Plantable Bangkok: ปลูกเมืองเขียวเคี้ยวกินได้

“เราอยากให้ลูกเรารู้ว่าผักที่เขากินนั้นมาจากไหน ปลูกและโตอย่างไร และให้เขารู้ว่า ผักไม่ได้มีอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างเดียว

เพราะเมืองใหญ่ผลักให้คนไกล ‘ผัก’ มากขึ้น คนกรุงเทพฯ​ ส่วนมากใช้ชีวิตด้วยความเร่งรีบ รับประทานอาหารปรุงสำเร็จจากร้านอาหาร หรือรถเข็นข้างทาง ผักส่วนใหญ่ก็ถูกปรุงสำเร็จพร้อมทานจนน้อยคนจะจำหน้าตาหลังเก็บเกี่ยวของมันได้ ไม่แปลกที่เด็กในเมืองจึงไม่ค่อยรู้จักผักหน้าตาแปลก ๆ สักเท่าไหร่นัก และมีแนวโน้มกินผักได้น้อยลง เลือกรับประทานมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้บริโภคผักเฉลี่ย 400 กรัมต่อวัน ขณะที่ประเทศไทยก็ได้ชื่อว่าเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมการรับประทานผักที่หลากหลาย และเป็นประเทศเกษตรกรรมปลูกผักกว่า 2 ล้านไร่ แต่ผลสำรวจสถานการณ์พฤติกรรมการบริโภคผักผลไม้โดยโครงการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย เผยว่า ตั้งแต่ปี 2551 – 2563 ประชาชนอายุ 15 – 59 ปี ยังรับประทานผักผลไม้ไม่เพียงพอ และมีแนวโน้มการบริโภคลดลงจากปีก่อน ๆ

ทุกวันนี้ เด็ก เยาวชน และคนกรุงเทพฯ เข้าถึงพืชผักน้อยลงและอาจได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ไม่เพียงพอ ผศ.สิรินทร์ยา พูลเกิด สถาบันวิจัยประชากรสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ย้ำข้อมูลว่า คนไทยที่บริโภคผักได้ตามเกณฑ์ มีไม่ถึง 40% โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ส่วนคนนอกเมืองกลับมีสัดส่วนการบริโภคผักมากกว่าคนในเมือง โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ

ในทางตรงกันข้ามพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของคนที่บริโภคผักอย่างเพียงพอเลือกปลูกผักเพื่อบริโภคเองที่บ้าน

จะดีกว่าหรือไม่ ? หากคนส่วนใหญ่ได้รับประทานพืชผักที่ใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น เพื่อลดมลภาวะจากการนำเข้าและเพื่อให้คนรุ่นต่อไปได้ใกล้ชิดกับพืชผลนานาพรรณ The Active ชวนนักปลูกหน้าใหม่ทำความเข้าใจถึงความสำคัญของการทำเกษตรในเมืองไปกับ รศ.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ UDDC-CEUS และ เกศศิรินทร์ แสงมณี อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

ปลูกป่ากลางปารีส สร้างนครสีเขียวเคี้ยวกินได้

‘นครปารีส’ เป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ที่กำลังกลายสภาพเป็นแปลงเกษตร จากที่เคยเขียวอยู่แล้ว ก็ยิ่งเขียวขึ้นไปอีก ภายใต้การนำของ แอน ฮิลดาลโก นายกเทศมนตรีหญิง ผู้ริเริ่มนโยบายส่งเสริมการเกษตรในเมือง เปลี่ยนบทบาทพลเมืองเป็นผู้ปลูกผัก ทำให้พื้นที่สีเขียวในปารีสที่มีอยู่ 13.13 ตร.ม./คน พุ่งขึ้นเป็น 13.50 ตร.ม./คน และยังตั้งเป้าให้ปารีสเป็นเมืองสีเขียวอันดับ 1 ของยุโรป (แชมป์ปัจจุบันเป็นของ นครออสโล ประเทศนอร์เวย์ อยู่ที่ 39.05 ตร.ม./คน)

ภาพ: ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC-CEUS)

‘เกษตรในเมือง’ กลายเป็นเครื่องมือทางนโยบายที่เมืองทั้งประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาอยู่นำมาใช้ตอบโจทย์ท้าทายของเมืองใหญ่ ทั้งในเรื่องขีดจำกัดในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและปัญหาความมั่นคงทางอาหาร โดยข้อมูลจากศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC-CEUS) เผยว่า นโยบายเกษตรในเมืองนั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบ 5 เป้าหมายหลัก ได้แก่

  1. Food safety: การส่งเสริมให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย
  2. Food miles: การลดระยะทางในการกระจายผลิตผลสู่ผู้บริโภค เพื่อลดมลภาวะอันเกิดจากการขนส่ง
  3. Food security: การสร้างความมั่นคงทางอาหาร เช่น คนเมืองได้มีอาหารกินในยามวิกฤต
  4. Green and healthy space: การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองและพื้นที่เกษตรในเมือง ให้คนเมืองได้มีกิจกรรมทางกายร่วมกัน
  5. Community solidary: ชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างและดูแลพื้นที่เกษตร สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

รศ.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ UDDC-CEUS ร่วมแบ่งปันประสบการณ์จากการไปเยือนเมืองปารีส เล่าว่า พื้นที่ในเมืองปารีสมีแปลงเกษตรไม่น้อยกว่า 10 แปลงในทุกเขต เฉพาะในย่านเมืองเก่าราว 20 เขต แม้ในรายงานระบุว่ามีแปลงผักอยู่มากกว่า 100 แปลง แต่เท่าที่เธอไปสำรวจมา แค่ในเขต 14 มีแปลงผักอยู่มากถึง 46 แปลง ยังไม่นับว่าทางเท้าสองข้างทางยังถูกเนรมิตเป็นแปลงเกษตรขนาดเล็ก กระทั่งบนชั้นลอย หรือดาดฟ้าโรงละครโอเปร่าบาสตีย์ ก็ถูกแปรสภาพเป็นแปลงเพาะปลูกสตรอว์เบอร์รี่และมะเขือได้เช่นกัน

“ปารีสก็มีข้อจำกัดคล้าย ๆ กรุงเทพฯ คือพื้นที่มีจำกัด แต่เขาก็อาศัยการร่วมมือจากหลายองค์กร เปลี่ยนหลังคาโรงละครโอเปร่า ที่สำคัญเป็นแปลงปลูกได้ แน่นอนว่ามันเป็นแค่เชิงสัญลักษณ์ แต่มันก็เหมือนเป็นการตอกย้ำแนวคิดของเทศบาล ทำให้ดูเป็นตัวอย่างว่า ไม่ว่าที่ไหนก็ปลูกผักได้ ดูสิ หลังคาโรงละครยังปลูกได้เลย

รศ.นิรมล เสรีสกุล
 Opéra Bastille (XIIe). Depuis le printemps, la start-up Topager fait pousser un grand potager sur quatre terrasses de l’Opéra Bastille. Salades, courgettes, tomates, aubergines : une centaine de variétés de primeurs pousseront à terme sur 2 500 m2.
ผักสลัด มะเขือเทศ มะเขือยาวประมาณร้อยพันธุ์จะเติบโตบนพื้นที่ 2,500 ตารางเมตรบนโรงละครโอเปร่าบาสตีย์
ภาพ: Le Parisien

ปารีสเขาไม่ได้ปลูกผักแค่เอาไว้รับประทานหรือมีไว้สร้างความร่มรื่นสบายตาอย่างเดียว แต่เขายังตระหนักไปถึงการทำให้เยาวชนและคนในเมืองได้มองเห็นถึง ‘ต้นทาง’ ของอาหารทั้งหลายที่พวกเขาบริโภค อย่างทางเท้าหน้าร้านเบเกอรี่ร้านหนึ่ง เขาเลือกปลูกต้นข้าวสาลีหลากชนิด เพื่อบอกเล่าที่มาของขนมปังทั้งหลาย แม้แต่ในร้านขายของของชำยังระบุ Food Miles หรือ ระยะทางที่อาหารถูกขนส่งตั้งแต่เวลาที่ผลิตจนถึงมือผู้บริโภค เพื่อย้ำเตือนว่า พืชผักที่เราทานนั้นสร้างมลภาวะผ่านการขนส่งมากแค่ไหน และจะดีกว่าหรือไม่หากเราสามารถมีผักไว้ทานจากสวนใกล้บ้าน-ไร่ใกล้เคียง

รศ.นิรมล เล่าอีกว่า ในแรกเริ่มโครงการนี้ก็มีข้อกังขาจากหลายฝ่ายว่าจะช่วยเปลี่ยนโฉมเมืองได้จริงไหม แต่กุญแจสำคัญของความสำเร็จคือ เทศบาลเป็นคนสนับสนุนทั้งที่ดิน ความรู้ ทุนทรัพย์ และเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมต่อทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน จนถึงขั้นที่ว่า การจะเปลี่ยนหลังคาบ้านใครสักคนเป็นแปลงผักก็เกิดขึ้นได้ไม่ยากนัก (ถ้าเขาอนุญาต) นอกจากนี้ ภาครัฐยังเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่เกษตร ให้เป็นทั้งสวนสาธารณะ และเป็นแปลงผัก ส่วนคนดูแลก็เป็นประชาชน และอาสาสมัครสมาคม ‘สวนคนเมือง’ ทำให้ชุมชนมีความใกล้ชิด มีกิจกรรมทางกาย และรู้สึกเป็นเจ้าของเมืองที่เขาอาศัยอีกด้วย

