Kaset Neighborhood ลบรอยร้าวชุมชน ริมรั้ว ม.เกษตรฯ

การพัฒนาเมืองที่ดี ต้องเติบโตคู่ไปกับชุมชน คงเป็นได้เพียงนิยามสวยหรู เพราะในความจริงมีหลายบทเรียนที่การพัฒนามาพร้อมกับความขัดแย้ง โดยเฉพาะในย่านชุมชนเก่าแก่

กรณีไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 26 ปี มหากาพย์การเวนคืนที่ดินย่านจุฬาฯ-อุเทนถวาย ต่างสร้างรอยร้าวให้กับชุมชนท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวทางการจัดการปัญหาของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร

ไม่ต่างจากจุดสำคัญในย่านบางเขน อย่าง พื้นที่ชุมชนเก่าแก่รอบรั้ว ‘มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์’ ก็เต็มไปด้วยเรื่องราว ประวัติศาสตร์ของความเป็นเมือง แต่ก็แลกมาด้วยความขัดแย้ง

เมื่อ ม.เกษตรฯ เติบโต และพัฒนาไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว สวนทางชุมชนเก่าแก่ริมรั้วที่อาจถูกละเลย และทิ้งไว้ข้างหลัง ซ้ำเติมด้วยอคติ และมายาคติ ของ 2 ฝ่าย จนสร้างบาดแผลลึกที่แทบไม่เคยได้รับการแก้ไข

ต้นสายปลายเหตุอยู่ตรงไหน ? แล้วทางไปต่อของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ? The Active ชวนคุยกับ ผศ.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ภควัต อรุณอังศุธร ผู้ก่อตั้งคณะก่อการย่านเกษตร เพื่อบอกเล่าถึง ม.เกษตรฯ กับพื้นที่เก่าแก่ระแวกบ้าน

ผ่านการรังสรรค์พื้นที่ ‘Kaset Neighborhood’ ในย่านเกษตรฯ – บางบัว ส่วนหนึ่งของเทศกาลงาน ออกแบบกรุงเทพ ฯ หรือ Bangkok Design Week (BKKDW) 2024 หวังเชื่อมความเข้าอกเข้าใจกันของมหาวิทยาลัย และชุมชน ไม่ให้กลายเป็นคนแปลกหน้ากันอีกต่อไป

ชุมชน ‘ดินแดนต้องห้าม’ มายาคติที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น

ภควัต บอกว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน คือสถานศึกษาขนาดใหญ่ ที่กินพื้นที่กว่า 848 ไร่ มีชุมชนเก่าแก่อย่าง ‘ชุมชนโรงสูบ’ และ ‘ชุมชนบางบัว’ อยู่ข้างเคียง ด้วยความเป็นสถาบันการศึกษา และภายในมีหน่วยงานรัฐหลายแห่ง ทำให้พื้นที่แห่งนี้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่ต่างจากเมืองย่อม ๆ ซึ่งแตกต่างจากชุมชนรอบล้อมอย่างสิ้นเชิง

นั่นเป็นที่มาถึงสิ่งที่นิสิต และบุคลากรใน ม.เกษตรฯ ต่างเล่าขานกันจนเป็นตำนานว่า ชุมชนรอบนอกเปรียบเสมือนดินแดนต้องห้าม ที่ไม่มีนิสิตคนไหนกล้าเข้าไป จากเสียงร่ำลือทั้งเรื่องความรุนแรง อาชญากรรม หรือแม้แต่ปัญหายาเสพติด จนกลายเป็นมายาคติที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

“ผมเคยได้ยินเรื่องเล่าว่า มีรุ่นน้องไปรับงานเพนท์กำแพงที่คณะสิ่งแวดล้อมซึ่งอยู่ติดกับชุมชน มีชาวบ้านปาขวดใส่ หรือแม้กระทั่งโดนไล่แทง จน ม.เกษตรฯ เคยพยายามปิดรั้วกั้นรอบชุมชน เหมือนเป็นเขตฉนวนเพื่อให้คนข้างในปลอดภัย แต่มันกลับดูเหมือนเรากำลังไปล้อมชาวบ้านเขาไว้ ตอนนั้นเราไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น จึงเริ่มตั้งคำถามจากจุดนั้น”

ศิษย์เก่าคณะสถาปัตย์ เล่าที่มาที่ไป
ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

ผศ.ศรัญญู อธิบายเสริมว่า เรื่องเล่าลักษณะนี้มีมาตั้งแต่สมัยที่ตนยังเป็นนิสิตด้วยซ้ำ และไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในหลาย ๆ ชุมชนก็มีความขัดแย้งลักษณะนี้ ซึ่งมีรากฐานมาจากปัญหาที่สะสมต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน

“สมัยที่ผมยังเป็นนิสิตที่นี่ (พ.ศ. 2546) ที่นั่นคือชุมชนชายขอบ และได้ขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนต้องห้าม คำบอกเล่าจากรุ่นพี่คือที่นั่นเป็นชุมชนแออัด มีทั้งโจร ยาเสพติด บางคนที่เข้าไปโดนเอาปืนมาขู่และทำร้ายร่างกาย ตอนนั้นมันเต็มไปด้วยคำร่ำลือ ทั้ง ๆ ที่เราแทบไม่รู้จักชุมชนเลยด้วยซ้ำว่าเขาเป็นใคร”

ผศ.ศรัญญู ขยายความ

ในอดีต ที่ดินบริเวณชุมชนโรงสูบ แทบไม่เคยได้รับการพัฒนา จนกระทั่งมีตัดถนนเชื่อมมหาวิทยาลัย จากการพยายามขยายพื้นที่ของมหาวิทยาลัย บ้านเรือนในชุมชนถูกเวนคืน ชาวบ้านเก่าแก่ต้องตกอยู่ในสถานะผู้เช่า และนี่อาจเป็นหนึ่งในชนวนเหตุของความขัดแย้งและรุนแรงมากยิ่งขึ้น แต่ในทางกลับกัน ก็มีชาวบ้านจากชุมชนจำนวนมาก ที่เข้ามาเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย

ชุมชนโรงสูบ เขตจตุจักร กทม.

“เขาบอกกันว่าบ้านแทบทุกหลังต้องมีอย่างน้อยคนหนึ่งที่ทำงานใน ม.เกษตร ฯ อาจเป็นการพูดเกินจริงไปบ้าง แต่เราคิดว่าพวกเราอยู่กันด้วยความสัมพันธ์แบบนี้ ยังไงก็แยกตัดขาดกันไม่ได้ และแม้ว่า ม.เกษตร ฯ จะพัฒนาไปแค่ไหน แต่เมื่อคุณเข้าไปในชุมชนโรงสูบ ก็จะเจอกับชุมชนแออัดและถนนลูกรัง มันแตกต่าง เหลื่อมล้ำกันขนาดนั้น แต่ในขณะเดียวกันคนในชุมชนก็เข้ามาทำงานใน ม.เกษตรฯ มันมีความลักลั่นมาก”

ภควัต บอกเล่าจากการพูดคุยกับชาวบ้าน ตอนลงพื้นที่ชุมชน

“ผมคิดว่าความขัดแย้งมันอาจเกิดจากการที่เราไม่รู้จักกัน ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยไม่เคยปฏิสัมพันธ์กับชุมชน เราไม่ได้ดูแลเขาดีเท่าที่ควร มันทำให้เขาตั้งกำแพงบางอย่างไว้ พอมีเหตุการณ์ว่าเราเข้าไปยุ่งวุ่นวาย เขาย่อมต้องป้องกันตัว และสุดท้ายก็กลายเป็นคนแปลกหน้ากันทั้ง 2 ฝ่าย”

ผศ.ศรัญญู กล่าวเสริม

 ‘Kaset Neighborhood’ เชื่อมชุมชน – มหาวิทยาลัย เพื่อให้ย่านนี้ เป็นของคนทุกคน

ปัญหาจากความไม่เข้าใจกัน ทำให้ คณะก่อการย่านเกษตร เริ่มหาทางออกแบบ ว่าควรมีกิจกรรมที่ช่วยลดช่องว่าง และมายาคตินี้ลงได้บ้าง เป็นที่มาของการสร้างพื้นที่ตรงกลางที่ถูกให้นิยามว่า ‘Kaset Neighborhood’ ในย่านเกษตรฯ – บางบัว เพื่อให้เป็นพื้นที่เชื่อมชุมชน และมหาวิทยาลัยเข้าไว้ด้วยกัน สอดคล้องกับคอนเซปต์ของงาน Bangkok Design Week (BKKDW) 2024 ด้วยธีม ‘Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี’

“เราตีโจทย์ว่าเมืองที่ดีควรต้องเป็นเป็นเมืองที่เป็นมิตร ซึ่งการที่เมืองจะเป็นมิตรได้ ผู้คนต้องมีความสัมพันธ์กัน ถ้าชุมชนเริ่มรู้จักเรา เราเริ่มรู้จักชุมชน ทั้ง 2 ฝ่ายจะรู้สึกปลอดภัย เราอยากให้ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นกับทุกคน ไม่ใช่มีแต่ความขัดแย้งแบบที่เราเคยได้ยินมาก่อนหน้า”

ภควัต อธิบาย
ภควัต อรุณอังศุธร ผู้ก่อตั้งคณะก่อการย่านเกษตร

ทีมงานใช้วิธีลงสำรวจชุมชนเพื่อค้นหาสิ่งที่เป็น ‘ต้นทุน’ ของชุมชน และพบว่ามีร้านอาหารเลิศรสซ่อนตัวอยู่ไม่ไกล แต่คนใน ม.เกษตรฯ แทบไม่รู้จัก จึงกลายเป็นที่มาของ ‘ตลาดผูกปิ่นโต’ ที่ให้คนในชุมชนมาออกร้านขายอาหาร ชุมชนก็ได้รายได้ บุคลากรใน ม.เกษตรฯ ก็ได้ลายแทงร้านอร่อย หรือการฉายหนังกลางแปลง และการเปิดฟลอร์เต้นรำ ที่ชวนให้ทุกคนออกมาใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน รวมไปถึงการเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์อาคารสถานที่เก่าทั้งในย่านชุมชนและใน ม.เกษตรฯ เองด้วย

“เราเริ่มจากการลงไปทำกระบวนการในชุมชนแล้วพบว่าในตรอกซอกซอยมีร้านอร่อยเต็มไปหมด แต่ใครจะกล้าเดินเข้ามา เราอยากให้คนใน ม.เกษตรฯ รู้จักว่ามันมีร้านแบบนี้อยู่ในชุมชนใกล้ ๆ และคนในชุมชนเองก็ได้เอาของดีของตัวเองออกมาขายด้วย จนในที่สุดก็เกิดเป็น catalyst project อย่าง ตลาดผูกปิ่นโต ที่แม้จะเป็นกิจกรรมเล็ก ๆ แต่เราเชื่อว่าจะจุดประกายและสร้างแรงกระเพื่อมได้”

ภควัต สะท้อนภาพที่เกิดขึ้น

เพราะตลาดไม่ได้เป็นแค่พื้นที่ซื้อขายสินค้า แต่เป็นพื้นที่ตรงกลางที่ให้ทุกฝ่ายเกิดปฏิสัมพันธ์ มีการพูดคุย พึ่งพากันและเห็นถึงความสำคัญของอีกฝ่าย สิ่งเหล่านี้จะ ช่วยลดช่องว่างการเป็นคนแปลกหน้ากันและกันได้ในระดับหนึ่ง และนี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม ? ตลาดจึงมีความสำคัญกับทุกชุมชน

“ม.เกษตรฯ จัดงานเกษตรแฟร์ทุกปี หรือมีตลาดนัดประจำสัปดาห์ เราจะเห็นคนในชุมชน มาออกร้านขายของ บุคลากรก็เดินจับจ่าย ความสัมพันธ์แบบหลวม ๆ ตรงนี้สำคัญมาก ในการสร้างความคุ้นเคย และมีพื้นที่ตรงกลางร่วมกันอย่างเท่าเทียม”

ผศ.ศรัญญู ขยายความ

ในขณะที่งานอนุรักษ์สถาปัตยกรรมบ้านเรือน หรืออาคารเก่าก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คณะผู้จัดให้ความสำคัญ ด้วยความที่ชุมชนและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีประวัติศาสตร์ร่วมกันมาอย่างยาวนาน ในชุมชนเองมีอาคารบ้านเรือนเก่าแก่ มหาวิทยาลัยเอง ก็มีอาคารโบราณหลายแห่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และทำการศึกษา

“ในงานนี้จะมีการจัดแสดงภาพถ่ายเก่าและภาพวาด เราตั้งใจให้คนในชุมชนส่งภาพถ่ายในอดีตเข้ามาเพื่อนำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการ เราหวังว่าเมื่อคนในชุมชนได้เห็นแล้ว จะรู้สึกมีปฏิสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยมากขึ้น หรืออย่างน้อยก็ได้รับรู้ว่าฝั่งมหาวิทยาลัยยินดีต้อนรับและไม่เคยกีดกั้นเขาออกไปจากพื้นที่เลย”

พัฒนาเมือง โอกาสนี้เพื่อใคร ?

เมื่อความขัดแย้งระหว่างพื้นที่เมืองและชุมชนโดยรอบไม่ใช่เรื่องใหม่ เราได้เห็นดรามาเรื่องการจัดงาน Bangkok Design Week 2024 เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ จนนำมาสู่การตั้งคำถามของสังคมว่าแท้จริงแล้วกิจกรรมนี้ จัดเพื่อใคร ? และ ชุมชนได้รับประโยชน์จริงหรือไม่ ? หรือแท้จริงแล้วเป็นเพียงการใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมของพื้นที่เพื่อหาผลประโยชน์จากคนบางกลุ่มเท่านั้น

ผศ.ศรัญญู ย้ำว่า ในหลายพื้นที่อาจจัดงานเพื่อแสดงผลงานของคนบางกลุ่ม แต่ไม่ได้สร้างความก้าวหน้าให้ชุมชนในระยะยาว ในอดีต ชุมชนอาจได้ประโยชน์จริง แต่ตอนนี้อาจกลายป็นนายทุน หรือคนหน้าใหม่ที่เข้าไปจัดการพื้นที่แทน

อย่างที่เห็นในย่านบางรัก เจริญกรุง หรือทรงวาด กระบวนการเหล่านี้ อาจเป็นเพียงการเปลี่ยนผู้ได้รับผลประโยชน์ไป สิ่งที่ต้องสนใจคือวิธีที่รัฐดูแลประชาชนต่างหาก

กรณีดังกล่าวอาจเชื่อมโยงกับกระบวนการ ‘Gentrification’ หรือ การแปลงพื้นที่เพื่อเปลี่ยนชนชั้น คือเมื่อมีนายทุนเข้ามาในพื้นที่ จะเกิดการขับเคลื่อนเศษฐกิจ ทำให้มูลค่าของสิ่งต่าง ๆ ในพื้นที่นั้นพุ่งสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้าวปลา อาหาร รวมถึงที่อยู่อาศัย

สุดท้ายแล้ว ชาวบ้านดั้งเดิมในชุมชนจึงเลือกย้ายออกเพราะแบกรับค่าครองชีพไม่ไหว เหลือไว้แต่หลักฐานแห่งการพัฒนาเมืองของนายทุน การเปลี่ยนไปของเมืองเช่นนี้ อาจยังไม่สามารถสรุปได้ว่าแบบใดคือสิ่งที่ดี หรือต้องสร้างความพึงพอใจให้กับฝ่ายใด เพราะนับวันเมืองยิ่งต้องพัฒนาไปข้างหน้าในขณะที่การอนุรักษ์ก็มีราคาที่ต้องจ่ายไม่น้อย

“ลองนึกดูว่าถ้ามีเจ้าของบ้านสักคนในย่านชุมชนคิดอยากปรับปรุงบ้านเก่าแก่ เขาต้องใช้ต้นทุนไม่น้อยในการบูรณะอาคารเก่า คงไม่น่าแปลกใจ ถ้าเขาอยากจะเปลี่ยนบ้านไปเป็นแบบอื่นที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า แล้วถ้าอยู่มาวันหนึ่ง มีนายทุน หรือใครสักคนเดินมาบอกเขาว่า บ้านนี้เก่าแก่ ต้องอนุรักษ์ไว้ ห้ามเปลี่ยนไปเป็นแบบอื่น คำถามคือ เจ้าของบ้านเอง ? หรือใคร ? ที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมหาศาลในกระบวนการอนุรักษ์นั้น”

ภควัต สะท้อนมุมมอง

“เพราะแต่ละชุมชนมีต้นทุนต่างกัน หลายแห่งไม่ได้มีความเข้มแข็งหรือเห็นคุณค่าในรากเหง้าตัวเองมากพอ สุดท้ายก็จะต้านทานการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่โลกยังคงหมุนไปข้างหน้าทุกวัน เราปฏิเสธการพัฒนาไม่ได้ แต่หาตรงกลางร่วมกันได้ ทำอย่างไรให้เมืองยังคงพัฒนาต่อไปในขณะที่ชุมชนยังเข้มแข็งไปพร้อม ๆ กัน”

ถึงตรงนี้ การพัฒนาคงไม่ใช่แค่เรื่องของใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเมืองหรือชุมชนโดยรอบ รวมถึงรัฐที่ต้องหาแนวทางจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่ทำให้การอนุรักษ์และการพัฒนาเดินหน้าไปได้ด้วยกันภายใต้ความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ให้สมดุลที่สุด

“เพราะการพัฒนาไม่ใช่เรื่องตัวใครตัวมันแต่มันต้องมองไปถึงเพื่อนบ้านรอบ ๆ ด้วย การเรียนรู้อดีต รู้จักรากเหง้า จะทำให้เรารู้จักตัวเองและคนรอบข้าง ซึ่งมันอาจทำให้เราหาทางตรงกลางได้ว่าการพัฒนามันควรจะไปในทิศทางไหนกันแน่” 

ผศ.ศรัญญู ทิ้งท้าย

Author

Alternative Text
AUTHOR

ปุณยอาภา ศรีคิรินทร์

Transmedia Journalist

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

วราพร อัมภารัตน์

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

กัลยกร สมศรี

นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล