สนใจการเมืองท้องถิ่น ผ่านบอร์ดเกม “Local Election”

ใครไม่สนใจการเมืองท้องถิ่น บอร์ดเกมการเลือกตั้งท้องถิ่น : Local Election อาจเป็นอีกทางเลือกที่ทำให้เรื่อง “ประชาธิปไตยท้องถิ่น” น่าสนใจและเป็นเรื่องใกล้ตัว

ยิ่งใกล้ 20 ธันวาคม วันเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. ก็ยิ่งเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมารณรงค์ให้ไปใช้สิทธิ์ใช้เสียง แต่คงดีไม่น้อย หากการเลือกตั้งครั้งนี้มีความหมาย และเป็นความหวังให้คนท้องถิ่นได้จริง

สิ่งสำคัญ ก่อนจะตัดสินใจออกไปใช้สิทธิ์ คือ ประชาชนต้องมีข้อมูลที่รอบด้าน มีความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนสามารถติดตาม ตรวจสอบข้อมูลนักการเมือง ว่าได้ทำตามนโยบายที่สัญญาไว้ตอนหาเสียงหรือไม่ แต่ในยุคเทคโนโลยีแบบนี้ การตรวจสอบหน่วยงานรัฐ และนักการเมือง จึงมีระบบออนไลน์เป็นตัวช่วยสำคัญ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด และแจ้งข้าวสารได้อย่างรวดเร็ว ตามหลักการ Civic Tech (หมายถึง การใช้พื้นที่ออนไลน์ และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตรวจสอบความโปร่งใสของรัฐบาล และสร้างความมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมากที่สุด)

The Active รวบรวมช่องทางให้ช่วยกันเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบได้ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

สำหรับบางคนที่ยังรู้สึกว่า “การเลือกตั้งท้องถิ่น” เข้าใจยาก และไกลตัว “บอร์ดเกมเลือกตั้งท้องถิ่น : Local Election” เป็นอีกตัวช่วยให้รู้ถึงความสำคัญของการออกไปใช้สิทธิ์ เพื่อกำหนดอนาคตของท้องถิ่นด้วยตัวเอง

จุดเริ่มต้นของ “บอร์ดเกมเลือกตั้งท้องถิ่น (Local Election)”

การเลือกตั้งท้องถิ่นที่ห่างหายไปจากประเทศไทยร่วม 7-8 ปี ทำให้หลายหน่วยงานพยายามออกมาให้ความรู้ผ่านระบบออนไลน์ และท้องถิ่นจริง

มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชน กับ สถาบันพระปกเกล้า และ ELECT  เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะมาถึง ประกอบความยากของกฎเกณฑ์ใหม่ และกฎหมายของการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ค่อนข้างยาก จึงคิดค้นสร้าง “บอร์ดเกมการเลือกตั้ง (Local Election) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงง่ายมากกว่าการอ่านข้อมูล หรือข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียว

“แมรี่” พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยะกุล

“แมรี่” พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยะกุล ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย (Friedrich Naumann Foundation) ในฐานะองค์กรที่ส่งเสริมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม มองว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นรอบนี้ ทำให้เราได้เห็นความตื่นตัวของประชาชนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้น แม้ตัวบทกฎหมายที่ใช้ประกอบหลักเกณฑ์การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเปลี่ยนไป แต่เธอเองก็รู้สึกว่า มีน้อยคนที่เข้าไปศึกษาอย่างจริงจัง ว่าสิ่งเหล่านั้นได้กำหนด หรือให้อำนาจ ให้ความรับผิดรับชอบกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากน้อยแค่ไหน

เธอเชื่อว่า บอร์ดเกม น่าจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยย่อยความยากของตัวบทกฎหมาย และความรู้ความเข้าใจท้องถิ่นได้ดี และเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าใจบริบทการเลือกตั้งท้องถิ่น แถมยังตอบโจทย์เยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่กำลังจะเป็น New voter ในสนามเลือกตั้ง อบจ. ที่กำลังจะมากถึง

สนามแรกที่บอร์ดเกมถูกนำมาทดลองใช้ เกิดขึ้นที่ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จากการพูดคุยกับนิสิตที่มาร่วมทดลองเล่น เห็นตรงกันว่า เกมนี้ทำให้มองเห็นภาพการใช้นโยบายของผู้สมัคร ที่มีอุปสรรค และอาจจะทำไม่ได้จริงตามที่เคยสัญญาไว้ ช่วยจุดประกายผู้เล่นให้คิดต่อว่า แล้วถ้าเป็นท้องถิ่นเราจริง ๆ จะร่วมกันหาทางออกและพัฒนาชุมชนอย่างไร เพื่อก้าวผ่านอุปสรรคที่เกิดขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่ผู้เล่นในวงเดียวกันต้องการ ก็คือ ชุมชนท้องถิ่นที่เข็มแข็งและเติบโตอย่างเต็มศักยภาพบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นเอง

“ออมสิน” วรุตม์ อุดมรัตน์

“ออมสิน” วรุตม์ อุดมรัตน์ ผู้ประสานงานโครงการ และผู้ร่วมพัฒนาเกม ELECT.IN.TH อธิบายหลักการของ บอร์ดเกมเลือกตั้งว่า…

  1. ผู้เล่นจะมีการ์ดความฝันที่อยากเห็นท้องถิ่นเปลี่ยนแปลง ความฝันที่แตกต่างจะนำมาสู่ข้อถกเถียง แต่จุดมุ่งหมายเดียวกันคือ การพัฒนาชุมชนร่วมกัน
  2. จากนั้นทุกคนในเกมจะมีสิทธิ์โหวตเลือกผู้สมัครคนละ 1 เสียง โดยผู้สมัครแต่ละคนจะมีลักษณะต่างกัน มีทรัพยากร และงบประมาณที่จะใช้พัฒนาท้องถิ่นต่างกัน ฯลฯ
  3. มีลูกเต๋าหลากสี ที่เปรียบเสมือนอุปสรรคจริง เพราะผลลัพธ์จากการทอยลูกเต๋า อาจไม่ตรงกับคุณสมบัติของผู้สมัครที่เราเลือกไว้ตอนแรก สิ่งนี้จึงเปรียบเสมือนเรื่องจริงในพื้นที่คือ “สิ่งที่สัญญาไว้ ทำไม่ได้เหมือนตอนเลือกตั้ง…”

โดยสรุปแล้ว เกมนี้เกิดขึ้นจากแนวคิด ต้องการให้คนเล่นรู้สึกได้ด้วยตัวเอง เพราะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะเชื่อมโยงกับประสบการณ์จริงมากกว่าการฟังเขามา หรือแค่การส่งต่อข้อมูลระหว่างกันเท่านั้น

เก้า-กรัณย์กฤษฎ์ ภาวิศกุล

อีกหนึ่งกำลังหลักของบอร์ดเกมเลือกตั้งท้องถิ่น ก็คือ “เก้า” กรัณย์กฤษฎ์ ภาวิศกุล Game designer วัย 22 ปี ผู้หลงไหลการย่อยข้อมูลยาก ๆ ให้เป็นเรื่องง่าย เขาตั้งต้นจากการถามตัวเองว่า เกมนี้จะช่วยให้คนตระหนักความสำคัญของการเลือกตั้งอย่างไร จากนั้นจึงเริ่มศึกษากระบวนการเลือกตั้ง ไปจนถึงการทำให้ผู้เล่นรู้สึกได้เองว่า เขาต้องการจะพัฒนาท้องถิ่นอย่างไร จึงเป็นที่มาของวิธีการในเกม เช่น การโหวตเลือกผู้สมัคร การใช้ทรัพยากร การเติบโตของเมือง ฯลฯ

เขาเองยอมรับว่า เกมยังมีข้อบกพร่องที่ต้องปรับแก้ไข เช่น ลดความซับซ้อนเพื่อทำให้การสื่อสารตรง และชัดเจนมากขึ้น รวมถึงระบบในเกมควรปรับให้สอดรับกับวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นที่มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับเกมได้มากที่สุด โดยทีมงานตั้งใจจะผลิตเกมให้ได้ครบ 1,000 ชุด เพื่อกระจายไปตามสถาบันการศึกษา สร้างความตระหนักรู้เรื่องการเมืองท้องถิ่น เพื่อทำให้ประชาชนเห็นคุณค่า เห็นความสำคัญของการเมืองท้องถิ่น และพร้อมที่จะลุกขึ้นมากำหนดนโยบายโดยเริ่มจากต้นจากชุมชนของตัวเอง

การเมืองท้องถิ่นที่ถูกแช่แข็งมานานเกือบสิบปี เครื่องมืออย่าง “บอร์ดเกมเลือกตั้งท้องถิ่น” นอกจากความสำคัญของการไปใช้สิทธิ์แล้ว ประชาชนยังต้องมีส่วนร่วมเข้าไปติดตามตรวจสอบนักการเมืองท้องถิ่นที่เลือกเข้าไป ให้ทำตามนโยบายที่ว่าไว้ เพราะหากการเมืองท้องถิ่นที่เป็นรากฐานประชาธิปไตยเข้มแข็ง ก็คงคาดหวังกับการการพัฒนาชุมชน และประเทศของเราได้ไม่ยากมากนัก

บทส่งท้าย

ทีมผู้พัฒนาเกมเชื่อว่า แนวโน้มการเมืองท้องถิ่นกำลังจะเปลี่ยนไป อนาคตท้องถิ่นจะกำหนดทิศทางการพัฒนาของตัวเองได้มากขึ้น โดยยึดตามความต้องการของประชาชนมากที่สุด ทีมผู้พัฒนาเกมจึงเห็นตรงกันว่า การขับเคลื่อนให้สังคมเห็นความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่ง บอร์ดเกม จึงเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยต่อยอดผู้เล่นให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่นเท่านั้น

แต่หากต้องการจะพัฒนาเมืองของตัวเองอย่างแท้จริง ในทางปฏิบัติก็ยังจำเป็นต้องทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างจริงจัง โดยไม่ทำให้การเลือกตั้งเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่จบไปพร้อมกับผลการนับคะแนน แต่ยังต้องติดตามผลงาน และตรวจสอบคำสัญญาของนักการเมืองท้องถิ่นที่ได้เคยให้ไว้กับคนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อบ้านของพวกเราทุกคน

เครื่องเคียง

ก่อนหน้านี้ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย (Friedrich Naumann Foundation) กับ สถาบันพระปกเกล้า และ ELECT เคยสร้างเกมวัดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย ชื่อว่า Democracy Timeline Card Game

ขณะที่ก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่น ก็ยกระดับจากการ์ดเกม มาสู่บอร์ดเกมชื่อว่า “เกมการเลือกตั้งท้องถิ่น” นอกจากนี้ก็ยังมีคู่มือการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบเตรียมความพร้อมของตัวเองได้ที่ พร้อมแค่ไหน.. กับประชาธิปไตยใกล้มือ?

และอีกหนึ่งนวัตกรรมที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถช่วยตรวจสอบ คัดกรองข้อมูลข่าวสารได้ คือ โคแฟค หรือ Collaborative Fact Checking ทั้งในรูปแบบของเว็บไซต์ COFACT.ORG และแชทบอท LINE @COFACT แพลตฟอร์มออนไลน์ที่จะช่วยให้ไม่ตกเป็นเหยื่อข่าวลวง โดยสามารถคัดลอกข้อความที่ไม่แน่ใจว่าจริงหรือไม่ เพียงคัดลอกข้อความที่ไม่แน่ใจให้โคแฟคช่วยตรวจสอบก่อนแชร์ รวมถึงข้อมูลข่าวเท็จ ทุจริต ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งถิ่น เพื่อสร้างให้ประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของการติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐในภาวะขับขันเพื่อช่วยเติมเต็มบทบาทของสือสารมวลชน และหน่วยงานรัฐอาจจะทำงานได้ไม่ครอบคลุม ตามหลักการของ Civic Tech คือการใช้พื้นที่ออนไลน์ และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตรวจสอบความโปร่งใสของรัฐบาล และสร้างความมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมากที่สุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน