ตายแล้วไปไหน?: หากต้องตายเพราะโควิด-19

“ไม่ใช่เฟกนิวส์”

คือ คำยืนยันจากที่ปรึกษากลุ่มคลองเตยดีจัง และอาสาสมัครที่ทำงานกับคนไร้บ้าน รวมถึงเจ้าหน้าที่กู้ชีพกู้ภัย ที่พบคนล้มลงต่อหน้า เพราะป่วยจากโควิด-19

บางคนเสียชีวิต…

ความตายที่ปรากฏอยู่บนท้องถนน หรือตายอยู่ในบ้าน ภาพเหล่านี้ นอกจากสร้างความสงสัยให้สังคมถึงขั้นตอนการจัดการกับศพ ได้นำมาสู่การตั้งคำถามว่า “ตายแล้วไปไหน?” โดยเฉพาะหากต้องตายในวิกฤตโรคระบาด

ตายแล้วไปไหน? 

คือ คำถามเพื่อหาคำตอบหลังความตาย ว่าหากมนุษย์สิ้นลมหายใจ หลังจากนั้นต้องไปไหน ใครตอบได้?

หากเชื่อเรื่องบาปบุญ แล้วช่วงที่มีชีวิตอยู่ประพฤติดี สร้างบุญ สร้างกุศล ก็มีความเชื่อว่าจะได้ขึ้นสวรรค์ แต่หากประพฤติตรงกันข้าม คงต้องตกนรก

หรือหากเป็นแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ มองว่า คนตาย สุดท้ายก็กลายเป็นสสารที่ลอยในอวกาศ หรือกลายเป็นธุลีดิน 

ส่วนผู้ป่วยโควิด-19 เป็นแล้วรักษาหาย “เกือบทั้งหมด” อัตราการตายจากโรคยังไม่คงที่ อยู่ที่เกือบ 1% มีตัวแปรสำคัญ คือ ไวรัสที่กลายพันธุ์และความรวดเร็วในการเข้าถึงการรักษา

แต่ทุกวันก็มีคนตาย…และการตายไม่ใช่แค่ตัวเลข ที่เราต้องคุ้นชิน

The Active ชวนตามหาคำตอบระยะใกล้กว่าการถามหาชีวิตหลังความตาย และเริ่มต้นจากคำถามง่าย ๆ ว่า หากตัวเราตาย ร่างที่ไร้วิญญานของเราจะไปอยู่ที่ไหน?

ตายแล้วไปไหน? ในทางความเชื่อและศาสนา

ในภาวะปกติ ร่างของผู้วายชนม์จะถูกนำไปประกอบพิธีทางศาสนาหรือความเชื่อ มีขั้นตอนและพิธีกรรมต่างกันออกไป

ศาสนาพุทธ

การจัดพิธีงานศพของชาวไทยพุทธ ค่อนข้างซับซ้อน มีรายละเอียด และหลายขั้นตอน เริ่มต้นจาก การอาบน้ำศพ ที่ญาติของผู้ตายจะทำการอาบน้ำศพให้ร่างกายสะอาด ซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้จากไปสู่โลกอื่นอย่างบริสุทธิ์ เตรียมบรรจุโลง ด้วยการจัดศพผู้ตายให้นอนหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก จัดแต่งซองหมากพลู ดอกไม้ ธูปเทียนให้ผู้ตายถือไว้แล้วคลุมด้วยผ้า จัดเตรียมโลง อาบน้ำ และแต่งตัวศพ นิมนต์พระภิกษุทำพิธีมัดตราสังข์ และนำศพบรรจุโลง ต่อด้วยการจัดงานบำเพ็ญกุศล แต่หากผู้เสียชีวิต ตายแบบผิดธรรมชาติหรือก่อนวัยอันควร อาจตั้งบำเพ็ญกุศลเพียงหนึ่งคืน แล้วทำการฌาปนกิจ หรือเผาให้เร็วที่สุด

ศาสนาอิสลาม

ศาสนาอิสลาม มีความเชื่อเรื่องพระเจ้าเป็นหนึ่งและหาที่เปรียบไม่ได้ ในส่วนของงานศพ จะทำ เรียบง่ายและรวดเร็ว ส่วนใหญ่ใช้เวลาแค่วันเดียว ซึ่งการจัดการศพของมุสลิมมี 4 ขั้นตอน ขั้นแรก ให้คนในครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิดมาอาบน้ำศพ ถ้าผู้ตายเป็นชาย ผู้อาบก็ต้องเป็นผู้ชาย ถ้าผู้ตายเป็นหญิงผู้อาบก็ต้องเป็นผู้หญิง แล้วห่อศพด้วยผ้าขาวสะอาด เรียกว่า ‘ผ้ากะฝั่น’ บางแห่งอาจให้ผู้ตายสวมชุดละหมาดสีขาวแล้วห่อด้วยผ้ากะฝั่นทับอีกชั้น จากนั้นก็เคลื่อนศพไปยังมัสยิด ครอบครัวและญาติมิตรจะมาร่วมกันขอพรและละหมาดอุทิศให้ผู้ล่วงลับ และขั้นตอนสุดท้ายคือเคลื่อนศพไปที่กุโบร์ (สุสาน) แล้วนำศพลงฝังในหลุมที่ขุดไว้ โดยให้ศพนอนตะแคงหันหน้าไปยังทิศของกะบะฮ์ที่กรุงเมกกะฮ์ในประเทศซาอุดิอาระเบีย (ในประเทศไทยคือทิศตะวันตก)

กลุ่มชาติพันธุ์ (ปกาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยง)

กลุ่มชาวเขา ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง หรือ ‘ปกาเกอะญอ’ แต่เดิมจะนับถือผี หากมีการตายของคนในชุมชน จะปฏิบัติต่อศพอยู่ 2 อย่างหลัก ๆ คือ ‘ฝังศพ’ ในป่าช้า หรือ ‘เผา’ ทุกคนในหมู่บ้านจะหยุดทำงาน เพราะถือเป็นข้อห้าม ซึ่งลำดับขั้นตอนของการทำพิธีคือ ญาติจะอาบน้ำศพ และนำเสื้อผ้าใหม่ ๆ มาสวมใส่ให้เสร็จ แล้วจะห่อศพ ส่วนศพผู้มีฐานะดีจะบรรจุไว้ในโลงที่ประดับอย่างสวยงาม ส่วนผู้มีฐานะไม่ดีจะใช้เสื่อห่อศพ โดยใช้ด้ายดิบมัดศพและเตรียมสัมภาระให้แก่ศพ เพื่อทำความร่มรื่นให้ศพ ขณะเดินทางกลับไปยังโลกหน้า ตามความเชื่อ

ตกเย็น ขับลำนำส่งวิญญาณศพ โดยชายหนุ่มและพ่อบ้านเท่านั้น ผู้หญิงจะขับลำนำนี้ไม่ได้ ถือเป็นสิ่งต้องห้าม และก่อนปลงศพ หรือเข้าใจกันง่าย ๆ คือการเผาผีหรือฝังศพ จะมีการเตรียมข้าวของให้ศพ เช่น ย่าม มีด หม้อ ชาม ถ้วย ไม้ขีดไฟ เชื้อมัน เชื้อข้าว กล้ากล้วย ยาสูบ หมาก พลู ซึ่งให้ความหมายถึงว่า ในโลกหน้าวิญญาญจะต้องไปทำมาหากินเหมือนกับชีวิตในโลกนี้เช่นกัน

ชาวเล

ชาวเลเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยตามเกาะ ชายหาด หรือชายฝั่งทะเล เมื่อมีคนตายจะใช้วิธีการฝังศพที่สุสานที่ชายหาดหรือชายฝั่งทะเลนั้น ๆ ด้วยเชื่อว่าที่นั่นเป็นพื้นที่พิธีกรรม เป็นแหล่งรวมจิตวิญญาณ ซึ่งสืบทอดจารีตประเพณีของชาวเลที่มีมาดั้งเดิม คนเหล่านี้นับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์และวิญญาณต่าง ๆ ในธรรมชาติ รวมทั้งวิญญาณบรรพบุรุษ ดังนั้น สุสานคือพื้นที่สุดท้ายของชีวิตที่ถือว่ามีความสำคัญมากกับคนชาวเล การทำพิธีเกี่ยวกับฝังศพจะมีผู้นำ ที่เรียกว่า ‘หมอดอย’ เป็นคนชี้จุดที่จะฝังซึ่งมักอยู่ใกล้กันในกลุ่มครอบครัว บริเวณด้านบนหลุมศพแต่เดิมจะไม่มีสัญลักษณ์อะไร มีเพียงเทียนและข้าวของเครื่องใช้ของผู้ตายวางไว้

ปัจจุบันชาวเลส่วนใหญ่ได้ผสมผสานเอาศาสนาพุทธเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและประเพณี หากเมื่อมีคนตาย ก็จะมีการนิมนต์พระมาสวด แต่หลังจากนั้นก็จัดการกับศพโดยการนำไปฝังที่สุสานตามขนบประเพณีเดิม

ตายแล้วไปไหน? ในภาวะโควิด-19

แต่ในช่วงโรคระบาด ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ร่างจะต้องถูกห่อด้วยถุงซิปกันน้ำอย่างน้อย 2 ชั้น และใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคทาด้านนอกถุงเก็บศพ ก่อนเคลื่อนออกจากโรงพยาบาลหรือสถานที่เสียชีวิตให้เร็วที่สุด แล้วถูกส่งไปประกอบพิธีตามหลักศาสนาอย่างรวดเร็ว อาจเผาหรือฝัง และจะต้องจัดการภายใน 24 ชั่วโมง

ร่างไร้ลมหายใจ ไม่สามารถนำกลับไปประกอบพิธีที่บ้านหรือที่วัดได้อย่างเช่นเคย ไม่มีการอาบน้ำศพ รดน้ำศพ และฉีดยารักษาศพ ร่างนั้นจะถูกบรรจุพร้อมถุงลงในโลงศพ และปิดฝาโลงให้สนิททันที

ร่างที่สิ้นลมหายใจในพื้นที่สาธารณะ ในภาวะโควิด-19

หากจะใช้คำว่า ล้มลงและถูกทิ้งไว้ในที่สาธารณะ ก็อาจจะเป็นคำที่รุนแรงและหดหู่เกินไป แต่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ ที่ประชาชนเข้าไม่ถึงระบบการรักษาได้อย่างทันท่วงที ทั้งระบบการรักษาที่บ้าน หรือนอนเตียงในโรงพยาบาล

กลางเดือนกรกฎาคม เป็นช่วงแรกที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันแตะหมื่นคน พร้อม ๆ กับข่าวคนเสียชีวิตในที่สาธารณะรายวัน บางรายต้องรอนานถึง 6 ชั่วโมง จึงจะมีเจ้าหน้าที่มาจัดการกับศพ

บางคนเป็นคนไร้บ้าน บางคนเป็นคนมีอาชีพ มีคนรู้จัก…

คนที่พบเห็น ทำได้แค่มองอยู่ห่าง ๆ เพราะภาวะของโรคระบาด การจะตัดสินใจช่วยเหลือหรือเคลื่อนย้ายร่างที่ล้มลง แม้อยู่ต่อหน้า แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้เลย 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า นับตั้งแต่การระบาดระลอกใหม่ เป็นอีกข้อพิสูจน์ว่าการคาดการณ์ของรัฐหรือการวางแผนรองรับและแก้ปัญหาในสถานการณ์นี้ ยังทำได้ไม่ดีพอ

ความตายที่เกิดขึ้น เกิดจากความผิดพลาดของระบบหรือปัญหาเชิงโครงสร้าง

นภนาท อนุพงศ์พัฒน์ ผู้อำนวยงาน มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา และที่ปรึกษากลุ่มคลองเตยดีจัง เล่าให้ฟังว่า เหตุการณ์ล้มตายในที่สาธารณะที่ไทยประสบอยู่ตอนนี้ ต่างประเทศก็เกิดขึ้นและเขาก็รับมือได้ แต่ก็ใช้เวลาพอสมควร ขณะที่ต่างประเทศเขาผ่านไปแล้ว แต่ไทยกลับกำลังประสบปัญหา

ไม่ใช่ว่าปัญหาการตายจากโรคระบาดไม่เคยเกิดขึ้นในไทย ในอดีตการตายด้วยโรคระบาด มีจำนวนการตายมากกว่านี้ แต่ทุกวันนี้ตัวเลขลดลงเพราะการพัฒนาของเทคโนโลยีและการแพทย์

โควิด-19 เป็นปรากฏการณ์ในรอบ 100 ปี เพียงแต่ท่าทีและการจัดการกับความตายก็แตกต่างกันตามสมัยและบริบท

จากการศึกษาประวัติศาสตร์ความตายและความเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ต่อชีวิตในสังคมไทย ใน “วัฒนธรรม ความตาย กับวาระสุดท้ายของชีวิต คู่มือการเรียนรู้มิติสังคมของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย” นภนาท บอกว่าในอดีต หากหมู่บ้านไหนเกิดโรคระบาดร้ายแรง ผู้ป่วยจะต้องถูกกักกันให้อยู่รวมกัน แยกออกจากคนที่ไม่ป่วย หากบ้านไหนมีคนตาย บ้านหลังนั้นจะถูกเผาไปพร้อมกับร่างของเจ้าของบ้าน หรือหากหมู่บ้านไหนมีคนตายจำนวนมาก ก็มักใช้วิธีการย้ายหมู่บ้าน ไปบุกเบิกที่แห่งใหม่เพื่อลงหลักปักฐานสร้างชุมชน

“การตายที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 เป็นความตายที่มันน่าจะป้องกันหรือว่าจัดการได้ แต่ตอนนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการจัดการเชิงโครงสร้าง ส่งผลให้การตายเพิ่ม ประชาชนหลายคนสะท้อนว่าเป็นการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นปัญหาเชิงระบบ มันเกิดจากโครงสร้างที่ไม่ดีนะ ซึ่งผมก็มองว่ามันเป็นความจริงอยู่ไม่น้อย”

ปัญหาการจัดการเชิงระบบนี้ ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การจัดการศพของผู้ที่ตายในพื้นที่สาธารณะในภาวะโรคระบาด มันไม่ถูกจัดการ อย่างทันทีทันใด

ภาวะปกติ จัดการกับศพนิรนามอย่างไร

“เพลง” สุพัพตรา หวังสันติ คือหนึ่งในทีมอาสากู้ภัยกู้ชีพ ฮุก 31 จังหวัดยโสธร (มูลนิธิพุทธธรรม 31) ที่ทำงานในสนามเก็บกู้ร่างผู้เสียชีวิต

“นอนรอความตาย และนอนตายข้างถนน เกิดขึ้นกับประชาชนภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้” และ “ทุกการตาย มีสาเหตุของการตาย” คือสิ่งที่ เพลง สุพัพตรา เริ่มบทสนทนา

เธออธิบายต่อว่า หลัก ๆ จะแบ่งการตายออกเป็น 2 อย่าง คือ ตายแบบธรรมชาติ หมายถึงตายด้วยอาการเจ็บป่วย และตายแบบผิดธรรมชาติ คือ ฆ่าตัวตาย ตายจากอุบัติเหตุ ถูกทำให้ตาย ถูกสัตว์ทำร้าย และตายแบบไม่ทราบสาเหตุ

หากพบประชาชนตายในที่สาธารณะ ที่เกิดขึ้นอย่างแรก คือ สันนิษฐานว่าเป็นการตายแบบไม่ทราบสาเหตุ ยังไม่มีผู้ทราบเหตุการณ์ และอาการของผู้ตายก่อนเสียชีวิตแน่ชัด

“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ มันทำให้เราเห็นว่าสาเหตุของการตายคือ เขามีโรคประจำตัว และส่วนหนึ่งเขาติดโควิด-19 แต่เข้าไม่ถึงเตียงหรือเข้าไม่ถึงการรักษาอย่างท่วงทันเวลา”

การจัดการกับศพนิรนามในพื้นที่สาธารณะ ในสภาวะไม่ปกติ

การลงพื้นที่เพื่อเก็บร่างผู้เสียชีวิต จะมีการแจ้งจากผู้อยู่ในพื้นที่ หรือญาติโทรแจ้งไปยัง 191 หรือ 1669 และประสานงานเรียกกู้ชีพกู้ภัย ขณะเดียวกันก็ทำงานร่วมกับทีมแพทย์นิติเวชและตำรวจในพื้นที่

ในภาวะการระบาดโควิด-19 ทุกอย่างต้องมีลำดับขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นมา รวมถึงเวลาในการเตรียมตัวลงพื้นที่ เจ้าหน้าที่จะมีความเคร่งครัดและรัดกุมมากขึ้น ชุดที่ใช้ในการปฏิบัติงานก็จะแต่งแบบ Isolation Gown ใส่ Face shield ใส่ถุงมือ ใส่หน้ากากอนามัย

ภาพ: กู้ภัยฮุก 31 ยโสธร

และหากได้รับแจ้งหรือพอทราบมาว่าบุคคลนิรนามนั้นมาจากพื้นที่เสี่ยง หรือได้รับแจ้งว่ามีการติดเชื้อ ก็จะแต่งตัวด้วย PPE เต็มชุด และอีกกรณี ที่ต้องใส่ชุด PPE ป้องกัน คือผู้ที่เสียชีวิตจากโรคปอดอักเสบรุนแรงเฉียบพลัน

“ถ้าเป็นช่วงนี้ตายไม่ทราบสาเหตุในพื้นที่สาธารณะ และไม่ทราบว่าใครจะแต่งตัวเต็มยศใส่ชุด PPE และร่างผู้เสียชีวิตจะไม่ถูกเก็บไว้นานเกิน 24 ชั่วโมง จะไม่มีการตรวจเชื้อเพราะทีมงานเองก็ไม่แน่ใจว่าผู้เสียชีวิตได้รับเชื้อมาหรือเปล่า”

และอีกหนึ่งปัญหาของการทำงานที่ล่าช้า อาสากู้ภัยเปิดเผยว่า ในภาวะโรคระบาด มีจำนวนอาสาน้อย ไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการปฏิบัติงานก็มีไม่เพียงพอ

ด่านหน้าในการเก็บศพ คือ กู้ภัยก็จริง แต่ในช่วงเวลาแบบนี้ มีทีมทำงานน้อย เพราะไม่ใช่กู้ภัยทุกคนจะมีความรู้ในการดูแลหรือการจัดการกับศพในสภาวะโควิด-19 ระบาด อีกทั้งอุปกรณ์ป้องกันตัวก็ไม่เพียงพอ ถ้าหากไม่ได้รับการบริจาคจากประชาชนทั่วไปก็แทบจะไม่มีใช้ เพราะกู้ภัยกู้ชีพเป็นมูลนิธิ ไม่ได้ขึ้นตรงกับหน่วยงานของรัฐ สิ่งของที่ได้ก็มาจากการสมทบทุนจากประชาชนที่ช่วยเหลือกันเองในตอนนี้”

แม้มีความพยายามแก้ปัญหา โดยประชาชนช่วยเหลือกันเอง รวมถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐบางหน่วยงาน แต่ยังไม่เพียงพอ

“หากการจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลาง ถูกแบ่งลงมาให้กระทรวงสาธารณสุขอย่างเต็มที่และเพียงพอ ดูแลคนด่านหน้าให้เขาปลอดภัย  บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าคงไม่ติดเชื้อโควิดมากขนาดนี้ เตียงคงไม่เต็ม ประชาชนก็ไม่ต้องมาช่วยกันเอง และประชาชนคงไม่ต้องมานอนรอความตายที่บ้าน หรือนอนตายในพื้นที่สาธารณะอย่างถนน มันขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์และการจัดการของรัฐบาล ”

คำตอบของเธอ สอดคล้องกับตอนหนึ่งของ บทความ ย้อนรอยประวัติศาสตร์โรคระบาดประเทศไทย เผยแพร่เมื่อปี 2556 บอกว่า

“ในการป้องกันและควบคุมโรคในอดีต
สิ่งสำคัญคือวิสัยทัศน์ของชนชั้นนำในระดับปกครองหรือผู้มีอำนาจบริหารประเทศ
ในการยอมรับความรู้ใหม่ ๆ เพื่อใช้ในการเปลี่ยนแปลงและกำหนดนโยบาย
หรือวางมาตรการสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรค”

นี่กำลังสะท้อนว่า วิสัยทัศน์ของชนชั้นนำในระดับปกครองหรือผู้มีอำนาจบริหารประเทศ อย่าง “รัฐบาล” ที่เป็นศูนย์กลางสั่งการและและควบคุมโรค มีผลในการจัดการปัญหานี้มาก

บทส่งท้าย

จากการตั้งคำถามเพียงว่า ตายแล้วไปไหน? ได้นำมาสู่ขั้นตอนการจัดการกับศพต่างศาสนาและวัฒนธรรม ความตายนั้น ยังถูกจัดการต่างออกไปในภาวะโรคระบาด ที่สะท้อนให้เห็นปัญหาว่า ทำไมการจัดการกับศพนิรนามในที่สาธารณะจึงถูกทิ้งอย่างโดดเดี่ยว

และ ตายแล้วไปไหน? ในทางความเชื่อเรื่องโลกหลังความตาย เรื่องของวิญญาณ ก็เป็นอีกความเชื่อส่วนบุคคลที่ต้องใช้วิจารณญาณพิจารณาร่วมด้วย เพราะยังไม่เคยมีงานวิจัยวิชาการชี้ชัดเลยว่า โลกหลังความตายตามความเชื่อแต่ละศาสนาเป็นเช่นการกล่าวอ้าง หรือบอกเล่ากันมาหรือไม่ และมันดูจะเป็นการหาคำตอบที่อยู่ไกลแสนไกล เหลือเกิน


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์