หากกรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่ผู้คนสามารถเดิน วิ่ง หรือปั่นจักรยานเชื่อมสวนสีเขียวหรือพื้นที่สาธารณะได้ โดยแต่ละจุดใช้เวลาเพียง 15 นาที หรือระยะทางไม่เกิน 800 เมตร จะดีแค่ไหน?
แนวคิดนี้คงเป็นจริงได้ไม่ยาก หากรัฐใช้งบประมาณลงทุนเพื่อให้เกิดขึ้น แต่จะสร้างการมีส่วนร่วมให้คนเข้าไปใช้งานจริงได้อย่างไร แล้วใครจะเป็นคนดูแลเพื่อให้เป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะที่มีความยั่งยืน?
การรวมตัวกันของภาครัฐ ท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และภาคเอกชนในย่านหลักสี่ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สีเขียวสาธารณะอย่างยั่งยืน กำลังเป็นแนวคิดการพัฒนาเมืองรูปแบบใหม่ ด้วยความเชื่อว่าเมืองน่าอยู่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกคน และใคร ๆ ก็สามารถพัฒนาพื้นที่สีเขียวสาธารณะในที่ดินของตัวเองได้
“การพัฒนาพื้นที่สีเขียว รัฐทำคนเดียวไม่ได้” คือสิ่งที่ ยศพล บุญสม ผู้ก่อตั้งกลุ่ม we!park ย้ำถึงแนวคิดที่ว่า…นี่จึงเป็นที่มาของการมองหาทรัพยากรที่ภาคส่วนต่าง ๆ มี อย่างที่ย่านหลักสี่มี ไม่ว่าจะเป็นองค์กรสื่อ ภาคเอกชน หน่วยงานราชการ ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีทรัพยากรในมือ ทั้งที่ดิน องค์ความรู้ งบประมาณ ทำให้เกิดแผนพัฒนาระดับย่านขึ้นมาด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย
The Active ชวนถอดประเด็นสำคัญจากกิจกรรม ‘เชื่อมคน เชื่อมย่าน หลักสี่ ย่านสีเขียว’ เพื่อขยายแนวคิดนี้สู่พื้นที่อื่น ๆ ของกรุงเทพมหานคร
โครงข่ายพื้นที่สีเขียว หรือ Green Network
รศ.พนิต ภู่จินดา อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า พื้นที่สีเขียวของบ้านเรา จริง ๆ แล้วมีไม่น้อย เพราะภาพถ่ายทางอากาศสามารถบอกได้ชัดเจนว่า กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวเต็มไปหมด แต่ไม่ได้เป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะหรือเปิดโอกาสให้คนเข้าไปใช้งานได้อย่างเสรี หากตั้งคำถามว่าทำไมเราถึงมีพื้นที่สีเขียวเยอะ แต่ไม่ได้ใช้ นั่นเป็นเพราะจำนวนหนึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวในหมู่บ้าน ในบ้านเดี่ยว ซึ่งกรุงเทพฯ เป็นมหานครที่มีบ้านเดี่ยวอยู่จำนวนมากระดับต้น ๆ ของโลก หรือราว 42 % ของชุมชนทั้งหมด (ข้อมูลสำมะโนครัวของสภาพัฒน์ ปี 2563) แปลว่าเรามีพื้นที่สีเขียวแบบนี้เต็มไปหมด แต่เราใช้ไม่ได้
ขณะเดียวกัน เรามีพื้นที่สีเขียวอีกไซซ์ คือ สวนขนาดใหญ่ เช่น สวนเบญจกิติ สวนลุมพินี พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่แบบนี้แก้ปัญหาเรื่องมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ตามที่ระบุไว้ว่าควรจะมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่า 9 ตร.ม. ต่อคน การพัฒนาในลักษณะนี้ทำให้สัดส่วนพื้นที่ต่อคนมีมากขึ้นจากเดิมราว ๆ 5 ตร.ม. ต่อคน ขยับมาเป็น 6 ตร.ม. ต่อคน แต่พื้นที่สีเขียวรูปแบบนี้ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องการเข้าถึง หรือการใช้บริการ เพราะยิ่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่เท่าไหร่ ยิ่งนำพาคนให้เดินทางเข้าไปแบบรวมศูนย์ ต้องตั้งใจไปจริง ๆ ถึงจะเดินทางไปได้
“สำหรับหลาย ๆ เมืองใหญ่ในโลก มีพื้นที่สีเขียวมากถึง 15 ตร.ม. ต่อคน มีต้นไม้ 8.4 ล้านต้น แต่แนวคิดที่ใช้พัฒนาต่างกับประเทศไทย โดยเขามีแนวคิดที่เรียกว่า Network of green คือการเอาโครงข่ายพื้นที่สีเขียวไปครอบเมือง มีทั้งพื้นที่สีเขียวขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ แล้วแต่ตำแหน่งของพื้นที่ ดังนั้น สิ่งที่เราพยายามผลักดันสวน 15 นาที หรือสวนที่เข้าถึงได้ในระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที หรือไม่เกิน 800 เมตร เรียกว่า 1 เหนื่อยก็ได้ ให้คนสามารถเข้าใช้บริการสวนได้ทุกวัน อาจจะไปเตะบอลโกรูหนูในชุมชนกับเพื่อนบ้าน ดังนั้น แนวคิดสวน 15 นาที จึงไม่ได้แก้ปัญหาเชิงตัวเลขเพียงอย่างเดียว แต่แก้ปัญหาเรื่องการเข้าถึง เพื่อให้เรามีพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจได้ทุกวัน”
รศ.พนิต ภู่จินดา
แต่คำถามคือจะเอาพื้นที่จากไหน? มาพัฒนาให้กลายเป็นสวนที่ใหญ่และกระจายได้ทั่วเมือง ซึ่งนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คือ การใช้สิทธิการพัฒนาแลกกับมาตรการทางภาษี หากพื้นที่ของเอกชนนำมาใช้เป็นพื้นที่สวนสาธารณะก็จะได้รับสิทธิพิเศษเรื่องภาษี แต่กลไกนี้ต้องมาพร้อมกับยุทธศาสตร์ เพราะจะมีคนเอาที่ดินมามอบให้จำนวนมากเพราะไม่มีใครอยากจ่ายภาษี จะต้องวางแผนดี ๆ ว่าจะอยู่ตรงไหนถึงจะได้ประโยชน์มากที่สุด กลไกอื่น ๆ ที่มี เช่น แลกกับการสร้างอาคารได้มากขึ้น สร้างอาคารให้สูงขึ้น แต่ในผังเมืองต้องกำหนดเกณฑ์ต่ำเอาไว้เลยถ้าอยากให้บริเวณนั้นเป็นสวนจริง ๆ ถ้าไม่ทำสวนด้วยก็จะไม่สามารถสร้างได้อย่างคุ้มค่าของราคาที่ดิน วิธีการนี้จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่เอาไว้ใช้เพื่อทำให้เกิดพื้นที่สีเขียวได้
รวมถึงการให้ภาคเอกชนพยายามทำแผนธุรกิจที่ต่างจากเดิม อย่างรามาการ์เด้นส์ เมื่อก่อนอาจจะต้องขับรถผ่านประตูเข้าไปเพื่อใช้บริการ แต่ตอนนี้เขากำลังบอกว่าสามารถเข้าถึงได้แม้จะเดินเข้าไป และฟรีด้วยสำหรับการใช้พื้นที่เพื่อออกกำลังกาย แบบนี้ก็เรียกว่าเป็น CSR ของบริษัทได้ อย่างกรณีอื่นก็เช่นกัน เคยมีตลาดหนึ่งที่ทีมงานเคยพยายามเข้าไปฟื้นฟู แต่คิดกันแล้วว่าทำยังไงก็ไม่ดีขึ้น ก็เลยใช้วิธีทำสนามกีฬารอบ ๆ ตลาดแทน พอคนออกกำลังกายเสร็จแล้วหิว ก็ต้องมาซื้อของกินในตลาดแทน ดังนั้น การพัฒนาสวน 15 นาทีจึงมีอรรถประโยชน์หลายอย่าง ทั้งการพักผ่อนหย่อนใจ การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และการเชื่อมต่อ
“หลักการของ network of green คือ park (สวน) และ park way (คือที่เชื่อมโยงระหว่างสวนต่าง ๆ) เพราะไม่อย่างนั้นคุณจะเดินไปอย่างไรถ้าไม่มีพื้นที่เดินทางที่ดี ตอนนี้มันมีการขยายความหมายเพิ่มขึ้นด้วยว่าวันนี้เราไม่ขึ้นขนส่งมวลชน เราไม่เดินไปไหนเพราะอากาศไม่ดี มันร้อน เราไม่ขี่จักรยานเพราะเราต้องเผชิญกับมลพิษ แต่จริง ๆ แล้วถ้ามองว่าสวนก็เป็นจุดหมายหนึ่งที่ใช้ผ่าน เป็นจุดแวะพัก ที่มีความร่มเย็น สงบ ปลอดภัย เพื่อทำให้การเคลื่อนที่ด้วย green network เอื้ออำนวย หรือสอดคล้องกับทิศทางการเคลื่อนที่ของคนได้ หรือเรื่องของเศรษฐกิจ สวนถูกตีความได้มากมายหลายอย่าง ว่าเป็นแรงดึงดูดให้เกิดการเชื่อมต่อจุดหมาย และการกระตุ้นเศรษฐกิจ”
รศ.พนิต ภู่จินดา
สุดท้ายคือเราพบว่ามีพื้นที่ของรัฐจำนวนมากที่สามารถแบ่งออกมาเป็นพื้นที่สาธารณะได้ คุณอาจจะไปกั้นรั้วอีกชั้นหนึ่งแล้วเก็บความลับข้างในก็ได้ไม่ได้ว่า แต่ด้านหน้า หรือจุดที่ประชาชนพอจะเข้าไปได้ มันสามารถที่จะทำให้เป็นสาธารณะได้หรือไม่ เพราะมันจะทำให้ประชาชนกับรัฐ มีความรู้สึกที่ไม่ห่างกันด้วย เช่น ถ้าไปเตะบอลหน้าหน่วยงานราชการทุกวัน ความรู้สึกที่มีต่อรัฐหรือหน่วยงานนั้น ๆ มันก็จะใกล้กันมากขึ้น เพราะมันมีพื้นที่ส่วนกลางของเราเช่นกัน ดังนั้น จึงมีกลไกหลายอย่างที่รัฐทำได้ ประชาชนก็ทำได้ คือการแลกสิทธิการพัฒนาร่วมกัน
ไม่อยากให้คิดว่าการนำพื้นที่มาเป็นสาธารณะจะเป็นภาระเพียงอย่างเดียว ตัวอย่างเช่น พื้นที่สนามบินเก่าจังหวัดเชียงราย ถูกปรับมาเป็นที่วิ่งออกกกำลังกาย เดิมก็มีคนที่ไปวิ่ง แต่เป็นผู้ชายทั้งนั้นเลย เพราะว่าไม่มีห้องน้ำ คำตอบของเราก็คือแนะนำให้ตั้งร้านค้าสวัสดิการ ให้บริการน้ำ และจัดให้มีห้องน้ำ หรือโมเดลของประเทศเยอรมนีบอกว่าที่ดินริมเส้นทางรถไฟที่เวนคืนเข้าไปเป็นเขตทางที่ปลอดภัย เป็นภาระของรถไฟที่มาดูแลหรือไม่ ก็เปลี่ยนเป็นการให้เช่า และกำหนดให้มีการทำสวนขนาดเล็ก ระบุขนาดที่เหมาะสมกับพื้นที่อาศัย เพื่อให้คนในละแวกให้มีพื้นที่สวน จากภาระก็ช่วยสร้างรายได้ รวมกันการมีพื้นที่สีเขียวคุณภาพดี เพียงแค่ตั้งข้อกำหนดเท่านั้นเอง กลไกมีเยอะแยะมากมาย ถ้าบอกว่าอุทิศ ไม่มีใครทำหรอก แต่ต้องคิดว่ามีกลไกอะไรบ้างที่ทำให้ได้เงินกลับมาคุ้มค่า ไม่เป็นภาระมากนัก โดยมีข้อกำหนดต่าง ๆ ที่รัฐให้การสนับสนุน
“เห็นภาพชัดเจนว่าสิ่งที่เราต้องทำต่อมีหลายเรื่อง อย่างแรกคือความชัดเจน ว่าเราสามารถปรับพื้นที่เป็นที่สาธารณะได้เลย จัดการได้เลย ดังนั้น คำว่าถอยรั้วไม่ต้องกลัวสวนเป็นเรื่องที่เราต้องผลักดัน อย่าได้กลัว เพราะรั้วไม่ได้หายไป เราแค่สร้างรั้วอีกชั้นนึงขึ้นมา เมืองก็จะได้พื้นที่สาธารณะแบบนี้มาได้โดยง่าย อีกอย่างหนึ่งคือ ถนนวิภาวดีที่ไม่มีทางเท้า เดิมอาจไม่ผิดเพราะเป็น super hightway แต่วันนี้เมื่อบริบทเปลี่ยน เราก็ต้องมาช่วยกันออกแบบใหม่เพื่อที่จะให้ super hightway ถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่เพื่อชุมชนมากขึ้นและขยายความหมายของคำว่าสวนสาธารณะออกไปให้ไกลกว่าเดิม เพราะมันเป็นทั้งเศรษฐกิจ ชุมชน การกิน และการเชื่อมต่อ เมื่อขยายความหมายก็จะมีเงินสนับสนุนมากขึ้น เพราะมันเกิดอรรถประโยชน์ในหลายมิติมากขึ้น”
รศ.พนิต ภู่จินดา
ประชาคมย่านหลักสี่เตรียมแบ่งพื้นที่เป็น สวน 15 นาที
คมพศิษฎ์ ประไพศิลป์ สถาปนิกชำนาญการพิเศษ หัวหน้าฝ่ายโยธา สำนักงานเขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการ Green Space หลักสี่ย่านสีเขียว park lane vipa 62 เป็นสวน 15 นาทีเปิดใหม่ โดยการจัดทำของสำนักงานเขต อยู่ที่บริเวณซอยวิภาวดี 62 เป็นสวนสาธารณะภายใต้แนวคิดสวนริมทาง มีการปรับปรุงเส้นทางการเดิน ตีเส้นจราจร แบ่งเลนให้ชัดเจนขึ้น และจัดภูมิทัศน์ต้นไม้ใหม่ให้สวยงาม ซึ่งเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อไปถึงซอยวิภาวดี 64 ซึ่งเป็นย่านการค้า และเชื่อมไปยังถนนแจ้งวัฒนะ 1 ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู
นอกจากพื้นที่ของรัฐ ทุกคนสามารถร่วมสร้างพื้นที่สีเขียวให้มีมากขึ้นก็จะตอบโจทย์การแก้ปัญหามลพิษของเมือง ดังนั้น หากเอกชนต้องการที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียว ภาครัฐก็มีกลไกที่จะพิจารณาเพื่อดำเนินการ หากเรามีการแชร์สิ่งเหล่านี้เพื่อสาธารณะมากขึ้นก็จะทำให้เมืองน่าอยู่มากขึ้น ตามเงื่อนไขที่ระบุ เช่น ต้องเปิดให้เป็นสาธารณะอย่างน้อย 7 ปี ซึ่งเอกชนอาจจะได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามอัตราส่วนที่เหมาะสม
“จริง ๆ แล้วมาตรการแบบนี้ก็ทำกันในต่างประเทศ คือมาตรการ FAR เป็นกฎหมายทางผังเมืองด้วยว่าควรจะมีระยะร่นของการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อจัดทำเป็นพื้นที่สาธารณะเข้าถึงได้ของเมือง ซึ่งจริง ๆ เมืองของเราก็มีพื้นที่ว่างเยอะ ทาง กทม. ยินดีที่จะให้การสนับสนุน ในเรื่องเงื่อนไขของภาษีการขออนุญาตต่าง ๆ ถ้าไม่ขัดกับข้อกฎหมายเราก็สามารถให้ความสะดวกได้ไม่ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงพื้นที่เป็นสิ่งที่ชุมชน ประชาชนในละแวกมีความต้องการ เราก็ยินดีที่จะดำเนินการ เพราะท่านผู้ว่าฯ เห็นความสำคัญของเรื่องนี้มาก และพยายามหาช่องทางอยู่ว่าในระเบียบต่าง ๆ จะสามารถปรับแก้เพื่อจัดการได้อย่างไรบ้างเพื่อให้เอกชนอยากมีส่วนร่วมมากขึ้น”
คมพศิษฎ์ ประไพศิลป์
ด้าน ตกานต์ สุนนทวุฒิ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตหลักสี่ ตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายจะเป็นอย่างไรก็ต้องขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ และต้องดูปัจจัยประกอบ เช่น เมื่อมีการเปิดให้ใช้แล้วเจ้าของพื้นที่จะได้อะไร เรื่องความปลอดภัยจะดูแลอย่างไร ถ้าเป็นโรงแรมอาจจะมีเจ้าหน้าที่ รปภ. ดูแลอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นบ้านเรือนประชาชนจะดูแลอย่างไร ส่วนเรื่องของภาษี กทม. ทำลำพังไม่ได้ ต้องเข้าไปในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา เพราะแย้งกับกฎหมายเดิม เพราะฐานการเก็บภาษีเป็นฐานเดียวกันทั้งประเทศ แม้ว่าหลายประเทศจะคิดไม่เท่ากัน แต่เนื่องจากเราเป็นรัฐเดียว ฐานภาษีของเราจึงเหมือนกันหมด
ส่วนการเดินมาในระยะ 15 นาที ต้องดูว่า เป้าหมายของเราส่วนใหญ่เป็นคนที่อาศัยอยู่ในย่าน ดังนั้น การเดินเข้าถึงต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่เอื้อต่อการเดิน หรือให้ความปลอดภัยในการเดิน เพราะถนนบ้านเราค่อนข้างอันตราย คนที่ปั่นจักรยานมารอบโลกก็มาตายที่บ้านเรา เป็นประเทศที่มีอาชญากร หรืออาชญากรรมในทุกที่ ดังนั้น นโยบายเป็นอย่างไรถ้าปฏิบัติไม่ได้ก็เท่านั้น สำคัญที่สุดคือเมื่อทำเสร็จแล้ว ใครจะเป็นคนดูแลต่อ และเมื่อขอคืนพื้นที่ จะขอคืนได้ไหม เป็นเรื่องท้าทาย ลำพังกรุงเทพมหานคร ท่านผู้ว่าฯ จะมีนโยบายอย่างไรก็แล้วแต่ คิดว่ายังไม่รอบด้าน
“ในฐานะของ สก. ทั้ง 50 ท่าน พร้อมสนับสนุน แต่การจะใช้พื้นที่เอกชนหรือหน่วยงานภาครัฐที่ไม่ได้อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร เราต้องได้รับการประสานและประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง และเข้าถึงข้อมูล โดยเฉพาะเรื่องการใช้งบประมาณในการทำประโยชน์ในพื้นที่เอกชน เช่น หมู่บ้านที่ไม่ได้จดทะเบียนกับกรุงเทพมาหนคร แบบนี้จะไม่สามารถเอางบประมานลงไปได้ จะต้องมีการประสานให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ แทน อย่างย่านหลักสี่ ไทยพีบีเอส รามาการ์เด้นส์ ก็มีส่วนที่สนับสนุนได้ ส่วนที่เอกชนว่างเปล่า ถ้าจะพัฒนาก็ต้องเข้าไปคุยเพื่อความชัดเจน ว่าจะดูแลร่วมกันอย่างไร เพราะส่วนใหญ่จะกังวลกันในส่วนนี้”
ตกานต์ สุนนทวุฒิ
ฐิติพงศ์ ปานบางพงศ์ ผู้จัดการฝ่ายบุคคล โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กล่าวว่า โรงแรมสร้างมา 42 ปีแล้ว คอนเซปต์คือรีสอร์ทในสวน โรงแรมอื่นอาจจะเน้นการสร้างตึกสูงหรูหรา แต่เราเน้นการมีพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งมีพื้นที่สีเขียวอยู่ 42 ไร่ และยังพบว่ามีพื้นที่สีเขียวบางส่วนไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร จึงอยากจะนำมาเป็นพื้นที่สาธารณะในโครงการสวน 15 นาที ของกรุงเทพมหานคร ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ เดิมภาพลักษณ์ของการเป็นโรงแรมคือคนไม่กล้าเข้า หากไม่ได้มีจุดประสงค์มาพักหรือเป็นลูกค้าโดยตรง พื้นที่ที่อยากเข้าร่วมโครงการก็อยู่ด้านหน้าที่หลายคนอาจจะเคยผ่านไปผ่านมาบ้าง แต่เราไม่อยากให้เป็นแค่ทางผ่าน อยากให้คนแวะเข้ามาพักผ่อนไม่ต้องไปถึงต่างจังหวัดไกล คิดว่าการให้บริการสาธารณะก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไปในคราวเดียวกัน
“ประสงค์ของเราอยากจะเข้าโครงการนี้ชัดเจน ศักยภาพของโรงแรมเรามีความพร้อม ในขั้นตอนต่อไปเราอยากจะขอคุยเรื่องรายละเอียดว่า ขั้นตอนที่เราจะต้องเตรียม หรือนโยบายของภาครัฐที่เราจะต้องดำเนินการ เราต้องทำอะไรบ้าง เมื่อมีการเตรียมดัดแปลงพร้อมแล้ว เราก็จะเปิดให้ประชาชนได้ใช้งาน”
ฐิติพงศ์ ปานบางพงศ์
ด้าน รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไทยพีบีเอสในฐานะสื่อสาธารณะ เราไม่ได้เป็นแค่ผู้รายงานหรือผู้ผลิตสื่อ เราอยากผลักดันให้เรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานในย่านหลักสี่ช่วยกันปรับปรุงจัดสรรพื้นที่ให้เป็นสวน 15 นาที ที่เหมาะสม ดังนั้น การระดมผู้รู้มาให้ความคิดเห็น คำแนะนำ และช่วยกันออกแบบจึงเป็นสิ่งที่เราพยายามทำ เพราะเชื่อว่าจริง ๆ แล้ว หน่วยงานที่มีพื้นที่ในเส้นทางนี้อาจจะสนใจอยากร่วม แต่เขาอาจจะไม่มีผู้ให้คำแนะนำ
“โครงการ Green Space ย่านหลักสี่ ที่ The Active เข้าไปร่วมจัดการน่าจะเป็นหัวหอกในการไปชักชวนและเป็นตัวกลางเพื่อเชื่อมเข้ามาได้ และเมื่อหน่วยงานต่าง ๆ ได้เริ่มทำแล้ว ไทยพีบีเอสก็จะช่วยสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ด้วย ตัวสำนักงานไทยพีบีเอสที่นี่ เราก็เป็นพื้นที่สีเขียวอยู่แล้ว ดังนั้น เราอยากทำให้พื้นที่นี้เปิดให้ประชาชนได้มาใช้ประโยชน์ ได้มาพักผ่อน ออกกำลังกาย เราคิดไปถึงการเป็นพื้นที่ปลอดภัยสร้างสรรค์ให้กับเด็ก ๆ และครอบครัว รวมถึงผู้สูงอายุด้วย ที่สำคัญคือเราอยากให้ผู้ที่จะใช้สวนทั้งหลาย มาบอกเรา มาร่วมแสดงความคิดเห็นว่าอยากได้สวนขนาดเล็กแบบไหน ที่ทุกคนจะได้ใช้ประโยชน์ และเป็นมิตรต่อทุกคนด้วย”
รศ.วิลาสินี พิพิธกุล
ถ้าจะทำให้สวน 15 นาทีเข้าถึงได้สะดวกกับทุกคน และให้ทุกคนอยากเข้ามาร่วมกิจกรรม ก็อาจจะต้องคำนึงถึงการเดินทางที่สะดวก ที่ต่อเนื่อง ปลอดภัย อาจจะต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อย่างกรมทางหลวงและอีกหลายหน่วยงาน ถ้าเป็นไปได้อยากให้มาสร้างความร่วมมือ เพราะถ้าทำให้สวนสามารถเดินถึงได้อย่างสะดวก ระหว่างรถไฟฟ้ากับสถานที่ และถ้าเราจะต้องมีการปรับปรุงพื้นที่บางส่วน ก็คิดว่าถ้าได้หารือกัน และไทยพีบีเอสสามารถช่วยได้ก็อยากจะสนับสนุนการหารือในครั้งนี้ด้วย
“โครงการดี ๆ แบบนี้ รัฐอาจจะลงทุนเพียงเล็กน้อยเอง เพราะทุกหน่วยงานเขาก็มีพื้นที่ของเขาอยู่แล้ว เป็นเหมือนการลงทุนเพื่อปรับปรุงย่านด้วยงบฯ ที่ไม่มาก แต่ด้วยการออกแบบให้ทุกคนมีส่วนร่วม และถ้าทำสำเร็จสักหนึ่งย่านจะมีตัวอย่างอีกหลาย ๆ ย่าน ก็จะเปิดโอกาสให้ทุกคนมีสุขภาวะที่ดี และคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย”
รศ.วิลาสินี พิพิธกุล
หวังเห็นเส้นทางสีเขียวเชื่อมย่านหลักสี่ (green corridor)
ศุภฤกษ์ คำมา ผู้ช่วยหัวหน้าหมวดทางหลวงดอนเมือง กรมทางหลวง กล่าวว่า ตอนนี้กรุงเทพมหานคร และกรมทางหลวงก็ได้มีการประสานงานร่วมกันเพื่อนทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่บริเวณสันเขื่อนริมถนนวิภาวดีรังสิต ภายใต้โครงการพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อทำให้เกิดการเดินเชื่อมถึงกันทุกซอยได้ และการขอคืนพื้นที่บริเวณด้านหน้าหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่ของรัฐอยู่แล้ว นำมาปรับปรุงเพื่อทำให้เป็นพื้นที่สีเขียว และจะทำให้เกิดการเชื่อต่อระหว่างพื้นที่สีเขียวแต่ละแห่งเข้าด้วยกัน และสามารถที่จะเชื่อมต่อไปถึงซอยแจ้งวัฒนะ 1 ซึ่งตอนนี้ผู้บริหารกรุงเทพมหานครและเขตหลักสี่ได้มีแนวคิดให้ความสำคัญในเรื่องทางเดินเชื่อมต่อ ซึ่งฝ่ายโยธาเองพบว่ามีศักยภาพสูงจึงมีการพยายามปรับปรุงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้คนในย่านเข้าถึงกันได้มากขึ้น
“ตอนนี้อยู่ระหว่างแผนการรับฟังความคิดเห็นเพื่อก่อสร้างในระยะที่ 3 ต่อนเนื่องจากบริเวณรามาการ์เด้นส์ ไปถึงบริเวณซอยวิภาวดี 68 สัญญาเริ่มดำเนินการอายุ 900 วัน คิดว่าจะได้เริ่มสร้างเร็ว ๆ นี้”
ศุภฤกษ์ คำมา