป

ไม่มีใครได้ดั่งใจเราไปทุกอย่าง แม้ตัวเราเอง (ในบางวัน)

บางคนบอกว่าที่เบิร์นเอ้าต์ (burn out) ก็เพราะออฟฟิศเป็นพิษ (Toxic) แต่แท้จริงแล้ว จงระวังอย่าให้ความรู้สึกของเราไปขึ้นกับพฤติกรรมของคนอื่น

“ไม่มีใครทำอะไรได้ดั่งใจเราไปเสียทุกอย่าง แม้แต่ตัวเราเองในบางวัน อย่าเอาความสุขเราไปผูกกับขาคนอื่น”

ขนาดตัวเราเอง บางครั้งยังควบคุมไม่ได้ บางทีอยากรีบนอนเพราะพรุ่งนี้ต้องตื่นเช้า สุดท้ายนอนไม่หลับ เห็นไหมว่าเรายังคุมตัวเองไม่ได้เลย นับประสาอะไรกับหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน

ดีเจพี่อ้อย – นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล

เลือก ”พี่คนนั้น” ไม่ได้ แต่เลือกวางเขาไว้ตรงไหนของชีวิตได้

เป็นที่รับรู้อย่างเป็นเอกฉันท์ว่า ปัญหาเรื่องงานไม่ใหญ่เท่าเรื่อง “เพื่อนร่วมงาน” เราอาจเลือกงานได้ แต่เลือกเจ้านาย และเพื่อนร่วมงานไม่ได้ ต้องว่ากันไปตามบุญตามกรรม ไม่ต่างจากซื้อบ้านแล้วเจอป้าข้างบ้านที่เราไม่ปรารถนา

ในออฟฟิศ หลายคนจะมีตัวละครหนึ่งในใจ ที่เราให้นิยามว่าเป็น “พี่คนนั้น” นั่นคือ คนที่เราเกลียดขี้หน้า แต่เดินไปไหนก็ยังเห็นที่หางตาอยู่เรื่อย เมื่อคนไทยชินกับสำนวน “ปากร้ายใจดี” หลาย ๆ คนเลยกลายเป็นพี่คนนั้นที่ปากร้าย แต่บอกว่าในใจไม่มีอะไรโดยไม่รู้ตัว นี่เองที่สร้างบาดแผลให้คนมานักต่อนัก 

วิธีรับมือคือ ไม่ว่าคุณจะยืนอยู่ฝั่ง “ผู้ถูกทำร้าย” หรือ “ผู้ปากร้าย” ก็ต้องปรับทั้ง 2  ฝ่าย

“คนเรามีความเปราะบางในชีวิตไม่เหมือนกัน ไม่มีใครห้อยป้ายออกจากบ้านหรอกว่าวันนี้อกหักมา เราไม่มีทางรู้หรอกว่าแต่ละคนเจออะไรมาบ้าง ฉะนั้นถ้าจะเผลอปากไม่ดี เป็นอันตรายกับผู้อยู่ด้วยก็ต้องปรับปรุงตัว”

สำหรับผู้ที่รู้สึกว่า “ถูกทำร้าย” วิธีแก้คือ ให้วางใจ คิดเสียว่า เรากำหนดสิ่งของและผู้คนแวดล้อมไม่ได้ แต่กำหนดตำแหน่งของผู้คนเหล่านี้ในชีวิตเราได้

“คนอื่นพูดไม่ดีกับเรา ก็แทงเราได้แค่ครั้งเดียว แต่หลังจากนั้น เรากลับเอามีดเล่มเดิมมาแทงหัวใจตัวเองซ้ำ ถ้าหากปล่อยให้ปากใครสูงค่าจนทำร้ายหัวใจเรา นั่นแปลว่าชีวิตนั้นไม่ใช่ของเรา เราเอาจเลือกคนที่เราเจอไม่ได้ แต่เลือกวางไว้ตรงไหนของชีวิตได้”

ใจดีกับตัวเอง ไม่ไหวอย่าฝืน ชื่นชมตัวเอง (บ่อย ๆ) 

อีกสิ่งสำคัญที่ดีเจพี่อ้อยสะท้อน คือ บางคนชอบโบยตีตัวเอง เห็นตัวเองทำผิดพลาด ก็ยิ่งผิดหวังและกดดัน แต่ในโลกที่ใจร้าย ไม่ว่าใครจะทำร้ายเรา เรายิ่งต้องใจดีกับตัวเองมาก ๆ รู้จักปลอบใจ ชื่นชมตัวเองอยู่เสมอ เพราะมันคือการสื่อสารกับตัวเอง และจะช่วยให้ลดการ burn out ไปได้บ้าง

“หากเหนื่อยเกินไป ไม่ไหว อย่าฝืน ให้หัดปฏิเสธบ้าง เพื่อให้งานที่เราทำสำเร็จเป็นงานที่เราภาคภูมิใจอย่างแท้จริง แต่อย่าเผลอไปโพสต์ลงโซเชียลฯ เยอะหละ เพื่อนร่วมงานอาจจะเริ่มมองเราแปลก ๆ ได้”

“ทุกคนมีมรดกเป็นความทุกข์ของตัวเอง หมั่นบอกตัวเองเสมอว่าเก่งแค่ไหนแล้วที่ผ่านมาได้แต่ละวัน หรือเราเก่งกว่าวันที่ผ่านมามากแค่ไหน” 

เหมือนที่ท่านพุทธทาส บอกว่า “ความสุข คือ ความทุกข์ที่พอดีกับความอดทน คนมีความสุขไม่ได้แปลว่าไม่เคยเจอเรื่องทุกข์ แต่ความทุกข์ที่รับมือได้ก็ถือว่าเป็นความสุขแล้ว

เพราะบริบทและจังหวะชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกันเหมือนดั่งสำนวนที่ว่า Late Bloomer วันนี้ ขอให้ทำดีให้สุดในจุดของเรา แล้วดอกไม้จะค่อย ๆ เบ่งบานเอง 

อย่ามองแต่ข้างหน้า จนลืมมองคนข้าง ๆ

หลายคนกำลังวิ่งไปข้างหน้าเพื่อแสวงหาความสำเร็จหรือการพิสูจน์ตน แต่อย่าลืมว่า ยิ่งเราเดินไปข้างหน้าเร็วแค่ไหน เราอาจกำลังหลงลืมใครบางคนไว้ระหว่างทางได้มากเท่านั้น

คนมากมายทำแต่งานเพื่อหาความสำเร็จ แต่น่าเศร้าคือเมื่อสำเร็จแล้วกลับไม่รู้จะหันไปยินดีกับใคร ในชีวิตเราควรมีใครสักคน ที่พร้อมจะรับฟังเรื่องราวความสำเร็จว่าเราเจ๋งแค่ไหน หรือใครที่หันไปร้องไห้แล้วปลอบใจเราได้ เมื่อเจอคน ๆ นั้นแล้ว ให้ดูแลใจเขาให้ดี อย่าหลงลืมเขาไว้ลำพังระหว่างทาง

เพราะวัน เวลา ที่ดีที่สุดคือ วันนี้ ขอให้ลืมตาตื่นมาทุกวัน แล้วสะสมความทรงจำกับคนที่เรารัก เมื่อถึงวันที่เราถึงเส้นชัย จะได้ไม่อ้างว้างเกินไปที่ยืนอยู่คนเดียว

“สุขก็ต้องมีคนให้เล่า เศร้าก็ต้องมีคนให้ฟ้อง
อย่ามัวแต่มองไปข้างหน้า จนลืมมองข้าง ๆ
ความสำเร็จจะอ้างว้าง ถ้าไม่มีคนเคียงข้างฉลองด้วย”

สถานการณ์ออฟฟิศเป็นพิษที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย หลายบริษัทกำลังมีนโยบายเพื่อดูแลใจพนักงาน เช่น บริษัทในอังกฤษ ทดลองให้พนักงานทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ด้วยสูตร 100-80-100 คือ จ่ายเงินเดือน 100% มีวันทำงาน 80% แต่มีประสิทธิภาพ100% 

จากการทดลองใช้ระบบนี้ 1 ปี พบว่า พนักงานมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นหลายเท่า burn out น้อยลง ซึ่งพนักงานหลายคนใช้ 3 วันที่เหลือในสัปดาห์ ไปกับการพักผ่อน ดูแลครอบครัว รวมทั้งประกอบอาชีพเสริม เช่น ร้านกาแฟ เพื่อให้สมองได้ทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากงานประจำ ซึ่งตอนนี้ญี่ปุ่นกำลังจะทดลองใช้โมเดลนี้เช่นกัน

แม้ว่าในบ้านเราอาจยังไปไม่ถึงตรงนั้น แต่ขอให้มั่นใจว่าหลายองค์กรกำลังตระหนักเรื่องสุขภาพใจพนักงานเป็นสำคัญ ระหว่างนี้ชาวออฟฟิศอย่างเราก็คงต้องประคับประคองจิตใจอันเหนื่อยล้า กล้าหยุดพัก และมองหาความสุขเล็ก ๆ รายวันที่เกิดขึ้นให้เจอไปก่อน

“เพราะความสุขไม่ได้อยู่ที่เรามีอะไร
แต่อยู่ที่เรา รู้สึกยังไงกับสิ่งที่มี”

ดีเจพี่อ้อย ทิ้งท้าย

Author

Alternative Text
AUTHOR

ปุณยอาภา ศรีคิรินทร์

Transmedia Journalist

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

นภัทร น้อยบุญมา