ฤดูร้อน…ใจปรารถนาสู่แม่ปอคี

เมื่อพูดถึงชุมชนในป่า คำถามที่มักเกิดขึ้น คือ ชุมชนเหล่านี้จะอยู่ร่วมกับป่าได้จริงหรือไม่ สัตว์ป่าจะเป็นเช่นไร ไร่หมุนเวียนจะทำลายระบบนิเวศทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ และหลายครั้งคำถามนี้ถูกตัดสินด้วยความเชื่อแบบหนึ่งที่มองว่าคนอยู่ร่วมกับป่าไม่ได้ 

ความไม่เข้าใจในวิถี ไม่เชื่อใจในองค์ความรู้ชุมชนของผู้คนและผู้มีอำนาจ นำมาซึ่งการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่แยกคนออกจากป่า ผ่านนโยบายการทวงคืนผืนป่าที่มุ่งหวังแยกคนออกจากป่าด้วยวาทกรรมการอนุรักษ์ป่าไม้ และนั่นอาจนำมาซึ่งปัญหาทางสังคมอื่น ๆ อีกมากมาย ที่เหมือนว่ายิ่งแก้ปัญหา ยิ่งก่อปัญหาใหม่ 

หากเป็นเช่นนั้น เราจะทำความเข้าใจวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์และเสริมพลังอย่างไร เพื่อเปลี่ยนเป็นพลังร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาประเทศบนฐานของสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

ฤดูร้อนเดือนมีนาคม ใจปรารถนาสู่แม่ปอคี

‘หมุนเวียนเพื่อเติบโต และดำรงอย่างยั่งยืน’ คือแนวทางการทำไร่หมุนเวียนซึ่งกลายเป็นปรัชญาในการสอนลูกหลานจากบรรพชนให้ดำรงเผ่าพันธุ์และรักษาธรรมชาติไว้สืบรุ่นลูกหลานแม่ปอคี หลายปีก่อนที่ผมเคยไป เปลี่ยนไปแค่ไหน ผู้คนวันนี้เป็นอย่างไร ใจผมปรารถนาสู่แม่ปอคีอีกครั้ง ฤดูร้อนใบไม้ร่วงปนฝุ่นควัน ผมออกเดินทางอีกครั้ง

ฤดูร้อนของเดือนมีนาคม ผมเดินทางจากเชียงใหม่มุ่งหน้าสู่หมู่ 5 ขุนแม่เหว่ย หรือ แม่ปอคี ชุมชนปกาเกอะญอดั้งเดิมที่ตำบลท่าสองยาง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เพื่อไปพบกับกลุ่มเยาวชน “ชอเดอ” กลุ่มเยาวชนที่รวมตัวกันเพื่อต้องการสร้างเศรษฐกิจชุมชนและพัฒนาบ้านของตัวเองที่ชุมชนกำหนดกันเอง

ที่จริงแล้ว ผมค่อนข้างคุ้นเคยกับเยาวชนชอเดอ เพราะเรามีโอกาสได้ทำกิจกรรมร่วมกันหลายครั้ง และผมเองเป็นชาวปกาเกอะญอ หมู่ 9 บ้านสวนอ้อย ในตำบลเดียวกัน เราใช้ภาษาปกาเกอะญอและสำเนียงปกาเกอะญอเหมือนกัน  ด้วยเหตุผลด้านการศึกษา ผมจึงมาอาศัยและใช้ชีวิตอยู่ในเชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2561 และครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่ผมจะเดินทางไปเจอกับเยาวชนและผองเพื่อนชาวแม่ปอคี

จากเชียงใหม่ สู่ฮอด ต่อด้วยแม่สะเรียง บนทางหลวงหมายเลข 108 จนมาถึงแยกทางขึ้นบ้านแม่ปอคี  ผมใช้เวลาขับรถกว่า 5 ชั่วโมง จากนั้นเริ่มไต่เนินเขาขึ้นบ้านแม่ปอคี เส้นทางระยะทาง 15 กิโลเมตร เราผ่าน 2 บ้าน ได้แก่ บ้านซอแขะกลา บ้านแม่เหว่ย ก่อนมาถึงบ้านแม่ปอคี ตลอดเส้นทางถนนบางช่วงเป็นถนนคอนกรีต ทางหิน ทางฝุ่น สลับกันไป แต่ 5 กิโลเมตรสุดท้าย เป็นช่วงไต่เนินเขา และเป็นทางฝุ่น ช่วงนี้จากผมดำอาจเป็นสีทองจากฝุ่นบนถนน

แม่ปอคีหมู่บ้านที่คุ้นเคย

ถึงบ้านแม่ปอคีช่วงเย็นของวันที่ 5 มีนาคม 2567 ผมได้พบกับ ประหยัด เสือชูชีพ หรือ พานู่โหย่, อำนวย เสือแสงเสริม, ปราโมทย์ เวียงจอมทอง หรือ พาดิเซ และ ธีระ วงศ์จำเนียง หรือ ครูเล็ก ก่อนที่จะพากันไปทำกับข้าวข้าวไร่ที่ตำด้วยครกกระเดื่องจากแรงคน ฟาดข้าวด้วยสองมือ แปรรูปจากข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ผลผลิตจากไร่หมุนเวียนล่าสุด ถูกตักขึ้นมาหุง สำหรับมื้อเย็น กลิ่นหอมเย้ายวนชวนตามหากลิ่นของข้าว ข้าวไร่หอมและนุ่มมาก ผมถือว่านี่เป็นการกินข้าวใหม่ เพราะเป็นครั้งแรกที่ผมได้กินข้าวไร่ปีล่าสุด 

ในวัฒนธรรมปกาเกอะญอทักทายกันด้วยคำว่า “เอาะเม่ลีอ่า” แปลว่า กินข้าวหรือยัง ในเชิงวัฒนธรรม คำทักทายนั้นแสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมนั้น ๆ ให้ความสำคัญกับอะไร อย่าง เยอรมนี คงชวนเราดื่มเบียร์ จีน คงชวนเราดื่มชา บราซิลคงชวนเราดื่มกาแฟ เช่นกัน ชาวปกาเกอะญอ มักจะชวนกินข้าว เพราะปลูกข้าวกิน ซึ่งเป็นระบบการผลิตแบบไร่หมุนเวียนที่เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร ผมอิ่มด้วยข้าวมื้อนี้และกับข้าวสองสามอย่าง จนง่วง ก่อนจะกลับไปที่พักเพื่อเข้านอน ที่นี่ไม่มีไฟฟ้า สัญญาณโทรศัพท์มีบางจุดเฉพาะที่เป็นเนิน และวันที่อากาศปลอดโปร่ง

อาทิตย์เริ่มทอแสงของวันใหม่ เสียงนกน้อยร้องเรียกหาอาหารจากแม่ เสียงชะนีร้องก้องกังวานกลางผืนป่า เช้าวันใหม่เริ่มขึ้น ผมเดินเท้าจากบ้านของปราโมทย์สู่ชุมชน ดินแดงใจกลางหมู่บ้าน ถูกเปลี่ยนจากลานกิจกรรมเป็นลานตากข้าวจากไร่หมุนเวียนชั่วคราว บนหลังคาเปลี่ยนเป็นที่ตากผักกาด เพื่อถนอมอาหาร ใต้ถุนบ้านถูกเตรียมไว้ด้วยกองฟืน ผู้คนเริ่มออกมาทำงานตั้งแต่เช้า

บ้านแม่ปอคี เป็นชุมชนปกาเกอะญอดั้งเดิมที่มีอายุราว 425 ปี ดำรงวิถีด้วยการทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ซึ่งไร่หมุนเวียนเป็นระบบการผลิตที่พึ่งพากลไกทางธรรมชาติ ถ้าดินดี ข้าวก็จะงอกงาม แต่ดินจะดีได้ต้องเข้าใจธรรมชาติของดิน ปกาเกอะญอจึงใช้ดินระยะสั้นและปล่อยพักฟื้นระยะยาว ซึ่งพื้นที่ที่ปล่อยพักฟื้น เรียกว่า “ไร่เหล่า” และองค์ประกอบสำคัญคือ ระบบนิเวศต้องสมดุล นั่นหมายความว่า นอกจากพื้นที่ทำกิน ที่ทำไร่หมุนเวียนแล้ว ต้องมีพื้นที่ป่าอื่น ๆ ที่รักษาสมดุลทางธรรมชาติ ได้แก่ พื้นที่จิตวิญญาณหรือพื้นที่พิธีกรรม ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำ ชุมชนอนุรักษ์ไว้ด้วยเงื่อนไขทางจารีตของชุมชน

ตาม ‘พานู่โหย่’ ไปไร่เหล่า เล่าจุดกำเนิดแบรนด์ชอเดอ

พานู่โหย่ อำนวย และโสด เยาวชนแม่ปอคี ขับมอเตอร์ไซค์พอใช้งาน สภาพใกล้พัง แต่ยังพอใช้งานได้ พาผมไปไร่เหล่าปีแรก ที่เพิ่งเก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ทางทุลักทุเล ฝุ่นหนา ฝ่ามาถึงบนเนินไร่ จอดมอเตอร์ไซค์ และเดินไปที่ไร่เหล่า ประหยัดพาผมไปดูไร่เหล่า และนำเสนอการสร้างแบรนด์ชอเดอด้วยความภาคภูมิใจว่า มันเป็นแบรนด์แห่งความหวัง และโอกาสของชุมชนเลยทีเดียว พานู่โหย่ เล่าขณะเดินชี้ให้เห็นไร่เหล่าปีแรก 

“ที่นี่เป็นบริเวณที่ปกาเกอะญอเรียกว่า ซี่ ทางชุมชนจังหวัดจังหวัดตาก ทางเชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน เขาจะเรียกว่าฉุ่ย นะครับ อันนี้คือแหล่งวัตถุดิบของคนในชุมชนที่ยกระดับเป็นผลิตภัณฑ์นะครับผม น้อก่อวอ หรือว่าบางพื้นที่ใช้คําว่า ฮอวอ หรือว่าเขารู้จักในนามผักอีหลึงครับผม เดิมทีผักอีหลึงเป็นเครื่องปรุงอาหารน้ำ โดยในชุมชนของเรามันมีจะค่อนข้างจะเยอะ และในบางปีเราดายทิ้งพร้อมไปกับหญ้าครับ คิดว่ามันน่าจะยกระดับต่อเป็นผลิตภัณฑ์ได้”

ไร่หมุนเวียนกับการลดคาร์บอน

ไร่หมุนเวียนบ้านแม่ปอคี ทำแบบแปลงใหญ่ คือ ทำที่เดียวทั้งชุมชน จึงมีลักษณะเป็นแปลงรวมที่ใหญ่ เมื่อถึงปีที่ทำไร่ ต้องฟันไม้เพื่อเตรียมเพาะปลูก ภาพนี้มักถูกมองว่าทำลายป่า แต่แท้จริงคือไร่หมุนเวียน และเมื่อต้องเผาไร่ มักถูกมองว่าเป็นสาเหตุทำให้เกิด ฝุ่นควัน แต่ความจริงคือมีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดหมอกควัน 

ไฟในไร่หมุนเวียนอาจก่อให้เกิดหมอกควันก็จริง แต่เป็นส่วนน้อย และลดทอนด้วยระบบไร่เหล่า ที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ มีกรณีศึกษาการปล่อย กิจกรรมในไร่นาทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประกอบด้วยก๊าซมีเทน (CH) จากการทำนาดำ ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) จากการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการเผา อย่างไรก็ตาม ก๊าซเหล่านี้จะถูกดูดซับโดยพันธุ์พืชสีเขียวและพืชเกษตร

จากการศึกษาไร่หมุนเวียน ของบ้านห้วยหินลาดใน พบว่า กิจกรรมในไร่นาทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประกอบด้วย ก๊าซมีเทน (CH) จากการทำนาดำ ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) จากการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการเผา 

อย่างไรก็ตาม ก๊าซเหล่านี้จะถูกดูดซับโดยพันธุ์พืชสีเขียวและพืชเกษตร และการศึกษาพบว่าไร่หมุนเวียน (ไร่ข้าวปีปัจจุบัน+ไร่เหล่าที่พักไว้ 1-10 ปี) ครอบคลุมพื้นที่ 1,590 ไร่ สามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากถึง 17,643 ตัน ในขณะที่ทำให้เกิดการสูญเสียคาร์บอนจากการเผาไร่หมุนเวียนเพียง 476 ตัน (จากการเผาในพื้นที่ 114 ไร่ที่เปิดใช้ในปีที่ทำการศึกษา) 

การพักพื้นในระบบไร่หมุนเวียนที่ยาวนานขึ้นก็ส่งผลให้ความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนมีมากขึ้นด้วย ซึ่งสอดคล้องกับระบบการผลิตไร่หมุนเวียนบ้านแม่ปอคี ดังนั้น จึงอนุมานได้ว่า การเผาในไร่หมุนเวียนไม่ได้ส่ผลต่อการเกิดฝุ่นควันขนาดเล็ก PM2.5 ที่เป็นสาเหตุหลัก

ไร่หมุนเวียนปีนี้ถูกเตรียมไว้ ไม้ที่ฟันล้มลงเตรียมการเผา ซึ่งชุมชนได้ดำเนินการขอบริหารจัดการเชื้อเพลิง หรือไฟจำเป็น ต้นเดือนเมษายน 2567 ที่จะมาถึงนี้ เทคนิคของการเผา คือ ทำแนวกันไฟ 2 ชั้น ชั้นแรกคือเศษซากไม้ล้อมไร่ไม่ให้ไฟลาม ชั้นที่ 2 แนวกันไฟที่ใช้ต้นไม้ ชาวปกาเกอะญอจะเผื่อต้นไม้รอบไร่หมุนเวียนไว้ เพื่อป็นแนวป้องกันไม่ให้ไฟลามออกนอกพื้นที่ทำกิน เวลาการเผาที่ดีที่สุดคือ ช่วงบ่ายโมง เนื่องจากความร้อนสูง จะทำให้การเผาไหม้สมบูรณ์ เกิดควันน้อย และใช้เวลาเผาเร็ว ไม่เกิน 1.30 ชั่วโมง ทั้งนี้ก่อนจะเผาชาวบ้านจะทำพิธีกรรมเชิญสรรพวิญญาณที่อยู่ในไร่ออก และจะเชิญกลับสู่ไร่หลังสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวในปลายเดือนพฤศจิกายน

ไร่หมุนเวียนบ้านแม่ปอคีมีรอบการหมุนเวียน 5 รอบ ระยะเวลา 5 ปี มีการเก็บข้อมูลความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์ในไร่หมุนเวียน พบว่ามีมากกว่า 50 ชนิด และเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตของชุมชนแม่ปอคี สาเหตุที่ต้องทำไร่หมุนเวียน เนื่องจากภูมิประเทศที่สูงชันและเป็นชุมชนห่างไกล จึงต้องสร้างระบบอาหารที่สอดคล้องกับภูมิประเทศ ขณะเดียวกันต้องรักษาสมดุลของธรรมชาติ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตอาหารและรักษาความมั่นคงทางอาหารแบบไร่หมุนเวียน ถึงกระนั้น ไร่หมุนเวียนยังคงถูกตราว่าเป็นการทำไร่เลื่อนลอย ทำลายป่า และนำมาซึ่งการกำจัดไร่หมุนเวียนด้วยแนวทางของกฏหมาย การทวงคืนผืนป่า

หลังจากเล่าเรื่องไร่หมุนเวียน พานู่โหย่ หยิบเตหน่ากูตัวโปรดที่ติดตัวมาด้วย เดินหาที่นั่งเพื่อบรรเลงบทเพลงกลางไร่เหล่า เสียงเตหน่ากู พร้อมกับบทธา เกี่ยวกับความสุขในไร่หมุนเวียน บรรเลงชวนนึกย้อนไปถึงอดีตความสมบูรณ์เมื่อพ่อยังอยู่ ความสมบูรณ์เมื่อแม่ยังอยู่ ไร่หมุนเวียนยังคงสมบูรณ์ ผู้คนอิ่มเอ็มเป็นสุข อยู่พร้อมหน้าพร้อมตา 

เตหน่ากูยังมีตำนานสำนวนหนึ่งที่กล่าวถึง การกำเนิดเตหน่ากูว่า มาจากไม้โค้งงอจากเศษไม้ในไร่หมุนเวียน บรรพชนหยิบมาประดิษฐ์ใช้เอ็นไก่มาขึง ให้โน๊ตดนตรีอ่อนนุ่ม และพัฒนามาเป็นเตหน่ากู เตหน่ากูจึงทำหน้าที่สร้างพื้นที่ทางสังคมในไร่หมุนเวียน หนุ่มสาวมักมาเจอกันเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว เสียงเตหน่าที่ผมได้ฟังอยู่นี้ มันเกินกว่าความสามารถที่จะใช้ตัวอักษรพรรณาความสวยของทิวทัศน์และความไพเราะของเตหน่ากู ดังนั้น หากมีโอกาส คุณอาจจะต้องพาตัวเองมาอยู่ในบรรยากาศที่ผมเล่านี้สักครั้ง

น้ำตกแม่ปอคีพื้นที่จิตวิญญาณ

ช่วงบ่าย พวกเราเดินทางไปต่อกันที่น้ำตก ซึ่งเป็นไฮไลท์ของชุมชน ทุก ๆ คนที่มาเยือนแม่ปอคี จะต้องได้มาที่นี่ ผมเคยชวนเพื่อน น้องพลอย จากช่อง Pigkaloy พี่เฉียง จากช่อง เฉียงไปอยู่ไหนมา ปั๋น จาก Riety และ เบลล่า รองอันดับ 2 มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ปี 2019 เดินทางมาที่นี่เช่นกัน ซึ่งผมชวนมาในช่วงฤดูฝน และฤดูหนาว

แต่ครั้งนี้แตกต่างไปจากทุกครั้ง เพราะผมมาในฤดูร้อน ผมมาถึงที่น้ำตกแม่ปอคี ที่นี่อากาศเย็นฉ่ำ มีเด็ก ๆ จากหมู่บ้านที่เดินทางมาก่อน กำลังเล่นน้ำ คลายร้อน อย่างสนุกสนาน

น้ำตกแม่ปอคี เป็น 1 ใน 6 น้ำตกของชุมชน มีความสวยงามแตกต่างกันไปตามฤดูกาล ความสูงประมาณ 15 เมตร ชะโลมความชุ่มฉ่ำให้กับเด็ก และเยาวชนได้คลายร้อน และที่เดียวกันนี้เอง ยังเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชน ในทุก ๆ ปี ชุมชนจะประกอบพิธีทำนายชะตาของหมู่บ้าน บวชป่า และเลี้ยงเจ้าแห่งน้ำ ที่ตรงนี้เป็นประปาชุมชนอีกด้วย น้ำตกนี้จะไหลตลอดปี พวกเรามาถึงที่นี่เล่นน้ำ และย่างหมูริมน้ำตก

นี่เป็นบางส่วนบางตอนของเรื่องราวในพื้นที่แม่ปอคี ที่สะท้อนวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ร่วมกับธรรมชาติ อย่างสมดุลและยั่งยืน ​​โดยพลังร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาประเทศบนฐานของสิทธิและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

ในบทความตอนจบของเรื่องราวที่ แม่ปอคี จะเล่าเรื่องโอกาสและความท้าทายของการเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ บ้านแม่ปอคี ชวนติดตามเรื่องราวได้ที่ The Active

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทินภัทร ภัทรเกียรติทวี

นักสื่อสารชาวปกาเกอะญอ เพจ โพควา โปรดักชั่น สนใจประเด็น ปรัชญาวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ มุ่งหวังสู่ สร้างกระบวนทัศน์ใหม่ทางชาติพันธุ์