“ความมั่นคงทางอาหารเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงโควิด-19 การขนส่งในโลกหยุดชะงัก และสิ่งที่ขาดแคลนมากที่สุดคือ ผักสด การเกษตรในเมืองจึงเป็นวิธีที่ช่วยให้เรามีตัวเลือกทางอาหารที่ปลอดภัย ลดมลภาวะ และยังสามารถสร้างชุมชนให้เกิดการร่วมมือกันมากขึ้น”

รศ.นิรมล เสรีสกุล

Plantable Bangkok: ปลูกผักเขียว เปลี่ยนเมืองแข็ง เป็นแปลงเกษตร

กรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในเมืองที่เข้าร่วมประชุมคณะทำงานโครงการความร่วมมือระดับเมืองและระดับภูมิภาคระหว่างประเทศ (IURC) และเครือข่ายกติกาสัญญานโยบายอาหารในเมืองมิลาน (Milan Urban Food Policy Pact) โดยร่วมมือกับกรุงมิลาน ประเทศอิตาลีและสหภาพยุโรป มุ่งพัฒนาแหล่งกำเนิดอาหาร, การผลิตอาหารคุณภาพ และการกำจัดขยะเศษอาหาร ซึ่งทาง กทม. ก็มีนโยบายด้านอาหารที่จะดำเนินงานในปี 2566 – 2570 ได้แก่

  1. เสริมความเข้มแข็งการผลิตอาหารในเมือง: พัฒนาพื้นที่เกษตรในเมือง 20 แห่ง, ขยายฐานการผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น 5% ฯลฯ
  2. สร้างมาตรฐานตลาดและจุดกระจายสินค้าเกษตรและอาหาร: ส่งเสริมตลาดเกษตรกร 50 เขต ฯลฯ
  3. ยกระดับมาตรฐานสถานประกอบการอาหารใน กทม.: สถานประกอบการอาหารเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, อาหารปลอดภัย ไม่พบการปนเปื้อนสารพิษ
  4. ธนาคารอาหารและส่วนลดค่าอาหาร: ตั้งศูนย์กระจายอาหาร 6 ศูนย์, ลดราคาอาหารใน 50 เขต ฯลฯ
  5. จัดการขยะอาหารเป็นระบบครบวงจร: โรงแรม ห้าง ศูนย์อาหาร ตลาด ร้านสะดวกซื้อ เข้าร่วมระบบรวมขยะอาหาร โดยรวมขยะอาหารได้อย่างน้อย 150 ตัน/วัน
  6. ส่งเสริมความรู้ด้านโภชนาการสำเด็กและประชาชน: มีแนวทางการบริโภคอาหารปลอดภัยและยั่งยืน, ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนใช้ระบบ Thai School Lunch for BMA

นโยบายด้านอาหารข้างต้นสอดคล้องกับทางปารีสที่มองว่าการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ต้องไม่เน้นเพียงแค่ ‘การผลิต’ แต่ยังต้องออกแบบวัฏจักรอาหารในเมืองให้ครบวงจร เบื้องต้นคือเมืองต้องมีระบบกำจัดขยะอาหารด้วย อย่างริมถนนในนครปารีส จะมี ‘ถังหมักปุ๋ย’ ที่เป็นเสมือนเฟอร์นิเจอร์ที่ตั้งโชว์ได้ไม่อายใคร โดยจะมีอาสาสมัครมากลับถังปุ๋ยและจากนั้นจะนำปุ๋ยไปหมุนเวียนในการปลูกผักต่อไป ซึ่งทางกรุงเทพฯ เองก็เริ่มการคัดแยกขยะอย่างจริงจังมากขึ้น หวังลดก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการขยะอาหารลง 5%

ล่าสุดทาง กทม. ร่วมกับ UDDC, สสส. และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม ‘ร่วมด้วยช่วยปลูก Plantable Bangkok’ เปิดรับนักปลูกทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ระดับหน่วยงาน ไปจนถึงระดับชุมชน มาช่วยกันพลิกโฉมกรุงเทพฯ ให้เป็นพื้นที่สีเขียวกินได้ เพราะถึงแม้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีความแออัด ผู้คนมีวิถีชีวิตเร่งรีบ แต่กรุงเทพฯ ยังมีพื้นที่การเกษตรอยู่ใน 26 เขตด้วยกัน มีทั้งการปลูกข้าว ทำไร่ ปลูกผักผลไม้ เลี้ยงปลา และปศุสัตว์ ทาง กทม. จึงเร่งหาความร่วมมือจากหลายฝ่ายสร้างพื้นที่เกษตรฯ ในบ้าน ในโรงเรียน ในหน่วยงาน จนถึงในแปลงของชุมชน

เกศศิรินทร์ แสงมณี อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เผยว่า ผู้เข้าร่วมอบรมการทำเกษตรในเมืองนั้นมีมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีคนหลากหลายช่วงวัย หลากหลายฐานะ อาจสะท้อนได้ว่า คนกรุงก็มีความสนใจในประเด็นการทำเกษตรเช่นกัน เพียงแต่ยังไม่มีความรู้ หรือยังไม่มีช่องทางในการได้ศึกษาและลองผิดลองถูก เชื่อว่าถ้าทุกคนได้รับการส่งเสริม จะสามารถเป็นนักปลูกที่ช่วยทำให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่สีเขียวกินได้แน่นอน

อย่างไรก็ตาม ‘ที่ดิน’ คือปัจจัยสำคัญที่ทาง เกศศิรินทร์ มองว่าภาครัฐควรเข้ามาช่วยเหลือ เพราะคนกรุงส่วนใหญ่ไม่ได้มีพื้นที่ในการทำเกษตร หรือบางคนมีอยู่ แต่ไม่เหมาะกับการปลูกผักเช่น ดินไม่ดี แสงไม่พอ เป็นต้น ดังนั้น หน่วยงานรัฐที่มีที่ดิน หรือชุมชนที่มีแปลงรกร้างว่างเปล่า อย่าปล่อยให้เป็นแหล่งมั่วสุมหรือเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์อันตราย ชุมชนสามารถประสานร่วมมือกับทางเขต หรือทางกรรมการชุมชนเพื่อพัฒนาที่ดินให้เป็นพื้นที่สุขภาวะกินได้ ให้คนในชุมชนได้พบปะ ได้ทั้งเหงื่อจากการออกกำลัง และได้ทั้งผลผลิตซึ่งสามารถส่งขายหรือแจกจ่ายให้ครัวเรือนได้

ทุกวันนี้มีการใช้สารเคมีเยอะ ก่อให้เกิดโรคเยอะ ดังนั้นจึงมีแนวคิดการทำเกษตรปลอดภัยในเมือง ผลพลอยได้คือเราอยากให้ทุกคนมีรายได้ด้วย การเตรียมปัจจัยการผลิตก็ไม่ได้ใช้ทุนเยอะอย่างที่ทุกคนเข้าใจ และสวนผักยังให้อากาศบริสุทธิ์แก่ชุมชนอีกด้วย

เกศศิรินทร์ แสงมณี

เสียงสะท้อนจากนักปลูก หวังเห็นเมืองเขียว ปลอดภัย สำหรับคนทุกวัย

ข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร ปี 2566 เผยว่า ในปี 2552- 2553 กทม. สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ 22% โดยเพิ่มขึ้นตลอด 15 ปีที่มีการประกาศใช้แผนพัฒนาฯ 12 ปี ทว่าตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา การเพิ่มพื้นที่สีเขียวมีอัตราลดลง แต่เมืองมุ่งเน้นการใช้พื้นที่ของเอกชนและการพัฒนาพื้นที่สีเขียวขนาดเล็ก ซึ่งสอดคล้องกับโครงการ Green Bangkok 2030 และนโยบายสวน 15 นาที โดยประโยชน์จะตกแก่ภาคเอกชนที่ต้องการลดภาษี เทศบาลต้องการพื้นที่สีเขียว และอาสาสมัครต้องการที่ดินมาทำเกษตร นี่จึงเป็นสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายต่างได้ประโยชน์ (win-win situation)

พหล เทียมเมฆ ประธานชุมชนร่มประดู่ เขตบางนา ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ‘ร่วมด้วยช่วยปลูก Plantable Bangkok’ เล่าถึงพื้นที่รกร้างขนาด 64 ตารางวาในชุมชนที่กลายเป็นพื้นที่ทิ้งเศษวัสดุก่อสร้างและสุขภัณฑ์แบบผิดสุขลักษณะ ทั้งยังเป็นแหล่งอาศัยสัตว์มีพิษ ตนจึงคิดหาหนทางกับกรรมการและคนในชุมชน และประสานความร่วมมือกับทางเขตบางนา เปลี่ยนพื้นที่รกร้างครึ่งหนึ่งให้เป็นลานกิจกรรมสาธารณะ และอีกครึ่งหนึ่งเป็นแปลงดินทำเกษตร ปลูกพืชผักสวนครัวง่าย ๆ อย่าง พริก มะเขือ ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด ซึ่งแปลงผักแปลงนี้ได้ช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนอาหารในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาอีกด้วย

ชุมชนร่มประดู่ ยังริเริ่มทำหลุมหมักปุ๋ย โดยประสานกับทาง กทม. แทนที่จะเอาเศษกิ่งไม้ที่เกิดขึ้นจากการตัดแต่งต้นไม้ไปทิ้งที่กองขยะ กทม. ให้ส่งมาในชุมชนและทำเป็นปุ๋ยสำหรับใช้ในแปลงเกษตรแทน ประธานชุมชน ได้กล่าวอย่างภูมิใจว่า ตลอด 4 – 5 ปีที่ผ่านมา ตนได้ช่วงแบ่งเบาภาระของพนักงานเก็บขยะอินทรีย์ไม่ต่ำกว่า 3 ตัน

อีกด้านหนึ่งสำหรับผู้เริ่มปลูกพืชในบ้านของตัวเองอย่าง ณัฏฐา อัคคไพบูลย์ ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ริเริ่มเปลี่ยนพื้นที่ในบ้านเป็นสวนผักแปลงน้อยตั้งแต่ต้นปี 2567 ตนหวังปลูกผักปลอดสารให้ลูกกิน เพราะลูกชอบรับประทานผัก โดยเฉพาะถั่วฝักยาว แตงกวาที่มักพบสารเคมีมาก และอยากให้ลูกได้เห็นว่าอาหารที่เรารับประทาน นั้นปลูกกันอย่างไร มีที่มาอย่างไร เพื่อให้ลูกได้รู้จักและใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น

เราอยากให้ลูกเรารู้ว่าผักที่เขากินนั้นมาจากไหน ปลูกและโตอย่างไร และให้เขารู้ว่า ผักไม่ได้มีอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างเดียว และอีกส่วนหนึ่งคือ เราอยากรู้ว่าเราสามารถทำได้ไหม อยากให้ลูกรู้ว่าเราเองก็ทำให้เขาได้

ณัฏฐา อัคคไพบูลย์

สำหรับนักปลูกหน้าใหม่ย่อมเจอกับอุปสรรคที่ทำให้หมดแรง ในฐานะคุณแม่นักปลูก เธอประสบปัญหาแปลงผักไม่ออกผล รวมถึงเรื่องโรคและปรสิตในพืชที่มีความซับซ้อน จึงตัดสินใจเข้ากิจกรรม ‘ร่วมด้วยช่วยปลูก Plantable Bangkok’ เพื่อนำเคล็ดลับไปแก้ไขปัญหา เธอเล่าว่า การได้ค่อย ๆ ดูแลพืชผัก เจาะหลุมปลูก หย่อนกล้าทีละต้นช่วยให้เธอมีสมาธิ มีใจผ่อนคลาย และห่างไกลจากมือถือมากขึ้น การได้ผลิตผลมาก็ช่วยเสริมสร้างสุขภาพกาย แต่กระบวนการปลูกช่วยให้เธอมีสุขภาพใจที่ดีขึ้นด้วย

นอกจากนี้ คุณแม่นักปลูกยังแยกขยะในครัวเรือนทุกวันอย่างเป็นระบบ เธอย้ำว่าการใช้ชีวิตเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ได้ยากเกินกว่าที่เราจะทำได้ การแยกขยะนั้นง่ายดายที่สุดแล้ว และทิ้งท้ายแก่ทุกคนที่สนใจการใช้ชีวิตแบบ ECO ว่า มันอาจจะดูเหมือนยาก แต่ถ้าเราไม่เริ่มลงมือทำเราจะไม่รู้เลยว่ามันยากอย่างไร และเราทำได้หรือไม่ ชวนลองดูกันสักตั้ง เพื่อโลกที่สวยงามมากขึ้นสำหรับตัวเรา คนที่เรารัก ตลอดจนคนรุ่นหลังที่ต้องมาอาศัยอยู่ในโลกนี้ต่อไป


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

บัณฑิตจบใหม่คณะสื่อสารฯ ผู้เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล