‘8 ปี ไม่สูญเปล่า’ เปลี่ยนภาพเก่าการเมืองท้องถิ่น

8 ปี ที่หายไป ของการเลือกตั้ง อบต.

นับแต่การยึดอำนาจในปี 2557 ที่ทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับหยุดชะงักลง เป็นช่วงเวลายาวนานกว่า 8 ปีจนถึงปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าการ ‘แช่แข็งการเมืองท้องถิ่น’ ในครั้งนี้ ทำให้บทบาทความสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถูกลดทอนลง นโยบายและการควบคุมโดยรัฐส่วนกลางเพิ่มสูงขึ้น อำนาจต่อรองทางการเมืองในระดับพื้นที่ทำให้ ‘ข้าราชการ’ มีอำนาจมากกว่า ‘ผู้แทนประชาชน’ กฎ ระเบียบ ที่ออกแบบให้ยึดโยงกับราชการส่วนภูมิภาค ส่งผลให้ท้องถิ่นทำงานตามหน้าที่ นโยบายสาธารณะที่ก้าวหน้าพบเจอกับข้อจำกัดมากมาย

การเลือกตั้งที่ต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ จะส่งผลต่อการรับรู้ และความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน สะท้อนถึงอำนาจในการกำหนดตัวบุคคลเพื่อเข้ามาพัฒนาท้องถิ่น

รูปธรรมที่เกิดขึ้นชัดเจนที่สุด คือ การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ นายก อบต. ที่เกิดขึ้นปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 ผลการเลือกตั้งสะท้อนความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ฉายเป็นภาพใหญ่ให้เห็นได้ว่า ไม่ใช่สนามแห่งการครองอำนาจ แต่เป็นสนามที่วัดกันด้วยผลงาน และความสัมพันธ์ที่แนบแน่นในชุมชน นขณะที่ตลอดเส้นทางพัฒนาการท้องถิ่นไทย ยังมีข้อบกพร่องที่สมควรได้รับการแก้ไข

ถอดบทเรียนการเลือกตั้ง อบต. พร้อมตั้งข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์ต่อการเมืองท้องถิ่นในอนาคต ในเวทีเสวนา “8 ปี ที่หายไป ของการเลือกตั้ง อบต.”

‘3 ดี’ และ ‘4 เปลี่ยน’ กับข้อสังเกตเลือกตั้ง อบต.

รศ.อรทัย ก๊กผล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ท่ามกลางสนามการเลือกตั้ง อบต. ที่ผ่านมา สังเกตและวิเคราะห์บรรยากาศที่เกิดขึ้น ซึ่งมีทั้งสัญญาณที่ดี และเรื่องที่ควรได้รับการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

3 ดี ที่เป็นแนวโน้มในทางบวก ที่เป็นผลดีต่อการเมืองท้องถิ่นในอนาคต อาจเป็นเพราะการเลือกตั้ง อบต. ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี ทำให้บรรยากาศคึกคัก เสียงประชาชนทุกคนมีส่วนตัดสินผู้บริหารท้องถิ่น และทำให้กลไกของการเมืองท้องถิ่นกลับมาทำงาน แม้การเมืองในระดับชาติอาจไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวังของใครหลายคน

1.) บรรยากาศที่คึกคัก และสร้างการแข่งขัน ด้วยปรากฏการณ์ที่มีประชาชนเดินทางกลับบ้าน ไปเลือกตั้งนอกเขตจำนวนมาก บางเขตเลือกตั้งที่อัตราการเลือกตั้งเกินกว่าร้อยละ 90 และที่ชัดเจนที่สุด คือ ตัวเลขผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ที่ได้รับแจ้งอย่างไม่เป็นทางการจาก กกต. ร้อยละ 74.58 แม้จะไม่มากเท่ากับการเลือกตั้งเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา แต่ในภาพรวมผู้มาใช้สิทธิมากกว่า อบจ. และเทศบาลที่ผ่านมา

2.) เสียงประชาชนมีความหมาย เนื่องจากบรรยากาศที่คึกคัก ทำให้เกิดการแข่งขัน ดูได้จากคะแนนการเลือกตั้งในหลายพื้นที่เสมอกัน จนต้องการการจับสลาก หรือแม้แต่ผลแพ้ – ชนะ ก็มีคะแนนชี้ขาดกันเพียงหลักหน่วยเท่านั้น ชี้ให้เห็นว่าทุกเสียงของประชาชนมีความหมาย และที่น่าสนใจ คือ จำนวนนายก อบต. คนเก่าที่ลงสมัครในครั้งนี้ด้วย มากกว่าร้อยละ 70 ‘สอบตก’ ในขณะที่มีนายก อบต. หน้าใหม่ ที่เพิ่งมีการลงสมัครครั้ง จำนวนมากเช่นเดียวกัน

และเรายังได้เห็น ‘อิทธิฤทธิ์’ ของช่อง ไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือ Vote No พื้นที่ซึ่งมีผู้สมัครเพียงคนเดียว ก็ยังไม่สามารถชนะผู้ที่ไม่ประสงค์ลงคะแนนได้ และเมื่อเป็นเช่นนั้น ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ โดยที่ผู้สมัครชุดเดิม ต้องออกจากการแข่งขันไปด้วย ถือเป็นระบบบการเลือกตั้งที่เข้มงวดพอสมควร

3.) การเมืองท้องถิ่นตอนนี้กลับมาทำงานแล้ว หากเปรียบประชาธิปไตย เป็นร่างกายของคน การเมืองท้องถิ่นอย่าง อบต. ก็เป็นเส้นเลือดฝอย ที่กลับมาทำงานแล้ว การเลือกตั้งครั้งล่าสุด สะท้อนว่าสังคมเครือญาติยังสำคัญ และประชาชนอยากใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยที่ผลการเลือกตั้งสะท้อนได้ชัดเจนถึงความต้องการของคนในพื้นที่นั้น

“การเมืองท้องถิ่นเหมือนเส้นเลือดฝอยของร่างกาย ที่กลับมาทำงานแล้ว เวที อบต. สะท้อนว่าเราอยากเลือกตั้ง และสังคมเครือญาติยังสำคัญ ในขณะที่ 8 ปีผ่านมาอาจเป็นผลกรรม เพราะถ้าทำไม่ดี เขาก็ไม่เลือกคุณ”

ในขณะที่การเลือกตั้ง อบต. ที่ผ่านมาก็สะท้อนให้เห็นถึง 4 สิ่งที่ควรมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะระบบการเลือกตั้ง ที่อาจไม่สอดคล้องกับบริบทสังคมในปัจจุบัน รวมถึงคุณสมบัติของผู้บริหารท้องถิ่นที่ควรดูถึงการทำหน้าที่จริงในพื้นที่มากยิ่งขึ้น ได้แก่ 1.) กำหนดวันเลือกตั้งท้องถิ่นที่ชัดเจน อย่างพร้อมเพรียงกัน เพราะเมื่อมีวาระการดำรงตำแหน่งชัดเจนอยู่แล้ว ควรกำหนดวัน เวลาที่ชัดเจน ให้มีการเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ หรืออินโดนีเซีย จะส่งผลต่อความรู้สึกของประชาชน และเมื่อมีผู้ดำรงตำแหน่งคนใดลาออก ควรเลือกตั้งใหม่ และให้มีวาระเท่าที่มีเวลาที่เหลืออยู่เท่านั้น ไม่ใช่นับต่อไปอีก 4 ปี

2.) ควรกำหนดให้มีการเลือกตั้งนอกเขต อยากให้พิจารณาถึงการเลือกตั้งนอกเขต หรือการเลือกตั้งล่วงหน้า หรือแม้แต่การใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด เชื่อว่าหากมีระบบที่สะดวก อาจเพิ่มจำนวนของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้มากกว่านี้

3.) คุณสมบัติของผู้สมัคร นายก อบต. โดยเฉพาะเรื่องของกำหนดอายุขั้นต่ำ ผู้สมัครตำแหน่งนายก อบต. ควรอยู่ที่ 25 – 30 ปี เพราะในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ท้องถิ่นต้องให้โอกาสคนรุ่นใหม่ และ 4.) ยกเลิกการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง 2 วาระติดต่อกัน ด้วยเหตุผลว่า คนในท้องถิ่นควรเป็นผู้มีสิทธิกำหนดทิศทางการพัฒนา และกำหนดตัวผุ้บริหารท้องถิ่น เพื่อให้คนที่รักในการเมืองท้องถิ่น ได้อยู่กับเรื่องนี้ไปได้นาน มีเวลาในการพัฒนามากยิ่งขึ้น โดยผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็สะท้อนว่าหากทำหน้าที่ได้ไม่ดี คนในพื้นที่ก็จะไม่เลือก

ไตรลักษณะ ในสนามเลือกตั้ง อบต.

คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะหา ‘คำอธิบาย’ ที่เหมาะสมกับ อบต. เพราะจำนวนที่มีมากถึง 5,300 แห่งทั่วประเทศ ที่มีลักษณะแตกต่างกันทั้งจำนวนประชากร งบประมาณ และพื้นที่เชิงกายภาพ แต่ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ประชาชน’ และ ‘นักการเมือง’ อาจมองเห็นจุดร่วมบางประการที่มีในสังคมไทย

สติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้นิยามไว้ว่า ‘ไตรลักษณะ’ เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ รูปแบบในการตัดสินใจเลือกตั้ง อบต. ว่าเป็นอย่างไร อันเป็นการมองแบบเชื่อมโยงทั้งในระดับพื้นที่ จังหวัด และระดับชาติ เพื่อทำความเข้าใจสนามการเลือกตั้งครั้งนี้

1.) ระบบเครือญาติ เนื่องจาก อบต. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เล็กที่สุด ผู้แทนในระดับ อบต. มาจากหมู่บ้านนั้น ๆ และพิจารณาตามภูมิสังคมก็จะพบว่าหมู่บ้าน เกิดจากการรวมกลุ่มกันของประชาชนมาก่อน เมื่อเราเอาระบบการเลือกตั้งเข้าไปกำหนด จึงเป็นการเลือกกันเองระหว่างเครือญาติ และคนรู้จักมักคุ้น ทำให้เราเห็นปรากฏการณ์ ‘ระดมญาติ’ ให้กลับบ้านไปเลือกตั้ง

หากเรามองด้วยสายตาของคนในเมือง อาจมองว่าบรรยากาศไม่ได้คึกคักเท่าการเลือกตั้งในระดับชาติ ในขณะที่ประเด็นเงินซื้อเสียงนั้น อาจไม่ใช่ลักษณะของการนำเงินจากแหล่งทุนมาเพื่อหวังผลทางการเมือง แต่ส่วนใหญ่จะเป็น ‘สินน้ำใจ’ ช่วยเหลือกัน บางพื้นที่หากลงสมัครแล้วแพ้ คนรับมีการคืนเงินกันด้วย ระบบนี้เป็นนัยยะสำคัญที่ชี้ว่า อบต. ยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนเครือญาติ

2.) สนาม อบต. ผูกโยงกับการเมืองในระดับจังหวัด การเมืองในระดับ อบต. เป็นเพียงพื้นที่ขนาดเล็ก ที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของสิ่งที่เรียกว่า ‘บ้านใหญ่’ หมายถึงการเมืองระดับจังหวัดอย่าง อบจ. เนื่องจาก อบต. นั้นมีข้อจำกัดทั้งในเชิงงบประมาณ อำนาจหน้าที่ และบุคลากร จึงทำให้ต้องอาศัยสายสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดการสนับสนุนจาก อบจ. เป็นโครงสร้างการเมืองที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วย

“อบต.เป็นสนามการเมืองเล็ก ๆ ในร่มเงาของบ้านใหญ่อย่าง อบจ. หากมีสายสัมพันธ์กัน ก็จะได้รับอิทธิพลไปด้วย รวมเป็นโครงสร้างที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพราะ อบต. ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก”

สติธร ทิ้งท้ายว่า ลักษณะสำคัญทั้ง 3 ลักษณะที่ ไม่ได้หมายความว่าทุกพื้นที่ จะมีสัดส่วนเท่าเทียมกัน จะมีความแตกต่างกันไปตามบริบทของการแข่งขัน ว่าเป็นสนามใหญ่ หรือสนามเล็ก แต่เป็นลักษณะร่วมที่เราพอจะอธิบายความสัมพันธ์ทางการเมืองของ อบต. ให้เห็นภาพอย่างชัดเจน

พลวัตเชิงพื้นที่ และภูมิสังคม

ระยะเวลาในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สภาพทางสังคมและพื้นที่ของท้องถิ่นไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมือง ที่มีการเกิดขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย และสถานศึกษา นำมาสู่การอพยพเข้ามาของคนต่างถิ่น

ผศ.วสันต์ เหลืองปรภัสร์ ผอ.สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ลักษณะเชิงพื้นที่ของ อบต. ว่าเป็นท้องถิ่นที่มีทั้งพื้นที่ชนบท กึ่งเมืองกึ่งชนบท และพื้นที่เขตเมือง สิ่งนี้ล้วนส่งผลต่อทิศทางการเมืองในระดับท้องถิ่นทั้งสิ้น

ความสำคัญที่ทำให้เราต้องวิเคราะห์การเมือง อบต. เนื่องจากเป็นท้องถิ่นที่มีจำนวนตัวแทน หรือนักการเมืองมากที่สุดในประเทศ โดยจะมีไม่ต่ำกว่า 60,000 คน ไม่นับรวมฝ่ายข้าราชการประจำ ถือเป็นกำลังพลที่มีจำนวนมาก และในขณะเดียวกัน อบต. ยังมีจำนวนประชากรในเขตคิดเป็นร้อยละ 65 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ส่งผลให้มีสัดส่วนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากที่สุดตามไปด้วย การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา จึงมีข้อสังเกตที่น่าสนใจดังนี้

1.) ผู้สมัครหน้าเก่า ไม่สามารถชิงความได้เปรียบในพื้นที่ได้ ผศ.วสันต์ กล่าวว่า ตนคาดการณ์ในประเด็นนี้ผิดไป เนื่องจากคิดว่าระยะเวลา 8 ปี จะเป็นช่วงเวลาที่ผู้ดำรงตำแหน่งคนเก่าสะสมผลงาน และสร้างความหนาแน่นของฐานเสียงตนเอง จึงคิดว่าผู้สมัครหน้าใหม่จะเสียเปรียบ แต่ผลการเลือกตั้งที่ออกมา มีจำนวนผู้สมัครหน้าใหม่ที่ชนะเพิ่มขึ้นจำนวนมาก คำถามสำคัญ คือ อะไรทำให้ผู้สมัครหน้าเก่าแพ้จำนวนมากแบบนี้ ?

“8 ปีที่ผ่านมาของ อบต. เป็นเวลาทองของการสร้างผลงาน แต่ผลเลือกตั้งนายก อบต. คนเก่า แพ้จำนวนมาก เป็นเรื่องน่าคิดว่าอะไรทำให้ผู้สมัครหน้าใหม่ชนะเพิ่มขึ้น ทำให้ อบต. น่าติดตามและศึกษาต่อไป”

2.) การเลือกตั้ง อบต. ที่มีคนไปใช้สิทธิมากที่สุด 74% แสดงให้เห็นว่าความคึกคักมีมาก อาจเป็นเพราะกลุ่มที่เป็น first time voter มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างน้อยในช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมานี้ ก็ทำให้มีคนหนุ่มสาว อายุตั้งแต่ 27 ปีลงมาสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ และเป็นครั้งแรกของพวกเขา จึงเป็นไปได้ว่าความคึกคักที่เกิดขึ้น อาจเกิดจากคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยใช้สิทธิเลยหรือไม่

3.) ความเปลี่ยนแปลงของภูมิสังคม ส่งผลให้ลักษณะการเมืองของ อบต. จะค่อย ๆ เปลี่ยนไป เพราะสัมพันธภาพ และโครงสร้างทางสังคมจะเปลี่ยนไปเป็น ‘เมือง’ มากขึ้น และการตัดสินใจเพื่อเลือกผู้บริหารท้องถิ่นของคนในชุมชนก็จะเปลี่ยนแปลงไป นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้สมัครหน้าใหม่ที่ไม่เคยลงเลือกตั้งมาก่อน ชนะมากขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ เช่น คณะก้าวหน้า ที่ชนะเลือกตั้งได้ 38 ที่นั่ง ผศ.วสันต์ มองว่าเป็นจำนวนที่เยอะพอสมควร ความสำเร็จในครั้งนี้เกิดจากอะไร และที่ควรติดตามต่อไป คือ ‘อายุของผู้บริหารท้องถิ่น‘ โดยถ้าพิจารณาจากแนวโน้มจะพบว่าลดลงเรื่อย ๆ ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระดับการเมืองท้องถิ่น ที่ฉายภาพชัดเจนจากการเลือกตั้ง อบต. ครั้งนี้

วาทกรรม โง่ จน เจ็บ และการซื้อเสียงในสนาม อบต.

การผลิตซ้ำวาทกรรม ‘ซื้อสิทธิ ขายเสียง’ มองคนในพื้นที่ชนบทที่หวังเพียงผลประโยชน์เฉพาะหน้า อาจเป็นเพียงการด้วยแว่นตาของคนภายนอกหรือไม่ หากจะใช้สิ่งนี้เพื่ออธิบายความเป็น อบต. อาจต้องมีข้อมูล หรือข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่มากเพียงพอ

ชาลินี สนพลาย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โต้แย้งมายาคติของสังคมที่มองการเลือกตั้งในระดับ อบต. ด้วยงานวิชาการ ที่พบว่า การซื้อเสียงในสนาม อบต. ‘เงิน’ ไม่ได้ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา อย่างการซื้อของในร้านสะดวกซื้อ ที่สามารถจ่ายเงินแล้วได้ของกลับมาทันที แต่ยังมีมิติทางวัฒนธรรม สถาบันทางสังคมปะปนอยู่ในเรื่องนี้ด้วย

“วาทกรรมที่ว่า อบต. เป็นศูนย์รวมของการทุจริต คอร์รัปชัน การซื้อสิทธิ์ขายเสียง อาจเป็นเพราะ เราใช้บรรทัดฐานของตัวเองไปตัดสิน ว่าการตัดสินใจเลือกของคนในพื้นที่ ต้องมีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ ทั้งที่ในความเป็นจริง กระบวนการตัดสินใจของคนในพื้นที่ไม่ได้ทำอย่างไร้เหตุผล และเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลด้วยซ้ำ เพียงแต่กระบวนการใช้เหตุผลของคนในพื้นที่ เป็นคนละชุดกับวิธีการเลือกตั้งของคนกลุ่มอื่นในสังคม”

ชาลินี กล่าวว่า ‘เงินซื้อเสียง’ ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ว่าเมื่อได้รับเงินผู้นั้นจะได้รับเลือกเสมอไป แต่เงินจะมีบทบาทอย่างมาก ก็ต่อเมื่อปัจจัยอย่างอื่นไม่มีผลต่อการตัดสินใจ หรือปัจจัยอื่นมีค่าเท่ากันทั้งหมด จนส่งผลให้ไม่สามารถตัดสินใจได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญอย่างมาก คือ เครือญาติ และเครือข่ายความสัมพันธ์ในพื้นที่

หากจะทำความเข้าใจวิธีคิด และการตัดสินใจของคนในเขต อบต. ต้องเริ่มทำความเข้าใจจากกระบวนการกระจายอำนาจ อาจารย์ชาลินี เปรียบเสมือนเนื้อสไลด์ แผ่นบาง ๆ  ที่เป็นการ ‘แบ่งอำนาจรัฐ’ เพื่อให้ความร้อนเข้าถึงพื้นที่ผิวของเนื้อ ให้ได้รับความร้อนอย่างทั่วถึง หมายถึง ในกระบวนการทางการเมือง และนโยบายสาธารณะ ก็จะลงไปสู่ประชาชนได้ทั่วถึงมากขึ้น และเมื่ออำนาจนั้นเล็กลง คนในพื้นที่จะเห็นสิ่งนั้นได้ชัดเจน จนสามารถพิจารณาได้ว่าควรเลือก หรือควบคุมวิธีการบริหารอำนาจในมือของตนเองอย่างไร และเมื่อผูกโยงกับระบบเครือญาติ จะยิ่งทำให้คนเหล่านี้พิจารณาในระดับตัวบุคคลได้ลึกซึ้งขึ้น

‘นโยบาย หรืออุดมการณ์ทางการเมือง’ อาจไม่ใช่เรื่องที่สำคัญที่ทำให้คนตัดสินใจเลือก เนื่องจากบทบาทหน้าที่มีจำกัด แต่ไม่ได้หมายความว่าเงินเป็นสิ่งสำคัญ ‘ตัวบุคคล’ หรือผู้สมัครมีส่วนสำคัญในการเลือก โดยพิจารณาว่ามี ‘เครือข่ายการทำงาน’ ที่กว้างขวางหรือไม่ จะดึงทรัพยากรจากส่วนกลางมาลงในพื้นที่ได้อย่างไร

สายสัมพันธ์ของผู้สมัคร ที่เกี่ยวโยงกับการเมืองในระดับจังหวัด กลุ่มทุน เป็นสิ่งที่ประชาชนใช้ในการวิเคราะห์ และพิจารณาทั้งหมด นั่นสะท้อนให้เห็นว่า คนในพื้นที่ไม่ได้มองระยะสั้นเท่านั้น แต่มองไปในระยะยาวว่าตัวแทนที่เลือกมาทำหน้าที่จะพาชุมชนสังคมไปข้างหน้าได้อย่างไร เพราะต้องเข้าใจว่าสายสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะความต้องการของ อบต. มักไม่ถูกมองเห็นจากรัฐบาลกลาง ต่างจากคนเมืองในกรุงเทพฯ ที่ความต้องการมักจะส่งถึงรัฐเสมอ นำมาซึ่งการจัดบริการสาธารณะที่ทำโดยส่วนกลาง  

เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่าการให้เงิน เป็นเหมือนสินน้ำใจมากกว่า เพื่อแสดงออกว่าเราให้การสนับสนุนส่งเสริมกัน นับไว้ในเครือข่ายความสัมพันธ์ ไม่ได้ทำหน้าที่ซื้อขายอย่างตรงไปตรงมา เป็นการตัดสินใจที่สมเหตุสมผล มองผลประโยชน์ระยะยาว และประโยชน์ของส่วนรวม เพราะเครือข่ายนักการเมืองระดับ อบต. เป็นเครื่องมือเดียวที่ทรงประสิทธิภาพ ให้เขาเข้าถึงทรัพยากรของภาครัฐได้

อย่าใช้บรรทัดฐานของคนนอกพื้นที่ตัดสิน

สติธร กล่าวว่า สิ่งที่คนนอกอาจจะตั้งคำถามคือ บางพื้นที่ที่มีกระแสอยากเปลี่ยนตัวผู้บริหาร อบต. แต่ผู้บริหารคนเดิมก็ยังชนะเลือกตั้งอยู่ เป็นเพราะอะไร เช่น กรณีเสาไฟกินรี สิ่งที่อธิบายได้ ในประเด็นแรก อาจต้องดูความสัมพันธ์ในระดับเครือญาติ ของคนในพื้นที่ว่ามีความแน่นแฟ้นแค่ไหน

หรือประเด็นที่สอง คือ มุมมองของคนในพื้นที่ เรามองจากสายตาคนนอก อาจมองว่าเสาไฟเป็นสิ่งที่ฟุ่มเฟือย แต่หากคนในเขามองเรื่องนี้ต่างไป ย่อมมีผลที่เปลี่ยนไปด้วย คนในพื้นที่นี้อาจจะมองว่านักการเมืองในพื้นที่อื่น ที่ไม่มีเรื่องคอร์รัปชัน ขยันลงพื้นที่ เป็นสิ่งที่นักการเมืองควรเป็น แต่คนในพื้นที่นั้น อาจมองว่าชีวิตเขาไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง จึงเกิดคำถามระหว่างการทำงานในหน้าที่ หรือวิสัยทัศน์กว้างไกล ผลการเลือกตั้งที่ออกมาจึงหลากหลายในเชิงพื้นที่

อสม. – รองนายกฯ ภูมิหลังที่น่าสนใจของผู้ชนะเลือกตั้ง

การเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองในระดับชาติอาจมีความหลากหลายกันไปตามความต้องการ เพื่อตอบสนองประสิทธิภาพในการจัดทำนโยบาย แต่ในระดับท้องถิ่นนั้นพบว่า ‘ภูมิหลัง’ ของนักการเมืองอาจมาจากไม่กี่กลุ่มเท่านั้น นี่เป็นประเด็นหนึ่งของการศึกษาและรวบรวมข้อมูล เพื่อทำความเข้าใจโครงสร้างทางการเมืองในระดับท้องถิ่น

ผศ.วสันต์ กล่าวว่า ประเด็นเรื่อง ‘ภูมิหลัง’ ของนักการเมืองที่เข้าสู่ตำแหน่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอาชีพใด ก่อนหน้านี้มีการรวบรวมภูมิหลังของนักการเมืองท้องถิ่นในยุคแรก ๆ พบว่าจะยึดโยงกับการปกครองส่วนท้องที่ ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือสารวัตรกำนัน แต่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ ผู้เข้าสู่ตำแหน่งเริ่มเปลี่ยน มาจากฐานของการทำธุรกิจมากขึ้น

ในขณะที่ สติธร มองว่า ในสนาม อบต. บทบาทของพลังเครือข่ายอย่าง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ได้รับการเลือกตั้งจำนวนมาก อาจเพราะมีความใกล้ชิดกับประชาชน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และถึงแม้จะไม่ลงรับสมัครเอง ก็มีผลต่อการแพ้ชนะของผู้ที่ให้การสนับสนุนด้วย ภูมิหลังของกลุ่มเครือข่ายเหล่านี้ เข้ามาสอดแทรกท่ามกลางความสัมพันธ์แบบเดิม ๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น และถือเป็นการพัฒนาที่ต่อเนื่องมาตลอด

ด้าน รศ.อรทัย กล่าวว่า แคนดิเดตของผู้สมัครที่จำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ คือ รองนายก อบต. ที่ตัดสินใจลงสมัครด้วยตัวเอง เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวมากสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งคนเก่า และหลายพื้นที่ก็ได้รับเลือก อาจมีตัวแปรหลายอย่างอธิบายในเรื่องนี้ เพราะอาจเกิดจากการพูดคุยกันเองในทีมบริหาร หรือมองเห็นโอกาสได้ด้วยตนเอง และประชาชนอยากเปลี่ยนแปลง เป็นไปได้ทั้งหมด แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากผลการเลือกตั้งนี้เอง ทำให้เห็นว่าคะแนนเสียงของประชาชนในระดับท้องถิ่นมีความหมาย

เห็นพ้อง ยกเลิก ‘จำกัดวาระ 2 ปี’ ให้คนในท้องถิ่นตัดสินใจ

‘ป้องกันอิทธิพลผูกขาด’ หรือ ‘เปิดโอกาสให้นักการเมืองหน้าใหม่’ หรือเหตุผลใดก็ตามที่ยกขึ้นมาเพื่อ ‘จำกัดวาระทางการเมือง’ ท้องถิ่น ยังเป็นข้อถกเถียงถึงความสอดคล้องในการพัฒนาพื้นที่ ว่าสิ่งนี้ยังจำเป็นหรือไม่ หากคนในท้องถิ่นต้องการคนเดิม กฎหมายควรเปิดกว้าง หรือจำกัดตามที่รัฐบาลส่วนกลางกังวล ?

ผศ.วสันต์ กล่าวว่า เป็นปัญหาหรือไม่ที่คนเก่าจะชนะเลือกตั้งอีก ? การมีนักการเมืองที่ครอบตำแหน่งติดต่อกัน ไม่ใช่ปัญหา หากเปรียบเทียบกับการเมืองท้องถิ่นในต่างประเทศจะพบว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นมีความตัดใจให้บรรยากาศการแข่งขันไม่รุนแรง เน้นเสถียรภาพของการบริหาร เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง การเมืองท้องถิ่น จึงควรเป็นการเมืองแบบ ‘ประนีประนอม’ เพราะ หากมีการแข่งขันที่ดุเดือด รุนแรง อาจนำไปสู่ความแตกแยกของคนในชุมชน การที่คนเก่ายังได้รับเลือกตั้ง จึงไม่ใช่ปัญหา

ในขณะที่ ชาลินี มองว่า บุคคลทางการเมืองในระดับท้องถิ่น ไม่ได้มีตัวเลือกมากเหมือนการเมืองในระดับชาติ คนเก่ง คนมีความสามารถไม่ได้มีเหลือเฟือ การที่กฎหมายจำกัดวาระ โดยให้เหตุผลว่าลดการผูกขาดอำนาจ อาจไม่สอดคล้องกับทรัพยากรบุคคลในพื้นที่ เพราะ ทักษะบริหารงาน บริหารเครือข่าย บริหารพื้นที่ ไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถหาผู้เหมาะสมได้ง่าย หากคาดหวังคนใหม่ตลอดเวลา ก็เหมือนเป็นการมองด้วยสายตาคนนอกเช่นกัน

และการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งนั้น ชาลินี มองว่า จะส่งผลต่อความสามารถในการทำหน้าที่ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหาร และข้าราชการประจำ การทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการประสานงานกันที่ดี การจำกัดวาระจะลดทอนจุดแข็งในเรื่องนี้เช่นกัน

จากปัญหาจำกัดวาระนักการเมือง นำมาสู่ปัญหาการขาดผู้สมัครในพื้นที่ จากการเลือกตั้ง อบต. ครั้งที่ผ่านมาพบว่ามีหลายพื้นที่ ‘มีผู้สมัครเพียงเบอร์เดียว’ และในหลายตำบลเป็นแบบนี้มาแล้วหลายครั้ง จึงเกิดคำถามว่าสิ่งนี้ถือเป็นปัญหาหรือไม่ และมีหลักทางวิชาการอธิบายปรากฎการณ์เช่นนี้ได้อย่างไร

“ไม่อยากให้มองเป็นการผูกขาดทางการเมือง” ชาลินี มองว่า การมีผู้สมัครเพียงคนเดียวในท้องถิ่น ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย หากมองในแง่ดี อาจหมายถึง ผู้สมัครท่านนั้นมีผลงานที่ดีมาก จนคู่แข่งมีการประเมินแล้ว ว่าลงแข่งขันไปก็อาจจะแพ้ หรืออาจมีการตกลงกันแล้ว มีการต่อรองกันในระดับนักการเมือง จึงไม่สามารถสรุปได้ว่า การมีผู้สมัครคนเดียวจะเป็นเรื่องที่ไม่ดี แต่อย่างไรก็ตาม ก็ส่งผลต่อตัวเลือกของประชาชนที่มีจำนวนน้อยลงไปด้วย  

รศ.อรทัย กล่าวว่า หากมองในภาพรวมพบว่า พื้นที่ที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียวมีเพิ่มขึ้น และการลงสมัครแบบไม่มีคู่แข่ง ต้องได้คะแนนเกิน 10% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และคะแนนต้องมากกว่าไม่ประสงค์ลงคะแนน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายว่าผู้ที่ลงสมัครจะได้รับเลือกเสมอไป เรื่องนี้มีหลายตัวแปรที่กำหนด และเรื่องนี้จึงยืนยันได้ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นของไทย ยังมีเรื่องที่ ‘ไม่ปกติ’ ส่งผลต่อการตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้ง

ในขณะที่ สติธร มองว่า เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าปัจจัยในทางลบที่ส่งผลต่อเรื่องนี้ก็มีเหมือนกัน หรืออาจเรียกว่าเป็น ด้านมืดของ อบต. เหตุที่ทำให้มีผู้สมัครคนเดียว อาจถูกนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามใช้เงินแก้ปัญหา หรือมีการก่อเหตุความรุนแรง การข่มขู่ ก็เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทั้งหมดของ อบต. เป็นแบบนั้น และส่วนใหญ่จะเป็นการตกลงแบบสันติวิธี 

เลือกตั้งท้องถิ่นนอกเขตฯ ปัญหาเกิดจาก ‘ทะเบียนราษฎร’

การกำหนดให้มีการเลือกตั้งนอกเขต สำหรับการเมืองท้องถิ่นนั้น มีความคิดเห็นออกเป็น 2 แนวทาง โดยฝ่ายหนึ่งมองว่าการเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นการเลือกผู้บริหารท้องถิ่น ที่เข้ามากำหนดนโยบายในการพัฒนาพื้นที่นั้น ๆ ผู้ที่ใช้ชีวิต หรือที่ความเกี่ยวพันต่อการจัดสรรทรัพยากรในพื้นที่ควรเป็นส่วนสำคัญในการเลือกตั้ง การกำหนดให้มีการเลือกตั้งนอกเขตได้ อาจหมายถึง การให้ผู้ที่ไม่ได้ใช้ชีวิตในพื้นที่ มากำหนดทิศทางการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งอาจไม่ตรงใจกับคนในพื้นที่นั้นจริง ๆ

ในขณะที่อีกฝ่ายก็มองว่า ควรกำหนดให้สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งได้ หรือหากไม่ได้ต้องมีการออกแบบให้สามารถเลือกตั้งท้องถิ่นในเขตที่ตัวเองอยู่อาศัยในปัจจุบันได้ ซึ่งอาจต้องพิจารณาถึงการป้องกันการเคลื่อนย้ายฐานเสียงด้วยให้ดีด้วย ทั้งนี้ ผศ.วสันต์ กล่าวว่า รากเหง้าของปัญหานี้ คือ ระบบทะเบียนราษฎรของไทย ที่เรียกประชากรที่เข้าไปทำงานในพื้นที่นั้น โดยไม่มีทะเบียนบ้านว่า ‘ประชากรแฝง’ เป็นระบบที่ไม่ย้ายไปตามการเคลื่อนย้ายของคนที่ใช้ชีวิต ส่งผลต่อระบบการยืนยันบุคคลและที่อยู่ ไม่สัมพันธ์กับการใช้ชีวิต จึงควรแก้ไขระบบทะเบียนราษฎรเพื่อรองรับเรื่องนี้ด้วย

ควบรวม – หลากหลาย – เพิ่มพูนอำนาจ เพื่อความหวังท้องถิ่น

รศ.อรทัย กล่าวว่า จำนวน อบต. ที่มี 5,300 แห่ง ส่วนตัวยังมองว่าเป็นจำนวนที่มากเกินไป จากงานศึกษาที่ทำมา พบว่าพื้นที่ขนาดเล็ก ที่มีจำนวนประชากรไม่มากนัก จะสามารถตอบสนองความต้องการให้กับประชาชนได้น้อยลง อาจต้องพิจารณาถึง ขนาดที่เหมาะสมสำหรับ อบต. จำนวนประชากรเหมาะสม เพื่อให้งบประมาณ บุคลากร มีความสอดคล้องและสามารพัฒนาท้องถิ่นได้จริง

ในขณะที่ สติธร กล่าวว่า หากท้องถิ่นไทยมีความหลากหลายมากกว่านี้ อาจส่งผลต่อการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนมากขึ้น พื้นที่ใดที่มีขนาดเล็กมาก ประชากรไม่ถึง 5,000 คน ควรมีตัวเลือกให้ใช้ประชาธิปไตยทางตรงได้เลย อาจจะไม่มีความจำเป็นต้องมาเลือกตั้งตัวแทนอย่างที่ทำอยู่ นำงบประมาณมาพิจารณาร่วมกัน แล้วมีการทบทวนกันในทุกปี คิดว่าควรมีวิธีคิดที่ตอบโจทย์ในแต่ละพื้นที่ด้วย

ผศ.วสันต์ กล่าวว่า ในปัจจุบันท้องถิ่นของไทย มีความเป็นสถาบันมากขึ้น คือ ประชาชนเริ่มเห็นความสำคัญ เข้ามามีส่วนร่วม หลังการเลือกตั้ง อาจมีการติดตามการทำงานจากประชาชน การเพิ่มพูนอำนาจให้แก่ท้องถิ่น โดยเฉพาะ อบต. จะทำให้ท้องถิ่นเป็นกลไกหลักในชุมชน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

การเพิ่มพูนบทบาทในการจัดการศึกษาแก่เด็กปฐมวัย ลดความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งที่สมควรทำ เพราะบทบาทด้านนี้ของท้องถิ่นในพื้นที่เป็นที่ประจักษ์มาตลอด ท้องถิ่นมีพัฒนาการที่ดี การกลับมาสู่ระบบการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็รแนวโน้มที่ดี มีคนรุ่นใหม่เข้ามาสู่การเมืองมากขึ้น      

ขณะที่ ชาลินี กล่าวว่า งานวิจัยจำนวนหนึ่งบอกว่าหลังการกระจายอำนาจ และมีการเลือกตั้งสม่ำเสมอ จะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ทางการเมืองของประชาชน และประชาชนจะเปลี่ยนวิธีตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้จะมีผู้สมัครรายเดิม และประชาชนกลุ่มเดิม ก็ไม่การันตีว่าเขาจะเลือกเหมือนเดิม เพราะการเรียนรู้ทำให้ประชาชนมีการต่อรองและกำกับผู้ใช้อำนาจการเมืองนั้นมากขึ้น

และเมื่ออำนาจรัฐ และอำนาจทุนเข้าไปแทรกซึมในพื้นที่อย่างแพร่หลาย คนในชนบทจะไม่หงอกลัวกับอำนาจรัฐ เขาสามารถกำกับการทำงานได้ สะท้อนการทำหน้าที่ได้ เพราะเป็นคนที่ใกล้ชิดกัน กระบวนการทางการเมืองท้องถิ่นนี้เอง ที่ทำให้ประชาชนไม่กลัวต่ออำนาจรัฐ และรู้จักต่อรอง ประนีประนอม จะส่งผลให้การทำงานของนักการเมืองท้องถิ่นเปลี่ยนไปในทางที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น

ทิศทางการพัฒนาการเมืองท้องถิ่นหลังจากนี้จึงน่าจับตามอง โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลักษณะพิเศษ อย่างกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ที่มีปัจจัยแวดล้อม และลักษณะทางสังคมแตกต่างกับ อบต. และเทศบาลเป็นอย่างมาก มีปัญหาที่ซับซ้อน และต้องการผู้นำที่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน คนในพื้นที่จะมีวิธีการตัดสินใจเลือกผู้นำของตนเองอย่างไร จึงต้องติดตามกันในปีที่จะถึงนี้


Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้