ให้อิสระ คืนอำนาจจัดการตนเอง | “วันนี้ท้องถิ่นต้องเข้มแข็ง”

วิกฤตโควิด-19 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่งผลให้เกิดการผ่องถ่ายผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา การเตรียมความพร้อมของท้องถิ่นและชุมชน เป็นปราการด่านสำคัญ ที่จะช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วย และต้องดูแลไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในต่างจังหวัดด้วย

“จังหวัดยะลา” หนึ่งในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือ สีแดงเข้มของภาคใต้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดมีมาตรการรับมือและปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างไร

The Active คุยกับ พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา และนายกสมาคมสันนิบาตและเทศบาลแห่งประเทศไทย ถึงระบบการควบคุมโรค ตลอดจนการดูแลทุกข์ – สุข ของประชาชนในพื้นที่ ‘เทศบาลนครยะลา’ ในซีรีส์ชุด “จากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น” EP.4 “ให้อิสระ คืนอำนาจจัดการตนเอง”

ท้องถิ่นแห่งแรก ลุยตรวจเชื้อแบบ Antigen Test Kit

ย้อนกลับไปตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ เทศบาลนครยะลา เริ่มปฏิบัติการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแบบเร็ว Antigen Test Kit (ATK) ในขณะที่ยังไม่ได้ใช้อย่างแพร่หลาย และกระทรวงสาธารณสุขยังไม่ได้อนุมัติให้ใช้ได้ในประเทศไทย ถือได้ว่าเป็น “ท้องถิ่นแห่งแรก” ที่ใช้ ATK ในการตรวจคัดกรองเชิงรุก โดยใช้งบประมาณของเทศบาลซื้อผ่านบริษัทผู้ผลิตที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว

นอกจากนั้น พงษ์ศักดิ์ ยังเล่าให้ฟังถึงการเตรียมตัวเพื่อรองรับวิธีการเช่นนี้ว่า แต่เดิมทางเทศบาลนครยะลาไม่มี “เจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์” แต่เพื่อให้กระบวนการเป็นไปอย่างถูกต้อง จึงเปิดรับสมัครเข้ามาทำงาน และออกแบบรถตรวจแบบเคลื่อนที่ เพื่อให้การคัดกรองเชิงรุกในแต่ละจุดสามารถทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

“ท้องถิ่นเราเป็นที่แรกเพราะตอนนั้นที่นำมาใช้ ATK เพิ่งจะผ่าน อย. ไม่กี่สัปดาห์ ปลายมีนาคมคมผมทราบเรื่อง ก็นำเข้าที่ประชุม ศบค.จังหวัด ให้ทราบว่าหลักการที่จะคุมโรคได้ คือ ต้องระดมตรวจให้ไว เดือนเมษายนก็นำเข้ามาใช้เลย”

นับตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. – 29 ก.ค. 2564 เทศบาลนครยะลา ตรวจคัดกรองประชาชนด้วย ATK ไปแล้วมากกว่า 17,395 คน พบผู้ติดเชื้อ 372 คน คิดเป็นอัตรา 2.14% ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติของการแพร่ระบาดในพื้นที่ ทั้งนี้ เมื่อทำการตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR พบผลผิดพลาดไม่ถึง 1% จึงสะท้อนว่าการตรวจด้วย ATK นี้ แม้ความไวในการตรวจหาเชื้อจะต่างกันสักเล็กน้อย แต่ระยะเวลาในการรอผลและการควบคุมการแพร่ระบาดต่างกันอย่างมาก

เขาบอกว่าหากทั้งประเทศ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล นำวิธีการนี้มาใช้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง อาจช่วยไม่ให้การแพร่ระบาดลุกลามเช่นปัจจุบัน

ศูนย์ YMQ ต้นแบบ Community Isolation ดูแลผู้ป่วยก่อนรักษาในโรงพยาบาล

ระบบรองรับผู้ป่วยจากการคัดกรองเชิงรุก จะถูกนำตัวมารักษาที่ ศูนย์ Yala City Municipality Quaruntine หรือ YMQ เป็นเสมือนศูนย์พักคอยก่อนส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่เนื่องด้วยเทศบาลนครยะลาไม่มีแพทย์ทำหน้าที่รักษา แต่มีพยาบาล เภสัชกร และแพทย์แผนไทย ทำหน้าที่ดูแลและประเมินอาการไม่ให้รุนแรงก่อนจะเข้าสู่ระบบโรงพยาบาล ซึ่งระบบการดูแลนั้น มีทั้งการรักษาผ่าน Tele Medicine หรือ การรักษาผู้ป่วยทางไกล

ที่สำคัญเทศบาลนครยะลามีส่วนงานการแพทย์แผนไทย ที่มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านการใช้ยาสมุนไพร ทั้งฟ้าทะลายโจร และกระชาย คอยแนะนำและให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและรักษาอาการอย่างเหมาะสมด้วย

ระบบดังกล่าว ยังเป็น ต้นแบบของ Community Isolation ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายจังหวัด โดย พงษ์ศักดิ์ มองว่าสิ่งที่ท้องถิ่นสามารถทำได้ดีที่สุดคือ ต้องพยายามดูแลไม่ให้ผู้ป่วย “อาการทรุดลง” ก่อนเข้าสู่โรงพยาบาล ในศูนย์ดังกล่าวมีการดูแลเรื่องอาหารการกิน โดยนำแม่ครัวในโรงอาหารของโรงเรียนที่กำลังว่างงานอยู่ มาช่วยกันปรุงอาหารบริการผู้ป่วยในศูนย์นี้ จึงเป็นทั้งการรักษาอาการ และรักษารายได้ของประชาชนไปในตัว

เยียวยาประชาชนก่อน ระเบียบเอาไว้ทีหลัง

นอกจากภารกิจในการควบคุมการแพร่ระบาด เทศบาลนครยะลายังต้องดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ด้วย โดยสิ่งสำคัญคือ “การเยียวยาประชาชน” ในครัวเรือนที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งอาจส่งผลให้คนในครอบครัวได้รับผลกระทบไปด้วย ทางเทศบาลนครยะลา จึงให้การช่วยเหลือเป็นจำนวนเงิน 150 บาทต่อคน

“เราลองนึกดูว่าถ้ารอกรรมการประชุม ชาวบ้านเมื่อไรจะได้การช่วยเหลือ ซึ่งผมคิดว่า ระเบียบต้องเก็บไว้ทีหลัง เพราะอย่างไรเราก็ทำแบบตรงไปตรงมาอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญคือ ทำให้พ่อบ้านได้สบายใจว่า ถ้าต้องไปกักตัว คนในบ้านจะมีเทศบาลเข้ามาดูแล”

เมื่อถามว่ากระบวนการนี้เป็นไปตามระเบียบหรือไม่ พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ไม่เป็นไปตามระเบียบเท่าที่ควร เพราะโดยระเบียบของเทศบาลนครยะลาแล้ว จะนำเงินสงเคราะห์ให้กับชาวบ้านต้องผ่านคณะกรรมการชุดหนึ่ง ชื่อว่า “คณะกรรมการสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย” อนุมัติเสียก่อน จึงจะนำเงินไปช่วยเหลือชาวบ้านได้ แต่ในภาวะที่จำเป็นเร่งด่วนนี้ จึงได้มีการประชุมหารือกัน ให้มีการช่วยเหลือชาวบ้านก่อน แล้วนำหลักฐานการช่วยเหลือมาขออนุมัติในภายหลัง ซึ่งถือเป็น “การทลายข้อจำกัด” โดยมองที่การช่วยเหลือประชาชนเป็นสิ่งสำคัญนั่นเอง

ส่งผู้ป่วยกลับบ้าน สะท้อนการรวบอำนาจไม่ได้ผลในภาวะวิกฤต

“ผมยกตัวอย่างกรณีการส่งผู้ป่วยกลับบ้าน ไม่ว่าจะเป็นโครงการคนยะลาไม่ทิ้งกัน หรือโครงการใด ๆ ก็ตาม สิ่งเหล่านี้กำลังสะท้อนว่าทุกอย่างไปรวมที่ศูนย์กลาง สุดท้ายเวลาที่เกิดวิกฤต หรือภัยพิบัติ มันไม่สามารถรับมือได้เลย”

ข้อมูลจากโครงการ “คนยะลา ไม่ทิ้งกัน” จังหวัดยะลาได้รับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จากพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล กลับมารักษาตัวยังภูมิลำเนา ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค – 7 ส.ค. 2564 มีจำนวน 70 คน ซึ่งตัวเลขนี้ พงษ์ศักดิ์มองว่าเป็นวิกฤตที่กรุงเทพฯ และการจัดการของส่วนกลาง ไม่อาจรับมือไหว

หากวันนี้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็งจะสามารถรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ได้ ในภาวะวิกฤต หรือภัยพิบัติสะท้อนแล้วว่าการรวมศูนย์อำนาจไม่สามารถรับมือกับปัญหาได้ และหากยังคงอำนาจไว้ต่อไป ท้องถิ่นก็จะไม่สามารถจัดการตัวเองได้ เมื่อปัญหากระจายออกมาในวงกว้างจะยิ่งสร้างความเสียหายต่อประชาชนในทุกพื้นที่

นำมาสู่การนำเสนอบทบาทของท้องถิ่นในสถานการณ์ของโรคระบาด ที่อาจเลวร้ายมากขึ้น และตัวเลขของผู้ป่วยในต่างจังหวัดที่จะมีจำนวนสูงขึ้นนั้น หากไม่เตรียมพร้อม อาจไม่สามารถผ่านวิกฤตนี้ไปได้ เทศบาลนครยะลา จึงมองว่าสิ่งที่จำเป็นที่สุด คือ “การพัฒนาคน” นั่นคือการยกระดับความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ และบุคลากรด่านหน้าทุกส่วนที่ต้องทำหน้าที่ ให้มีความสามารถเพียงพอรับมือต่อสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น

จัดอบรมบุคลากรทางการแพทย์ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้มีความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วย รวมถึงเจ้าหน้าที่ด่านหน้า ทั้งเจ้าหน้าที่กู้ภัย รักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดและเก็บขยะ ต้องเข้าใจในระบบการจัดการปัญหาโควิด-19 ทั้งระบบด้วย ซึ่งในปัจจุบันนี้ ทางด้านสถานที่ ทรัพยากรทุกอย่างเตรียมพร้อม แต่ทักษะของคนทำงานเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

ที่ผ่านมาท้องถิ่นถูกดึงอำนาจ จัดการงบประมาณไม่เหมาะสม

พงษ์ศักดิ์ ในฐานะเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา มาตั้งแต่ปี 2546 นับเป็นช่วงแรกเริ่มของการกระจายอำนาจในประเทศไทย มองว่าในความเป็นจริงวันนี้ “ท้องถิ่นควรเข้มแข็งมากกว่านี้” ซึ่งเหตุผลหลัก คือ การถูกจำกัดอำนาจจากส่วนกลาง โดยเฉพาะด้านบุคลากร และงบประมาณ

ด้านบุคลากร ปัจจุบันนายกเทศมนตรีในฐานะผู้บริหารสูงสุดของเทศบาล ไม่สามารถแต่งตั้งผู้บริหารของเทศบาลได้ ทั้งปลัดเทศบาล และระดับผู้อำนวยการส่วนต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดมาโดยส่วนกลาง เพราะกระบวนการสอบ แต่งตั้ง และโยกย้าย ทำโดยกระทรวงมหาดไทย ทั้งที่ก่อนหน้านี้นายกเทศมนตรี มีอำนาจในการแต่งตั้งได้ โดยพงษ์ศักดิ์มองว่า เนื่องจากผู้บริหารเหล่านี้ ถือเป็นคนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของเทศบาล เมื่อไม่สามารถให้นายกเทศมนตรีพิจารณาตามความเหมาะสมได้ อาจส่งผลต่อการขับเคลื่อนบริการสาธารณะในพื้นที่นั่นเอง

สำหรับ ด้านงบประมาณ โดยปกติงบประมาณที่ท้องถิ่นจัดเก็บได้นั้น มีช่องทางที่ค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว ได้แก่ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือภาษีป้าย เป็นต้น แต่ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 นั้น นโยบายของส่วนกลางต้องการลดภาระของประชาชนลง งดเว้นการจัดเก็บภาษีในหลายรายการ ส่งผลให้ท้องถิ่นขาดงบประมาณเพื่อจัดทำบริการสาธารณะ แต่รัฐบาลกลับขาดงบประมาณชดเชยให้กับท้องถิ่น ซึ่งต้องยอมรับว่างบประมาณนั้นสำคัญอย่างมากต่อการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม และเพิ่มช่องทางจัดเก็บรายได้ มากกว่าการปิดกั้นอย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

“เทศบาลนครยะลา เราแทบจะทำงานเป็นเอกเทศ ความหมายนี้ไม่ใช่ไม่ฟังใคร เรายังประสานกับหน่วยงานอื่นทั้งหมด แต่เราก็เดินด้วยตัวของเรา หากเรื่องไหนที่เกินกว่าอำนาจหน้าที่ ก็จับมือหน่วยงานอื่นด้วย”

ความคล่องตัว และทรัพยากรที่พร้อม จึงเป็นหัวใจสำคัญของท้องถิ่น ถึงแม้จะเป็นท้องถิ่นขนาดเล็ก ก็สามารถบริหารจัดการทรัพยากรของตนได้ ให้เหมาะสมกับบริบทในพื้นที่ เมื่อท้องถิ่นเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตน ขาดเพียงการสนับสนุนจากส่วนกลางให้ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชนได้ การกระจายอำนาจ คือ คำตอบสุดท้าย ที่จะทำให้ทุกพื้นที่ฝ่าวิกฤตนี้ไปพร้อมกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้